เมื่อปี 2012 ผมเคยเสนอความคิดในงานวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับจริยธรรมอาหาร แล้วมีคำถามหนึ่งจากนักวิชาการชาวอินเดียทำนองว่า คนที่เป็นมังสวิรัติจะกินเนื้อสัตว์ปลูกได้ไหม?
คำถามนั้นเป็นคำถามที่ผมตอบไม่ได้มาหลายปี
จนกระทั่งระยะหลัง ประเด็นเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ปลูกมีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น การผลิตได้ในต้นทุนที่ต่ำลง การผลิตเนื้อสัตว์ปลูกจากสเต็มเซลล์หมู รวมถึงมีบทความที่พูดถึงข้อถกเถียงทางปรัชญาของเนื้อสัตว์ปลูกที่ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่าเราควรจะมีท่าทีต่อเทคโนโลยีนี้อย่างไร
ปัญหาทางจริยธรรมของเนื้อสัตว์ปลูก
ประเด็นหลักๆ ที่ถูกยกมาสนับสนุนการผลิตเนื้อสัตว์ปลูกมีสองประเด็นก็คือ หนึ่ง เนื้อสัตว์ปลูกไม่ทำร้ายสัตว์ เช่น เนื้อสัตว์ปลูกที่ทำจากเนื้อวัว มาจากการนำเซรั่มซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือดของวัว แล้วเอาเซรั่มนั้นมาเพาะเลี้ยงในห้องแล็บให้กลายเป็นชิ้นเนื้อ
และสอง เนื้อสัตว์ปลูกส่งผลเสียกับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ข้อนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะมันไม่ต้องใช้พื้นที่ในการทำปศุสัตว์ และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกจากมูลสัตว์น้อยลงด้วย นัยยะของเนื้อสัตว์ปลูกจึงกลายเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่เพียงแค่ลดการทารุณสัตว์เพียงอย่างเดียว
ประเด็นทางจริยธรรมหลักๆ ของเนื้อสัตว์ปลูกก็คือ เนื้อสัตว์ปลูกเป็นสิ่งที่ชาววีแกนและมังสวิรัติรับได้หรือไม่? ที่เรื่องนี้เกี่ยวกับมังสวิรัติก็เพราะคนที่เป็นมังสวิรัติมีจุดยืนว่าการไม่ทานเนื้อสัตว์ก็คือการไม่ส่งเสริมการฆ่าสัตว์ไปด้วย และเรามีทางเลือกของสารอาหารที่ครบถ้วนโดยไม่ต้องทานเนื้อสัตว์ก็ได้
แต่คำถามคือ ถ้าเนื้อสัตว์ปลูกไม่จำเป็นต้องฆ่าสัตว์ เราควรจะกินมันรึเปล่า?
ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการส่วนใหญ่มองว่าเนื้อสัตว์ปลูกเข้ากันไม่ได้กับการเป็นมังสวิรัติ ซึ่งเหตุผลที่ในการปฏิเสธแตกต่างกันไป
เชฟอย่าง Isa Chandra Moskowitz และ Dan Barber มองว่าเนื้อสัตว์ปลูกไม่ใช่อาหารมังสวิรัติ เพราะว่ามันทำมาจากสัตว์ และเราอาจจะมีวิธีผลิตอาหารจากวิธีอื่นโดยที่เราไม่ต้องเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากห้องแล็บก็ได้
ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเนื้ออย่าง Nick Solares มองว่ามันไม่ใช่อาหารมังสวิรัติ และเขาจะไม่เสิร์ฟเนื้อกสัตว์ปลูกให้กับคนที่เป็นมังสวิรัติ ที่สำคัญก็คือ ถ้าเราจะผลิตเนื้อเผื่อมาทดแทนเนื้อที่มีขายอยู่แล้ว มันควรจะเป็นเนื้อที่มีคุณภาพดีกว่าเดิม ไม่ใช่เนื้อที่เหมือนๆ กับที่วางขายอยู่
ท่าทีที่มองว่าเนื้อสัตว์ปลูกไม่ใช่มังสวิรัติแต่ก็ไม่ปฏิเสธที่จะผลิตออกมาเป็นทางเลือก ก็คือ นักเคลื่อนไหว Ingrid Newkirk ที่มุ่งประเด็นไปที่สิทธิสัตว์ และนักปรัชญาชื่อดังอย่าง Peter Singer ที่มองว่า ตราบใดที่การผลิตนั้นไม่ได้ทำร้ายสัตว์และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เขาก็ไม่มีข้อโต้แย้งมาขัดขวางการผลิตเนื้อสัตว์ปลูก
ที่น่าแปลกใจก็คือ Mehal Shah ผู้ที่เป็นมังสวิรัติตลอดชีวิตกลับมองว่า เนื้อสัตว์ปลูกนับเป็นอาหารมังสวิรัติเพราะว่า เขาไม่ได้เชื่อว่าเนื้อสัตว์ปลูกทำให้สัตว์ทุกข์ทรมาน และมันก็ดีกับระบบนิเวศน์มากกว่า
Shreena Gandhi นักวิชาการด้านศาสนามองว่า ในกลุ่มมังสวิรัติก็ยังบริโภคผลิตภัณฑ์จากนม หรือไข่ เนื้อสัตว์ปลูกก็นับว่าเป็นอาหารมังสวิรัติในระดับเดียวกันได้ และในศาสนาฮินดูแต่เดิมก็ไม่มีการห้ามกินเนื้อวัว การห้ามกินเนื้อวัวเกิดขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ซึ่งการตีความทางศาสนาก็ไม่จำเป็นต้องตีความว่าเนื้อสัตว์ปลูกจะเป็นสิ่งต้องห้าม
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ Mark J. Post และ Ben Wurgaft กล่าวถึงความซับซ้อนของเรื่องเนื้อสัตว์ปลูกไว้ว่า ปัญหาที่แท้จริงของเนื้อสัตว์ปลูกก็คือ มันอาจจะต้องพิจารณาถึงขั้นตอนการผลิตและผลกระทบทางสังคม ซึ่งในวันที่มันวางตลาดออกมาแล้วก็อาจจะมีข้อถกเถียงในหมู่คนมังสวิรัติและในสังคมก็ได้ว่า เนื้อสัตว์ปลูกนับเป็นเนื้อได้จริงหรือไม่
อาหารกับปรัชญาเทคโนโลยี
เนื้อสัตว์ปลูกยังเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชักชวนให้เราพิจารณาเรื่องเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ซึ่งอาหารในสถานะเทคโนโลยีมีลักษณะเฉพาะตรงที่ว่า อาหารที่เรากินมันไม่ใช่เทคโนโลยี แต่อาหารเป็นผลผลิตจากเทคโนโลยี เราใช้เทคโนโลยี แต่เราไม่ได้กินเทคโนโลยี
เนื้อสัตว์ปลูกเมื่ออยู่บนจานอาหารมันก็คืออาหาร แต่สิ่งที่ทำให้มันกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ก็คือวิธีการสร้างมันขึ้นมา ซึ่งดูเหมือนว่า ‘เทคโนโลยีอาหาร’ จะกลายเป็นนามธรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับเมนูในจานของเรา
เทคโนโลยีไม่ใช่อุปกรณ์ แต่มันคือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างและใช้อุปกรณ์นั้น ตัวอย่างง่ายๆ เช่น หลอดไฟที่ให้แสงสว่าง แต่หลอดไฟไม่ได้เกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ความรู้ที่สร้างหลอดไฟขึ้นมาและการใช้หลอดไฟในสังคมคือพลวัตของสังคมที่ทำให้หลอดไฟเป็นเทคโนโลยีที่ยังใช้การได้ เทปคาสเซ็ต หรือแผ่นซีดีที่มองว่าเป็นของล้าสมัย แต่มันไม่ได้ล้าสมัยเพราะมันไม่ได้เป็นเทคโนโลยีอีกต่อไป แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีคนใช้ต่างหาก
นักปรัชญาอย่าง แอนดรูว์ ฟีนเบิร์ก มองว่า ตัวเทคโนโลยีกับสังคมเทคโนโลยีมันแยกออกจากกันไม่ได้ เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีก็ไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนด ‘การใช้’ เทคโนโลยี และผู้ใช้ก็ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีในแบบที่ผู้เชียวชาญวางแบบแผนเอาไว้เสมอ พลวัตรนี้แสดงถึงประชาธิปไตยของเทคโนโลยีว่า ทุกคนในสังคมมีส่วนกำหนดการใช้และความมีอยู่ของเทคโนโลยีในสังคม
เนื้อสัตว์ปลูกก็เช่นกัน ถ้าหากเราเข้าใจว่าเทคโนโลยีไม่ใช่อุปกรณ์หรือเมนูที่อยู่ตรงหน้าเรา จะเห็นว่า การจะยอมรับให้เนื้อสัตว์ปลูกอยู่ในตลาดให้เราเลือกซื้อ เราอาจจะต้องมองในภาพที่กว้างขึ้นว่า เนื้อสัตว์ปลูกจะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมบ้าง
ความรู้และกระบวนการผลิตทางเทคนิคไม่ได้การันตีความสำเร็จของเทคโนโลยี เช่น มีความพยายามทำฟาร์มทูน่า แต่นั่นยิ่งทำให้ทูน่าที่จับได้ตามธรรมชาติเป็นที่ต้องการมากขึ้น เพราะมันมีคุณค่าอย่างอื่นที่ไม่ใช่แค่การหากินได้ง่าย เนื้อวัวก็เช่นเดียวกัน การมีเนื้อสัตว์ปลูกไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการบริโภคเนื้อวัว ตราบใดที่เนื้อวัวชั้นดีจะต้องมีการเพาะเลี้ยงแบบพิเศษ ไม่ใช่เนื้อว่าที่มาจากท้องตลาด การมีเนื้อสัตว์ปลูกอาจจะไม่ได้เปลี่ยนความนิยมบริโภคเนื้อที่มาจากวัวจริงก็ได้
นั่นแสดงว่ามันอาจจะไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริงที่ยังมีการฆ่าสัตว์ ถ้าหากสังคมไม่ได้ตระหนักว่าเนื้อสัตว์ปลูกมีคุณค่าอะไรที่อยู่เบื้องหลัง
ความยุ่งยากอีกประการหนึ่งของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหารก็คือ ผู้ใช้แทบไม่มีความรู้สึกว่าอาหารที่ทานนั้นเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างไร อาหารทำผ่านกระบวนการตัดแต่งพันธุกรรมกับอาหารที่ไม่ตัดแต่งพันธุกรรมไม่มีอะไรต่างกันเมื่อมาอยู่บนจานพร้อมให้เราทาน นี่เป็นอีกเหตุผลนึงที่ทำให้การตัดแต่งพันธุกรรมเป็นเรื่องใหญ่ และการติดฉลากให้ข้อมูลเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ผู้บริโภครับรู้ความแตกต่าง (แต่ฉลากก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้บริโภคแน่ใจได้อย่างแท้จริง เพราะฉลากอาจจะปลอมแปลงขึ้นมาก็ได้)
วิธีทางปรัชญาที่คิดเกี่ยวกับเทคโนโลยีอีกประเด็นหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีเป้าหมาย คนที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยของเทคโนโลยีมักจะเชื่อว่า เราเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในสังคมได้เพราะอำนาจของผู้ใช้และผู้เชี่ยวชาญมีบทบาทในการกำหนดเทคโนโลยีเท่าๆ กัน แต่นั่นก็ไม่ได้หักล้างความคิดที่ว่าเทคโนโลยีสร้างขึ้นเพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง (ซึ่งแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยในเทคโนโลยีสนใจด้วยว่า ใครเป็นผู้กำหนดเป้าหมาย)
ในกรณีเนื้อสัตว์ปลูกนั้นเป็นเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสองข้อ ก็คือ ปัญหาเรื่องการฆ่าสัตว์ และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ถ้าพิจารณาจากเป้าหมายนี้จะเห็นว่า เทคนิคของการผลิตเนื้อสัตว์ปลูกเป็นเพียงทางเลือกในการแก้ปัญหาทั้งสองข้อ ซึ่งมันอาจจะมีวิธีอื่นที่แก้ปัญหาสองข้อข้างต้นได้โดยที่เราไม่ต้องผลิตเนื้อสัตว์ปลูก เช่น เป็นมังสวิรัติ และเช่นเดียวกัน การมีเนื้อสัตว์ปลูกไม่ได้การันตีว่า สังคมจะเลิกกินเนื้อวัวจริง แล้วหันมาบริโภคเนื้อสัตว์ปลูกกันทั้งหมด
อาหาร เทคโนโลยี: ความท้าทายแบบเดียวกัน
อาหารเป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกับเรามากจนแทบมองไม่เห็นว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาจัดการอาหารจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง แต่ถ้ามองภาพสังคมทั้งหมดจะเห็นว่า เนื้อสัตว์ปลูกมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการมีเนื้อให้เราบริโภค แต่มันพุ่งเป้าไปที่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลของมันก็กลับมาที่มนุษย์นั่นเอง
และการพิจารณาเทคโนโลยีในฐานะสังคมที่มีพลวัตร จะทำให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีอำนาจในการตัดสินใจความเป็นไปของสังคมเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน ผู้เชี่ยวชาญไม่ได้มีอำนาจเด็ดขาดในการกำหนดสังคมเทคโนโลยี ไม่เพียงแต่เรื่องของอาหารเท่านั้น เทคโนโลยีอื่นๆ ก็เช่นกัน
Tags: ปรัชญา, เนื้อสัตว์, เนื้อสัตว์ปลูก, Vitromeat