อย่างที่หลายคนคุ้นเคยในทุกปี ‘เทศกาลกินเจ’ หรือประเพณีถือศีลกินผัก จัดขึ้นเป็นเวลา 9 วัน เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปีซึ่งมักจะตรงกับเดือนตุลาคม ดั้งเดิม ประเพณีนี้จัดในประเทศจีน แต่ปัจจุบันประเพณีนี้มีการจัดกันอย่างแพร่หลายทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังมีบางประเทศในเอเชีย เช่น ภูฏาน เกาหลี ญี่ปุ่น รวมถึงจีนเองด้วย ส่วนในประเทศไทยก็มีเทศกาลกินเจเป็นปกติ และยิ่งเข้มข้นโดยเฉพาะในพื้นที่ทางภาคใต้อย่างเช่น เทศกาลกินเจหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรัง และเทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต

ก่อนอื่น ว่ากันคร่าวๆ เรื่องการกินเจก่อน ประเพณีนี้จัดขึ้นตามแนวคิดของลัทธิขงจื๊อร่วมกับศาสนาพุทธนิกายมหายาน สาเหตุสำคัญที่ต้องกินเจ 9 วัน มาจากความเชื่อเรื่องดาวนพเคราะห์ ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าในอดีต 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์ 2 พระองค์รวมเป็นพระราชาธิราช 9 องค์ หรือดาวนพเคราะห์ ซึ่งคำว่า เจ หรือ แจ ในภาษาจีนแต้จิ๋วและ ไจ ในภาษาจีนกลางนั้นหมายถึง การรักษาศีล 8 ครอบคลุมถึงการละเว้นของคาว อาหารที่มีกลิ่นฉุน อาหารเค็มจัด เผ็ดจัด เปรี้ยวจัดทั้งหลาย และยังรวมไปถึงทั้งกาย วาจาใจ และการละเว้นจากการเบียดเบียนชีวิตสัตว์ต่างๆ ด้วย   

ในสมัยจีนโบราณ การกินเจถือเป็นพิธีที่จำเป็นต้องทำ คนจีนโบราณเชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะไม่รับการติดต่อเซ่นสรวงจากคนสกปรก และการกินเจก็ทำให้คนเรา ‘สะอาด’ ขึ้น โดยในอดีตมีหลักฐานว่าการกินเจแท้จริงแล้วเกิดขึ้นในชนชั้นสูง ข้อมูลนี้ปรากฏในคัมภีร์หลี่จี้ “เมื่อทำพิธีเซ่นสรวงบูชาประมุขต้องกินเจ เจคือความเรียบร้อยบริสุทธิ์, ชำระกายใจที่ไม่บริสุทธิ์ให้บริสุทธิ์แน่วแน่, หากไม่มีเรื่องสำคัญ, ไม่มีเรื่องที่ต้องเคารพนบนอบ, ประมุขก็จะไม่กินเจ”

ทั้งนี้ แต่เดิมการกินเจ เป็นเรื่องของชนชั้นปกครองที่จะกินเฉพาะเมื่อมีพิธีกรรมสำคัญ แต่ต่อมากลายเป็นจารีตของนักบวชพุทธในยุคที่พุทธศาสนาเข้ามามีอิทธิพลนั้น แม้เดิมทีจะไม่ได้ห้ามกินเนื้อแต่นิกายมหายานบางสายให้ความสำคัญกับการกินเจ จึงเกิดคัมภีร์ ลังกาวตารสูตร ขึ้นมาสนับสนุนเรื่องนี้ และชาวบ้านก็เริ่มถือตามมาในที่สุด

คนไทยกับการกินเจ

การกินเจในไทยนั้นเป็นการรับเอาประเพณีมาจากจีน คาดว่าคนไทยรู้จัก ‘การกินเจ’ มายาวนานแล้ว เชื่อกันว่าน่าจะเกิดขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2170 ซึ่งตรงกับสมัยอาณาจักรอยุธยา และยังมีสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยเทศกาลกินเจที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีผู้เข้าร่วมจำนวนมากนั้นมีทั้งหมด 6 เทศกาล นั่นคือ เทศกาลกินเจ พัทยา เทศกาลกินเจสมุทรสาคร เทศกาลกินเจเขตประเวศ กรุงเทพฯ และอีก 3 เทศกาลดังในภาคใต้ที่กล่าวไปตอนต้น

เหตุที่โด่งดังและดึงดูดคนจำนวนมากได้ทุกปี เนื่องจากเทศกาลกินเจในภาคใต้มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างออกไปจากเทศกาลกินเจในภูมิภาคอื่นๆ

ในจังหวัดตรังมีการยกเสาเต็งโกรับเทศกาลกินเจ ซึ่งเสาดังกล่าวเป็นไม้ไผ่ที่ชาวเมืองจะร่วมกันไปทำพิธีตัดต้นไผ่ตงเพื่อนำมาเป็นเต็งโก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการเริ่มต้นเทศกาลถือศีลกินเจ โดยมีเจ้าพ่อเสือประทับร่างเป็นประธานในการทำพิธีขอขมาเจ้าที่ และเสี่ยงทายเลือกและตัดต้นไผ่และไม้คันชั่งใช้สำหรับแขวนตะเกียงตลอดช่วงกินเจ

ส่วนเทศกาลถือศีลกินผัก จังหวัดภูเก็ต ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์สำหรับนักท่องเที่ยว ในฐานะ Thailand piercing festival ในทุกปีจะมี ‘พิธีแห่พระรอบเมือง’ ซึ่งจะมีทั้งชาวภูเก็ตที่เข้าร่วมโดยการจัดตั้งโต๊ะหมู่บูชาที่หน้าบ้านและร่วมกันใส่ชุดขาวและมีขบวนแห่ของศาลเจ้า ‘จุ๊ยตุ่ย’ ซึ่งเป็นศาลเจ้าขนาดใหญ่ของภูเก็ต ขบวนแห่ดังกล่าวจะประกอบไปด้วยม้าทรงทั้งหมด 2,000 องค์ ซึ่งม้าทรงต่างๆ เหล่านี้จะแสดงอิทธิฤทธิ์แปลกๆ เช่น การเอาขวานจามหลัง มีดกรีดลิ้น ปืนแทงเข้าไปในปาก เป็นต้น เพื่อแสดงถึงพลังอำนาจของเทพเจ้าที่ได้ลงมาจุติเรียบร้อยแล้ว จนร่างกายมนุษย์ของพวกเขาสามารถต้านทานความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้ และนี่เป็นเพียงพื้นที่เดียวในโลกที่มีการแสดงปาฏิหาริย์ในทำนองนี้

นี่เป็นสิ่งที่ถูกจับตามองมาช้านาน กับพิธีกรรมที่แฝงเอาความรุนแรงไว้เป็นส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่เราอยากค้นหาต่อในบทความนี้คือ เหตุใดกัน ความเข้มข้นและลักษณะพิเศษเหล่านี้จึงมีปรากฎอยู่ในเพียงเทศกาลกินเจของภาคใต้มากกว่าภูมิภาคอื่นในประเทศ ?

การอพยพของชาวจีนสู่ไทย

ไทยนั้นมีความสัมพันธ์อันดีกับชาวจีนมาช้านาน และส่วนใหญ่เริ่มต้นจากทางภาคใต้ ตามบันทึกเก่าๆ ของไทย มักจะมีขบวนเรือสำเภาแวะมาค้าขายกับสยามที่บริเวณแหลมมลายู โดยมีบันทึกในช่วงศตวรรษที่ 13 และ 14 ที่ชาวจีนนั้นมาถ่ายเทสินค้าในชุมพร สุราษฎร์ธานี (บ้านดอน) หรือ นครศรีธรรมราช (ลิกอร์) โดยอาศัยลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อเดินทางไปถ่ายเทสินค้าให้ทันเวลากับการเดินทางกลับจีนพร้อมลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้

ภาคใต้ของไทยไม่ใช่เพียงทางผ่านขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยา เพราะชาวจีนหลายคนเริ่มลงหลักปักฐานทำเหมืองแร่ที่นั่น จากการค้นพบแร่ดีบุกโดยบังเอิญ ระหว่างการเดินทางจากนครศรีธรรมราชไปสู่ตรัง และระหว่างเดินทางไปภูเก็ต เชื่อว่าชาวจีนได้ค้นพบและเข้ามาทำเหมืองแร่ตั้งแต่ก่อนศตวรรษที่ 14 และได้มีการเริ่มตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคใต้ของสยามในเวลาต่อมา  ซึ่งเริ่มมีหลักฐานเกี่ยวกับการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในไทยและ ‘ลูกจีน’ หรือการที่มีบิดาเป็นชาวจีนและมีมารดาเป็นชาวไทยในไทยเป็นครั้งแรกในสมัยอยุธยา หรือศตวรรษที่ 15 โดยในสมัยก่อนที่ยังไม่มีนามสกุลชาวจีนที่อพยพเข้ามายังคงแซ่เดิมของตนไว้ จนมาถึงในลูกหลานในสองสามรุ่นต่อมาจึงได้มีการยกเลิกไป

การหลั่งไหลอพยพเข้ามาของชาวจีนอย่างเป็นทางการนั้นเกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงแรกเริ่มของการอพยพ ซึ่งผู้อพยพชาวจีนทั้งหมดนั้นล้วนมาจากมณฑลฟูเกี้ยนและกวางตุ้งเท่านั้น เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้มีการเคลื่อนย้ายของประชากร อีกทั้งยังมีประเด็นในเรื่องของการติดต่อค้าขายทางทะเลที่มีแนวโน้มที่จะทำได้ง่ายกว่า ซึ่งถือเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาด้านภูมิประเทศของพื้นที่ในมณฑลดังกล่าวมีเทือกเขาสูง อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการขนส่ง และความปลอดภัย หลังจากจีนนั้นประสบปัญหาเกี่ยวกับภัยทางธรรมชาติและความต้องการเปิดประเทศจีนของชาวตะวันตก

เหล่านี้จึงเป็นแรงผลักดันให้ชาวจีนในมณฑลฟูเกี้ยนและกวางตุ้งเลือกที่มุ่งหน้าสู่ทะเลเพื่อติดต่อค้าขาย จึงเป็นเหมือนกับการบังคับให้ชาวจีนพัฒนาเรือสำเภาและนำไปสู่การเดินเรือไปตามชายฝั่งต่างๆ ทางใต้ของจีนเรื่อยมา จนถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหากกล่าวต่อมาด้วยลักษณะความคล้ายคลึงกันของภูมิอากาศ ทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ และวัฒนธรรม รวมไปถึงเรื่องศาสนาซึ่งชาวจีนนั้นสามารถปรับตัวได้อย่างง่ายดายนี้เอง สยามเองก็ถือเป็นจุดหมายที่น่าสนใจ ชาวจีนจึงหลั่งไหลกันเข้ามาเป็นจำนวนมาก และได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองสำคัญทางเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 อาชีพของชาวจีนส่วนใหญ่ที่มาตั้งถิ่นฐานในไทยนั้นมักเป็นพ่อค้า และยังมีการเข้ามามีส่วนร่วมในการติดต่อค้าขายระหว่างรัฐไทยกับจีน เนื่องจากคุ้นเคยกับระบบการค้าขายของไทยด้วย

คนจีน กับ ภาคใต้

อย่างที่เราทราบกันว่าชาวจีนในภาคใต้นั้นยังคงเก็บรักษาเอกลักษณ์ความเป็นจีนไว้ได้อย่างเข้มข้นมากกว่าชาวจีนในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย โดยชาวจีนส่วนใหญ่ในพื้นที่ของภาคใต้นั้นเป็นชาวจีนเผ่าฮกเกี้ยน ซึ่งส่วนใหญ่เคยทำงานเป็นแรงงานในเหมืองแร่ และปลูกยางพารา รวมทั้งค้าขาย ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2,433 ถือเป็นช่วงที่จำนวนผู้อพยพในจังหวัด ภูเก็ต ระนองและตรังมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นชาวจีนฮกเกี้ยนเช่นกัน

ในเวลานั้นสยามเพิ่งได้หัวเมืองมลายูซึ่งมีทรัพยากรที่สมบูรณ์ รวมไปถึงหัวเมืองอื่นๆ เป็นอาณานิคม ทั้งนี้รัฐได้มอบอำนาจให้กับขุนนางท้องถิ่นในภาคใต้ โดยเฉพาะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชและเจ้าเมืองสงขลา  ในการเข้ามาดูแลเก็บภาษีอากร และในพื้นที่เหล่านี้เองก็ได้มีการทำเหมืองแร่และการค้าเป็นหลัก อีกทั้งลักษณะเศรษฐกิจของภาคใต้ในช่วงก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริ่งนั้น ดำเนินด้วยกลุ่มชนชั้นปกครองและนายทุนชาวจีน โดยช่วงหลังสนธิสัญญาเบาวริ่ง เศรษฐกิจของภาคใต้ยังคงเป็นในลักษณะพึ่งตัวเองคละกับแบบเหมืองแร่ เนื่องจากรายได้จากเหมืองแร่นั้นมีมากมายมหาศาล

ด้วยลักษณะเศรษฐกิจของภาคใต้ที่พึ่งตัวเองนี้เอง ยิ่งเป็นผลให้แรงงานจีนเติบโตและเป็นกำลังสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งแรงงานชาวจีนยังได้เข้าไปมีบทบาทในการเมือง ในฐานะกลุ่มอั้งยี่ภายใต้สังกัดของชนชั้นปกครองไทย โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าของกลุ่มอั้งยี่ในแต่ละพื้นที่ภาคใต้นั้นทรงอิทธิพลอย่างมาก และแสดงให้เห็นการเมืองของชาวจีนที่เติบโตภายใต้ศักดินาของไทย และการเข้ามาแทรกซึมและมีบทบาทในภาคใต้อย่างหลากหลายของชาวจีนนี้เอง อาจมีส่วนส่งผลให้ความเข้มข้นของอัตลักษณ์ของความเป็นจีนในภาคใต้นั้นเข้มข้นมากกว่าในพื้นที่อื่นๆ

หากจะว่ากันง่ายๆ จำนวนของชาวจีนในพื้นที่นั้นมีผลให้เทศกาลกินเจทางภาคใต้ยิ่งเข้มข้น แต่นั่นไม่ใช่ทั้งหมด เพราะนั่นยังเป็นผลของประวัติศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นการก่อร่างสร้างตัวของชาวจีนจนกลายเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลในพื้นที่ และสืบสานเทศกาลกินเจที่เป็นหลักยึดสำคัญหนึ่งของพวกเขา ให้กลายเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งถึงเพียงนี้

  

อ้างอิง

Tags: , ,