เมื่อ 10 ปีก่อน เราต่างเสพข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทาง เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือวิทยุ ช่องทางเหล่านี้ต่างจำกัด ‘ปริมาณการนำเสนอ’ ด้วยเวลาออกอากาศ หรือพื้นที่บนหน้ากระดาษ ดังคำโปรยคลาสสิกของหนังสือพิมพ์เจ้าดัง New York Times ในสหรัฐอเมริกาที่ใช้มานานกว่า 100 ปีว่า “นำเสนอทุกข่าวเท่าที่หน้ากระดาษจะบรรจุได้ (All the news that’s fit to print)” วาทะดังกล่าวตีแผ่ความจริงที่ว่าไม่มีทางที่สำนักข่าวใดจะเสนอข่าวครบถ้วน ทุกมุมมอง ทุกแง่มุม เพราะมีทรัพยากรที่จำกัด

โลกออนไลน์ทำลายเส้นบางๆ ของหน้ากระดาษ และเวลาออกอากาศลง ทุกคนสามารถนำเสนอเรื่องราว หรือเนื้อหาได้โดยไม่มีจำนวนหน้ากระดาษมาจำกัด และไม่จำเป็นต้องมีบัตรสื่อมวลชน โดยสังคมจะเป็นผู้ตัดสินว่าเนื้อหาที่คุณนำเสนอควรค่าแก่การอ่านหรือไม่

ในภาวะที่หนังสือพิมพ์หลายหัวเริ่มเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจ หลายคนคงเดาได้ว่าอินเทอร์เน็ตเปลี่ยนพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชนไปอย่างมหาศาล เช่น การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ระบุว่าชาวอเมริกันร้อยละ 62 รับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดีย โดยเกือบครึ่งหนึ่งอ่านจากเฟซบุ๊ก เช่นเดียวกับเม็ดเงินของวงการโฆษณาที่ย้ายจากสื่อดั้งเดิมสู่โลกออนไลน์ จนใครๆ ก็สามารถหารายได้จากการนำเสนอเนื้อหาที่มวลชนสนใจที่จะคลิก

แต่สภาวะที่เกือบจะไร้การกำกับดูแล ก็นำพามาซึ่งปัญหาข่าวปลอม (Fake News) คำศัพท์น้องใหม่ที่ถูกใช้อย่างแพร่หลายในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2559 และยังเป็นคำฮิตติดปากทั้งนักการเมือง สื่อมวลชน และชุมชนออนไลน์จวบจนปัจจุบัน

ด้วยความที่เป็นคำฮิตนี่แหละครับ ทำให้ความหมายของคำว่า ‘ข่าวปลอม’ เลื่อนไหล ในบทความนี้ นิยามของข่าวปลอมที่ผู้เขียนใช้คือ “ข่าวสารที่ตั้งใจเผยแพร่เพื่อหลอกลวง (Disinformation)” ไม่ใช่ “ข่าวสารที่มีข้อมูลไม่ถูกต้องบางประการ (Misinformation)”

แรงจูงใจที่นำไปสู่ต้นกำเนิดของข่าวปลอม

แรงจูงใจหลักที่ทำให้เกิดข่าวปลอมคือเงินจากการโฆษณา และความต้องการเสพของฉาวของชาวอเมริกา

เรื่องทั้งหมดเกิดที่เมืองเวเลส (Veles) เมืองเล็กๆ ที่มีประชากรราว 50,000 คนทางตอนเหนือของประเทศมาเซโดเนีย เมืองที่ถูกประณามว่าเป็นอาณาจักรของข่าวปลอม

มาเซโดเนียเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยราว 12,000 บาทต่อเดือน ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราการว่างงานพุ่งสูงถึงร้อยละ 23 เหล่าวัยรุ่นในเมืองเวเลสจึงเริ่มหาช่องทางทำเงินง่ายๆ จากการเขียนข่าวปลอมเพื่อหลอกล่อให้คนมาเข้าเว็บไซต์ แล้วโกยรายได้จากค่าโฆษณา โดยเว็บไซต์ BuzzFeed เสนอว่าในช่วงเวลาดังกล่าว มีเว็บไซต์สนับสนุนประธานาธิบดีทรัมป์ที่จดทะเบียนในเมืองเวเลสถึง 200 เว็บไซต์ โดยใช้ชื่อที่ดูน่าเชื่อถือ เช่น WorldPoliticus.com, USConservativeToday.com และ USADailyPolitics.com

หน้าแรกของเว็บไซต์ WorldPoliticus เว็บไซต์เผยแพร่ข่าวปลอมที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

 

เว็บไซต์เหล่านี้ดึงดูดชาวอเมริกันให้เข้าไปอ่านมากกว่า 15 ล้านวิว โดยข่าวปลอมที่ถูกแชร์ลงสู่โซเชียลมีเดียก็เข้าถึงผู้ใช้มากกว่า 213 ล้านบัญชี โดยเหล่าวัยรุ่นเจ้าของสองเว็บไซต์โกยสตางค์เข้ากระเป๋าไปกว่า 16,000 ดอลลาร์สหรัฐ นักเขียนข่าวปลอมให้สัมภาษณ์ว่าได้เงินจาก Google AdSense ถึง 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ วัยรุ่นบางรายคุยโวว่ามีรายได้มากกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ตัวอย่างข่าวปลอมที่ได้รับการเผยแพร่มากที่สุดคือ “ช็อกโลก! พระสันตะปาปาฟรานซิสประกาศรับรองให้ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี” โดยมีการแชร์ คอมเมนต์ และไลก์ในเฟซบุ๊กมากกว่าล้านครั้ง

หลายสำนักข่าวยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า เหล่าวัยรุ่นในเวเลสไม่ได้สนใจการเมืองในสหรัฐฯ แต่อย่างใด เพียงแต่การเขียนข่าวปลอมนั้นทำเงินเข้ากระเป๋าได้ง่ายในจำนวนมหาศาล

งานวิจัยชิ้นหนึ่งนำเสนอวงจรอุบาทว์ของข่าวปลอม โดยระบุว่ามี 3 ฝ่ายหลักที่ทำให้ข่าวปลอมยังคงมีอยู่ได้

  • นักสร้างข่าวปลอม พวกเขาและเธอแทบไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงอะไรในการสร้างเนื้อหา ในขณะที่สามารถทำรายได้ได้เป็นกอบเป็นกำหรืออาจรู้สึกพึงใจที่ได้ทำบางอย่างเพื่อสนับสนุนแนวคิดของตนเอง พวกเขาและเธอยังมีโอกาสถูกดำเนินคดีตามกฎหมายค่อนข้างต่ำ เช่น การเขียนข่าวปลอมในบางประเทศอาจไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย เป็นต้น
  • สถาบันคนกลาง ซึ่งสามารถแยกย่อยเป็น 3 กลุ่มคือ คนกลางทางสังคม เช่น สถาบันวิชาชีพสื่อสารมวลชน หรือนักวิชาการ คนกลางทางกฎหมาย และคนกลางทางเศรษฐกิจ สถาบันคนกลางเหล่านี้ยังไม่ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาข่าวปลอมมากเท่าที่ควร
  • ผู้บริโภคข่าวสาร จากพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น และงานวิจัยที่ระบุว่าผู้บริโภคบางกลุ่มยังขาดวิจารณญาณในการระบุว่าข่าวที่อ่านมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ การแพร่ระบาดของข่าวปลอมจึงหยุดยั้งได้ยาก

ตราบใดที่แรงจูงใจและประโยชน์ทั้งทางการเงินและทางความรู้สึกยังมากกว่าค่าเสียโอกาสที่จะถูกดำเนินคดี ข่าวปลอมบนโลกอินเทอร์เน็ตก็ดูจะไม่มีทีท่าจบลงง่ายๆ ในขณะที่ข่าวปลอมทั่วโลกยังคงสร้างความเกลียดชังต่อคนบางกลุ่ม เป็นเชื้อไฟให้สงคราม หวังผลการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือแม้แต่สร้างความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับการรักษาโรคและสุขภาพ

แนวทางการรับมือข่าวปลอม

วิธีรับมือที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็หนีไม่พ้นหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง คือการตั้งโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ต่อสู้กับข่าวปลอม ซึ่งโมเดลที่ได้รับการกล่าวถึงและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งคือ StopFake เว็บไซต์และรายการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากการรวมตัวกันของอาจารย์มหาวิทยาลัยและอาสาสมัครในประเทศยูเครน โดยมีเป้าหมายหลักคือแก้ไขความเข้าใจผิดจากข่าวปลอมซึ่งผลิตโดยรัสเซีย

ส่วนรายการในประเทศไทยที่ผู้เขียนพอคุ้นๆ อยู่ก็คงจะเป็นรายการชัวร์นะแม่ อย่าแชร์มั่ว ซึ่งออกอากาศทางช่องอมรินทร์อยู่ช่วงหนึ่ง

ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ตเองก็ไม่ได้อยู่เฉย มีการออกมาประกาศสงครามกับข่าวปลอม เช่น การเปลี่ยนอัลกอริทึมการแสดงผลของทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊ก รวมถึงการจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเจาะจงเพื่อตรวจสอบข่าว และป้องกันไม่ให้ข่าวปลอมแพร่กระจายในวงกว้าง อย่างไรก็ดี ภาครัฐเช่นสหภาพยุโรปก็ยังมองว่าเหล่ายักษ์ใหญ่ยังพยายามไม่เพียงพอ

สุดท้ายคือการสร้างความตระหนักในหมู่ผู้บริโภคข่าวสาร โดยเน้นให้การศึกษาเรื่อง ‘การอ่านออกเขียนได้ในการรับข่าว’ โดยแนะนำเทคนิคพื้นฐานในการตรวจสอบข่าวปลอม เช่น คำนึงถึงความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ตรวจสอบผู้เขียน ตรวจสอบบทความที่ใช้อ้างอิง และตรวจสอบวันที่เขียน เป็นต้น ส่วนใครมีความพยายามเพิ่มขึ้นหน่อย ก็อาจเอาเนื้อหาหรือรูปภาพที่แนบมาไปค้นในอากู๋อีกครั้งหนึ่งว่าข่าวจริงหรือข่าวลวง

แม้ว่าปัญหาข่าวปลอมจะถูกทำให้กลายเป็นประเด็นสาธารณะ แต่จากประสบการณ์ตรงก็ยังพบว่ามีการแชร์ข่าวปลอมอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะในกลุ่มไลน์ครอบครัว ในฐานะลูกหลานที่ดี สิ่งที่เราทำได้และควรทำอย่างยิ่งคือการตักเตือนญาติผู้ใหญ่ด้วยเหตุผลและคำสุภาพว่าไม่ควรเผยแพร่ข่าวปลอมต่อนั่นเอง เพราะไม่ว่าเหล่าองค์กรตัวกลางจะพยายามแค่ไหน ก็ไม่มีทางจับได้ไล่ทันแวดวงข่าวปลอมที่ปรับเปลี่ยนวิธีการอยู่ตลอดเวลา

ล่าสุดแว่วๆ มาว่า เหล่านักเขียนข่าวปลอมกำลังจะตกงาน เพราะอาจมีโปรแกรมเมอร์หัวใสใช้ปัญญาประดิษฐ์มาเขียนข่าวปลอมเผยแพร่สู่อินเทอร์เน็ต

หลังจากเช็คข้อมูลแล้ว ผู้เขียนขอยืนยันว่าข่าวนี้ไม่ใช่ข่าวปลอมนะครับ!

 

เอกสารประกอบการเขียน

The (almost) complete history of ‘fake news’

The city getting rich from fake news

How Teens In The Balkans Are Duping Trump Supporters With Fake News

The godfather of fake news

The Economics of “Fake News”

Google, Facebook and Twitter Agree to Fight Fake News in the EU

 

Tags: , , ,