สถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์มากมาย ถูกสร้างขึ้นจากความตั้งใจ ใส่ใจในทุกๆ รายละเอียดของการทำงาน ตั้งแต่การคิด สร้างสรรค์ ออกแบบ ไปจนถึงการเลือกใช้วัสดุเล็กๆ น้อยๆ ในงาน รายละเอียดเหล่านี้ถูกประกอบขึ้นมาให้สถาปัตยกรรมนั้นๆ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แตกต่าง และสมบูรณ์แบบในฉบับของตัวมันเอง
สถาปนิก คือผู้อยู่เบื้องหลังงานเหล่านี้ ซึ่งกว่างานชิ้นหนึ่งจะเสร็จสิ้นออกมาหรือสมบูรณ์แบบได้นั้น ทุกๆ ขั้นตอนจะต้องถูกออกแบบมาอย่างแม่นยำ ประณีต ผิดพลาดไม่ได้เลย จึงไม่แปลกหากงานของสถาปนิกนั้นเป็นงานที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในทุกๆ ขั้นตอน
แล้ว ‘ความสมบูรณ์แบบ’ ที่แท้จริงคืออะไร และนี่คือ 3 สถาปนิก ที่จะเล่าถึงนิยามของความสมบูรณ์แบบที่แตกต่างกัน ว่าจริงๆ แล้วความสมบูรณ์แบบในงานของสถาปนิกนั้นคืออะไรกันแน่
Perfection is an Attitude
คุณแนท – วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกผู้ก่อตั้ง VasLab ห้องทดลองทางสถาปัตยกรรมที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ ที่สร้างสรรค์งานสถาปัตยกรรมคอนกรีตที่มีเส้นสายอันเป็นเอกลักษณ์ เขามักกล่าวอยู่เสมอว่า งานคอนกรีตที่เปลือยให้เห็นถึงวัสดุ คล้ายกับชีวิต เมื่อเผชิญร่องรอยไปตามกาลเวลาบ้าง จะสะท้อนให้เห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ
สำหรับสถาปนิกหลายๆ คน ความสมบูรณ์แบบอาจติดเป็นนิสัยส่วนตัว ด้วยเพราะการทำงานที่ต้องเนี้ยบ เป๊ะ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามแบบแผน แต่สำหรับคุณแนท-วสุ มองว่าจริงๆ แล้ว Perfection คือ Attitude เป็นความคิดที่เราอยากสร้างสรรค์งานออกมาให้สมบูรณ์แบบ สถาปนิกที่ดีควรมีการจัดการที่เก่ง แล้วก็ต้องอิมโพรไวส์ (improvise) เก่งด้วย เพราะแผนตรงหน้าพร้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่งานก็ต้องดำเนินไปอย่างสมบูรณ์แบบตามแผนใหญ่ที่วางไว้ด้วย
“ในวงการสถาปนิก ความสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ในสายตาของคนทุกคน หนึ่งร้อยคนอาจมีหนึ่งคนที่มองว่ามันไม่สมบูรณ์แบบก็ได้ ผมจึงไม่ค่อยเชื่อในคำคำนี้ในโลกแห่งความเป็นจริงนัก”
“คำว่า Perfect ในทางปฏิบัติผมคิดว่าเป็นแค่ Attitude ได้ ทำให้ดีที่สุด แต่สุดท้ายมันจะเป็นอย่างไรคุณต้องยอมรับได้” วสุ กล่าว
คุณแนท-วสุ กล่าวเพิ่มเติมว่าในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นวิชาชีพนี้ เขาใช้เวลาไปกับการ Explore นานมากๆ เพราะเป็นงานที่เขาต้องการสะท้อนตัวตนออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งขั้นตอนนี้ยังไม่ใช่ผลลัพธ์ปลายทางด้วยซ้ำ ทำให้เขาต้องกลับมาจัดการให้ขั้นตอนนี้อย่างพอดี เหมาะสม เพราะความสมบูรณ์แบบต้องพอดีกับเวลาและบาลานซ์ทุกอย่างให้ได้ด้วย
“ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญมากในการนำเสนอ ทุกวันนี้ลูกค้ามีสิทธิเลือกมากขึ้น เพราะโลกเราไร้พรมแดน ดังนั้น สิ่งที่คุณจะทำให้ลูกค้าประทับใจบางทีก็อยู่ที่กระดาษแผ่นเดียวนั่นล่ะ ผมจะบอกหลายๆ คนให้สเก็ตช์ด้วยมือก่อน เพราะความสัมพันธ์ระหว่างมือกับสมองนั้นเร็วที่สุด จากนั้นค่อยใช้ตัวช่วยที่จะทำให้งานของคุณเป็นจริงและสวยขึ้นกว่าเดิม
“อย่างเช่นปริ้นเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะถ่ายทอดงานที่ผมคิดไว้บนหน้าจอ และนำเสนอให้ลูกค้าเห็นภาพจริง และภาพรวมได้กว้างขึ้น งานจะออกมาสมบูรณ์แบบหรือไม่ คุณต้องไม่มองข้ามแม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ” วสุ กล่าวทิ้งท้าย
Perfections are Practices
“ความสมบูรณ์แบบในงาน เกิดจากการฝึกฝน ไม่มีใครเริ่มต้นแล้วเก่งได้เลย ต้องทำทุกวัน ฝึกทุกวัน” คือคำพูดของ คุณบอย – พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ ผู้ก่อตั้งบริษัทออกแบบ Anonym ที่เริ่มต้นเส้นทางวิชาชีพนี้จากการเป็นนักศึกษาฝึกงานในบริษัทสถาปนิกแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ ก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในบริษัทสถาปนิกชั้นนำทั้งไทยและต่างประเทศ ควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงและสำนักงานกว่า 70,000 ตารางเมตร
แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องตัดสินใจจะเปิดบริษัทสถาปนิกของตนเอง น่าแปลกใจว่าสเกลงานที่เขารับดูแลให้ลูกค้าส่วนใหญ่ คือการทำบ้านพักอยู่อาศัยในสไตล์โปร่งเบาและถ่อมตนกลมกลืนไปกับบริบทรอบๆ อันเป็นความท้าทายและสะท้อนตัวตนของเขาได้ชัดเจนที่สุด
การเก็บเกี่ยวประสบการณ์และการฝึกฝนตลอด 15 ปี คือพื้นฐานสำคัญอันนำไปสู่ความสมบูรณ์แบบ สำหรับพงศ์ภัทร ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่เพียง Product แต่มันคือ Process ที่กว่าคนจะใช้คำว่าสมบูรณ์แบบได้นั้น เขาต้องฝึกฝน ทำมันทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และการทำงานตลอด 15 ปีที่ผ่านมาของพงศ์ภัทร เขาก็ได้ฝึกฝนและเรียนรู้มาตลอดจนเจอว่าอะไรที่มันใช่ หรือไม่ใช่ และไม่ว่าอย่างไร “คนเก่งทุกคนล้วนต้องฝึกฝน ไม่มีใครเริ่มมาแล้วเก่งเลย ความสมบูรณ์แบบนั้นต้องสะสมและทำทุกวัน” พงศ์ภัทรกล่าว
คุณบอย-พงศ์ภัทร มักพูดกับเด็กรุ่นใหม่เสมอว่า ควรมีกระบวนการวิเคราะห์ที่แม่นยำและฝึกฝนบ่อยๆ อาจจะเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ก่อน เช่น ขนาดพื้นที่ ทิศทางลม แดด ควรตั้งคำถามง่ายๆ ให้เป็นก่อนที่จะไปออกแบบอะไรที่หวือหวา และเมื่อฝึกฝน ทำซ้ำ ย่อมเจอกับความผิดพลาดเกิดขึ้นบ้างเสมอ ซึ่งนั่นก็คือการฝึกฝนอย่างหนึ่งเช่นกัน และเมื่อทำซ้ำ ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ทุกอย่างก็จะตามมาเอง
ถึงแม้ทุกวันนี้อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนงานของสถาปนิกได้มากขึ้น แต่คุณบอย ยังชอบที่จะสเก็ตช์งานด้วยมือก่อน เมื่อขึ้นแปลนและเห็นภาพรวมว่าแปลนเป็นอย่างไร เมื่อมั่นใจแล้วจึงค่อยขึ้นภาพตัดในคอมพิวเตอร์
ซึ่งเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้งานนั้นเนี้ยบ เรียบร้อยขึ้น และการพิมพ์งานจริงออกมาเป็นกระดาษ ก็จะช่วยให้มองภาพรวมได้กว้างขึ้น และการติดกระดาษไว้บนบอร์ดแล้วถอยมามองสักหนึ่งเมตร มุมมองที่เห็นภาพกว้างก็จะช่วยในวิธีคิดและการทำงานได้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
Perfection is Precision
คุณท็อป–ธนพลพจน์ โรจน์ณัฐกุล หนึ่งในผู้ก่อตั้ง IF หรือ Integrated Field บริษัทสถาปนิกเลือดใหม่ ที่เน้นการถ่ายทอดประสบการณ์แก่ผู้ใช้งาน เกิดเป็นคุณค่าและฟังก์ชันการใช้งานที่มากขึ้น ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของเพื่อนสนิทจากมัธยมและมหาวิทยาลัย จำนวน 12 คน ทั้งในและนอกสาขาอาชีพ และนำความสามารถกับเอกลักษณ์ในแบบเฉพาะตนจากหลากสาขามาต่อยอด ให้ Integrated สมชื่อ
“สำหรับผม ความสมบูรณ์แบบคือความแม่นยำ งานสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบคือการต่อยอดทางจินตนาการจากความคิด การแก้ไขปัญหา นำไปสู่ความแม่นยำในการทำงาน เพราะงานสถาปัตยกรรมคือการส่งต่อพื้นที่และประสบการณ์ไปยังผู้ใช้งาน ซึ่งวัดกันที่สุดท้ายแล้วสิ่งนี้ใกล้เคียงกับจินตนาการที่อยู่ในหัวของเราหรือเปล่า” คุณท็อปกล่าว
ความแม่นยำนั้นสำคัญมากที่จะทำให้งานๆ นั้นออกมาสมบูรณ์แบบหรือไม่ ผู้ใช้จะรู้สึกอย่างที่สถาปนิกออกแบบไว้หรือไม่ เรื่องของตัวเลข ต้องแม่นยำว่าต้องสูงเท่านี้ กว้างเท่านี้ ความหนาของโต๊ะเกินนี้ไม่ได้ เรื่องของสเกล ที่ว่าง แสง วัสดุ หรือบรรยากาศ “ถ้าทุกอย่างสามารถถอดรหัสออกมาเป็นความแม่นยำตามจินตนาการในหัวได้ นั่นคือความสมบูรณ์แบบ”
คุณท็อปเสริมว่า “สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีคนเข้าไปใช้ หลังจากที่เราออกแบบ เราก็คิดว่ามันคงจะเป็นแบบนี้ แต่สุดท้ายคนที่ใช้งานจริง เขาอาจไม่ได้ใช้ตามที่เราคิดก็ได้ ซึ่งผมจะแฮปปี้มากถ้าเขาใช้ มากกว่า ที่เราคิด”
เมื่อพูดถึงเรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในงานของเขาอย่างไร คุณท็อปกล่าวว่า “ ปกติผมทำงานบนไอแพ็ด เพราะมันง่าย แต่เวลาทำงานจริง ผมยังเชื่อมั่นในกระดาษ ผมชอบความรู้สึกที่ยังได้หยิบจับกระดาษ เวลาคิดงานไม่ออก ผมจะเอากระดาษร่างภาพ หมุนไปหมุนมา พับไปพับมา ถ้าวันไหนหัวโล่งๆ กางกระดาษออกมาปุ๊บ ผมต้องได้ไอเดียอะไรบางอย่างออกมา”
“นอกจากดินสอ ก็มีปริ้นเตอร์ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการออกแบบ งานที่พิมพ์ออกมาจะช่วยให้เราเห็นภาพว่า ที่จินตนาการไปนั้นเรายังมีข้อผิดพลาดอะไรบ้างให้ต้องแก้ไข มันใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคิดมากน้อยแค่ไหน ภาพจริง สีจริงที่เกิดขึ้น มองเห็นด้วยสายตาทางคอมพิวเตอร์อย่างเดียวคงไม่พอ ภาพที่ชัดเจนจะทำให้เราทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”
ความสมบูรณ์แบบจึงไม่ใช่เรื่องของผลลัพธ์เพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนที่ต้องฝึกฝน และถูกคิดมาแล้วอย่างพิถีพิถันและแม่นยำในทุกๆ มิติ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด ‘The Perfection of Imagination’ สมบูรณ์แบบทุกจินตนาการ ของปริ้นเตอร์อิงค์เจ็ทมัลติฟังก์ชัน ระบบรีฟิล แท็งก์ รุ่น MFC-T4500DW จาก Brother ที่สร้างมาเพื่อตอบโจทย์งานของสถาปนิกที่ต้องการความสมบูรณ์แบบในทุกขั้นตอน ซึ่งมีจุดเด่นมากมายคือ รองรับกระดาษขนาด A3 เติมหมึกได้ และสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ แค่มีแอปฯ Brother iPrint&Scan และเครื่องที่ต่อ WiFi ไว้ก็สามารถสั่งงานจากข้างนอกออฟฟิศได้ อีกทั้งคุณภาพของงานที่ออกมานั้นก็ละเอียด แม่นยำ สวยงาม ซึ่งจะช่วยให้สิ่งที่จินตนาการไว้ กลายเป็นภาพที่เห็นรายละเอียดได้มากขึ้น เห็นภาพรวมได้ดีขึ้น และทำให้สามารถถ่ายทอดงานออกแบบได้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
Tags: brother, architect, printer, perfection, Architecture