1

นักศึกษาด้าน visual culture หรือ วัฒนธรรมทัศนา อาจแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ กลุ่มคนที่ศึกษาผ่านสื่อทางด้านภาพ เช่น ภาพยนตร์ สารคดี การ์ตูน ภาพนิ่ง และสื่ออื่นๆ เพื่ออธิบายโลกทางสังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนอุดมการณ์ชุดต่างๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใน อีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือคนที่ศึกษาโดยใช้สื่อและเทคโนโลยีทางด้านภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวิธีวิทยาและกระบวนการเก็บข้อมูล

กลุ่มหลังนี้ บ่อยครั้งที่พวกเขาจะเขียนงานควบคู่กับการผลิตสื่อวีดิทัศน์ เนื่องจากเห็นในข้อจำกัดของตัวบทประเภทต่างๆ อย่างงานเขียนที่แต่งเรื่องราวผ่านตัวอักษร แม้มีพลัง แต่ตัวบทที่มีทั้งภาพและเสียงก็อาจสามารถสื่อสารเรื่องราวบางอย่างที่ตัวอักษรทำไม่ได้

การทำงานควบคู่กัน จึงมีส่วนเติมเต็มและสะท้อนข้อจำกัดของกันและกัน

ในสตูดิโอเล็กๆ ย่านครอยซ์แบร์ก (Kreuzberg) ของเบอร์ลินซึ่งผมเช่าและสลับกันใช้กับเพื่อนเพื่อฝึกทักษะการถ่ายทำวีดิทัศน์ เรามีเรื่องเล่าพื้นฐานว่า การแต่งเรื่องราวผ่านภาพที่มีพลังไม่ได้อาศัยเพียงทักษะทางเทคนิค หากยังต้องอาศัยแนวคิดทางปรัชญา และการทำให้ภาพดังกล่าวสามารถเปล่งเสียง (Voice)ได้โดยไม่ต้องใส่เสียงประกอบ (Sound) เข้าไป

เพราะบ่อยครั้ง เสียงประกอบมักทำลายภาษาภาพ แต่ในทางกลับกัน การใส่เสียงประกอบก็จำเป็นต้องคิดถึงภาพอีกประเภทที่ไม่ได้ปรากฏอยู่บนหน้าจอ เพราะการใส่เสียงประกอบก็คือการสร้างภาพ (Visualization) ให้ปรากฏคู่ขนาน ซึ่งทั้งสอดคล้องและสร้างบทสนทนากับภาพที่มีอยู่แต่เดิม

เอาล่ะ นอกจากต้องอ่านปรัชญาแล้ว ยังต้องชำนาญหรือเข้าใจในเรื่องยอกย้อนเหล่านี้ด้วย ชีวิตในย่านครอยซ์แบร์กที่ใครๆ เล่ากันว่าฮิปสุดและดิบสุดในเบอร์ลิน แต่สำหรับผมก็อมทุกข์เหมือนกัน ตัวผมกลับเหี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ออกจากห้องสมุดที่มหาวิทยาลัยก็นั่งรถไฟต่อไปยังสตูดิโอเพื่อฝึกทักษะ กล่าวตรงๆ คือ ผมขาดแคลนทักษะทั้งด้านการถ่ายภาพนิ่งและเคลื่อนไหว นี่ยังไม่นับรวมกระบวนการตัดต่อและเล่าเรื่องผ่านสื่อวีดิทัศน์ ที่นอกจากจะต้องซึมซับเอาแนวคิดปรัชญาอะไรมากมายเข้าไปแล้ว ยังต้องเจอกับความยอกย้อนของภาพและเสียงดังที่กล่าวข้างต้นอีก

แน่นอน ผมเชื่อว่าตัวเองไม่ค่อยเข้าใจอะไรมากนัก แถมยังออกจะงุ่มง่าม เมื่อต้องใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีต่างๆ สิ่งเดียวที่ผมมักทำตลอด คือการกลับไปสู่พื้นฐานของงานทางมานุษยวิทยา นั่นคือ การคุยกับคน พูดอย่างเป็นทางการก็คือ การพบปะหรือรู้จักกันแบบต่อหน้า ก่อนที่จะมองเขาหรือเธอผ่านวิวไฟน์เดอร์ อีกสิ่งหนึ่งก็คือ การเดินเก็บเสียง (บันทึกเสียง) ของเมืองเบอร์ลิน

ผมพบเป็นเบื้องต้นว่าการทำงานด้านเสียงสามารถทำได้ไม่ยาก หากเราหลีกเลี่ยงที่จะบันทึกบทสนทนาของผู้คน การเดินเก็บเสียงแวดล้อม (Ambience) และเสียง (Sound) ทั่วไป มีผลอย่างยิ่งที่ทำให้ผมเข้าใจสภาพเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเบอร์ลินมากขึ้น บางย่านมีเสียงสำเนียงเยอรมันหลากหลาย และมีภาษาตุรกีปะปนมาตลอดทาง เนื่องจากเป็นชุมชนของชาวตุรกีแต่เดิม ซึ่งช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวตุรกีเข้ามาเป็นแรงงานหลักในการฟื้นฟูเมือง เสียงในย่านซึ่งเคยเป็นเยอรมันตะวันออกแต่เดิมจะค่อนข้างอึกทึก เนื่องจากรูปทรงของตึกทรงกล่องสี่เหลี่ยมมีส่วนอย่างยิ่งในการสะท้อนเสียงของรถและการคมนาคม ผิดกับย่านที่เคยเป็นเยอรมันตะวันตก ซึ่งยังรักษาตึกเก่าในช่วงปลาย คริสตศตวรรษที่ 19 หรือพยายามซ่อมแซมให้อยู่ในสภาพเดิมมากที่สุด เหลี่ยมมุมและปูนปั้นของตึกเหล่านี้มีส่วนช่วยแตกเสียงให้กระจายออกไปโดยไม่ค่อยมีเสียงอื้ออึง

เพื่อนชาวเยอรมันเล่าว่า ราวสิบปีก่อนที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เยอรมันตะวันออกก็พยายามปรับตัวให้ทันสมัย ควบคู่กับการประสบปัญหาด้านการจัดการที่อยู่อาศัย ตึกทรงกล่องทรงโมเดิร์นจึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาและเป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัยในขณะนั้นไปพร้อมกัน

การเดินทางเก็บเสียงจึงเป็นเสมือนการทำความเข้าใจภูมิทัศน์ของเสียง (Soundscape) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของการเปลี่ยนผ่านและความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของผู้คน เสียงจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว หากมันเป็นประวัติศาสตร์โดยตัวของมันเอง

2

ภูมิทัศน์ของเสียงไม่ได้เปลี่ยนไปตามสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไปเท่านั้น ในลักษณะทางกายภาพแบบเดิม มิติของเสียงกลับสลับทับซ้อนผ่านแง่มุมทางวัฒนธรรมอย่างคาดไม่ถึง

รถไฟที่ผมนั่งจากมหาวิทยาลัยไปยังสตูดิโอเป็นประจำเป็นตัวอย่างที่ดี มันวิ่งผ่านย่านชุมชนหลากหลาย ทำให้ผู้คนเชื้อชาติต่างๆ ต้องอาศัยอยู่ในตู้รถไฟเดียวกัน บ่อยครั้งทีเดียว ขณะที่นั่งอยู่บนรถไฟ ผมมักได้ยินเสียงอาซาน หรือเสียงประกาศเตือนว่าถึงเวลาละหมาด ดังลั่นออกมาจากสมาร์ตโฟนของคนมุสลิม (ส่วนมากเป็นผู้ชาย) บางครั้งก็มักจะดังออกมาพร้อมกันหลายๆ เครื่อง ตามตำแหน่งที่นั่งและยืนของแต่ละคน เจ้าของสมาร์ตโฟนมักจะปล่อยให้เสียงดังอยู่ครู่หนึ่งแล้วปิด มีน้อยคนที่ไม่ยอมปิด จนกว่าเสียงนั้นจะหยุดลงไป ในทัศนะของผู้อาศัยขบวนรถเดียวกันซึ่งไม่ใช่มุสลิม อาจมีความรู้สึกต่อเสียงแตกต่างกันไป เพื่อนเยอรมันหลายคนบอกว่าตกใจจนสะดุ้งเมื่อได้ยินครั้งแรก เนื่องจากความเงียบมักทำหน้าที่หลักภายในตู้รถไฟ ขณะที่บางคนกลับรู้สึกว่าเสียงดังกล่าวคือการรบกวน เพราะเรื่องศาสนาถือเป็นเรื่องส่วนตัว เสียงที่เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกทางศาสนาถือว่าไม่ควรทำในพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังคิดว่า คนที่ไม่ยอมปิดเสียงมีลักษณะของความจงใจ

อย่างไรก็ตาม เสียงอาซานเกิดขึ้นมากจากแอปพลิเคชั่นซึ่งมีอยู่มากมายในโลกออนไลน์ บทบาทของหน้าที่ของเทคโนโลยีนี้ก็คือ นอกจากการคำนวณเวลาละหมาดที่ตรงและสอดคล้องกับตำแหน่งแห่งที่ของเจ้าของสมาร์ตโฟนแล้ว ยังบอกถึงกิบลัตหรือชุมทิศที่มุสลิมจะหันหน้าไปละหมาดและสวดขอพร บางแอปพลิเคชั่นยังสามารถระบุถึงร้านมุสลิมหรือมัสยิดที่อยู่รอบๆ หรือใกล้ที่สุด และบอกปฏิทินวันสำคัญทางศาสนาและอัลกุรอานพร้อมเสียงอ่าน ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยได้ยินเสียงอ่านอัลกุรอานจากสมาร์ตโฟนในขบวนรถไฟด้วยเช่นกัน

เสียงอาซานในขบวนรถไฟเป็นเสียงที่อ่อนไหว ทั้งยังถูกตีความได้หลากหลายด้าน แต่ในโลกของมุสลิมในเบอร์ลิน เสียงดังกล่าวคือสิ่งที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าสู่โลกทางศาสนาร่วมกับมุสลิมทั่วโลก เพื่อนชาวซีเรียของผมเคยอธิบายให้ฟังว่า ในฐานะผู้อพยพ สิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องการคือความสามารถในการบอกว่าตัวเองคือใคร เสียงอาซานผ่านแอปพลิเคชั่นจึงเสมือนสิ่งย้ำเตือนตนเองและบอกกับผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน และนี่คือสิทธิในการแสดงออกของพวกเขา

เสียงดังกล่าว นำมาซึ่งความรู้สึกใกล้ชิดกับเพื่อนและพี่น้องของตนเองในซีเรียและมุสลิมอื่นๆ ทั่วโลก

แน่นอน ทัศนะเช่นนี้อาจดูขัดกับความรู้สึกของคนเยอรมันและคนเชื้อชาติอื่นซึ่งไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามพอสมควร ความรู้สึกอึดอัดและการส่งสายตาที่ระบุถึงการติเตียนมักเกิดขึ้นเสมอเมื่อเสียงนั้นดังบนรถไฟ ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะลักษณะของพื้นที่ซึ่งทำให้คนมีความใกล้ชิดทางกายภาพกันมากขึ้นและสามารถใช้ดวงตาสอดส่องรายละเอียดต่างๆ ของกันและกันได้ตามโอกาสจะอำนวย อีกด้านหนึ่งเสียงอาซานที่ดังจากสมาร์ตโฟนมีส่วนสำคัญในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ซึ่งเห็นผ่านตาเนื้อ ไปสู่จินตนาการที่มีต่อโลกอิสลามในลักษณะและความหมายต่างๆ กัน ซึ่งอาจเป็นได้จากความเคารพและเข้าใจ ไปจนถึงความหวาดกลัว

แต่แน่นอน เสียงอาซานในขบวนรถไฟคือเสียงที่เกิดขึ้นมาใหม่หลังจากมีการรับผู้อพยพจากซีเรียและตะวันออกกลางเข้ามาในเยอรมนี หากไม่ใช่เสียงนี้แล้ว ผมยังได้ยินเสียงอะไรที่น่าสนใจบนรถไฟ

คำตอบคือ เสียงหมาเห่า…

รถไฟในเยอรมนีสามารถนำหมาเข้าไปได้ โดยเจ้าของจะต้องผูกสายจูงและผ่านการฝึกเพื่อควบคุมหมาของตนเองในพื้นที่สาธารณะ ในแง่นี้ มุสลิมในเบอร์ลินจึงสามารถนั่งร่วมทางไปกับคนเยอรมันที่จูงหมาเข้ารถไฟไปได้อย่างไม่ต้องระแวดระวังมากนัก เสียงหมาเห่าในรถไฟเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก เท่าที่ผมสังเกตและได้ยิน หากไม่ใช่กรณีที่มีหมาตัวอื่นเข้ามาในตู้รถไฟเดียวกัน ก็น่าจะเกิดขึ้นจากการเห็นหรือได้ยินเสียงที่แปลกหรือแตกต่างออกไปจากที่มันคุ้นเคย

มีครั้งหนึ่ง เสียงอาซานดังขึ้นในรถไฟ หมาที่นั่งอยู่ใต้เบาะใกล้กับผมสะดุ้งและเห่าติดๆ กัน จนชายเจ้าของสมาร์ตโฟนต้องรีบปิดเสียง ความน่าสนใจของกรณีนี้มิใช่การหายไปของเสียงอาซาน แต่อยู่ที่ปฏิกิริยาโดยฉับพลันของเจ้าของหมา ซึ่งพยายามปรามสัตว์เลี้ยงของตนเองจนสำเร็จ

เสียงหมาเห่าในรถไฟ มีส่วนทำให้ภาพของเจ้าของติดลบหรือดูไร้ความสามารถในการควบคุมดูแล นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงตัวตนของเขาที่แสดงออกในพื้นที่สาธารณะได้เป็นอย่างดี

เสียงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะจึงเป็นเหมือนสังเวียนของการปะทะกันทางความเชื่อและการแสดงออกของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นตัวบทซึ่งตรวจสอบทัศนคติที่เรามีต่อตนเองและผู้อื่น

หลายคนเคยบอกผมถึงความประทับใจที่มีต่อเสียงดนตรี ซึ่งเกิดจากการแสดงสดในขบวนรถไฟสายต่างๆ ในเมือง นักดนตรีเหล่านั้นมักเดินเข้าออกแต่ละตู้รถไฟ แสดงดนตรีแลกเงินยังชีพ บ้างก็เล่นเพื่อความสนุกและเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกฝน ผมไม่ปฏิเสธถึงความไพเราะของเสียงและท่วงทำนองของเพลง เสียงดังกล่าวเกิดขึ้นและดำรงอยู่ในระเบียบการใช้พื้นที่สาธารณะที่ผู้คนยอมรับ ต่างจากเสียงอาซานและเสียงหมาเห่าซึ่งมีลักษณะของการเป็นเสียงรบกวน (Noise) แต่ทำหน้าที่แทรกแซงและตั้งคำถามกับการใช้พื้นที่ร่วมกัน ทั้งยังทำหน้าที่เปลี่ยนแปลงการมองโลกที่เกิดขึ้นผ่านดวงตาเนื้อ

3

ความคิดว่าด้วยเสียงที่สร้างภาพและภาพที่เปล่งเสียง ล้วนเป็นสิ่งที่ข้ามข้อจำกัดของการรับรู้ความจริงของโลกผ่านประสาทสัมผัสของเรา ขณะเดียวกัน การมองเห็นผ่านการได้ยินอาจทำให้เราเห็นถึงบางสิ่งที่ไร้รูปอย่างแจ่มชัดมากขึ้น การได้ยินผ่านการมองเห็นก็อาจทำให้เราได้ยินท่วงทำนองอะไรบางอย่างมากขึ้น

ทันย่า มารีย์ ลูฮร์มันน์ (Tanya Marie Luhrmann) นักมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตเวช และผัสสะศึกษา เธอสงสัยว่า สำหรับคนที่ศรัทธาในพระเจ้าจะติดต่อและสัมผัสกับการดำรงอยู่ที่ไร้รูป (Invisible being) ได้อย่างไร และรักษาความเชื่อดังกล่าวได้อย่างไรท่ามกลางการดำรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แผ่คลุมไปด้วยความสงสัยในโลกของเหตุและผลตามหลักวิทยาศาสตร์

ในหนังสือเรื่อง When God Talks Back (2012) ลูฮร์มันน์ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างชาวอเมริกันผู้นับถือศาสนาคริสต์แบบอีแวนเจลิค (Evangelic) ซึ่งถูกผู้อื่นมองว่ามีทัศนะต่อพระเจ้าที่ผิดปกติ และคล้ายอาการหลอนทางจิต เธอเริ่มเรื่องผ่านการถือกำเนิดขึ้นของอีแวนเจลิคในสังคมอเมริกาช่วงปี 1960 ซึ่งเกิดกระแสบุคคลต่างๆ สามารถติดต่อกับพระเจ้าได้โดยตรงในสังคมที่เคลื่อนที่ไปสู่ความเป็นฆราวาสอย่างเต็มที่ (Secular society) กระทั่งเกิดเป็นชุมชนที่เชื่อว่า พวกเขาสามารถติดต่อสื่อสารกับพระเจ้าและได้ยินเสียงของพระเจ้าในตัวของพวกเขา

ลูฮร์มันน์แสดงภาพให้เห็นว่า ชุมชนอีแวนเจลิคมีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การได้จินตนาการและรับรู้ถึงการดำรงอยู่ของพระเจ้าในฐานะบุคคล ในบทที่สามของหนังสือเล่มนี้ เธอแสดงให้เห็นถึงมีการนัดเดทกลางคืนกับเยซูอาทิตย์ละครั้ง การรินชาหรือกาแฟให้กับพระเจ้าบนโต๊ะระหว่างทานอาหารเช้า รวมไปถึงการทานอาหารนอกบ้าน และบนสนทนาอันใกล้ชิดกับพระเจ้าในสวนสาธารณะ เป็นต้น ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดและลึกซึ้งอันเชื่อมโยงสู่พระเจ้านี้ มีผลทำให้พวกเขาสามารถร้องไห้ต่อการเห็นหรือได้ยินเสียง อันเป็นสิ่งยืนยันต่อการปรากฏตัวของพระเจ้า หรือแม้กระทั่งความสามารถในการมองเห็นจากมุมมองของพระเจ้า (Seeing from God’s Perspective)

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือ ลูฮร์มันน์ผู้เขียนพยายามเล่าเรื่องต่างๆ คู่ขนานไปกับพัฒนาการทางความคิดของคนอเมริกันที่มีต่อสุขภาพทางจิต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจ (Mind) ตัวตน (Self) และร่างกาย (Body) ซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากชุดของเหตุผลที่แยกความเป็นจริง (Reality) ออกจากภาพลวงตาชุดอื่นๆ

ผู้นับถืออีแวนเจลิคอาจถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนซึ่งมีอาการทางประสาทหรือจิตเวช แต่เธอทำให้เราเห็นว่า ในโลกซึ่งมักคิดกันว่า เรื่องเหตุผลกับเรื่องไร้เหตุผลเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน ความเป็นจริงสามารถเกิดขึ้นได้และซ้อนทับกันในหลายมิติ การที่ชาวอีแวนเจลิคสามารถเห็นหรือได้ยินพระเจ้าในลักษณะของบุคคล คือส่วนหนึ่งของจินตภาพที่มีต่อพระเจ้าในโลกสมัยใหม่ ซึ่งโลกทางศาสนาและโลกฆราวาสไม่ได้เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง หากมีส่วนที่ดำรงอยู่ร่วมกันจนเกิดเป็นสิ่งใหม่ หรือความเป็นจริงชุดใหม่ๆ เหล่านี้ขึ้นมา

หนังสือเล่มนี้ของลูฮร์มันน์ กำลังบอกสิ่งใดกับการครุ่นคิดในเรื่องเสียงที่สร้างภาพและภาพที่เปล่งเสียง?

ผมเชื่อว่าเธอกำลังบอกเป็นนัยกับเราถึงการรับรู้โลกที่ถูกรับรู้ในรูปแบบของการข้ามผัสสะ ซึ่งถูกขีดสร้างความหมายตามลักษณะทางวิทยาศาสตร์ ความจริง ในการมองเห็นของเราถูกทำให้เน้นแต่ดวงตาเนื้อ ขณะที่การรับรู้ถึงเสียงจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีหูและอวัยวะในการรับคลื่นเสียง การรับรู้ในลักษณะที่แตกต่างไปจากนี้จึงถูกตีตราว่าเป็นอาการทางจิตไปเสียสิ้น

บทบาทของเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมไปถึงกระบวนการทำงานด้านวีดิทัศน์ซึ่งประกอบไปด้วยงานด้านภาพและเสียง มีลักษณะที่คล้ายกับการทำงานด้านศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาอย่างหนึ่ง นั่นคือการสร้างสิ่งที่ข้ามพ้นข้อจำกัดของการรับรู้ทางประสาทสัมผัส เพื่อความสามารถในการสัมผัสสิ่งที่ไม่อาจปรากฏ ให้ดำรงอยู่อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ในแง่นี้ การทำงานด้าน Visual culture (วัฒนธรรมการทัศนา) ก็คือการพยายามก้าวข้ามหรือทุบทำลายกำแพงของเหตุผล ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมนั่นเอง

โลกที่เราอยู่ทุกวันนี้จึงมิใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาผ่านวิวัฒนาการจากความเชื่อไปสู่การดำรงอยู่ของเหตุผล พวกเราล้วนอยู่ภายในโลกที่ถูกปะติดปะต่อและปะปนกันด้วยเฉดสีของทั้งสองขั้วตลอดเวลา คนซึ่งได้ยินเสียงจากพระเจ้า และบางคนเดินดุ่มๆ บันทึกเสียงในเมืองใหญ่ มีความเหมือนกันในแง่ของการยืนยันในการดำรงอยู่ของสิ่งที่ไร้รูปทว่ายิ่งใหญ่มีคุณค่า

การเงี่ยหูฟังแต่สิ่งที่ปรากฏต่อตาเนื้อของเราต่างหากคือพันธนาการ

อ้างอิง

  • Tanya Marie Luhrmann. When God Talks Back: Understanding the American Evangelical Relationship with God. New York: Knopf. 2012
Tags: , , , , , , , , ,