แกะกะโหลกยุทธศาสตร์ “ราษฎรไม่พร้อม”

กูรู้แล้ว! ใครไม่เคยยินยอมให้เราก้าวหน้า

ใครแทรกแซงแบ่งแซะเสมอมา

กูรู้แล้ว!

ใครคือ “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร”

ส่วนหนึ่งของบทกวีสถาปนาสถาบันประชาชน (สิบปีให้หลัง) ในวาระรำลึกถึงไม้หนึ่ง ก.กุนที ของชัชชล อัจฯ
กวีบทนี้กลายเป็นสิ่งที่ฝังแน่น ติดหู และทิ้งทวนในความทรงจำ แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าเคยฟังการร่ายบทกวีนี้ที่
แห่งไหน เราเจอกันอีกครั้งในงานไว้อาลัยวัฒน์ วรรลยางกูร คุณ (ชัชชล อัจฯ) ร่ายกวี เราผู้รับฟัง

อีกครั้งที่บทกวีทำหน้าที่ของมัน อีกครั้งที่บทกวีปลุกความฮึกเหิมและความเศร้าใจ ลุกไหม้สิ! ซิการ์ หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ ของชัชชล อัจฯ จากบทกวีจำนวน 33 บท ถ่ายทอดแบ่งออกเป็นสองช่วงเวลาคือ 2553 และ 2563 ที่เปิดอ่านเมื่อใดหลากหลายความรู้สึกของเขากลับกลายเป็นความรู้สึกของเรา ฉันและคุณ เพราะ
ทุกคนเป็นประชาชน คนธรรมดา ที่งดงาม ชั่วช้า เก่งกล้า หรือโง่เง่าเท่ากัน“ (ช่วงท้ายบทกวี ลุกไหม้สิ! ซิการ์ งานรำลึกกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 13 กุมภาพันธ์ 2553

เรารับรู้ เรารู้สึก เราฮึกเหิม และเราสูญเสียไปพร้อมกับเขา เช่น ในบทกวี  ‘ลุกไหม้สิ! ซิการ์’
งานรำลึกกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ 13 กุมภาพันธ์ 2553, ‘เด็กหนุ่มในบทกวี’ แด่ เฌอ 13-19 พฤษภาคม 2553, ‘ความสงสัย’ ต่อการสังหารหมู่ วันที่ 10 เมษายน 2553, ‘สถาปนาสถาบันประชาชน (10 ปีให้หลัง)’ เพื่อรำลึกถึง ไม้หนึ่ง ก.กุนที, ‘คืนนี้มีแสงดาว’ เหตุการณ์จับแล้วปล่อย รุ้ง เพนกวิน และไมค์ วันที่ 30 ตุลาคม 2563, บทกวีที่ชื่ออานนท์ นำภา, และ ‘แด่กวีในห้องหับเร้นร้าง’ …แด่การจากไปของไอศูรย์ พี่ชายและเพื่อนรัก

บางคนไม่เคยรู้จักชิดเชื้อ หรือเคยพานพบ แต่บทกวีเหล่านี้ได้พาเราด่ำดิ่งไปตามจังหวะ หนัก เบา
ตามสถานการณ์และห้วงของอารมณ์ ด้วยการบอกเล่าผ่านปลายปากกาอันเป็นหนึ่งในอาวุธของประชาชนผู้เดิมพันธ์ด้วยชีวิต ดั่งบทกวีของเขาที่ชื่อว่า ‘สิ่งที่ผมมี’

“ปืนน่ะหรือ

ผมไม่มีหรอก

ลูกกระสุนล่ะ

ผมก็ไม่มีหรอก

แล้วดวงตาเพชรฆาตล่ะ

ผมก็ไม่มี

มีเพียงแค่บทกวี

ใช่ แค่บทกวี”

เมื่อไฟของซิการ์ ถูกจุดขึ้นมันยากที่จะต้านทาน จนต้องเปล่งเสียงขานรับขณะเปิดอ่าน นอกจากท่วงทำนองและจังหวะที่น่าสนใจแล้ว กลวิธีการเล่าแบบอ้างอิงตัวบทอื่น อย่างสถานการณ์บ้านเมือง สังคม ก็เป็นจุดที่น่าสนใจมาก เช่น บทกวีที่ชื่อ เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ 

“เดิน เดิน ด้วยสองตีน

อา อะดรีนาลีนหลั่ง

เปลี่ยนเป็นเสียงตะโกนเปล่งพลัง

“ไม่ชังชาติ แต่ชังมึง!”

“1 2 3 4 5 I Hear Too”

ฟัง! พวกกูก็คนหนึ่ง

ไม่ต้องตกผลึกเหี้ยอะไรให้ลึกซึ้ง

มึงก็คน กูก็คน

แหละทั้งหมดนั่น “ภาษีกู”

ชีวิตอู้ฟู่ที่ฟูขน”

ของบางใครที่กราบไหว้ว่าเหนือคน

แต่หวาดกลัวประชาชนคนธรรมดา

เร่เข้ามา “ศักดินาจงพินาศ”

กระจายเสียง เก่งมาก! ประกาศกล้า

กล้ามาก! เหล่าปีศาจแห่งกาลเวลา

ขอบใจ! ที่พูดว่า “ประชาราษฎร์จงเจริญ”

ลุกไหม้สิ! ซิการ์ จึงไม่ได้เป็นเพียงรวมบทกวีร่วมสมัยที่จำกัดแค่ช่วงปี 2553 และ 2563 ดังที่หนังสือได้เขียนไว้ แต่เราเชื่อว่าเป็นการบันทึกเหตุการณ์การต่อสู้ จุดยืนของเขา สถานการณ์บ้านเมือง ที่กินเวลาตั้งแต่ก่อนและหลังรัฐประหาร 2549 จนมาถึงปัจจุบัน 

 หนังสือเล่มนี้ยังมีจังหวะและอิสระภาพในแบบของมัน เพราะเป็นบทใหม่ของกวีนิพนธ์ที่ไม่อิงตามฉันทลักษณ์ ตามจารีต ที่ปรากฎในโคลง ฉันท์ กาพย์ และกลอน ดังที่ใครสักคนกำหนดไว้ เพื่อประกาศก้องว่าเราจะเขียน! เขียนสิ เขียนบทกวีของเราขึ้นมาใหม่ บทกวีของประชาชน “เพราะเราต่างคือประชาชนที่จะร่วมกันทุบทำลายความกลัวในหัวใจ และหาญจุดไฟจนท่วมฟ้า ลุกไหม้สิ! ลุกไหม้!

Fact Box

  • ลุกไหม้สิ! ซิการ์ รวมบทกวีร่วมสมัยโดย ชัชชล อัจฯ ร้อยเรียงและบันทึกเหตุการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน ด้วยถ้อยคำสามัญเป็นบทกวีสามัญเพื่อสามัญชนอย่างแท้จริง
  • พิมพ์ครั้งที่ 1 โดย สำนักพิมพ์ P.S. Publishing จำนวน 93 หน้า ราคา 170 บาท
Tags: , , , ,