“ผมชอบภาวะอิหลักอิเหลื่อ (Awkwardness) น่ะ ผมว่ามันเป็นความรู้สึกสำคัญของคนเราในการจะสร้างความกระหายใคร่รู้ในอะไรสักอย่าง และในฐานะที่ผมเองก็เป็นคนดูหนัง ผมก็ชอบเวลาถูกทำให้ต้องพยายามหาคำตอบว่า เวลานี้เราควรรู้สึกอะไร หรือตัวผมเหมาะสมต่อตำแหน่งแห่งที่นั้นๆ หรือไม่”

ในวันนี้ ชื่อของ ยอร์กอส ลานธิมอส (Yorgos Lanthimos) คนทำหนังชาวกรีกกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งเมื่อ Poor Things (2023) ภาพยนตร์ลำดับล่าสุดของเขา เพิ่งจะคว้ารางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิสมาครอง

อันที่จริง จะว่าไปแล้วชื่อของเขาก็อาจไม่ได้ห่างไกลจากความคุ้นเคยของคนดูหนังนัก ในแง่ที่ว่าเขาทำหนังออกมาสม่ำเสมอ และแต่ละเรื่องล้วนมีน้ำเสียงเฉพาะตัวบางประการที่ยากจะหาใครเลียนแบบ นั่นคือ อารมณ์ขันร้ายกาจ, เรื่องเล่าเสียดเย้ยขำขื่น

และเนื้อเรื่องที่มุ่งสำรวจความแปลกแปร่งของชีวิตผ่านเซ็กซ์ ความรุนแรงและความตาย

“การโตขึ้นในประเทศกรีซ มันไม่ใช่เรื่องสามัญสำหรับเด็กผู้ชายสักคนที่จะบอกว่า ผมอยากโตไปเป็นคนทำหนัง เพราะย้อนกลับไป ตอนนั้นเรามีคนทำหนังไม่มากและยังไม่มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์เลย” ลานธิมอสเล่าถึงความสนใจแรกๆ เกี่ยวกับภาพยนตร์

“ผมสนใจเรื่องภาพยนตร์ก็จริงอยู่ แต่ก็พิจารณามันในลักษณะที่คิดว่าจะใช้หาเลี้ยงชีพได้ นั่นคือเรียนภาพยนตร์และโทรทัศน์เพื่อไปทำโฆษณา ซึ่งเป็นงานที่มีอยู่จริงและสร้างรายได้ เพราะงั้นผมเลยเข้าเรียนที่โรงเรียนสอนทำภาพยนตร์ และทำโฆษณาอยู่นานหลายปีทีเดียว-ซึ่งก็ทำให้ผมมีเทคนิคในการทำหนังประมาณหนึ่ง-แต่ในใจก็หวังอยากจะทำหนังสักเรื่องอยู่ตลอดเวลาล่ะนะ”

ดังนั้น เส้นทางการทำหนังของเขาจึงไม่ต่างกับคนทำหนังคนอื่นๆ พ้นไปจากการกำกับงานโฆษณา ลานธิมอสเดินสายงานกำกับด้วยการทำหนังสั้น และมิวสิกวิดีโอให้ศิลปินในประเทศอยู่หลายปี ก่อนจะขยับมากำกับหนังยาวเรื่องแรกคือ Kinetta (2005) หนังว่าด้วยชายที่ทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดในโรงแรม ผู้หลงใหลในการสำรวจรถยนต์ BMW กับพนักงานร้านถ่ายรูปที่หมกมุ่นอยู่กับการบันทึกภาพเหล่าชายหญิงที่ไหลผ่านเข้ามาในชีวิต

ซึ่งภายในเรื่องเต็มไปด้วยกลิ่นความเฮี้ยนคลุ้งฉุยเพราะเต็มไปด้วยฉากชวนเหวอ ไม่ว่าจะตัวละครวิ่งเป็นบ้าเป็นหลังอยู่รอบๆ โรงแรม ไปจนถึงคนเห่าได้ ซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์สำคัญของหนังลานธิมอส ทั้งยังถ่ายทำด้วยการถือกล้องแบบแฮนด์-เฮลด์ (Handheld) เกือบทั้งเรื่อง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจที่มันจะไม่เป็นที่รักของนักวิจารณ์สักเท่าไรนัก กระนั้น Kinetta ก็ปักหมุดหมายลานธิมอสในฐานะคนทำหนังให้ชาวกรีกรู้จักได้สำเร็จ

จนสี่ปีต่อมา โลกก็ได้รู้จักกับตัวเขาและหนังที่ชื่อว่า Dogtooth (2009)

“ผมแค่นึกถึงว่า ครอบครัวในอนาคตมันจะมีหน้าตาเป็นแบบไหนนะ หรือถ้าอนาคต มันไม่มีสิ่งที่เรียกว่าครอบครัวหรืออะไรทำนองนั้นอีกต่อไปล่ะ” ลานธิมอสบอกถึงที่มาของหนังที่ส่งเขาคว้ารางวัล Award of the Youth และ Un Certain Regard Award จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ รวมทั้งได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมด้วย ตลอดจนเป็นหนังเรื่องแรกที่เขาได้ร่วมงานกับ เอฟธิมิส ฟิลิปปู (Efthimis Filippou) คนเขียนบทคู่บุญ

โดยหนังว่าด้วยเรื่องครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่งเลี้ยงลูกวัยกำลังโตสามคนไว้ในรั้วบ้านหลังยักษ์ และจำลองระบบชีวิตทุกอย่าง ทั้งการตื่น กิน และนอน ตลอดจนจ้างหญิงข้างนอกให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นครูสอนเรื่องทางเพศให้แก่ลูกชาย ดังนั้นแล้ว รั้วบ้านนี้จึงเป็นเสมือนโลกทั้งใบของเด็กหนุ่มสาวทั้งสาม พวกเขาเรียนรู้วิธีว่ายน้ำ ออกกำลังกายด้วยคำสอนจากพ่อแม่ ซึ่งด้านหนึ่งก็ยังผลให้เกิดภาพจำแสนวิปลาสขึ้นมา เช่น พ่อแม่ปลูกฝังลูกๆ ว่าสัตว์ที่อำมหิตที่สุดคือลูกแมว และช่วยไม่ได้เลยที่ทั้งสามคนจะตกใจกลัวจนแทบบ้าเมื่อเห็นสัตว์ตัวน้อยหลุดเข้ามาในรั้วบ้านอันมิดชิดของพวกเขา ทว่าโลกแห่งความสงบสุขนั้นก็สั่นคลอนเมื่อลูกสาวคนหนึ่งตัดสินใจอยากออกไปดูโลกภายนอก

สำหรับแรงบันดาลใจเรื่องราวสุดวิปลาสนี้ ลานธิมอสอ้างอิงถึงคดีอื้อฉาวในปี 2008 ที่เมืองอัมเสตทเทน ประเทศออสเตรีย เมื่อ เอลิซาเบธ ฟริตซ์ล (Elisabeth Fritzl) แจ้งตำรวจว่า เธอถูก โยเซฟ ฟริตซ์ล (Josef Fritzl) พ่อแท้ๆ กักขังหน่วงเหนี่ยวมากว่า 24 ปีเต็ม ทั้งยังถูกเขาล่วงละเมิดทางเพศและข่มขืนเรื่อยมา จนเธอให้กำเนิดเด็กอีกเจ็ดคน (ปัจจุบัน โยเซฟถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต ส่วนเอลิซาเบธเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนตัวตนใหม่ ใช้ชีวิตอย่างสงบในหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง) ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้น เป็นเสมือนอีกแง่มุมหนึ่งของความสงสัยที่เขามีต่อระบบครอบครัว

“ผมจินตนาการตลอดว่ามันคงมีพ่อแม่บางคนแหละที่อยากให้ครอบครัวของตัวเองอยู่ด้วยกันตลอดไป และพวกเขาก็คิดว่าสิ่งที่พยายามทำให้ลูกๆ นั้นดีที่สุดแล้ว ลงเอยด้วยการเลี้ยงลูกให้อยู่ห่างจากโลกซึ่งมันไม่ส่งผลดีสักเท่าไรหรอก และตอนที่เราซ้อมทำหนังเรื่องนี้กันอยู่ เราก็ได้ยินข่าวคดีครอบครัวฟริตซ์ล ซึ่งต่างจากหนังที่เรากำลังทำมากๆ เลยเพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นนั้นมันแสนดำมืด ไอ้เรื่องที่ว่าเขามีลูกกับลูกสาวตัวเองนั่นน่ะ แต่ผมอยากทำหนังที่สว่างไสวและงดงามกว่านั้นผ่านเรื่องราวที่ว่าด้วยสถานการณ์บางอย่างที่ส่งผลต่อเด็กในบ้าน พร้อมกันนี้ก็พยายามชี้ให้เห็นว่าพ่อแม่นั้นมีเจตนาดี เพียงแต่มันอาจไม่ได้ผลอย่างที่พวกเขาคาดหวังไว้เท่านั้นเอง” 

Dogtooth เต็มไปด้วยองค์ประกอบที่ในเวลาต่อมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหนังลานธิมอส นั่นคือความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อ กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เช่น การให้คนดูจับจ้องไปยังฉากเซ็กซ์ตะกุกตะกักของชายหนุ่มกับหญิงสาวที่พ่อเจ้าของบ้านจ้างมา บทสนทนาเรื่องทางเพศอันไม่ประสาของลูกๆ ในบ้าน หรือฉากเต้นรำหน้าตายที่เห็นแล้วขำไม่ออก

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ปรากฏให้เราเห็นอีกครั้งใน Alps (2011) หนังที่ส่งลานธิมอสชิงรางวัลสิงโตทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเวนิส กับพล็อตเรื่องเซอร์นรกแตก ว่าด้วยนักแสดงที่หากินด้วยการ เลียนแบบคนตาย เพื่อเยียวยาความรู้สึกของครอบครัวผู้เสียชีวิต และก็แน่นอนว่าทั้งเรื่องเพียบไปด้วยฉากชวนพิศวงของคนที่มีพฤติกรรมแปลกประหลาด

“ผมชอบฉากที่ทำให้ผมได้คิดอะไรบางอย่าง จำพวกว่า คนพวกนี้เป็นใคร ทำไมพวกเขาทำแบบนั้น ซึ่งผมว่าใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงไม่น้อยเลย เช่นว่า คุณได้พบใครสักคนแต่คุณก็แทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเขาเลย แต่เห็นเขาทำอะไรบางอย่างและก็พยายามขบคิดว่าเขาทำแบบนั้นไปทำไม” ลานธิมอสบอก

อย่างไรก็ดี นักวิจารณ์บางคนมองว่า Alps แทบจะเป็นเสมือนภาคต่อของ Dogtooth ซึ่งสำหรับลานธิมอสแล้ว สารตั้งต้นของการทำหนังนั้นต่างออกไปโดยสิ้นเชิง Dogtooth เราสนใจเรื่องที่ว่าคนเราสามารถมองโลกบิดเบือนไปได้แค่ไหน” เขาบอก ขณะที่ Alps มันเริ่มมาจากการคิดถึงความตายและวิธีที่มนุษย์เรารับมือกับมัน”

ส่วนผลงานที่น่าจะผ่านหูผ่านตาผู้ชมกันมากที่สุด คงต้องยกให้ The Lobster (2015) หนังพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกของลานธิมอส กวาดรายได้ถล่มทลายไปที่ 18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากทุนสร้าง 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งลานธิมอสกับฟิลิปปูชิงออสการ์สาขาเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ตัวหนังเล่าถึงโลกดิสโทเปีย (แบบที่ไม่ได้มีหน้าตาไซ-ไฟนัก) ที่มีเงื่อนไขว่า ใครก็ตามที่ไม่แต่งงานจะต้องถูกทำให้เป็นสัตว์ คนที่ยังโสดจึงต้องไปเช่าโรงแรมอยู่เป็นเวลา 45 วันเพื่อหาคู่ หากหาไม่ได้ก็เตรียมตัวกลายร่างเป็นสัตว์ที่ตัวเองเลือกไว้ได้เลย เดวิด (แสดงโดย โคริล ฟาร์เรลล์) เลือกจะเป็นล็อบสเตอร์ และระหว่างนั้นเขาก็พบเจอเข้ากับกลุ่มคนโสดที่ใช้ชีวิตอย่างผิดกฎหมายในป่า และเป็นกลุ่มที่มีเงื่อนไขชัดเจนว่าห้ามคนในกลุ่มคบกัน ความเวียนหัวคือเดวิดดันไปตกหลุมรักกับหญิงสาวคนหนึ่ง (แสดงโดย ราเชล ไวสซ์) ท่ามกลางสายตากังขาของหัวหน้ากลุ่ม (แสดงโดย ลีอา เซดูซ์)

เช่นเคยที่มันเต็มไปด้วยฉาก อะไรวะเนี่ย ทั้งฉากที่แม่บ้านในโรงแรมพยายามทำให้เดวิด ปึ๋งปั๋ง ไปจนถึงฉากที่เหล่าคนในป่าเต้นรำเดียวดายด้วยการสวมหูฟัง ตัวหนังวิพากษ์วิจารณ์โครงสร้างสังคมที่บีบให้คนใช้ชีวิตคู่ (แม้จะไม่ดิสโทเปียเท่าในหนังก็ตามที) มนุษย์ถูกระบบผลักให้สร้างครอบครัวอันเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคมเพื่อเป็นฐานรากในการหมุนเวียนเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอนาคต คนที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่วางไว้ได้จะถูกทำให้กลายเป็นสัตว์อันไม่มีพื้่นที่ใดในระบบสมการนี้

พร้อมกันนี้ ตัวหนังยังชี้ให้เห็นถึง ความเป็นอื่น ของมนุษย์ผ่านเส้นเรื่องของเดวิดที่ไม่อาจอยู่ในระบบที่รัฐกำหนด เท่ากันกับที่เขาก็ไม่อาจอยู่กับกลุ่มต่อต้านรัฐในป่าได้ ทางออกของเดวิดจึงมีแค่หนีไปเรื่อยๆ แม้ไม่เห็นทางออกใดเลยก็ตามที

ความที่เป็นหนังพูดภาษาอังกฤษเรื่องแรกและมีนักแสดงระดับแถวหน้าของฮอลลีวูดนำแสดง ทำให้ตัวหนังถูกจับตามากเป็นพิเศษ และไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ผู้ชมภาพยนตร์ชาวอเมริกันหลายคนจะตื่นตระหนกไปกับฉากชวนเหวอ รวมทั้งฉากเปิดเรื่องสุดเฮี้ยน (ที่ว่าไปก็เป็นเสมือนลายเซ็นของลานธิมอสไปแล้ว) อย่างเช่นฉากเปิดของ The Lobster ที่อยู่ๆ ก็มีคนบุกไปยิงสัตว์ตัวหนึ่งทิ้ง 

หากว่าด้วยฉากเปิดกันอย่างเดียวแล้ว ภาพยนตร์ลำดับถัดมาของลานธิมอสก็เซอร์ไม่น้อยหน้า กับฉากก้อนเนื้อหัวใจเต้นตุบๆ ยาวนานจาก The Killing of a Sacred Deer (2017) ว่าด้วยหายนะที่ครอบครัวของ สตีเวน (แสดงโดย โคริล ฟาร์เรลล์ อีกเช่นเคย) ศัลยแพทย์หนุ่มต้องเผชิญเรื่องราวประหลาดหลังจากลูกๆ ของเขาป่วยด้วยโรคลึกลับกินอาหารไม่ได้ เชื่อว่าต้นเหตุทั้งหมดมาจาก มาร์ติน (แบร์รี คีโอแกน) เด็กหนุ่มปริศนาที่ดูเหมือนว่าสตีเวนเคยให้ความช่วยเหลือไว้ ขณะที่ แอนนา (แสดงโดย นิโคล คิดแมน) ผู้เป็นแม่ พร้อมแลกทุกอย่างเพื่อให้ลูกๆ รอดชีวิต

หนังทั้งเรื่องก็เพียบไปด้วยฉากความรุนแรงกับความประดักประเดิดหนักข้อเช่นเคย ไม่ว่าจะฉากที่มาร์ตินขอดมรักแร้ของสตีเวนเองก็ดี  ฉากสองผัวเมียสวมบทบาทสมมติในห้องนอนก็ดี ไปจนถึงการทำให้บทเพลง Burn ของนักร้องสาว เอลลี โกลดิง (Ellie Goulding) ที่มีเนื้อหาปลุกพลังและสดใส กลายเป็นเพลงชวนสยองไปโดยปริยาย ตัวหนังส่งลานธิมอสชิงปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และยังทำเขากับฟิลิปปูคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเทศกาลนี้ด้วย

 อย่างแรกเลยนะ เราไม่เคยตั้งใจจะทำหนังประเภทนี้ๆ ออกมาหรอก ผมกับฟิลิปปูรู้จักกันจากการทำโฆษณานี่แหละ เขาเคยเป็นก๊อปปี้ไรเตอร์มาก่อนและเราก็เป็นเพื่อนที่ดีต่อกันเรื่อยมา” ลานธิมอสว่า ส่วนใหญ่มันก็เริ่มจากการที่เราแลกเปลี่ยนไอเดียที่เราสนใจกันนี่แหละ จำพวกสถานการณ์ต่างๆ สิ่งที่เราหมกมุ่น นิสัยบางอย่าง และไอเดียเล็กๆ มันจะมาจากอะไรแบบนี้แหละ เช่น เราอยากสำรวจธีมนี้ด้วยการสร้างสถานการณ์บางอย่างขึ้นมา แล้วก็แลกไอเดียกันเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อสร้างเส้นเรื่องขึ้นมาสักเส้น” 

“ผมว่าเรื่องที่คนหนุ่มอย่างมาร์ติน พยายามหาทางแก้แค้นสิ่งที่ผู้ใหญ่สร้างไว้มันก็เป็นไอเดียแปลกๆ ดี และมันมีพลวัติบางอย่างด้วย อย่างการที่วัยรุ่นสามารถข่มขู่คนที่ทั้งโตกว่าและมีวุฒิภาวะกว่าได้น่ะ”

จากนั้นจึงตามมาด้วย The Favourite (2018) หนังชิงออสการ์สิบสาขาและคว้ากลับมาได้หนึ่งสาขาคือสาขานำหญิงยอดเยี่ยมจาก โอลิเวีย โคลแมน (Olivia Colman) ผู้กล่าวสปีชรับมอบรางวัลในเวทีนั้นอย่างถ่อมตน ซึ่งรับบทเป็น ราชินีแอนน์ ราชินีอังกฤษในต้นศตวรรษที่ 18 กับความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ อบิเกล (แสดงโดย เอ็มมา สโตน) เด็กสาวบ้านนา และดัสเชสซาราห์ (แสดงโดย ราเชล ไวสซ์) สาวชนชั้นสูงที่เป็นคนสนิทของเธอมายาวนาน 

หนังให้ภาพราชสำนักอังกฤษเป็นเสมือนละครปาหี่ฉากหนึ่ง ที่ผู้คนล้วนใส่หน้ากากเข้าหากันเพื่อหาผลประโยชน์จากการเป็นคนโปรดของควีนแอนน์ มิหนำซ้ำยังพากันสร้างพฤติกรรมแปร่งประหลาด ไร้สาระ ท่ามกลางสภาพสังคมที่ชาวบ้านต้องปากกัดตีนถีบจากภาวะอดอยากและสงคราม สถาบันกษัตริย์ในหนังจึงถูกให้ภาพเป็นสิ่งแสนจอมปลอมและเปราะบาง ขณะที่ตัวราชินีเองก็มีสภาพร่างกายอ่อนแอ มากไปกว่านั้น สภาพจิตใจก็ดูเอาแน่เอานอนไม่ได้เพราะทั้งอารมณ์ร้าย เอาแต่ใจ และบ่อยครั้งก็แสนจะอ่อนไหวราวกับไม่อาจดำรงชีวิตอยู่ได้โดยลำพัง

ลานธิมอสหาได้สนใจเรื่องราชวงศ์อังกฤษแต่อย่างใด ตรงกันข้าม สิ่งที่ตราตรึงเขาคือเรื่องของผู้หญิงสามคน คุณไม่คอยได้เห็นเรื่องของผู้หญิงสามคนบนภาพยนตร์นักหรอกใช่ไหมล่ะ” เขาว่า แถมเป็นหนังพีเรียดด้วย ผมน่ะอยากทำหนังทำนองนี้มาตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่เคยได้ทำสักที 

“ซาราห์คือคนที่มีอำนาจในมือมากที่สุด ขณะที่ควีนแอนน์ก็ผ่านความทุกข์ตรมมามหาศาล ทั้งยังร่างกายอ่อนแอ แต่ก็พยายามหาหนทางใช้ชีวิตต่อไป” เขาบอก ผมว่ามันน่าเหนื่อยหน่าจะตายไป ที่เราได้แต่ดูหนังผู้ชายกับการเมืองอยู่เรื่อยมา เพราะงั้น The Favourite เลยถือเป็นความสดใหม่สำหรับผมมาก ภาพลักษณ์ของพีเรียดนั้น มักให้ภาพผู้หญิงว่าเรียบง่ายและแสนธรรมชาติ วิธีที่พวกเธอแต่งตัว ทำผม แต่งหน้า แต่ถ้าคุณมาดูหนังเรื่องนี้ คุณจะพบว่าพวกผู้ชายนี่แหละที่แต่งตัวจัด ใส่วิกผมและก็แต่งหน้า ใส่กางเกงรัดและส้นสูงต่างๆ มันคือสิ่งที่เราทำขึ้นมาเพื่อสร้างโลกในหนังน่ะ”

The Favourite กลายเป็นหนึ่งในหนังของลานธิมอสที่หลายคนรักมากที่สุด เมื่อมันพูดเรื่องอำนาจ การเมืองและความเป็นผู้หญิงได้อย่างหมดจด ซึ่งก็น่าจับตาว่า Poor Things (ซึ่งได้เอ็มมา สโตนกลับมาร่วมงานด้วยอีกครั้ง) จะเป็นอย่างไร และทิศทางความเหวอแตกแบบไหนที่ลานธิมอสอยากพาคนดูอย่างเราๆ ไปสำรวจ

Tags: , , , , , , , , ,