ความยากเย็นประการหนึ่งของ The Hunger Games: The Ballad of Songbirds & Snakes (2023) ซึ่งอยู่ในแฟรนไชส์หนังเกมล่าชีวิต The Hunger Games คือการสร้างจักรวาลพาเนมให้สมจริงและสอดรับกับหนังภาคก่อนหน้า และความยากอีกขั้นคือ เมื่อตัวเรื่อง The Ballad of Songbirds & Snakes เล่าย้อนอดีตก่อนจะเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ เงื่อนไขจึงไม่ใช่แค่การสร้างจักรวาลที่สอดคล้องกันเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการสร้าง ‘ยุคสมัย’ ซึ่งต้องให้บรรยากาศย้อนกลับไปอีกหกทศวรรษจากบรรยากาศที่เคยปรากฏในแฟรนไชส์ The Hunger Games ที่เรารู้จักอีกด้วย

เราจึงได้สัมผัสกลิ่นอายความย้อนยุค ทว่าก็ยังล้ำสมัยของผู้คนในแคปิตอล ผ่านเครื่องแบบนักเรียนสีฉูดฉาดของ สโนว์ (แสดงโดย ทอม บลายธ์) วัยหนุ่ม และเสื้อผ้าที่ดูนอกขนบของ ลูซี เกรย์​ (แสดงโดย ราเชล เซเกลอร์) ตัวแทนจากเขต 12 ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ของตัวละคร

ซึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ อูลี ฮานิช (Uli Hanisch) โปรดักชันดีไซเนอร์ชาวเยอรมัน ผู้เคยสร้างจักรวาลให้หนังดราม่า แฟนตาซีเรื่องอื่นๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน 

“The Hunger Games เรื่องก่อนๆ หน้ามีองค์ประกอบของความล้ำยุคอยู่เสมอ แต่ขณะเดียวกัน มันก็ยังดูร่วมสมัยอยู่” ฮานิชเล่า “และถ้าย้อนเวลากลับไป 65 ปีก่อนหน้าที่เรื่องราวต่างๆ ในหนังเหล่านั้นจะเกิดขึ้น เราก็เหมือนหวนกลับไปยังยุค 50s หรือต้นๆ ยุค 60s โน่นเลยล่ะ ซึ่งผมว่ามันน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว”

สิ่งแรกที่ฮานิชตั้งใจสร้างขึ้นมาคือ อะพาร์ตเมนต์ของสโนว์ ผู้ซึ่งในเวลานั้น ครอบครัวกำลังตกอยู่ในสถานการณ์การเงินฝืดเคือง ทว่าเขากับครอบครัวก็ยังต้องพยายามปกปักรักษาตำแหน่งแห่งที่ของความ ‘มีอันจะกิน’ ในแคปิตอลไว้

 “เราต้องทำให้อะพาร์ตเมนต์ของบ้านสโนว์ฉายสถานการณ์ที่เขาพยายามปกปักรักษาหน้าสภาพความเป็นครอบครัวอันสูงส่งในสังคมอยู่” ฮานิชว่า โดยเขาตั้งใจสร้างพื้นที่ในอะพาร์ตเมนต์ให้มีลักษณะเหมือนเกล็ดหิมะหรือ สโนว์ (Snow) อันเป็นชื่อสกุลของตัวละครหลัก กล่าวคือมีห้องโถงกลางและห้องแยกย่อยที่กระจายตัวออกไปโดยรอบ ซึ่งสำหรับฮานิช ลักษณะเช่นนี้ของอะพาร์ตเมนต์ชวนให้รู้สึกอึดอัดมากกว่าอบอุ่นอยู่สบาย สะท้อนความยากลำบากที่ครอบครัวสโนว์ต้องแบกรับ 

“ถ้าคุณเดินเข้าไปในอะพาร์ตเมนต์นี้ คงสัมผัสได้ทันทีว่ามันเคยเป็นสถานที่ที่ยิ่งใหญ่มาก่อน แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อให้ครอบครัวได้อยู่อาศัยน่ะ ผมอยากให้อะพาร์ตเมนต์นี้บอกเล่าตำแหน่งแห่งที่ของพวกสโนว์ในสังคมด้วย” ฮานิชบอก

เช่นเดียวกับในสถานศึกษา ซึ่งฮานิชตั้งใจให้มีบรรยากาศย้อนยุคและน่าสะพรึงกลัวแบบโกธิค โดยผสมผสานกับกลิ่นอายของโบสถ์คริสต์โบราณ “ผมว่ามันสร้างกลิ่นอายของความขรึมขลังน่าสะพรึงกับการอยู่ภายใต้อำนาจได้ดี จะว่าไปความรู้สึกของการถูกกดทับ น่าสะพรึงเช่นนี้ก็สำคัญกว่าอะไรทั้งหมด เพราะมันย้ำเตือนให้นักเรียนรู้ว่าที่อยู่ของพวกเขาในสังคมคือตรงไหน”

สำหรับชีวิตของฮานิช เขาเกิดและโตที่เมืองเนิร์นแบร์ก รัฐบาวาเรีย เริ่มต้นอาชีพจากการทำงานสายกราฟิกอยู่เกือบ 20 ปีก่อนจะได้มาเจอกับ คริสตอฟ ชลิงเกนเชฟ (Christoph Schlingensief) เจ้าของหนังชุด ‘ไตรภาคเยอรมนี’ (Germany Trilogy) และ Menu total (1986), Egomania: Island Without Hope (1986) ผู้ชักชวนให้ฮานิชมาร่วมเป็นทีมงานในกองถ่ายที่เนิร์นแบร์ก บ้านเกิดของเขา 

และจากการจับพลัดจับผลูได้ทำงานในกองถ่ายนี้เอง ทำให้ฮานิชหลงใหลสายงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ และหาทางยืนหยัดอยู่ในวงการนี้ให้ได้เต็มตัว ทางออกของฮานิชผู้มีฝีมือด้านงานกราฟิกและการออกแบบ จึงเป็นงานสายโปรดักชันดีไซน์และงานออกแบบอุปกรณ์เข้าฉากต่างๆ 

“สำหรับผม งานสายโปรดักชันดีไซน์ใช้ตรรกะและวิธีคิดใกล้เคียงกันกับงานเดิมที่ผมเคยทำ การปรับตัวข้ามสายงานจึงค่อนข้างง่าย นั่นคือเปลี่ยนจากวิธีคิดแบบสองมิติของสายกราฟิก หรือคือการคิดแค่หน่วยเซนติเมตรกับมิลลิเมตร มาสู่วิธีคิดแบบสามมิติซึ่งเป็นการมองภาพใหญ่ขึ้น หรือก็กล่าวได้ว่า ผมมีพื้นฐานจากการทำงานกราฟิกช่วยในการทำงานโปรดักชันน่ะ” ฮานิชบอก

งานลำดับแรกๆ ของฮานิชจึงเป็นการร่วมงานกับชลิงเกนเชฟ นั่นคือ 100 Years of Adolf Hitler (1989) ว่าด้วยโมงยามสุดท้ายของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซีในหลุมหลบภัย หลังจากเยอรมนีพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งฮานิชก็เจอความท้าทายตั้งแต่งานแรกเมื่อหนังทั้งเรื่องถ่ายด้วยภาพขาวดำ แสงจัดจ้าน และอยู่ในพื้นที่เล็กแคบ 

ทว่า ฮานิชก็ต้องหาทางทำให้หลุมหลบภัยของฮิตเลอร์ บอกเล่าถึงวาระสุดท้ายของ ‘ฟือเรอร์’ ด้วยเช่นกัน เราจึงได้เห็นห้องประดับด้วยธงนาซีและตราสวัสดิกะประปราย กับสีหน้าเครียดเขม็งของเหล่าอาชญากรสงครามที่หาทางออกให้ชีวิตตัวเองไม่ได้ 

จากนั้นจึงตามมาด้วย Blackest Heart (1990) หนังทุนต่ำความยาวเพียงหนึ่งชั่วโมงของชลิงเกนเชฟ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น ‘สิงหาสับ ฉบับเยอรมัน’ (German Chainsaw Massacre) ว่าด้วยหญิงสาวที่หนีจากชีวิตผุพังในเยอรมนีตะวันออกมาสู่ฟากตะวันตก เธอพับกับคนขายเนื้อปริศนาที่ขายเนื้อในราคาถูกแสนถูก ซึ่งกลายเป็นปฐมบทของความเฮี้ยนนรกแตกเมื่อหนังอุทิศหลายสิบนาทีที่เหลือหลังแนะนำตัวละครให้ฉากเลือดสาดแบบสุดขีดคลั่ง ตามขนบหนังเฮอร์เรอร์ที่กำลังบูมในยุค 90s และรับกันกับความอ่อนไหวทางการเมืองของเยอรมนีในช่วงเวลาที่กำแพงเบอร์ลินถล่ม 

“ตอนเราทำหนังทุนต่ำหรือหนังทดลอง ข้อดีของมันคือไม่ค่อยมีคนนอกเข้าใจหรอกว่าเรากำลังทำอะไร” ฮานิชบอก “เราบ้าบอกันสุดๆ มือใหม่กันทั้งนั้น และหาทางลองอะไรใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ ทำเป็นรู้ดีว่าตัวเองกำลังทำอะไร ซึ่งผมว่าสิ่งนี้น่ะสำคัญนะ มันเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ล่ะ

“การทำหนังของเราในเวลานั้นมันเหมือนเป็นสนามเด็กเล่นขนาดใหญ่ ที่เรามีเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพงหูฉี่ นักแสดงที่ทำเป็นตัวละคร อันที่จริงก็ไม่ใช่แค่นักแสดงหรอกที่แกล้งทำเป็นทำงานทำการน่ะ ทุกคนในกองถ่ายก็เป็นแบบนี้ทั้งนั้น เราเป็นแค่เด็กโข่ง แต่ความแตกต่างเดียวคือเราทำสิ่งที่เราคิดฝันให้ออกมาเป็นรูปธรรมได้”

และนั่นเป็นช่วงก่อนหน้าที่ฮานิชจะได้รู้จักกับ ทอม ทีคเวอร์ (Tom Tykwer) คนทำหนังชาวเยอรมันผู้ให้กำเนิดหนังโคตรล้ำของยุคอย่าง Run Lola Run (1998) โดยฮานิชได้ร่วมงานกับทีคเวอร์หลายเรื่อง เรื่องแรกคือ The Princess and the Warrior (2000) หนังโรแมนติก-ธริลเลอร์ที่เล่าเรื่องพยาบาลสาวผู้ตกหลุมรักชายหนุ่มผู้ช่วยชีวิตเธอไว้ และคิดว่าเขาคือเนื้อคู่เพียงหนึ่งเดียวของเธอ โดยไม่ตระหนักเลยว่าแท้จริงแล้วพ่อหนุ่มเก็บงำความลับดำมืดไว้กับตัว และ Heaven (2002) หนังร่วมทุนสร้างห้าสัญชาติ (สหราชอาณาจักร-ฝรั่งเศส-อิตาลี-เยอรมนี-สหรัฐอเมริกา) ที่ส่งทีคเวอร์ชิงรางวัลหมีทองคำจากเทศกาลหนังนานาชาติเบอร์ลิน เล่าเรื่องหญิงสาว (แสดงโดย เคต บลันเชตต์ กับลุคโกนผมสั้นเกรียน) ที่ลอบวางระเบิดเพื่อล้างแค้นกลุ่มมาเฟีย หากแต่เหตุการณ์ดังกล่าวกลับเป็นต้นเหตุให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิต ระหว่างที่เธอถูกจับกุม หญิงสาวค่อยๆ สารภาพและเล่าถึงชีวิตอันแสนรันทดของเธอ เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ (แสดงโดย จิโอวานนี ริบิชี) เห็นอกเห็นใจและก่อกำเนิดเป็นความรักในที่สุด 

อย่างไรก็ดี หนังที่ฮานิชร่วมงานกับทีคเวอร์ที่หลายคนน่าจะคุ้นตามากที่สุดคือ Perfume: The Story of a Murderer (2006) หนังร่วมทุนสร้างห้าสัญชาติ (เยอรมนี-ฝรั่งเศส-สเปน-สหรัฐอเมริกา-เบลเยี่ยม) ดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 1985 ของ แพตทริค ซึสคินด์ (Patrick Süskind) เล่าถึงฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ฌอง-แบบติสต์ เกรอนุย (แสดงโดย เบน วิชอว์) ชายหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาจากตลาดสดอันเหม็นสาบและเต็มไปด้วยกลิ่นคาวปลา เขามีพรสวรรค์ด้านการดมกลิ่นที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด และในวันแสนสามัญ เขาเผลอติดใจกลิ่นหอมจากตัวหญิงสาวที่เขาเจอในตลาด ระหว่างที่พยายามดอมดมกลิ่นจากเธอ เขาก็พลั้งมือสังหารเธอ และนี่เองคือจุดกำเนิดที่ทำให้เกรอนุยหวังอยากทำน้ำหอมที่มีกลิ่นอายจากมนุษย์ขึ้นมา 

นับแต่นั้น เขาก็ออกไล่ล่าตามหามนุษย์ผู้มีกลิ่นที่เขาต้องการ เพื่อนำไขในตัวมาสกัดเป็นน้ำหอม และแผนการของเกรอนุยก็ดำเนินไปได้ด้วยดี เหลือเพียงอีกกลิ่นเดียวเท่านั้นที่จะพาเขาไปพบกับสรวงสวรรค์แห่งการทำน้ำหอม

ความโดดเด่นของเรื่องนี้คือ ฮานิชต้องเนรมิตรฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 18 ขึ้นมาใหม่ พร้อมรังสรรค์ ‘กลิ่น’ ผ่านงานภาพและการออกแบบของประกอบฉาก เราจึงแทบจะได้กลิ่นคาวปลาเน่าเหม็นในตลาดเมื่อเขาแรกคลอด แอ่งน้ำเฉอะแฉะในตลาด ผู้คนเนื้อตัวชุ่มเหงื่อและเปียกปอนตลอดเวลา หรือบรรยากาศชวนขนหัวลุกเมื่อเกรอนุย ‘ทำ’ น้ำหอม 

“โลกในหนัง Perfume: The Story of a Murderer มันดำมืดและหม่นหมองมาก ทั้งยังหนักหนาสุดๆ ไปเลย แถมทุกคนก็เป็นศัตรูของตัวละครหลักทั้งนั้น” ฮานิชบอก

 โดยเขาออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือผลิตน้ำหอมจากมนุษย์ของเกรอนุย ไม่ว่าจะผ้าขาวสำหรับสกัดเอาไขออกมาจากตัวคน, ขวดแก้ว หรือโหลดองศพขนาดยักษ์ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของเรื่อง ทั้งเขา, ทึคเวอร์, แฟรงค์ กรีบี (Frank Griebe)  ผู้กำกับภาพ และปิแอร์-อีฟ เกย์เราด์ (Pierre-Yves Gayraud) คนออกแบบเครื่องแต่งกาย กอดคอกันไปศึกษางานศิลปะของ คาราวัจโจ (Caravaggio) ศิลปินชาวอิตาลี, แร็มบรันต์ (Rembrandt) ศิลปินชาวดัตช์ และโจเซฟ ไรต์ (Joseph Wright) จิตกรชาวอังกฤษ เพื่อทำให้ตัวหนังออกมามีบรรยากาศสมกับศตวรรษที่ 18 ที่สุด

Cloud Atlas (2012) คือหนังเรื่องถัดมาที่ฮานิชได้ร่วมงานกับทีคเวอร์ แต่พิเศษมากกว่าเดิมตรงที่นี่เป็นหนังที่ทีคเวอร์กำกับร่วมกับพี่น้องวาชอวสกี ตัวหนังดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันของ เดวิด มิตเชลล์ (David Mitchell) และเล่าเรื่องตัดสลับเส้นเวลากันหกยุคสมัยตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ไปจนถึงโลกอนาคต และย้อนกลับมายังช่วงอารยธรรมล่มสลาย งานยากจึงเป็นการออกแบบโลกในแต่ละยุคสมัย นับตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคม, ยุคร่วมสมัย, อนาคตที่มีการโคลนนิ่งมนุษย์ จนไปถึงโลกที่ทุกสิ่งทุกอย่างดับสูญและพร้อมจะถือกำเนิดขึ้นมาใหม่ 

“Cloud Atlas เป็นหนังที่ท้าทายมากๆ เพราะแต่ละยุคสมัยก็มีความซับซ้อนในแบบของมัน เราต้องหาทางบอกเล่าเนื้อเรื่องในแต่ละยุคให้ได้” ฮานิชบอก “สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้คนดูเห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าเรากำลังเล่าเรื่องของยุคสมัยไหน และจะเชื่อมโยงพวกเขาเข้ากับเนื้อเรื่องอย่างไร

“ผมเชื่อเรื่องรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เสมอแหละ ถ้วยชาอาจจะกลายเป็นคอนเซปต์สำคัญของแต่ละฉากก็ได้ เราเลยมีที่ทางให้เล่นกับอุปกรณ์ประกอบฉากเยอะมาก พร้อมกันนี้ก็ต้องใช้เวลาใส่รายละเอียดยุบยิบอื่นๆ เข้าไปด้วย แล้วก็ต้องเอาอุปกรณ์ประกอบฉากที่ว่านั้นกลับมาดัดแปลงและใช้ใหม่ในฉากต่อๆ ไป” เขาบอก หรือก็คือ ฉากร้านขายของในปี 1973 ล้วนแต่สะท้อนเส้นเรื่องทั้งหก ทั้งยังเชื่อมโยงกันเป็นหนึ่งเดียว “นิทรรศการศิลปะที่ตัวละคร หลุยซา เรย์ (แสดงโดย ฮัลลี เบอร์รี) ปี 1973 ได้รับข่าวเรื่องประติมากรรมชาวเมารีที่เธอมองหาจากหมู่บ้าน ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วตอนหนังเล่าถึงยุค 1849 โดย อดัม อิววิง (แสดงโดย จิม สเตอร์เจสส์) ฉากที่เขาเฆี่ยนทาส และมีงานภาพว่าด้วยทาสกำลังเพาะปลูกแขวนโชว์อยู่ตรงอ่าวที่เรือของอิววิงเข้าเทียบท่า คุณจะเห็นสิ่งเหล่านี้ปรากฎอยู่ในหนังสองสามครั้ง ต่างวาระกันไป”

และอีกหนึ่งผลงานที่น่าชื่นชมของฮานิชคือ The Queen’s Gambit (2020) มินิซีรีส์ของเน็ตฟลิกซ์ ว่าด้วย เบธ ฮาร์มอน (แสดงโดย อันยา เทย์เลอร์-จอย) เด็กสาวที่หวังพิชิตวงการหมากรุก และการกระโจนเข้าสู่สังเวียนนี้ก็นำพาเธอไปพบเจอกับช่วงชีวิตที่ต้องใช้ทักษะในการก้าวย่างไม่ต่างจากการเดินหมากเพื่อรุกฆาต 

ตัวหนังดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันเมื่อปี 1983 ของ วอลเตอร์ เทวิส (Walter Tevis)  กับบรรยากาศช่วงกลางยุค 1950s ที่ผู้ชายยังครองวงการหมากรุกอยู่ ฮานิชต้องทำการบ้านอย่างหนักเพื่อบอกเล่าบรรยากาศของสหรัฐฯ ช่วงปี 50s

 “และวิธีที่เราเล่าถึงยุค 60s ก็ต่างไปจากหนังพีเรียดเรื่องอื่นๆ ที่เล่าถึงยุคสมัยนั้นด้วย เพราะปกติยุคนั้นเป็นภาพแทนของการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายๆ อย่าง” ฮานิชบอก “แต่เราไม่ได้อยากถ่ายทอดประเด็นนั้น หากแต่เรามุ่งมั่นจะถ่ายทอดสภาพจิตใจ สภาวะภายในที่ตัวละครกำลังเผชิญผ่านงานภาพต่างหาก และนี่จึงเป็นเหตุผลที่เราพยายามถ่ายทอดช่วง 50s-60s ที่ดูล้นเกิน (Over-Styled) ออกมา ไม่ใช่เพราะเราชอบหรอก แต่เพราะมันเหมาะสมสำหรับเนื้อเรื่องน่ะ” 

การออกแบบของฮานิชเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้หนังหรือซีรีส์แต่ละเรื่อง ‘ครบรส’ มากยิ่งขึ้น งานของเขาทำให้เห็นว่า สิ่งที่บอกเล่าเรื่องราวไม่ใช่เพียงแค่บท ไดอะล็อกหรือตัวละครเท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงบรรยากาศ เสื้อผ้า ห้องพักหรือข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อันเป็นสิ่งที่ปรากฏในจอ อยู่ในครรลองสายตา และหลายครั้งก็อยู่ในหัวใจคนดูด้วยเช่นกัน

Tags: , , , , , , , ,