มีคำกล่าวขำๆ ในหมู่ชาวอเมริกันว่า ปี 2023 เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) กระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกามากเสียยิ่งกว่าที่หน่วยงานรัฐใดจะทำได้อีก นับตั้งแต่ The Eras Tour ทัวร์คอนเสิร์ตลำดับที่ 6 ในชีวิตการเป็นศิลปินของเทย์เลอร์ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมาลากยาวจนมาถึงต้นเดือนสิงหาคม ก่อนจะหยุดพักและขยับไปทัวร์รอบโลก แล้วจึงวนกลับมาแสดงในสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2024 ซึ่งลำพังเฉพาะราคาตั๋วคอนเสิร์ต 53 รอบในอเมริกาเหนือก็ทำเงินไปทั้งสิ้น 2.2 พันล้านเหรียญฯ ถึงขนาดที่ว่า แดน ฟลีตวูด (Dan Fleetwood) ประธานองค์กร QuestionPro Research and Insights ที่ทำหน้าที่สำรวจข้อมูลให้ความเห็น “ถ้าเทย์เลอร์ สวิฟต์เป็นระบบเศรษฐกิจ เธอก็ใหญ่โตเสียยิ่งกว่าประเทศจริงๆ อีก 50 ประเทศเสียอีก”

ค่าเฉลี่ยความจุคนดูคอนเสิร์ตแต่ละครั้งของเทย์เลอร์อยู่ที่ 70,000 คน แน่นอนว่าหากไม่นับเรื่องค่าตั๋ว การเดินทางมาดูคอนเสิร์ตนั้น ยังต้องใช้เงินยิบย่อยจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าอาหาร ค่าเดินทางและที่พัก โดยมีการสำรวจว่า ธุรกิจท้องถิ่นแต่ละอย่างทั้ง โรงแรม การขนส่ง จะมีรายได้จากการที่คนมาดูคอนเสิร์ต The Eras Tour ราว 1,300-1,500 เหรียญฯ ไหนจะเรื่องค่าเครื่องแต่งตัว เครื่องประดับ ไปจนถึงการออกเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในแต่ละรัฐด้วย ประมาณการกันว่าการจัดคอนเสิร์ตของเธอแต่ละครั้ง ทำให้ยอดรายได้ท้องถิ่นกระโจนขึ้นมาหลายล้านเหรียญฯ ในสุดสัปดาห์เดียว

อีกทั้งเทย์เลอร์ยังคงทุบสถิติความสำเร็จอย่างต่อเนื่องด้วย Taylor Swift: The Eras Tour (2023) บันทึกการแสดงสดคอนเสิร์ตของเธอที่ โซไฟ สเตเดียม รัฐแคลิฟอร์เนีย ที่กำกับโดย แซม เวิร์นช์ (Sam Wrench) เจ้าพ่อผู้กำกับหนังคอนเสิร์ตเจ้าของผลงาน Halftime (2022) ว่าด้วยงานดนตรีของ เจนนิเฟอร์ โลเปซ (Jennifer Lopez), Lizzo: Live in Concert (2022) คอนเสิร์ตสุดเฉี่ยวของ ลิซโซ และ Billie Eilish Live at the O2 (2023) คอนเสิร์ตของ บิลลี ไอลิช (Billie Eilish) เมื่อครั้งเธอขึ้นแสดงที่ The O2 อารีน่าในสหราชอาณาจักร 

ซึ่งในหนังลำดับล่าสุดที่ถ่ายทอดเรื่องของเทย์เลอร์นั้น ได้ฉายให้เห็นภาพการแสดงบนเวทีผ่านเพลงฮิตตั้งแต่อัลบั้มแรกจนถึงอัลบั้มล่าสุดอย่าง Midnight (2022) ที่ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นแฟนคลับของเธอ ก็ไม่อาจปฏิเสธพลังและความทุ่มเทที่ส่งผ่านโชว์ครั้งนี้ได้ จนถึงขนาดที่หลายคนไปเสิร์ชกูเกิ้ลถามว่า เทย์เลอร์ออกกำลังกายยังไงและเตรียมร่างกายแบบไหน จึงกระโดดโลดเต้นและร้องเพลงแบบเต็มเสียงบนเวทีอยู่ได้สามชั่วโมงโดยไม่ปล่อยอาการเหนื่อยหอบให้เห็น (แม้ว่าเมื่อกล้องแพนไปจับท่อนแขนหรือแผ่นหลังของเธอ คนดูจะพบว่าเธอก็เปียกเหงื่อโชกไม่ต่างไปจากนักเต้นรอบๆ ตัวก็ตาม)

ตัวหนังเองยังทำสถิติเป็นภาพยนตร์คอนเสิร์ตเรื่องแรกที่ทำเงินในสหรัฐฯ ได้มากกว่า 100 ล้านเหรียญฯ ลำพังแค่การจำหน่ายตั๋ววันแรกก็ทำเงินไปที่ 26 ล้านเหรียญฯ แล้ว และแน่นอนว่ามันเป็นหนึ่งในหนังที่กระตุ้นให้หลายคนเข้ามาดูหนังในโรงภาพยนตร์อีกหน และเกิดเป็นไวรัลที่เห็นชาว ‘สวิฟตี้’ หรือแฟนคลับของเทย์เลอร์ร้องรำทำเพลงอยู่ในโรงหนัง จึงไม่เป็นการเกินเลยถ้าเราจะกล่าวว่า แม้แต่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เทย์เลอร์ก็ยังเป็นยักษ์ใหญ่ที่สร้างแรงกระเพื่อมในแง่เศรษฐกิจ 

อย่างไรก็ดี กล่าวสำหรับตัวหนังเอง แซม เวิร์นช์ ตัดเอารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างการเปลี่ยนฉากทิ้งจนหมดเพื่อร่นระยะเวลาของหนังให้ได้มากที่สุด ทั้งเรื่องจึงเป็นการแสดงของเทย์เลอร์ สวิฟต์ บนเวทีแต่เพียงประการเดียว ดังนั้นความโหดหินของเวิร์นช์คือการที่เขาต้องยกกล้องขึ้นรับหน้าเทย์เลอร์ตลอดเวลา ซึ่งมันเป็นเรื่องง่ายดายมากหากว่าเธอจะหลุดอาการเหนื่อยหอบให้เห็น 

โจทย์ดังกล่าวถือเป็นอีกสิ่งที่พิสูจน์ว่า เทย์เลอร์ไม่ได้เป็นแค่นักร้องเพลงป็อปทั่วไป แต่คือหัวเรือใหญ่ของอุตสาหกรรมดนตรีอเมริกัน เพราะตลอดเวลาของการแสดงนั้น ไม่เพียงแต่เธอจะไม่มีอาการหอบใดๆ ให้เห็น แต่เธอยังเล่นหูเล่นตาและอยู่ในคาแรกเตอร์ตลอด 2 ชั่วโมง 49 นาที นี่ย่อมเป็นสิ่งที่ต้องค้อมหัวคารวะให้ความทุ่มเทและหนักแน่นในสายงานที่ทำของเธอ

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับเทย์เลอร์และภาพยนตร์คอนเสิร์ต ชวนนึกถึงภาพยนตร์คอนเสิร์ตที่ประสบความสำเร็จมหาศาลเช่นเดียวกันอย่าง U2 3D (2008) บันทึกคอนเสิร์ต U2 วงร็อกสัญชาติไอริชขณะขึ้นแสดงในบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ที่ตัวหนังทะเยอทะยานสุดๆ ด้วยการบันทึกภาพเป็นสามมิติ จนมันนับเป็นหนังที่ว่าด้วยบันทึกการแสดงสดด้วยระบบสามมิติเรื่องแรก โดยตัวหนังจับจ้องไปยังช่วงที่วงกำลังออกทัวร์ Vertigo Tour ในปี 2006 ตัวคอนเสิร์ตเองประสบความสำเร็จมหาศาลด้วยการทำรายได้ไปทั้งสิ้น 260 ล้านเหรียญฯ จากการแสดง 110 รอบในปี 2005 ซึ่งถือเป็นคอนเสิร์ตที่ทำรายได้สูงที่สุดของปีนั้น (วัดกันแค่ในอเมริกาเหนือเพียงอย่างเดียว วงก็ทำเงินไปได้ 139 ล้านเหรียญฯ) 

หนังบันทึกการแสดง 14 บทเพลง เริ่มจากบทเพลง Vertigo จากอัลบั้ม How to Dismantle an Atomic Bomb (2004) ตามมาด้วยแทร็กดังอย่าง Sometimes You Can’t Make It On Your Own, Sunday Bloody Sunday และ Where the Streets Have No Name จุดเด่นอีกอย่างที่จะไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการเรียงร้อยถ้อยแถลงประเด็นการเมืองต่างๆ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใดหากคุณติดตามวงร็อกไอริชวงนี้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมในมิติต่างๆ เรื่อยมา (เช่น Sunday Bloody Sunday ก็เป็นแทร็คที่ว่าด้วย ‘วันอาทิตย์เลือด’ อันเป็นประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมของไอร์แลนด์ในปี 1972) ขณะที่ในแง่การถ่ายทำนั้น ทีมงานใช้กล้องดิจิทัลสามมิติหลายตัวบันทึกภาพการแสดงสมาชิกวง ส่วนกองถ่ายต้องใช้เวลาสองวันเพื่อติดตั้งและเตรียมมุมกล้องต่างๆ ก่อนหน้าวันแสดงจริง โดย แคเธอรีน โอเวนส์ (Catherine Owens) หนึ่งในผู้กำกับออกปากว่าในแง่สไตล์การถ่ายทำนั้นถือว่าแหกคอก (unorthodox) อย่างยิ่งเพราะไม่มีสตอรี่บอร์ดหรือสคริปต์อะไรเลย จะมีก็เพียงพลังเพียวๆ ของสมาชิกวงที่แสดงสดแบบไม่พักตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่ง

ในยุคหลัง การถ่ายทำสารคดีคอนเสิร์ตแบบสามมิติได้รับความนิยมมากขึ้น บันทึกคอนเสิร์ตสองเรื่องที่ถ่ายทำในระบบนี้และออกฉายในเวลาไล่เลี่ยกันคือ Justin Bieber: Never Say Never (2011) และ One Direction: This Is Us (2013) โดยถือเป็นหนังที่ประสบความสำเร็จทั้งคู่ ซึ่งย้อนกลับไปในช่วงต้นยุค 2010s นั้น จัสติน บีเบอร์ (Justin Bieber) ถือเป็นศิลปินป็อปของยุคสมัยเช่นเดียวกันกับ One Direction วงบอยแบนด์สัญชาติอังกฤษที่แม้ตอนนี้จะแยกย้ายกันไปทำโปรเจกต์ส่วนตัวแล้ว แต่ครั้งหนึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า พวกเขาเคยสร้างปรากฏการณ์ความนิยมที่สะเทือนไปทั้งโลก ทั้งนี้ Never Say Never ทำเงินไปได้ 99 ล้านเหรียญฯ จากทุนสร้าง 13 ล้านเหรียญฯ โดยเรื่องราวการไล่สำรวจช่วงเวลาสิบวันก่อนหน้าการขึ้นคอนเสิร์ตของบีเบอร์ ก็ทำให้คนดูเห็นแง่มุมอื่นที่อยู่นอกเหนือจากบนเวที เช่น ช่วงที่เขาต้องพักรักษาเส้นเสียงหลังทำงานอย่างหนักมาเป็นเวลานาน หนังกำกับโดย จอน เอ็ม ชู​ (Jon M. Chu) ซึ่งในเวลาต่อมาประสบความสำเร็จอย่างยิ่งจากการกำกับ Crazy Rich Asians (2018)

ฟาก One Direction: This Is Us นั้นถือเป็นการบันทึกช่วงเวลาสำคัญของวงก่อนหน้าการแยกย้ายจากกันในปี 2016 ภายหลังการรวมตัวกันในปี 2010 วงใช้เวลาไม่นานนักในการสร้างชื่อเสียงและประสบความสำเร็จทั้งในเกาะอังกฤษและสหรัฐฯ หนังตามถ่ายทำการขึ้นคอนเสิร์ต Take Me Home Tour ที่ขายตั๋วหมดในเวลาอันรวดเร็ว กับการบันทึกเพลงฮิตที่หลายคนน่าจะร้องได้อย่าง OneThing, Kiss You และ What Makes You Beautiful แต่ที่ทำให้หนังเป็นที่รักของแฟนๆ คือการที่ มอร์แกน สเปอร์ล็อก (Morgan Spurlock) (ผู้กำกับที่เคยสร้างสารคดีชวนเหวออย่าง Super Size Me (2004) อุทิศตัวเองทำการทดลองกินแต่อาหารจากแม็กโดนัลด์ตลอดสามสิบวันเต็ม! ในเวลาต่อมามันได้กลายเป็นหนังที่ถูกหยิบมาใช้วิพากษ์วงการอาหารฟาสต์ฟู้ดอยู่บ่อยๆ) ได้ใส่ฟุตเทจอันแสนส่วนตัวของเหล่าสมาชิกทั้งห้าของวง ทำให้แฟนๆ ได้เห็นแง่มุมที่ไม่ค่อยได้เห็นนักบนเวที ไม่ว่าจะฉากที่พวกเขาวิ่งเล่น ขับรถ หรือพูดคุยจิปาถะก่อนและหลังการแสดง

หนังสารคดีคอนเสิร์ตอีกเรื่องที่เราคิดว่าควรค่าแก่การรับชมคือ Madonna: Truth or Dare (1991) ที่บันทึกคอนเสิร์ตของราชินีเพลงป็อป มาดอนนา (Madonna) กับการแสดงสด Blond Ambition World Tour ที่ตัวคอนเสิร์ตเองก็อื้อฉาวสุดขีดเพราะมีการใช้ภาพศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกมาบอกเล่าในธีมเซ็กซี่ ระดับที่พระสันตะปาปา จอห์น พอล ที่สอง (St John Paul II, Pope) ออกปากว่า สังคมคริสเตียนไม่ควรซื้อตั๋วเข้าไปรับชมคอนเสิร์ตนี้ (อูย) และออกปากว่า คอนเสิร์ตนี้ของมาดอนนาคือ “หนึ่งในการแสดงที่ปาบช้าที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ”​ ถึงขั้นที่มีคนออกมาชุมนุมให้ยกเลิกคอนเสิร์ตนี้เสีย หรือเมื่อมาดอนนาไปจัดแสดงในโทรอนโต ตำรวจถึงขั้นข่มขู่ว่า หากมาดอนนายังดื้อดึงจะแสดงโชว์ โดยเฉพาะเพลง Like a Virgin ที่มีฉากเธอช่วยตัวเองต่อไป จะจับกุมเธอซะ! ซึ่งก็แน่นอนว่าคำขู่นี้ไม่อาจหยุดยั้งอะไรราชินีเพลงป็อปได้ เธอยังคงขึ้นแสดงต่อไปและคอนเสิร์ตก็ประสบความสำเร็จถล่มทลาย

นอกจากนี้ Madonna: Truth or Dare ยังถูกบันทึกว่าเป็นหนึ่งในสารคดีที่ทรงอิทธิพลต่อวงการเรียลลิตี้ที่ออกฉายทางโทรทัศน์ (เช่น วิธีการที่หนังจับจ้องไปยังมาดอนนาขณะเธออยู่ในอิริยาบถผ่อนคลายหลังเวที หรือการสำรวจช่วงที่เธอใช้เวลาส่วนตัวอยู่กับตัวเอง) 

โดยตัวหนังได้ อเล็ค เคชิเชียน (Alek Keshishian) คนทำหนังเชื้อสายอาร์มาเนียน-อเมริกัน ที่มาดอนนาสนใจอยากให้เขามาถ่ายทำคอนเสิร์ตของเธอเล็กๆ น้อยๆ เพื่อนำไปออกฉายช่อง HBO ตัวเคชิเชียนเองตั้งใจจะถ่ายทำเป็นหนังคอนเสิร์ตทั่วไป กระทั่งเขาได้เห็นชีวิตอีกด้านของมาดอนนาหลังเวที และตัดสินใจบันทึกฟุตเทจเหล่านี้มารวมกันกับฟุตเทจขณะเธอแสดงสด จนมันกลายเป็นหนึ่งในหนังสารคดีที่สะท้อนชีวิตอีกด้านของมาดอนนาในฐานะศิลปินชื่อดังของโลกและในฐานะมนุษย์แสนสามัญคนหนึ่งได้หมดจด ทั้งยังเป็นหลักฐานของความเป็นมืออาชีพของเธอจนไม่แปลกใจที่เธอจะเป็นหนึ่งในศิลปินที่อยู่เป็นอมตะของอุตสาหกรรมดนตรีจนถึงนาทีนี้

ปิดท้ายกันที่หนึ่งในสารคดีคอนเสิร์ตที่กล่าวกันว่างดงามและชวนหัวใจสลายมากที่สุดอย่าง Michael Jackson’s This Is It (2009) โดย เคนนี ออร์เทกา (Kenny Ortega) ตัวหนังบันทึกการฝึกซ้อมก่อนขึ้นคอนเสิร์ต This Is It ของยอดศิลปิน ไมเคิล แจ็กสัน  (Michael Jackson) ซึ่งเตรียมเปิดแสดงกลางปี 2009 ในลอนดอน หากแต่ตัวแจ็กสันเสียชีวิตก่อนหน้าการขึ้นแสดงเพียง 18 วัน ตัวออร์เทการะบุว่า เขาเพียงแต่บันทึกภาพการฝึกซ้อมและการใช้ชีวิตของแจ็กสัน โดยไม่มีเจตนาจะนำออกมาเปิดเผยหรือทำเป็นสารคดีแต่แรก ทว่า เมื่อเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น สตูดิโอก็เห็นตรงกันว่าควรนำฟุตเทจเหล่านี้มาเรียงร้อยเพื่อบอกเล่าถึงตัวตนและความเป็นมืออาชีพของแจ็กสัน ท่ามกลางเสียงคัดค้านของสมาชิกบ้านแจ็กสัน ที่มองว่าสตูดิโอกำลังหาผลประโยชน์จากการเสียชีวิตของศิลปินผู้ล่วงลับ เช่นเดียวกับแฟนคลับของแจ็กสัน หลายคนที่ออกมาประท้วงต่อต้านการออกฉายของหนังเรื่องนี้ โดยด้านหนึ่งอ้างว่า คนที่นิยมความสมบูรณ์แบบอย่างแจ็กสัน นั้นไม่มีทางยอมให้มีหนังเรื่องนี้ออกมาอย่างแน่นอน 

กระนั้น เมื่อมันออกฉาย Michael Jackson’s This Is It ก็กวาดคำชมทั้งจากเหล่านักวิจารณ์และบรรดาแฟนคลับ เพราะฟุตเทจที่ออร์เทการ์คัดสรรมานั้นล้วนแล้วแต่ทำให้เห็นอีกด้านของราชาดนตรีในแง่มุมทีแทบไม่มีใครเคยได้สัมผัส หากแต่มีสิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้อยู่แล้วคือเรื่องความทุ่มเทและความเป็นมืออาชีพของเจ้าตัว แต่ทั้งอย่างนั้น เมื่อมันปรากฏในสารคดีคอนเสิร์ตชิ้นนี้ ยิ่งทำให้เห็นว่าไมเคิล แจ็กสัน  ผู้ที่โลกรับรู้ว่าแสนทุ่มเทกับงานตัวเองนั้น แลกเลือดแลกเนื้อให้หน้าที่การงานของตัวเองเสียยิ่งกว่าที่หลายคนคาดคิดไว้เสียอีก ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกบอกเล่าผ่านการตรากตรำฝึกซ้อมอย่างไม่รู้เหน็ดรู้เหนื่อย และการตอกย้ำถึงความสมบูรณ์แบบอยู่เป็นระยะตลอดความยาวสองชั่วโมงของหนัง

Tags: , , , , , , ,