“ถามว่าทำไมผมถึงมักทำหนังว่าด้วยคนชายขอบ คำตอบก็ง่ายมาก แค่ว่ากลุ่มคนชายขอบและกลุ่มคนที่อยู่ในวัฒนธรรมกระแสรองถูกเมินเฉยมาโดยตลอด ทางแก้คือเราต้องหยุดเพิกเฉยต่อประเด็นเหล่านี้ไง”
หนังของ ฌอน เบเกอร์ (Sean Baker) มักว่าด้วยชนชั้นแรงงานและกลุ่มคนชายขอบที่ดิ้นรนอยู่ในสังคม ไล่มาตั้งแต่คนขายบริการ กะเทย ไปจนถึงดาวโป๊ตกอับ และหนังยาวลำดับล่าสุดของเขาอย่าง Anora (2024) ก็ยังมีศูนย์กลางของเรื่องเป็นคนชายขอบของสังคม ตัวหนังส่งเบเกอร์คว้ารางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ได้เป็นครั้งแรก ถือเป็นหนังสัญชาติอเมริกันที่คว้ารางวัลนี้ได้นับจาก The Tree of Life (2011)
Anora พูดถึงชีวิตขึ้นสุดลงสุดภายในชั่วข้ามคืนของ อโนรา (แสดโดย ไมกี แมดิสัน) หรือที่เธอเรียกตัวเองว่า แอนนี สาวนักเต้นเปลื้องผ้าจากบรูคลิน เธอวาดหวังหาทางดิ้นรนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กระทั่งเจ้านายสั่งให้เธอซึ่งพูดภาษารัสเซียขั้นพื้นฐานได้ ไปให้บริการ อีวาน (แสดงโดย มาร์ค ไอเดลสไตน์) ลูกชายมหาเศรษฐีจากรัสเซียที่ดูเหมือนจะชอบพอแอนนีเข้าอย่างจัง จนจ้างวานให้เธอเป็นแฟนเขา 1 สัปดาห์เต็ม ออกเที่ยวผับด้วยกันทุกแห่ง และถึงขั้นบินไปยังลาสเวกัส ลงเอยที่เขาขอเธอแต่งงานเพื่อจะได้สัญชาติอเมริกัน ซึ่งเขามองว่าจะส่งผลดีต่อธุรกิจของครอบครัวในภายหน้า ชีวิตของแอนนีจึงกระโจนขึ้นจากฐานล่างของสังคมไปอยู่บนหอคอยชนชั้นบน
ชีวิตของทั้งคู่เป็นสุขจนกระทั่งว่า ข่าวลือเรื่องอีวานแต่งงานกับสาวปริศนา (แถมยังเป็นที่นินทากันในกลุ่มชาวรัสเซียในบรูคลินว่าเป็นสาวขายตัวอีกต่างหาก) หลุดไปถึงครอบครัวของอีวาน ซึ่งโกรธจัดจนมีคำสั่งฟ้าผ่ามาถึง โทรอส (แสดงโดย คาร์เรน คารากูเลียน นักแสดงเจ้าประจำของเบเกอร์) มือขวาชาวอาร์มาเนียนของครอบครัวอีวาน ให้ทำทุกทางเพื่อระงับการแต่งงานและพาทั้งคู่ไปทำเรื่องหย่าร้างอย่างถูกกฎหมาย
ในช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน อีวานที่เครียดจัดจากการถูกครอบครัวกดดันหนีเตลิดออกจากบ้านหรู ทิ้งแอนนีให้ต้องรับมือกับ การ์นิค (แสดงโดย วาเช โตฟมาสยาน) ลูกน้องชาวอาร์มาเนียนของโทรอสและอิกอร์ (แสดงโดย ยูระ บอริซอฟ) ชายชาวรัสเซียที่โทรอสจ้างมาให้ดูแลอีวาน และนับแต่นาทีนั้น แอนนีก็ต้องเผชิญข้อเท็จจริงอันขมขื่นว่า ชีวิตในฝันที่เธอวาดไว้นั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้จริงง่ายนัก
มองจากภาพใหญ่ Anora (2024) ก็ยังคงว่าด้วยคนชายขอบ ทั้งตัวละครที่เป็นนักเต้นเปลื้องผ้า หญิงขายบริการ และผู้อพยพที่ต้องมาเป็นมือเป็นเท้าให้มหาเศรษฐี ตัวละครทั้งหมดนี้ไม่มีความหมายใดๆ กับนายทุนชาวรัสเซียที่มีอำนาจบงการชีวิตของพวกเขาทุกมิติ โทรอสต้องทิ้งพิธีศีลจุ่มของครอบครัวกลางคันเพื่อตามหาอีวาน, ตัวละครพลัดถิ่นจากอาร์มาเนียและรัสเซียที่ต้องไล่ตามล้างตามเช็ดความวายวอดที่เด็กหนุ่มก่อไว้ รวมทั้งสาวชาวอเมริกันที่ชีวิตของเธอไม่ได้ดีเด่ไปกว่าผู้อพยพคนไหน เพราะเธอถูกผลักให้ลงเหวของความยากไร้อีกครั้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ตัวละครของเบเกอร์ต่อสู้ ดิ้นรนและขัดขืนต่อโชคชะตาโดยปราศจากการฟูมฟาย แอนนีรู้ดีว่าภาพฝันที่เธอวาดไว้มันเกินจริง และเธอก็ยอมรับชะตากรรมของเธอได้
ฉากท้ายๆ เมื่อความบ้าคลั่งทั้งมวลสงบลง สีหน้าทอดถอนหายใจนั้นเป็นเสมือนการยอมรับอยู่กลายๆ ว่า ชีวิตของคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเธอและใครต่อใคร ก็มีค่าเป็นแค่ของเล่นของคนรวยเท่านั้น และนี่ก็อาจเป็นข้อเท็จจริงที่เจ็บที่สุดที่เธอต้องรับให้ได้
เบเกอร์ได้ไอเดียนี้มาจากทีมงานที่ทำงานกับที่ปรึกษาของกลุ่มรัสเซีย-อเมริกัน ซึ่งดูเหมือนต้องรับมือกับความวุ่นวายยิ่งกว่าการทำงานกับชุมชนผู้ค้าบริการเสียอีก และข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ก็พาเบเกอร์ไปสู่การสร้างไอเดียว่าด้วยกลุ่มมาเฟียรัสเซีย, หญิงค้าบริการและการเป็นหนี้ แต่ด้านหนึ่งเขาพบว่า ตัวเองไม่อยากทำหนังว่าด้วยมาเฟีย
“ผมไม่ได้อยากทำหนังแก๊งสเตอร์ เลยพยายามแก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งคำถามว่า ตัวละครหญิงต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์แบบไหนบ้าง
“ผมประชุมซูมกับที่ปรึกษาคนที่ว่า ถามเขาว่า ‘ถ้าสมมติเธอแต่งงานกับลูกชายมหาเศรษฐีชาวรัสเซียล่ะ’ และที่ปรึกษาก็หัวเราะออกมาดังมากๆ จุดนั้นแหละที่ผมรู้ว่า ผมมาถูกทางละ เราบอกกันว่า ‘ได้เรื่องแล้ว ทีนี้ลองมาเขียนบทกัน’” เบเกอร์บอก
ว่ากันตามตรง พล็อตหนังที่ว่าด้วยสาวขายบริการตกถังข้าวสารด้วยการแต่งงานกับลูกชายมหาเศรษฐี ก็ดูเป็นพล็อตที่จำเจและสร้างมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และเบเกอร์เองก็ตระหนักถึงเรื่องนี้ดี
“ผมเลยต้องหาทางถ่ายทำให้มันออกมาต่างจากหนังฮอลลีวูดเรื่องอื่นๆ และทางที่ว่าคือ การมีกองถ่ายแบบกองโจรตามประสาหนังอิสระที่เต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย และพอคุณเจอข้อจำกัดมหาศาลขนาดนี้ มันก็จะบีบให้คุณคิดนอกกรอบไปเองแหละ” เขาเล่า
หนังเรื่องแรกของเบเกอร์คือ Four Letter Words (2000) จับจ้องไปยังชีวิตของชายหนุ่ม 4 คนที่อาศัยอยู่ในย่านชานเมืองของสหรัฐฯ หนังฉายให้เห็นลายเซ็นบางอย่างของเบเกอร์ตั้งแต่แรกๆ ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง, คนตัวเล็กตัวน้อยที่ไม่มีเป้าหมายใหญ่โต และความสามัญของชีวิต ก่อนที่เขาจะร่วมกำกับ Take Out (2004) กับโซว ชีฉิง (Tsou ShihChing) คนทำหนังชาวไต้หวัน-อเมริกัน จับจ้องไปยังผู้อพยพชาวจีนที่ใช้ชีวิตอย่างขมขื่น ทั้งเบเกอร์และโซวทำหนังทั้งเรื่องด้วยทุนเพียง 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และมันก็กลายเป็นที่รักของเทศกาลหนังทั้งหลาย เริ่มจากการฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลหนังสแลมแดนซ์ (Slamdance) และถูกเชิญให้ไปฉายในเทศกาลต่างๆ อีก 25 แห่งภายในปีเดียว
หนังสร้างชื่อของเบเกอร์คือ Tangerine (2015) ที่เขาเล่นท่ายากด้วยการใช้ไอโฟน 5s ถ่ายทำทั้งเรื่อง หนังว่าด้วยชีวิตสุดวายป่วงของ ซินดี ชื่อเต็มคือ ซินดี เรลลา (แสดงโดย คีทานา กีกี ร็อดริเกวซ) สาวค้าบริการข้ามเพศที่เพิ่งออกจากเรือนจำหลังเข้าไปอยู่ได้ 28 วัน อเล็กซานดรา (แสดงโดย มยา เทย์เลอร์) เพื่อนสาวที่เป็นคนค้าบริการทางเพศเหมือนกันบอกเธอว่า คนรักของเธอเพิ่งไปมีชู้เป็นหญิงแท้ที่ชื่อ ดีนาห์ (แสดงโดย มิกกี โอฮาแกน) ซินดีเลยบุกลุยหวังกระทืบทั้งผัวทั้งนางชู้ให้หายแค้น
ความวายป่วงของทั้งคู่เกิดขึ้นในวันคริสต์มาสอีฟ ขณะที่ซินดีตามล่าแค้นผัว อเล็กซานดราก็พบกับ ราซมิค (แสดงโดย คารากูเลียน) คนขับรถแท็กซี่ชาวอาร์มาเนียนที่หวังมีเพศสัมพันธ์กับเธอ ก่อนที่เขาจะต้องกลับไปใช้ชีวิตเคร่งศาสนาในครอบครัวเล็กๆ ของเขา
ฉากที่เลื่องลือที่สุดของหนัง (นอกเหนือไปจากฉากถ่ายแสงอาทิตย์ยามเย็นอันหมดจดของลอสแอนเจลิส) คือฉาก ‘ระเบิดลง’ ในร้านโดนัท เมื่อตัวละครทุกตัวที่แบกเอาความเคียดแค้นต่อผู้อื่นและต่อชีวิตตัวเองมาเจอหน้ากัน ก็เกิดเป็นสงครามขนาดย่อมที่มีตั้งแต่การด่าทอไปจนถึงการลงไม้ลงมือ
ขณะที่ลอสแอนเจลิสเป็นเมืองใหญ่และหรูหรา เบเกอร์ก็เลือกถ่ายทอดมันในแง่มุมเล็กๆ ที่แทบไม่เคยถูกบอกเล่าในโลกภาพยนตร์ ไม่ว่าจะร้านอาหารโทรมๆ อะพาร์ตเมนต์เล็กแคบ ไปจนถึงตรอกสกปรกที่คนขับรถแท็กซี่สนทนากับสาวขายบริการ พร้อมกันกับที่เขาถ่ายทอดความรุนแรงที่ตัวละครต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงด้านกายภาพที่พวกเขากระทำต่อกัน หรือความรุนแรงทางสายตาและความคิดที่คนอื่นมีต่อพวกเขา ทั้งคนที่เหยียดหยามอาชีพขายบริการ ไปจนถึงคนที่ดูถูกผู้อพยพ
“ผมอยากสำรวจเรื่องของคนค้าบริการทางเพศในแง่มุมที่หนังเรื่องอื่นๆ ยังไม่เคยสำรวจมาก่อน แถมเท่าที่รู้ ก็ไม่มีหนังเรื่องไหนพูดถึงพื้นที่การค้าบริการในลอสแอนเจลิสด้วย” เบเกอร์บอก “ไม่ต้องพูดถึงหนังที่มีตัวละครหลัก 2 คนเป็นคนขายบริการทางเพศเลย”
Tangerine อาจจะถือเป็นหนังขวัญใจเทศกาลหนังและเวทีรางวัลนอกกระแส ขณะที่หนังลำดับต่อมาของเบเกอร์อย่าง The Florida Project (2017) พาชื่อของเบเกอร์ไปในวงกว้างกว่านั้นเมื่อมันส่ง วิลเล็ม เดโฟ (Willem Dafoe) เข้าชิงออสการ์สาขาสมทบชายยอดเยี่ยม
หนังเล่าถึง มูนี (แสดงโดย บรูคลิน ปรินซ์ ที่เบเกอร์บอกว่า “เธอได้ใจผมสุดๆ เพราะเธอมีทุกอย่าง ทั้งความน่ารัก ไหวพริบ และความแก่นซนสุดๆ นั่นอีก”) เด็กหญิงจอมแก่นวัย 6 ปีที่อาศัยอยู่กับ ฮาลลีย์ (แสดงโดย บรีอา วีไนตี ที่เบเกอร์เจอเธอจากอินสตาแกรม) คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ดูเอาแน่เอานอนกับชีวิตไม่ได้ เธอเช่าห้องพักถูกๆ อยู่ในฟลอริดาโดยมี บ็อบบี (แสดงโดย เดโฟ) ผู้จัดการอาคารที่คอยเป็นหูเป็นตาดูแลมูนีและเด็กๆ ในอาคารอีกหนึ่งแรง หลังฮาลลีย์ถูกไล่ออกจากการเป็นนักเต้นระบำเปลือย เพราะปฏิเสธไม่ยอมมีเซ็กซ์กับลูกค้า และต้องอาศัยอาหารเหลือๆ จากร้านที่เพื่อนทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟไปพลาง ขายน้ำหอมเล็กๆ น้อยๆ ให้นักท่องเที่ยวไปพลาง และความเปราะบางของชีวิตนี่เองที่ทำให้พนักงานจากสังคมสงเคราะห์เข้ามาจัดการชีวิตเธอกับมูนี นำมาสู่ฉากอันร้าวรานในช่วงท้ายของเรื่อง
เบเกอร์ไม่ได้ประนีประนอมคนดูต่อตัวละครนัก เพราะเห็นได้ชัดว่าจริงๆ แล้วฮาลลีย์ก็แทบไม่มีความพร้อมจะดูแลเด็ก กระนั้นความรักที่เธอมีต่อมูนีและเด็กๆ ในย่านนั้นก็เป็นของจริง สิ่งที่ The Florida Project ชวนให้คนดูตั้งคำถาม คือท่าทีของรัฐต่อคนชายขอบแบบฮาลลีย์ ที่ร้อยวันพันปีไม่เคยอยู่ในสายตาของรัฐ ไม่เคยได้รับการเหลียวแลหรือแม้แต่มีตัวตน แต่ถูกตัดสินอย่างรวดเร็วว่าไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอในการจะเป็นแม่ คำถามคือแล้วรัฐเคยพยายามช่วยให้คนชายขอบเหล่านี้ ‘พร้อม’ อย่างไรบ้าง
หนังไม่ได้มอบคำตอบให้คนดู สิ่งที่มันทิ้งไว้ให้มีแค่สีหน้าแหลกสลายของมูนี กับการวิ่งหนีไปสู่โลกจินตนาการอันสมบูรณ์ที่เธอครอบครองไว้เพียงคนเดียว กับสายตาบาดเจ็บของลุงบ็อบบีที่รู้ดีว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้านั้นอยู่นอกเหนือกำลังที่เขาจะทำได้แล้ว
อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเรื่องราวของความแห้งแล้งและสิ้นหวัง The Florida Project กลับนำเสนอด้วยท่าทีรื่นเริงและสดใส ผ่านสีฉูดฉาดของอาคารกับเสื้อผ้าของตัวละคร ไปจนถึงสายตาอันไร้เดียงสาของเหล่าเด็กๆ ที่มองเมืองที่ถูกทอดทิ้งแห่งนี้ราวกับมันเป็นสนามเด็กเล่น
“ผมว่าเวลาคนทำหนังที่พูดถึงความยากจน ก็มักฉายภาพมันในแง่ของความสิ้นหวังสุดขีด ซึ่งมันไม่จริงเลย ทั้งยังปฏิบัติต่อตัวละครในเรื่องราวกับพวกเขาไม่ใช่มนุษย์” เบเกอร์บอก “ผมเลยอยากจับจ้องไปที่ความรื่นเริงของวัยเด็กซึ่งมันเป็นเรื่องสากลมากๆ เพราะไม่ว่าคุณจะมีปูมหลังแบบไหน วัยเด็กของคุณก็ต้องมีเรื่องสนุกทั้งนั้นแหละ”Red Rocket (2021) คือหนังยาวลำดับต่อมาของเบเกอร์ จับจ้องไปยังชีวิตสุดเซอร์ของ ไมกี (แสดงโดย ไซมอน เร็กซ์) อดีตดาราหนังโป๊ที่เคยไปเฉิดฉายอยู่ในลอสแอนเจลิส ก่อนจะกลับมายังบ้านเกิดที่เท็กซัสอันแสนไกลปืนเที่ยง เขาพยายามหางานทำให้เป็นชิ้นเป็นอันแต่ก็พบว่า ยากเย็นเหลือเกิน เพราะไม่มีใครอยากรับอดีตดาราโป๊เข้าไปทำงานด้วย ลงเอยที่ไมกีต้องหวนกลับไปทำงานเก่าๆ อย่างการขายกัญชา
เรื่องราวเริ่มวายป่วงมากขึ้นเมื่อเขาหวนกลับไปสานสัมพันธ์กับเมียเก่า (เพราะอาศัยบ้านเธออยู่) พร้อมกันกับที่พยายามตามจีบ สตรอว์เบอร์รี (แสดงโดย ซูซานนา ซอน) เด็กสาววัย 17 ปีที่เขาซื้อใจเธอด้วยกัญชา ไมกีพยายามยุให้เธอเลิกกับแฟน เพื่อมีเขาเพียงคนเดียว ความสัมพันธ์ของทั้งคู่งอกเงยเท่ากันกับที่ไมกีฝันจะกลับไปยังลอสแอนเจลิสอีกครั้งโดยมีสตรอว์เบอร์รีไปด้วย ซึ่งเขาหวังปั้นให้เธอเป็น ‘ดาวโป๊’ คนใหม่ที่จะพาเขาหวนกลับสู่ความรุ่งโรจน์ในฐานะ ‘ดาวโป๊ฝ่ายชาย’ อีกครั้ง
เช่นเดิมเบเกอร์ยังคงจับจ้องไปยังเหล่าคนชนชั้นแรงงาน คนตัวเล็กตัวน้อยในสหรัฐฯ บอกเล่าตัวละครที่ใช้ชีวิตพังทลาย ไม่อาจข้ามพ้นความสำเร็จตัวเองในอดีตได้ ทั้งตัวละครไมกียังเป็นตัวละครที่น่ารังเกียจอย่างเปิดเผย เขาพร้อมทำทุกทาง ไม่ว่าจะทอดทิ้งเพื่อน ทำลายคนรอบตัว เพื่อให้ตัวเองกลับไปยังจุดสูงสุดของชีวิตอีกครั้งให้ได้ แม้ในความเป็นจริงแล้วมันไม่ง่ายดายเช่นนั้นเลย
เบเกอร์ตั้งใจจะอุทิศหนังทั้งเรื่อง เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนทำงานค้าบริการทางเพศรวมทั้งดาราหนังโป๊ เพื่อขจัดอคติที่สังคมมีต่อคนทำอาชีพเหล่านี้ (อันจะเห็นได้จากความยากเข็ญของไมกีที่พยายามหางานสามัญทำในบ้านเกิด แต่ไม่มีใครตอบรับเขาเลย)
“ก็นะ งานค้าบริการมันเป็นหนึ่งในงานที่เก่าแก่ที่สุดของโลกเลยนี่นา” เบเกอร์บอก “แต่มันยังถูกประทับเป็นตราบาปหนักหนา ซึ่งผมว่าไม่ยุติธรรมเลย และผมก็อยากลดทอนความเลวร้ายของมันด้วย
“ผมว่ามันยากนะที่จะเป็นคนทำหนังในศตวรรษที่ 21 แลัวไม่ขับเคลื่อนประเด็นอะไรเลย ต่อให้ผมทำหนังในฌองอื่นๆ หรือหนังป็อปคอร์นดูเอาสนุก ผมก็ยังรู้สึกว่าตัวเองต้องรับผิดชอบต่อการแสดงความเห็นต่อยุคสมัย ต่อสิ่งแวดล้อมของเราอยู่ดี” เขาปิดท้าย
Tags: The Florida Project, Red Rocket, ฌอน เบเกอร์, People Also Watch, Sean Baker, Anora, Four Letter Words, Take Out, Tangerine