“ภาพยนตร์กระแสหลักมีลักษณะคล้ายภาพอุดมการณ์ของผู้คน เมื่อเราพิจารณาความเปลี่ยนแปลงของภาพยนตร์ฌ็องต่างๆ จะพบว่า ตัวเองกำลังศึกษาวิวัฒนาการทางจิตใต้สำนึกของผู้คนด้วย และภาพยนตร์เฮอร์เรอร์นั้นคือ ภาพฝันร้ายของพวกเรา” โรบิน วูด (Robin Wood) นักวิจารณ์ภาพยนตร์เคยกล่าวถึงภาพยนตร์ประเภทเฮอร์เรอร์ (Horror) ไว้เช่นนั้น
อีกทั้งงานวิจัย Spawn of Satan: Parenthood as Psychological Horror in Film ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2022 ก็มุ่งสำรวจภาพ ‘ฝันร้าย’ ของผู้คนผ่านภาพยนตร์เฮอร์เรอร์ และครอบครัวก็เป็นหนึ่งในแง่มุมที่งานวิจัยสำรวจไว้ โดยเสนอว่า ภาพยนตร์อเมริกันมักหมกมุ่นอยู่กับความเป็นครอบครัว ฉายให้เห็นโครงสร้างอันแข็งแกร่งและตายตัวของสถาบันเล็กย่อยที่สุดในสังคม ที่ต้องประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ซึ่งความสยดสยองของหนังเฮอร์เรอร์ส่วนใหญ่ ก็มักเริ่มขึ้นมาจากเรื่องภายในครอบครัวที่ ‘ทำลาย’ ภาพฝันครอบครัวอันแสนอบอุ่นของชาวอเมริกันนี่เอง
มีหนังมากมายที่พูดถึงความไม่ปกติของสถาบันครอบครัว ทั้งจาก The Exorcist (1973) เมื่อลูกสาวผู้อ่อนหวานและไร้เดียงสากลายเป็นปีศาจร้าย, Goodnight Mommy (2014) หนังสัญชาติออสเตรียที่เล่นกับประเด็นความไม่ไว้วางใจและความเป็นอื่นระหว่างแม่กับลูกชายฝาแฝด รวมทั้ง Hereditary (2018) ที่สำรวจความพินาศในครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่ง หลังคุณยายตายจากไป
ในหนังเฮอร์เรอร์ ตัวละคร ‘พ่อ’ ของบ้านยังถูกหยิบมาใช้ เพื่ออธิบายความวิกลจริตหรือความไม่ปกติของครอบครัวด้วย ด้านหนึ่ง ตามค่านิยมแล้วหน้าที่ของพ่อนั้นมักแนบติดมากับการเป็นผู้นำ และภาพของการปกป้องดูแลครอบครัว การที่ตัวละครพ่อกลายเป็นภัยคุกคามของบ้านจึงสั่นสะเทือน ‘ความเป็นบ้าน’ อย่างชวนขนหัวลุก พ่อไม่ใช่ผู้พิทักษ์ แต่พ่อเป็นภัยคุกคาม และน่าสนใจว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็มีภาพยนตร์เฮอร์เรอร์ที่พูดเรื่องความวิกลของพ่อ ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเข้าฉายพร้อมๆ กัน นั่นคือ Longlegs (2024) และ Trap (2024)
Longlegs เป็นผลงานการกำกับของ ออซ เพอร์กินส์ (Oz Perkins) ลูกชายแท้ๆ ของ แอนโทนี เพอร์กินส์ (Anthony Perkins) ยอดนักแสดงเฮอร์เรอร์แห่ง Psycho (1960) ตัวหนังเล่าย้อนกลับไปยังสหรัฐฯ ช่วงปี 1990s ลี ฮาร์เกอร์ (แสดงโดย ไมกา มอนโร) เจ้าหน้าที่ FBI หน้าใหม่เป็นที่จับตามองทันทีหลังเธอดูจะมี ‘สัมผัสพิเศษ’ เดาตำแหน่งหรือลักษณะเฉพาะของฆาตกรได้ เธอจึงถูกมอบหมายให้รับหน้าที่ไขคดีฆาตกรรมหมู่ที่กินระยะเวลานานหลายปี โดยแต่ละคดีนั้นมีจุดร่วมเหมือนกันไม่กี่อย่าง กล่าวคือ พ่อของครอบครัวเป็นผู้ลงมือกระทำด้วยความโหดเหี้ยมก่อนจะยิงตัวตายตาม, ลูกสาวหรือเหยื่อต้องเกิดวันที่ 14 และในทุกคดีจะมีจดหมายใส่รหัสฉบับหนึ่งทิ้งไว้ พร้อมแนบชื่อลงท้ายว่า Longlegs
หนังถูกพูดถึงหนาหูว่า มีลักษณะคล้าย Zodiac (2007) หนังโดย เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ต้องตามสืบคดีฆาตกรต่อเนื่องจักรราศี และ The Silence of the Lambs (1991) ในแง่ของการจับจ้องไปยังความวิปริต ขนลุกขนชันของมนุษย์ที่หัวจิตหัวใจบิดเบี้ยวโดยสิ้นเชิง แม้หนังจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ที่ตัดสินใจจะเลือกเฉลยปมต่างๆ ด้วยท่าทีง่ายดาย ด้วยการให้เป็นภาระของลัทธิบูชาซาตาน
แต่หากพินิจตัวหนังในแง่มุมความบิดเบี้ยวของสถาบันครอบครัว เมื่อพ่อในบ้านถูกสาปให้เป็นผู้ลงมือสังหารเมียและลูกตนเอง ตัวละครอย่างฮาร์เกอร์ก็โตมากับแม่เลี้ยงเดี่ยว หนังฉายให้เห็นระยะห่างที่เธอมีต่อแม่หรือบุคลิกผิดแผกจากคนอื่น ซึ่งขับเน้นความไม่เป็นหนึ่งเดียวกับสังคมของเธอ หนังยังตั้งคำถามถึงบาดแผลที่แม่ลูกมีต่อกัน การที่ตัวละครหญิงชิงชังต่อเรือนร่างตนเองและการตั้งครรภ์ การจับจ้องไปยังการเติบโตของลูกสาว ซึ่งในที่สุดก็จะต้องกลายเป็นแม่อีกคนในสถาบันครอบครัวที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องเป็นแม่ แม่ของฮาร์เกอร์จึงย้ำว่า ในวันเกิดของฮาร์เกอร์ เธอไม่เคยจำอะไรได้เลย นอกจากว่า วันนั้นเธอเลือดออกอย่างหนัก
นอกจากนี้ คำว่า Longlegs ยังชวนนึกถึงงานวรรณกรรมคลาสสิก Daddy Long Legs ของ จีน เว็บสเตอร์ (Jean Webster) ที่ว่าด้วยเด็กสาวผู้ติดต่อกับชายที่รับอุปการะเธอผ่านทางจดหมาย โดยเธอเรียกเขาว่า ‘คุณพ่อขายาว’ ซึ่งยิ่งขับเน้นบรรยากาศชวนขนหัวลุกของหนังที่ฆาตกรทิ้งจดหมาย ลงชื่อ Longlegs ไว้ในสถานที่เกิดเหตุ ตัวละครฆาตกรหมกมุ่นอยู่กับการสร้างตุ๊กตาเด็กผู้หญิงที่ไม่มีวันโต และเที่ยวมอบตุ๊กตาที่ว่านี้ให้ครอบครัวอื่นๆ จนนำไปสู่การสังหารหมู่ภายในบ้านทั้งหมด
มันอาจถูกตีความได้ถึงการทำใจยอมรับการเปลี่ยนแปลงของลูกสาวตนเองไม่ได้ การที่เห็นลูกเริ่มเติบโต ไม่ได้เป็นมนุษย์ภายใต้คำสั่งของตนอีกต่อไปแล้ว ฆาตกรต่อเนื่องยังมีลักษณะวิปริต อยู่บ้านเพียงลำพัง ปราศจากครอบครัว เป้าหมายสำคัญของเขาคือ การเข้าหาบ้านที่ดูสมบูรณ์ อบอุ่น และเพียบพร้อมตามค่านิยมการสร้างครอบครัวเป็นหลัก
จากหนังจะพบว่า แม้ตัวละครที่เดินหน้าทำลายล้างจะเป็น ‘แม่’ หรือผู้หญิง แต่เงื่อนไขสำคัญของการลงมือกระทำคือตัวพ่อ พ่อกลายเป็นคนแปลกหน้าคนแรกของบ้าน เป็นเหยื่อรายแรกที่ถูกซาตานชักจูง หรือก็คือภาพแทนความอ่อนไหว เปราะบางของสถาบันครอบครัวที่พังทลายลงอย่างง่ายดายเมื่อพ่อหรือความเป็นพ่อถูกทำลายทิ้งไป
ในอีกด้าน Trap หนังโดย เอ็ม. ไนต์ ชามาลาน (M. Night Shyamalan) ก็พูดเรื่องพ่อกับความเป็นครอบครัวด้วยท่าทีที่บันเทิงกว่ามาก คูเปอร์ (แสดงโดย จอช ฮาร์ตเน็ตต์) พนักงานดับเพลิง พาลูกสาวมางานคอนเสิร์ตใหญ่ยักษ์ของศิลปินเพลงป็อป ระหว่างนั้น เขาสังเกตเห็นระบบป้องกันความปลอดภัยที่ดูแน่นหนาผิดปกติ ก่อนจะทราบว่า คอนเสิร์ตทั้งหมดเป็นแค่แผนดักจับฆาตกรต่อเนื่องนาม The Butcher และเรื่องคงไม่เดือดร้อนมาถึงเขา หากว่าเขาไม่ได้เป็นเป้าหมายที่ทางการตามหาเสียเอง
จะว่าไป หนังก็เฉลยให้เห็นตั้งแต่ตัวอย่างและเรื่องย่อแล้วว่า คูเปอร์เก็บงำความลับอะไรไว้ ทั้งเรื่องจึงเป็นการตามติดการหาทางเอาตัวรอดของเขา ในฐานะฆาตกรต่อเนื่องที่ FBI ตามล่าตัว ไม่ว่าจะเป็นการแอบศึกษาเส้นทางลับต่างๆ ของอาคาร ดึงดันให้ลูกสาวตนเองได้ไปมีส่วนร่วมบนคอนเสิร์ต เพื่อจะได้แอบออกทางประตูด้านหลังที่สงวนไว้ให้แค่ศิลปินเข้าออกได้ หรือแม้แต่การเอาตัวรอดอันแยบยลของเขาในการตบตาคนใกล้ตัว
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจคือ คูเปอร์ใช้ภาพความเป็นพ่อที่ดีในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากพนักงานขายเสื้อปากสว่าง หรือการดันลูกสาวให้ได้ขึ้นบนเวทีในนามของพ่อผู้แสนดี ใบหน้าหนึ่งของคูเปอร์จึงเป็นใบหน้าของความเป็นพ่อในอุดมคติที่หน้าตาดี อุทิศเวลาให้ลูกสาว เป็นพนักงานดับเพลิงซึ่งเป็นอาชีพที่ช่วยเหลือผู้อื่นและได้รับการยกย่องเสมอ กระทั่งเมื่อส่วนเสี้ยวนี้พังทลายลง ครอบครัวของเขาจึงพังด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ และทำให้หนังทวีความเป็นหนังเขย่าขวัญขึ้นแทบจะในทันที
Eraserhead (1977) หนังยาวเรื่องแรกของเจ้าพ่อหนังฝันร้ายอย่าง เดวิด ลินช์ (David Lynch) ผู้ที่ล่าสุดออกมายืนกรานว่า แม้จะป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองเพราะสูบบุหรี่ แต่ก็จะไม่หยุดทำหนัง โดยพูดถึง เฮนรี สเปนเซอร์ (แสดงโดย แจ็ก แนนซ์) ชายที่อาศัยอยู่ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ที่เต็มไปด้วยสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมใหญ่ ไม่ว่าจะโรงงาน ฝุ่นควัน และเสียงเครื่องจักร ลินช์ยังทำให้คนดูรู้สึกถึงความหนักหน่วงของตัวละครผ่านการให้เขาใช้ชีวิตในห้องพักเล็กแคบ กับบรรยากาศชวนหายใจไม่ออกของตัวเมืองที่พร้อมบดขยี้คนตัวเล็กตัวน้อย
สเปนเซอร์ฝันว่า เขากำลังปล่อยน้ำเชื้อออกจากปากตนเอง และจะมีเพียงน้ำเชื้อที่แข็งแรงเท่านั้นที่จะเข้าไปถึงรังไข่ได้ ความเพี้ยนประหลาดคือ เขาดันทำผู้หญิงคนหนึ่งตั้งท้องเข้าจริงๆ แต่ที่เพี้ยนไปกว่านั้นคือ ทารกที่ถือกำเนิดมากลับมีหน้าตาแปลกประหลาดไม่เหมือนมนุษย์ ลินช์มอบภาพความเป็น ‘ครอบครัว’ อันบิดเบี้ยวด้วยการที่ให้สองผัวเมียต้องมาประคบประหงม ดูแลสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาให้กำเนิด พวกเขาต้องทนทุกข์กับเสียงกรีดร้องของเด็ก สเปนเซอร์รับมือและดูแลเด็กไม่ได้ เขาไม่อยู่ในสภาวะที่พร้อมเป็นพ่อหรือแม้แต่อยากเป็นพ่อ การมีครอบครัวเช่นนี้คือฝันร้ายสำหรับเขา จะว่าไป ก็ไม่แน่ใจนักว่า ฝันร้ายของสเปนเซอร์คือ การต้องเป็นพ่อเด็กหน้าตาเหมือนหลุดมาจากต่างดาว หรือแค่ ‘เป็นพ่อ’ ก็เป็นฝันร้ายสำหรับเขาแล้ว เพราะเขาไม่เคยปรารถนามัน
และการพูดถึงพ่อวิปริตในโลกภาพยนตร์ การไม่เอ่ยถึง The Shining (1980) ย่อมเป็นเรื่องผิดบาป หนังเขย่าขวัญในตำนานของ สแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) ดัดแปลงมาจากวรรณกรรมชื่อเดียวกันของ สตีเวน คิง (Stephen King) ว่าด้วยครอบครัว เทอร์เรนซ์ แจ็ก (แสดงโดย แจ็ก นิโคลสัน) พ่อและสามีที่เป็นนักเขียน แต่มีประวัติติดเหล้าและใช้ความรุนแรง รับงานไปเฝ้าโรงแรมใหญ่ที่ปิดทำการในฤดูหนาว เขาจึงหอบเอา เวนดี (แสดงโดย แชลลี ดูวัลล์ ผู้ที่เพิ่งล่วงลับ) เมียผู้แสนดีกับ แดนนี (แสดงโดย แดนนี ลอยด์) ลูกชายไปด้วย มองเผินๆ การไปใช้ชีวิตในโรงแรมใหญ่ที่มีเสบียงเพียบพร้อมและปลีกวิเวกจากผู้คน ก็ดูเป็นไอเดียที่เข้าท่าสำหรับพวกเขา กระทั่งเมื่อความโดดเดี่ยว เงียบเชียบเริ่มกัดกินแจ็ก สองแม่ลูกจึงต้องพยายามเอาชีวิตรอดให้ได้อย่างเร็วที่สุด
แม้หนังจะบอกชัดเจนว่า โรงแรมที่ครอบครัวเทอร์เรนซ์ไปพักนั้นเคยเกิดคดีฆาตกรรมขึ้น และเป็นไปได้ว่า วิญญาณลึกลับบางอย่างยังสิงสู่ในสถานที่แห่งนี้ ทว่าอีกด้านหนึ่ง หนังก็ถูกเอามาอ่านใหม่ว่า ปีศาจร้ายที่แท้จริงในเรื่องคือ ความโดดเดี่ยวสุดขีดจนคลั่งของโรงแรมต่างหาก ตัวละครถูกกักให้อยู่ในพื้นที่จำกัด ออกไปไหนไม่ได้เนื่องจากติดหิมะ พวกเขาสนทนากับตนเองทุกวัน เพราะไม่มีใครให้คุยด้วย โดยเฉพาะกับแจ็กที่เอาเข้าจริงแล้ว สภาพจิตใจค่อนข้างอ่อนไหวจากอาการติดเหล้า ท้ายที่สุดเขาก็วิปลาสไปโดยสิ้นเชิง
ว่ากันว่า ความสยองขวัญที่สัมผัสได้จากเรื่อง หาใช่ฉากที่เขาเอาขวานไล่จามหัวสมาชิกในบ้าน แต่เป็นภาวะของ ‘พ่อ’ ที่ตั้งหน้าตั้งตาทำร้ายเมียและลูกตนเองอย่างถึงที่สุด เพราะมันได้ทำลายภาพของครอบครัวในอุดมคติโดยสิ้นเชิง
อันที่จริงแล้ว ความหวาดหวั่นที่หนังเฮอร์เรอร์เหล่านี้สร้างขึ้น ก็ไม่ใช่เรื่องของภาพชวนสยดสยองหรือเขย่าขวัญ หากแต่เป็นความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัยที่ก่อตัวขึ้นมาจากสถาบันที่เราถูกปลูกฝังว่า ควรจะแนบแน่นและแข็งแรงที่สุดอย่างความเป็นครอบครัวต่างหาก
Tags: The Shining, People Also Watch, Trap, Longlegs, Eraserhead, ครอบครัวในหนังสยองขวัญ, พ่อในหนังสยองขวัญ, หนังสยองขวัญ