หลังจากเปิดสาขาที่สิงคโปร์ได้เพียงเดือนเดียว ‘อันหยังก็ได้ by เป็นลาว’ ก็ได้รับเลือกให้เป็นร้านแนะนำของมิชลินไกด์ สิงคโปร์ เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกินคาดของ เต้-พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้เริ่มติดเตาไฟให้กับ ‘เป็นลาว’ ตั้งแต่เริ่มต้น ด้วยร้านข้างทางริมถนนในเขาใหญ่ เพื่อสร้างอาชีพให้กับลูกน้องเก่าที่ตกงานมาจากฟาร์มเดิมที่เคยทำงานอยู่ด้วยกัน

“ดิฉันเชื่อว่าสังคมมันจะอยู่ได้เพราะการมีคนตัวเล็กๆ หรือการช่วยให้คนตัวเล็กมีที่ยืน” เธอบอกกับเราระหว่างที่กำลังเล่าถึงการเกิดขึ้นของ ‘เป็นลาว’ ร้านอาหารอีสานที่มีขนบเฉพาะตัว ทั้งเรื่องราวของอาหาร การจัดการที่ยืดหยุ่นกับตัวแปรรอบด้าน รวมถึงพนักงานในร้าน อันเป็นส่วนผสมที่มีเสน่ห์ของความบ้านๆ ที่คลุกเคล้ามาอย่างมีเอกลักษณ์ และความซื่อตรงต่อความเชื่อของตัวเอง จึงทำให้แบรนด์เป็นลาวมีความแข็งแรง จนขยับมาสู่การเป็นร้านอาหารอีสานที่มีแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ก่อนที่จะเกิดแฟรนไชส์ในบ้านตัวเองเสียอีก

และแน่นอนว่าการเดินทางของเป็นลาวย่อมมีทั้งช่วงที่ตกหลุมอากาศ เจอทางแยก ทางตัน และหนทางให้ไปต่อ ซึ่งบางครั้งทฤษฎีก็ไม่มีความหมาย

ถือว่าเร็วไหมกว่าเป็นลาวจะเติบโตมาจนถึงวันที่มีแฟรนไชส์อย่างวันนี้

ก็ไม่เร็วนะคะ ดิฉันอยากจะเล่าสตอรี่ของเป็นลาวสักนิดหน่อย ด้วยความที่ตอนนั้นดิฉันทำงานมูลนิธิอมตะ ของคุณวิกรม กรมดิษฐ์ และไปอยู่เขาใหญ่ ก็รู้สึกว่าที่นั่นเป็นที่ที่คนมีตังค์ทั้งหลายเขาไปอยู่กัน ส่วนเราเป็นคนตัวเล็กก็มองว่าทำยังไงดีที่จะไปอยู่แล้วให้คนท้องถิ่นรัก ประกอบกับดิฉันเคยทำงานที่ฟาร์มผักไฮโดรโปรนิกส์ที่สุวินทวงศ์อยู่ห้าปีก่อนออกมาทำงานกับคุณวิกรม หลังจากที่ดิฉันออก ฟาร์มนั้นยังดำเนินการต่อไปอีกห้าปี แล้วฟาร์มก็ปิด คนงานในฟาร์มที่เป็นคนอีสานทั้งหลายตกงาน ก็ร้องห่มร้องไห้อพยพมาเขาใหญ่ มาปรึกษากันว่าทำยังไงดี สงสารเขาก็สงสาร ดิฉันก็คิดว่าจะทำอะไรดีที่จะสามารถสร้างงานให้คนได้

มันป็นความคิดที่สวนทางกับคนส่วนใหญ่อยู่เหมือนกัน เพราะส่วนมากคนจะกลัวงานที่ต้องใช้คน ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าทำงานกับคนมีแต่ปัญหา แต่ดิฉันคิดกลับกัน เราชอบทำงานกับคน ก็คิดว่าทำร้านอาหารนี่แหละ มันใช้คนเยอะดี เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นของเป็นลาวก็คือ อยากสร้างงานให้กับลูกน้องเก่าที่ตกงาน ซึ่งก็เป็นลุงๆ ป้าๆ กันแล้ว

ตอนที่เริ่มต้น เขาใหญ่มีภาพที่ต่างไปจากทุกวันนี้แค่ไหน

เขาใหญ่เมื่อ 16-17 ปีที่แล้วไม่มีอะไรเลย ยังไม่มีสิ่งก่อสร้าง แมวก็ไม่ค่อยเดินผ่าน ดิฉันไปขอกับคุณวิกรมว่าจะทดลองทำอาหารขาย ปักร่มขายกันที่ร้านคอฟฟีมาเนียเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ เริ่มจากขายปลาช่อนเผาห่อใบยอ ไก่ย่าง เป็นร้านริมทางง่ายๆ เลย เราก็พบว่ามันได้นี่นา ทดลองได้หกเดือนก็ไปหาคุณวิกรมอีก บอกว่าจะขอที่เพื่อเริ่มทำร้านอาหาร คุณวิกรมบอก เจ๊งแน่ๆ เลย เธอติดป้ายไว้เลยนะ หกเดือนเจ๊ง ดิฉันขนลุกซู่เลยนะ มหาเศรษฐีเจ้านายเราบอกว่าเจ๊งนี่มันจะยังไง

ผู้ใหญ่ก็ทักแล้ว แต่ตัวคุณเองมองอย่างไรถึงคิดว่าทำได้ ไปรอด

บ้านเราอยู่ตรงนั้น เราต้องไปๆ กลับๆ เขาใหญ่ และเราเป็นคนชอบกินส้มตำ ดังนั้นก็กระเป๋าซ้ายกระเป๋าขวาอยู่ดี และตอนนั้นเขาใหญ่ยังไม่ค่อยมีร้านอาหาร ส่วนหนึ่งคิดว่าตัวเองเลือกถูกที่เลือกอาหารอีสาน เพราะตัวเองชอบกินส้มตำไม่ใส่ผงชูรส ฉะนั้นเราก็เน้นแซบสะอาด และถึงแม้ว่าเราจะทำอาหารไม่เป็นเลย แต่เรารู้วิธีการจัดการว่าเราจะทำงานกับลุงๆ ป้าๆ ยังไง

เรื่องหนึ่งที่ดิฉันว่ามันชัดเจนมากคือการบอกตัวตนของเราว่าเราคืออาหารอีสาน และอยู่ที่ประตูสู่อีสาน ที่เราเลือกใช้ชื่อคือ ‘เป็นลาว’ ส่วนสำคัญคือคุณย่าทวดของดิฉันเอง ตอนเด็กๆ มักได้รับการเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า ทวดๆ มาจากเวียงจันทน์นะ ดิฉันก็มีความภูมิใจในความเป็นลาว ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าสังคมไทยค่อนข้างจะดูถูกคนลาว เสี่ยวบ้างอะไรบ้าง แต่เราก็เป็นลูกอีสาน คุณพ่อเป็นคนอีสาน เออ มันก็ไม่ได้แย่นี่นา งั้นประกาศตัวตนชัดเจนไปเลย เป็นลาวนี่แหละ เอาความเป็นตัวตนของเราออกมา อีกอย่างหนึ่งถ้าเราอ่านทฤษฎีเยอะๆ เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ ชื่อร้านมันไม่ควรเกินสองพยางค์ไง ดังนั้นเลยมาลงตัวที่ชื่อนี้ แล้วดิฉันขอคุณวิกรมว่าขอที่พักให้พนักงาน เราเริ่มมาไม่กี่คนหรอก แล้วธุรกิจนี่นะคะ พอพ้นสามปีมันจะอยู่ได้ ทั้งที่ตอนแรกเราไม่ได้คิดเรื่องธุรกิจเลยนะ แต่กลายเป็นว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เราทำเป็นฮอบบี้ในตอนแรก มันจะเวิร์กเสมอ ดังนั้นไม่ต้องเก่งคำนวณมาก (หัวเราะ)

แต่ร้านส้มตำในแถบเขาใหญ่ก็มีเยอะ ร้านใหญ่ๆ เจ้าดังๆ ก็มีอยู่ อะไรที่เป็นตัวดึงดูดลูกค้า

จะว่าไปเราไม่ได้คิดถึงเรื่องคู่แข่งเลย ไม่คิดว่าดึงใครไม่ดึงใคร เราอยากทำก็ทำ เรามองเรื่องคน ตลอดชีวิตที่ผ่านมาจะห้าสิบแล้ว ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ตีความเป็นตัวเอง เป็นดีเอ็นเอเราชัดมาก คือเรื่อง Investing People ดิฉันไม่มีครอบครัว ไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก แต่ก็มีลูกชายที่รับมาอุปการะ แล้วก็มีน้องๆ ที่เราอยู่เบื้องหลัง ทำการสนับสนุนพวกเขาทุกรูปแบบที่เราทำได้

เวลาเจอเด็กรุ่นใหม่ ดิฉันมักจะชอบถามเขาอยู่เสมอว่าอยากทำอะไร ฝันอะไร แล้วดิฉันเชื่ออยู่เสมอว่าคนเราต้องรับผิดชอบความฝันของตัวเอง คนส่วนใหญ่มักจะมีข้ออ้าง ความคิดดี แต่ก็จะมีข้ออ้าง เรื่องทุนบ้างล่ะ รอเก็บเงินก่อน แล้วเมื่อไรล่ะ แต่เราเป็นคนที่มีวิธีคิดกลับหัวอยู่ตลอดเวลา ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะชอบอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์ เล่มที่ชอบมากๆ คือ ‘นายธนาคารเพื่อคนจน’ ของมูฮัมหมัด ยูนุส แล้วก็วิธีคิดของกรามีน แบงค์ (ธนาคารกรามีน ในบังกลาเทศ ที่ให้สินเชื่อแก่คนจนที่ไม่มีหลักประกัน เพื่อให้ผู้ยากไร้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้) ที่เหมือนแบ่งซองกฐิน หรือคิดแบบคนตัวเล็ก

ตอนเด็กๆ มักได้รับการเล่าให้ฟังอยู่เสมอว่า ทวดๆ มาจากเวียงจันทน์นะ ดิฉันก็มีความภูมิใจในความเป็นลาว ในขณะเดียวกันเราก็รู้ว่าสังคมไทยค่อนข้างจะดูถูกคนลาว แต่เราก็เป็นลูกอีสาน มันก็ไม่ได้แย่นี่นา งั้นประกาศตัวตนชัดเจนไปเลย

พอเราทำบริษัทตัวเอง คติของเราก็คือ ‘We are small people with big inspiration.’ ซึ่งตรงนี้สะท้อนความเป็นตัวเรามากๆ ดิฉันเชื่อว่าสังคมมันจะอยู่ได้เพราะการมีคนตัวเล็กๆ หรือการช่วยให้คนตัวเล็กมีที่ยืน ในโลกนี้เราไม่ต้องไปพูดถึงคนตัวใหญ่หรอก เขายืนได้อยู่แล้ว เขาล้มเดี๋ยวเขาก็ลุกง่าย แต่คนตัวเล็กล้มแล้วลุกยาก ถ้าฐานมันไม่แข็ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราค้นพบก็คือ นอกจากฐานคิดด้านการศึกษาแล้ว คุณต้องเป็นคนมีเพื่อน ดังนั้นคุณทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ ต่อให้คุณเริ่มจากความรัก แพสชั่น หรืออะไรก็ตาม คุณต้องมีเพื่อนเยอะๆ ด้วย แต่โชคดีคือเราเป็นคนเดินทางตั้งแต่เรียนจบ เลยทำให้ไม่ค่อยยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น ฉะนั้นเวลาจะทำธุรกิจเราก็ไม่ได้ยึดติดว่าเราจะต้องได้กำรี้กำไรมากมาย

นักธุรกิจที่มาลงทุนที่เขาใหญ่มักพูดตรงกันว่า เขาใหญ่เป็นเมืองปราบเซียน คุณคิดอย่างนั้นไหม

มันหกเดือน low หกเดือน high น่ะ เราจะต้องทำให้หกเดือน high นี้ทำเงินได้ครอบคลุมหกเดือน low นั้นด้วย ซึ่งห้าปีแรกมันไม่มีทางทำได้ แล้วที่ทำตอนแรกๆ เราอยากหยุดร้านไว้ที่สเกลเล็กๆ เพราะเราก็อยากจะคุยกับลูกค้าเอง อยากจะจัดดอกไม้เอง แต่ปรากฏว่าพอมีความรับผิดชอบมากขึ้น มีลูกน้องมากขึ้น ก็ไม่ได้แล้วสิ เราจะไปตัดตอนเป็นบอนไซก็ไม่ได้ ขนาดของเป็นลาวมันเลยโตขึ้นเอง แล้วเจ้านายเก่าก็เคยพูดว่า เธอสังเกตสิ ต้นไม้มันไม่เคยหยุดโตนะ เพียงแต่มันอาจจะโตช้าลง ยกเว้นมีคนเอาน้ำร้อนไปราดมัน

แต่ทำธุรกิจที่เขาใหญ่นี่มันปราบเซียนมากๆ มันไม่ใช่หัวหิน พัทยา หรือเชียงใหม่ มันไม่มี traffic weekday เวลาของเขาใหญ่มีแค่ศุกร์เย็น เสาร์เต็มวัน กับอาทิตย์อีกครึ่งวัน ฉะนั้นใน 365 วัน เวลาที่ทำเงินจริงๆ มีแค่ 60 กว่าวันเท่านั้น ถามว่าดิฉันเอาตัวเลขนี้มากจากไหน ง่ายมากเลย ประเทศไทยมีวันหยุดนักขัตฤกษ์ 14 วัน บวกอีก 52 สัปดาห์ ที่ไม่ได้คูณสองนะคะ เรานับได้แค่วันเดียวคือวันเสาร์ ฉะนั้นแน่ๆ เลยคือเรามี 66 วันต่อ 365 วัน แล้วคุณจะบริหารธุรกิจยังไง

แล้วคุณบริหารอย่างไร กับ 66 วันที่จะเป็นวันทำรายได้ เพื่อให้อยู่รอดปลอดภัยทั้ง 365 วัน

เราจัดการตรงนี้ด้วยระบบอาสาสมัคร เพราะอาสาสมัครจะมาเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ จะมีกลุ่มไลน์ที่ลงชื่อกันว่าอาทิตย์นี้ใครมา ฉะนั้นตรงนี้ก็จะเป็นรายจ่ายที่ไม่ใช่ fixed cost  รายจ่ายที่ตายตัวก็จะมีเฉพาะพนักงานประจำ และเสาร์อาทิตย์ก็จะมีเด็กที่ทำงานพิเศษด้วย เลยทำให้เราอยู่รอดปลอดภัยมาจนทุกวันนี้

แบรนด์เรามีความชัดมากในเรื่องการเป็น Community Restaurant หรือร้านอาหารเพื่อชุมชน เราทำงานกับคนสามวัย บวกอาสาสมัคร คนสามวัยคือวัยสูงอายุ 55 ขึ้นไป ซึ่งเขาจะเต็มเปี่ยมไปด้วยประสบการณ์ด้านอาหาร วัยทำงานก็ 20-55 คือวัยที่พร้อมจะลงแรง กับวัยเด็กที่เขาจะเป็นวัยของการเรียนรู้เพื่อสืบสานต่อ เด็กกลุ่มนี้จะยังเป็นเด็กที่เรียนหนังสืออยู่แล้วมาทำพาร์ตไทม์ มีตั้งแต่มัธยมฯ ไปจนมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นลูกหลานของชุมชนแถวนั้น เวลาสัมภาษณ์คนทำงานดิฉันจะคุยเอง เพราะอยากฟังทัศนคติ อยากรู้ว่าเด็กถูกบังคับมาหรือเปล่า เด็กอยากได้อะไร ส่วนใหญ่แล้วเด็กอยากจะช่วยพ่อแม่ เด็กต่างจังหวัดนี่ดีนะ เขาจะมีความรู้สึกเห็นพ่อแม่ลำบาก ทำงานเงินเดือนแปดพัน หนึ่งหมื่น เขาก็อาจจะอยากเก็บตังค์เพื่อซื้อของที่เขาอยากได้เอง

ส่วนอาสาสมัครคืออาชีพใดก็ได้ที่อยากค้นพบตัวเอง เพื่อนฝูง หรือจะเพื่อนของเพื่อนของน้องก็มาเถอะ ซึ่งคนกลุ่มนี้เขาทำงานประจำกัน แล้วเขามาหาเราวันเสาร์อาทิตย์ แต่เราไม่มีเวลาคุย ก็มาช่วยกันทำงานก่อน เดี๋ยวตอนเย็นเราจะดื่มด้วย เพราะพวกเราเป็นคนชอบสังสรรค์เฮฮา ทีนี้ดิฉันก็เลยตั้งกฎของร้านว่า ใครก็ตามที่มาลงฟลอร์ทำงาน คนนั้นถือเป็นอาสาสมัครนะ และจะได้ค่าจ้างตามหน้าที่ในวันนั้น เช่น วันนี้อยากจะเก็บแก้วเก็บจาน ก็อาจจะได้สามร้อย หรือหน้าที่ที่โหดที่สุดคือรีเซพชั่น รับคิวในหน้าเทศกาล อันนั้นคุณเอาไปเลยหนึ่งพันบาท แต่จริงๆ แล้วเขาไม่ได้อยากได้เงินหรอก แค่อยากมาคลุกคลี อยากมาช่วยงาน รอว่าเมื่อไรดิฉันว่างก็จะได้คุยด้วย

โหดที่สุดของหน้าที่ในร้านอาหาร ไม่ใช่ในครัวหรอกหรือ

ที่รีเซพชั่นโหดสุดก็เพราะว่าเขาต้องจัดการกับความหิวของมนุษย์ หน้าเทศกาลคิวมันเยอะไง ดังนั้นน้องๆ ที่มาหาเราก็เลยกลายเป็นอาสาสมัครกันทั้งหมดเลย (หัวเราะ) พอตกเย็นหมดแรงเราก็ดื่มกัน แล้วดิฉันก็เริ่มเห็นช่องทางว่า เวลาทำงานเราต้องกินอาหารเช้า ถ้าเราเข้าร้านตอนเช้าแม่ครัวก็จะถูกรบกวน เพราะเขาต้องทำอาหารให้คุณเต้กับเพื่อนๆ ก่อนจะลงฟลอร์ทำงาน ทีนี้ที่เขาใหญ่นี่ไม่ค่อยมีอาหารเช้าดีๆ ทานนอกจากในโรงแรม ก็เลยพบว่าเราควรจะทำอาหารเช้าดีๆ กินกันดีกว่า เลยตั้งร้าน ‘อันหยังก็ได้’ ขึ้นมา เพราะตอนนั้นเราทำแบรนด์เป็นลาวแล้วคนติดชื่อเราแล้ว ขยับยาก ก็เอาอันหยังก็ได้นี่แหละ มีความเป็นเราที่สุด ไม่สมบูรณ์แบบและยืดหยุ่นมาก

อันหยังก็ได้เป็นแบรนด์ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อความผ่อนคลายของเราโดยเฉพาะ เราจะได้สร้างสรรค์อาหารใหม่ๆ สมมติว่าอยากทำฟิวชั่นอีสาน ก็ทำได้ แต่ก็ยังไม่ทิ้งรากของความเป็นลาว เพราะชื่ออันหยังก็ได้ เป็นทั้งภาษาเหนือและภาษาลาว แล้วเราก็ติ่งไว้หน่อยว่า by เป็นลาว แก่นแกนเหมือนเดิม คือความเป็นเราที่ทำงานกับคนสามวัยบวกอาสาสมัคร

การพยายามเลือกใช้วัตถุดิบในชุมชนก่อน ถือว่าเป็นแก่นของเป็นลาวด้วยหรือเปล่า

ถูกค่ะ คือโดยส่วนตัวดิฉันเป็นคนชอบกินผัก ก็อยากจะรู้ว่าผักนี่มาจากไหน มันโอเคมั้ย ซิกเนเจอร์อย่างหนึ่งของเป็นลาวก็คือมีสเตชั่นผักให้ลูกค้าตักเลย ชอบกินอะไรก็ให้ลูกค้าเลือกเอาเลย และไม่เป็นคนคิดเล็กคิดน้อย บางทีเวลาเราไปกินข้าวร้านไหน ขอผักเพิ่มแล้วเขาคิดตังค์ ไม่ใช่ว่าเราจ่ายไม่ได้นะ แต่เราก็รู้สึกไม่ดีนิดหนึ่ง

แต่ฟังดูเหมือนทีมงานของร้าน ไม่มีใครที่มีทักษะทางด้านร้านอาหารมาโดยตรงเลย

ไม่มีใครเรียนจบสายการโรงแรมและอาหารสายแข็งเลย ทุกคนเปลี่ยนตัวเองเป็น multi-task people ทั้งสิ้น นี่คือมนุษย์พันธุ์ที่เราทำมาเป็นเวลาเนิ่นนาน วัฒนธรรมองค์กรของเรา เราเรียกมันว่าการลงฟลอร์ หุ้นส่วนทุกคนต้องลงเวลาว่าใครจะมาทำงานตอนไหนยังไง คุณจะเดินทางไปไหนก็ได้ในหนึ่งเดือน จะหนึ่งอาทิตย์ จะสิบวัน แต่ที่เหลือคุณต้องลงฟลอร์ เพราะว่าธุรกิจการบริการมันคือการที่คุณต้องเจอลูกค้า คุณต้องแก้ปัญหาหลังครัว คุณต้องคุยกับลูกน้อง คุณต้องให้กำลังใจพนักงานเสิร์ฟ มันไม่ใช่งานที่ตัวคุณจะไม่อยู่

โอเค บางคนอาจบอกว่าดูร้านจากกล้องวงจรปิดก็ได้ แต่ถ้าคุณอยู่ในร้านด้วย คุณจะเข้าใจและแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ดิฉันให้ความสำคัญกับตรงนี้มาก อาจจะด้วยเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ และคิดว่ามันเป็นดีเอ็นเอที่เราสร้างร้านนี้ขึ้นมา

สมัยที่ร้านเราเล็กมากๆ สิ่งที่ดิฉันชอบที่สุดคือการออกมาทำงานกับเด็กๆ กับป้าๆ ลุงๆ ที่ร้าน ได้มาเจอกับลูกค้า มันทำให้เรามีความสุขมากๆ นี่แหละเป็นแก่นที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ดิฉันคิดว่าเป็นลาวประสบความสำเร็จ  เพราะการออกมาเจอลูกค้าเอง เราสามารถสร้างบรรรยากาศ สร้างซิกเนเจอร์ของร้านเราด้วยตัวของเรา คือการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า การได้พูดคุย และเราสามารถสร้างฐานลูกค้าเกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่เป็นลูกค้าประจำที่อยู่เขาใหญ่

หรืออย่างแม่ครัวหลักที่เติบโตด้วยกันมา คือพี่ราตรี เขาเป็นลูกน้องเก่าของดิฉันที่ฟาร์มมาก่อน น่ารักและเก่งมาก เขาไม่ได้จบจากโรงเรียนหรือสถาบันไหนมา แต่ดิฉันพบว่าความซื่อสัตย์ของเขาเกินร้อย โอเค เขาอาจจะขาดหลักทฤษฎีไปบ้างในการจัดเก็บ แต่ประสบการณ์ก็ช่วยเขาได้ ร้านเรามีความเป็นครอบครัวกันค่อนข้างสูง ญาติโกโหติกาก็ทำด้วยกันหมด ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่เขาจะไม่กล้ารับ เพราะว่าเดี๋ยวถ้ามีใครออกนี่พากันออกหมดเลย แต่ว่าเราก็พบว่าเลือดเก่าเลือดใหม่ถัวๆ กันไปก็ไม่เป็นไรนี่ แม่ครัวรุ่นลุงๆ ป้าๆ ที่ยังยืนทำงานอยู่ทุกวันนี้คือคนเก่าแก่ทั้งหมด ดิฉันโชคดีเรื่องคน ร้านเราก็เลยไม่เคยมีปัญหาเรื่องการขาดคน และกล้าพูดว่าเรามีพนักงานต่างด้าวแค่สองคนเท่านั้นจากจำนวนสัดส่วน 70 คน

ร้านเราตอนนี้อายุมากสุดถ้าไม่นับคุณพ่อซึ่งเป็นที่ปรึกษาคือ 86 ที่อยู่ในครัวตอนนี้คือ 68 มีหน้าที่หุงข้าวเหนียว บางทีลูกค้าบ่น ทำไมข้าวเหนียวร้านนี้มันออกมาช้า เราก็เอ่อ ก็เขาบรรจงน่ะนะ ห่อใบตองอย่างดี แล้วใส่ลงกระติ๊บอีกที คนแก่น่ะ ไปเร่งไม่ได้ (หัวเราะ) แต่เราก็จะส่งเด็กไปประกบช่วย ตายไปก็สองสามคนแล้ว เผากันไป

แล้วช่วงโลว์ที่คนไม่เที่ยวเขาใหญ่ คุณอยู่กันอย่างไรกับรายได้ที่มีเข้ามาไม่มาก

เราอยู่กันยากมาก แต่เราก็จัดการให้อยู่ได้ โชคดีว่าเรามีบ้านพักฟรีให้พนักงาน เรามีอาหารอยู่แล้วสองมื้อ เจ็บป่วยดูแล ฉะนั้นปัจจัยสี่ที่เป็นพื้นฐานนี่เราดูแลค่อนข้างดี เพราะดูจนถึงตายก็เผา ฉะนั้นอย่างน้อยที่สุดลูกน้องที่ทำงานกับเราเขามีความมั่นใจว่าเราไม่ทิ้งเขาแน่นอน ถ้าเกิดเรามีปัญหาด้านการเงิน จ่ายเงินเดือนไม่ทัน เราสามารถแบ่งจ่ายได้ นั่นคือวิธีที่เราจัดการ และในฐานะที่เป็นผู้บริหาร เราจะเห็นความสำคัญของคนตัวเล็กก่อน ก็เป็นวิธีคิดแบบยืดหยุ่น แต่ส่วนหนึ่งก็พบว่าน้องๆ ที่มาทำงานให้ทั้งหมดในส่วนบริหารจัดการ ทุกคนก็เป็นฟรีแลนซ์ในงานตัวเอง ไม่ได้มีใครเป็นพนักงานประจำที่ได้เงินเดือนทางเดียว มันเป็นองค์กรประหลาดๆ อย่างดิฉันเองก็มีรายได้จากทางอื่น ดังนั้นถ้าร้านนี้ยังไม่สามารถจ่ายเงินเดือนเราได้ เราก็พออยู่ได้

จากที่คิดว่าจะเปิดเพียงร้านเล็กๆ แต่วันนี้เป็นลาวมีแฟรนไชส์ไปเปิดถึงสิงคโปร์ นี่เป็นแผนที่คิดเอาไว้หรือแค่เรื่องบังเอิญ

(หัวเราะ) จะว่าไป พอเราได้ทำธุรกิจอะไรก็แล้วแต่ เราจะมองเห็นโอกาสเต็มไปหมดเลย เพราะเราอยู่กับมันทุกวัน มีคนมาถามทุกวัน อยากให้ไปเปิดตรงนั้นตรงนี้จังเลยค่ะ ซึ่งเรามองว่าถ้าเราขยายกิจการเอง เราต้องใช้เงินมหาศาลเลยนะ แล้วเขาใหญ่ไม่ได้เอื้อให้เราเก็บเงินเก็บทองอะไรได้มากหรอก มันก็เลยเป็นนโยบายของคณะกรรมการบริษัทด้วยว่า ถ้าอยากขยายก็ต้องขายแฟรนไชส์

พอได้ข้อสรุปแบบนั้น ดิฉันก็ไปเที่ยวไปดูงานแฟรนไชส์ต่างๆ แล้วเราก็พบว่ามันต้องมี SOP คือ Standard Operation Procedures ง่ายๆ ก็คือคู่มือน่ะ เราก็ตายแล้ว เคยให้หุ้นส่วนไปยืนถ่ายวิดีโอป้าทำกับข้าว กว่าจะเขียนสูตรออกมาเป็น recipe card ก็เกือบตาย เพราะว่าคนแก่ๆ เขาไม่ได้มาชั่งตวงวัด แล้วช้อนหนึ่งของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกันนะ จะปาดช้อนมั้ยหรือไม่ปาด ปล้ำอยู่เป็นปีก็ไม่สำเร็จ แต่เราก็พบว่าเขามีความแม่นยำมากในการปรุง รสอาหารก็ไม่เพี้ยน

พอปรึกษากูรูทั้งหลาย เขาก็บอกว่าเราจะขายแฟรนไชส์ไม่ได้หรอกถ้าไม่มีร้านต้นแบบจำนวนสามร้าน แล้วมันก็ต้องใช้เงินจ่ายค่าที่ปรึกษาเยอะถ้าเราอยากจะทำระบบ ซึ่งคำว่าระบบมันก็กัดกินสำหรับคนตัวเล็กนะ ถ้าจะต้องระดมทุนก็ต้องใช้ไม่ต่ำกว่าห้าล้าน ถ้าอยากทำสาขาก็ต้องใช้สิบห้าล้าน ซึ่งเราไม่สามารถเบียดบังเงินจากเขาใหญ่ได้ ดิฉันเลยคิดใหม่ วันดีคืนดีชวนน้องหุ้นส่วนคนหนี่งไปสิงคโปร์กัน อยากรู้ว่าคนอื่นเขาขายแฟรนไชส์กันยังไง

ทำไมคุณถึงคิดว่าจะได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้จากสิงคโปร์

สิงคโปร์เป็น hub ของการขายแฟรนไชส์ในเอเชีย หรือแทบจะในโลกด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเขาจะมีสูตร มีทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ที่เราอยากล้วงตับ ในความเป็นจริงเรารู้จากเมืองไทยแล้วระดับหนึ่ง สมมติง่ายๆ ถ้าเราอยากเป็นแฟรนไชส์ของร้านกาแฟสักแบรนด์ เราก็ติดต่อบริษัทไป ก็จะมีเอกสารที่บอกกับเราว่าคุณต้องลงทุนเท่านี้ มีโลเกชั่น แต่สำหรับเราแบบนั้นมันยังไม่โดนใจ เลยคิดว่าถ้าเราจะครีเอตของเราขึ้นมาเอง เราต้องรู้ว่าในระดับอินเตอร์เนชั่นแนลเขาทำกันยังไง และวิธีการที่ดีที่สุด ใกล้ที่สุด ก็คือไปสิงคโปร์

เราเสิร์ชกันว่ามีร้านไหนเก๋ๆ ที่เป็นท็อปเทน ก็เห็นว่ามี Wild Honey ที่เป็น all day breakfast เราไปกินแล้วทิ้งนามบัตรเอาไว้ว่า ถ้าสนใจจะซื้อแฟรนไชส์มาเปิดที่เมืองไทยต้องทำยังไงบ้าง ปรากฏว่ากลับมายังไม่ถึงเมืองไทยเลย อีเมลมาแล้ว ก็นัดหมายกันว่าอีกสัปดาห์หนึ่งดิฉันจะไปสิงคโปร์ ในวงเล็บก็คือ เพราะฉันอยากรู้ว่าเธอจะขายของฉันยังไง

คืออยากจะล้วงโมเดลของเขา

ใช่ค่ะ เมื่อไปก็ได้เจอกับซีอีโอของเขา คือบริษัท Lu Win ในภาษาจีน ลู่คือถนน ชื่อบริษัทจึงมีความหมายว่าถนนสู่ชัยชนะ วันที่นัดพบและกินข้าวกันที่ไวลด์ ฮันนี่ เขาไม่ได้พูดหรอกว่าเขาขายเท่าไร แต่สิ่งหนึ่งที่ได้โอกาสก็คือ เขาแนะนำตัวเขา เราแนะนำตัวเรา แล้วเราก็เปิดเลยว่า เราเป็นใคร ทำอะไร บอกเขาว่าทำร้านอาหารอยู่เขาใหญ่ เขาถามเลย Where is Khao Yai? เพราะทุกคนรู้จักแต่พัทยา ภูเก็ต หลังจากนั้นอีกสัปดาห์หนึ่งเชื่อไหม เขาขนทีมเขามาเขาใหญ่ ไปกินข้าวที่เป็นลาว ดิฉันงงเลย จะเอาจริงเหรอ เพราะดิฉันตั้งใจจะไปล้วงตับเขา อยากได้โมเดลว่าในโลกนี้เขาขายแฟรนไชส์กันยังไง ปรากฏว่าเขากลับมาสนใจเราแทน แล้วเรายังไม่มี SOP เลย แต่ก็ทำใจดีสู้เสือ

วันที่เขามาชิมอาหารเราก็จัดเต็ม ส่วนเขาพอชิมเสร็จเขาก็ลังเล (หัวเราะ) เขาไม่คุ้นกับปลาร้าไง เราก็เผื่อใจไว้แล้วว่าดีลน่าจะล้ม เขาอาจจะอยากเปิดร้านอาหารไทยๆ แต่บังเอิญช่วงที่ผ่านมาอาหารอีสานมันเป็นเทรนด์ของโลกเหมือนกัน ร้านส้มตำเด้อก็ไปได้มิชลินหนึ่งดาวที่นิวยอร์ก เมื่อเห็นเขาดูหนักใจ เราก็พาเขาไปดูอันหยังก็ได้ แล้วพูดให้เขาคิดว่า ยูไม่ต้องเอาเป็นลาวไปหรอก เราก็ยังไม่อยากให้ไป ยูเอาอันหยังก็ได้ไปก็แล้วกัน สุดท้ายคืนนั้นดีลกันจนจบว่าเขาเอาอันหยังก็ได้ไป

แต่การที่ทั้งเป็นลาว ทั้งอันหยังก็ได้ ยังไม่มี SOP ไม่มีร้านสาขา จุดนี้ไม่เป็นปัญหาหรือ

เขาไม่มายด์นะ เขาบอกว่าเขาชอบแบ็กกราวนด์เรา และด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศใหม่ ฉะนั้นเขาจึงให้ความสำคัญกับสตอรี่ เขาก็รู้ว่าเขาจะสร้างคอนเทนต์ให้ร้านยังไง หลังจากนั้นมามันก็เป็นกระบวนการเซ็นสัญญา กลับไปดูเรื่องโลเกชั่น เตรียมทำแผนเทรนนิ่ง เราบอกว่าเราก็ขายยูแบบที่เราไม่มี SOP นะ แต่เราจะพัฒนาไปด้วยกัน

เขามีความเห็นถึงอาหารของคุณไหมว่าควรจะเป็นอย่างไรเมื่อไปอยู่สิงคโปร์

เขาก็มีคอมเมนต์ว่าไม่เอาปลาร้า แล้วให้เราคิดเมนูที่มีซีฟู้ด เพราะคนสิงคโปร์ชอบซีฟู้ด เราก็คิดเมนูที่มีกุ้งมังกรใส่เข้าไปด้วย เช่น ผัดหมี่โคราช แทนที่จะเป็นผัดหมี่ใส่หมูถั่วงอกจนๆ สไตล์เรา ก็ทำในสไตล์ที่คนสิงคโปร์ชอบออกมา ดีลคืนนั้นเกิดเมื่อสิ้นเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการทำงานร่วมกัน มันเหมือนลูกทุ่งน่ะ ลงไปรบ ออกรบเลย เรียนรู้ทันที ทั้งเขาและเราต่างเป็นครูซึ่งกันและกัน

ตกลงแล้วการทำแฟรนไชส์ไม่จำเป็นต้องเหมือนเป๊ะกับต้นตำรับหรอกหรือ

เพราะด้วยความที่เอาอันหยังก็ได้ไป มันเลยมีความยืดหยุ่นค่อนข้างสูง ถ้าเอาเป็นลาวไปเราอาจปวดตับก็ได้ แต่ซิกเนเจอร์ของที่นั่นก็ยังเป็นไก่ย่างอยู่นะคะ เรามีวิธีที่จะพลิ้วสตอรี่ของเราให้เข้ากับที่นั่นด้วย เพราะเราก็ยังทำงานร่วมกันกับฟาร์มกุ้ง ฟาร์มปู ในชุมชนของสิงคโปร์ สุดท้ายมันจึงอยู่ที่วิธีคิดว่าเราจะบิดมันยังไง

คือดีเอ็นเอของร้านยังอยู่

ใช่ค่ะ แต่สิงคโปร์ไม่เอื้อให้เรามีอาสาสมัคร เพราะกฎมายเขาค่อนข้างเข้มงวด

จากนี้จะมีดีลอื่นๆ ต่อไปไหมสำหรับร้านอันหยังก็ได้

สิทธิที่เราให้เขาไปในสามประเทศแรก น่าจะต้องผ่านหนึ่งปีไปก่อนเพราะเขาเพิ่งลงทุน คิดว่ายังไงก็ต้องมีสาขาสองสามสี่ ส่วนในไทยก็เตรียมเปิดแล้ว ตอนนี้ขายแฟรนไชส์ที่หนึ่งสำเร็จไปแล้ว เป็นอันหยังก็ได้ที่กรุงเทพฯ น่าจะเปิดตุลาคมนี่แหละ จะเป็นแฟรนไชส์แรกที่เราขายได้ในประเทศไทย

ในเมืองไทย การจะให้เป็นเป็นลาวหรืออันหยังก็ได้ เราจะดูจากสภาพตลาด ทำวิจัยตลาดเล็กๆ ว่าโลเกชั่นนี้เหมาะกับอะไร ถ้ามีสวน มีที่จอดรถเยอะๆ ก็จะเชียร์ให้ทำเป็นลาว แต่ถ้าอยู่ในห้างก็มีตั้งแต่ไซส์เอส เอ็ม แอล จะเป็นอันหยังก็ได้ แต่กรุงเทพฯ ก็เป็นตลาดที่น่ากลัวมากสำหรับเรา เพราะส้มตำมีทุกมุมถนน คู่แข่งเยอะมาก

ด้วยความที่สิงคโปร์เป็นประเทศใหม่ ฉะนั้นเขาจึงให้ความสำคัญกับสตอรี่ เขาก็รู้ว่าเขาจะสร้างคอนเทนต์ให้ร้านยังไง

การขายแฟรนไชส์ในเมืองไทย คุณมีต้นแบบจากไหน เพราะอย่างที่บอกข้างต้นว่าต้องมีสามสาขาเสียก่อน

เมษายนที่ผ่านมาเราทำสาขาที่สาม คือมินิเป็นลาว ที่ศูนย์อาหารเจ๊เค็ง บนถนนมิตรภาพ แต่การที่เราเปิดตรงนั้นก็เป็นอะไรที่พนันตัวเองกันพอสมควร สาเหตุที่เราออกมาจากที่เดิมคือในเขาใหญ่ 26 กิโลฯ แล้วมาอยู่ถนนมิตรภาพ ก็เพราะว่าในเขาใหญ่มันโลว์ซีซั่น ถ้าปีนี้เราไม่ขยับ ไม่พยายามจะกระจายไข่แล้วรอสิงคโปร์อย่างเดียว เราอาจจะตายได้ เพราะเขาใหญ่ปีที่ผ่านมามันแย่มากๆ อาจจะเพราะเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เราก็เลยไม่วางใจ

เมื่อไปติดต่อเขาก็ใจดียกร้านกาแฟให้มินิเป็นลาว เชื่อมั้ยว่าเราเตรียมร้านภายในสี่วันแล้วเปิดเลย คือวันที่ 6 เมษายน เปิดก่อนสิงคโปร์อีก เพราะสิงคโปร์เปิดพฤษภาคม ที่เปิดได้เร็วเพราะเราไม่ต้องซื้ออะไรใหม่เลย เราดึงทั้งคนทั้งข้าวของออกมา เป็นการแก้ปัญหา ดิฉันว่าอันนี้ก็เป็นเรื่องที่คนตัวเล็กๆ ก็ต้องพยายามจัดสรรทรัพยากรที่ตัวเองมี อะไรที่มันสวยหรูเก็บไว้ก่อน เราทำยังไงก็ได้เพื่อให้ได้เงินสดมาหมุนเวียน เป็นเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นที่เราต้องรู้ ไม่อย่างนั้นเราจะตายเพราะมันจะกินทุน แล้วเราก็พบว่ามินิเป็นลาวก็เป็นสาขาที่แก้ปัญหาได้ดี และเป็นสาขาต้นแบบที่เราภาคภูมิใจ เพราะตอนที่ทำก็คิดว่าถ้ามันไม่เวิร์ก อย่างดีก็ถือว่าจ่ายค่าเช่าเพื่อติดป้ายเป็นลาวตัวโตๆ บนถนนมิตรภาพ

เวลาทำธุรกิจเราต้องคิดอะไรออกมาสักอย่างเพื่อปลอบใจตัวเอง (หัวเราะ) เราไม่ได้โลกสวยหรอก แต่เราต้องมีวิธีคิด เพราะอย่างน้อยในหน้าที่ที่ดิฉันเป็นผู้นำองค์กร จะบอกให้ลูกน้องออกไปรบด้วยกันแล้วบอกเขาว่าไปรบยังไงก็แพ้ ก็ไม่ต้องออกดีกว่ามั้ย ลูกน้องก็ฝ่อหมด ดังนั้นถ้าเราบอกว่า เราต้องออกไปแสวงหาน่านน้ำใหม่ เอาเรือออกเดี๋ยวนี้ ทุบหม้อข้าวหม้อแกงไป

ปรากฏว่าร้านนี้เบรกอีเวนต์ภายในหนึ่งเดือน เจ๊เค็งก็พูดกับดิฉันว่า เขางงว่าทำไมรีบเปิด ดิฉันก็บอกว่าถ้าไม่เปิดภายในสงกรานต์ เราจะไม่เห็นทิศทางเลย เพราะเวลาเปิดร้าน เราต้องการเห็นช่วงจังหวะที่ทำยอดได้สูงสุด ถ้าเปิดมาแล้วเหี่ยวๆ แฟบๆ เราจะเหี่ยวไปนานอีกหลายเดือน เราจะไม่มีกำลังใจแล้วพาลูกน้องฝ่อกันไปด้วย

เหมือนคุณทำธุรกิจแบบพนันกับอนาคตอยู่ตลอดเวลา

ต้องบอกว่าดิฉันเป็นคนไม่ค่อยเชื่อทฤษฎี แต่เชื่อสัญชาตญาณตัวเองมากกว่า ของอย่างนี้มันบอกยาก เหมือนเวลาเราจะซื้อบ้านหรือเข้าไปอยู่ในคอนโดอะไรสักอย่าง วนเวียนดูอยู่นั่น แล้วถ้ามันใช่มันคือใช่ แฟนก็เหมือนกัน ถ้ามันใช่มันก็คือใช่ ถ้าดิฉันว่าโอเคแล้ว ต่อให้ใครว่ายังไงเราก็จะทำ

อย่างตอนเปิดสาขามินิเป็นลาว ดิฉันไปทำงานที่นั่นทุกวัน เพราะอยากลุ้น อยากดูว่าลูกค้าประเภทไหนที่จะแวะ เพราะถนนมิตรภาพคือเส้นที่ขับมาจากโคราชขอนแก่น เป็นสายอีสานที่ลงกรุงเทพฯ ดังนั้นเขาจะต้องเจอส้มตำกี่ร้านกว่าจะมาเจอเรา แล้วเราก็พบกว่ามีเกินครึ่งเป็นลูกค้าที่รู้จักเป็นลาวดีอยู่แล้ว

มันมาไกลกว่าเดิมมาก-จากตอนแรกที่คุณแค่อยากมีร้านขนาดพอดีตัว

เอาง่ายๆ ตอนนี้ดิฉันมองว่าตัวเองกำลังขายฝัน การทำแฟรนไชส์ของเรามันเป็นการท้าทายเหมือนกัน คือเดิมเราเป็นคนไม่ค่อยอยากทำอะไรที่มันใหญ่ แต่การทำแฟรนไชส์นี่ก็ได้พยายามคิดข้อดีของมัน แล้วพอได้ไปศึกษาระบบจริงๆ ก็พบว่ามันคือธุรกิจแบบ MLM (Multi-level mrketing) ดีๆ นี่เอง เพราะมันจะบังคับเลยว่าเราต้องทำสิ่งนี้ เราต้องซื้อของจากที่นี่ มิน่า คนถึงร่ำรวยมากจากการทำแฟรนไชส์

พอคิดได้แค่นี้ดิฉันกดเทปหยุดปึ๊ง เอ๊ะ เราอยากร่ำรวยเหรอ ถ้าเราอยากร่ำรวยป่านนี้เราคงรวยไปนานแล้วล่ะ มันไม่ใช่แล้ว ดิฉันก็คิดใหม่ถึงข้อดีของการทำแฟรนไชส์ ก็บอกน้องๆ ในทีมว่า รู้รึเปล่าว่า การที่เราทำแบบนี้มันจะสามารถสร้างงานให้คนตัวเล็กได้นะ ถ้าเราเผยแพร่ความคิดนี้ได้สำเร็จ เขาซื้อแฟรนไชส์เรา เขามาทดลองทำงานที่ร้านเรา เขารู้สึกว่าเป็นโมเดลที่เหมาะกับดีเอ็นเอของเขา มันจะก่อให้เกิดการสร้างงานในชุมชนที่เป็นคนตัวเล็กได้อย่างมากมาย

ดูเหมือนคุณจะให้ความสำคัญกับเรื่องการทำงานกับคนเป็นพิเศษ

ก็ยังคิดอะไรใหม่ๆ อยู่เรื่อยๆ ค่ะ อย่างล่าสุดที่เขาใหญ่เรามีโครงการชื่อ Without Words เราทำงานร่วมกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ผ่านมูลนิธิคุวานันท์ โดยให้เด็กจากโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดขอนแก่น มาทำโครงการนำร่องก่อน แล้วเราก็พบว่า เขาทำได้ทุกอย่างเลย อยู่ได้ทุกสเตชั่น เช็ดจานชาม ช่วยเสิร์ฟอาหาร เป็นผู้ช่วยในครัว เราจะมีป้ายติดอยู่บนโต๊ะให้รู้ว่าบางทีเด็กที่มาเสิร์ฟเขาอาจจะไม่ได้พูดนะ และเราก็มีป้ายติดให้เด็กด้วย ซึ่งดิฉันชอบมาก พบว่ามันเป็นโปรเจ็กต์ที่ทำให้ทุกคนรักกันดี เราได้เห็นว่ามันมีภาษาพิเศษของมนุษย์ที่ไม่ต้องใช้คำพูด แล้วเราก็ได้เปิดโลกใหม่ ได้เรียนรู้การใช้ภาษามือ ทุกคนมีชื่อภาษามือด้วย

พอทำ Without Words แล้วเราชอบมาก ก็เลยมีโปรเจ็กต์ใหม่ที่กำลังจะทำอีก คือดิฉันอยากทำร้านสำหรับคนประเภทพิเศษ ร้านต้นแบบที่เรารู้จักคือร้าน Reaching Out ที่ฮอยอัน เขามีคนหูหนวกเป็นพนักงานเสิร์ฟทั้งหมด แต่เราอยากครีเอตอะไรที่ซับซ้อนกว่านั้นหน่อย คือคอนเซ็ปต์เดิมแบบเป็นลาวนี่แหละ ทำงานกับคนสามวัยบวกอาสาสมัคร แล้วเพิ่มคนหูหนวก ออทิสติก อาจจะเพิ่มเด็กกำพร้าหรืออะไรก็ตามมาทำงานในร้านเดียวกันให้หมด และอาจจะรวมถึงคนที่ตกงานจากอาชีพที่ไม่ได้เป็นที่ต้องการสำหรับยุคนี้แล้ว

คนไทยที่ต้องการงานทำยังมีอีกแยอะ แต่เหมือนสภาพสังคมมันไม่ได้เอื้อให้เรารู้จักตัวเอง หรือบางทีเราตกงานมาจากงานหนึ่ง ก็ไม่รู้จะไปทำอะไร อย่างที่บอกว่ามีข้อจำกัดบ้าง เรื่องทุนบ้าง ฉะนั้นเป็นลาวหรืออันหยังก็ได้ อาจกลายเป็นแฟรนไชส์ทางเลือกที่เป็น Social Enterprise หรือธุรกิจเพื่อสังคม

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ดิฉันมองก็คืออยากทำบ้านพักคนชรา เพราะพวกเรามันโสดสนิท ลูกเต้าก็ไม่มี ถ้าโชคดีเราอาจจะอายุยืน แต่เราจะอายุยืนอย่างมีคุณภาพหรือเปล่าเราไม่แน่ใจ

และท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ดิฉันมองก็คืออยากทำบ้านพักคนชรา เพราะพวกเรามันโสดสนิท ลูกเต้าก็ไม่มี แล้วจะยังไงล่ะ ก็เลยส่งน้องที่เป็นหุ้นส่วนไปฝึกงานกับเพื่อนดิฉันที่เป็นอาจารย์หมอที่ญี่ปุ่น เขาทำคลินิกผู้สูงอายุ แล้วมีภรรยาคอยทำเบนโตะส่ง เมื่อได้ไปดูแล้วเราก็พบว่าเรื่องพวกนี้สำคัญ เพราะถ้าโชคดีเราอาจจะอายุยืน แต่เราจะอายุยืนอย่างมีคุณภาพหรือเปล่าเราไม่แน่ใจ แล้วประเทศไทยก็เข้าสู่สังคมสูงวัยเข้าไปแล้ว เป็นประเด็นที่ขนลุกนะ ฉะนั้นดิฉันจึงเชียร์ว่า อย่าไปให้เขาหยุดทำงาน ให้เขาทำเถอะ ทำเท่าที่มีกำลังจะทำได้ สมมติเมื่อเราอายุมากขึ้น เคยทำงานได้แปดชั่วโมงเราก็เหลือสามชั่วโมงพอ แล้วเอาสามชั่วโมงนั้นแลกเป็นข้าวเป็นน้ำเป็นอาหาร มีบ้านพักให้เขาอยู่

ดิฉันรู้สึกว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ทุกคนอยากไปใช้ AI อยากใช้โรบอตหมดเลย เราถูกบังคับไง เราอยู่ในโลกที่เห็นพ้องกันแล้วว่ามันจะเปลี่ยนเป็นแบบนี้ทั้งหมด แล้วมันเกิดอะไรขึ้น เราเป็นองค์กรที่ใช้คนมากเหลือเกิน (หัวเราะ)

ถามว่าอะไรที่ทำให้เป็นลาวเติบโตมาได้อย่างวันนี้ พูดแบบไม่เข้าข้างตัวเองก็คิดว่าความเป็น Local Brand ที่มันชัดมาก แน่นอนอาหารต้องอร่อย แต่การที่เราเป็นคนรู้จักตัวเอง เรารู้ว่าเราทำอะไรให้ใคร แล้วอยู่ตรงไหน ทำให้เราวางทิศทางในการเดินต่อได้

Fact Box

พันชนะ วัฒนเสถียร มีคุณพ่อเป็นลูกอีสานซึ่งเป็นอดีตผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสงขลา และคุณแม่เป็นแม่ค้าขายพลอยเมืองกาญจนบุรี ส่วนเธอเป็นบัณฑิตนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อคุณพ่อเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ เพื่อผลิตหนังสือกฎหมาย เธอก็ได้ช่วยคุณพ่อทำงานหนังสือตั้งแต่ยังเรียนอยู่

เมื่อเรียนจบ พันชนะเริ่มต้นงานแรกด้วยการเป็นทนายความที่สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายแห่งหนึ่ง เริ่มออกเดินทางต่างประเทศคนเดียว และเป็นอาสาสมัครเข้าไปสอนหนังสือในเรือนจำบ้าง หลังจากลาออกจากสำนักงานกฎหมาย เธอเปลี่ยนสายงานด้วยการมาเป็นผู้จัดการฟาร์มผักไฮโดรโปนิกส์ ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนแห่งแรกของประเทศไทย (จาก BOI) ห้าปีหลังจากนั้นจึงออกเพื่อพักผ่อนอยู่อีกระยะ ก่อนจะเริ่มต้นทำงานที่มูลนิธิอมตะ ในตำแหน่งผู้จัดการมูลนิธิอมตะ จัดทำรางวัลอมตะ อาร์ต อวอร์ด รางวัลนักเขียนอมตะ ผลิตหนังสือ ทำงานร่วมกับคณะถ่ายทำสารคดี ‘มองโลกแบบวิกรม’ และเปิดร้านเป็นลาวในระหว่างนั้นด้วยเมื่อปี 2552

การเดินทางเพื่อถ่ายทำสารคดีในหลายประเทศตลอด 18 เดือน ทำให้เธอไม่สามารถอยู่บริหารร้านเป็นลาวได้เต็มตัว และทำให้ทิศทางของร้านไม่เป็นไปตามที่เธออยากให้เป็น เมื่อจบภารกิจเธอจึงขอลาออกจากมูลนิธิฯ และเริ่มต้นกับเป็นลาวอย่างจริงจังอีกครั้งด้วยการรีแบรนด์ ก่อตั้งบริษัท ออน เดอะ พลาโต จำกัด ร่วมกับหุ้นส่วนรุ่นเยาว์ บริหารร้านอาหาร ‘เป็นลาว’ ‘อันหยังก็ได้’ และ ‘เป็นลาวมินิ’ กระทั่งเปิดแฟรนไชส์สาขาแรกที่ 57 South Bridge Road ประเทศสิงคโปร์ และกำลังจะเปิดสาขาที่กรุงเทพมหานครในอีกไม่ช้า

นอกจากบริหารงานร้านอาหาร พันชนะรักการเดินทาง ปัจจุบันเธอยังเดินทางอยู่สม่ำเสมอรวมถึง ‘การเดินทางภายใน’ เขียนบทความให้กับนิตยสารบ้าง และยังเป็นที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์และการตลาด รวมถึงการ CSR ด้วย

Tags: , , , , ,