คำถามติดปากคนไทยสมัยนี้ ไม่ใช่ “กินข้าวหรือยัง” เหมือนเมื่อก่อน แต่ส่วนมากมักจะเป็น “เป็นไงยุ่งไหม” อาชีพการงานกลายเป็นส่วนสำคัญส่วนใหญ่ (ถ้าไม่ใช่ทั้งหมด) ของชีวิตเรา ทั้งที่เราส่วนใหญ่ไม่ได้ชอบทำมันเลยสักนิด
สิบกว่าปีก่อน เต้ย – ภาณุมาศ ทองธนากุล เจ้าของนามปากกา ‘ใบพัด’ เคยจุดกระแสการลาออกด้วยหนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย ด้วยยอดตีพิมพ์กว่า 40 ครั้ง และยังขายได้อยู่จนนาทีนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยยังคงไม่ได้ปรีดิ์เปรมกับงานที่ทำ
แต่พูดก็พูด ภรรยาของภาณุมาศเอง จนบัดนี้ยังคงทำงานประจำที่ทำมาตั้งนานแล้ว เธอรักการเข้าออฟฟิศและมีชีวิตเป็นตารางแน่นอนอย่างที่หลายคนเรียกว่า ‘ซ้ำซาก’ และคนอ่านบางส่วนก็บอกว่าอ่านหนังสือของเขาแล้วกลับยิ่งรักงานประจำ เพราะเขาทำให้รู้ว่าโลกของการลาออกและไม่ทำงานประจำอีกเลย มันไม่ได้ง่ายหรือ Slow Life ได้ทันทีเหมือนฝัน
ภาณุมาศเขียนหนังสือในนาม ‘ใบพัด’ อีกหลายเล่ม แต่ผู้คนยังคงจำเขาในฐานะชายคนนั้นที่จะไม่ลาออกจากงานอีกแล้ว และ ภาณุมาศไม่ใช่ลูกเจ้าสัวที่ไหน เขาแต่งงานแล้ว และมีรายได้ดูแลตัวเองและครอบครัวตามอัตภาพ โดยไม่ทำงานประจำมากว่า 12 ปี งานสัปดาห์หนังสือครั้งล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป ภาณุมาศยังไม่ออกหนังสือใหม่ ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือยังอยู่ในช่วงบ่มเพาะ
วันนี้เขาเลยเลือกหยิบหนังสือเล่มโปรดติดมือมาคุยกับเรา พร้อมใบหน้าผ่องใส ตาเป็นประกาย แบบที่เราอยากจะคิดว่าเราคงอคติไปเอง
ขอเริ่มด้วยคำถามยอดฮิต เป็นไงยุ่งไหมช่วงนี้
(ยิ้ม) ยุ่งอยู่กับการเป็นพ่อบ้านครับ ตื่นเช้ามาถ้าตื่นไหวก็จะส่งภรรยาไปทำงาน ถ้าตื่นไม่ไหวก็เป็นอันรู้กันว่าเธอจะจากไปอย่างเงียบๆ
หนังสือการลาออกครั้งสุดท้ายของคุณเต้ยเป็นเบสต์เซลเลอร์มานานแล้ว ทำไมภรรยายังไม่ลาออกอีกคะ
อันนี้เป็นเครื่องพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าหนังสือผมมันไม่ได้ทรงอิทธิพลขนาดนั้น (หัวเราะ) หลายคนบางทีเจอเรา หน้าแบบนี้ ชื่อแบบนี้ ก็หมายหัวติดแบล็กลิสต์ไว้ก่อนว่าจะมาทำให้คนรอบข้างของเขาพานลาออกกันตามไป แบบ- -หมอนี่แหละที่กระทรวงแรงงานเอย กรมจัดหางานเอย ควรจะเพ่งเล็ง แต่นี่ครับ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าภรรยาผมที่แต่งงานมาเกือบ 6 ปี เธอก็ยังคงรักในการทำงานออฟฟิศอยู่ เป็นพนักงานออฟฟิศแบบเต็มตัวเลยครับ
ภรรยาอ่านหนังสือที่คุณเขียนไหม
โอ๊ย หลายรอบมากครับ
แล้วเธอคอมเมนต์ว่าอย่างไร
อื้อฮือ คนอ่านเนี่ยต้องอยากลาออกตามเธอแน่ ๆ เลย แต่ไม่ได้ผลกับฉันหรอกนะ (หัวเราะ) ว่าไปแล้ว เจตนาหลักในการเขียน ผมก็ไม่ได้เขียนเพื่อยุยง เฮ้ย ออกกันเถอะ ไม่ได้ตั้งใจแบบนั้น แต่ที่นี้ถ้ามันไปโดนจริต ก็แปลว่าไปโดนคนที่มีแผลอยู่แล้ว คนที่บอกว่าอ่านหนังสือเราแล้วลาออก ส่วนใหญ่เขามีความคิดบางอย่างอยู่ในใจ มีแผนการของเขาอยู่แล้ว พออ่านแล้วก็ เอาละ เข้าใจแล้วว่าเขาไม่ได้ออกไปแบบตัดสินใจบุ่มบ่าม ไม่ได้ออกตามอารมณ์พาไป แต่ อ๋อ มันวางแผนแบบนี้นี่เอง เขาก็วางแผนแบบนี้อยู่เหมือนกัน ไอ้นักเขียนคนนี้มันไปทดลองดูแล้วเนี่ย มันพอเป็นไปได้ เพราะฉะนั้นก็อาจจะดำเนินการตามความฝันของตัวเอง
ตอนที่เขียนเล่ม การลาออกครั้งสุดท้าย จนถึงทุกวันนี้ ตกลงก็ยังไม่เคยกลับไปทำงานประจำเลยใช่ไหม
ยังไม่เคย โอ้โฮ ถ้าเกิดไปนี่เป็นเรื่องใหญ่แน่ๆ เลย ต้องมีการร่ำลือกันน่ะ ต้องมีพาดหัวสักเล็กน้อย “มันกลับมาแล้ว! ในที่สุดมันก็ถูกลากคอกลับมาจนได้” ไปไม่รอดนี่นา (หัวเราะ)
ถามจริงๆ คิดถึงงานประจำบ้างไหม
ตอบตามจริง ไม่มีเลยครับ ชัดเจนมาก ไม่มีลังเลว่าแบบ เอ๊ะ หรือกลับไปทำดี มันเป็น 12 ปีที่เต็มเปี่ยม อิ่มเอม แล้วก็ชัดเจนว่าเวลาคนเราตั้งใจหรือมีวินัยบางอย่าง บางทีมันไม่ได้ออกผลในระยะเวลาสั้นๆ ในช่วงเวลาที่เราเก็บออมเงินวางแผน เราก็ถูกสายตาคนรอบข้างทำกระแนะกระแหนต่างๆ มองในระยะสั้นๆ มันอาจจะไม่ออกดอกออกผล แต่วันนี้พอมองว่าแล้ว 12 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง มันเป็นช่วงเวลาที่ดีครับ มีความสุขตามอัตภาพ อาจจะไม่ได้มีชีวิตที่แบบถ่ายรูปเอาไปฟุ้งเฟ้ออวดใครได้ แต่ในด้านหนึ่ง เวลาเรามองตัวเอง อืม ใช้ได้เหมือนกันนะ ไม่มีอะไรที่ต้องรู้สึกเสียใจหรือเสียดายเลย ถ้าให้ตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ก็คงจะเป็นอย่างนั้นอยู่ดี
พูดง่ายๆ คือคุณมีความมั่นคงทางการเงินในระดับที่พอใจ ถูกไหม
เราไม่มีปัญหาทางการเงิน เมื่อเงินไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเรา เพราะฉะนั้นเราก็สามารถลดเวลาการทำงาน แล้วเอาเวลาที่เราเคยขายให้กับการทำงาน เอาไปเติมเต็ม เอาไปใช้ในสิ่งที่เรารู้สึกว่า มันมีความหมายกับชีวิตเราจริง ๆ
คุณเต้ยไม่ใช่แนวที่อยากจะออกจากงานประจำ แล้วมาเปิดธุรกิจอะไรของตัวเองใช่ไหม
ไม่ใช่ครับ ผมต้องจัดเตรียมแผนที่เพื่อออกจากระบบการทำงานประจำ ต้องมีภาพอยู่ในความคิดก่อน และภาพนั้นคือผมอยากเขียนหนังสือ เพราะตอนทำงานประจำก็อยากเขียน แต่การทำงานประจำกินเวลาไปเสียหมด ก่อนจะลาออกครั้งสุดท้าย ตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่มองชีวิตตัวเองแล้วอายมากครับ ความสัมพันธ์กับที่บ้านก็ไม่ดี สุขภาพก็ไม่ดี ทุกอย่างมันรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องขอเวลานอก เอาไปเติมเต็มและเอาไปซ่อมแซมส่วนอื่นที่มันกำลังพัง
ตอนนั้นคิดไว้อยู่แล้วไหมว่า ถ้าเราทำสำเร็จเราจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้
แค่อยากลาออกจริงๆ ไม่ได้แพลนเรื่องว่าจะสร้างรูปแบบชีวิตเพื่อจะได้ออกมาเขียนหนังสือ เพราะไอเดียแรกของการเริ่มต้นเขียนมันก็ไม่ได้เกิดจากตัวเรา แต่เกิดจากทีมงานรุ่นก่อนในสำนักพิมพ์ a book นี่แหละครับ คือเรามาส่งต้นฉบับ มาคุยกับเขา เนื่องจากว่างไงครับ มาคุยแล้วเขาก็ถามคำถามที่แสดงความห่วงใยนะ อ้าว ลาออกมาแล้วเต้ยทำอะไรอยู่ช่วงนี้ ก็เล่าให้เขาฟังนู่นนี่ จนในที่สุดพอเขารับรู้ความเป็นไปในชีวิตเรา ก็รู้สึกว่า เฮ้ย สนุกดี น่าเล่าเป็นหนังสือนะ ว่าเก็บสตางค์อย่างไร ประหยัดแล้วโดนแซวโดนล้ออย่างไร แล้วมันผ่านมาอย่างไร แล้วไอ้เงินที่ประหยัดได้ เอาไปออมต่อ เอาไปลงทุนเนี่ย แล้วมันต่อยอดต่อดอกออกผลอย่างไร น่าจะเล่าให้ฟัง
ในฐานะที่หนังสือของคุณเป็นแรงบันดาลใจให้คนมากมาย แล้วหนังสือเล่มไหนบ้างที่เป็นแรงบันดาลใจให้คุณ
เล่มที่เป็นต้นแบบของความรัดกุม ความรอบคอบของความคิดทั้งหมด มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Your Money or Your Life ครับ (เขียนโดย Vicki Robin และ Joe Dominguez) ผมอ่านเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนที่มีการแปลครั้งแรกเลยครับ หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นคัมภีร์สำคัญเลย มันมีอิทธิพลต่อผู้คน ต่อแนวความคิด คำพูดหลายคำที่เราใช้กันในยุคสมัยนี้ เช่น คำว่า ‘อิสรภาพทางการเงิน’ หรือ passive income คำพูดเกร่อ ๆ ที่เราอาจจะเคยได้ยินบ่อยในช่วงเวลานี้ ในช่วงเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วมันเป็นความคิดล้ำสมัยมาก
ตอนนี้พอเราได้ยินคำว่า อิสรภาพทางการเงิน หรือ passive income คนมักจะรู้สึกถึงคนขายประกัน
ใช่ ใครพูดอย่างนี้ใกล้ๆ เราก็จะแบบ เดินห่างหน่อยดีกว่า มันชวนเราไปฟังสัมมนาแน่ๆ เลย (หัวเราะ) จริงครับ แต่ความหมายจริงๆ ของมันอยู่ในหนังสือเล่มนี้ โดยรวมหนังสือเล่มนี้ทำให้ผมรู้สึกได้ว่า ก่อนหน้านี้คนเราใช้ชีวิตด้วยแผนที่ฉบับเก่า เดินๆ ไปแล้วก็คิดว่าไอ้สิ่งนี้ มันต้องอยู่ตรงนี้ ช่วงชีวิตนี้ ต้องใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วเราจะพบสิ่งนี้ แต่อ้าว ทำไมไม่พบ เพราะโลกมันเปลี่ยน วิธีคิดของคนยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเชื่อกันว่าจงทำงานหนักๆ ได้เงินมาซื้อบ้าน ซื้อรถ เกษียณ แล้วก็จะมีความสุขในชีวิต นั่นคือโมเดลแผนที่ฉบับเก่า ทุกคนแห่กันไปทำแบบนั้น ซึ่งมันได้ผลมากในยุคนั้น ทีนี้พอเราอยู่ในยุคที่คนเราไปไกลกว่านั้นแล้ว ไม่ได้ใช้เงินเพื่อปัจจัยสี่ เริ่มใช้เงินเพื่อความหรูหราฟุ้งเฟ้อ ใช้เงินมากกว่าที่ตัวเองหาได้ แล้วก็เข้าสู่กระบวนการสร้างหนี้จำนวนมหาศาล มองไปรอบตัวเรา การหย่าร้างก็สูง อัตราหนี้ต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก แล้วเราก็ไม่มีความสุข แล้วมันเกิดอะไรขึ้น
ผมอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกเหมือนถูกเขย่าให้ทบทวนตัวเองดูว่าเราจะเอาอย่างไรกับชีวิต มันเหมือนเวลาเราเดินไปผ่านมุมตึก แล้วมีมิจฉาชีพเอาปืนมาจี้ข้างหลังเรา แล้วพูดว่า จะเอาเงินหรือชีวิต your money or your life? แน่นอนคนส่วนใหญ่ให้เอาเงินไปเลย เราขอเก็บชีวิตไว้ก่อน แต่ในชีวิตจริงของคนเรา เรายอมสละเงินเพื่อรักษาชีวิตจริงหรือเปล่า ทุกคนทุ่มสรรพกำลังและเวลามีค่าทั้งชีวิตทั้งหมด เทลงไปในงาน เพราะคิดหวังว่าพอมีเงินแล้วทุกอย่างที่เหลือมันจะโอเค ซึ่งมันไม่โอเค แล้วเราก็พบปัญหามากมายที่เกิดมาจากวิธีคิดแบบนั้น
ถ้าอย่างนั้นคำพูดที่ว่า Work hard, Play hard ได้ทั้งงาน ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งชีวิต ไม่มีจริงใช่ไหม
มันไม่มีอะไรที่ได้มาโดยยถากรรม สิ่งที่เขาชี้ให้เห็นคือเราควรเป็นคนที่ควบคุมพวงมาลัยในการขับเคลื่อนชีวิตของตัวเองนะ เพราะก่อนหน้านี้เราหวังว่า จะมีใครสักคนหนึ่งขับให้เรา แล้วเราก็นั่งอยู่บนพาหนะชีวิตอันนี้ ขอแค่เราตั้งใจทำงานอย่างเดียว ทุ่มเทเวลาทุกอย่างกับการหาเงิน แล้วทุกอย่างมันจะโอเค ซึ่งไม่ใช่
คนเขียนเล่มนี้มีสองคน หนึ่งในนั้นเป็นคนที่เคยทำมาหากินในตลาด Wall Street คือเป็นนักการเงินมาก่อน แล้วเกษียณตอน 31 ผมว่าผมเกษียณตอนช่วงอายุ 30 กว่า นี่ก็ถือว่าเร็วแล้วนะ แต่ 31 เนี่ย เขาออกมาพร้อมกับเงินจำนวนหนึ่งที่อาจจะไม่มาก แต่ว่าเขาออกมาพร้อมแผนที่จะทำให้เงินจำนวนไม่มากของเขาสามารถหล่อเลี้ยงเขาได้ ไม่ว่าเขาจะทำงานหรือไม่ก็ตาม มันมีเงินที่เขาลงทุนไว้ ออกดอกออกผลให้เขาได้ใช้ หลังจากที่เขาออกมาแล้ว เขาก็เผยแพร่แนวความรู้นี้ กลายเป็น community หนึ่งในนักเรียนของเขาก็มาร่วมกันเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา บอกเล่าอีกด้านหนึ่งของความคิดแบบแจกแจงรายละเอียด ทำเป็นแบบสเต็ปเก้าขั้น ค่อยๆ เป็นไป จากง่ายไปยาก แล้วก็ทำความเข้าใจมันไปทีละขั้นว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้จริง
เคยได้ยินที่เขาพูดกันว่าความหมายชีวิตอยู่ที่การทำงาน แต่ทีนี้ถ้าเราเกษียณตัวเองเสียตั้งแต่ 31 ซึ่งมันเป็นตัวเลขเกษียณที่น่าตกใจนะคะ ชีวิตหลังจากนั้นมันคือความสุขแน่หรือเปล่า มันฟังดูอิสระ แต่ถึงจุดหนึ่ง เฮ้ย เราจะโหวงเหวงไหม
มันโหวงเหวงครับ แล้วก็ไม่เคยมีใครอธิบายเรื่องพวกนี้ให้กับเราฟังก่อน ก่อนหน้านี้เราทุ่มเวลา 5-6 ปี ทุ่มเต็มที่เพื่อจะได้เกษียณก่อนกำหนด แต่ไม่มีใครบอกว่าผลพวงจากนั้นมันคืออะไร ผมใช้เวลาช่วงแรกรู้สึกเป็นอิสระ ทำในสิ่งที่เราอยากทำมาตลอดแต่ไม่เคยมีเวลา เอาหนังสือที่ซื้อจากสัปดาห์หนังสือมานั่งเตรียมอ่าน เตรียมเก้าอี้อย่างดี เอาหนังที่เคยซื้อมาแล้วไม่เคยได้ดูมานั่งดู เอาเกมมานั่งเล่น สนุกอยู่สองอาทิตย์ก็เบื่อแล้วครับ แล้วหลังจากนั้นผมรู้สึกเหมือนเป็นทหารหนีทัพ ตอนเช้าเห็นบ้านอื่นๆ ขับรถออกไปทำงาน หมู่บ้านเหลือแต่คนแก่กับเด็กตัวเล็กๆ เราไม่แฮปปี้หรอกในสภาพแบบนั้น เพราะฉะนั้นในหนังสือเล่มนี้ก็มีอีกพาร์ตหนึ่งที่เป็นเรื่องของชีวิตครับ เขาจะโฟกัสให้เห็นว่าถ้าเกิดได้เวลาคืนมา ไม่ต้องเอาไปขายให้กับองค์กรแล้ว มันจึงเป็นเวลาในการสำรวจตรวจสอบตัวเองว่าอยากทำอะไรจริงๆ กันแน่ เวลาพูดว่าเกษียณแล้วออกไปนั่งงอมืองอเท้า แน่นอนมันไม่ใช่เรื่องที่ดีทั้งกับตัวเอง ครอบครัว สังคม และประเทศแน่ เพราะฉะนั้นการหาว่าตัวเองอย่างทำอะไรจริงๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญต่อมา แต่ที่แน่ๆ คือถ้าทุกคนไม่มีปัญหาทางการเงิน ไม่ต้องฝืนทำงานที่ไม่อยากทำ โลกมันจะเป็นโฉมใหม่อีกโฉมหนึ่ง ทุกคนไม่ได้ทำงานเพราะข้อจำกัดเรื่องปากท้อง แต่ทำเพราะอยากทำ โอ้โฮ โลกจะเป็นที่ที่น่าอยู่ขึ้น
พูดได้ไหมคะว่าการปลดล็อกของชีวิตตรงนี้ มันก็อยู่ที่ว่า ถ้าเราสามารถวางแผนด้านการเงินให้มีความมั่นคงพอที่ไม่ต้องฝืนทำสิ่งที่ตัวเองไม่รัก
ผมไม่ได้มองเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิต แต่มองเรื่องชีวิตเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของชีวิต มองมันในเชิงองค์รวม เวลาเราพูดคำว่าองค์รวมคืออะไร สมมติเราหยิบ iPhone มาเครื่องหนึ่ง เราใช้ไขควงขันเปิดออกมา แล้วหยิบชิ้นส่วนเล็กที่สุดออกมาจาก iPhone เครื่องนั้นจะใช้งานไม่ได้เลย แม้จะเป็นชิ้นเล็กที่สุด ทำไมล่ะ นี่คือการทำงานแบบองค์รวมครับ ทุกอย่างทำงานสอดประสานกัน ขาดชิ้นใดชิ้นหนึ่งไม่ได้ เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด ไม่ได้ทำงานแก้ปัญหาเรื่องเงิน มันเป็นแค่ชิ้นส่วนหนึ่ง แต่มันเป็นชิ้นส่วนที่ขาดไม่ได้ สุขภาพก็เหมือนกัน ครอบครัวก็เหมือนกัน พังอย่างเดียวที่เหลือก็พังหมด เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมทำคือการเผยแพร่แนวความคิดว่า เงินมันเป็นสิ่งสำคัญที่อาจจะทำให้ฟันเฟืองชีวิตด้านอื่นๆ บกพร่องไปได้ จงมาใส่ใจและทำความเข้าใจกับมันใหม่ว่า เราควรมีความสัมพันธ์กับเงินแค่ไหน ควรจะเป็นทาสมัน เห็นมันสำคัญ เห็นว่าที่พึ่งในการมีความสุขของเราได้มาจากเงินเท่านั้นหรือเปล่า เป็นการตั้งคำถามที่เปิดหูเปิดตาผมมากในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมาของผม
ก่อนจะมาคุยวันนี้ ผมลืมหลายส่วนของหนังสือเล่มนี้ไปแล้ว เพราะอ่านเป็น 10 ปี เราอาจจะลืมเนื้อหาของมันได้ แต่เราจะไม่เคยลืมความรู้สึกที่เราได้จากมัน โอ้โฮ มันตื่นตาตื่นใจ แพรวพราวมากครับ ทั้งๆ ที่รูปแบบหนังสือที่ทำแบบเรียบง่าย ไม่ได้มีเน้นดีไซน์อะไรเลย แต่ว่าแรงกระตุ้นหรือว่าพลังที่เขาใส่ในตัวหนังสือแต่ละตัวนี่แข็งแรงมาก พอได้กลับมาอ่านอีกครั้ง ทบทวนอีกครั้งก่อนจะมาคุยวันนี้ ผมก็ยังคงรู้สึกตื่นตาตื่นใจว่า เมื่อไรเราจะสามารถสร้างงานที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับการเขียนได้แบบนี้
พอให้แนวคิดได้ไหมว่า ในฐานะมนุษย์เงินเดือนธรรมดา ควรมีมุมมองอย่างไรต่อการใช้เงิน
การทำงานคือเราเอาพลังชีวิตไปแลกเป็นเงิน เพราะฉะนั้นเงินคือพลังชีวิตของเรา คือเหงื่อและน้ำตา ถ้าเราเป็นคนที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเราเอา 300 บาท ไปซื้อเสื้อยืดหนึ่งตัวราคา 300 บาท เสื้อยืดนั่นคือหนึ่งวันของเรา เพราะฉะนั้นคุณลองเอามุมมองแบบนี้ ไปจับทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน คุณจะเห็นเลยว่า คุณเอาเหงื่อ เอาพลังกาย พลังใจ เวลาของคุณไปแลกสิ่งเหล่านั้น แล้วลองทบทวนดู ไม่ได้มองมันเป็นแค่ของเพื่อคลายเหนื่อย แก้ทุกข์ แต่คุณเสียสละพลังของคุณไป มันคุ้มหรือเปล่า บางทีซื้อเพราะอยากได้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ไม่รู้ หงุดหงิด เครียด อยากช็อปฯ ก็ซื้อมาก่อน แล้วไม่ค่อยได้ใช้ วางกองไว้ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นความสุขสั้นมาก หันกลับไปมอง นี่มันคือเวลาครึ่งเดือนของฉันเลยนะ มันคือพลังชีวิตครึ่งเดือนที่เรากองทิ้งไว้
คุณเต้ยต้องไม่เชื่อในลัทธิช็อปปิ้งบำบัดแน่เลย
ผมไม่ได้บอกว่าอย่าซื้อของ อย่าช็อปปิ้ง ไม่ใช่เลย แต่ลองดูซิว่า เหงื่อแต่ละหยด น้ำตาแต่ละหยด ที่คุณเสียไปในเวลาการทำงานเนี่ย มันคุ้มหรือเปล่า ถ้ามันคุ้มก็จงใช้เลย เพราะมันคือพลังของคุณ
มันเหมือนคนเรามองข้ามความหมายสำคัญในการกระทำต่างๆ ในชีวิตไปใช่ไหม
บางทีที่เราคิดว่าเรารู้ บางทีเราก็ไม่รู้จริง เราใช้ชีวิตตามแบบของเดิม แล้วกะๆ เอา หรือชำเลืองดูจากคนอื่น เหมือนเวลาเราทำข้อสอบแล้วเราลอกคนอื่น แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่เคยสอบผ่านเลย มันอาจจะเพราะเราได้ข้อสอบคนละชุดกับเขาก็ได้นะครับ แต่เราชอบชำเลืองดูคนนู้นคนนี้ สุดท้ายก็สอบตกอยู่ดี เพราะโจทย์เราไม่เหมือนกัน เราควรกลับมาทำข้อสอบตัวเอง อ่านหนังสือเตรียมสอบในแบบตัวเอง แล้วมันจะทำให้เรากล้าหาญในการใช้ชีวิตมากขึ้น รถคันเก่าถ้ายังใช้ได้ดีอยู่ก็ใช้ การใช้จ่ายกับเรื่องหรูหรามันเป็นหนึ่งในโจทย์ขีวิตเราหรือเปล่า
เหมือนเวลาเราทำข้อสอบแล้วเราลอกคนอื่น แล้วเราก็รู้สึกว่าทำไมเราไม่เคยสอบผ่านเลย มันอาจจะเพราะเราได้ข้อสอบคนละชุดกับเขาก็ได้นะครับ
อย่างผมไม่ได้เปลี่ยนมือถือมา 5-6 ปี บางคนเปลี่ยนทุกปี เงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยเลยครับ ถ้าเซฟไว้คุณอาจเหลือเงินเป็นแสน เพียงแค่คุณก็ใช้โทรศัพท์ที่รูปลักษณ์มันอาจจะไม่ทันสมัยมาก ความกล้าหาญอย่างหนึ่งในการใช้ชีวิตคือเราไม่ต้องแคร์คนอื่นมากก็ได้นะ เพราะในยามที่เราต้องจัดการกับหนี้บัตรเครดิต เงินไม่พอใช้ คนอื่นเขาไม่มาช่วยเรานะครับ (หัวเราะ)
ก่อนจะคิดได้ ความฟุ่มเฟือยของคุณเมื่อก่อนมันประมาณไหน ขอตัวอย่าง
สมัยมหาวิทยาลัย ผมเคยตัดผมครั้งละ 800 บาท ซึ่งมันแพงสำหรับตอนนั้นนะ บ้านผมไม่รวย แม่ให้เงินใช้เดือนละ 2,000 บาท ผมเอาไปตัดผม 800 แล้วคิดว่ามันจะเปลี่ยนชีวิตเรา เดินมาแล้วต้องทันสมัยแบบ Teen 8 Grade A แบบเต๊ะ ศตวรรษ ทันใช่ไหม (หัวเราะ) ความจริงคือพอผมเดินมา ทุกคนทักผมเป็นพี่ต้อม เรนโบว์กันหมด จบกัน 800 ทีนี้เกิดสมมติว่าทุกคนกรี๊ดกร๊าดกับทรงผม เงิน 800 ผมก็คงว่าคุ้มสุดๆ อาจกลายเป็นคนที่หลงระเริง แล้วก็เสพติดกับการที่ใช้เงินเพื่อซื้อการยอมรับนับถือก็ได้ แต่ผมอาจจะโชคดีที่พอใช้มือถือใหม่ ซื้อเสื้อผ้าแพงๆ มันก็เท่านั้น ไม่ได้มีความน่ากรี๊ดกร๊าดอะไรเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นผมเก็บสตางค์ไว้มีความสง่างามในชีวิตดีกว่า ไม่ต้องไปขอยืมเงินใคร ไม่ต้องหลบหน้าเจ้าหนี้ บางคน โอ้โฮ ชีวิตนายนี่ดูหรูหรา สไตลิสต์มากๆ แต่ปรากฏว่า ถ้ามีเจ้าหนี้โทรมา อย่าบอกมันนะ กูไม่ได้อยู่ที่นี่นะ หมดท่าเลย
เรื่องไหนที่คุณเต้ยยอมจ่าย อันนี้เต็มที่เลย
เงินที่จะมาช่วยทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ล่าสุดผมใช้เงินพาที่บ้านไปเที่ยวญี่ปุ่น ผมรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วสิ่งที่จะอยู่ติดกับเราจริงๆ คือของที่จับต้องไม่ได้ ผมเลยทุ่มเงินไปกับพวกความทรงจำดี ๆ มันอยู่นานกว่าครับ ผมบอกตัวเองนี่คือการใช้เงินฟุ่มเฟือยนะภานุมาศ นี่คือการใช้เงินเยอะมากของนาย เมื่อเทียบกับการใช้ชีวิตประหยัดในช่วงที่ผ่านมา แต่ว่าทำไมถึงยอมจ่าย เพราะเรารู้สึกคุ้ม จ่ายค่าประสบการณ์ ค่าความทรงจำร่วมกัน
คุณเติบโตมากับครอบครัวที่มีแนวคิดอย่างไร เหมือนคุณไหม
คุณพ่อผมเป็นนักหนังสือพิมพ์ คุณแม่เป็นแม่บ้าน บ้านเราเป็นครอบครัวคนจีน ฐานะปานกลาง พ่อทำงานอยู่ข้างนอกตลอดเวลา ไม่มีเวลามานั่งพูดคุยกับลูก เขาเป็นเป็นคนไทยเชื้อสายจีนยุคเก่าที่ไม่ค่อยแสดงความรักต่อกัน เราไม่ได้คุยอะไรมากมาย แต่เขาสอนเราทุกอย่างผ่านการกระทำ ไม่ได้สอนเป็นคำพูด พ่อผมเป็นคนทำงานที่เดิมตลอดชีวิตเขา เพราะฉะนั้นเรามีความคิดไม่เหมือนกันซะทีเดียว แต่หนังสือที่ผมเขียน เขาก็อ่านนะ ทำให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น
ผมว่าครอบครัวผมเหมือนหลายครอบครัวที่ไม่ค่อยสนิทกัน เพราะมีเวลาให้กันน้อย ผมเองโตมากับโรงเรียนประจำ ในช่วงที่ควรจะใกล้ชิดที่บ้านมากๆ ก็จะได้ยินจากเขาว่า เขาไม่ว่าง เขาทำงาน เพราะฉะนั้นหลังจากที่ลาออกครั้งสุดท้ายมา สิ่งหนึ่งที่ได้ชดเชยก็คือการได้กลับไปซ่อมแซมบ้าน ซ่อมครอบครัว กลับไปทำความรู้จักกันใหม่ สนิทกันใหม่ ถ้าผมยังคงเป็นมนุษย์ทำงานอย่างหนักหน่วงเหมือนเดิม รับรองว่าเราก็จะเกิดและตายไปโดยไม่รู้จักกันเลย
คุณพ่อคุณแม่น่าจะเป็นคนรุ่นที่ไม่เก๊ตกับการลาออกจากงานประจำใช่ไหม
ครับ เราต้องพิสูจน์ อย่างน้อยความทันสมัยสูงสุดของบ้านผมคือ เขาเปิดโอกาสให้เราตัดสินใจ แล้วต้องรับผิดชอบการตัดสินใจด้วยก็แล้วกัน อย่างทุกครั้งที่จะย้ายโรงเรียน รู้ไหมฮะว่าผมไม่ได้แค่เก่งเรื่องลาออกจากการทำงาน ผมย้ายโรงเรียนเก่งด้วย (หัวเราะ) พ่อแม่พยายามจะหาโรงเรียนดีๆ ให้ผม แต่ผมก็ไปค้นพบสิ่งที่ดีกว่าในแบบของผม ซึ่งไม่ใช่ชื่อเสียงโรงเรียนนะ ตอนลาออกจาก ม.3 ตอนนั้นผมอยู่โรงเรียนชายล้วน ซึ่งผมอยู่มา 7 ปีแล้วครับ วันหนึ่งผมได้ไปเล่นดนตรีที่โรงเรียนผู้หญิง คือเขาจะให้เด็กผู้ชายเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิง ไม่ให้มีปัญหาในอนาคต ก็เลยไปร่วมมือกับโรงเรียนหญิงล้วนอีกโรงเรียนหนึ่ง ให้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผมได้เป็นตัวแทนในการไปเล่นดนตรีในโรงเรียนหญิงล้วน เท่านั้นแหละ…
ชีวิตเปลี่ยน
ผมลาออกเลย (หัวเราะ) เฮ้ย ผมอยากอยู่โรงเรียนที่มีหญิงมากเลย คือเสียงผู้หญิงมันเพราะ ในโรงเรียนชายล้วนมันไม่มีเสียงเพราะๆ แบบนั้น วันนั้นผมก็ได้ยินเสียงที่เพราะที่สุดที่ผมเคยได้ยินมา แล้วผมก็ขอลาออกจากโรงเรียน เพราะผมอยากเรียนหนังสือกับผู้หญิงครับ
พ่อแม่ก็นับว่าใจกว้างมากนะคะ ไม่ตกใจกับเหตุผลเลย
อ๋อ ไม่ครับ ผมอ้างอย่างอื่น (หัวเราะ) ผมบอกว่าก็โรงเรียนที่ผมอยากไปมีความโดดเด่นทางวิชาการ ผมอยากจะไปพัฒนาความสามารถทางด้านนี้ ช่วงเวลานั้นเขาก็ไม่มีเวลามาก ก็ตอบแค่ เหรอ คิดดีแล้วหรือยัง ไปอยู่สวนกุหลาบไหม เซนต์ดอมินิกไหม ผมหนีๆๆ ไม่ๆๆ จะไปอยู่ชายล้วนอีกทำไม
จะว่าไปคุณก็เป็นคนปรับเปลี่ยนชีวิตตัวเองมาตั้งแต่เด็กเหมือนกันนะ
คงเพราะผมรู้สึกลึกๆ ว่าทุกอย่างมันจะไม่เกิดขึ้นโดยปล่อยชีวิตตามยถากรรม ผมพิสูจน์ได้อย่างนั้นนะ ทุกอย่างมันต้องปรับ ถ้าทัศนคติเราไม่ดี เราก็ต้องแก้ไขทัศนคติเรา ถ้าเรายังมีแผนที่ฉบับเก่าที่ล้าสมัยแล้ว เราก็ควรจะเปลี่ยนแผนที่ เรามีปัญหาเรื่องอื่นๆ เพราะเกิดจากการที่เราไม่เข้าใจมันในเชิงองค์รวม เวลาคุณฟังอะไรแบบนี้ คุณจะรู้สึกธรรมดา เพราะในยุคนี้ คนพูดแบบนี้เยอะ ตามหน้า Facebook ตาม twitter จะมีคำคมเกี่ยวกับชีวิต เกี่ยวกับความสุขเยอะมาก ผมว่าตอนนี้เรามีคำคมมากพอแล้วครับ ทุกคนมีคลังคำคมอยู่ในหัว แต่สิ่งที่เราขาดแคลนคือวินัยในการนำคำคมนั้นมาปฏิบัติ การพูดคำคมนั้นได้ไม่ได้แปลว่าเราสามารถนำมาใช้ได้นะครับ คนที่ทำมันได้ เขาจะรู้เลยว่ามันมีผลได้มากกว่าแค่จดจำความเฉียบคมของถ้อยคำ
ในฐานะที่คุณเต้ยเป็นคนที่เอาคำคมมาใช้ได้จริง ถ้าชีวิตแบบคุณจะมีข้อเสียบ้าง มันคืออะไร
ชีวิตอย่างผมเนี่ยมันอวดใครไม่ได้จริงๆ ครับ ชีวิตมันธรรมดามากเลย ไม่รู้จะมีมุมไหนที่จะเอาไปขึ้น instagram ได้ เพราะผมใช้ชีวิตอย่างประหยัด ต่อให้ไปญี่ปุ่นกับครอบครัว เราก็ไปกันแบบประหยัดมากครับ ใช้เงินกันน้อยมาก แล้วพอเราไม่ได้โพสต์อะไรพวกนี้นานๆ เข้า บางทีเราก็ไม่อยากทำไปเอง กลายเป็นความรู้สึกไม่อยากอวด บางทีมันทำให้คนบางคนในครอบครัวอื่นๆ เขาอาจจะรู้สึกไม่สบายใจ ทำไมเราไม่เป็นเหมือนเขา ทำไมเราไม่ไปเหมือนเขาบ้าง คือครอบครัวผมก็ไม่ได้ร่ำรวย ทริปมันเกิดขึ้นจากการอดออม เก็บเล็กผสมน้อยมา การไปต่างประเทศไม่ใช่ชีวิตประจำวันของเรา เที่ยวเมืองนอกสำหรับผมไม่ได้ไปกันได้ง่ายๆ แต่ผมจะเอาจุดพีคที่สุดในชีวิตมาอวดคนอื่น แน่นอนว่าอาจจะมีคนมากดไลก์ เพราะความดีใจชื่นชมของครอบครัวนี้ แต่ไม่รู้สิ ลึกๆ ผมก็รู้สึกว่า… แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร
ในเมื่องานประจำก็ไม่ต้องทำ ถามเลยว่าวันๆ คุณทำอะไรบ้าง
พอไม่ต้องใช้เวลากับการทำมาหากินแบบจริงจัง ก็นึกว่าจะมีเวลาว่างๆ ไว้ทำนู่นทำนี่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้วเวลาก็มีไม่เยอะหรอกครับ เพราะต่อให้ไม่มีงานประเภททำมาหากิน แต่งานในชีวิตไม่หมดไป หลายอย่างในบ้านต้องการคนว่างงานแบบผม คนที่มีเวลามาช่วยดูในสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำในบ้าน การ maintenance สิ่งต่างๆ ผมเป็นช่างไปแล้วตอนนี้ คือดูจาก YouTube มันก็ช่วย เมื่อก่อนผมเด็กอนามัย เด็กติ๋ม เด็กคุณหนูครับ ทุกวันนี้ผมเปลี่ยนมุ้งลวดได้นะครับ ใครสนใจติดต่อมาได้
ทำอะไรได้อีก โฆษณาเลยค่ะ
ผมเปลี่ยนน้ำยาหม้อน้ำได้นะครับ ผมทรงนี้ผมก็ตัดเอง (หัวเราะ) ผมซื้อปัตตาเลี่ยนมาจากห้างฟอร์จูน แล้วก็มาเปิด YouTube เรียน ปัญหาคือเวลาเราไปตัดผม คิวรอนานมาก แพงด้วย ตัดบางทีก็ไม่ถูกใจ และเราก็เรื่องมาก มีปากเสียงกับช่างอยู่เรื่อย ตัดเองก็ได้ ประหยัดเงินด้วย
ความหมายของความสุขวันนี้กับในอดีตเปลี่ยนไปไหมคะ
ถ้าตอนช่วงทำงานหนักๆ ความสุขผมก็เหมือนกับคนโดยทั่วไป คือเป็นความสุขที่ต้องใช้เงินจำนวนมากซื้อ ยิ่งใช้เงินมากยิ่งมีความสุขมาก เราจะมีคุณค่ามากก็ต่อเมื่อเราบริโภคมาก ยิ่งร้านอาหารแพง พนักงานก็ยิ่งแสดงความสุภาพกับเรา พูดกับเราเพราะๆ นั่นแสดงว่าเราได้จ่ายค่าความสุภาพ ซึ่งในยามที่เราเหนื่อยจากการทำงาน เราจะแสวงหาสิ่งเหล่านั้น อยากมีคนมาเอาอกเอาใจ มาพูดเพราะๆ กับเรา แต่เดี๋ยวนี้ สิ่งเหล่านี้สำหรับผมอาจจะลดลงไป เอาจานมากระแทกเราแบบนี้ก็ได้ บริการเราแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าแก่นของมันคืออาหารที่ดีและอร่อย ไม่ต้องบริการมากก็ได้ ความสุขก็จะง่ายขึ้น อย่างเมื่อวานครับ ผมเพิ่งช่วยภรรยาขายของใน Facebook แล้วยอดขายถล่มทลายครับ เราได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แล้วก็ผมคุยกับภรรยาว่า เฮ้ย ไปฉลองกันหน่อยดีกว่าวันนี้ ปรากฏว่าลงเอยอยู่แถวๆ คอนโดฯ เป็นร้านอาหารตามสั่งง่ายๆ นี่แหละ แต่ว่ามันสบายใจดีนะครับ คือสุดท้ายมันก็ไม่ต้องแลกด้วยการขึ้น sky lounge ไปกินบนยอดตึกมันก็สุขได้
สมมติเราเปรียบเทียบความสุข โดยให้ค่ามันเป็น 10 แต้ม ผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้ผมสามารถหากิจกรรมที่ได้ความสุขประมาณ 9 แต้มได้โดยที่ไม่ต้องใช้เงินในระดับ 10 เท่าเหมือนเมื่อก่อน สมัยก่อนถ้าเราไปยุโรป อันนี้ความสุข 9 แต้ม แต่เดี๋ยวนี้ได้นอนอยู่บ้านสบายๆ เล่นกับหมา มันก็ 9 แต้มเท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่แตกต่างจากเมื่อก่อนก็คือ เราค้นพบความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อเยอะ
อ้อ ถ้าให้แนะนำนะครับ ห่างจากโซเชียลฯ จะสบายใจ ปลอดโปร่งขึ้นเยอะจริงๆ ครับ
Fact Box
ภาณุมาศ ทองธนากุล จบการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยทำงานเป็นนักข่าวออนไลน์สายการตลาดและเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2544 และเปลี่ยนงานบ่อยกว่า 5 ครั้ง จนกระทั่งลาออกจากงานประจำครั้งสุดท้ายใน ปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันสมรสแล้ว ยังไม่มีบุตร และยังไม่ทำงานประจำ
ภาณุมาศมีผลงานเขียนในนามปากกา ‘ใบพัด’ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ a book มาแล้วกว่า 10 เล่ม อาทิ การลาออกครั้งสุดท้าย, นี่คือสิ่งสำคัญ, เราจะมีชีวิตที่ดี, เสียดาย... คนอินเดียไม่ได้อ่าน, ฟินแลนด์ไม่มีแขน, หัดเยอรมัน ฯลฯ