หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับใบหน้าชายคนนี้บนแผ่นป้ายหาเสียงสีเหลืองเจิดจ้า และวลีหลักอันชวนฉงนแต่ติดหูอย่าง ‘น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า’
เขาคือ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป อันที่จริงเขาไม่ใช่ตัวละครใหม่ทางการเมือง ที่ผ่านมา เขาเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ปี 2551 และ 2555) เป็นแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ผู้เข้ายื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบสภาสมัยบริหารของพรรคเพื่อไทย ที่มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวขบวน เขาเคยเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และร่วมร่างรัฐธรรมนูญกับ อาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโน ในฐานะคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อีกทั้งยังเคยเป็นนักธุรกิจพันล้านที่ประสบความสำเร็จจากธุรกิจจำหน่ายสินค้าเกษตรกรรม
จากคนที่เคยเป็นปฏิปักษ์ต่อการเมือง แต่คราวนี้นับเป็นครั้งแรกที่เขากระโจนสู่สนามเลือกตั้งในฐานะผู้ท้าชิงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อะไรคือเหตุผลที่เขาเปลี่ยนเส้นทาง และการ ‘น้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาทุกข์ร้อนให้ประชาชน’ ตามนโยบายของพรรค จะแปรเป็นรูปธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ได้มากน้อยแค่ไหน เชิญสำรวจความคิดของเขาร่วมไปกับเรา
ทำไมคุณไพบูลย์ถึงลุกขึ้นมาตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง
อันที่จริงพรรคนี้พัฒนามาจากคนที่ไม่ชอบเรื่องพรรคการเมือง ผมเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภา ทำให้เข้าใจว่าระบบการเมืองที่ล้มเหลว มักมีสาเหตุมาจากพรรคการเมือง พรรคการเมืองเป็นของนายทุน ใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือ เกิดการผูกขาดอำนาจต่างๆ
สมัยที่เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ช่วงที่ดำรงตำแหน่งก็ได้เห็นถึงกระบวนการทั้งหลาย ผมพยายามลดทอนอำนาจพรรคการเมืองลง แต่หลังจากศึกษาหลายเรื่องก็เข้าใจว่า ปัญหาการขับเคลื่อนทางการเมือง ถ้าไม่เป็นพรรคการเมืองเองก็แก้ไขไม่ได้ กลไกพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ปัญหาของบ้านเราคือ พรรคการเมืองของเราไม่เป็นประชาธิปไตย
แต่เราจะไปหวังให้พรรคการเมืองต่างๆ ปรับเปลี่ยนตามแนวคิดของเรา คงไม่มีใครทำ เลยคิดว่าทำไมเราไม่ตั้งพรรคของเราเองให้ดูเป็นตัวอย่าง พรรคที่เป็นของประชาชน เป็นเครื่องมือของประชาชน ดำเนินการโดยประชาชน เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ความจริงผมไม่เคยไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไหนทั้งสิ้น ช่วงที่มีการลงประชามติรัฐฐธรรมนูญเมื่อ 11 มีนาคม 2559 เมื่อผลการลงประชามติเป็นไปอย่างที่คาดไว้ ทั้งเรื่องของคำถามพ่วงด้วย ผมจึงประกาศตั้ง ‘พรรคประชาชนปฏิรูป’ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2559 และระดมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาร่วมกัน เราถือว่าพรรคการเมืองต้องดำเนินการทุกอย่างด้วยความเปิดเผย โปร่งใส และตรงไปตรงมา ดังนั้นสิ่งที่เราพูดไปก็เป็น ‘สัญญาประชาคม’ เราพูดอะไรเราก็จะทำสิ่งนั้น
หัวใจหลักของพรรคอยู่ที่สภาประชาชนปฏิรูปจังหวัด ความเป็นมาของพรรคคงมาจากความต้องการปฏิรูปพรรค ปฏิรูปการเมือง แต่เมื่อดูแล้วพรรคที่มีอยู่ตอนนี้ทั้งหน้าใหม่-เก่าคงทำไม่ได้ เราเลยตั้งพรรคเพื่อให้เป็นเสาหลักของการเปลี่ยนแปลง
นโยบายหลักของพรรคที่ว่าจะตั้งให้พรรคอื่นดูเป็นตัวอย่าง มีอะไรบ้าง
พรรคมีนโยบายอยู่ 3 ข้อ ซึ่งนโยบายของพรรคก็จะแตกต่างกับพรรคอื่น
- น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติ เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนให้ประชาชนอย่างยั่งยืน นี่เป็นนโยบายและหลักการสำคัญที่สุดของพรรค เพราะเราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนนั้น การใช้กฎหมายอย่างเดียวแก้ไขปัญหาไม่ได้อย่างจริงจัง
ในคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น สอนให้เรารู้ว่าทุกข์เป็นอย่างไร หนทางในการลดความทุกข์ วิธีการพ้นทุกข์เป็นอย่างไร ดังนั้นก็ถือว่า ถ้าเราปลุกกระแสสังคมให้ประชาชนสนใจน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาแก้ปัญหาความทุกข์ร้อนต่างๆ ให้กับตัวเองและบุคคลอื่น ก็จะเป็นหนทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชนรวมถึงพรรคการเมืองอื่นด้วย
ถ้าน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติก็จะลดปัญหาในการเมือง สังคม การบริหารประเทศลงได้ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีงาม ถูกต้อง แต่พรรคการเมืองต่างๆ ไม่นำมาเสนอ เพราะพรรคการเมืองมักจะนำเสนอนโยบายที่สวยหรูแต่ทำไม่ได้ หรือมีแต่วาทกรรม ด่าทอกัน เอาแต่สิ่งที่ไม่ดีเข้าสู่ช่วงหาเสียง
- เพิ่มอำนาจให้ประชาชน เรามองว่าเราจะใช้กลไกของสภาปฏิรูปประชาชนจังหวัด ซึ่งมีอยู่จังหวัดละ 1 แห่ง สภาปฏิรูปจะเป็นที่ให้ประชาชนใช้ระบอบประชาธิปไตยทางตรงในการประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความทุกข์ร้อนของประชาชนที่อยู่ในจังหวัดนั้นๆ ปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น ซึ่งประชาชนก็จะร่วมตรวจสอบถ่วงดุลกับภาครัฐในจังหวัด และร่วมหาแนวคิดเกี่ยวนโยบาย เป็นประชาธิปไตยทางตรงเพื่อให้ประชาชนมีบบาทในการกำหนดนโยบายมากขึ้น
และเพื่อที่จะตอบสนองต่อความตั้งใจของพรรคที่มุ่งหวังให้พรรคประชาชนปฏิรูปเป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ การกุศลระดับชาติ ก็จะผ่านความเห็นชอบจากสภาประชาชนปฏิรูปทั้ง 77 จังหวัด นี่เป็นนโยบายทั้งสองข้อที่ไม่จำเป็นต้องทำหลังเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐบาล หรือไม่จำเป็นต้องไปรัฐมนตรีกระทรวงนู้นนี่ ซึ่งนโยบายเหล่านี้เราทำแล้ว และหลังเลือกตั้งก็จะทำต่อไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นหรือไม่เป็นรัฐบาลเลย
- ผลักดันให้พรรคเป็นฝ่ายคุณธรรม เราต้องการปลุกกระแสว่าพรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นแหล่งซ่องสุมของผลประโยชน์ บุคคลที่แสวงหาอำนาจ เราหวังให้พรรคเป็นแหล่งหนึ่งที่คนมาทำงานเพื่อปฏิรูปพรรค ปฏิรูปการเมือง ให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ซึ่งนโยบายข้อนี้เป็นนโยบายต่อเนื่องกับข้อที่ 1 และจะใช้กลไกข้อที่ 2 มาดำเนินการให้ไปสู่เป้าหมาย เราจะดำเนินการทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งหลักการหนึ่งของข้อนี้คือ เราต้องปฏิเสธเรื่องอามิสสินจ้าง ไม่มีการซื้อสิทธิ์ซื้อเสียงใด ต้องทำให้การเมืองบริสุทธิ์และประชาชนมีส่วนร่วม
สิ่งเหล่านี้เป็นหลักการการของพรรค 3 ข้อ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อกำกับทุกอย่างให้เป็นไปตามแนวทางนี้
ข้อที่หนึ่งเป็นหัวใจหลักที่เรายึดเป็นแนวทาง คือจะสร้างการเมืองที่ดี โดยการปลุกกระแสสังคมให้น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนอย่างยั่งยืน
ช่วยขยายความ ‘น้อมคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติฯ’ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ตรงนี้ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้เราต้องปลุกกระแสสังคมให้ย้อนมาคิด เพราะถ้าดูคำสอนของพระพุทธเจ้าตั้งแต่ 2,600 ปีที่ผ่านมา พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ถึงกระบวนการของความทุกข์ที่เกิดขึ้น ความทุกข์จากความอดอยาก ยากจน ความไม่รู้จักพอ หรือความโกรธเกลียดทั้งหลาย มันไม่ได้เกิดขึ้นเดี๋ยวนี้ แต่มันเกิดขึ้นเมื่อ 2,600 ปีที่แล้วเช่นกัน
พระพุทธเจ้าได้ค้นพบว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวง เกิดจากการปรุงแต่ง ปัจจุบันนี้ก็ชัดเจนว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เป็นเรื่องของการทำงานของสมองและระบบประสาท ซึ่งความรู้วิทยาศาสตร์ตอนนี้ก็ยังไม่เท่ากับพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกอย่างล้วนปรุงแต่งทั้งสิ้น เกิดจากความคิด สมอง เช่น เราบอกว่าเรายากจน แต่ที่จริงมันเกิดจากความอยากหรือไม่ หลายๆ ครั้งคนที่ไม่มีกลับไม่ทุกข์ คนที่มีกลับทุกข์มากกว่าเสียด้วย ซึ่งเกิดจากความไม่พอ
แต่ถ้ามนุษย์เข้าใจแก่นของพระพุทธเจ้าจริงๆ ว่า ทุกอย่างมีเหตุปัจจัย เกิดจากการปรุงแต่งขึ้น ทำไมเราไม่ปรุงแต่งให้มันดีซะ คือมีชีวิตแบบพอเพียง และมีความพอใจในสิ่งที่ตนเองมีอยู่
รวมกระทั่งคำสอนที่ผมชอบที่สุดคือ ‘อยู่กับปัจจุบัน’ คนเรามักจะมองย้อนไปในอดีต และหวนคิดถึงมัน หรือไปกังวลกับอนาคต—ก็ทุกข์ พระพุทธเจ้าจึงสอนให้อยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับปัจจุบันจะช่วยทำให้สติอยู่กับปัจจุบันและความทุกข์ลดน้อยลง
ถ้ามีหลักคิดในเรื่องคำสอนของพระพุทธเจ้า คืออย่าไปอยากได้อยากมีมาก เอาแต่พอเพียง และทำทุกอย่างให้สุจริต เป็นหนทางที่ดีที่สุด ผมเชื่อว่าหลักนี้จะสามารถแก้ปัญหาของสังคมได้ทั้งหมด ทุกอย่างจะลดปัญหาลง
แต่ผมไม่ได้หมายถึงอย่าไปช่วยอะไรประชาชนเขาเลย หนทางที่เพิ่มรายได้ก็ต้องเพิ่มกันไป แต่ในขณะเดียวกัน ก็ให้น้อมนำคำสอน อย่าไปอยากได้จนตัวเองลำบาก ถ้าเราน้อมนำคำสอนมาปฏิบัติ มันจะเป็นพื้นฐานที่ดี และต่อยอดกับการช่วยเหลือโดยกลไก หรือนโยบายเศรษฐกิจ มันก็จะมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ดังนั้น ทำไมไม่สร้างสังคมที่พอเพียง น้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งสังคมเราสามารถเจริญได้ แถมมั่นคงทางจิตใจด้วย คนจะมีความสุข ดัชนีชี้วัดประชาชาติจะชี้วัดทั้งความสุขและความเติบโตทางเศรษฐกิจได้ด้วย ไม่ใช่มีแต่ตัวเลข GDP อย่างที่บอกว่าสูงขึ้นมากมาย แต่กลับไปกระจุกตัวและสร้างความสุขแค่ในกลุ่มหนึ่ง แต่ในอีกกลุ่มกลับไม่พอใจ ไม่มีความสุข รู้สึกเหลื่อมล้ำ
สิ่งเหล่านี้ถ้าทุกฝ่ายน้อมนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปฏิบัติแล้ว สังคมเราจะเดินหน้าไป โดยที่เจริญทั้งทางจิตใจและวัตถุ โดยเฉพาะนักการเมือง เพราะไม่รู้จักพอในการแสวงหาทั้งอำนาจและผลประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการเบียดบังทั้งเงินของราชการและประชาชน เราเลยคิดว่าสังคมควรปลุกกระแสให้คนเข้าถึงแก่นตรงนี้ขึ้นมา
เราไม่ได้พูดถึงเรื่องพิธีกรรม หรืออะไรที่ไม่ใช่แก่นของพระพุทธเจ้า เราเน้นว่าให้ศึกษาคำสอนและนำมาปฏิบัติ แล้วจะแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อนได้อย่างแท้จริง
ถ้าหากคุณไพบูลย์ได้ร่วมเป็นรัฐบาล จะนำแนวคิดนี้ไปใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร
ทำไมเราต้องเป็นรัฐบาลถึงค่อยทำ เพราะพรรคเราตั้งมาด้วยเหตุผลนี้ ดังนั้นจึงแตกต่างกับพรรคการเมืองหลายพรรคที่มีเงื่อนไขมากมาย เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเราค่อยทำตอนเป็น ส.ส.เราไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น เราทำตั้งแต่ตั้งพรรค แนวทางเหล่านี้อยู่ในข้อบังคับของพรรค เราพยายามสร้างกระบวนการนำเสนอ ตอนนี้ก็ติดป้ายหาเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งหลายคนที่ละเลยไปตั้งนานแล้วก็ฉุกคิดขึ้น
ในขณะเดียวกัน เมื่อเลยช่วงเลือกตั้งไปแล้ว เราก็ยังจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนศึกษาเรื่องหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าอยู่ รวมถึงเรื่องของนโยบายการศึกษา ซึ่งไม่จำเป็นที่เราต้องมุ่งศึกษาทั้งหมดในเรื่องของวิชาการ เพื่อที่จะมุ่งหาอาชีพกันอย่างเดียว ควรจะเป็นการศึกษาที่มุ่งพัฒนาจิตใจด้วย ต้องสร้าง EQ ไม่ใช่ IQ อย่างเดียว
ทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายถึงแง่มุมของศาสนา แต่มันคือการนำคำสอนของพระพุทธเจ้ามาปรับใช้ และทำให้พัฒนาจิตใจ ความเข้าใจ การอยู่ในสังคมและการเรียนรู้ต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการอยู่กับปัจจุบัน ไม่ว่าวัยไหนถ้าเรียนรู้เรื่องเหล่านี้จะทำให้เป็นคนทำอะไรต่างๆ ดีขึ้น มีสติและความทุกข์น้อยลง
ผมย้ำอีกทีว่า ไม่ใช่เรื่องของศาสนา แต่เป็นการนำองค์ความรู้ของพระพุทธเจ้ามาศึกษาเพื่อปรับใช้ คำสอนไม่ใช่ต้องเอามาท่องจำ แต่ต้องนำมาปฏิบัติ เขาถึงว่าอัศจรรย์คำสอนของพระพุทธเจ้ามีมาก และสอดรับกับการศึกษาในปัจจุบัน ในเรื่องของสมอง ระบบประสาท ความคิด เราจึงควรที่จะลองดู
การนำคำสอนในพุทธศาสนาเป็นตัวนำร่อง ในขณะที่พลเมืองไทยมีการนับถือศาสนาที่หลากหลาย จะกลายเป็นส่วนทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราไหม
เราไม่ได้สอนเรื่องประวัติพระพุทธศาสนา เราสอนวิธีการที่จะเอาหลักคิด แนวทางมาใช้ ตอนนี้ในต่างประเทศกำลังนิยมที่จะศึกษาเรื่องสมาธิ อย่างการศึกษาสมาธิของพระพุทธศาสนานั้น ไม่จำเป็นต้องนับถือศาสนาพุทธแล้วค่อยมาศึกษาสมาธิ สมาธิเป็นของสากล ในสังคมตะวันตกนับว่าการฝึกสมาธิเป็นการพัฒนาจิตใจ พัฒนาบริบทของเรื่องความคิด ซึ่งสิ่งนี้สังคมไทยกลับไม่ทำเรื่องนี้กันอย่างเต็มที่ กลายเป็นว่าเอาเรื่องสมาธิไปผูกเข้ากับเรื่องพระพุทธศาสนา
แต่ว่าเราต้องพยายามให้ชัดว่าเรื่องนี้กับเรื่องศาสนาเป็นคนละเรื่องกัน
พรรคของคุณไพบูลย์คาดหวังว่าจะได้ที่นั่งในสภามากน้อยแค่ไหน
เราก็จะไม่ฝืนกับคำสอนพระพุทธเจ้าอีกแหละ เพราะมันเป็นการไปคิดถึงอนาคต พอคาดหวังแล้วไม่ได้ตามที่หวังก็เสียใจ ทุกคนก็คิดไว้บ้างแหละ แต่พอคิดปั๊บก็ดึงกลับปุ๊บว่าต้องอยู่กับปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปคิดอะไรเยอะ
การเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนแบ่งเป็นสองฝ่าย ระหว่างฝ่ายของ คสช. กับฝ่ายที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. พรรคประชาชนปฏิรูปเลือกฝ่ายไหน
ทำไมเราต้องเลือกด้วยล่ะ เพราะเรามองว่าทุกพรรคได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทั้งสิ้น เมื่อได้รับเลือกตั้งจากประชาชนก็เป็นประชาธิปไตย แต่ละคนที่เข้าไปนั่งในสภาก็มีเอกสิทธิ์ เราต้องเคารพความคิดเห็นของทุกคน ใครจะชอบคนไหนมันเป็นสิทธิ์ของเขา ไม่ใช่เป็นเหตุที่จะต้องไปเกลียดเขา เขาใช้เอกสิทธิ์ของเขา ใช้ความคิดเห็นของเขา นั่นคือความสวยงามของประชาธิปไตย
อย่างผมเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ (จันทร์โอชา) ดีกว่าคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธ์ุ) ดีกว่าคุณอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) มีความสามารถมากกว่า มีความเหมาะสมมากกว่า หมายถึงในปัจจุบันนะ ไม่ได้หมายความว่าพลเอกประยุทธ์ดีที่สุดในใต้หล้า แต่หมายถึงเมื่อเปรียบเทียบกับคนเหล่านี้ในห้วงเวลาที่จะเดินหน้าต่อไป
ถ้าผมคิดว่าอะไรมันเป็นประโยชน์ผมก็จะสนับสนุน ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองคนเป็นคนไม่ดี หรือเป็นคนไม่มีความสามารถ แต่ผมว่าโดยองค์รวมแล้วพลเอกประยุทธ์เหมาะกว่า มันก็เป็นสิทธิ์ในความคิดเห็นของผม
ช่วยขยายความคำว่า ‘เหมาะกว่า’
เหมาะกว่าหรือดีที่สุดคือ การชั่งน้ำหนักโดยการใช้ดุลพินิจ โดยส่วนตัวมองว่า พลเอกประยุทธ์ไม่มีข้อทุจริต เรื่องที่สอง เขาก็เป็นคนดีในนิยามของผม รักครอบครัว ไม่มีเรื่องเสียหาย ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น มีความสามารถ ผมประเมินว่าเป็นนายกฯ มา 5 ปี ดูแลประเทศได้ขนาดนี้ถือว่าใช้ได้
โดยบริบทและเห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศ ผมก็คิดว่าผมสนับสนุนเขา มันก็เป็นดุลพินิจส่วนตัวที่ผมจะต้องทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็ต้องกล้าที่จะคิดในวิถีของเราแล้วก็ทำไป ผมคิดว่าพลเอกประยุทธ์เหมาะกว่าทุกคน แค่นั้นจริงๆ ไม่ได้เป็นวาทกรรมเรื่องฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายเผด็จการ หรือสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ อันนั้นเป็นวาทกรรมของฝ่ายการเมืองที่ต้องการปลุกปั่น สาดกระแสใส่กัน ชิงดีชิงเด่นกันจนร้อนรุ่มเป็นปัญหาขัดแย้งกันตลอด 12 ปีที่ผ่านมา
คุณคิดว่าคำว่า ‘เผด็จการ’ เป็นเพียงวาทกรรมทางการเมืองหรือ
แน่นอน! พอๆ กับคำว่าคุณทักษิณ (ชินวัตร) เป็นเผด็จการรัฐสภา หรือการสืบทอดอำนาจเมื่อใช้กับทาง คสช. ที่มีปัญหาทุกวันนี้ เพราะเวลาคิดก็คิดตามที่ตัวเองเข้าใจ คิดตามสิ่งที่ถูกป้อนเข้าไปทั้งๆ ที่มันจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้
ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า ไม่มีใครเลวร้ายสุดๆ อย่างที่เขาว่าหรอก แต่ก็ไม่มีใครดีสุดๆ อย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งยกย่องเหมือนกัน ทุกคนมีทั้งดีมีทั้งเลวอยู่ในตัวเอง
แต่ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ภายใต้รัฐบาล คสช. อำนาจการปกครองเหล่านี้ไม่ได้มีที่มาจากการเลือกของประชาชน
เขาก็บอกอยู่แล้วว่ายึดอำนาจมา ไม่ได้บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่มันก็เป็นอดีต มันจะผ่านไปอยู่แล้วอีกไม่กี่วัน ไปพูดย้อนกันไปมันก็เลยออกไปอีก
ผมไปพูดที่ธรรมศาสตร์ ผมบอกว่าทำไม คสช.ยึดอำนาจ ผมเป็นคนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเพื่อโค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แต่ผมไม่ได้ตั้งใจจะให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ผมแค่ต้องการจะให้ประชาชนกลับบ้าน ผมกลัวว่าประชาชนเขาจะแพ้
คุณยิ่งลักษณ์ทำผิดกฎหมาย ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบรัฐบาลก็ต้องตั้งรัฐบาลใหม่เป็นการชั่วคราว แต่เมื่อเงื่อนไขมันมาถึงจุดหนึ่งที่เป็นทางตัน มันไปต่อไม่ได้ พรรคเพื่อไทยเองก็ไม่ยอมที่จะให้มีการพบกันครึ่งทาง มันก็เลยเกิดการรัฐประหารยึดอำนาจขึ้น ไม่ใช่ว่าทหารอยู่ดีๆ จ้องจะยึดตั้งแต่ต้น เขาพยายามที่จะหาทางออกไปในทางที่สามแล้ว แต่มันไปไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องยึดอำนาจ
ทีนี้ต้องดูกันก่อนว่า อะไรคือสาเหตุของการออกมาชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ผมสรุปเอาไว้ในนั้นว่าการรัฐประหารมีมูลเหตุมาจากการที่นักการเมืองลุแก่อำนาจ รู้ว่าตัวเองคุมเสียงในสภามากพอเลยอยากจะแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าเค้าไม่ลุแก่อำนาจ ใครจะไปสร้างเหตุการณ์ชุมนุม กปปส. ขึ้น ทำไมผมจะต้องไปฟ้องล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และทหารจะออกมาทำการรัฐประหารได้อย่างไร ทุกอย่างต้องคิดถึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น
ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่การเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งแล้วหลักจากนั้นเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยใช่หรือไม่ ผมบอกกับฝ่ายที่บอกว่าตัวเองเป็นฝ่ายประชาธิปไตยว่า ฝ่ายประชาธิปไตยมันมีอยู่เฉพาะบางพรรคหรือ ใครที่ไม่อยู่ข้างตัวเองกลายเป็นไม่ประชาธิปไตยอย่างนั้นหรือ
เสียงของประชาชนสิบกว่าล้านคนตัดสินว่า เห็นด้วยกับการที่ให้ ส.ว. มาเลือกนายกฯ แต่คนบางกลุ่มกลับสรุปว่าการทำประชามติครั้งนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย กลายเป็นว่าการเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยมันก็มาอยู่ที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมาตัดสิน
ดังนั้นผมก็อยากจะฝากเพียงแค่ประเด็นเดียวคือ ทุกอย่างที่นักการเมืองพูดก็เพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งสิ้น ผมไม่ได้พูดถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนะ แต่ผมพูดถึงทุกฝ่าย รวมทั้งผมด้วย
แต่ที่สำคัญคือ เราต้องมั่นใจในจุดยืนที่นำเสนอออกไป ประชาชนที่ติดตามแต่ละพรรคก็ควรรู้ว่านักการเมืองทั้งหลายล้วนพูดจากจุดยืนของเขาทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าเราฟังจุดยืนเดียว เราก็เห็นด้านเดียว
อยากให้คุณไพบูลย์ช่วยอธิบายคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ตามความเข้าใจของคุณให้ฟังหน่อย
ประชาธิปไตยในมิติทางภาษาหรือทางระบอบก็คือ การยึดหลักเสียงข้างมากเพื่อมาตัดสินเรื่องต่างๆ ในสมัยพระพุทธเจ้า ท่านก็ใช้หลักการนี้ในการการปกครองสงฆ์ หลายเรื่องต้องใช้เสียงข้างมาก หลายเรื่องก็ต้องใช้มติที่เป็นเอกฉันท์ของที่ประชุมสงฆ์
พระพุทธเจ้าวางหลักไว้คือความเท่าเทียมที่ไม่มีวรรณะ และให้มีส่วนร่วมในการพิจารณาแก้ปัญหาต่างๆ แต่ที่แตกต่างกันก็คือนอกจากใช้มติแล้ว ยังต้องใช้ความถูกต้องด้วย
ดังนั้นประชาธิปไตยก็ต้องกำกับด้วยความถูกต้องและกฏหมาย แต่ไม่ใช่ว่าผมปฏิเสธเรื่องเสียงข้างมาก ผมเป็นฝ่ายที่สนับสนุนหลักการเรื่องประชามติ ผมคิดว่าหลายเรื่องจะต้องให้ประชาชนมาตัดสินด้วยประชามติ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน ผมเห็นด้วยกับระบอบประชาธิปไตยทางตรง
สิ่งที่สำคัญคือ ประชาธิปไตยกลายเป็นคำกล่าวอ้างถึงที่มาของอำนาจ เมื่อประชาชนเลือกมาถือว่าทำอะไรก็ถูกต้อง ผมไม่เห็นด้วย ผมไม่เชื่อว่าคนที่ได้รับการเลือกโดยประชาชนแค่ไม่กี่หมื่นคนจะกลายเป็นมนุษย์ทองคำ หรือมีความชอบธรรมแตกต่างจากคนธรรมดาตรงไหน
สรุปว่าคุณมีความเห็นอย่างไรกับการรัฐประหารยึดอำนาจของ คสช.ในปี 2557
ผมถือว่ามันมีเหตุมันเลยเกิด แต่ถ้าถามผมว่าอยู่นานแล้ว—ดีไหม ก็ไม่ดี
ถ้าอย่างนั้นลองช่วยให้คะแนนการทำงานตลอด 5 ปีของรัฐบาล คสช.
ด้านความสงบดีทุกอย่าง ด้านเศรษฐกิจดีกว่าปี ’57 ด้านความรู้สึกอิสระสู้ปี ’57 ไม่ได้ อิสระในการแสดงความคิดสู้ปี ’57 ไม่ได้ เรื่องทุจริตคอร์รัปชันก็ดีกว่า มีการปราบอะไรกันเยอะแยะ
แล้วอย่างเรื่องนาฬิกาเพื่อน…
นาฬิกาเพื่อนเป็นการทุจริตหรือเปล่าล่ะ? ทุจริตเงินรัฐหรือเปล่า?
แต่กรณีนี้ก็ถือเป็นข้อกังขาของสังคมในวงกว้าง
มันเป็นเรื่องของหลักฐาน เปรียบเทียบกับกรณีของคุณสุพจน์ ทรัพย์ล้อม (อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม) รถตู้ที่ว่ามีปัญหานั้นมันอยู่ในบ้านของคุณสุพจน์ในขณะที่ตำรวจเข้าไปจับ ตำรวจอายัดรถไว้แล้วนำไปสอบก็เลยรู้ว่าเป็นรถทะเบียนหนึ่งที่ใส่ชื่ออีกคนหนึ่ง แล้วคนนั้นก็บอกว่ารถคันนี้ซื้อให้ภรรยาคุณสุพจน์ ซึ่งถ้าหลักฐานอย่างนี้คุณสุพจน์ก็ต้องถูกกล่าวหาว่าไม่เปิดเผยบัญชีทรัพย์สิน
ทีนี้มาเปรียบเทียบกับนาฬิกาของพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ถ้าเกิดตำรวจเข้าไปจับในบ้านพลเอกประวิตรแล้วไปเจอนาฬิกา 20 เรือนอยู่ในบ้านพลเอกประวิตร มันก็คนละเรื่องนะ แต่นี่มันกลายเป็นมีแต่รูปภาพที่มีนาฬิกา ก็ทำให้เขาต่อสู้ว่ามันไม่ใช่นาฬิกาของเขา มันก็เข้าข้อกฎหมายแล้ว ทั้งหมดมันก็มีกฎหมายอธิบาย ผมก็มองไปตามรูปแบบ ก็คือตอนนี้ที่เอาพยานหลักฐานกันก็คือนาฬิกา—โดยรูปภาพนะ โดยภาพถ่าย เข้าใจนะ ภาพถ่ายนะ ลองคิดให้ดีนะ….
ผมไม่ได้ไปรับรองความถูกต้องของพลเอกประวิตรนะ แต่ผมให้ความเห็นทางกฎหมายเท่านั้น
หากมองในแง่ของพุทธศาสนา การใส่นาฬิกาหรูหราราคาแพงเพื่อแสดงฐานะ เข้าข่ายไม่พอเพียงไหม
พุทธศาสนาบอกว่า ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็อย่าไปวิจารณ์คนอื่น มันเป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าถามความเห็นส่วนตัว ผมก็ตอบว่า มันไม่ควร แล้วมันก็ไม่ใช่มีเฉพาะอย่างนั้น คุณทักษิณ (ชินวัตร) ก็มี นักการเมืองก็มีหมดทุกคน ถ้าเราจะไปวิจารณ์เรื่องนี้ก็ต้องวิจารณ์ทุกคนใช่ไหม? อย่าไปจ้องแต่วิจารณ์เฉพาะคนเดียว ตัวผมใช้วิธีไม่วิจารณ์ แต่พรรคเราต้องไม่ทำอย่างเขา
ผมไม่มีนาฬิกาที่จะต้องมีปัญหา ผมไม่มีสร้อยทอง ไม่มีแหวนเพชร ไม่มีอะไรสักอย่าง ไม่มีไม่ใช่เพราะไม่มีปัญญาจะมี เป็นเพราะว่าผมไม่เห็นว่ามันจะจำเป็นอะไร ในเมื่อผมเห็นว่ามันไม่เห็นจำเป็นอะไร คนอื่นเขาเห็นว่าจำเป็นอะไร ก็แล้วแต่เขา เราก็ไม่อยากจะไปพูดเรื่องนั้น
คุณไพบูลย์มีความเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คิดว่ามีรอยรั่วตรงไหนที่อยากปะบ้างหรือเปล่า
ถ้าเอาใจผม ก็เยอะมาก แต่ว่าเราเอาใจคนเดียวมาคิดไม่ได้ ถ้าถึงวันหนึ่งตกผลึกกันแล้วมีประเด็นไหนที่เห็นพ้องต้องกันว่าควรแก้ ถึงค่อยแก้ แต่ถ้ายังไม่ทันไรเลย เราไปตั้งอคติว่ารัฐธรรมนูญต้องตรงอย่างที่เราต้องการหมด ผมว่าไม่ใช่นักประชาธิปไตย เอาความเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ เอาตัวเองเป็นตัวตัดสินทุกอย่าง
หลักการของประชาธิปไตยอีกข้อที่สำคัญคือ ธรรมาธิปไตย ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้และมีผลบังคับใช้ เราก็ต้องไปตามรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐธรรมนูญระบุให้เราแก้ได้ ก็แก้ไปตามรัฐธรรมนูญระบุ
ตอนนี้ยังไม่ทันไร เปิดมาวันแรกก็รบกันเรื่องรัฐธรรมนูญ มันก็เท่ากับเราย้อนกลับสู่สมัยปี ’51 รัฐบาลพรรคพลังประชาชน (สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ) และปี ’57 วิกฤตการณ์การเมืองไทยล้วนแล้วมาจากความพยายามแก้รัฐธรรมนูญทั้งสิ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ถ้ามันเป็นเรื่องของการหาเสียง มันก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรค แต่สำหรับผม ถ้าถามว่ามองว่ารัฐธรรมนูญเป็นยังไง ทุกคนมีมุมมองที่ทั้งดีทั้งไม่ดีต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทั้งสิ้น ถึงอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตาม แล้วเราค่อยหาทางแก้
สำหรับมาตรา 44 ซึ่งถูกใช้ในช่วงปรับปรุงความสงบ แต่เมื่อผ่านกระบวนการเลือกตั้ง มาตรา 44 ก็ไม่มีผลบังคับอีกแล้ว ผลงานเรื่องความสงบก็คู่มากับผลงานที่หลายฝ่ายบอกว่า ถูกดำเนินคดี ปิดปาก หรือถูกไม่ให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งผมเห็นใจเขา ผมเห็นใจฝ่ายที่ถูกดำเนินคดีในการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐ ผมเห็นใจ แต่กฎหมายก็เขียนเอาไว้
ผมเคยผ่านการชุมนุมกับ กปปส. ผมเห็นว่าการต่อต้านกฎหมาย ต่อต้านรัฐ เอาเข้าจริงๆ แล้ว มันไม่คุ้มหรอก สุดท้ายบาดเจ็บ ล้มตาย เสียชีวิต แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้ประโยชน์ทั้งหลายคือ ตาอยู่ทั้งหลาย คนที่ได้ประโยชน์มักจะไม่ใช่คนที่ไปต่อสู้หรือไปเสียสละ
ตั้งแต่นี้ไป ส่วนตัวผมจะไม่สนับสนุนให้มีการชุมนุมอีกแล้ว ผมจะใช้วิธีการประชุมสภาประชาชนปฏิรูป ให้ประชาชนมามีบทบาททางการเมือง แทนที่จะออกไปชุมนุม ผมไม่เห็นด้วยที่จะไปปะทะกับอำนาจรัฐในเวลาที่กฎหมายเขียนห้ามไว้ การแสดงออกก็ต้องระมัดระวังแล้วก็ถนอมตัวกันไว้ แล้วถึงวันหนึ่งก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม
หลายคนมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ และระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ เอื้อประโยชน์ต่อพลเอกประยุทธ์ ถ้าเอาคำว่า ‘คุณธรรม’ หรือ ‘ธรรมาธิปไตย’ เป็นมาตรวัด คุณไพบูลย์มีความเห็นอย่างไรบ้าง
ผมมองว่าระบบการเลือกตั้งไม่น่าจะเอื้ออะไรกันมาก แต่ที่เขาพูดกันน่าจะเป็น ส.ว. ซึ่งมาจากคำถามพ่วงในรัฐธรรมนูญตอนที่ลงประชามติ ในส่วนการเลือกตั้ง พอถึงเวลาประชาชนไปลงคะแนนในคูหา คสช.ไปคุมประชาชนได้ไหม สิ่งที่สำคัญที่สุดต้องมองว่า มีอิสรเสรีในการกาไหม
แต่ส่วนที่บอกว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐเอื้ออำนาจรัฐ ผมเห็นว่าเวลาพรรคการเมืองเป็นรัฐบาลเขาก็ทำอย่างนี้กันหมด อย่างประเด็นที่บอกว่าหาเสียง 126 เสียง และเอาไปรวมกับเสียงของ ส.ว. 250 เสียง และค่อยไปหา ส.ส.จากพรรคอื่นเพิ่มให้ได้ 250 ผมก็พูดว่าแล้วมันผิดตรงไหน ถ้าคุณจะจัดตั้งรัฐบาลและไปหา ส.ส.ให้ได้ 250 เสียง มันผิดตรงไหน
ผมไม่ได้ปกป้องคุณประยุทธ์หรือพรรคพลังประชารัฐ ผมก็พูดตรงๆ ในหลายเวทีว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นคู่แข่งกับผม เพราะทุกพรรคก็เสนอตัวให้ประชาชนเลือก เราก็เป็นคู่แข่งกันหมด แต่สำหรับเฉพาะพลเอกประยุทธ์ที่เราประกาศเจตนารมณ์ว่า ถ้าเราได้ ส.ส.เข้าไปในสภา เราจะใช้สิทธิ์นั้นเลือกพลเอกประยุทธ์เท่านั้นเอง
เท่าที่คุณลงพื้นที่หาเสียงมาระยะหนึ่ง บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง
เรื่องหาเสียงของผมไม่ได้ทำเหมือนพรรคอื่น ผมว่าคนอื่นว่าไปจัดเวทีปราศรัยใหญ่และขนคนมาฟังกัน ต่อว่าเขาว่าอยู่ดีๆ วันดีคืนดี ผมก็จะไปเที่ยวไหว้ผู้คนไปหมด เพราะอยากได้เสียง ผมทำไม่ได้หรอกแบบนั้น มันไม่ใช่จริตเรา เราไม่ไปทำแบบเขาแน่นอน เรายังไม่ชอบพูดคำว่าหาเสียงเลย เราชอบพูดว่าเราเสนอพรรคไปก็แล้วแต่ประชาชนพิจารณา เพราะเดี๋ยวเดินไปไหนแบบนักการเมือง มองหน้าประชาชนเป็นคะแนนเสียงไปหมด ผมว่ามันไม่ควรเป็นแบบนั้น
ผมคิดว่ามันต้องจริงจังและจริงใจ ที่จริงโดยรวมแล้วการทำงานการเมืองต้องการการทำงานแบบต่อเนื่องมากกว่า ทำงานสภาประชาปฏิรูป ทำงานช่วยเหลือประชาชน และถ้าประชาชนเขาเห็นประโยชน์ต่างๆ ก็มีผู้สนับสนุนเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ มันเป็นหลักการของพรรคมากกว่าที่จะไปบูสต์คะแนนกันชั่วข้ามคืน
แนวทางเราก็มีป้าย ถ้าไหนๆ มันต้องมีป้ายแล้วก็ให้มันมีประโยชน์ คือเอาเรื่องดีๆ ไปบอกสังคม ให้สังคมดูว่าป้ายเราคุยแต่เรื่องดีๆ ให้ประชาชนไปเลือกกันเอง ให้สังคมรู้ว่าการเมืองเราก็นำเสนอสิ่งดีๆ ได้ ปรากฏป้ายของเราก็มีคนสนใจ แสดงว่าสังคมอยากได้อย่างนี้ แต่มันไม่มีคนทำเท่านั้นเอง ก็ถือว่าเราเริ่มต้นนำ เพื่อที่จะให้โอกาสนี้—ทำไมเราไม่มาพูดถึงหรือนำเสนอแต่สิ่งดีๆ กันบ้าง ผมว่ามันเป็นประโยชน์กว่า
คุณคิดอย่างไรกับการที่คนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและเข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น
ผมสนับสนุนและเห็นด้วยอย่างยิ่ง เห็นว่าควรสนับสนุนอย่างมาก แต่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยถึงขนาดว่าการเมืองควรมีแต่คนรุ่นใหม่ คนรุ่นใหม่อายุน้อยบางคนไม่ได้หมายความว่าจะเป็นคนทันโลก หรือทันเทคโนโลยี ต้องดูเป็นคนๆ ไป
มันมีคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย กับคนรุ่นใหม่ที่อายุมาก ผมคือคนรุ่นใหม่ที่อายุมาก
อะไรเป็นตัววัดความเก่า-ใหม่สำหรับคุณ
คนรุ่นใหม่คือทัศนคติเปลี่ยนแปลงได้ มีความกระฉับกระเฉง มีการตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลง หรือความเข้าใจในสิ่งแวดล้อม คนรุ่นเก่าคือปรับตัวไม่ได้ อายุน้อยจริง แต่ปรับตัวอะไรไม่ได้เลย ก็เป็นคนอายุน้อยที่เป็นคนรุ่นเก่า แต่ถ้าเป็นคนอายุน้อยที่ปรับตัวได้ทุกอย่าง นั้นเป็นคนรุ่นใหม่ที่อายุน้อย
หลังการเลือกตั้ง ถ้าคุณไพบูลย์จับพลัดจับผลูได้เป็นนายกฯ ขึ้นมา อยากทำอะไรเป็นลำดับแรก
ถ้าผมขืนไปตอบมันก็ขัดต่อหลักการคำสอนของพระพุทธเจ้า มันไม่มีเหตุให้ผมไปเป็นนายกฯ ผมยังไม่เสนอตัวเองเป็นนายกฯ เลย แต่อย่างที่ผมพูด—แคนดิเดตก็มีความเป็นไปได้หมด ไม่ว่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ คุณหญิงสุดารัตน์ คุณอภิสิทธิ์ หรือคุณธนาธร แต่ส่วนผมไม่ขอตอบคำถาม เพราะผมไม่เป็นอยู่แล้ว
รองจากพลเอกประยุทธ์ไหม ใครที่คุณเชียร์ให้เป็นนายกฯ
ก็มี แต่อย่าพูดเลย เดี๋ยวเสียความเป็นกลาง เอาเป็นว่าถ้าไม่มีพลเอกประยุทธ์ก็ดูละกันว่าผมจะยกมืออย่างไร
แล้วการแสดงออกว่าสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ อย่างนี้ไม่เสียความเป็นกลางหรือ
มันเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว และเสนอในที่ประชุมของพรรค และที่ประชุมพรรคก็เห็นด้วย ทุกคนเห็นด้วยว่าควรสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เมื่อเราประกาศไปแล้วว่าจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เราก็ไม่ควรประกาศว่าจะสนับสนุนคนอื่นอีก
พร้อมกันนั้นพรรคการเมืองหลายพรรคก็ชูหัวหน้าพรรคตนเองเป็นนายกฯ แล้วถ้าถึงเวลาไปเลือกคนอื่นเป็นนากยกฯ ทั้งที่ในเวลาหาเสียงประกาศว่าถ้าเลือกพรรคนี้ จะได้ตัวเองเป็นนายกฯ และประชาชนเขาเลือกมาแล้ว สุดท้ายต้องไปเลือกให้พรรคอื่นเป็นนายกฯ มันจะผิดสัญญาประชาคมไหม
พรรคเราชัดเจนว่าไม่มีแคนดิเดตนายกฯ และจะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ถ้ามีชื่อเข้าไปเราก็จะสนับสนุน เราก็จะทำตามแนวทางของเราทุกอย่าง แต่ถ้าไม่มีชื่อหรือว่าอะไร เราก็จะเลื่อนไปในขั้นที่สอง
แล้วถ้าพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล คุณจะว่าอย่างไร
ก็แล้วแต่เขานะ แต่ผมไม่อะไร ผมแฮปปี้ ถ้าผ่านกระบวนการรัฐสภา ไม่ว่าคนไหน ถ้าได้เสียงข้างมากในรัฐสภา เราอาจร่วมรัฐบาลก็ได้ ไม่ร่วมก็ได้ ผมไม่ได้มีเงื่อนไขอะไร บอกแล้วว่าตั้งพรรคมา เรื่องร่วมรัฐบาลเป็นเรื่องเล็กที่สุด
และเราก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นฝ่ายค้านนะ ผมตั้งพรรคมาเพื่อเป็นเครื่องมือของประชาชน เพื่อทำสภาประชาชนปฏิรูป เพื่อแก้ไขปัญหาความทุกข์ร้อน เพราะถึงแม้เราไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล เราอาจจะสนับสนุนรัฐบาลก็ได้ในหลายเรื่อง ไม่เห็นต้องยึดติดว่าเป็นฝ่ายค้านเลยต้องค้านรัฐบาลทุกเรื่อง นี่เป็นหลักคิดแบบประชาชนปฏิรูปนะ อะไรที่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติ—ทำ
แต่ถ้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว รัฐบาลลากไปเรื่องที่ประเทศเสียหาย เราก็โจมตี ต่อว่า หรือคัดค้านเลย ถ้าใครบอกผิดมารยาทในการร่วมรัฐบาล มันไม่ผิดหรอก ถ้าเสียผลประโยชน์ของชาติทำได้ทั้งสิ้น
นี่คือหลักคิดของพรรคเรา นี่ละคือความตรงไปตรงมาของพรรคประชาชนปฏิรูป
Fact Box
ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตนักธุรกิจสินค้าเกษตรผู้ประสบความสำเร็จถึงระดับที่ไปลงทุนในประเทศลาว ก่อนที่จะถูกกระหน่ำด้วยพิษเศรษฐกิจในปี 2540 จนเป็นหนี้สินแทบหมดเนื้อประดาตัว
ในปี 2551 เขาก้าวเข้าสู่สนามการเมืองด้วยตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในฐานะตัวแทนสรรหาของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อนที่จะได้รับตำแหน่ง ส.ว.อีกครั้งในปี 2555 และเขาเป็นหนึ่งในแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว. ผู้เข้ายื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งเป็นสาเหตุให้รัฐบาลสมัยยิ่งลักษณ์ ชินวัตรต้องปิดฉากลง ทั้งยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในปี 2557
ท้ายที่สุด เขาตัดสินใจลงมาเล่นการเมืองอย่างเต็มตัว ในฐานะหัวหน้าพรรคและหนึ่งในผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชนปฏิรูป