อาจเพราะเป็นคนตัวใหญ่กล้ามโต หน้าตาดูเป็นมิตร กิจวัตรติดดิน จึงทำให้ภาพทุกภาพของชัชชาติ สิทธิพันธุ์มีเอกลักษณ์แปลกตาจนคนนำไปเล่นต่อกันเป็น ‘Meme’ สารพัดในโซเชียลมีเดีย

ชัชชาติไม่เพียงเป็นที่จดจำในภาพของรัฐมนตรีสมถะที่เดินเท้าเปล่าถือถุงแกงเตรียมใส่บาตรซึ่งผุดขึ้นมาพร้อมฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีแต่คนส่วนหนึ่งยังจดจำเขาในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2555-2557) ที่เสนอโปรเจ็กต์รถไฟความเร็วสูง แม้ว่าโครงการจะเป็นหมัน แต่แนวคิดการพัฒนาการขนส่งระบบรางยังคงเป็นที่สนใจในรัฐบาลต่อๆ มาในฐานะหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่นำไปสู่การพัฒนาประเทศ

แทบจะตลอดชีวิตของชัชชาติ เขาเป็นข้าราชการอาจารย์อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานอีกด้านหนึ่งคือการเป็นที่ปรึกษาให้ภาคธุรกิจ คงต้องบอกว่างานการเมืองเป็นเพียงส่วนเสี้ยวสั้นๆ ในชีวิตของเขา ซึ่งงานของนักการเมืองจำพวกการปราศรัยหรือให้สัมภาษณ์นักข่าวไม่ใช่เรื่องที่เขาถนัดนัก แต่เมื่อ The Momentum สนทนากับชัชชาติเมื่อวันที่ 24 กุมภาฯ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของตัวตน ครอบครัว การเมือง หรือการเลือกตั้งที่จะมาถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ที่เขาเป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และถือเป็นการลงสนามเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตบอกได้เลยว่า สิ่งที่(ว่าที่)นักการเมืองผู้นี้ถนัดที่สุด มีชื่อเรียกว่าความตรงไปตรงมา

 

งานการเมืองเป็นอาชีพในฝันของคุณชัชชาติมาก่อนหรือเปล่า

ไม่เคยฝันเลยครับ คือครอบครัวผมเป็นครอบครัวข้าราชการ มีพี่น้อง 3 คน ผมมีฝาแฝดเป็นหมอ แล้วก็มีพี่สาวที่ห่างกัน 7 ปี คุณพ่อเป็นข้าราชการตำรวจ คุณแม่อยู่รัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้นความใฝ่ฝันก็คือรับราชการ

ซึ่งคุณก็มาสายวิชาการ เป็นข้าราชการอาจารย์

ใช่ ตอนแรกก็ไม่ได้หวังว่าจะเป็นนักวิชาการนะ ตอนแรกอยากเป็นวิศวกร คือเผอิญเป็นเด็กเรียนดีกับฝาแฝด แล้วแม่บอกว่าต้องมีเรียนหมอคนหนึ่งมาดูแลพ่อแม่ตอนแก่ ผมเองไม่ชอบเลือด พี่ก็เลยต้องรับผิดชอบไป แล้วพี่สาวเป็นสถาปนิก เราก็จะเรียนวิศวะโยธา คิดว่าน่าจะกลับมาทำงานร่วมกับเขาได้ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำงานร่วมกันเลย (หัวเราะ) ผมได้รับพระราชทานทุนอานันทมหิดลไปเรียนโทเอก พอกลับมา มีตำแหน่งอาจารย์ ก็เลยมาเป็นอาจารย์ก่อน แต่งานอาจารย์ก็ยัง practice ได้ เรายังสามารถไปทำงานออกแบบ ทำ consult ขนานไปได้

แล้วทำไมช่วงปี 2554-2555 คุณถึงเลือกที่จะเข้าสู่งานการเมือง

ผมว่าผมก็ไม่ได้เลือกนะ ทางนายกฯ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) โทรมา คือก่อนหน้านี้ผมเคยไปช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านคมนาคม แล้วก็เป็นบอร์ดอะไรบ้าง ก็พอมีความรู้ ท่านนายกฯ ก็โทรมาถามว่า จะมาช่วยได้ไหม ซึ่งผมคิดว่าเราก็อาจจะช่วยอะไรได้บ้าง

เป็นการตัดสินใจทางโทรศัพท์?

ครับ ก็ค่อนข้างเร็วนะ

คือเรื่องการเมือง หลายคนกลัว แล้วเราก็ชอบบ่นว่า เฮ้ย! นักการเมืองไม่ดี ผมคิดว่าถ้าเรามีโอกาสแล้วเราไม่ทำ แล้วเราไปบ่นก่นด่าคนอื่นเขา สุดท้ายมันก็จะไปด่าเขาได้ไม่เต็มปากมั้ง เลยคิดว่าถ้ามีโอกาสและเรามั่นใจว่าเราทำได้ก็น่าจะลองไปทำดูเหมือนกันนะ

ตอนนั้นผมไม่ได้คิดอะไรมาก แต่มีผลกระทบเยอะเหมือนกันนะ เช่น ต้องลาออกจากข้าราชการ อันนี้ก็หนักเหมือนกัน งานราชการมันเป็น lifelong employment แต่ที่สุดก็ตัดสินใจออกก็ออก แล้วที่หนักคือ ไปบอกแม่

คุณแม่ว่าอย่างไรคะ

แม่ไม่แฮปปี้ แม่ผมแนวคอนเซอร์เวทีฟ ท่านก็กลัว ร้องไห้ อย่าไปเป็น ตอนนั้นที่ไปลา คุณแม่บอกว่าระวัง กลัวติดคุก ตอนนั้นก็บอกแม่ไม่เป็นไรหรอก เรามีจุดยืนของเรา เราไม่ได้ทำอะไรผิด แล้วจากวันนั้น ตอนวันรัฐประหารผมก็โดนจับไปอยู่ค่ายทหาร อยู่ 7 วันเลย ก็คล้ายติดคุกกลายๆ นะ พอวันที่กลับ ทหารมาส่งตัวที่บ้าน แม่ก็มายืนร้องไห้อยู่หน้าบ้าน บอกว่า เนี่ย ฉันบอกแล้ว โดนติดคุก

ตอนนั้นคุณชัชชาติรู้สึกอย่างไร

ก็เสียใจที่ทำให้แม่เสียใจ (ทอดเสียงอ่อน) แต่ว่า โอเค มันเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว คราวนี้ก็เหมือนกัน คุณแม่บอกว่าอย่าไปยุ่ง อย่าไปทำอะไรเลย แต่เราก็บอกว่า เออเราก็คงต้องช่วยเหมือนกัน เพราะเราก็ทำมาแล้ว แล้วคิดว่าเราพอจะช่วยได้

ตั้งแต่เติบโตมา เคยทำให้แม่เสียใจกับเรื่องอะไรบ้างไหม

ไม่มีนะ ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยโลดโผนอะไร เรียนดี ทำงานก็ไม่ค่อยมีอะไร คือเขาอาจจะไม่เสียใจ แต่เป็นห่วง คราวนี้ก็เป็นห่วงนะ แต่ว่าเราก็ต้องตัดสินใจในวิถีของเราครับ

มันน่าจะเป็นเพราะภาพลักษณ์ของการทำงานการเมืองดูเป็นงานที่แปดเปื้อนสกปรก ประกอบกับบรรยากาศขัดแย้งรุนแรงในสังคม ที่ทำให้คุณแม่ของคุณเป็นห่วง

ใช่ๆ ผมว่าคำว่าการเมืองนี่หลายคนกลัวนะ นักธุรกิจหลายคนก็ไม่ได้อยากจะมาทำ คนเก่งๆ เยอะแยะก็อาจจะไม่ค่อยอยากมาทำการเมือง แต่ผมคิดว่ามันก็อาจจะเป็นสิ่งดีอย่างหนึ่งถ้าคนในวงการอื่นเข้ามาช่วยด้วย เพราะว่างานบริหารทางการเมืองก็ต้องการคนเก่งๆ จากหลากหลายด้านที่มีประสบการณ์ เราดูอย่างสิงคโปร์ ก็มีเอกชนเข้ามาช่วยบริหาร แล้วพอหมดเทอมก็ออกไป คนที่มีความสามารถในแต่ละแวดวงสามารถเข้ามาร่วมรัฐบาล มาทำการเมืองได้

ผมคิดว่า ในงานการเมืองถ้าเราแสดงให้เห็นว่าเรามีแนวคิด มีจุดยืน มันก็ไม่ได้โหดร้าย ผมก็พยายามจะเป็นตัวอย่างอย่างนั้น อย่างน้อยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมืองตลอดชีวิตหรอก เป็นนักบริหารแล้วก็มาเป็นนักการเมืองได้ถ้ามีโอกาส แล้วถึงเวลาก็อาจจะออกไปก็ได้ ไม่ต้องไปเป็นนักการเมืองตลอดชีวิต

ทำไมต้องเป็นพรรคเพื่อไทย แล้วในอนาคตมีแววเปลี่ยนพรรคไหม

จริงๆ แล้วเริ่มจากทางพี่เพ้งท่านรัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (อดีตรัฐมนตรีฯ กระทรวงพลังงาน พาณิชย์ คมนาคม อุตสาหกรรม) เป็นรุ่นพี่วิศวะฯ เขาชวนมาทำงานตรงนี้ เขาให้เกียรติผม และเราก็คุ้นเคยกัน อุดมการณ์แนวคิดก็ไม่ได้แตกต่างกันมาก ผมก็คิดว่าเราสามารถ contribute ให้ได้ ส่วนเรื่องเปลี่ยนพรรคก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะว่าจริงๆ แล้วหัวใจคือเราไม่ได้ทะเยอทะยานอยากได้อะไร ผมว่าอยู่แค่ตรงนี้ เราก็ให้ตามที่เราให้ได้ ก็แค่นั้น ถ้าเกิดมีอะไรที่เราให้ไม่ได้ ทำไม่ได้ หรือเกิดไม่สอดคล้องกันในอนาคต เราก็หยุดไปเฉยๆ และเราก็ไม่ได้อยากจะไปหาที่อื่นหรือหาตำแหน่ง ผมอยู่ตรงจุดนี้ก็มีความสุขดี แล้ว พอเราไม่ได้อยากได้อะไร มันก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไร แค่ไหนก็แค่นั้น ก็เลยไม่ได้คิดจะไปอยู่พรรคอื่นหรอกครับ แล้วอายุเราก็ไม่ใช่ว่าจะไปเริ่มที่อื่นได้ง่าย

 

นับแต่เริ่มเข้าสู่แวดวงการเมือง คุณชัชชาติรู้สึกว่าตัวเองยังเป็นคนเดิมเหมือนกับวันแรกที่ตัดสินใจไหมคะ ไม่ว่าเรื่องจุดยืนหรือความตั้งใจ

ก็เหมือนนะ จริงๆ ผมเข้ามาทำการเมืองแป๊บเดียว แค่ 3-4 ปี พอปี ’57 ก็รัฐประหาร ผมเป็นอาจารย์ตั้งเกือบ 20 ปี ทำธุรกิจตอนนี้ก็ 4 ปีเต็ม เพราะฉะนั้น การเมืองก็เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งในชีวิต แต่มันก็สอนประสบการณ์ที่เราอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน

ได้บทเรียนอะไรจากช่วง 3-4 ปีนั้นบ้าง

ผมคิดว่าเรื่องอารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญ คือเราอยู่ในวงวิชาการหรือในวงธุรกิจ ไอ้ความเกลียดชังหรือว่าความเป็นศัตรูไม่ได้รุนแรง ผมทำธุรกิจ คู่แข่งขันก็เป็นเหมือนคู่ต่อสู้ แต่ว่าไม่ได้ถึงเอาเป็นเอาตาย ต้องแบบโอ้โฮ ไปด่ากัน อะไรอย่างนี้ ทางวิชาการนี่ไม่มีเลย ต่างคนต่างทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด แต่วงการการเมืองมันมีบางจุดที่มีความเกลียดชัง มีเรื่องที่เหมือนกับเป็น enemy ไม่ใช่เป็นคู่แข่งขัน แต่เป็นศัตรู ซึ่งบางมิติผมก็ไม่ค่อยชอบ เพราะผมไม่ได้ชินกับเรื่องพวกนี้

แต่คุณก็ต้องอยู่ในสนามแบบที่เป็นอยู่นี้

ใช่ๆ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามรักษาบทบาทของเรา ถามว่าที่ผ่านมาผมเปลี่ยนไปไหม ผมก็อาจจะเข้าใจการเมืองได้ดีขึ้น คือก่อนเข้า เราอาจจะยังไร้เดียงสา พอเข้ามาเราก็รู้แล้วว่า มันก็มีเรื่องที่บางจุดต้องระวังเรื่องความรู้สึก เรื่องความเกลียดชัง เพราะฉะนั้น การพูดอะไรก็ต้องระวังให้มากขึ้น แต่ผมว่าสุดท้ายเราก็ต้องเป็นตัวของตัวเอง ก็เป็นตัวเราอย่างนี้แหละ

ในบทของการทำงานการเมือง คุณอยากทำอะไรบนพื้นที่นี้ หรืออยากเห็นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ผมอยากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับการเมืองมากขึ้น โลกมันเปลี่ยนไปเยอะ คนรุ่นใหม่มีแนวคิดใหม่ อาจจะมาจากหลากหลายที่ แล้วคนรุ่นใหม่จะได้รับผลกระทบจากการเมืองมากที่สุด เหมือนกับกรณี Brexit (การโหวตให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป)  ที่คนโหวตออกกลายเป็นคนแก่ แต่คนที่โหวตให้อยู่กลับเป็นคนหนุ่มสาว ซึ่งคนหนุ่มสาวโหวตแพ้ และต้องอยู่กับผลกระทบตรงนี้นานที่สุด

ผมอยากจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามา ซึ่งผมว่าตอนนี้ดี อย่างพรรคอนาคตใหม่ก็เป็นเทรนด์ที่ดีนะ คนรุ่นใหม่ตื่นตัว เข้ามาร่วม ผมว่าดี พวกนี้มีพลังแล้วก็มีความคิด

แต่ก็ต้องมาประเด็นที่สอง คือการเมืองต้องลดการใช้อารมณ์ พอเราใช้อารมณ์ปุ๊บ เราใช้เหตุผลน้อยลง มันทำให้เกิดแบ่งเป็นฝ่าย แบ่งเป็นขั้วตรงข้าม ยิ่งในยุคของโซเชียลมีเดีย ข้อมูลมันเร็ว มันมาเต็มที่ จนกระทั่งเราไม่สามารถใช้เหตุผลได้ แล้วบางทีมันกลายเป็นเราใช้อารมณ์เยอะ ก็ต้องพยายามใช้ให้เป็น เขาเรียกว่าเป็น system one กับ system two

system one คือคิดเร็วๆ system two คือใช้เหตุผล อาจจะต้องค่อยๆ ชะลอ แล้วก็ใช้เหตุผลนิดหนึ่งว่า เออ ที่ฟังมันจริงไหม อย่าไปปลุกเร้าเรื่องอารมณ์เรื่องความเกลียดชังขึ้นมา ต้องวิเคราะห์พิจารณานิดหนึ่ง

เรื่องอารมณ์นี่เป็นสัญชาตญาณการอยู่รอดของมนุษย์เลย เป็น system one หลายอย่างเราทำโดยอัตโนมัติ แต่ว่าก็ต้องบาลานซ์ไง อย่างการเมืองชอบปลุกเร้าอารมณ์มากกว่าปลุกเร้าเหตุผล เพราะอารมณ์มันปลุกเร้าได้ง่าย แล้วมันติดนาน สมมติว่าเราทำให้ใครเกลียดใครสักคนหนึ่งได้ มันติดนาน มันลงทุนน้อย แล้วมันก็อยู่นาน จะเห็นได้ว่าการเมืองที่ผ่านมาในหลายบริบทจะมีการปลุกเร้าเรื่องความรู้สึก เรื่องความเกลียดชัง แต่ว่าถ้าเกิดพูดเรื่องเหตุผลเหนื่อย เพราะกว่าจะชี้แจงแต่ละเรื่องนี่ มันเหนื่อยไง แล้วบางทีมันติดไม่นาน แต่พอไปปลุกเร้าอารมณ์ปุ๊บ บางทีมันเกินการควบคุมได้ มันก็ทำให้สังคมแบ่งเป็นขั้ว

แต่การปลุกเร้าอารมณ์หรือสร้างกระแส บางแง่ก็เป็นอารมณ์เชิงบวกได้เช่นกันไหมคะ อย่างเช่น meme รัฐมนตรีผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของอารมณ์ไม่ใช่หรือ

ใช่ๆ แต่สุดท้ายมันต้องมาที่ตัวตนไง อย่างกรณีของผม สมมติ ได้รูปผมถือข้าวแกงถุงแกง ถามว่ามันเป็นอารมณ์ไหมใช่ แต่ว่าสุดท้ายมันก็คือตัวตนเราจริงๆ เพราะเราก็ออกกำลังกาย เราก็ไปใส่บาตร เราก็ติดดิน เราก็ไปไหนปกติอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ถ้ามันขัดแย้งกับตัวเรา สุดท้ายมันก็อยู่ไม่นานหรอก ถูกหรือเปล่า เช่น ถ้าเกิดพฤติกรรมเราไม่ได้เป็นแบบตัวการ์ตูน คือตัวใหญ่ ไม่ใส่รองเท้า แล้วก็วิ่ง แต่ผมก็ใส่อย่างนี้วิ่งตลอด มันก็เป็นรูปที่มันสอดคล้องกับความเป็นจริง

ผมว่าเราก็ต้องเป็นตัวของเราเอง อย่าไปตามกระแสมาก หัวใจคือจะต้องไม่ fake ทำอย่างที่เราเป็น เพราะถ้าเกิดเฟคมันก็เหนื่อยนะ ต้องเฟคไปตลอด

งานการเมืองดูเหมือนถ้าจะไม่เฟคเลยคงยากอยู่เหมือนกัน

ไม่เฟคก็ได้นะ

จริงหรือคะ

ทำไม เช่นอะไร

เพราะส่วนหนึ่งของงานการเมืองก็ต้องมีการสร้างภาพ หรือต้องอยู่ในสถานการณ์ที่งดการแสดงความคิดเห็นบางอย่าง

โอเคโอเค อันนั้นคือไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรืออะไรอย่างนี้ใช่ไหม แต่ผมคิดว่า ถ้าเกิดเราไม่ได้กังวลเรื่องตำแหน่งหน้าที่อะไรมาก เหมือนเราสบาย ไม่ได้ยึดติดอะไรมาก ผมว่าเราก็เป็นตัวของตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเรายังยึดติดกับอะไรอยู่อย่างนี้ บางทีมันก็ต้องเหมือนกับเฟค เพราะว่ากลัว ผมคิดว่าพยายามเป็นตัวของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะสุดท้าย ถ้าเกิดเราแสร้งทำมันก็เหนื่อย แต่พูดถึงการไม่แสดงความเห็นมันก็เป็นบริบทของความเหมาะสมด้วย มันอาจจะไม่ใช่เฟคนะ แค่เราไม่พูดอาจจะมีประโยชน์กว่า แต่เราไม่ได้พูดบิดเบือนจากที่เรารู้สึกไง

คุณชัชชาติจัดการสื่อโซเชียลมีเดียของตัวเองอย่างไร

ผมก็มีเพจ official เดียว

เป็นเพจที่ทำขึ้นเอง หรือมีคนทำให้ ดูแลให้

ผมเขียนเองตลอดครับ เขียนเองทุกอัน แต่ว่าช่วงหลังวุ่นๆ เลยไม่ได้โพสต์ นั่นมันก็ตัวตนเรา ผมว่ามันต้องเป็น wording ของเรา แต่ทีมงาน 6 คนจะช่วยกันอ่าน เหมือนให้เขาเทสต์ก่อน เขาก็จะคอมเมนต์มา มีอยู่ 2-3 ชิ้นนะที่เขียนแล้วเขาบอกว่าห้ามโพสต์ เราก็ไม่โพสต์ คือใน 6 คนนี้มีหลากหลาย เป็นข้าราชการ เป็นรุ่นน้อง ฯลฯ ถ้าไม่ได้ consensus ทั้งหมด เราก็ไม่โพสต์นะ เราต้อง respect เขาไง ให้เขาช่วยอ่านก็ต้องฟังเขา

คนทั่วไปน่าจะจดจำคุณชัชชาติได้ในฐานะคนทำงานด้านคมนาคม แต่สำหรับอนาคตข้างหน้า ขอย้อนกลับไปคำถามที่ว่าอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศไทยที่สุด

คงเป็นเรื่องการศึกษา โลกยุคใหม่เปลี่ยนเร็ว เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญที่สุดของประเทศคือเรื่องคน คนจะต้องรับมือกับอนาคตได้ เพราะฉะนั้น การเตรียมคนให้พร้อมกับโลกใหม่ ผมว่าเป็นเรื่องจำเป็น อนาคตไม่มีอะไรสำคัญกว่าคนแล้ว

แต่ก่อนระบบการศึกษาเราอาจจะเหมาะสำหรับเอาคนไปทำงานในโรงงานที่ต้องทำตามกฎตามระเบียบหรือระบบราชการ แต่อนาคต เราต้องอยู่ใน creative economy คือเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ต้องมีนวัตกรรม เรื่องความคิดสร้างสรรค์จึงเป็นเรื่องสำคัญ และการศึกษาเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้คนมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น

ยุคนี้ดูเหมือนวัยรุ่น คนที่เพิ่งเรียนจบ เพิ่งเริ่มต้นทำงาน หรือคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย มักจะไม่ค่อยมี passion แต่มักจะรู้สึกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากไปเรียนต่อเมืองนอก แล้วไปทำงานที่อื่น เพราะน่าจะมีโอกาสที่ดีกว่าในบ้านเกิดของตัวเอง ในฐานะที่คุณเคยเป็นอาจารย์มาก่อน พบสถานการณ์และความรู้สึกต่ออนาคตแบบนี้จากคนรุ่นใหม่บ้างไหม

ผมก็ไปสอนเหมือนกันนะ เรื่องอนาคต อะไรพวกนี้ แต่ผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อใน passion เท่าไรนะ

คือถามว่าเราต้องรู้จัก passion ของตัวเองก่อนไหมไม่จำเป็น เพราะว่า passion มันจะรู้ต่อเมื่อเราได้ทำแล้ว ไม่ใช่อยู่ดีๆ เราจะรู้ passion คุณต้องลองทำดูก่อน หัวใจคือมันต้อง test ต้อง try

แต่พวกเขาจะรู้ได้อย่างไร ว่าจะเริ่มลองกับอะไร

ก็ต้องลองผิดลองถูก You have a good choice. You need many choices. มันก็ต้องลองดู ผมเองก็ไม่รู้จนกระทั่งเมื่อไม่กี่ปีมานี้นะว่า passion ของผมคืออะไร

คืออะไรคะ

passion ของผมไม่ใช่เนื้องาน passion ของผมเป็นเหมือนการทำให้คนอื่นมีความสุขขึ้นหรือมีชีวิตที่ดีขึ้น นั่นคือ passion

เพราะฉะนั้นมันไม่ใช่ดีเทลของงาน แล้วมันไม่ใช่ว่า คุณต้องเป็นเอนจิเนียร์หรือคุณต้องเป็นนักการเมือง เพราะทุกงานที่ทำมันสามารถทำให้คนอื่นมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ มันเป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนรอบข้าง เพราะฉะนั้น passion ของเราอาจจะไม่ใช่ดีเทลของงานหรอก แต่เป็นปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ผมถึงบอกว่า เวลาคนบอกว่าคุณไปหา passion มาก่อนแล้วค่อยมาทำงาน อะไรอย่างนี้ผมว่ามันไม่ง่าย ก็ต้องลอง test ไป

มีหนังสือเล่มหนึ่ง ก็ดีนะ หนังสือชื่อ The Road to Character (เขียนโดย David Brooks) เขาบอกว่าอย่าถามว่าคุณต้องการอะไรจากชีวิต ให้ถามว่าชีวิตต้องการอะไรจากคุณหลายคนเลยที่ต้อง struggle ในชีวิต เพราะฉะนั้นถ้าคุณรู้สึกว่า เฮ้ย ชีวิตตรงนี้ต้องการอะไรจากคุณ ทำตรงนั้นก่อน แล้ว passion มันอาจจะเติมมาได้ทีหลัง

อย่างผมเป็นอาจารย์ ผมก็โอ้โฮ อยากจะเป็นศาสตราจารย์ แต่พอผมเจอว่าลูกผมหูหนวก วินาทีนั้นผมต้องถามว่า เฮ้ย ชีวิตต้องการอะไรจากเรา ชีวิตต้องการให้เราดูแลลูกคนนี้ก่อน แล้ว passion ที่คุณจะเป็นศาสตราจารย์อะไรก็ทิ้งไปเลย คุณก็ต้องพาลูกคนนี้ไปออสเตรเลีย ไปผ่าตัด ทิ้งงาน

นี่คือสิ่งที่คุณชัชชาติพูดถึงว่า passion หรือความสุขของเราคือการทำให้คนอื่นมีความสุข

ใช่ ผมว่าเรื่องนี้แหละ ผมเลยรู้สึกอย่างนี้ เพราะผมเจอครอบครัวเด็กหูหนวกเยอะมากเลย แล้วหลายคนเราก็ช่วยเหลือเขา แต่ตอนนั้นเราก็ไม่รู้หรอกว่านั่นคือ passion ของเรา แต่ผมมองว่ามันคือสิ่งที่ชีวิตต้องการจากเรา ชีวิตต้องการให้เราดูแลลูกคนนี้ให้ดีที่สุด ฉะนั้นก็อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องอื่นมาก ผมว่าหลายๆ คนก็เป็น เราจะเห็นคนหลายคนที่เขาอาจจะต้องทำงานหนัก เพราะว่านั่นคือสิ่งที่ชีวิตต้องการจากเขา แต่เขาอาจจะมี passion จากงานย่อยๆ รอบตัวเขา

ตอนนี้ลูกคุณชัชชาติอายุเท่าไรแล้วคะ

ตอนนี้อายุ 19 ไปเมืองนอกแล้วครับ คือเขาหูหนวกตั้งแต่เกิด แต่เรารู้ตอนเขาหนึ่งขวบ เพราะว่าเรียกแล้วไม่หัน ผมก็พาไปตรวจ ตอนนั้นมันมีวิธีง่ายๆ คือขยายเสียง อ่านริมฝีปาก ภาษามือ หรือผ่าสมองเจาะเข้าไปแล้วก็ติด cochlear implant (ประสาทหูเทียม) วิธีหลังนี้เขาอาจจะพูดได้ เราก็เลยเลือกวิธีหลัง แต่เมืองไทยไม่มีคนทำไง ก็เลยต้องบินไปออสเตรเลีย เผอิญผมโชคดีสอบได้ทุนวิจัยด้วย ประสบการณ์ที่เป็นตัวตนเราก็มาจากตรงนี้เยอะเหมือนกันนะ เราไฟต์ตรงนี้เยอะก็เลยเป็นเหมือนโฟกัสของชีวิตครับ

ตอนนี้ ลูกสามารถสื่อสารได้ปกติ

ฟังได้เลย แต่สุดท้ายก็พูดไทยไม่ได้นะ เพราะเครื่องมันเป็นสัญญาณไฟฟ้า มันไม่ละเอียดเท่าหูคน ภาษาไทยมีวรรณยุกต์เสียงสูงกลางต่ำเยอะ แล้วเราก็เชื่อว่าความรู้ในโลกมันเป็นภาษาอังกฤษเยอะ ก็เลยเลือกภาษาอังกฤษ ตอนเขากลับมาเมืองไทยก็เรียนโรงเรียนอินเตอร์ฯ ปัจจุบันไปเรียนประวัติศาสตร์ที่ U of Washington ตอนนี้พูดโทรศัพท์ได้ พูดโทรศัพท์ได้นี่สุดยอดแล้วนะครับ ก็คือไม่เห็นริมฝีปาก เพราะฉะนั้นเขาก็ใช้วิชวลไม่ได้ ใช้ตาไม่ได้ เราก็คุยโทรศัพท์กันเป็นภาษาอังกฤษกัน

ทำไมคุณชัชชาติถึงไม่ลงปาร์ตี้ลิสต์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

คือระบบรัฐสภาเป็นเรื่องสำคัญนะ สำคัญมากเลยที่ต้องมีตัวแทน แต่ผมก็เชื่อว่าเราทุกคนไม่ได้เหมาะกับทุกงาน ผมเองเป็นคนสมาธิสั้นนิดหน่อย ผมไม่ชอบนั่ง ผมชอบออกไปทำงาน แล้วผมคิดว่างานสภาเป็นงานละเอียดและใช้เวลานาน แล้วผมไม่ได้ถนัดเลยครับ คือเวลาดูกฎหมาย มันต้องอ่านกฎหมายทีละบรรทัด ผมว่าอันนั้นมันไม่ใช่สไตล์เรา เราชอบไปลุยคิดแก้ปัญหา เราไม่ได้เหมาะกับหน้าที่ตรงนี้ มีคนที่เหมาะกับงานตรงนี้กว่าเราอีกเยอะ แล้วก็อย่างที่บอกว่า หัวใจคือเราต้องรู้ว่าเราไม่เหมาะกับอะไร ผมเลยขอไม่เป็น ซึ่งทางพรรคก็ไม่ได้ขัดข้องว่าจะให้เป็น แล้วบังเอิญปาร์ตี้ลิสต์ปีนี้มันจะหนัก เพราะด้วยวิธีคำนวณแบบใหม่ตามกฎหมาย ปาร์ตี้ลิสต์เราอาจจะน้อยมากเลย เพราะฉะนั้น ก็ยังมีคนเก่งๆ อีกเยอะที่เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมาย

ผมว่าผมไม่เหมาะจริงๆ ผมบอกแล้วว่าผมไม่ถนัดงาน .. แล้วเราอย่าไปโกหกคนว่าง่ายที่สุดคือยอมไปเป็นแล้วก็ลาออก ให้คนอื่นขยับขึ้น อันนี้มันจะเหมือนกับโกหกประชาชนไง เราไม่เหมาะก็ไม่เหมาะ แต่เราถนัดงานบริหารงาน แก้ปัญหา เป็นที่ปรึกษา จริงๆ แล้วผมก็จะแค่มาช่วยทีมนโยบาย ถ้าเป็นสมัยก่อนนผมก็คงไม่สมัคร .. แต่บังเอิญหนนี้มันมีแคนดิเดตนายกฯ เข้ามาไง ผมก็เลยไปอยู่ตรงนั้น

ว่ากันตามจริง เรื่องนี้คนสนใจมาก โดยเฉพาะข่าวช่วงปีใหม่ที่ออกมากว่าคุณชัชชาติจะมาเป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์ 1 ของพรรค หรือจะเป็นปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่เท่าไร

อันนี้มันก็แล้วแต่พรรค เราก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร เขาส่งสามชื่อ แล้วสุดท้ายมันก็ต้องเป็นเรื่องหลายพรรคมาโหวตกัน ถามว่าเราจะต้องไปขอเป็นเบอร์หนึ่ง ถ้าไม่ได้ผมลาออก มันก็ไม่ใช่ มีบริบทอื่นอีกเยอะ ถามว่าต้องไปไฟต์เพื่อจะเป็นเบอร์หนึ่ง ผมก็ไม่ใช่แนวนั้น

แล้วถ้าต้องเป็นฝ่ายค้าน คุณชัชชาติคิดว่าจะเข้ามาช่วยอย่างไรได้บ้าง

ผมคงเป็นทีมที่ปรึกษาให้อยู่แล้ว จะมองเชิงนโยบาย วิเคราะห์ให้ แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาลผมก็ไม่ได้เป็น .. อยู่แล้ว เพราะผมไม่ได้อยู่ในปาร์ตี้ลิสต์ เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเป็นฝ่ายค้านก็คงช่วยเชิงนโยบาย ดูว่าปัญหาคืออะไร ออกไปเจอคน อะไรอย่างนี้

หากต้องจับมือร่วมงานกับพรรคอื่น จะจับมือกับใครได้บ้าง

ผมไม่ใช่กรรมการบริหารพรรคนะ แต่ในแง่ส่วนตัว ผมไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ก็ดีนะ ชื่อ How Democracies Die  (เขียนโดย Steven Levitskyประชาธิปไตยตายได้อย่างไร เขาบอกว่าจากเทรนด์โลก ประชาธิปไตยมันแย่ลง ไม่ได้พูดถึงเมืองไทยนะ แต่ไปดูเวเนซุเอลา เปรู ฯลฯ ว่าทำไมเหมือนกับว่าประชาธิปไตยมันตาย สูญเสียมนต์ขลังไป เขาบอกว่าประชาธิปไตยมันตายได้สองวิธี คือตายด้วยปืน อันนี้เกิดมาแล้ว อันที่สอง มันจะมีคนที่จิตใจไม่ได้ศรัทธาประชาธิปไตยหรอก แต่อาศัยประชาธิปไตยเป็นทางเข้าสู่งาน อันนี้สำคัญเลยนะ

แล้ววิธีดู เขาบอกมีเช็คลิสต์อยู่ 3-4 อันเพื่อดูว่าใครที่ไม่ได้ศรัทธาประชาธิปไตยแต่อาศัยประชาธิปไตยเข้ามา อันแรกคือ คนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโดยผิดกฎหมาย ก็คือรัฐประหาร ที่ใช้กฎหมายรังแกคนอื่น ปิดกั้นสิทธิ์ในการแสดงออก ดูเช็คลิสต์พวกนี้แหละ คุณก็อาจจะเห็นว่า คนไหนที่อยากจะ backdoor เข้ามาสู่ระบอบประชาธิปไตย เขาบอกว่ามันมีเคสอย่างนี้หลายแห่งเลย เริ่มมาจากฮิตเลอร์ในเยอรมนีก็เป็นอย่างนี้ ฮิตเลอร์ก็มาจากการเลือกตั้ง เขาเคยปฏิวัติมาก่อนแต่ไม่สำเร็จ แต่เขามาเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง หรืออย่างของเปรู แล้วก็เวเนซุเอลา

เพราะฉะนั้น ผมบอกอย่างนี้ว่า คำว่าเลือกตั้งมันไม่ใช่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย ต้องดูเหมือนกันว่าจิตวิญญาณของคนที่มาให้เราเลือกนี่ เขาศรัทธาประชาธิปไตยจริงหรือเปล่า

มีเช็คลิสต์อยู่ 3-4 อันเพื่อดูว่าใครที่ไม่ได้ศรัทธาประชาธิปไตยแต่อาศัยประชาธิปไตยเข้ามา อันแรกคือ คนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงโดยผิดกฎหมาย ก็คือรัฐประหาร คนที่ใช้กฎหมายรังแกคนอื่น คนที่ปิดกั้นสิทธิ์ในการแสดงออก ดูเช็คลิสต์พวกนี้คุณก็อาจจะเห็นว่า คนไหนที่อยากจะ backdoor เข้ามาสู่ระบอบประชาธิปไตย

คำตอบก็คือ จะจับมือกับใคร ต้องดูว่าจุดยืนประชาธิปไตยของเขาเป็นอย่างไร

ใช่ ถ้าเกิดเป็นผมนะ ผมถามง่ายๆ เป็นเช็คลิสต์ข้อแรกเลย คุณรับได้ไหมกับการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้าคุณรับได้ มันก็จะไม่ค่อยสอดคล้องเท่าไร แต่อันนี้ความเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่ใช่เรื่องของพรรค

แต่งานการเมืองก็ยากตรงที่ต้องประนีประนอม บางทีก็ต้องยอมสละจุดยืนบางอย่างเพื่อผลลัพธ์ที่คิดว่าดีกว่า หรือดีที่สุด

มันก็มีเส้นที่เราไม่ cross ไง

แต่อย่างที่บอกคือ บางทีมันนิยามยากว่าอะไรคือเผด็จการถ้าจะบอกว่าดูที่การเลือกตั้ง ทุกคนที่จะมาเป็นนายกฯ ลงเลือกตั้งหมดแหละ เพราะอยู่ในแคนดิเดตหมด เพราะฉะนั้น จะมาบอกว่าเขาไม่ได้ลงเลือกตั้งก็ไม่ถูก มันต้องดูประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาว่าพฤติกรรมของเขาเป็นอย่างไร แต่ถ้าพฤติกรรมมันชัดว่าเขาไม่ได้ศรัทธาประชาธิปไตยหรอก อย่างนี้ก็อาจจะเป็นเส้นที่เราข้ามไม่ได้

คุณอยู่กับพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่อยู่ในใจกลางความขัดแย้งของสังคม คนจะบอกว่าพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้อยู่ฝ่ายประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ภายในพรรคเองก็มีระบบ ‘นายใหญ่’ ตัวคุณชัชชาติเองต้องเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ไหม ว่านายใหญ่คิดอะไร ต้องการอะไร

ไม่มี ผมไม่ได้ไปยุ่งอะไรทั้งนั้น เราก็ทำของเราไป เขาก็มีระบบกรรมการบริหารพรรคที่ทำเป็นทีม ผมว่าอันนั้นเป็นภาพความคิดของคนที่ฝังใจอยู่ อาจจะเป็นปัญหาของพรรคเพื่อไทยที่คนรู้สึกว่ามีคนควบคุมอยู่ นั่นก็เป็นต้นทุนที่เราต้องแบกรับ แต่ชีวิตจริงก็มีกรรมการบริหารพรรค มีทีมงานที่ต้องดูแล เราก็ทำในส่วนของเรา ไม่ได้เกี่ยวกับใคร แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็แฟร์ คือทุกคนมีสิทธิ์จะเอาข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจ ถ้าคนไม่ไว้ใจเรา เขาก็ไม่เลือกเรา อันนั้นก็ธรรมดา

คุณว่าพรรคเพื่อไทยยังมีความเป็นพรรคครอบครัวอยู่ไหมคะ

ผมว่าน้อยลงเยอะนะ ที่เราคุยก็ไม่เคยคุยกับคนในครอบครัวเลยนะ ไม่มีใครเกี่ยวข้องแล้ว แต่ว่าก็อย่างที่บอก เป็นเรื่องความรู้สึกความเชื่อของแต่ละคน หน้าที่ของพรรคก็อาจจะต้องพยายามปรับตรงนี้ให้คนเข้าใจมากขึ้น แล้วต้องโชว์ว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว

จนถึงทุกวันนี้แล้ว คุณชัชชาติคิดว่าตัวเองมีความเป็นนักการเมืองมากน้อยแค่ไหน

ก็อย่างที่บอก ผมเป็นนักวิชาการกับนักธุรกิจเยอะกว่านักการเมืองนะ แต่นักการเมืองความหมายคืออะไรล่ะ

มุมหนึ่งก็คือคนที่ต้องอยู่ในสนามการเมืองการปกครอง ต้องตัดสินใจเรื่องนโยบายต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือทำอย่างไรที่จะผลักดันให้นโยบายที่เราอยากเห็นออกมาได้สำเร็จ

ธุรกิจก็เป็นอย่างนั้นนะ ธุรกิจก็เหมือนกัน เราก็อยากจะดันนโยบายเราให้สำเร็จ แต่ว่าโอเค นักการเมืองอาจจะเกี่ยวข้องกับ public policy เกี่ยวกับการแข่งขัน กับการเลือกตั้ง ผมเองไม่เคยผ่านการเลือกตั้งเลยนะ หนแรกในชีวิตเลย หนนี้แหละ

อย่างครั้งแรกผมก็เข้ามาเป็นรัฐมนตรีเลย ไม่เห็นเหรอ ผมปราศรัยไม่ได้เรื่องเลย คนนั่งหาว ก็อาจจะไม่ได้เป็นนักการเมืองเท่าไรหรอก เพราะว่ายังพูดไม่เป็นเลย

แล้วเคยคิดจะพัฒนาฝึกการพูดปราศรัยให้จับใจคนไหมคะ

ไม่หรอก ผมก็คิดว่า เฮ้ย เราควรจะไปพูดเอามันไหม สุดท้ายก็ไม่ใช่ตัวตนเรา ผมว่าเราก็พูดวิชาการไป ฟังก็ฟัง ไม่ฟังก็ไม่เป็นไร เราก็พูดตามเนื้อหา พยายามพูดให้เป็นเนื้อหา ไม่ว่าใคร ไม่ด่าใคร อะไรอย่างนี้ พยายามพูดสิ่งที่มันเป็นประโยชน์ ผมมองว่า เออ เราก็พูดไม่ค่อยเก่ง คือให้ผมพูดเป็นเลกเชอร์ได้นะ เพราะว่ามันเป็นอีกบริบทหนึ่งไง แต่ว่าเวลาไปปราศรัย มันยากนะ บางทีนักการเมืองก็ต้องพูดปราศรัยเก่งๆ โน้มน้าวใจคนได้ แต่เราไม่ใช่ตรงนั้นไง ถึงบอกว่า ผมอาจจะไม่เหมาะกับเป็น .. เพราะว่าเราพูดไม่เก่ง เราได้แต่เป็นแนววิชาการ แนวบริหาร เพราะฉะนั้น ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นนักการเมืองเท่าไรนะ รู้สึกแบบ ขึ้นเวทีนี่เหงื่อแตก จะพูดอะไรดีวะ เขาจะนั่งหลับไหม ไม่รู้สึกเป็นธรรมชาติ

คุณชัชชาติมองภาพการเมืองหลังเลือกตั้งว่าจะเป็นอย่างไร

ผมว่าหลังเลือกตั้งก็คงมี 2-3 ซีนาริโอ ก็คือ พรรคเพื่อไทยกับกลุ่มที่แนวทางเดียวกันได้เกิน 375 ที่นั่ง ก็จบ ถ้าได้ 250 ที่นั่งนี่จะเริ่มมีปัญหาแล้ว และถ้าน้อยกว่า 250 ที่นั่งก็จบเหมือนกัน

ผมว่าถ้าคะแนนมันอยู่ระหว่าง 250 กับ 375 ก็ขึ้นกับบทบาทวุฒิสภาว่าจะเป็นอย่างไร จะหักกับโหวตของประชาชนหรือเปล่า ถ้าวุฒิสภาฝืนกับประชาชน อันนี้อาจจะมีผลต่อเนื่อง เช่นคนอาจจะไม่พอใจ หรือสุดท้าย รัฐบาลอาจจะอยู่สั้น โดนโหวตออก ผมว่าซีนาริโอในอนาคตน่าจะไปดูว่าบทบาทวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้คนก็เริ่มออกมากดดันว่า ส.ว. 250 เสียงนี้ ควรจะต้องแคร์จำนวนเสียงโหวตของประชาชน

ใช่ แต่ตามกฎหมายเขาไม่ต้องแคร์ จริงๆ มันขึ้นกับประชาชนว่ายอมแค่ไหน ผมว่าซีนาริโอที่น่าจะมีโอกาสเกิดมากสุด คือเพื่อไทยกับพรรคที่แนวคิดตรงกันได้เกิน 250 แต่ไม่ถึง 375 ที่นั่ง อันนี้ผมว่าน่าจะเป็นซีนาริโอที่เกิดได้มากที่สุด แต่ว่า .. โหวตอย่างไรก็แล้วแต่เขา

มีความมั่นใจแค่ไหนเรื่องคะแนนเสียงที่คาดว่าจะได้จากประชาชน

ผมว่าคะแนนพรรคเราก็โอเคนะ ในโพลล์ที่เราทำมา แต่ก็ต้องดูเหมือนกันว่าสรุปแล้วแนวร่วมทั้งหมดได้เท่าไร เพราะเราเองคนเดียว เราแคร์รี่ไม่ถึง 250 อยู่แล้ว

และก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ของพรรคไทยรักษาชาติที่ถือเป็นพรรคเครือข่ายเดียวกันก็น่าเป็นห่วง

คือเราไม่พูดว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน แต่อุดมการณ์ไปในทางเดียวกัน ทุกคนที่ล้นจากเพื่อไทยไปเนื่องจากเขาอยู่ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ได้ ก็ต้องไปตั้งพรรคใหม่

สุดท้ายก็ต้องนับคนกลุ่มนี้ ว่าถ้าไทยรักษาชาติเกิดโดนยุบ กลุ่มคนโหวตตรงนี้เขาจะไปเลือกพรรคอะไร แล้วกลุ่มที่แนวคิดคล้ายๆ กันจะอยู่ด้วยกันได้ไหม แต่ผมว่าอย่าไปคิดอะไรมากเลยครับตอนนี้ คือเอาให้พ้น 24 มีนาคมให้ได้ก่อนแล้วกัน

เหลือเวลาแค่อีก 1 เดือน จะไม่ให้คิดมากคงไม่ได้

มันต้องคิดไปทีละสเต็ปไง บางทีถ้าเกิดเราไปกังวลก่อน มันก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เขาบอกอันไหนที่เป็น gravity problem คือปัญหาที่เป็นแรงโน้มถ่วง มันไม่ใช่ปัญหาที่เป็น condition เป็นสภาพ ก็อย่าเพิ่งไปกังวลกับมัน เอาตรงนี้ให้ดีที่สุด ถ้าเกิดไปคิดพร้อมๆ กันหลายอันปวดหัวตาย

คือรอตัดสินใจตามสถานการณ์

แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่มีแผนนะ ผมว่ามันคิดไปก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะฉะนั้น นาทีนี้เราต้องพยายามทำให้ดีที่สุด พยายามถึง 24 มีนาคม ทำให้ดีที่สุด แล้วเดี๋ยวคะแนนออกมาเท่าไรค่อยคิดอีกทีว่าจะอะไรอย่างไรต่อ

ถ้าดูภาพรวมของการหาเสียงตอนนี้ มันดูเป็นการเมืองของการชูตัวบุคคลขึ้นมา คุณชัชชาติมองว่ามันเป็นอย่างนั้นไหม

คือต้องถามว่า การเมืองมันวัดกันที่อะไรล่ะ คือหมายความว่า จะวัดเหรอว่าใครให้สตางค์เยอะกว่า เช่นแบบว่า คนนี้ให้เบี้ยผู้ชรา 1,000 คนนั้นบอก 1,800 อีกคนบอก 2,000 ถามว่าเราเลือกกันตรงไหน ผมว่าจริงๆ แล้วเราเลือกกันที่ความไว้ใจ เราเลือกคำว่า trust ว่าเรา trust ใคร

Trust ก็มี 2 ตัวคือ competency คือความเก่งและผลงาน กับ character คือความประพฤติว่าไว้ใจได้แค่ไหน ผมว่าสุดท้ายคือแค่นี้ เพราะบุคคลสร้างความเชื่อมั่นให้ได้ คือเชื่อว่าถ้าเป็นเขาจะทำให้ดีได้ นโยบายที่พูดมารายละเอียดเยอะแยะ อาจจะไม่มีความหมายเลยก็ได้ เพราะสุดท้ายแล้วทำไม่ได้สักอย่าง

ฉะนั้น ถ้าเกิดเขาได้คนเก่ง คนที่เขาเชื่อ ก็เชื่อว่าอย่างไรก็พาเขาไปถึงดวงดาวได้

Fact Box

ชัชชาติ สิทธิพันธ์ วัย 53 ปี เกิดเมื่อ 24 พฤษภาคม 2509 เป็นลูกของพลตำรวจเอกเสน่ห์ สิทธิพันธุ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และจิตต์จรุง สิทธิพันธ์ มีพี่สาวหนึ่งคน และพี่ชายฝาแฝดอีกหนึ่งคน

ชัชชาติจบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Techonology หรือ MIT) และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐอเมริกา ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เมื่อปี .. 2530 จากนั้นกลับมาเป็นอาจารย์สอนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขาเริ่มทำงานการเมืองในฐานะที่ปรึกษาตามคำชวนของรุ่นพี่คณะวิศวะฯพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล และในปี 2555 ก็รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

บทบาทเด่นของเขาคือการวางยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศเรื่องการพัฒนาการขนส่งระบบราง ที่เสนอออกมาเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงมูลค่า 2 ล้านล้านบาท แต่โครงการก็เป็นหมัน เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออกกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมความเห็นว่ารอให้ถนนลูกรังหมดจากประเทศไทยก่อน

Tags: , , ,