มีคนกล่าวไว้ว่า หากไปเยือนประเทศใดแล้วอยากรู้จักวิถีชีวิต แนวคิด เสน่ห์ของชาตินั้นให้แจ่มแจ้ง ให้เดินเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของที่นั่น ทุกครั้งที่ได้เดินทางท่องเที่ยวผมเลยอุทิศเวลาอย่างน้อยครึ่งทริป ไปเรียนรู้ตัวตนของแต่ละเมืองผ่านกิจกรรมนี้ มันเหมือนการได้ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ในมิติที่ลึกขึ้น เหมือนฟังใครสักคนเล่าเรื่องเด็ดๆ ในแต่ละมุมของเมืองนั้นให้ฟังแบบม้วนเดียวจบ
ปารีส เป็นอีกเมืองหนึ่งที่จริงจังในเรื่องนี้ รู้ไหมว่าเมืองนี้มีพิพิธภัณฑ์มากถึง 130 แห่ง ทั้งที่เป็นแลนด์มาร์กยิ่งใหญ่ ไปถึงพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมในเขตชานเมือง มีทั้งที่รวมงานศิลป์ ไปถึงจัดแสดงวิทยาศาสตร์ล้ำสมัย แต่ละที่ล้วนโดดเด่น น่าสนใจ
“มีเวลาว่างสัก 1 วันใหม?” ผมขออาสาพาไปทักทายปารีสเมืองใหญ่ผ่านผลงานศิลป์ในสไตล์ปารีเซียง
เริ่มจากพิพิธภัณฑ์สำคัญๆ ขนาดเท่า 9 สนามฟุตบอล ไล่เรียงไปหาที่เล็กๆ แต่เต็มด้วยเรื่องราวน่าสนใจ
ตอกตั๋ว แล้วตามมาด้วยกันเลยครับ
# เช้าเสพงานศิลป์กลางเมือง ในมิวเซียมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
หากกล่าวถึงชื่อ ‘พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์’ (Musée du Louvre) คงจะมีน้อยคนนัก ที่มาเหยียบปารีสแล้วจะไม่รู้จัก เพราะที่นี่ถือเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของเมืองโรแมนติกแห่งนี้ งานศิลปะกว่า 38,000 ชิ้น จากทั่วโลกถูกนำเสนอเรื่องราวอย่างน่าสนใจ ประตูลูฟวร์เปิดต้อนรับให้คนเข้าเยี่ยมชมครั้งแรกมานานกว่า 200 ปีแล้ว ก่อนหน้านั้น ลูฟวร์ได้ทำหน้าที่เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศส ก่อนที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จะย้ายศูนย์กลางทางการเมืองไปที่แวร์ซาย ลูฟวร์จึงได้กลายเป็นโรงเรียนศิลปะวิทยาการของฝรั่งเศส และแปลงร่างเป็นสถานที่จัดแสดงผลงานศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก
พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์กับทางเข้าพีรามิดแก้วอันเป็นแลนมาร์กของปารีสไปแล้ว
เมื่อมาถึงลูฟวร์ เราจะพบกับทางเข้าที่ไม่ธรรมดา เนื่องด้วยชื่อเสียงและความใหญ่โตของที่นี่ จึงทำให้นักท่องเที่ยวกว่าเจ็ดล้านคน(ต่อปี)แวะเวียนมาเยี่ยมชม ดังนั้นทางเข้าเล็กๆ ของพระราชวังเก่าลูฟวร์ ไม่สามารถรองรับคนมหาศาลเช่นนั้นได้ จึงเกิดเป็นทางเข้าพีรามิดแก้วไปยังชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นพื้นที่จำหน่ายตัว และเป็นเหมือนชุมทางไปยังโซนต่างๆ ทั้ง 8 โซน แบ่งตามปีกของอาคาร ประกอบด้วย โซนศิลปะอียิปต์โบราณ (Egyptian Antiquities) โซนศิลปะตะวันออกใกล้ยุคโบราณ (Near Eastern Antiquities) โซนศิลปะกรีก (Greek) โซนศิลปะโรมันโบราณ (Roman Antiquities) โซนศิลปะอิสลาม (Islamic Arts) โซนรูปปั้น (Sculpture) โซนศิลปะงานตกแต่ง มัณฑณศิลป์ (Decorative Arts) และ โซนภาพวาด ภาพเขียนต่างๆ (Prints and Drawings)
หากจะละเมียดชมทั้งหมด คงต้องใช้เวลาทั้งวัน แต่หากอยากซึมซับบรรยากาศโดยรวม เราสามารถเดินได้ครบทั้งหมดในเวลา 3-4 ชั่วโมง เช่น เลือกไปชมศิลปะชิ้นเด่น ‘โมนาลิซา’ ที่คอยส่งยิ้มทักทายเราไม่ว่าจะเดินไปมุมใหน , ข้ามไปชมศิลปะภาพวาดหาอยากอีกหลายชิ้นที่เกี่ยวโยงกับคริสตจักร และชมไฮไลท์ข้าวของเครื่องใช้ของฝรั่งเศสในยุคต่างๆ ตั้งแต่ยังปกครองด้วยระบอบกษัตริย์
นอกจากนั้น ที่ลูฟยังมีโซนให้พักผ่อนจิบกาแฟ หรือจะหาอาหารเบาๆ รองท้องก่อนจะไปเยี่ยมชมสถานที่ต่อไป ก็นับว่าเป็นไอเดียที่ดี (เพิ่มเติมให้อีกนิด ใครอยากเข้าชมฟรี ให้มาในวันอาทิตย์แรกของเดือน)
# บ่ายชมชานชาลารถไฟ ที่กลายมาเป็นลานจอดผลงานศิลปะ
ครั้งหนึ่งอาคารที่ทอดยาวริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำแซน (Seine River) หลังนี้เคยเป็นสถานีรถไฟกลางเมืองมาก่อน จวบถึงปี ค.ศ.1986 สถานีออเซย์ (Gare d’Orsay) จึงได้รับการแปลงโฉมให้เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะในนาม มิวเซย์ ออเซย์ (Musée d’Orsay) ที่นี่รวบรวมศิลปะที่เป็นฝรั่งเศสขนานแท้ ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.1848 ถึง ค.ศ.1914 โดยจัดแสดงทั้งภาพถ่าย ภาพวาด และเฟอนิเจอร์ ของศิลปินในชื่อดัง อาทิ โมเน่ต์ (Claude Monet) เรอนัว (Pierre-Auguste Renoir) รวมไปถึงชื่อคุ้นหูอย่าง แวน โก๊ะ (Vincent Willem van Gogh) บรรยากาศเมื่อเดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เราจะพบกับลานกว้างใหญ่ ซึ่งเคยเป็นชานชาลารถไฟ ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงรูปปั้นมากมาย ระหว่างชานชลาจะมีห้องหับเล็กๆ ซ่อนตัวอยู่ จัดแสดงภาพวาดเรียงลำดับไปตามแต่ละยุคแต่ละสมัย ในบางช่วงจะมีนิทรรศการพิเศษจัดแสดง อาทิ ศิลปะการทำฉากละครโอเปร่า ภาพวาดคอลเลคชั่นหายากของฝรั่งเศส เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ออเซย์ริมแม่น้ำแซนที่รวบรวมศิลปะฝรั่งเศสขนานแท้ช่วงปี ค.ศ.1848 ถึง ค.ศ.1914
ไฮไลท์ของ ออเซย์ ไม่ได้มีอยู่แค่งานศิลปะที่จัดแสดง แต่ยังรวมถึงความงามของตัวตึกเองด้วย อาคารแห่งนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์โบซาร์ (Beaux-Arts) แสดงถึงความหรูหราทรงพลังของฝรั่งเศส ซึ่งระหว่างที่เราเดินชมงานศิลป์ จะพบเห็นข้อความเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยบรรยายถึงรายละเอียดของตึกอาคารแห่งนี้
ที่ชั้นบนสุดของอาคารยังมีจุดชมวิวและจุดถ่ายภาพยอดฮิต กับ ‘นาฬิกาเรือนยักษ์’ ที่มองลอดไปจะเห็นวิวปารีสแบบสุดลูกหูลูกตา จะจิบไวน์ด้วยก็ย่อมทำได้ เพราะชั้นนี้มีร้านบริสโทรเล็กๆ เสิร์ฟอาหารและไวน์ดีๆ ตลอดทั้งวัน
นาฬิกาเรือนยักษ์ที่มองลอดไปจะเห็นวิวเมืองปารีส
# เพลินงานยุคอิมเพรสชันนิสม์ ในพิพิธภัณฑ์ซ่อนตัวกลางปารีส
เพียงแค่เราข้ามแม่น้ำแซนจากฝั่ง Musée d’Orsay ลัดเลาะเขตสวนส้มเก่าของสวนกลางเมืองนาม Tuileries มาสุดมุมถนน เราก็จะพบอาคารพิพิธภัณฑ์เล็กๆในชื่อ ‘The Musée de l’Orangerie’ (l’Orangerie แปลเป็นไทยว่า สวนส้ม แต่ผลงานที่จัดแสดงไม่ได้เกี่ยวอะไรกับส้มเลย) ภายในอาคารหลังเล็กนี้ จัดแสดงศิลปะภาพวาด ในยุคอิมเพรสชันนิสม์ (Impressionist) และยุคหลังอิมเพรสชันนิสม์ (Post-Impressionist) ศิลปะที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นความงดงามของประกายแสงและสี อธิบายให้เข้าใจง่ายๆ คือ ภาพวาดที่ใช้พู่กันตวัดสีอย่างเข้ม ๆ ใช้สีสว่าง เล่นแสงเงา มีส่วนประกอบของภาพที่ไม่ถูกบีบ เนื้อหาของภาพเป็นเรื่องธรรมดาแต่มีมุมมองที่พิเศษ เป็นภาพวาดที่ฉีกกรอบเดิมๆของการวาดในสตูดิโอ
เขตสวนส้มที่เป็นพิพิธภัณในชื่อ The Musée de l’Orangerie
ภาพเด่นของที่นี่คงคุ้นตาคอหนัง Woody Allen มาบ้าง เพราะในหนัง ‘Midnight in Paris’ ได้ใช้ที่นี่เป็นหนึ่งในโลเคชั่น โดยเฉพาะภาพดังของ โมเน่ต์ (Claude Monet) ในคอลเลคชั่น ‘The Water Lilies’ (“ Les Nymphéas” ในภาษาฝรั่งเศส) ได้ปรากฏในหนังด้วย ภาพชุดนี้มีความยาวรอบโถงเรียงต่อกันได้ 8 รูป โดยจัดแสดงเป็นวงกลมใน 2 ห้อง แสงในห้องแสดงผลงานได้ถูกจัดแบบ diffused light หรือแสงที่กระจาย ให้ความนุ่มนวลตามความตั้งใจแรกของโมเน่ต์
นอกจากนั้นยังมีภาพในคอลเลคชั่นเดียวกันนี้จัดแสดงรายล้อม ย้อมให้พิพิธภัณฑ์ในไร่ส้มนี้กลายเป็นสีม่วง ชมพู และดูฟุ้งฝันดั่งภาพศิลป์ในยุคอิมเพรสชันนิสม์ และในแต่ละฤดูกาลแกลอรีภายในทั้งหมดก็จะสับเปลี่ยนหมุนเวียน ภาพของศิลปินอิมเพรสชันนิสม์ท่านอื่นๆ มาจัดแสดงด้วย
หากใครเป็นแฟนพันธุ์แท้ของการเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ที่ปารีสเขาก็ได้เอาใจท่านด้วยการจัดรวมตั๋วประเภทพิเศษ เรียกว่า Paris Museum Pass มีตั้งแต่ 2 วัน ไปถึง 5 วัน เลือกได้ตามชอบใจ ด้วยราคาเหมาจ่ายแบบคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม (บางพิพิธภัณฑ์เป็นของเอกชน อาจไม่รวมอยู่ในเงื่อนไขการใช้บัตร) ในเว็บไซต์ของเขายังมีแนะนำตามเส้นทางน่าสนใจ ตัวอย่างเช่น ธีมวังเก่าและยุครุ่งเรืองของราชวงศ์ฝรั่งเศส, ตามรอย นโปเลียน , พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี , คอลเลคชั่นผลงานเด็ดในบ้านศิลปิน, ศิลปะยุคกลางถึงเรอเนซองส์ เป็นต้น
ผลงานศิลปะในยุคอิมเพรสชันนิสม์
หากครั้งหน้า ได้มีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศ และอยากรู้จักเมืองนั้นในหลากหลายมิติ ผมขอแนะนำจริงๆ ให้ลองใช้เวลาเดินชมพิพิธภัณฑ์ เหมือนที่ผมได้พาท่านชมที่ปารีส แล้วมิติของการท่องเที่ยวในครั้งนั้นจะลึกซึ้งเหมือนเราได้รู้จักเมืองนั้นแบบคนคุ้นเคย