หน้ามรสุมคือฤดูกาลที่คนจำนวนมากหลีกเลี่ยง แต่สำหรับฉันมันคือความงามที่ไม่มีใครเหมือน ยิ่งถ้าคนชอบถ่ายภาพขาวดำ ช่วงมรสุมคือความสมดุลย์ในแสงและเงา ถ้าใช้คำดัดจริตหน่อยก็ต้องบอกว่ามันคือ Magic Moment หรือที่แปลว่าช่วงเวลามหัศจรรย์นั่นล่ะ

รวมทั้งเคยสังเกตไหมว่าเวลาที่คนเรามองเห็นอะไรชัดๆ ตรงหน้า เราก็มักจะเคยชินกับการใช้ประสบการณ์เก่าของเราตัดสินและสรุปในรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ตรงหน้าทันทีว่ามันเป็นแบบนั้นแบบนี้ด้วยเหตุผลนี้เหตุผลนั้น แต่พอมายืนอยู่ในความเลือนลางไม่ชัดเจนของเมฆหมอกชนิดมองแทบไม่เห็นหนทางข้างหน้าแล้ว มันทำให้เราจนปัญญาไม่สามารถสรุปอะไรได้เลย เราเปลี่ยนเป็นคนที่ช้าลงไม่รีบตัดสินและหยุดคิด ซึ่งนี่ล่ะฉันถึงบอกว่าหน้ามรสุมคือ Magic Moment

โดยเฉพาะดาร์จีลิงกับฉันแล้ว เราเหมือนเพื่อนสนิทเพราะเห็นหน้ากันมาทุกฤดู และทริปนี้เป็นครั้งที่สองของฉันกับการนั่งรถไฟหัวจักรไอน้ำ (Toy Train) ซึ่งถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์กรยูเนสโกเมื่อปีค.ศ.1999 โดยเป็นโครงการที่อังกฤษเริ่มต้นไว้ในช่วงที่เข้ามาปกครองอินเดีย สมัยนั้นทุกช่วงวันหยุด ครอบครัวชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในโกลกาตาเป็นจำนวนมากจะนิยมขับรถทางไกลขึ้นมาพักผ่อนตามรีสอร์ตในเมืองดาร์จีลิง

ในช่วงเวลานั้นดาร์จีลิงถือเป็นเมืองสำคัญทางการค้าโดยเฉพาะการติดต่อทำการค้ากับทิเบต และด้วยเหตุผลนี้เองส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรบนเส้นทางระหว่างเมืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดอังกฤษตัดสินใจสร้างทางรถไฟเชื่อมเส้นทางระหว่างโกลกาตาและดาร์จีลิงขึ้นในปีค.ศ.1881

ช่วงแรกๆ ผู้โดยสารต้องใช้เวลาในการเดินทางยาวนานถึงเกือบสองอาทิตย์ กระทั่งจึงมีการพัฒนาเส้นทางต่อมาเรื่อยๆ จนปัจจุบัน The Darjeeling Himalayan Railway [DHR] เปิดให้บริการรถไฟหัวจักรไอน้ำด้วยสามเส้นทางหลัก แต่ให้ความรู้สึกที่ต่างกัน เส้นทางแรกคือจากสถานีดาร์จีลิงไปสถานีกุม (Ghum) ซึ่งเป็นสถานีรถไฟที่มีความสูงเป็นอันดับสองของโลก ใช้เวลาเดินทางไปกลับแค่สองชั่วโมง นอกจากสถานีกุมจะมีพิพิธภัณฑ์บอกเล่าความเป็นมาของรถไฟหัวจักรไอน้ำและความยากลำบากของการขยายเส้นทางในอดีตแล้ว กุมยังเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในหุบเขาที่ทำฉันเสียสตางค์เป็นประจำเพราะมาหมู่บ้านนี้ทีไร ฉันมักจะไปเดินเจอข้าวของเครื่องใช้และของพื้นถิ่นแปลกๆ ตามร้านค้าที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟของชุมชนชาวเนปาล

เส้นทางต่อมาคือจากสถานี New Jalpaiguri ซึ่งตั้งอยู่ตรงตีนเขาของหิมาลัย เดินทางขึ้นไปสู่ความสูงระดับเหนือน้ำทะเลราว 2,200 เมตรของเมืองดาร์จีลิงด้วยระยะทาง 88 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางแปดชั่วโมง(เฉพาะขาไป) โดยเส้นทางนี้น่าจะเหมาะกับคนมีเวลาเที่ยวแบบไปเรื่อยๆ

ส่วนเส้นทางสุดท้ายคือเส้นทางไปกลับระหว่าง Siliguri Junction และสถานี Rangtong ซึ่งความน่าสนใจของเส้นทางนี้กับการใช้เวลาเดินทางไปกลับเพียงแค่สามชั่วโมงคือการที่รถไฟวิ่งผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Mahananda อันอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ เป็นแหล่งดูนกที่สำคัญ รวมทั้งในช่วงหน้ามรสุมของทุกปี กลุ่มช้างอพยพจากเนปาล รัฐอัสสัม และรัฐเบงกอลตะวันตกของอินเดียจะเดินทางมารวมตัวกันอยู่ที่บริเวณแม่น้ำทางด้านล่างของป่า

 ในยุคหนึ่งหลังการประกาศอิสรภาพของอินเดีย รัฐบาลอินเดียเคยมีความคิดที่จะเลิกใช้รถไฟหัวจักรไอน้ำขบวนนี้เพราะตัวรถไฟเองมีสภาพทรุดโทรมและไม่ได้ทำกำไรให้กับประเทศ แต่รัฐบาลอังกฤษเข้ามาเจรจาโดยให้งบประมาณส่วนหนึ่งกับอินเดียเพื่อต่อชีวิต Toy Train จึงทำให้ทุกวันนี้เรายังมีโอกาสได้เห็นรถไฟของเล่นชนิดนี้วิ่งอยู่บนรางที่มีขนาดหน้ากว้างเพียงแค่สองฟุต

จะว่าไปฉันเองก็แอบนึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าบ้านเรือนที่ตั้งอยู่ริมทางรถไฟไม่หนวกหูบ้างเหรอกับเสียงหวูดที่ดังเข้ามาในบ้านทุกวัน เพราะคำนวนจากตารางรถไฟแล้ว มันคือการต้องได้ยินเสียงหวูดในระยะใกล้ตกสิบสามช่วงเวลาไปกลับต่อวัน ส่วนบัตรโดยสารรถไฟหัวจักรไอน้ำเส้นทางยอดนิยมดาร์จีลิง-กุม อยู่ที่ประมาณ 650 บาท สิ่งสำคัญที่ผู้โดยสารควรพกติดมาด้วยคือผ้าพันคอหรือผ้าเช็ดหน้า เพราะในระหว่างการนั่งรถไฟนั้นจะมีเถ้าถ่านปลิวเข้ามาทางช่องหน้าต่างเป็นระยะ แต่พอหักลบกับบรรยากาศของความคลาสสิกที่ได้นั่งรถไฟอายุ 137 ปีชนิดนี้แล้ว ฉันบอกได้เลยว่าเถ้าถ่านมันเรื่องเล็ก

Tags: , ,