หนังสือบางเล่มก็เหมือนใครบางคน ที่มักเข้ามาในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะบางช่วงของชีวิตบางทีคล้ายว่าภายในของเราดิ้นรนหาอะไรบางอย่างที่เราเองก็ไม่รู้แน่ชัด หรือว่าภายในของเราอึงอลวนเวียนอยู่กับบางสิ่งบางอย่างหาทางออกทางไปไม่ได้ แล้วอยู่ๆ ก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งมาอ่าน หยิบโดยไม่มีจุดหมายใด แค่เปิดและอ่านผ่านไป แต่สิ่งที่อยู่ข้างในหนังสือเล่มนั้นทำให้อาการดิ้นทุรนสงบลงและแทงทะลุความอึงอลไปสู่เวิ้งฟ้าที่สว่างไสว ทำให้สามารถก้าวต่อไปได้

และในภาวะที่พวกเรากำลังหวาดสะทกกับการแพร่ระบาดของโรคร้าย และอ้างว้างจนอาจถึงขั้นระทดท้อกับผลกระทบของมัน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ หรือการเมือง ผมกำลังเป็นเช่นนั้นกับหนังสือเรื่อง On Death and Dying งานเขียนของ Elisabeth Kubler-Ross แปลเป็นไทยโดย แพทย์หญิงมาลินี วงศ์พานิช ในชื่อไทยว่า ความตายกับภาวะใกล้ตาย

หนังสือเก่าเล่มนี้โปรยหน้าบทที่ 1 ด้วยบทกวี ‘การเก็บดอกผล’ ของ รพินทรนาถ ฐากุร และย่อหน้าแรกของบทก็ทำให้เราได้เห็นประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติในการเผชิญกับโรคร้าย ความพยายามในการศึกษาค้นคว้าเพื่อก้าวพ้นวิกฤตการณ์ และเราก็ก้าวพ้นมันมาได้

“โรคระบาดได้กวาดเอาชีวิตมนุษย์อย่างเราท่านไปนักต่อนักแล้วในอดีต ทารกและเด็กๆ ที่ต้องตายมีอยู่บ่อยในเกือบทุกครอบครัว การแพทย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมากในระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนป้องกันโรคร้ายช่วยได้พอสมควรโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกและสหรัฐอเมริกา การบำบัดโรคด้วยยาเฉพาะอย่างยิ่งยาจำพวกปฏิชีวนะ ช่วยลดการตายจากโรคติดต่อลงได้ การดูแลเด็กและการศึกษาที่ดีขึ้นช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและการตายในเด็กลงได้มาก โรคต่างๆ ทั้งที่เกิดในเยาวชนและคนในวัยกลางคนเริ่มลดลง เป็นผลส่งให้จำนวนประชากรในวัยชรามีมากขึ้น และด้วยเหตุนี้เอง โรคมะเร็งและโรคเรื้อรังต่างๆ จึงพบเพิ่มขึ้นด้วยเป็นเงาตามตัว…”

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้ เมื่อมองในมิติของประวัติศาสตร์มนุษยชาติแล้วจะทำให้เรามีความหวังต่อการก้าวผ่านโรคภัยนี้ไปได้ แต่หนังสือเล่มนี้ก็ได้สะท้อนความจริงอีกด้านหนึ่งเช่นเดียวกับที่โรคระบาดโควิค-19 ได้สะท้อนแก่เราเช่นกัน ซึ่งเป็นความจริงที่ลึกลงไปสู่ด้านในของความเป็นมนุษย์ที่เราอาจหลงลืมทั้งที่เป็นปัญหาสำคัญของมนุษย์ตั้งแต่มนุษย์คนแรกมีสำนึกถึงชีวิตและการมีอยู่

นั่นคือ ‘ความตาย’

“กุมารแพทย์ทำงานรักษาโรคที่เกิดเฉียบพลันและรุนแรงน้อยลงแล้ว แต่เวลาเดียวกันก็ต้องผจญภัยกับผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต และพฤติกรรมการปรับตนเข้ากับสังคมไม่ได้เพิ่มมากขึ้น แพทย์ทั้งหลายมีคนไข้ที่แสดงอาการทางจิตมากกว่าที่เคยมี ในการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ได้ทำให้คนเราเกิดการกลัวตายมากขึ้น เกิดปัญหาทางจิตทับทวีคูณ

“ถ้าเรามองย้อนกลับสู่หนหลัง เพื่อศึกษาวัฒนธรรมจารีตประเพณีและผู้คน เราก็จะมองเห็นได้อย่างแน่ชัดว่า อันคนเรานั้นเกลียดและกลัวความตายยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด และคงจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ในสายตาของจิตแพทย์เห็นว่าเรื่องนี้เป็นของธรรมดา อธิบายได้ด้วยความรู้ขั้นต้นว่าเพราะโมหะ ความหลง ความเข้าใจผิดทำให้คนเราลืมตาย จนถึงกล้าทึกทักปฏิเสธเอาได้ง่ายๆ

“ภายในจิตใต้สำนึกของคนเรานั้น แฝงฝังเอาไว้ด้วยความรู้สึกที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงว่าความตายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ มนุษย์เรานั้นจะต้องไม่ตายและถ้าชีวิตมนุษย์มีอันเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป สายทางชีวิตนั้นจะต้องมีสิ่งเชื่อมโยงจากภายนอกไปสู่สิ่งอื่นคนอื่น พูดให้ง่ายก็คือ เราคิดไว้ในจิตใต้สำนึกว่า คนเราถูกฆ่าได้ แต่ตายไม่ได้ด้วยสาเหตุธรรมชาติหรือโดยการแก่ตาย ดังนั้นความตายจึงจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ไม่ดี การตื่นตกใจ หรืออะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการลงโทษลงทัณฑ์ทั้งหลายทั้งปวง”

ผมไม่แน่ใจว่าจะยังมีคนรู้จักและอ่านหนังสือเล่มนี้อยู่ไหม เพราะสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ พิมพ์ขึ้นใน พ.ศ. 2525 ห่างจากต้นฉบับที่พิมพ์ พ.ศ. 2512 ถึง 13 ปี ถ้านับถึงวันนี้ก็ห่างจากต้นฉบับ 52 ปี และห่างจากฉบับแปล 39 ปี แต่เนื้อหาหลักๆ ถ้าเทียบกับองค์ความรู้เรื่องความตายและภาวะใกล้ตายที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก็ถือว่ายังทันสมัย มุมนี้มองได้อย่างน้อยสองประเด็น คือความตายเป็นอย่างนี้ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้และเอาเข้าจริงๆ เราอาจมีข้อมูลเรื่องความตายและภาวะใกล้ตายน้อยมาก มากจนเวลาผ่านไปเกินครึ่งศตวรรษ ข้อมูลความรู้เรื่องนี้ของเราก้าวช้ามาก

หรือเพราะเราไม่ใส่ใจ?

ถ้าพิจารณากันในแง่ที่ว่า ประเทศไทยเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ แต่เราสอนกันเรื่องความตายน้อยมากทั้งที่เป็นแก่นแกนที่สำคัญของคำสอนของพระพุทธเจ้า เห็นได้จากในคัมภีร์พระไตรปิฎกเอง พระสูตรที่ยาวและละเอียดมากที่สุดสูตรหนึ่งก็คือ มหาปรินิพพานสูตร ที่ว่าด้วยตอนก่อนและหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน พูดง่ายๆ ก็คือเรื่องราวการไปสู่ความตายของท่าน

และถ้ามองในมิติของการสร้างสรรค์ผลงานทางวรรณกรรม มหาปรินิพพานสูตร ก็ได้ส่งอิทธิพลอย่างมากต่อวรรณกรรมชั้นยอดของลาว-อีสานเรื่องหนึ่งคือ นิทานอุรังคธาตุ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ของสองฝั่งโขง ประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐาน การเข้ามาขององค์ความรู้และความเชื่อ และลึกลงไปถึงมิติของศรัทธาและจิตวิญญาณก็โดยการร่ายถึงฉากก่อนและหลังตายของพระพุทธเจ้าในมหาปรินิพพานสูตร และกล้าหาญถึงขั้นว่าได้แต่งเติมรายละเอียดบางอย่างที่แม้ในมหาปรินิพพานสูตรก็ไม่มี

นอกจาก นิทานอุรังคธาตุ จะเป็นบ่อเกิดของพระธาตุพนมซึ่งเป็น ‘หัวใจแห่งมรณานุสสติ’ ของคนลาวสองฝั่งโขงแล้ว วรรณคดีเรื่องนี้ยังส่งอิทธิพลต่อการสร้างสรรค์วรรณคดีชั้นยอดสองฝั่งโขงอีกหลายต่อหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็น ผาแดง-นางไอ่ หรือ มหากาพย์สินไซ เป็นต้น

และที่สำคัญทั้งตัวพระธาตุพนมเอง และวรรณคดีที่กล่าวถึงเหล่านั้น ล้วนตั้งอยู่บนฐานของความตายและการมีท่าทีต่อความตาย จนคนลาวคนอีสานมีคำความหนึ่งติดปากบอกตัวเอง บอกคนอื่นตลอดว่า

“ซื่อว่าความตายนี้แขวนคอซุบาทย่าง ไผกะแขวนอ้อนต้อนเสมอด้ามดังเดียว พี่น้องเอย”

“อันว่าความตายนี้กะแขวนคอทุกเซ้าค่ำ ตื่นมื้อเซ้าเห็นหน้าจังว่ายัง”

อย่างน้อยที่สุดคตินี้ผมยังคงได้ยินตั้งแต่เด็กจนเป็นหนุ่ม แต่ไม่ค่อยเห็นท่าทีแบบนี้ในสังคมพุทธไทย (อย่างน้อยสมัยนี้) คือโดยภาพรวมเมื่อมีชีวิตอยู่ก็จะได้ยินคำอวยพรที่ว่า “ขอให้เจริญด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ” หลังๆ เพิ่มคำว่า ‘ธนสารสมบัติ’ เข้าไปด้วย หรือถ้าประสบกับความตายก็จะเป็นการปลอบประโลมให้เข้าใจคนที่ตาย (ความตายของคนตาย) ว่าเป็นธรรมดา แต่ไม่ได้มุ่งที่คนอยู่ว่าต้องเข้าใจความตายที่มีอยู่ทุกขณะกับตัวเองนี้อย่างไร ทั้งยังกล่าวสรรเสริญแต่ด้านที่เป็นคุณงามความดีราวกับว่าบุคคลผู้ตายนั้นเป็นผู้วิเศษบริสุทธิ์สะอาด ซึ่งมันขัดแย้งกับความจริงของชีวิตคน ในด้านหนึ่งเหมือนจะทำให้คนคนนั้นมีชีวิตอยู่กับเราชั่วนิรันดร์แม้ว่าจะตายไปแล้ว

ในกระบวนการทำให้คนคนหนึ่งเป็นอมตะในใจเรานั้น ด้านหนึ่งมันก็ได้ฝังความเศร้าที่เป็นอมตะลงในใจเราด้วย เพราะความจริงบอกกับเราว่า คนคนนั้นได้ตายไปแล้ว และบางทีการยึดติดนั้นลุกลามไปถึงขั้นที่ว่าถ้าบุคคลที่ตายเป็นคนสำคัญที่เรารักศรัทธา ใครมาล่วงเกินหรือวิพากษ์คนคนนั้นหรือความคิดความเชื่อของเราที่มีต่อคนคนนั้นหรือแม้กระทั่งปฏิบัติหลุดไปจากแนวทางของคนที่เรารักและบูชานั้น เราก็อาจมีปฏิกิริยาที่รุนแรงโต้กลับออกไปเป็นการทำร้ายกัน

กล่าวอย่างถึงที่สุด สังคมพุทธเราอาจพูดสอนถึงความไม่ประมาท แต่ความไม่ประมาทที่ว่าตั้งอยู่บนความเข้าใจต่อความตายซึ่งเป็นสัจจะนี้มากแค่ไหน

ผมว่านี่อาจเป็นจุดหักเหสำคัญของพุทธสยามภายหลังการปฏิรูปศาสนาตั้งแต่ปลายรัชกาลที่ 3 และเข้มข้นอย่างมากในช่วง รัชกาลที่ 4-6 ที่พยายามทำให้พุทธกลายเป็นวิทยาศาสตร์และแก่นแกนวิทยาศาสตร์กระแสหลัก (สสารนิยม) คือการเอาชนะธรรมชาติ จึงไม่แปลกเลยที่พุทธสยามมีลักษณะเป็นพราหมณ์หรือฮินดู ซึ่งดูได้จากพระนามของกษัตริย์ซึ่งสะท้อนความเป็นเทพและเป็นอมตะในรูปรอยของความเชื่อเรื่องของการอวตาร ซึ่งลงตัวได้อย่างดีกับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ต้องการเอาชนะความจริงของธรรมชาติ โดยลืมไปว่าความตายก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง จนทำให้เราเกลียดกลัวความตาย พยายามหนีห่างหรือทำราวกับว่าความตายไม่มีอยู่จริงและไม่ต้องการให้มี

เหมือนกับตอนนี้ที่แม้แต่ใครปิดปากจมูกอย่างดีแค่ไหน แต่ถ้าเกิดไปไอที่ห้างหรือที่ประชุมชน คุณก็จะถูกมองด้วยสายตารังเกียจและเห็นภาพผู้คนเดินหนีห่างคุณไป ราวกับว่าคุณเป็นความตาย

มองมุมนี้พุทธสยามกระแสหลักกำลังหลงทิศทางหรือเสียจุดยืนหรือไม่ หรือมองว่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่ต้องเป็นและพร้อมยอมเป็น และเป็นเพื่ออะไร

และนี่อาจคือความสิ้นหวัง

ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงบทกวีที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ใช้เปิดบทที่ 1

“ขอพระผู้เป็นเจ้าได้โปรดเถิด

ข้าฯ จะไม่ขอสวดอ้อนวอนเพื่อให้ชีวิตอยู่รอด

แต่จะขอให้ไม่ประหวั่น เมื่อจักต้องผจญกับสิ่งนั้น

ข้าฯ จะไม่ร้องขอให้พระผู้เป็นเจ้าทรงระงับความเจ็บปวดอันมีอยู่

แต่จะขอให้ดวงใจข้าฯ แข็งแกร่งพอที่จะต่อสู้กับความเจ็บปวดต่อไปได้

ในสงครามแห่งชีวิต ข้าฯ จะไม่คิดหนี

แต่จะขอสู้ไปด้วยพลังทั้งหมดที่ข้าฯมี

ขออย่าให้ข้าฯ ต้องซุกซอนด้วยหวาดหวั่นที่จะอยู่ให้รอดและปลอดภัย

แต่จะขอให้ใจหวังว่าจะอดทนเอาชนะสิ่งนั้นจนหลุดพ้นไปได้

ขออย่าให้ข้าฯ ต้องเป็นคนขลาด คอยอ้อนวอนขอแต่พระเมตตาให้ข้าฯนี้ประสบแต่สิ่งดีเท่านั้น

แต่ขอให้ข้าฯ ได้พบกับอุ้งหัตถ์ของพระองค์ท่านด้วย แม้ในความล้มเหลวหมดชีวิตก็ตามที”

โดย รพินทรนาถ ฐากุร

จาก “การเก็บดอกผล”

 

หมายเหตุ:

สำหรับหนังสือเล่มนี้ ผมเห็นว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆ เรื่องหนึ่ง ดีตั้งแต่ภาพประกอบ รูปเล่ม เนื้อหา และภาษาสำนวน

ผมเคยถามคนที่เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการตาย เขาเล่าว่ามองไปเหมือนสุดขอบโลก ตรงขอบนั้นมีแสงสีเรืองๆ คล้ายเป็นสีทอง แต่บรรยากาศรอบๆ เป็นสีฟ้าๆ เย็นตาให้ความรู้สึกสบาย และตัวก็เหมือนลอยๆ เหมือนว่าเท้าไม่ติดพื้น ซึ่งจากคำบอกเล่านี้มันเป็นภาพเดียวกับภาพปกหนังสือเล่มนี้เลย 

และในการแปลก็มีผู้ตรวจวิชาการ (นางขัตติยา กรรณสูต บช.บ., M.A. (Govt.), M.S. (Ed.), C.P.A) และผู้ตรวจขัดเกลาภาษาไทย (นายเกษม บุญศรี ราชบัณฑิตในวิชาตันติภาษา สาขาศิลปกรรม สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน) ให้ภาษาสละสลวยอ่านง่ายคนทั่วไปอ่านเข้าใจ

Tags: , ,