มาสงขลาคราวนี้ มีโชคดีเกิดขึ้นกับเรา เพราะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งทำงานคลุกคลีกับภาคีคนรักเมืองสงขลา และพาเราเดินเท้าไปทำความรู้จักกับย่านเก่าของเมืองบนถนนสามสาย ที่เรามักเห็นผ่านตาบ่อยๆ ผ่านภาพถ่ายของหลายๆ คน ที่มักถ่ายรูปเช็กอินกับกราฟิตี้ริมกำแพงตึกที่เป็นสีสันบนความเก่าคร่ำ และในความเก่านี้เองที่เป็นที่มาให้เราได้เดินทั่วย่านอย่างวันนี้ เพื่อเก็บภาพและเรื่องราวของอาคารเก่าในเมือง ด้วยเรื่องเล่าจากคนที่รู้จักที่ทุกซอกซอยของถนนสายนี้เป็นอย่างดีอย่างอาจารย์จเร ซึ่งแต่ละหลังนั้นล้วนมีความหลังและร่องรอยของประวัติศาสตร์ซุกซ่อนอยู่ทุกแผ่นไม้และลายกระเบื้องที่เราเห็น

ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลศรีวิชัย

มองจากที่พักของเราที่บ้านในนคร บนถนนนางงาม จะมีอาคารเก่าเรียงตัวไปทั้งสาย อาจารย์จเรเล่าว่าหากถามว่าบ้านนางงามนั้นหลังไหน ทุกบ้านจะตอบว่าหลังนี้แหละบ้านนางงาม และเราก็ได้ข้อสรุปว่าคนบ้านนี้คงงามทุกหลัง เพราะตั้งแต่บ้านหลังแรกที่เราได้ทำความรู้จัก เจ้าของบ้านอายุกว่า 70 ปีที่เราได้เข้าไปนั่งคุยกันในบ้านนั้น ก็คงเค้าความงามไว้อย่างชัดแจ้ง

ฮับเซ่ง ร้านกาแฟที่งามทั้งอาคารและเจ้าของ

ฮับเซ่งเป็นชื่อของอาคารคลาสสิกหลังนี้ ในทุกเช้าบ้านหลังนี้จะเปิดประตูตึกแถวห้องกว้างๆ เป็นร้านน้ำชาที่สังขยาและซาลาเปาแทบจะเหลือรอคนตื่นสาย ป้าบ่วย เกียรติโชคชัย สตรีวัยกว่า 70 ที่เราเอ่ยถึงข้างต้น เพิ่งจะได้พักมือและเตรียมปิดร้านตั้งแต่ยังไม่เที่ยงวัน 

เหนืออาคารไม้ครึ่งตึก มีตัวเลข 2482 ปรากฏอยู่ ตัวเลขหน้าบันนั้นคือหลักฐานการก่อสร้างอาคารหลังนี้ ซึ่งอาคารในย่านเก่าจะมีตัวเลขบอกปี ..ของการมีขึ้นอยู่เป็นธรรมเนียม อาจารย์จเรเล่าว่า บ้านหลังนี้เป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นระหว่างยุคคอมมิวนิสสม์กับยุคประชาธิปไตย ลักษณะอาคารจะแบ่งเป็นสามช่องในหนึ่งห้อง ซึ่งเป็นลักษณะการแบ่งแบบยุโรปมาตั้งแต่ดั้งเดิม โครงสร้างเป็นอาคารก่ออิฐฉาบปูน ผนังรับน้ำหนักแบบไม่มีเสา ด้านหน้าอาคารได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุคโคโลเนียล เพราะหากเป็นบ้านแบบคนสงขลาจริงๆ จะไม่มีเสาด้านหน้า ไม่มีทางเดินหงอคากี่ ซึ่งเป็นทางเดินยาวหน้าบ้านทอดติดกันแบบหลายแห่งในภาคใต้ แต่อาคารหลังนี้ได้รับอิทธิพลทางเดินแบบนั้น เพียงแต่ว่าไม่ได้เปิดให้เป็นทางเดิน เพราะใช้เป็นพื้นที่ใช้สอยของบ้านแทน

ป้าบ่วยเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวของบ้านหลังนี้ว่า เจ้าของบ้านนั้นเป็นคนมีฐานะ จึงสร้างบ้านให้ลูกสาวสามคนอยู่กันคนละหลัง โดยใช้ช่างจากสิงคโปร์ ลูกสาวสามคนนั้นก็ชื่อน่ารักนักคือ ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง เมื่อหนึ่งในลูกสาวซึ่งเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้บอกขาย ป้าบ่วยเลยซื้อเอาไว้เมื่อสักสี่สิบปีมาแล้วเห็นจะได้

ชื่อร้านคือเฮอะแปลว่ารวมเฉิน’  ในภาษาจีนกลาง แปลว่าสำเร็จ แต่ฮับเซ่งเป็นภาษาไหหลำ เตี่ยเราตั้งมาแบบนี้ กระเบื้องพวกนี้เก่ามาตั้งแต่โน้นเลย ถ่ายรูปสวยมากนะ ป้าไม่ได้ทำอะไรกับมันเลย ของเก่าทั้งนั้น มีแค่ทาสี นอกนั้นเหมือนเดิมทุกอย่าง ประตูก็เป็นบานเฟี้ยมลงสลัก ป้าไม่รื้ออะไรออกเลยเพราะป้าชอบแบบนี้ ลมพัดเข้าสบายมาก หลังบ้านนี่ลมโกรกทุกวัน เราขายกาแฟมาทั้งชีวิต แต่เดี๋ยวนี้เปิดขายครึ่งวันพอ อีกครึ่งวันเราได้พักผ่อน ลูกค้าก็คนที่นี่แหละ” 

นางงามคนแรกแห่งถนนนางงามที่เราพบ ยิ้มให้เราเหมือนตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้รู้จักกัน 

a.e.y Space อาคารอนุรักษ์ของคนรักศิลปะ

เราไม่อาจเดินผ่านอาคารหลังนี้ได้แม้เมื่อไปถึงนั้นประตูจะปิดเอาไว้สนิทแน่นด้วยยังเช้าอยู่ ไม่นานนักหลังจากอาจารย์จเรต่อสายถึงเจ้าของอาคารเพื่อขอข้อมูลบางอย่างให้เรา เจ้าบ้านซึ่งแม้ไม่ได้พักอยู่ในอาคารนี้ ก็ยินดีมาเปิดประตูให้เข้าเยี่ยมชมจนเรานึกเกรงใจและได้แต่ส่งคำขอบคุณ

ปกรณ์ รุจิระวิไล คือเจ้าของบ้านหลังนี้ และ ‘a.e.y’ ก็คือชื่อเล่นของเขา ชายหนุ่มเกิดและเติบโตในสงขลา และเป็นหนึ่งในแรงผลักดันสำคัญที่ชุบเมืองสงขลาให้กับมามีชีวิตด้วยการทำพื้นที่สร้างสรรค์ เขาปรับปรุงบ้านหลังนี้ให้เป็นแกลเลอรี่ พื้นที่กิจกรรม และเป็นที่พักให้ศิลปินในพำนักได้สร้างผลงานขึ้น ซึ่งศิลปินหลายต่อหลายคนก็ได้นำงานมาจัดแสดง อาทิ ศรัณย์ เย็นปัญญา พลอย จริยะเวช หรือจัดฉายหนังของ Documentary Club และงานปรับปรุงอาคารอย่างคำนึงถึงความสวยงามของสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ทำให้อาคารนี้ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อปี 2561

ปกรณ์ รุจิระวิไล

  ผมซื้อบ้านหลังนี้มาเมื่อแปดปีที่แล้ว ปีนี้ตึกอายุครบร้อยปีพอดี บ้านอยู่ในสภาพที่โทรมมาก เมื่อค้นประวัติดูก็ได้ทราบว่าเคยเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของสงขลา แล้วเราก็เริ่มรีโนเวตเมื่อสามปีที่แล้วเพื่อให้คนมาอยู่ได้ ใช้งานได้ มีพี่โก๋ (นพดล ขาวสำอางค์) ช่วยในตอนเริ่มต้นทำอาร์ตสเปซ และพี่โก๋ตั้งชื่อ a.e.y ให้

บ้านหลังนี้เป็นอาคารสองหลังติดกัน เมื่อหันหน้าเข้าตัวบ้าน ด้านซ้ายมือที่เห็นเป็นหน้าต่างยาวจรดพื้นคือของเดิมที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ส่วนอีกหลังที่อยู่ด้านซ้ายเป็นหน้าต่างกระจกแบบอาคารยุคโมเดิร์นปี 50s เพราะเคยดัดแปลงอาคารมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อ 70 ปีที่แล้วให้เป็นสถานที่จัดเลี้ยงและเป็นร้านอาหารที่โด่งดังมากของเมือง แม้มองจากด้านหน้าบ้านจะต่างกันชัดเจน แต่ข้างในนั้นทะลุถึงกันโดยเห็นได้จากประตูโค้งตรงกลางเป็นตัวเชื่อม ปกรณ์เล่าว่าเดิมทีนั้นประตูนี้ถูกก่อปิดทึบเอาไว้ เมื่อกะเทาะออกจึงเห็นเป็นประตูโค้งแบบเดิม

ปกรณ์พาเราเดินขึ้นไปชมบนชั้นสอง ฝ้าเพดานเก่าของนิวยอร์กที่เขาซื้อเอามาตอนนี้กลายเป็นผนังที่เท่เหลือหลาย และเพื่อแก้ปัญหาบ้านเก่าที่มีความชื้น เขาจึงออกแบบให้แสงจากภายนอกเข้ามาได้เต็มที่ เปลี่ยนกรอบหน้าต่างและบานเกล็ดลงในช่องหน้าต่างเดิมเพื่อลักษณะความเดิมๆเอาไว้ ทำให้เปิดรับแสงกลางวันได้โดยไม่ต้องพึ่งไฟฟ้าเลย

เราจัดงานนิทรรศการศิลปะที่นี่ตลอดทั้งปี พยายามขยายงานศิลปะออกไปให้กว้าง และเป็นพื้นที่กลางให้คนในเมืองมาทำกิจกรรมกัน ช่วงไหนที่มีนิทรรศการก็จะเปิดทุกวัน

ป้าราตรี

ราตรีแห่งถนนนางงาม

ร้านราตรีเป็นร้านขายเครื่องจักสานของป้าราตรีและสามี ซึ่งอยู่ติดกับ a.e.y space คั่นด้วยช่องทางเดินแคบๆ ที่เผยให้เห็นผิวภายในของผนังเมื่อปูนฉาบล่อนออกไปตามกาล ป้าราตรีแม้จะเลยวัยเกษียณมาจนอายุอยู่ที่เลข 75 แต่โปรไฟล์นั้นไม่ธรรมดาเพราะเป็นคนไอทีรุ่นแรกของเมืองไทย สมัยยังอยู่ในวัยทำงานนั้น ป้าราตรีได้ทำงานกับนักวิชาการด้านคอมพิวเตอร์มาก่อน เมื่อถอนตัวจากแวดวงก็มาใช้ชีวิตเรียบง่าย ปลูกผักทำสวนกับสามี กล้วยที่เห็นอยู่ในร้านก็มาจากสวนของป้าราตรีเองนี่แหละ

บ้านหลังนี้จะรื้อสิ้นปีนี้แล้วป้าราตรีบอก ด้วยเหตุผลของเจ้าของบ้านตัวจริงที่คงจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ป้าราตรีจึงขยับร้านไปอยู่เยื้องๆ กับบ้านในนครที่เราพักอยู่ อาจารย์จเรเล่าให้ฟังถึงบ้านที่มีลักษณะเป็นห้องแถวหลังนี้ ที่แม้จะหน้าแคบแต่ด้านในลึกมาก ว่าเป็นการสร้างแบบ wall bearing หรือการรับน้ำหนักด้วยผนัง ก่อด้วยอิฐแล้วฉาบด้วยปูนหินทราย

เมื่อก่อนคนที่นี่มาจากเมืองไห่เฉิง เขาจึงนำเอาเทคโนโลยีการทำอิฐแบบนั้มาด้วย ผมเคยได้ไปเห็นแบบนี้ที่เมืองไห่เฉิงซึ่งเป็นกรรมวิธีเดียวกัน บ้านหลังนี้อายุร้อยปีต้นๆ ห้องแถวเป็นไม้ทั้งหมด ประตูบานเฟี้ยมไม้เก่าลงสลัก เวลาเปิดต้องค่อยๆ พับบานประตูทีละพับ ส่วนเวลาปิดก็เอาสลักลงเหมือนกลอนสมัยนี้ เนื้อไม้ยังแข็งแรงมาก

 สถาปัตยกรรมไห่เฉิง หนังสือประวัติศาสตร์ที่จับต้องได้ผ่านบ้านเก่าแก่ที่ยังคงอยู่

หลังจากเกริ่นถึงเทคโนโลยีทำก้อนอิฐของชาวจีนไห่เฉิงที่เป็นบรรพบุรุษของคนสงขลาที่ร้านป้าราตรีแล้ว อาจารย์จเรพาเราไปดูบ้านจีนของจริงที่บ้านนายกเทศมนตรีนครสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนนครนอก ตัดกับถนนยะลา ตรงท่าน้ำศักดิ์สิทธิ์พิทักษ์ อยู่ห่างจากบ้านสงครามโลกที่เคยถูกทำลายจากระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเพียงชั่วเดินไม่กี่ก้าว และ ดร.สมศักดิ์ ตันติเศรณี ก็เปิดพื้นที่ของบ้านให้คนเข้าไปนั่งพักอ่านหนังสือประวัติศาสตร์เมืองเก่าได้

บ้านหลังนี้เก่าแก่เกือบสองร้อยปี เป็นบ้านของคนจีนดั้งเดิมที่ย้ายครอบครัวมาอยู่ในเมืองสงขลาซึ่งมีฐานะระดับเจ้าสัว เมื่อล่องเรือจากเมืองไห่เฉิง มณฑลฟู่เจี้ยน มาขึ้นฝั่งมาตั้งถิ่นฐานตรงนี้ ก็ได้นำเอาทั้งรูปแบบ วัสดุก่อสร้าง และช่างมาด้วย จึงเรียกได้ว่ายกสถาปัตยกรรมมาจากประเทศจีนตามลักษณะเดิมแท้แน่นอน

คนจีนไห่เฉิงจะรูปร่างหน้าตาเหมือนคนสงขลา ตัวไม่สูง ผิวสองสี ล่ำๆ หน่อย ออกทะเลเก่ง ทำประมงเก่ง ตอนมาที่นี่เขามากันเป็นหมู่บ้านเลย และคนจีนสมัยก่อนจะมีเรือ เหมือนที่คนรวยสมัยนี้ต้องมีรถหรู มีท่าเรือเป็นของตัวเอง มีเรือสำเภาลำใหญ่ที่อยากกลับเมืองจีนก็ล่องจากท่าเรือตรงนี้ไปเมืองจีนได้เลยเขาชี้ให้ดูตรงหลังบ้านซึ่งเคยเป็นท่าเรือมาก่อน

แถบนี้ก็จะมีเครือญาติของครอบครัวนี้อยู่ และเราพบว่าถ้าเขามาจากครอบครัวเดียวกัน ลักษณะวัสดุก่อสร้างก็จะใช้ด้วยกัน ตัวอิฐก็เป็นแบบเดียวกันสีเดียวกัน กระเบื้องก็เป็นกระเบื้องเผาที่ขนาดเดียวกันและใช้กรรมวิธีเดียวกันกับที่ไห่เฉิง  หลังคาทรงโค้งจะบ่งบอกถึงความเป็นธาตุของเจ้าของบ้าน หลังนี้เป็นธาตุทอง บางคนธาตุน้ำ ธาตุไฟ ก็จะอีกแบบ มีลวดลายสถาปัตยกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็นมงคล อย่างดอกท้อตรงหัวเสา ลายตรงหลังคาเป็นค้างคาวห้อยหัว ซึ่งเป็นสัตว์มงคลของจีน คนจีนนิยมกินค้างคาวเพราะว่าค้างคาวห้อยหัวพ้องกับภาษาจีนที่แปลว่ามงคล ก็เลยมีลายอยู่ตรงนั้น

ป้าปราณี

แต่บางจุดมีการซ่อมบำรุง ดูจากซีเมนต์ที่เป็นยุคกลางเก่ากลางใหม่ คาดว่าซ่อมมาห้าสิบหกสิบปี เพราะถ้าเป็นซีเมนต์แบบดั้งเดิมจะเป็นปูนทรายเหมือนบ้านป้าราตรี ทีนี้พอซ่อมไปปั๊บ ลายตรงนั้นมันหายไปแล้ว เราไม่เห็นลายเลยเห็นไหม

น่าเสียดายที่เมื่อเราไปถึง บ้านนายกเทศมนตรีปิดประตูเอาไว้ จึงได้แต่มองเข้าไปเห็นมุมนั่งพักแบบแค่กระจกกั้น เพื่อให้เห็นภาพของบ้านจีนไห่เฉิงชัดเจนขึ้น อาจารย์จเรพาเราไปยังบ้านอีกหลังที่มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบเดียวกัน ที่บ้านป้าปราณี หัวมุมซอยยะหริ่ง ถนนนครใน

บ้านป้าปราณี

บ้านป้าปราณีเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เพราะกำแพงบ้านจะมีงานสตรีตอาร์ตเหล็กดัดเล่าเรื่องของป้าปราณีตั้งอยู่โดดเด่น ป้าทำขนมจำพวกขนมข้าวเหนียว ขนมกล้วยขายด้วย บ้านหลังนี้เป็นบ้านอยู่อาศัยจริงๆ มีข้าวของวางอยู่ตรงนั้นกองอยู่ตรงนี้ มองจากหน้าบ้านอาจจะคิดว่าก็เหมือนตึกแถวชั้นเดียวธรรมดา แต่เมื่อเข้าไปด้านในกลับไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะตัวบ้านนั้นยาวลึก และมีองค์ประกอบแบบบ้านคนจีนอยู่ครบ ด้านหน้าบ้านที่เปิดให้ค้าขายได้นั้น ด้านในมีบันไดขึ้นไปชั้นลอยที่มีห้องเก็บสต็อกสินค้า ด้านหลังเป็นที่อยู่อาศัย และมีพื้นที่ซักล้างซึ่งเรียกว่าจิ่นแจ้อยู่ด้วย ตามความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยที่บ้านต้องมีจิ่นแจ้ให้ลมให้แดดเข้า ตรงกลางมีบ่อน้ำ แต่ตอนนี้ถูกปิดทึบด้วยหลังคาด้วยเหตุผลทางสภาพแวดล้อมที่ต้องปรับเปลี่ยนตามสภาพภูมิอากาศ

บ้านหลังนี้อายุประมาณร้อยเจ็ดสิบปี สังเกตได้ว่าบ้านยุคแรกๆ เขายังไม่ได้เรียนรู้เรื่องแดดเรื่องฝน การก่อสร้างจึงถอดแบบจากจีนมาเลย เมื่ออยู่ๆ ไปจึงเรียนรู้ที่จะมีกันสาด สร้างกันสาดที่ยาวขึ้นในยุคต่อมาเพื่อกันแดดกันฝน ตรงจิ่นแจ้ก็ต้องทำหลังคาต่อเติม เพราะโล่งแบบเดิมไม่ได้แล้ว ดูง่ายๆ เลยว่าถ้าชายคาสั้นแบบนี้คือมายุคแรกอาจารย์จเรแนะให้เราสังเกต

โรงสีแดงหับโห้หิ้น กลไกเครื่องสีและปล่องไฟ

เมื่อมาย่านเมืองเก่านี้ ไม่ใครก็ใครต้องได้ถ่ายภาพประตูสีแดงของโรงสีแดงหับโห้หิ้นเก็บเอาไว้ ไม่ใช่แค่สวยเด่นจัดจ้านในย่านเท่านั้น แต่เรื่องราวโรงสีแดงที่เราได้รับฟังมานี้ มีมากกว่าการเป็นโรงสีข้าวเก่าบนถนนนครนอก ที่ยังเหลืออยู่เพียงแห่งเดียว

โรงสีแดงแห่งนี้เป็นที่ทำการของกลุ่มภาคีคนรักเมืองสงขลาด้วย เราจึงได้มีโอกาสพบกับ วุฒิชัย เพชรสุวรรณ กรรมการวิชาการภาคีคนรักเมืองสงขลา ซึ่งได้ให้ความกระจ่างว่า สมัยก่อนนั้นสงขลามีโรงสีอยู่ 7 แห่ง โรงสีแดงที่อยู่ริมทะเลสาบสงขลาเป็นโรงสีที่ใหญ่ที่สุด ทั้ง 7 โรงนี้เกิดขึ้นในยุคไล่เลี่ยกันโดยอยู่ติดทะเลและหันหน้าออกทะเลทั้งหมด และทยอยปิดตัวลงใกล้ๆ กันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ด้วยสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามอยู่ในยุคที่เรียกว่าข้าวยากหมากแพง หน้าที่โรงสีที่ต้องสีข้าวเปลือกให้เป็นข้าวสารดำเนินการต่อไม่ได้ เพราะไม่มีข้าวสารมาสี

โรงสีข้าวนี้นับเป็นหัวใจของระบบเศรษฐกิจสำคัญในเมืองสงขลา เพราะสีข้าวและทำธุรกิจส่งออกข้าวสาร อำเภออื่นๆ ก็จะเอาข้าวเปลือกมาสีที่นี่แล้วกระจายออกไปจากท่าเรือ แม้ภายหลังเหตุการณ์จะกลับมาสงบและชาวบ้านกลับมาทำนาได้ แต่ก็มีโรงสีเล็กๆ เกิดขึ้นในชุมชน โรงสีเก่าจึงต้องยุติบทบาท โรงสีแดงเองก็เช่นกัน

แต่โรงสีแดงไม่ได้จบตัวเองไปพร้อมกับหน้าที่สีข้าว เพียงแค่ปิดตัวไว้แต่ไม่ได้รื้อทิ้ง เพราะเจ้าของโรงสีคือตระกูลรัตนปราการ นำธุรกิจอื่นเข้ามาหล่อเลี้ยง ทั้งเคยเป็นโรงงานทำน้ำมะเน็ดหรือน้ำอัดลมโบราณ เปิดเป็นโกดังให้เช่าเก็บสินค้าก่อนลงเรือ ที่มีชื่อเสียงมากคือเคยเป็นโกดังเก็บยางพาราแท่ง คนงานจะแบกยางลงเรือใหญ่เพราะเรือเดินสมุทรเข้ามาไม่ได้ แต่เมื่อตอนหลังเกิดการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้น เจ้าของธุรกิจยางจึงย้ายไปลงเรือที่ท่าเรือน้ำลึกแทน โรงสีแดงจึงเปลี่ยนมาทำธุรกิจประมง ให้เรือประมงมาจอดส่งอาหารทะเล แต่ก็มีปัญหาเรื่องกลิ่นในชุมชน จึงต้องมีการสร้างท่าเรือประมงแห่งใหม่ ที่นี่จึงกลายเป็นพื้นที่ให้เช่าหน้าท่าจอดเรือ และเป็นท่าโม่ คือท่าที่ชาวประมงจะออกเรือต้องมารับน้ำแข็งเพื่อเตรียมไปแช่ปลา จึงมีเครื่องโม่น้ำแข็งอยู่ที่นี่ และอีกส่วนหนึ่งคือเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทางสังคม ให้ภาคประชาสังคมได้ใช้สถานที่ทำงาน

เมื่อมองรายละเอียดในแง่สถาปัตยกรรม อาจารย์จเรเล่าว่า โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็ง ข้างบนซึ่งเป็นพื้นที่สีข้าวจะมีสามชั้น เพื่อจะตั้งไซโลให้ข้าวไหลลงมา แล้วมีลมเป่าเพื่อให้เปลือกข้าวฟุ้งออกไปจนเหลือแต่ข้าวสาร กลไกเหล่านั้นมองขึ้นไปจะเห็นว่าเป็นงานไม้แทบทั้งหมด เครื่องสีข้าวสมัยนั้นใช้ไอน้ำเป็นพลังงาน ต้องต้มน้ำให้เดือดแล้วเอาไอน้ำไปขับเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากอังกฤษ กระทั่งสังกะสีที่ปลูกแรกเริ่มเดิมทีก็สั่งมาจากอังกฤษโดยขนเข้ามาทางปีนังและมาขึ้นท่าที่นี่ สังกะสีรุ่นนั้นทั้งหนาและทน และยังใช้งานได้อยู่ โดยสังเกตได้จากแผ่นที่ไม่เป็นสนิมนั้นคือสังกะสีจากอังกฤษ แผ่นที่เป็นสนิมนั้นคือของไทยที่นำมาเสริมซ่อมส่วนที่ชำรุด

ปล่องไฟที่เห็นสูงเด่นอยู่ด้านในโรงสีแดง ทำจากอิฐเผาที่สั่งมาจากอินเดีย ที่ต้องใช้อิฐอินเดียเป็นเพราะว่าสมัยก่อนเทคโนโลยีการเผาอิฐของไทยสู้อินเดียไม่ได้ เนื่องจากไม่ทนไฟ เมื่อเจอความร้อนสูงๆ อิฐจะแตก แต่ปล่องไฟของโรงสีต้องเจอความร้อนสูงตลอดเวลา จึงต้องใช้อิฐอินเดียที่แกร่งกว่า ปล่องที่เห็นอยู่นี่เป็นปล่องที่สองที่สร้างขึ้นหลังสงคราม ยังไม่ทันได้ถูกใช้งานก็ต้องเลิกกิจการโรงสีเสียก่อน จึงทำให้ยังดูใหม่อยู่

เหตุผลที่ว่าทำไมโรงสีแห่งนี้จึงเลือกใช้สีแดงนั้น ก็เพราะว่าเจ้าของซึ่งเป็นคนจีนมีความเชื่อเรื่องสีมงคล ส่วนหับโห้หิ้นนั้นเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยน ซึ่งมีความหมายว่า สามัคคี กลมเกลียว เจริญรุ่งเรือง และชื่อนี้ก็เตะตาต้องใจเจ้าของโพรดักชั่นเฮาส์แห่งหนึ่ง จนนำไปตั้งเป็นชื่อบริษัทมาแล้ว

…..

เพียงชั่วไม่กี่วันที่ได้เยือนสงขลา แม้เป็นครั้งแรกก็พาเราตกหลุมรัก ด้วยเสน่ห์ของความเรียบง่าย ความน่ารักตามธรรมชาติของคนสงขลาที่เราสัมผัสได้อย่างเรียบซื่อ และเรื่องเล่ารายทางที่ยังมีอยู่อีกมากมายในย่านเก่าของเมืองนี้ นึกเสียดายว่าน่าจะมีเวลามากกว่านี้อีกหน่อย เรายังรู้จักสงขลาได้ไม่ถึงเท่าที่อยากรู้จักเลย

Tags: