หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้าน และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค ทั้ง 16 คน ซึ่ง มี 11 คน ที่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ 4 คนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. และ 1 คนคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปก่อนหน้านี้แล้ว 

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ส.ส. อีก 65 คนที่เหลือ จะมีเวลา 60 วันในการหาพรรคสังกัดใหม่ ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่พรรคที่มีอยู่เดิม หรือย้ายไปเป็นสมาชิกพรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ (แต่ในกรณีตั้งพรรคขึ้นใหม่อาจจะเป็นไปได้ยากด้วยกรอบเวลา 60 วัน) 

คำถามต่อมาคือ แล้ว ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ถูกตัดสิทธิไปจำนวน 11 คนนั้น เพื่อให้สภามีส.ส. มีจำนวนคงอยู่เท่าเดิม (?) จะทำอย่างไรต่อ และมีทางเป็นไปได้อย่างไรบ้าง  

1. เลื่อนลำดับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ (เดิม) ขึ้นมา 

เมื่อ 11 กรรมการบริหารพรรค ที่เป็นส.ส.บัญชีรายชื่อด้วยถูกตัดสิทธิไปแล้ว ทางออกหนึ่งคือ ให้เลื่อนลำดับ ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมา แต่หากเป็นไปในแนวทางนี้ ก็จะขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้มีการยุบพรรค ซึ่งการยุบพรรคเท่ากับว่าพรรคไม่มี ส.ส. แล้ว ลำดับบัญชีรายชื่อที่จะเลื่อนขึ้นก็เป็นโมฆะตั้งแต่ต้น เพราะพรรคถูกยุบไปแล้ว 

และหากเป็นแนวทางนี้ ก็เท่ากับว่า คำวินิจฉัยยุบพรรคของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีผล เพราะจำนวน ส.ส. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ยังคงเท่าเดิม เพียงแต่ต้องย้ายพรรค 

แนวทางนี้ไม่น่าเป็นไปได้

2. คงจำนวน ส.ส. เท่าที่มีหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 

หากเป็นไปในแนวทางนี้ ปัจจุบันสภามีจำนวน 500 คน แบ่งเป็นรัฐบาล 260 คน ฝ่ายค้าน หักลบไป 11 คนเหลือ 224 คน และไม่ระบุฝ่ายอีก 5 คน (กรณีสมาชิกพรรคเศรษฐกิจใหม่ ที่ไม่รวม มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์) 

เมื่อพิจารณาจากคำตัดสินของศาลซึ่งทำให้กรรมการบริหารพรรคหมดสิทธิทางการเมือง ซึ่งกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ที่ดำรงตำแหน่งส.ส. (บัญชีรายชื่อ) นั้นมีจำนวน 11 คน ก็เท่ากับว่า ต่อจากนี้ไปรัฐสภาจะมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนเหลือเพียง 489 คน 

3. เมื่อพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบแล้ว ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ยังถือว่าเป็น ส.ส. อยู่หรือไม่ 

ความน่าสนใจในแง่กฎหมาย คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว คำสั่งนี้มีความหมายต่อ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง) อย่างไร ความเป็น ส.ส. ยังคงอยู่ใช่หรือไม่ 

หากความเป็น ส.ส. ยังคงอยู่ และต้องย้ายพรรคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) และเมื่อ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อกลุ่มนี้ย้ายไปพรรคใดพรรคหนึ่ง (ที่เป็นพรรคที่มีอยู่แล้ว) ก็เท่ากับว่าจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขคะแนนดิบในการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคนั้นยังเท่าเดิม จะถือว่าเป็นการขัดแย้งกันหรือไม่ หรือให้เป็นไปตามนี้ เพราะถือว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยไม่ต้องพะวงถึงประเด็นคะแนนดิบในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเดิมและจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้นใหม่ของพรรคที่ไม่ตรงกัน

ซึ่งคาดว่า ต่อจากนี้ สภาจะมี ส.ส. ไม่ครบ 500 คน (เป็นไปตามแนวทางที่ 2) คือคงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนไว้เพียงเท่านี้ (หายไป 11 คน) และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเดิมของพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ยังคงสมาชิกภาพความเป็น ส.ส. อยู่ และต้องหาพรรคใหม่ภายใน 60 วัน และไม่จำเป็นต้องนึกถึงเรื่องคะแนนดิบในการคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อเดิม และจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เพิ่มขึ้นใหม่ของพรรคที่ ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ย้ายเข้าไปไม่ตรงกัน อ้างอิงจากกรณีของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของ (อดีต) พรรคประชาชนปฏิรูป เพียงคนเดียวของพรรค ที่ตัดสินใจยุบพรรคและย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ

Tags: , , , ,