หลังจากยุคสมัยของตระกูล ‘คาสโตร’ สิ้นสุดลง ทั่วทั้งโลกพากันพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศคิวบา
ช่างภาพและสื่อมวลชนจากทั่วโลกยื่นขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้าไปทำข่าวใหญ่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่แล้วกลับมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับอนุมัติวีซ่าจากรัฐบาลคิวบา เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับสูงมีทัศนะว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร อีกทั้งยังเป็นวาระปกติธรรมดาสำหรับประเทศเกาะกลางทะเลแคริบเบียน
หากจะแปลความก็คือ คิวบายังมีเผด็จการอยู่นั่นเอง เพราะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของคิวบาดูจะเป็นที่รับรู้และแน่ใจในหมู่ประชากรมาก่อนหน้านั้นแล้ว เขาคนนั้นคือ ‘มิเกล ดิอาซ-คาเนล’ (Miguel Diaz-Canel) ที่จะมาสืบต่ออำนาจการบริหารประเทศต่อจากยุคคาสโตร
เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเมืองระดับสูงมีทัศนะว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่ได้มีความพิเศษอะไร หากจะแปลความก็คือ คิวบายังมีเผด็จการอยู่นั่นเอง
ชายวัย 57 ปีสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการพรรคในจังหวัดบ้านเกิดที่วิลญา คลาราตั้งแต่อายุ 33 ปี หลังจากนั้น เขาก็ไต่เต้าขึ้นถึงตำแหน่งสูงของพรรคและรัฐบาล จัดเป็นคนหัวแข็งที่ซื่อสัตย์ และได้รับความไว้วางใจจากราอูล คาสโตร (Raul Castro) เป็นอย่างมาก ถึงขนาดหมายตาไว้ให้เป็นคนรับช่วงอำนาจสืบต่อ เมื่อห้าปีก่อน คาสโตรแต่งตั้งเขาผู้สืบราชการในรัฐสภาและสภารัฐมนตรีเป็นครั้งแรก
นอกเหนือจากการเปลี่ยนผู้นำและยุคสมัยแล้ว ความเป็นประเทศสังคมนิยมของคิวบายังคงสภาพเดิม เช่นเดียวกันกับสภาวะทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ต่อสหรัฐอเมริกา ที่ส่อเค้าว่ายังไม่มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ ไม่เพียงเพราะผู้ภักดีต่อราอูล คาสโตร กลายมาเป็นประธานาธิบดีเท่านั้น หากยังเป็นเพราะเขาควบตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ด้วย
มิเกล ดิอาซ-คาเนล เคยแสดงความเห็นต่อการเดินทางไปเยือนคิวบาของ บารัค โอบามาเมื่อปี 2016 ว่า “นี่คือความพยายามอีกครั้งของสหรัฐอเมริกาที่จะทำลายล้างการปฏิวัติของคิวบา” ยิ่งเมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในยามนี้ บทบาทการเป็นศัตรูก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในสายตาของผู้นำคิวบา นโยบายเปิดประเทศภายใต้แนวคิดของโอบามา แม้จะสร้างความหวังให้กับประชาชนชาวคิวบา แต่มันส่อเค้า ‘เป็นภัย’ ต่อคิวบาในสายตาของดิอาซ-คาเนล เพราะมันยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้เปิดประเทศกว้างขึ้นกว่าเดิม
คิวบายังคงเป็นแบบอย่างที่ดีของประเทศในภูมิภาคละตินอเมริกาในด้านการสาธารณสุขและการศึกษา ในอีกด้านหนึ่งก็ยังมีเม็ดเงินนับพันล้านดอลลาร์จากการท่องเที่ยว และการถ่ายโอนเงินจากผู้ลี้ภัยคิวบาในต่างประเทศ แม้จะไหลเข้ามาในช่องทางมืดก็ตาม
ใครก็ตามที่เป็นหนึ่งในจำนวนนักท่องเที่ยวกว่าสี่ล้านคนต่อปีเดินทางเข้าคิวบา ผู้นั้นก็คือคนนำเงินเข้าประเทศ เพียงแต่บุคลากรซึ่งทำงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของคิวบามีจำนวนจำกัดหลังจากรัฐบาลจำกัดธุรกิจภาคเอกชน ทั้งโรงแรมที่พักและร้านอาหารให้ต้องมีใบอนุญาต ในยุคของ มิเกล ดิอาซ-คาเนล ดูเหมือนว่าการปฏิรูปเศรษฐกิจยิบย่อยของราอูล คาสโตร ก็ถูกระงับไป
ความแตกต่างระหว่างสองโลกเปรียบเสมือนระเบิดเวลาทางสังคม – โลกหนึ่ง จำนวนเงินประมาณ 1,200 บาทคือรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้คนในคิวบา ในขณะที่อีกโลกหนึ่ง เงินจำนวนนั้นคือรายได้จากการให้เช่าห้องพักต่อหนึ่งคืน ดังนั้นจึงมีกรณีเช่นว่า แพทย์ที่มีความรู้ความสามารถต้องมาทำหน้าที่เป็นพนักงานยกกระเป๋า แทนที่จะรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาล แต่เนื่องจากรัฐเริ่มจำกัดธุรกิจของภาคเอกชน ตอนนี้ความขุ่นมัวและความอิจฉาเริ่มขยายตัวในกลุ่มผู้ที่ได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในเค้กการท่องเที่ยวก้อนใหญ่ ซึ่งรวมถึงกลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองของคิวบา และกลุ่มทหาร ที่บริหารจัดการธุรกิจโรงแรมกาวิโอตา ที่มีห้องพักกว่า 29,000 ห้องทั่วประเทศ
ความไม่เสมอภาคในคิวบาเริ่มขยายวงกว้าง จนกลายเป็นเรื่องน่าตลก เมื่อนึกถึงว่า ความเท่าเทียมกันเป็นพันธสัญญาและถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของลัทธิสังคมนิยม คนวัยหนุ่มสาวเริ่มรู้สึกไม่พอใจ แรงกดดันที่จะให้เปิดและปฏิรูปประเทศทวีความรุนแรงมากขึ้น
ความไม่เสมอภาคในคิวบาเริ่มขยายวงกว้าง จนกลายเป็นเรื่องน่าตลก เมื่อนึกถึงว่า ความเท่าเทียมกันเป็นพันธสัญญาและถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายของลัทธิสังคมนิยม
การปฏิวัติคิวบากำลังจะครบรอบปีที่ 60 ในปีหน้า ครั้งนั้น แม้แต่พี่น้องคาสโตรเองก็คงไม่คาดคิดว่ามันจะยืนยงอยู่รอดมานานถึงเพียงนี้ ความอัตคัดกลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน และทำให้ชาวคิวบากลายเป็นแชมป์โลกได้แบบไม่ต้องฝึกซ้อม
ว่าแต่ใครจะซ่อมรถอเมริกันเก่าแก่ 60 ปีจวนจะพัง ให้กลับมาฟิตเหมือนเดิมอีกครั้ง รถโอลด์ไทเมอร์ที่แล่นกันขวักไขว่บนท้องถนนในคิวบาจะว่าไปก็คล้ายการเมืองของคิวบา ต่อให้ยกเครื่องระบบทางการเมืองใหม่ในคิวบาเสียใหม่ แต่ถ้าขาดเครื่องยนต์ใหม่ก็ไม่มีผลอะไรเช่นกัน
ส่วนประชาชนคนวัยหนุ่มวัยสาวที่มีการศึกษาดี ไม่มีใครคาดหวังกับการซ่อมหรือปฏิรูปประเทศ พวกเขาคิดและฝันเพียงอย่างเดียว คือ การย้ายถิ่น
คิวบาของสองพี่น้องคาสโตร
- ปี 1959 ฉลองชัยชนะการปฏิวัติ: กบฏที่รายล้อมฟิเดล คาสโตรก้าวขึ้นสู่อำนาจ หลังจากเผด็จการ ฟุลเกนซิโอ บาติสตา (Fulgencio Batista) เดินทางหลบหนีไปในเดือนมกราคม เริ่มแรกสหรัฐอเมริกาประกาศยอมรับรัฐบาลใหม่ของคิวบา แต่ไม่ช้าก็กลับใจ ไม่เห็นชอบกับการปฏิรูปประเทศในแนวทางของนักปฏิวัติ ประธานาธิบดี ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) มอบหมายให้หน่วยงานซีไอเอโค่นคาสโตรลงจากแท่นอำนาจภายในหนึ่งปี และให้รัฐบาลทหารที่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ บริหารประเทศแทน
- ปี 1960 สร้างชาติและผูกมิตรกับโซเวียตรัสเซีย: ไอเซนฮาวร์สั่งห้ามส่งออกสินค้าไปยังคิวบา (ยกเว้นอาหารและเวชภัณฑ์) และห้ามนำเข้าน้ำตาล คิวบาจึงหันไปสร้างสัมพันธไมตรีกับโซเวียตรัสเซีย
- ปี 1961 การรุกรานอ่าวหมู (Bay of Pigs): เมื่อสถานการณ์ระหว่างสหรัฐฯ และคิวบาเริ่มตึงเครียดขึ้นเรื่อยๆ วอชิงตันจึงตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับฮาวานาในวันที่ 3 มกราคม 1961 ต่อมาในเดือนเมษายน ซีไอเอให้การสนับสนุนกลุ่มทหารปฏิวัติที่ผ่านการฝึกอบรมและได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยกกำลังพลรุกพื้นที่อ่าวหมู เพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลของฟิเดล คาสโตร แต่ปฏิบัติการล้มเหลวภายในเวลาสามวัน
- ปี 1962 วิกฤติคิวบา-ไคลแม็กซ์ของสงครามเย็น: ปีก่อนหน้า ผู้นำสหภาพโซเวียต นิกิตา ครุชชอฟ (Nikita Khrushchev) เคยกล่าวว่า “ผมไม่รู้ว่าฟิเดลเป็นคอมมิวนิสต์หรือเปล่า แต่ผมน่ะเป็นฟิเดลิสต์” สหภาพโซเวียตพร้อมให้ความสนับสนุน และจัดตั้งฐานพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางขึ้นในคิวบา ซึ่งนำไปสู่ ‘วิกฤตคิวบา’ นั่นคือการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐอเมริกา กับสหภาพโซเวียตและคิวบา ความตึงเครียดดังกล่าวเกือบเป็นชนวนนำไปสู่สงครามปรมาณู แต่หลังจากการโต้ตอบทางการทูต ทั้งวอชิงตันและมอสโกต่างตกลงยอมถอย วิกฤติการณ์จึงยุติลงภายใน 13 วัน
- ปี 1971 ต้นแบบสังคมนิยมในละตินอเมริกา: เหตุการณ์ที่อ่าวหมูและวิกฤติคิวบา ทำให้คาแรกเตอร์ของการปฏิวัติคิวบาเอนเอียงมาทางลัทธิมาร์กซ์-เลนินมากขึ้น คิวบาเริ่มโดดเดี่ยวอยู่ในกลุ่มประเทศละตินอเมริกามากขึ้นเช่นกัน แต่ก็พัฒนาตนเองจนกลายเป็นต้นแบบของการเคลื่อนไหวแนวทางปฏิวัติฝ่ายซ้ายที่โดดเด่น ปี 1971 ประธานาธิบดีซัลวาดอร์ อัลเญนเด (Salvador Allende) ของชิลี เปิดประเทศสังคมนิยมให้การต้อนรับคาสโตร
- ปี 1989 โมงยามแห่งเปเรสตรอยกา: การขึ้นครองอำนาจในฐานะเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตของมิคาอิล กอร์บาชอฟ (Mikhail Gorbachev) คือจุดเริ่มต้นของกลาสนอสต์และเปเรสตรอยกา ม่านเหล็กเริ่มสลายและจักรวรรดิโซเวียตเริ่มแยกตัวออกจากกัน สำหรับคิวบาแล้ว นั่นคือความสูญเสียครั้งสำคัญ ปราศจากความเกื้อกูลของพี่ใหญ่ ทำให้สถานการณ์ในประเทศต้องเข้าสู่ช่วงวิกฤต ชาวคิวบาหลายพันคนพยายามถ่อเรือข้ามทะเลหลบหนีไปยังไมอามี หลายคนเชื่อว่านั่นคือลางบอกบทอวสานของรัฐบาลคาสโตร
- ปี 1998 การเดินทางเยือนครั้งแรกของพระสันตะปาปา: ในอดีตเมื่อปี 1941 พระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 เคยตรัสห้ามคาทอลิกทุกคนให้การสนับสนุนรัฐบาลคอมมิวนิสต์ เป็นเหตุให้ฟิเดล คาสโตร คว่ำบาตรสำนักวาติกันไปในปี 1962 แต่เมื่อเวลาผ่านไป และช่วงเวลาแห่งสงครามเย็นยุติลง พระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2 ทรงเสด็จเยือนคิวบาเป็นครั้งแรก และภาพการพบกันระหว่างพระองค์กับฟิเดล คาสโตรในครั้งนั้นได้กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ในอีกสองปีถัดมา
- ปี 2002 ฟิเดล คาสโตร และจิมมี คาร์เตอร์: หลังจากสหรัฐฯ ยุติความสัมพันธ์ทางการค้ากับคิวบาในปี 1962 เหตุการณ์ระหว่างวอชิงตันและฮาวานาแทบไม่ปรากฏอีกเลย กระทั่งในปี 2002 จิมมี คาร์เตอร์-อดีตประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เดินทางไปเยือนคิวบา ด้วยความหวังจะพลิกฟื้นความสัมพันธ์ของสองประเทศ แต่แล้วก็ไม่ประสบความสำเร็จ
- ปี 2006 ฟิเดล คาสโตร และฮูโก ชาเวซ: ช่วงทศวรรษ 1990s ระบอบสังคมนิยมเข้าสู่ยุคตกต่ำ ความล่มสลายของอีสต์บล็อกส่งผลให้อุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมต้องดับหายไป รวมทั้งในละตินอเมริกาด้วย แต่แล้วสาวกของคาสโตรในเวเนซูเอลาก็ก้าวขึ้นแท่นอำนาจ เขาคือ ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) ที่พร้อมยื่นมือเข้าพยุงเศรษฐกิจของคิวบา
- ปี 2006 การถ่ายโอนอำนาจ: ความชราภาพบังคับให้ฟิเดล คาสโตรต้องถ่ายโอนอำนาจให้กับราอูล ผู้เป็นน้องชาย ซึ่งนับเป็นสัญญาณชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ อย่างรุนแรงเกิดขึ้นในคิวบา แต่ที่แตกต่างไปจากอดีตก็คือ นอกเหนือจากกิจการด้านสาธารณสุขและการศึกษาแล้ว ประเทศยังต้องจ่ายเพิ่มขึ้นด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน การขาดเสรีภาพในการแสดงออก และการปราบปราม
- ปี 2014 ความหวังชั่วคราว: ราอูล คาสโตร และ บารัค โอบามา สร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลกเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2014 พวกเขาประกาศความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนนักโทษ นอกจากนั้น โอบามายังยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่นั่นก็เป็นความหวังแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพราะเมื่อประธานาธิบดีทรัมป์เข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และคิวบาก็กลับมาสู่สภาพเดิม
- ปี 2016 ฟิเดล คาสโตรเสียชีวิต: ข่าวเกี่ยวกับความตายของฟิเดล คาสโตรปรากฏออกมาบ่อยครั้ง หลายคนฟังแล้วไม่ค่อยอยากเชื่อ กระทั่งวันที่ 25 พฤศจิกายน 2016 ผับบาร์และคาเฟ่พากันปิดทำการ ผู้คนพากันออกมาจับกลุ่มบริเวณพรอเมอนาด มาเลคอน ในฮาวานา หลายคนพากันร้องรำ แต่ก็มีหลายคนที่ร่ำไห้
- ปี 2018 ผู้สืบทอดอำนาจต่อจากคาสโตร: หลังจากครองอำนาจมานานกว่า 10 ปี ในที่สุด ราอูล คาสโตรก็วางมือจากตำแหน่งบริหาร รัฐสภาของคิวบาลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา และได้ตัวรองประธานาธิบดี มิเกล ดิอาซ-คาเนล มาแทนที่ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี ที่ผู้นำประเทศคิวบาไม่ใช่คนสกุล ‘คาสโตร’ แต่ก็คาดกันว่า สถานการณ์ทางการเมืองของคิวบาในช่วงเวลาอันใกล้นี้จะยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
อ้างอิง:
Tags: Fidel Castro, Cuba, คิวบา, Havana, ฮาวานา, คาสโตร, Raul Castro