ผมคิดว่าตัวเองโชคดีที่มีโอกาสได้สัมผัสกับชีวิตริมน้ำอยู่บ้าง ได้นั่งเรือเฝ้ามองน้าชายลอยข่ายจับปลาอยู่กลางแม่น้ำ ได้หัดว่ายน้ำด้วยตัวเองในคลองชลประทานหน้าบ้าน กระทั่งได้ตกเบ็ดจับปลาเอามาให้ย่าทำเป็นอาหารมื้อเย็น

แต่การได้ฟังเรื่องราวจากคนที่รักและหลงใหลในสายน้ำและสิ่งมีชีวิตในน้ำอย่างแท้จริง ก็ทำให้ผมตระหนักได้ว่าตัวเองเหินห่างจากสิ่งที่สำคัญต่อการมีชีวิตมากเพียงใด

‘นณณ์ ผาณิตวงศ์’ ชื่อและนามสกุลนี้อยู่ในความทรงจำของผมมานานแล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งเขาตระเวนสำรวจสิ่งมีชีวิตในน้ำด้วยความสนใจใคร่รู้ส่วนตัว อันนำมาสู่กลุ่ม Siamensis ซึ่งเป็นที่รวมของกลุ่มคนคอเดียวกัน จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ‘รายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินีในประเทศไทย’ ซึ่งสร้างทั้งความแตกตื่นและความรับรู้เกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นให้กับสังคมไทย ก็ทำให้ผมได้พบกับเขาอย่างเป็นทางการเสียที

ปัจจุบัน นอกจากเป็นกรรมการบริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัด ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด เป็นเจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes คนแรกของประเทศไทย และยังคงรักษ์น้ำ-ปลา-ป่า-โลก อยู่อย่างมุ่งมั่น 

สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร

คงต้องถามก่อนว่าสิ่งแวดล้อมทางด้านไหน ผมถนัดทางด้านระบบนิเวศน้ำจืด ถ้าถามผมว่าระบบนิเวศน้ำจืดเป็นอย่างไร ผมคิดว่ามันเละเทะที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ เพราะทุกวันนี้เราไม่ได้มองแหล่งน้ำจืดเป็นระบบนิเวศ แต่เรามองแม่น้ำเป็นท่อส่งน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นพื้นที่น้ำตื้น เราก็มองว่าเป็นแหล่งน้ำเสื่อมโทรม ต้องขุดให้มันลึก จากเดิมที่น้ำเคยท่วมตลิ่งก็ท่วมไม่ได้ เราก็สร้างกำแพงกั้นน้ำ พื้นที่ที่เคยเป็นวัง ลึกบ้างตื้นบ้าง เราก็ขุดให้มันลึกเสมอกัน ฝายก็ทำกันแบบเละเทะ ลำธารก็พังเสียหาย

ที่สำคัญคือนโยบายตอนนี้ไม่สนับสนุนให้ระบบนิเวศน้ำจืดดีขึ้นเลย อย่างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงซึ่งจะผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินมาลงแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ทำไปโดยไม่มีการคำนึงถึงระบบนิเวศ ไม่มีการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และมีการให้สัมภาษณ์ว่าพลังงานที่ได้จากเขื่อนเป็นพลังงานที่ไม่มีต้นทุน แน่นอนว่าต้นทุนมันไม่ได้อยู่ที่คุณ แต่มันอยู่กับชาวบ้าน จากที่เคยจับปลาได้ก็จับไม่ได้ จากที่เคยปลูกผักริมแม่น้ำได้ก็ปลูกไม่ได้ อย่างเขื่อนไซยะบุรีซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในลาว จากเดิมที่ชาวบ้านจับปลาอยู่ริมแม่น้ำ พอสร้างเขื่อน ชาวบ้านก็ต้องย้ายขึ้นไปอยู่บนเขา และก็มีข้อมูลว่าคนกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร เพราะเขาถูกย้ายออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย และก็เป็นปัญหาต่อเนื่องว่าเขาก็ต้องไปล่าสัตว์เพื่อหาเลี้ยงตัวเอง

นอกจากความเดือดร้อนของผู้คน เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศอย่างไร

ผมยกตัวอย่างแม่น้ำพรมซึ่งมีเขื่อนจุฬาภรณ์กั้นอยู่ก็แล้วกัน ก่อนจะเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เราจะต้องผ่านสะพานข้ามแม่น้ำพรม ตอนที่ผมไปถึงวันแรก น้ำไหลแรงมาก ท่วมจนล้นตลิ่ง ผมยืนมองแล้วก็สงสัย เฮ้ย หน้าแล้ง ทำไมน้ำแรงจัง และน้ำก็ใส ปกติเวลาน้ำไหลแรง ถ้าเป็นน้ำป่าตามธรรมชาติ มันจะมีสีขุ่นแดง แต่นี่น้ำไหลแรงและใส เราก็ลงสำรวจปลาไม่ได้ เพราะน้ำแรง ก็ขับรถผ่านไป วันรุ่งขึ้น ผมก็กลับไปที่เดิม น้ำก็ลงไปเป็นระดับลำธารปกติ ผมก็สงสัยว่าทำไมเป็นอย่างนี้ พอลงไปสำรวจปลา ผมก็เจอปลาที่ไม่ควรจะอยู่ในลำธาร อย่างปลาบู่ทราย ปลากระดี่ และปลากริม

ตามปกติ ถ้าผมเห็นลำธารในป่าที่มีสภาพสมบูรณ์อย่างนั้น ผมคาดหวังว่าจะได้เจอปลาอย่างน้อย 20 ชนิด แต่วันนั้นผมเจอปลาลำธารที่ควรจะอยู่ที่นั่น 3-4 ชนิด และจำนวนก็ไม่มาก พอเจอเจ้าหน้าที่ ผมก็ถามว่าเกิดอะไรขึ้น เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าที่น้ำไหลแรงเพราะเขื่อนปล่อยน้ำ

คุณเห็นไหม การปล่อยน้ำของเขื่อนทำให้ระบบนิเวศไม่นิ่ง ช่วงที่น้ำควรจะแล้งมันกลับไม่แล้ง ช่วงที่น้ำควรจะเยอะมันกลับไม่เยอะ สภาพของลำธารถูกทำให้ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งแม่น้ำโขงตอนนี้ก็เป็นอย่างนั้น คือฤดูที่น้ำควรจะแล้ง น้ำควรจะตื้น ซึ่งจะทำให้มีสาหร่ายอยู่ตามก้อนหิน เป็นอาหารของปลา ทำให้มีหาดหราย ซึ่งคนใช้ปลูกผักปลูกอะไรได้ ส่วนที่เป็นเกาะ นกก็ไปทำรัง อยู่ดีๆ พอเขื่อนปล่อยน้ำลงมา รังของนกก็ถูกน้ำท่วม พืชผักที่คนปลูกก็ถูกน้ำท่วม ปลาบางชนิดที่ผสมพันธุ์ในฤดูแล้งก็ผสมพันธุ์วางไข่ไม่ได้ ทุกวันนี้มันเป็นแบบนี้

สิ่งที่เกิดขึ้น คุณมองว่าเป็นเพราะความไม่รู้ ความเพิกเฉย หรือเพราะอะไร

คุณรู้จักปลาน้ำจืดกี่ชนิด ปลาน้ำจืดตัวสุดท้ายที่กิน คุณรู้หรือเปล่าว่าชื่อปลาอะไร นึกออกไหม คือพอคนส่วนใหญ่ถูกดึงออกจากการรับรู้เรื่องพวกนี้ มันก็เปิดโอกาสให้มีคนไปทำลายโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร เพราะไม่มีใครโวยวาย

ผมมีเพื่อนคนหนึ่ง เขาเกิดที่นครสวรรค์ แล้วก็เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ พอเขากลับบ้าน แม่ก็ทำแกงส้มให้กิน เขาก็ตื่นเต้น เฮ้ย ปลาอะไร ไม่เคยเห็นมาก่อน แต่แม่เขาบอกได้ว่ามันคือปลาแป้นยักษ์ บางทีก็เรียกว่าปลาข้าวเม่า มีให้กินเฉพาะฤดูกาลนี้เท่านั้น จับด้วยอุปกรณ์ประมงชนิดนี้ เอามาทำอะไรกินถึงอร่อย

คุณเห็นไหมว่าข้อมูลพวกนี้มันหายไปภายในชั่วอายุคนเดียว ซึ่งมันก็ทำให้ความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ต่อระบบนิเวศลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ถามว่าความคาดหวังต่อแม่น้ำเจ้าพระยาของคนรุ่นเราคืออะไร ไปอยู่ที่ท่าน้ำ น้ำอย่าเหม็นก็แล้วกัน ใช่ไหม น้ำไม่เหม็นเราก็โอเคแล้ว เราไม่มีความคาดหวังแล้วว่าต้องอาบน้ำได้ ต้องเอาน้ำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ หรือต้องมีปลาให้กิน เพราะความรู้ที่ไม่ได้ถูกส่งต่อมา ความคาดหวังของเราต่อแม่น้ำเจ้าพระยาจึงลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งมันก็ทำให้การอนุรักษ์ทำได้ยากมาก โดยเฉพาะเมื่อคนที่มีอำนาจไม่มีความรู้

ผมยกตัวอย่างการสร้างเขื่อนแม่วงก์ซึ่งเกิดกระแสต่อต้านในปี 2555 แต่ในเวลาเดียวกัน เขื่อนไซยะบุรีกำลังถูกสร้างอยู่ในลาว ซึ่งในด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เขื่อนไซยะบุรีเลวร้ายกว่าเขื่อนแม่วงก์ไม่รู้เท่าไร แต่เราจุดกระแสต่อต้านเขื่อนไซยะบุรีไม่ติดเลย เนื่องจากแม่วงก์มันสัมผัสได้ง่ายกว่า นี่แผ่นดินไทย นี่ป่าไทย น้ำจะท่วมบ้านของเสือ น้ำจะท่วมบ้านของนกยูง คือพอพูดถึงเสือ พูดถึงนกยูง พูดถึงกำแพงเพชร คนเขาสัมผัสได้ แต่ถ้าพูดถึงปลาแค้ มันอยู่ไกลตัวมาก ปลาแค้คืออะไร พอคนไม่มีองค์ความรู้ในเรื่องพวกนี้ คนเข้าไม่ถึง คนไม่รู้จัก คนไม่สนใจ มันก็เป็นอย่างนี้

เรื่องระบบนิเวศในน้ำ เรื่องปลา ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะในประเทศไทย แต่เรื่องนี้เป็นปัญหาระดับโลก อย่างปลาทูน่ายักษ์หรือปลาทูน่าครีบน้ำเงินเหนือ ซึ่งคนญี่ปุ่นเอาเนื้อของมันมาทำซูชิและซาชิมิ ในธรรมชาติ ปลาชนิดนี้คือนักล่าขนาดใหญ่ เปรียบเสมือนเสือหรือสิงโต คุณลองนึกภาพว่าถ้ามีคนไปไล่จับเสือหรือสิงโต ไม่มีใครยอมแน่นอน แต่สำหรับการจับปลาทูน่ายักษ์ ขนาดองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature: WWF) ยังต้องประชด คือเขาทำภาพปลาทูน่ายักษ์ที่มีหัวเป็นแพนด้า แล้วก็มีข้อความว่า “คุณจะสนใจเรามากกว่านี้ไหม ถ้าเราเป็นแพนด้า”

(ที่มาภาพ: http://theinspirationroom.com/daily/2011/would-you-care-more-for-blue-fin-tuna/)

ทำไมคุณจึงสนใจเรื่องปลาและระบบนิเวศน้ำจืดเป็นพิเศษ

ตอนเด็ก ผมมีโอกาสไปต่างจังหวัดค่อนข้างบ่อย เพราะพ่อชอบตกปลา ผมก็ไปตกปลากับพ่อ ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ก็ไปกันทั่ว ที่ที่ผมไปบ่อยอย่างเขื่อนวชิราลงกรณ (เขื่อนเขาแหลม) ที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ผมเชื่อว่าผมเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่กี่คนที่เห็นตั้งแต่ตอนที่กำลังสร้างสะพานไม้ เห็นตั้งแต่ตอนที่ช้างลากไม้มาทำสะพาน เพราะฉะนั้น ผมจึงเห็นความเปลี่ยนแปลงของวงจรชีวิตของปลาในเขื่อนว่าตอนเริ่มสร้างเขื่อนเป็นอย่างไร มีระบบนิเวศย่อยอะไรที่ทำให้หลังจากสร้างเขื่อนแล้วมีปลาเยอะ แล้วทำไมปลามันถึงน้อยลงเรื่อยๆ เห็นตั้งแต่ตอนที่ทางไปสังขละบุรียังเต็มไปด้วยป่า ไม่มีรีสอร์ต ไม่มีโรงแรม ไม่มีไร่ข้าวโพดอยู่ตามข้างทาง ยังมีนกเงือกเกาะอยู่ริมถนนเหมือนกับเวลาขึ้นเขาใหญ่เลย ตอนที่นั่งอยู่บนแพ เดี๋ยวก็มีนกเงือกบินผ่าน แล้วก็จะมีคนท้องที่เอานกแก้วมาขาย เอาไก่ฟ้ามาขาย คือผมเห็นตั้งแต่มันเป็นอย่างนั้น จนกระทั่งวันนี้ที่มันหมดไป ปลาก็หมด ป่าก็หมด สัตว์ก็หมด

ในช่วงแรก เนื่องจากเขื่อนเขาแหลมสร้างในป่า พอสร้างในป่า ดินมันก็อุดมสมบูรณ์ และในเขื่อนก็มีต้นไม้ใหญ่เต็มไปหมด ต้นไม้มันเป็นระบบนิเวศ มันทำให้มีสาหร่าย มีตะไคร่ มีการย่อยสลาย มีสัตว์เล็กสัตว์น้อย ช่วงนั้นจึงมีปลาเยอะมาก ตอนเด็กๆ กิจกรรมหนึ่งของผมคือช่วงเช้าจะมีแมลงเม่าบินออกมาและตกลงไปในน้ำ พอตกลงไปในน้ำ ปลาก็จะมากิน พวกลูกปลาแรด ลูกปลากระสูบ กิจกรรมของผมคือพอแมลงเม่าตกลงไปในน้ำ ผมจะต้องรีบช้อนเพื่อเอามาเป็นเหยื่อตกปลา เพราะไม่เกิน 5-10 วินาที มันถูกปลากินแน่นอน แต่ทุกวันนี้มีแต่แมลงเม่าลอยเกลื่อน เพราะไม่มีปลามากิน เนื่องจากเขื่อนมันคือบ่อน้ำ ซึ่งบ่อน้ำไม่ใช่ระบบนิเวศที่เอื้อต่อปลา

ระบบนิเวศในน้ำมีความสำคัญอย่างไร และมันจะส่งผลต่อเราอย่างไรถ้ามันถูกทำลายลงไปเรื่อยๆ

เราต้องเริ่มจากว่าปลาเป็นอาหาร เป็นแหล่งโปรตีนราคาถูก และเป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีไขมันต่ำ และมีไขมันดี ทุกวันนี้แหล่งน้ำในประเทศไทยมีไม่เพียงพอสำหรับการผลิตปลาให้คนไทยกินแล้วนะ ถ้าไปตลาดตามชายแดนกัมพูชา จะเห็นว่ามีการนำปลาเข้ามาจากกัมพูชาเยอะมาก หรือปลาที่ขายอยู่ข้างทางเวลาขับรถขึ้นไปทางสิงห์บุรี ปลาช่อนแม่ลาอะไรทั้งหลาย ผมเชื่อว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นปลาจากกัมพูชา กัมพูชาเอาปลามาจากไหน เขาเอาปลามาจากทะเลสาบเขมรหรือโตนเลสาบ แล้วกัมพูชาได้น้ำ ได้ความอุดมสมบูรณ์มาจากที่ไหน ก็ได้มาจากแม่น้ำโขง คอยดูแล้วกันว่าเมื่อแม่น้ำโขงถูกกั้นด้วยเขื่อน ปลาจะน้อยลงแค่ไหน ทุกวันนี้ จากที่เคยเป็นโปรตีนราคาถูก ปลากลายเป็นโปรตีนราคาแพงไปแล้ว

บางคนอาจจะบอกว่าปลาในธรรมชาติหมดไปก็ไม่เป็นไร ก็กินปลาดุกบิ๊กอุย กินปลาทับทิม ซึ่งจริงๆ แล้วอาหารของปลาพวกนั้น อย่างน้อย 50-60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผสมของมันก็มาจากปลาธรรมชาติ แม้แต่กุ้งที่เราเลี้ยง อาหารกุ้งก็มาจากปลาธรรมชาติ ถึงอย่างไรเราก็ต้องพึ่งพาความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

ถ้าพูดถึงความมั่นคงทางอาหาร ในประเทศไทย เราอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญของมันมากนัก แต่ถ้าไปดูลาว ตัวเลขเมื่อสองปีที่แล้วคือ 30 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีปัญหาเรื่องขาดแคลนโปรตีน และถ้าดูตามภูมิภาค กลุ่มคนที่มีอัตราการขาดแคลนโปรตีนน้อยที่สุดคือกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง เพราะเขามีปลาให้กิน และผมก็นั่งคำนวณตัวเลขว่าการที่เด็กชาวลาว 30 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนโปรตีน มันจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจในอนาคตเท่าไร ถ้าเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อาจจะมีปัญหาสุขภาพหรือทำงานได้ไม่เต็มที่ จะมีความสูญเสียทางเศรษฐกิจเท่าไร แล้วผมก็เอาตัวเลขนี้เทียบกับผลประโยชน์ที่ลาวจะได้จากการสร้างเขื่อน ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้เลย ความเสียหายมันมหาศาลกว่ามาก

พูดถึงระบบนิเวศน้ำจืด แม้แต่หน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้อย่างกรมประมง ก็ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจทางด้านระบบนิเวศ ทางด้านชนิดพันธุ์ หรือทางด้านสัตววิทยาเท่าที่ควร ยกตัวอย่างเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น กรมประมงเป็นคนปล่อยชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (alien species) เยอะที่สุดในประเทศไทย อย่างการเอาปลาจากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาไปปล่อยที่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน คือเอาปลาที่เพาะอยู่ในภาคกลางไปปล่อยที่แม่ฮ่องสอน

เวลาพูดถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เราต้องไม่นึกถึงพรมแดนของประเทศ เพราะพรมแดนของประเทศเกิดขึ้นทีหลัง เราต้องนึกถึงเรื่องสัตววิทยาว่าแม่น้ำสาละวินมันไหลแยกออกจากแม่น้ำโขง ไหลแยกออกจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะฉะนั้น ปลามันไม่เหมือนกัน การเอาปลาจากเจ้าพระยาไปปล่อยในสาละวิน ก็ถือเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของลุ่มแม่น้ำสาละวิน แต่กรมประมงก็เอาปลาไปปล่อยเป็นล้านตัว

เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ผมศึกษาปลามาระดับหนึ่ง เวลาคนถ่ายภาพปลาในตลาด ผมพอจะเดาได้ว่ามันคือปลาในลุ่มน้ำอะไร เพราะแต่ละลุ่มน้ำจะมีปลาที่อาศัยอยู่เฉพาะในลุ่มน้ำนั้นๆ แต่เดี๋ยวนี้ผมเดาไม่ออก ตลาดแถวลุ่มแม่น้ำสาละวิน แต่ทำไมมีปลาตะเพียนขาว ซึ่งตามปกติไม่พบในแม่น้ำสาละวิน อะไรแบบนี้ เพราะเราปล่อยกันมั่วไปหมด

ในประเทศที่เคร่งครัดมากๆ อย่างสหรัฐอเมริกา อย่าว่าแต่ปล่อยปลาข้ามเขต เครื่องมือประมงเขายังไม่ให้เอาข้ามลุ่มน้ำ แต่บ้านเรากลับกลายเป็นหน่วยงานราชการที่เอาปลาต่างถิ่นไปปล่อย

พื้นที่ชุ่มน้ำเป็นอีกระบบนิเวศที่มีความสำคัญ ตอนนี้สถานการณ์ของพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ผมเคยอยู่ในคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้จะเข้ามา เรายังมีระบบระเบียบที่พอจะดูแลกันได้ จะทำอะไรในพื้นที่ชุ่มน้ำที่อยู่ในบัญชีรายชื่อก็ต้องขออนุญาต ต้องมีแผนส่งเข้ามา แต่พอเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554 ทุกคนก็ใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างว่ากว่าจะส่งแผน กว่าจะทำอะไร มันช้า ไม่ทันการณ์ เดี๋ยวน้ำท่วมอีก และคณะอนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำก็ถูกลดบทบาทลงเรื่อยๆ จนในปัจจุบันกลายเป็นว่าใครอยากจะขุด ใครอยากจะถม ใครอยากจะทำอะไรก็ทำ

อย่างตอนที่จังหวัดบึงกาฬแยกออกมาจากจังหวัดหนองคาย ต้องสร้างสถานที่ราชการ ถามว่าจะสร้างที่ไหน เขาก็ขอถมหนองกุดทิง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เราก็บอกว่าไม่ให้ถม เพราะหนองกุดทิงเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับชาติ ก็อุตส่าห์ไปถมพื้นที่ชุ่มน้ำที่อื่นจนได้ คือมันกลายเป็นว่าคนมองว่าพื้นที่ชุ่มน้ำคือพื้นที่รกร้าง ไม่มีคนใช้ประโยชน์ เอามาทำอย่างอื่นดีกว่า จะมีนก มีปลา ก็ไม่ได้มีความสำคัญอะไร

มีตัวอย่างในต่างประเทศบ้างไหม สำหรับวิธีการรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำ

ตอนนี้ในหลายประเทศพยายามอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ บางประเทศมีการซื้อที่จากเอกชนเพื่อรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำเอาไว้ อย่างในอังกฤษมีองค์กรการกุศลที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ สำหรับในประเทศไทย รัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ขณะที่องค์กรเอกชนก็ไม่มีความแข็งแรงเพียงพอ ทุกวันนี้เอ็นจีโอในเมืองไทยกำลังง่อยเปลี้ยเสียขา ตอนนี้ต้องกระเสือกกระสนกันทุกองค์กร เนื่องจากบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการบริจาคให้เอ็นจีโอ บ้านเราบริจาคให้วัด ผมยกตัวอย่าง Royal Society for the Protection of Birds (RSPB) ของอังกฤษที่ดูแลเรื่องนก รายได้หลักส่วนหนึ่งของเขามาจากการบริจาค ขณะที่สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรเดียวที่ดูแลเรื่องนกและช่วยเหลือหน่วยงานของรัฐเยอะแยะไปหมด แต่กลับไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ แต่ผมคิดว่าเรื่องการอนุรักษ์นกในบ้านเรามีแนวโน้มดีขึ้น อย่างเวลามีฝรั่งมางานดูนกในเมืองไทย และเขาเห็นช่วงอายุของคนที่มาร่วมงาน เขาตื่นเต้นนะ เขาบอกว่าเวลาจัดงานแบบนี้ในประเทศของเขา มีแต่คนวัยเกษียณมาร่วมงาน แต่ในประเทศเรามีตั้งแต่พ่อแม่พาเด็กตัวเล็กๆ มาร่วมงาน เด็กมหาวิทยาลัยที่เหมารถมาช่วยงาน นักดูนกระดับเกจิก็มา คือช่วงอายุของคนที่เข้าร่วมงานมันกว้างมาก มีตั้งแต่เด็กไปจนถึงคนแก่ เรื่องนกในประเทศไทยจึงน่าจะพอไปได้

ความรู้ความเข้าใจเรื่องนกและสัตว์ป่า ประเทศเราก้าวหน้ามาก อย่างล่าสุดที่เราสามารถเพาะและปล่อยนกกระเรียนคืนสู่ธรรมชาติได้ที่บุรีรัมย์ ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนทำสำเร็จมาก่อน เพราะกระบวนการมันไม่ใช่เรื่องง่าย คือไม่ใช่แค่สัตว์ต้องรอดอย่างเดียว คนก็ต้องไม่ไปรบกวนด้วย ก่อนปล่อย เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปทำงานอยู่ในพื้นที่ 4-5 ปี เข้าไปในโรงเรียน เข้าไปในชุมชน ไปคุยกับเขาว่าเดี๋ยวจะเอานกมาปล่อยนะ ต่างชาติต้องมาดูงานว่าประเทศไทยทำสำเร็จได้อย่างไร นกน้ำของเราเพิ่มจำนวนขึ้นได้อย่างไร

ตอนนี้ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการล่ามีน้อยลง แต่ปัญหาตอนนี้คือเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น อย่างในห้วยขาแข้งตอนนี้กำลังมีปัญหาต้นไมยราบยักษ์รุกเข้าไปตามหาดทราย คุณเคยเห็นภาพควายป่าวิ่งอยู่บนชายหาดหรือนกยูงที่รำแพนหางอยู่บนชายหาดริมห้วยขาแข้งไหม ตอนนี้มันกลายเป็นว่าไมยราบยักษ์ซึ่งเป็นพืชที่ขึ้นตามหาดทรายริมน้ำ มันไปขึ้นอยู่ตามริมน้ำในห้วยขาแข้ง จากที่เคยมีหาดทราย ตอนนี้กลายเป็นว่ามีแต่ดงไมยราบยักษ์ ทำให้สัตว์ใช้ประโยชน์จากหาดทรายไม่ได้

หมายความว่าต้นไมยราบยักษ์เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในห้วยขาแข้ง

ต้นน้ำของห้วยขาแข้งมันอยู่นอกป่า ผมเองก็เพิ่งรู้เหมือนกัน มันอยู่ในพื้นที่เกษตร ซึ่งถ้าปล่อยให้พื้นที่เกษตรรกร้าง ต้นไมยราบยักษ์มันจะขึ้น แล้วมันก็ไหลตามน้ำเข้าไปในเขตอุทยาน หรือที่แหลมผักเบี้ย ซึ่งมีนกหัวโตมลายูทำรังอยู่ริมหาด ตอนนี้มีไม้ต่างถิ่นรุกเข้าไปอยู่ในหาดทราย จุดที่นกเคยทำรังก็กลายเป็นดงไม้ สมาคมอนุรักษ์นกฯ ก็ต้องจัดทริปไปช่วยกันถอน

สมัยก่อนก็มีการเคลื่อนย้ายสัตว์และพืชจากทวีปหนึ่งไปยังอีกทวีปหนึ่ง ทำไมทุกวันนี้เราจึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

แน่นอนว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นอยู่ในประเทศไทยเลย ผมยกตัวอย่างส้มตำ มะละกอ พริก มะเขือเทศ กระเทียม ไม่ใช่ของไทยทั้งหมดเลย เป็นของนำเข้าทั้งนั้น เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นทั้งนั้น หรือยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ก็เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เราต้องอยู่ร่วมกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เพียงแต่มันจะมีบางชนิดที่มีปัญหา มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือมีปัญหาต่อเศรษฐกิจ ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ ควบคุม และต้องป้องกันไม่ให้มันเข้ามา

ความเสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในสหรัฐอเมริกา ในจีน หรือในยุโรป ปีหนึ่งเป็นล้านล้านบาท งูหลามพม่าชนิดเดียว สหรัฐอเมริกาใช้เงินไปแล้ว 175 ล้านบาท เพื่อกำจัดงูหลามในฟลอริดา ล่าสุดถึงขนาดทำโดรนที่มีเครื่องจับความร้อนงูหลามที่กำลังท้อง

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงมาก ในบ้านเรา ที่เห็นได้ชัดคือผักตบชวาและหอยเชอรี่ที่ต้องซื้อยามากำจัด หรือหนูบ้านที่แทะทำลายข้าวของเสียหาย แต่บ้านเราไม่เคยมีใครคำนวณออกมาเป็นตัวเลขให้เห็นว่าความสูญเสียมันมากเท่าไร อย่างออสเตรเลียมีการคำนวณว่าต้องจ่ายเงินคนละ 1,750 บาทต่อปี เพื่อจัดการกับปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

หน่วยงานใดที่ดูแลเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

หน่วยงานที่ดูแลเรื่องสถานภาพ คือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คือดูว่าเจอชนิดพันธุ์อะไรบ้าง และแต่ละชนิดพันธุ์อยู่ในสถานะใด ชนิดพันธ์นี้ลุกลามแล้ว หรือชนิดพันธุ์นี้ต้องเฝ้าระวัง แต่หน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการไม่ใช่ สผ. ต้องเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ถ้าเป็นปลาก็ต้องเป็นกรมประมงที่ดูแล ถ้าเป็นพืชที่กระจายเข้าไปในแหล่งน้ำ ก็ต้องเป็นกรมชลประทานที่ดูแล ถ้าเป็นพืชที่กระจายเข้าไปอยู่ในอุทยานแห่งชาติก็ต้องเป็นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ดูแล เพราะฉะนั้น สผ. เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานอื่นทราบ และให้แต่ละหน่วยงานไปดำเนินการ

สังคมไทยมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ต่างถิ่นมากน้อยแค่ไหน

ผมคิดว่าคนไทยมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอสมควร และผมก็มั่นใจว่าข่าวเรื่องการพบหนอนตัวแบนนิวกินี ทำให้คนไทยมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น

จริงๆ แล้วเรารับรู้เรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว เพราะแทบทุกคนคงเคยเห็นหอยเชอรี่หรือผักตบชวา ผมคิดว่าเราเข้าใจเรื่องนี้กันในระดับหนึ่ง เพียงแต่บางครั้งเราอาจจะคิดน้อยไปหน่อย หรือขาดความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบที่ชัดเจน อย่างการปล่อยปลาดุกบิ๊กอุย ล่าสุดมีพระไปเหมามาจากบ่อเลี้ยง แล้วเอาไปปล่อยลงในแม่น้ำน่าน ผมก็คำนวณคร่าวๆ ว่า ปลาดุก 5 ตัน กินอาหารวันละประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ครึ่งหนึ่งเป็นเนื้อสัตว์ ครึ่งหนึ่งเป็นพืช เพราะฉะนั้น ตีเป็นปลาท้องถิ่นวันละกี่ตัว ถ้าปล่อยจำนวนเท่านี้ตัว มันจะกินปลาท้องถิ่นเป็นจำนวนเท่านี้ตัว แล้วคนปล่อยจะได้บุญไหม ปลาดุกบิ๊กอุยเป็นลูกผสมระหว่างปลาดุกอุยซึ่งเป็นปลาดุกท้องถิ่น กับปลาดุกยักษ์จากแอฟริกา เพราะฉะนั้น ผมถือว่ามันเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

หรือแม้แต่การเอาปลาช่อนไปปล่อยทีละเยอะๆ ในจุดเดียว มันก็ไม่ถูกนะ หรือเอาปลาไหลไปปล่อยลงคลอง ปลาไหลไม่ใช่ปลาที่อาศัยอยู่ในคลอง ปลาไหลเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ เอาเต่าไปปล่อยลงคลองก็ไม่ใช่อีกเหมือนกัน เพราะเต่าอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ถ้ามองทางด้านสิ่งแวดล้อม นี่เป็นการทำบาปนะ ตามวัด แต่ก่อนก็ไปจับเต่าไทยมาปล่อย ซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครอง พอถูกจับ เดี๋ยวนี้ก็เลยเป็นเต่าญี่ปุ่นบ้าง เป็นตะพาบไต้หวันบ้าง ซึ่งก็เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และจริงๆ แล้วก็ผิดกฎหมาย

ถ้าเจอเรื่องแบบนี้ต้องแจ้งหน่วยงานใด

ชุดปฏิบัติการปราบปรามการกระทำความผิดด้านสัตว์ป่า (ชุดเหยี่ยวดง) เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง

ตอนนี้ปัญหาหนักของเราคือการลักลอบค้าสัตว์ป่ารายย่อย แต่เดิม เวลาจะซื้อสัตว์ป่า เราต้องไปที่ตลาดนัดจตุจักร ตอนนี้ที่จตุจักรไม่มีของขายแล้ว ตอนนี้ทุกอย่างย้ายไปอยู่ในเฟซบุ๊ก ซึ่งซื้อขายง่ายกว่าเดิม เมื่อก่อน สมมติว่าคุณจับนกได้ตัวหนึ่งที่จังหวัดไหนสักจังหวัด คุณจะขายใคร อย่างมากก็ขายคนแถวๆ บ้าน แต่เดี๋ยวนี้จับนกได้ตัวหนึ่งก็โพสต์ขึ้นเฟซบุ๊ก นกอะไร ให้ราคาเท่าไร แล้วก็โอนเงิน ส่งของ ซึ่งตามจับยากมาก และรายย่อยก็เต็มไปหมด

ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย ตอนนี้เรื่องการค้าขายสัตว์ป่าออนไลน์เป็นปัญหาในระดับภูมิภาค และที่กำลังนิยมตอนนี้คือนาก เอามาเป็นสัตว์เลี้ยง และก็ยังไม่สามารถคุยกับเฟซบุ๊กได้รู้เรื่อง

เว็บไซต์ Siamensis.org เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ที่ทำเว็บไซต์นี้ขึ้นมาเพราะตอบกระทู้ในพันทิปแล้วกระทู้มันตกเร็ว เราก็เลยทำเว็บไซต์ของเราเอง คุมเนื้อหาของเราเองดีกว่า เป็นที่สำหรับเก็บบทความและค้นหาได้ตลอด ผมก็ทำกับเพื่อน 4-5 คน ตอนนั้นก็สนใจแค่ปลาน้ำจืดกับต้นไม้น้ำ คือเวลาไปดูปลา เราก็จะเจอต้นไม้ริมน้ำ เจอแมลงปอ เจอกบ เจอเขียด เราก็ถ่ายรูปแล้วก็เอามาแชร์กัน มันก็เริ่มมีคนเข้ามาช่วยกันดู ความรู้มันก็เลยขยายวงไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นว่าเอาตัวอะไรมาก็มีคนรู้ว่ามันคือตัวอะไร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้น

ทุกวันนี้เราย้ายจากเว็บบอร์ดมาอยู่ในเฟซบุ๊ก จากเว็บบอร์ดที่มีคน 2,000-3,000 คน ทุกวันนี้ในเฟซบุ๊กมีคน 20,000-30,000 คน เวลามีข่าวว่าเจอตัวอะไรประหลาดๆ มันก็จะวนมาที่ Siamensis อย่างล่าสุด หนอนตัวแบนนิวกินีก็มาโผล่ที่ Siamensis

นอกจากการแลกเปลี่ยนความรู้ Siamensis ทำอะไรอีกบ้าง

Siamensis ไม่ได้เป็นองค์กรที่เป็นกลุ่มก้อนมากพอถึงขนาดว่าจะรวมตัวกันไปทำอะไรสักอย่าง เราเป็นกลุ่มที่ให้ข้อมูลสนับสนุนกลุ่มคนที่จะไปทำอย่างนั้นมากกว่า อย่างงานแรกที่เราทำสำเร็จ คือชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อย จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่รอบเขาหินปูน และเขาหินปูนลูกนั้นจะถูกสัมปทาน เขาก็ต้องการรักษามันไว้ แต่เขาไม่รู้ว่าบนเขามีอะไรบ้าง เราก็เข้าไปช่วย และเราก็พบว่าปรงพันธุ์นี้เจอเฉพาะที่สระบุรีนะ ตุ๊กแกพันธุ์นี้เจอเฉพาะบนเขาหินปูนชุดสระบุรี-ลพบุรีเท่านั้นนะ นกจู๋เต้น บริเวณนี้เจอง่ายที่สุดแล้วนะ และที่ชุมชนเขาพระพุทธบาทน้อยถึงขนาดเจอแมงกระดานถ้ำชนิดใหม่

เราเป็นหน่วยงานที่ช่วยให้ข้อมูล สนับสนุนข้อมูล อย่างล่าสุดคือกรณีเขื่อนวังหีบ ซึ่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) บอกว่าเป็นแหล่งน้ำที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ EIA สรุปอย่างนั้น แต่ผมเห็นรูปคลองวังหีบซึ่งไหลลงมาจากเขาหลวง คลองมันสวยมาก เขียนมาได้อย่างไรว่าไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยของสัตว์น้ำ คือเขียนประมาณว่าน้ำไหลแรงและน้ำตื้น ซึ่งน้ำตื้นและน้ำไหลแรงเป็นระบบนิเวศของลำธารตามปกติ คุณกำลังบอกว่าลำธารไม่เหมาะกับการเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ มันก็ใช่ที่มีปลาอยู่น้อยชนิด แต่มันเป็นปลาที่อยู่ในลำธารไง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ได้มีเยอะอยู่แล้ว แต่ความเป็นลำธารของมัน มันโคตรสมบูรณ์เลย เราก็เข้าไปช่วยชาวบ้านในลักษณะนั้น

กรณีเขื่อนวังหีบ แม้ว่า EIA จะผ่านแล้ว แต่จากข้อมูลที่มี เราจะยอมให้เขื่อนเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะป่าที่น้ำจะท่วมอยู่ในสภาพที่ดีมาก เป็นป่าที่ไม่เคยผ่านการสัมปทานมาก่อน เดินออกจากหมู่บ้านไปก็เจอตัวนั้นตัวนี้เต็มไปหมด ตอนนี้ก็เจอหม้อข้าวหม้อแกงลิงชนิดใหม่อยู่บนยอดเขา เรื่องแบบนี้ เราต้องให้ข้อมูลกับชาวบ้าน ให้เขามีโอกาสที่จะสู้กับภาครัฐ ตอนที่นั่งคุยกับเขา เขาก็บอกว่าไม่รู้เรื่องเลยว่า EIA มันผ่านไปแล้ว

ที่ผ่านมา บางโครงการดูเหมือนจะเงียบไปแล้ว ดูเหมือนการคัดค้านจะประสบความสำเร็จ แต่วันดีคืนดีก็มีข่าวว่ามีการนำโครงนั้นๆ กลับมาพิจารณาอีกครั้ง การฟื้นคืนชีพของแต่ละโครงการเกิดขึ้นได้อย่างไร

ปัญหาของโครงการรัฐคือ EIA ไม่มีวันหมดอายุ มันกลับมาเมื่อไรก็ได้ อย่างรัฐบาลชุดปัจจุบันบอกว่าไม่สร้างเขื่อนที่คลองชมพูกับที่แม่วงก์ แต่ตราบใดที่ข้าราชการประจำยังอยู่ เปลี่ยนรัฐบาลเมื่อไร เขาก็ยื่นเรื่องเข้าไปใหม่ และถ้ารัฐบาลชุดต่อไปบอกว่าจะสร้าง มันก็จะกลับมา ก็ต้องมาสู้กันอีก

ผมโชคดีที่รู้ทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ เวลาผมอ่าน EIA ผมอ่านได้ทั้งเล่ม ผมเข้าใจทั้งเล่ม และผมเชื่อมโยงได้ว่านี่คือความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อม นี่คือความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ หรือนี่คือสิ่งที่โกหกว่าเป็นผลดีทางเศรษฐกิจ เพราะผมเห็นว่ามันเป็นไปไม่ได้

ผมพูดกับหลายคนว่าถ้าประเทศไทยสร้างเขื่อนแม่วงก์ เราอยู่ในประเทศนี้ไม่ได้แล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยการโกหก การพยายามเอาเปรียบธรรมชาติ และการหาผลประโยชน์จากโครงการของรัฐขนานใหญ่ เพราะมันไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแม้แต่น้อย ลำพังที่บอกว่าจะช่วยเรื่องน้ำท่วมกับเรื่องผลผลิตทางการเกษตรที่เพิ่มขึ้นจากการมีเขื่อนแม่วงก์ มันไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจพอที่จะไปสร้างเขื่อน เขาก็เลยบอกว่าจะปลูกป่าอีกสามเท่า และเอามูลค่าของป่าที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี มานับรวมเป็นผลประโยชน์ของเขื่อนแม่วงก์ การสร้างเขื่อนถึงจะคุ้มค่า และบอกว่าพอมีน้ำ คนก็จะปลูกพริก แต่อยู่ดีๆ ใครจะไปปลูกพริก แล้วใครจะมาซื้อพริกเป็นหมื่นไร่ คือแค่เพราะว่าพริกมันมีมูลค่าต่อไร่สูง ก็เลยบอกว่าคนจะปลูกพริก

แบบนี้จะพูดได้ไหมว่าต่อให้กฎหมายบอกว่าต้องทำ EIA แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร

มันช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถามว่าผมเห็นความจำเป็นและความสำคัญของ EIA และ EHIA (รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ) ไหม มันสำคัญ เพียงแต่ผมคิดว่าอาจจะต้องมีองค์กรที่ช่วยตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง เอาง่ายๆ ผู้ชำนาญการซึ่งนั่งอยู่ในที่ประชุม นั่งอยู่ในห้อง จะมีเวลาไปตรวจสอบหรือว่าสัตว์ที่สำรวจมามีจริงหรือเปล่า ที่บอกว่าไม่มี ไม่มีจริงหรือเปล่า ถ้าไม่มีองค์กรที่คอยตรวจสอบอีกรอบหนึ่ง ก็มีโอกาสที่จะเกิดการซิกแซกอย่างกรณีเขื่อนวังหีบ

ถ้าทำให้องค์กรอย่าง Siamensis เข้มแข็งขึ้น จะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้างไหม

ผมคิดว่าทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่รังเกียจเอ็นจีโอ บอกว่าโง่บ้าง รับเงินต่างชาติบ้าง หรือถ่วงความเจริญ จะสร้างอะไรก็สร้างไม่ได้ แต่ผมต้องบอกว่าถ้าคนเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนจากโครงการของรัฐ เขาจะเห็นความสำคัญของเอ็นจีโอ คนที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากเอ็นจีโอ เขาจะเห็นว่าเอ็นจีโอมีประโยชน์อย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าเอ็นจีโอดีทุกคน เอ็นจีโอบ้าๆ ก็มี เอ็นจีโอประหลาดๆ ก็มี แต่เอ็นจีโอที่ดี ที่มีความรู้ ก็มีเยอะแยะ ซึ่งถ้าคุณไม่เดือดร้อน คุณก็จะไม่เห็นคุณค่า

ทุกคนรู้ว่าการพัฒนามันต้องเกิดขึ้น เพียงแต่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องพัฒนาแล้วธรรมชาติก็อยู่ได้ คนก็อยู่ได้ ไม่ใช่ธรรมชาติต้องเสียสละอยู่ตลอดเวลา เรามีป่าเหลืออยู่ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าหลายประเทศที่เจริญแล้ว ญี่ปุ่นมีป่า 60 เปอร์เซ็นต์ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เหลือป่าเยอะกว่าเราทั้งนั้น เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับพื้นที่ทั้งประเทศ

เรามาถึงจุดที่คนสักรุ่นหนึ่งต้องบอกว่าพอได้แล้ว พอเถอะ หยุดตรงนี้ แล้วก็มาดูสิว่าเราจะปลูกป่าเพิ่มได้ไหม ทำแหล่งน้ำให้ดีขึ้นได้ไหม ผมเชื่อว่าเราอยู่ในยุคที่มนุษย์มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงพอที่จะหาเหตุผลของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และเราก็ค้นพบแล้วว่ามันเกิดจากการที่เราทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายธรรมชาติมาตลอด และยุคนี้ก็เป็นยุคที่เรามีวิวัฒนาการเพียงพอ เราเริ่มมีเทคโนโลยีที่เป็นทางเลือก ดังนั้น มันน่าจะเป็นคนยุคเราที่บอกว่าพอเถอะ และเราก็เป็นคนยุคแรกอีกเหมือนกันที่ได้รับผลกระทบจากสิ่งเหล่านี้ อย่างประเทศไทยเมื่อปีที่แล้ว ฝนตกทุกเดือนตลอดทั้งปี ซึ่งมันก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ใช่น้อย อย่างโรงไฟฟ้าชีวมวลของผม ยอดตกไปเดือนละเป็นสิบล้าน เพราะกากอ้อยมันเปียก หรือลูกผมแข่งว่ายน้ำ จัดตอนเดือนมีนาคม แต่ฝนตก ก็แข่งไม่ได้ นี่ก็คือความเสียหายทางเศรษฐกิจ และมีอีกกี่งานในประเทศไทยที่ถูกเลื่อนออกไปเพราะฝนตก การที่ถนนลื่น มันทำให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นเท่าไร หรือตอนนี้บางส่วนของสหรัฐอเมริกาหนาวกว่าดาวอังคาร ซึ่งมันผิดปกติแน่ๆ ดังนั้น เรามาถึงจุดที่ควรจะพอได้แล้ว

เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้สถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมไม่ย่ำแย่ไปกว่านี้

สโลแกนของ Siamensis คือ ‘ถ้าไม่รู้จักก็ไม่รักกัน’ เราคิดว่าตราบใดที่คนยังไม่รู้จักปลา ไม่รู้จักสัตว์ เขาก็คงไม่สนใจมัน แต่ถ้าคนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันทำให้ไอ้ตัวนี้มันเดือดร้อนอย่างนี้ เราก็คิดว่าเขาคงจะสนใจมันมากยิ่งขึ้น เราไม่อยากให้คนมองแม่น้ำเป็นท่อระบายน้ำ เราอยากให้คนมองว่ามันเป็นระบบนิเวศ มองพื้นที่ชุ่มน้ำเป็นห้องคลอด เป็นโรงเรียนอนุบาลของสัตว์น้ำ เป็นที่อยู่ที่หลับนอนของนกน้ำ ไม่ใช่มองว่ามันเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่าที่ไม่มีประโยชน์ ต้องขุดทำเป็นที่เก็บน้ำ เราพยายามทำให้คนเข้าใจว่าแก่งคือปอดของสายน้ำ ทุ่งน้ำท่วมคือห้องคลอด คือโรงเรียนอนุบาล คนจะได้เห็นความสำคัญหรือรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับชีวิตของตัวเองมากขึ้น

สิ่งที่ผมพยายามทำตอนนี้คือการสร้างความรู้ความเข้าใจทางด้านสิ่งแวดล้อมให้กับคนทั่วไป และลดการใช้สิ่งที่สิ้นเปลืองอย่างหลอด แก้วน้ำ หรือถุงพลาสติก ลดการใช้พลังงาน ทิ้งขยะให้น้อยลง ทำแค่นี้มันก็ช่วยได้แล้ว หรือบริจาคเงินให้องค์กรอนุรักษ์ ให้มืออาชีพเขาไปทำ

ผมคิดว่าธรรมชาติเขาพร้อมที่จะให้เราแก้ตัวนะ จากการทำลายของเราที่ผ่านมา ผมคิดว่าเราโชคดีที่ปลายังสูญพันธุ์ไปไม่เยอะ วันไหนที่เรากลับตัว มันจะกลับมาได้ อย่างที่สหรัฐอเมริกา ที่ญี่ปุ่น หลังจากทำลายเขื่อนหรือทำลายฝาย ธรรมชาติเขาฟื้นตัวเร็วมาก ปลากลับมาเร็วมาก เพราะฉะนั้น เราคงจะมีโอกาสแก้ตัวสักวัน ผมเชื่อว่ามันคงมีสักวันที่เราจะพร้อมใจกันกลับตัวกลับใจ

มนุษย์เราอยู่ในเมืองอย่างเดียวไม่ได้หรอก มนุษย์เป็น organic matter อาหารที่เรากินก็ต้องมาจากธรรมชาติที่สมบูรณ์ เราถึงจะมีอาหารดีๆ กิน ถ้าธรรมชาติไม่สมบูรณ์ เราไม่มีของดีๆ กินหรอก บางทีคนเมืองไม่เข้าใจเรื่องนี้ อาหารที่กิน น้ำที่ดื่ม อากาศที่หายใจ มันต้องเริ่มจากธรรมชาติที่สมบูรณ์

Fact Box

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ปริญญาโทเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา และปริญญาเอกจากคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ดร.นณณ์เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม Siamensis ซึ่งเป็นเครือข่ายความร่วมมือเกี่ยวกับการให้ข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย (Siamensis.org) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด และเพิ่งได้รับรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes ซึ่งมอบให้กับบุคคลที่มีผลงานโดดเด่นในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เมื่อเดือนสิงหาคม 2560

Tags: , , , , , , , , ,