เมื่อสังคมแห่ง ‘การให้’ ไม่ได้ดีเสมอไป และการ ‘หากิน’ กับคนพิการก็ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

ท่ามกลางสังคมอุดมแรงบันดาลใจ เราจึงพาตัวเองมาฟัง ThisAble TALK ของ thisAble.me​ สื่อออนไลน์คิดดีที่คิดมาเพื่อคนพิการ

แต่ช้าก่อน ทันทีที่ทอล์กเริ่ม เราพบว่า…

เวทีนี้ไม่ได้ให้ ‘แรงบันดาลใจ’ สำหรับเรา เวทีนี้ให้ ‘ความจริง’ กับสังคม

​คนพิการอาจจะใช้ชีวิตลำบาก แต่มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อคนพิการ บางมุมก็อาจบิดเบี้ยวเกินจริง โดยเฉพาะความคิดที่ว่าคนพิการต้องรอการช่วยเหลือ สังคมจึงมีหน้าที่แค่ให้ ให้ และให้ จนกลายเป็นชุดความเชื่อเพี้ยนๆ ที่ยากจะสลัดหลุด

​เราต้องขอโทษล่วงหน้า เพราะสิ่งที่คุณจะอ่านต่อจากนี้ ไม่ใช่แรงบันดาลใจ

​แต่คือความจริงจากปาก Speaker ที่เรารักมาก และอยากแบ่งปัน

 

‘หากินกับคนพิการ’ เพราะเชื่อในศักยภาพและความเท่าเทียม

​“ผมชื่อ ต่อ เป็นคนก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด เราไม่ได้ขายกล่องดินสอ แต่ว่าเราหากินกับคนพิการครับ และวันนี้ผมจะมาชวนทุกคนหากินกับคนพิการ” ต่อ – ฉัตรชัย อภิบาลพูนผล ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่องดินสอ จำกัด ชายผู้ผลิตอุปกรณ์วาดรูปสำหรับเด็กตาบอดออกขายจริงจัง บอกเราอย่างนั้น

ฟังดูเหมือนเป็นคนไร้หัวใจ แต่เปล่าเลย เขามีหัวใจที่เข้าใจคนพิการกว่าที่ใครหลายคนคิด

​ความฝันในการหากินกับคนพิการของต่อเริ่มขึ้นเมื่อ 6 ปีก่อน ตอนไปเห็นสื่อการสอนที่ครูโรงเรียนสอนคนตาบอดทำขึ้นเอง มันเป็นกระดาษโฟมตัดแปะ เขาจึงอยากช่วยผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ดีมีคุณภาพมากขึ้น

​“สื่อการศึกษาสำหรับเด็กตาบอดสำคัญมาก แต่ไม่มีใครใส่ใจเลย ผมเลยคิดว่าผมน่าจะช่วยได้ ผมทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาหนึ่งตัว ชื่อว่า ‘เล่นเส้น’ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กตาบอด เมื่อผมทำเสร็จ ก็มีตัวเลือกสองทางคือ หนึ่ง รูปแบบเอ็นจีโอ เขียนโครงการขอทุนแล้วผลิตแจก หรือทางที่สอง ใช้รูปแบบธุรกิจ คือขาย

​“ด้วยความที่ผมเป็นคนไม่เชื่อในของฟรี รู้สึกว่าเวลาได้ของฟรีจะไม่เห็นคุณค่า เมื่อเทียบกับจ่ายเงินซื้อ ผมเลยอยากใช้รูปแบบที่สอง” เขาเดินทางไปที่โรงเรียนสอนคนตาบอด แล้วให้คุณครูทดลองใช้

​“ทุกคนชอบหมดเลยครับ จนกระทั่งผมบอกว่าชุดละ 390 บาท คุณครูทุกคนทำหน้างง ‘อะไร-นี่โรงเรียนเด็กพิการนะ คุณมาขายของได้ไง คุณต้องให้ฟรีสิ คุณไปหาสปอนเซอร์มาสิ มีคนใจดีอยากให้เยอะแยะ’ ซึ่งมันเป็นความจริงครับ

“มีการสำรวจพบว่าคนไทยมีน้ำใจบริจาคเงินช่วยเหลือคนอื่นมากเป็นอันดับที่ 12 ของโลก เราเห็นได้ชัดเลยจากการไปทำเรื่องขอเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กตาบอด เวลาไปเลี้ยงอาหารกลางวันจะมีเด็กๆ มายืนร้องเพลงขอบคุณเรา เนื้อหาเพลงก็เป็นแนวว่า ฉันเกิดมามองไม่เห็น อยู่ในโลกมืดมิด ขอบคุณผู้ใจบุญที่มาช่วยเหลือ บางคนก็รู้สึกฟิน ซาบซึ้งน้ำตาไหล ว่าเราทำดีเหลือเกิน โรงเรียนก็ได้รับตังค์ไป มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับความฟินของคนให้

“แล้วลองคิดดูครับ ถ้าเด็กเขาต้องทำแบบนั้นวันละสามเวลา เช้า-กลางวัน-เย็น หกปี คิดว่าเขาจะรู้สึกยังไง คิดว่าเขาจะรู้สึกมีค่าไหมครับ มันกลายเป็นนิสัยคนเสพติดของฟรี เขาไม่ผิดเลย มันผิดที่พวกเรา ผิดที่ให้อย่างไม่มีขอบเขต ให้อย่างไม่มีเหตุผล”

​ความฝันในการทำมาหากินของต่อล้มเหลวในยกแรก แต่เขาไม่หยุดแค่นั้น โครงการ ‘วิ่งด้วยกัน’ จึงเกิดขึ้นตามมา โดยให้คนพิการและไกด์รันเนอร์วิ่งไปพร้อมกัน

​“งานวิ่งแบบนี้เคยมีมาแล้ว แต่เป็นการที่เจ้าของงานได้ภาพ คนพิการเซ็นชื่อ รับตังค์ ถ่ายภาพ ใครเสียครับ สังคมเสียครับ โครงการวิ่งด้วยกัน เราเน้นเรื่องความเท่าเทียม ผมย้ำกับอาสาสมัครเลยว่า คุณมาช่วยคนพิการวิ่ง คุณไม่ได้มาทำบุญนะ คุณแค่มาพากันวิ่งไปด้วยกัน นี่เป็นงานแรกที่เราเก็บตังค์คนพิการ” ต่อแบ่งปันความพยายามของเขาให้ทุกคนฟัง

​เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเขาต้องทุ่มเทกับการหากินกับคนพิการขนาดนี้?

​“การเปิดโอกาสให้เขาได้จ่ายเงิน คือการเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงศักยภาพของความเท่าเทียมออกมา ให้เขาได้มาร่วมงานนี้อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ดังนั้น ผมเลยอยากชวนทุกคนมาหากินกับคนพิการกันเถอะครับ” ต่อคลี่คลายคำถามในใจของเราก่อนเดินลงจากเวที

คนพิการในฐานะผู้ให้ ไม่ใช่ผู้รับ

โอ – สันติ รุ่งนาสวน คือผู้อำนวยการศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล ที่เชื่อว่าคนพิการทุกคนสามารถออกแบบชีวิตตัวเองได้อย่างอิสระ (Independence Living) ทุกวันนี้ เขาออกเดินทางไปพูดคุยกับคนพิการที่นอนติดเตียงเพื่อให้พวกเขาได้อยู่ในที่ที่อยากอยู่ ไปทำงาน เล่นสนุกสนาน ไปจีบหนุ่มจีบสาว แต่งงานมีครอบครัวได้ตามใจชอบ

​แต่กว่าโอจะทำแบบนี้ได้ ความจริงเบื้องหลังคือเขาเองก็เคยนอนติดเตียงมาก่อน และติดเตียงอยู่นานถึง 5 ปี

​“ตอนนั้นผมไม่ทำอะไรเลย นอนรอความช่วยเหลืออย่างเดียวอยู่ห้าปี ช่วงเวลานั้น ผมมักได้ยินคำพูดเดิมๆ ว่า ‘ไอ้ง่อย เป็นไงบ้างวะ’ หรือ ‘เวรกรรม ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวก็หาย’ ทุกครั้งที่ได้ยิน ผมรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่าลง แต่ก็ยังคงมีคนแวะเวียนมาเรื่อยๆ ทั้งนักวิชาการ หมอ ผู้นำชุมชน ที่มาให้คำแนะนำ” โอแบ่งปันเรื่องจริงแสนเศร้าของเขา แต่เรื่องนี้ไม่ได้เศร้าตลอดไป เพราะวันหนึ่ง โอก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน

​“มีคนพิการคนหนึ่งมาหา มาชวนคุย มาชวนผมไปข้างนอก พร้อมกับตั้งคำถามว่า เราอยากไปไหน ทำอะไร มีเป้าหมายชีวิตอะไรบ้าง เราจุก คิดอะไรไม่ออก เพราะไม่เคยคิด ก็บอกไปว่าอยากเลี้ยงไก่ชน แต่จะเลี้ยงยังไงล่ะ” หลังจากวันนั้น โอก็ได้เจอเพื่อนคนพิการที่ทำอะไรได้เองทุกอย่าง เขาจึงคลี่คลายทุกอย่างที่ผ่านมา

​“คนพิการคนหนึ่งที่เข้ามาหาเรา แต่ไม่ได้ให้อะไรเราเลย ชวนเราทำนั่นทำนี่ ตั้งคำถามให้คิด ให้เราลองจัดการทุกอย่าง เขาทำให้เรารู้จักคิดเอง เลือกเอง ทำเอง ก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าอีกครั้ง และอยากทำให้เพื่อนคนพิการคนอื่นบ้าง”

​ท่ามกลางสังคมอุดมแรงบันดาลใจ ThisAble TALK กลับอุดมไปด้วยความจริงของคนพิการที่เคยเศร้า และผู้คนที่หากินกับคนพิการไม่สำเร็จ แต่ก็ไม่วายลุกขึ้นมาเปลี่ยนเรื่องช้ำๆ ให้กลายเป็นแรงผลักดันใหม่ๆ

 

ภาพ: กฤต วิเศษเขตการณ์

 

FACT BOX:

สนใจความจริงจากปาก Speaker ทั้ง 7 ท่าน ตามไปอ่านได้ที่ https://thisable.me/content/2017/07/187

 

Tags: , , , , ,