ผมเคยอ่านมังหงะที่เกี่ยวกับภัยพิบัติหรือโลกระหว่าง/หลังการถูกทำลายล้างที่เรียกว่า (Post-) Apocalyptic Manga มาไม่น้อยครับ เรื่องดังๆ ที่หลายคนอาจจะคุ้นหูอยู่แล้วก็เช่นพวก ‘ต้องรอด’ หรืออย่าง Dr.Stone (ซึ่งคงจะมีเขียนถึงในโอกาสต่อไป) แต่ไม่มีเรื่องไหนที่ผมรู้สึกอินจัดจริงๆ รู้สึกว่ามันดาร์กจริงๆ หม่นจริงๆ เรียลจริงๆ ไปเกินกว่าเรื่อง Nihon Chinbotsu (นิฮง ชินบตสึ)
คำว่า Nihon Chinbotsu นี้มีการแปลหลายชื่อครับ เช่น Japan Sinks บ้าง The Sinking of Japan บ้าง แต่ก็แปลประมาณเดียวกันนั่นแหละครับว่า “ญี่ปุ่นจม หรือการจมของญี่ปุ่น” มังหงะเรื่องนี้นำเนื้อเรื่องมาจากนิยายชื่อดังของโคมัตสึ ซาเคียว (Komatsu Sakyo) ในชื่อเดียวกัน ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1973 ครับ โดยในฉบับมังหงะวาดโดยอิชิกิ โทคิฮิโกะ (Ishiki Toshihiko) ตอนนี้จบแล้ว มีทั้งสิ้น 15 เล่ม ตีพิมพ์ในปี 2006 – 2009 ครับ
การจมของญี่ปุ่นในเนื้อเรื่องแบบย่อๆ ก็อิงมาจากการตั้งอยู่บนแนววงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ซึ่งเป็นแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก ซึ่งมันมีการเคลื่อนไหว ปะทุอยู่ตลอดเวลานั่นแหละครับ และเป็นสาเหตุหลักของการเกิดขึ้นของแผ่นดินไหวและภูเขาไฟระเบิดในญี่ปุ่นโดยทั่วไปด้วย ทีนี้เหตุการณ์ในเรื่องคือมันเกิดวิกฤติแผ่นดินไหวและการยุบตัวของแผ่นเปลือกโลกครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาก่อน ขนาดที่ประเทศญี่ปุ่นจะจมลงไปทั้งประเทศได้ ฉะนั้นตัวเนื้อหาของเรื่องหลักๆ แล้วมันว่าด้วยการรับมือกับวิกฤติ หรือ Crisis Management ของญี่ปุ่นนั่นเอง ในเนื้อเรื่อง 15 เล่มนั้น มีประเด็นต่างๆ มากมาย ทั้งดราม่าของการชนกันของนักคิดหลายสำนัก เช่น วิธีคิดแบบนักสัจนิยม (Realist) ปะทะกับเสรีนิยม (Liberal) ไปจนฟัดกับพวกประเพณีนิยม (Traditionalist) หรือการไฝ้ว์กันของฝั่งนักวิชาการบนหอคอยกับสายนักปฏิบัติ เป็นต้น และด้วยภาพสายมืดหม่นของอิชิกิ โทคิฮิโกะ ก็ยิ่งทำให้เนื้อเรื่องดูดาร์กและเรียลหนักขึ้นไปอีก
แม้จะไม่สามารถเทียบกันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ด้วยความที่ผมเรียนอยู่ที่ญี่ปุ่นพอดี และไม่นานนี้ก็เกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่โอซาก้า (Osaka Earthquake 2018) ขนาด 6.1 ริกเตอร์ (ผมที่อยู่เกียวโตก็รู้สึกถึงแรงสะเทือนพอสมควรแต่ไม่ถึงกับรุนแรงนัก) ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่อง และภาพที่อิชิกิ โทคิฮิโกะวาดออกมา ภาพๆ นี้เลยชวนให้ผมหวนกลับไปนึกถึงภาพของกำแพงโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในทาคัตสึกิ (Takatsuki) ที่ถล่มทับเด็กสาวคนหนึ่งจนเสียชีวิต ซึ่งหากดูเพียงภาพที่ยกมาแล้วเราแทบจะไม่รู้สึกรู้สาอะไรเพราะเรามองไม่เห็นความตาย ขณะที่อีกภาพหนึ่งของเหตุการณ์เดียวกันนี้ (หาภาพไม่เจอเสียแล้ว) เป็นภาพที่เห็นรอยเลือดชัดเจน จนเราตระหนักได้ว่าความตายนั้นจริงแท้มากๆ และนั่นเองคือความเรียลของมังหงะฉบับนี้ครับ คือ มันไม่ซ่อนรูปความตายและความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤติ
อาจจะด้วยความที่มันเป็นมังหงะกลุ่มที่วางเป้าไปที่ผู้ใหญ่อ่าน (Seinen Manga) อยู่แล้ว จึงสามารถเขียนได้โดยไม่ต้องซ่อนรูปอะไร และผมคิดว่าการไม่ซ่อนรูปนี้สำคัญเพราะมันไม่กลบเกลื่อนความจริงด้วยความหวังลมแล้งๆ หรือภาพอุดมคติที่หลายๆ ครั้งออกจะล้นเกินไปมากอย่างที่มักจะปรากฏในมังหงะสำหรับเด็กผู้ชาย (Shonen manga) ทั่วไป ที่ความตายเกิดขึ้นได้ยากมาก โดยเฉพาะกับตัวละครหลัก การไม่ฉาบด้วยฉากที่ตามใจคนอ่านจนเกินไปนี้เอง ในแง่หนึ่งผมเชื่อว่ามันทำให้คนที่เตรียมตัวรับมือวิกฤติต่างๆ ทำใจรับความจริงได้มากขึ้น (ส่วนโชเน็นก็ทำหน้าที่เป็นกำลังใจหรือแรงบันดาลใจไปเสีย)
เนื่องจากเนื้อเรื่องมีประเด็นเยอะมาก รวมไปถึงเนื้อหาย่อยๆ มากมาย ในครั้งนี้ผมเลยอยากจำกัดการอภิปรายไปที่เรื่องสภาวะธรรมชาติของมนุษย์ หรือที่เรียกกันในทางปรัชญาการเมืองว่า (Human) State of Nature โดยเฉพาะที่เสนอโดยโธมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญของโลกชาวอังกฤษ และประเด็นดังกล่าวนี้มีปรากฏให้เห็นในหลายส่วนของมังหงะเรื่องนี้ แต่เนื้อหาส่วนที่ชัดที่สุด (และเป็นเล่มที่ผมชอบที่สุดด้วย) คือเนื้อหาในช่วงเล่มที่ 6 ของซีรี่ส์ ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากการเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิครั้งใหญ่หมาดๆ เป็นสภาวะหลังวิกฤติที่ใหญ่เกินกว่าความสามารถในการเข้าใจและรับรู้ใดๆ ตามวิสัยอันเป็นปกติของสังคมญี่ปุ่นจะทำงานได้ รัฐบาลกลายเป็นอัมพาต ผู้คนหิวโหยและสิ้นหวังกันไปทั่ว ซึ่งนี่เป็นฉากหลักของเรื่องในช่วงนี้ครับ (เล่ม 6 นี่โดยส่วนตัวผมคิดว่าดีงามขนาดอ่านเป็นเล่มแยกเฉยๆ ยังได้เลย)
แนวคิดเรื่องสภาวะธรรมชาติของมนุษย์: ความเท่าเทียม เมื่อรัฐหมดอำนาจ ชนชั้นไม่มีอยู่
แนวคิดนี้เป็นข้อถกเถียงคลาสสิคในโลกปรัชญาการเมือง มีการอธิบาย ตีความต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 17 – 19 ที่มีทั้งคนอย่างจอห์น ล็อค, ม็องเตสกิเออร์, ฌ็อง ฌาคส์ รุสโซ, เดวิด ฮูม, และอื่นๆ ออกมาให้คำอธิบาย รวมถึงมีข้อถกเถียงต้นรากของข้อถกเถียงอีกไม่น้อย บางครั้งมีการถอยคำอธิบายไปถึงเรื่อง ‘ธรรมชาติ’ (Nature) ที่เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงหลักของยุคกรีกโบราณเลยครับ ถัดมาหน่อยก็เป็นม่อจื๊อ (Mozi) นักปราชญ์จีน แต่หากนับความฮ็อตฮิตในโลกตะวันตกอย่างชัดเจนจริงๆ ก็ต้องเริ่มจากคนที่เราจะพูดถึงกันนี่แหละครับคือ โธมัส ฮ็อบส์
ผลงานชิ้นสำคัญของฮ็อบส์ที่พูดถึงสภาวะธรรมชาติของมนุษย์คือ On the Citizen (1642) และ Leviathan (1651) ครับ หากสังเกตจากปีที่ผลงานของฮ็อบส์พิมพ์นั้นจะพอรู้ได้ว่าตัวเขาเองมีชีวิตหลักๆ ในช่วงศตวรรษที่ 17 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เองเป็นเวลาที่ค่อนข้างพิเศษ คือเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านจากอาณาจักรแบบเดิม มาเป็นรัฐสมัยใหม่ หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน’ (Transitional Moment) ซึ่งทำให้คนอย่างฮ็อบส์ได้เห็นโลกในขณะของการเปลี่ยนแปลง (รวมถึงก่อนและหลังด้วย)
ฉะนั้น คำถามที่ฮ็อบส์และนักปรัชญาชื่อดังอื่นๆ ตั้งคำถามในฐานะแกนกลางของประเด็นก็คือ “หากเราอยู่ในสภาวะการที่ไม่มีรัฐ ไม่มีอำนาจสูงสุดในการปกครอง ไม่มีระเบียบต่างๆ แล้วเราจะเป็นอย่างไร? จะอยู่กันแบบไหน?” คำถามนี้เองคือที่มาของคำว่า “สภาวะธรรมชาติของมนุษย์” หรือก็คือสภาวะไร้ระเบียบ ไร้ระบบการปกครองต่างๆ อยู่ตาม ‘วิถีธรรมชาติ’ ที่ไร้การควบคุมหรือสำนึกคิดทางการปกครองสมัยใหม่นั่นเองครับ คำถามเหล่านี้จริงๆ แล้วมีขึ้นเพื่อตอบคำถามสำคัญมากๆ ของพวกเขานั่นก็คือ “ทำไมเราจึงต้องมีรัฐ? หรือ รัฐมีไว้ทำไม?”
ในสภาวะธรรมชาตินั้น ฮ็อบส์มองว่า “ชีวิตมนุษย์นั้นโดดเดี่ยว ยากจน โสโครก รุนแรง และแสนสั้น” (Solitary, Poor, Nasty, Brutish, and Short) ที่ฮ็อบส์กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าฮ็อบส์มองว่าในสภาวะธรรมชาตินั้นมนุษย์ทุกคน “เท่าเทียมกัน” คือ ฮ็อบส์นั้นมองว่าในสภาพที่ไร้กฎและขื่อแป มนุษย์ที่ว่าเท่ากันสำหรับฮ็อบส์นี้คือความเท่าเทียมในทางกายภาพและจิตใจครับ (เพราะในสภาวะธรรมชาติ ไม่มีเรื่องอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมือง หรือชนชั้นอะไรอีกต่อไปแล้ว)
ทั้งนี้ไม่ได้แปลว่าตัวฮ็อบส์มองไม่เห็นความแตกต่างทางด้านกายภาพว่ามันมีคนที่ร่างกายแข็งแรงกำยำมากกว่า หรือมันมีมนุษย์ที่จิตใจเข้มแข็งมั่นคงมากกว่าคนอื่นๆ หรือเมื่อจับแต่ละปัจเจกมาวางเปรียบเทียบกันนะครับ เขาเข้าใจความแตกต่างยิบย่อยเหล่านี้อยู่ แต่สำหรับฮ็อบส์แล้ว โดยทั่วไปมันไม่มีความต่างทางร่างกายหรือจิตใจอะไรที่มากขนาดที่จะทำให้ใครคนใดคนหนึ่งมีสถานะพิเศษ (exclusiveness) เหนือกว่าคนอื่นได้น่ะครับ ทุกคนพอจะหาทางหรือมีหนทางพอที่จะต่อกรกับคนอื่นๆ ได้ด้วยวิธีการแบบใดแบบหนึ่ง ว่าง่ายๆ คือ ในความเป็นจริง ไม่มีมนุษย์คนไหนที่มีกำลังเยี่ยงเทพเจ้าหรือเฮอร์คิวลิส ต่อให้คุณแข็งแรงกว่าคนอื่นบ้าง ฉลาดกว่าคนอื่นหน่อย ก็ยังอยู่ในวิสัยที่หาทางจัดการได้อยู่นั่นเอง และนี่คือความเท่าเทียมกันในสภาวะธรรมชาติ
และในสภาวะธรรมชาติที่ไร้การคุ้มครอง ไร้ระเบียบอะไรใดๆ นี้เอง ฮ็อบส์ถือว่าทุกคนมีสิทธิทางธรรมชาติ (Natural Right) ที่จะหาทางทำอย่างไรก็ได้ให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอดให้ได้ (จริงๆ ฮ็อบส์แทบจะเขียนเสมือนหนึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องหาทางเอาตัวรอดให้ได้ด้วยซ้ำเลย) ฉะนั้นมนุษย์ในสภาวะแบบนี้จึงมีเสรีภาพอย่างเต็มที่ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองรอด โดยไม่ต้องไปสนใจว่าจะไปรบกวนหรือทำลายสิทธิของผู้อื่นหรือไม่แต่อย่างใด เพราะนี่คือสภาวะธรรมชาติที่ของกติการ่วม หรือข้อตกลงร่วมอะไรไม่ได้มีอยู่ ฉะนั้นมนุษย์จึงต้องเข้าห้ำหั่นกันเอง ทุกคนต่อสู้ฆ่าฟันกันเองเพื่อความอยู่รอดน่ะครับ จึงเป็นที่มาของคำว่า Bellum omnium contra omnes หรือที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The war of all against all ซึ่งก็คือสงครามที่ทุกคนห้ำหั่นกันทุกคน เพื่อความอยู่รอดนั่นเอง
พอพูดแบบนี้แล้ว หลายคนอาจจะนึกถึงภาพยนตร์ หรือกระทั่งมังหงะเรื่อง Battle Royal มากกว่า เรื่อง Nihon Chinbotsu ที่นำมาเขียนถึงนี่น่ะนะครับ ส่วนหนึ่งเพราะว่าดังกล่าว และพล็อตหลักนั้นคือเรื่องที่ว่านี้เลย แต่โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่ามันตรงกับที่ฮ็อบส์ว่านัก เพราะนักเรียนซึ่งเป็นผู้เข้าแข่งขันในเรื่อง Battle Royal นั้นต่างโดนลักพาตัว พวกเขารับรู้ถึงกติกาเซ็ตหนึ่งที่รัฐกำหนดไว้ และสู้กันในสภาวะธรรมชาติ ‘จำลอง’ อีกที เพื่อความอยู่รอด พูดอีกแบบก็คือมันเป็นสภาวะธรรมชาติซึ่งตัวผู้เล่นรู้อยู่แล้วว่ามันไม่ได้ธรรมชาติจริงๆ
ในแง่นี้ ผมคิดว่า Nihon Chinbotsu หรือ The Sinking of Japan (โดยเฉพาะเล่ม 6) ให้ภาพที่ชัดกว่ามาก แม้อาจจะไม่ได้เป็นพล็อตส่วนที่สำคัญที่สุดของเรื่องอย่าง Battle Royal ก็ตามที ในเล่มหกของมังหงะชุดนี้ฉายภาพให้เห็นโตเกียว (และญี่ปุ่น) หลังจากโดนแผ่นดินไหวครั้งมหึมาถล่ม ตึกพังถล่มทั่วไปหมด ไฟไหม้ทั่วหัวระแหง (อย่างในรูปของปกคืออาคารที่ว่าการโตเกียวที่ไฟกำลังลุกไหม้โชน) และแน่นอนศพกับความตายเผยให้เห็นทั่วหัวระแหง ตอนแรกคนที่รอดชีวิตดูจะยังไม่ได้สติ ตั้งตัวไม่ทันบ้าง แหงนคอรอการช่วยเหลือของรัฐบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเวลาผ่านไป พวกเขารู้แน่ชัดแล้วว่าสิ่งที่เฝ้าคอยนั้นคงจะไม่มีทางมาถึง เพราะรัฐดูจะไม่มีอยู่อีกต่อไปแล้ว หากจะรอดก็ต้องทำทุกอย่างให้ตัวเองรอดต่อไป และนั่นกลายเป็นภาพที่ราวกับนำเอาผลงานของโธมัส ฮ็อบส์มาวาดเป็นมังหงะกันเลยทีเดียว
ในตอนนี้เราจะเห็นภาพทั้งการปล้นชิง การฆ่าฟัน การยอมมีเซ็กส์เพื่อแลกกับความอยู่รอดต่างๆ มากมาย แต่มีตัวละครอยู่ตัวหนึ่งซึ่งยังพยายามคงไว้ซึ่งมนุษยธรรม เข้าช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ ที่กำลังเดือดร้อนเท่าที่ตัวเค้าจะทำได้ พยายามชักชวนให้ทุกคนมีความหวังในสภาวะอันเลวร้ายนี้ … ใช่แล้วครับ สุดท้ายแล้วอีตาคนนี้ก็ตายโดยการโดนรุมฆ่าทิ้ง ในสภาวะธรรมชาติของมนุษย์
ผมคิดว่าภาพดังกล่าวนี้สะท้อนวิธีคิดแบบฮ็อบส์มากทีเดียว เพราะสำหรับฮ็อบส์แล้วการจะมีชีวิตรอดให้ได้ยาวนานที่สุดนั้น คนๆ นั้นต้องไม่ใช่ผู้กล้า ผู้ทรงธรรมอะไร แต่ต้องเป็นคนขี้ขลาดต่างหาก เพราะสำหรับฮ็อบส์แล้ว ยิ่งเราขี้ขลาดมากเท่าไหร่ เรายิ่งทำอะไรเพื่อตัวเอง ทั้งยังไม่นำตัวเองไปเสี่ยงภัยอะไรด้วย ฮ็อบส์ถึงกับเสนอว่าคุณค่าที่ยุคสมัยใหม่พึงยกย่องสรรเสริญนั้นคือ Virtue of the cowardice หรือ ‘เกียรติภูมิในการเป็นคนขี้ขลาด’ ต่างหาก ไม่เพียงเท่านั้น ฉากในช่วงเหตุการณ์ที่ว่ายังเป็นการจิกแซะนักคิดที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฮ็อบส์ทั้งหลายด้วย ที่มักจะมองว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเป็นคนดี และจะพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
และนี่เองที่นำมาสู่คำตอบต่อคำถามหลักของฮ็อบส์ว่า “เราจะมีรัฐไว้ทำไม?” ก็เพื่อไม่ให้คนมาฆ่ากัน มาก่อ War of all against all อย่างที่ว่าไปครับ ฉะนั้นสำหรับฮ็อบส์ การมีอยู่ของรัฐก็คือการสร้างไอ้ Exclusiveness หรือความพิเศษเหนือกว่าคนอื่น ซึ่งปัจเจกคนใดคนหนึ่งไม่ได้ถือครองไว้ การไม่มี Exclusiveness นี้เองที่ทำให้มนุษย์เรา ‘เสมอภาคเท่าเทียมกัน’ ในสภาวะธรรมชาติ ฉะนั้น Exclusiveness ของฮ็อบส์จึงเป็นการสถาปนาอำนาจที่ยิ่งใหญ่มากๆ แข็งแกร่งมากๆ ขนาดที่ไม่มีใครแม้แต่จะคิดต่อกรได้นั่นเอง และผู้ซึ่งถือครอง Exclusiveness ที่ว่านี้ก็คือสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐ’ นั่นเองครับ ด้วยเหตุนี้ สำหรับฮ็อบส์แล้ว รัฐจึงต้องแข็งแกร่งให้มากที่สุด มีอำนาจให้มากที่สุด ขนาดที่ไม่มีใครคิดจะลุกขึ้นมาต่อกรสู้ได้ และเฉพาะเมื่อเป็นเช่นนั้น จึงจะ ‘สยบ’ ความปั่นป่วนของสภาวะธรรมชาติลงได้ ด้วยเหตุนี้เองฮ็อบส์จึงได้เปรียบเทียบรัฐในฐานะเลวิธาน (Levithan) หรือปีศาจสุดแกร่งแห่งท้องทะเลในตำนานของคริสต์ ที่เขามองว่ารัฐก็ต้องเป็นเช่นสัตว์ร้ายนี้
หากอธิบายใหม่ด้วยฐานคิดของฮ็อบส์ก็คือ ที่ทุกวันนี้เรายอมอยู่ร่วมกัน เคารพกฎหมายโดยไม่แหกกฎกติกาอะไรมากนัก นั่นไม่ใช่เพราะว่าเราเป็นคนดีอะไร แต่เป็นเพราะว่าเรารู้ว่านี่คือกติกาของรัฐที่ปกครองเราอยู่ หากเราไม่ฟังตามกฎนี้ รัฐจะลงโทษเรา และเราเองไม่มีความสามารถอะไรจะไปต่อสู้ให้ชนะรัฐได้ ฉะนั้นเมื่อสู้ชนะรัฐไม่ได้ ก็ยอมทำตามเสียดีกว่า เพื่อความอยู่รอดของเรา (เพราะถ้าเราคิดต่อกรกับรัฐ ก็อาจจะต้องเป็นอย่างผู้ก่อการร้ายโน่น และเราก็อาจตายได้) และนั่นเองคือคำตอบว่า “รัฐมีไว้ทำไม?” ครับ
อยากให้ลองหาเรื่องนี้มาอ่านกันจริงๆ ครับ ผมเข้าใจว่ามีแปลไทยด้วย โดย Nation (แต่ไม่แน่ใจว่าแปลครบไหม) เรื่องนี้อ่านแล้วอาจจะหนักหัวและอื้ออึงหน่อย แต่สนุกและได้แง่คิดมากมายจริงๆ ครับ
ขอให้สนุกกับมังหงะครับ
Tags: Post-apocalyptic, Apocalyptic, Japan Sinks, The Sinking of Japan, Ishiki Toshihiko, ญี่ปุ่นจม, State of Nature, สภาวะธรรมชาติ, manga, Nihon Chinbotsu