ค้าปลีกไทยถือเป็นอีกหนึ่งส่วนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หากแต่ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ประกอบกับค้าปลีกจากต่างประเทศทั้งส่วนที่เป็นสโตร์และช่องทางออนไลน์อย่างพวกอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะจากประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกไทยโดยตรง
แล้ววันนี้ค้าปลีกไทยเป็นอย่างไร ได้รับผลกระทบจากปัจจัยเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน และปรับตัวเพื่อต่อสู้กับการแข่งขันในปัจจุบันไปมากน้อยแค่ไหน
ในงาน Brand Inside Forum 2019 ว่าด้วยค้าปลีกยุคใหม่ โดยวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และซีอีโอ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) และ ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ได้มาแชร์ข้อมูลสถานการณ์ค้าปลีกไทยในวันนี้และอนาคต เพื่อให้ค้าปลีกไทยได้เตรียมความพร้อมรับมือกับโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
(ซ้ายไปขวา) ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และวรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเล่าภาพรวมค้าปลีกไทย
โครงสร้างภาษี-ผูกขาดดิวตี้ฟรีและการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง
วรวุฒิ อุ่นใจ ในฐานะประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยเล่าภาพรวมค้าปลีกไทยในปัจจุบันว่า ค้าปลีกไทยประสบปัญหามาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตที่ต่ำว่าจีดีพีของประเทศ
“ปกติค้าปลีกไทยจะโตสูงกว่าจีดีพีประมาณ 1-1.5% เช่น จีดีพีไทยโต 4% ค้าปลีกไทยควรโต 5-5.5% แต่ปัญหาค้าปลีกไทยทุกวันนี้โตแค่ 2.8-3% ผิดปกติอย่างรุนแรง เราโตต่ำสุดในอาเซียน เพราะค่าเฉลี่ยอาเซียนโตเกือบ 10% โดยเวียดนามโตสูงสุดถึง 14% เวลาผมไปประชุมค้าปลีกนานาชาติ หลายประเทศถามผมว่าเกิดอะไรขึ้นในบ้านเรา ทั้งที่จริงๆ แล้วผู้ประกอบการปลีกไทยแข็งแรงมาก ทั้งพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัลเอ็มบาสซี เอ็มโพเรียม ซึ่งคุณภาพสโตร์ไทยดีเกือบที่สุดในอาเซียน และมีทราฟิกที่ดีมาก”
แต่ปัจจัยที่ทำให้ค้าปลีกไทยมีการเติบโตที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น วรวุฒิ ระบุว่า มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
1. โครงสร้างภาษีลักชัวรี พวกของแบรนด์เนมทั้งหลายที่ประเทศไทยเก็บภาษีในอัตราสูงถึง 30-40% ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเราอยู่ที่ 10-15% เพียงเท่านั้น
“ในอดีต 20-30 ปีก่อน รัฐบาลไทยมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ไม่อยากให้ใช้จ่ายเยอะ เลยตั้งกำแพงภาษีสูง ทำให้สินค้ากลุ่มนี้ไม่โต ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้นักท่องเที่ยวนิยมช้อปปิ้งด้วย แล้วทุกวันนี้สินค้าลักชัวรีได้เปลี่ยนไปแล้ว กลายเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ แล้วเป็นเทรนด์ทั่วโลก หลายคนในห้องนี้ก็ใช้ของแบรนด์เนมกันเยอะแยะ”
2.การผูกขาดดิวตี้ฟรี ที่มีแค่เจ้าเดียว ไม่มีการแข่งขัน และทำตลาดกับคนในประเทศ
“ปกติดิวตี้ฟรีต้องทำตลาดกับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แต่ดิวตี้ฟรีไทยทำตลาดกับคนในประเทศ เป็นโครงสร้างที่แปลกประหลาด และในหลายประเทศมีผู้เล่นหลายราย ตรงนี้ทำให้ธุรกิจค้าปลีกมันเติบโต ซึ่งเมืองไทย การเปิดประมูลมันเป็นกระบวนการที่รู้ผลตั้งแต่ก่อนประมูลแล้ว รายหลายเลือกที่จะไม่แข่งยื่นประมูลเพราะเสียเวลาเปล่า”
วรวุฒิ มองว่าถ้ามีการแข่งขันในดิวตี้ฟรี จะนำไปสู่การเกิดดิวตี้ฟรีดาวน์ทาวน์ ยกตัวอย่าง เกาหลีใต้ มีนักท่องเที่ยวปีละ 30 ล้านคน แต่มีการขายได้สูงกว่าไทยถึง 6 เท่า คือประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่วนของไทยมีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนต่อปี ขายได้แค่ 6 หมื่นล้านบาท
“เกาหลีใต้มีผู้เล่น 10 กว่าราย เก็บค่าธรรมเนียม 40% ของไทยเก็บอยู่ 20% แต่หารู้ไม่ว่ามันเพิ่งมาปรับให้สูงกว่าในอดีต 3 เท่า คำถามคือในอดีตปล่อยให้กำไรเยอะๆ แล้วเก็บค่าธรรมเนียมน้อยได้อย่างไร เมื่อดิวตี้ฟรีเป็นแบบนี้ นั่นจึงเป็นเหตุผลที่สมาคมค้าปลีกต่อสู้อยู่พักใหญ่ เพราะจริงๆ รัฐบาลไม่ควรกีดกันธุรกิจค้าปลีกให้ทำดิวตี้ฟรี ผมเชื่อว่าบ้านเรามีค้าปลีกที่พร้อมทำดิวตรีฟรี 4-5 รายขึ้นไป และจะทำให้การช้อปปิ้งของไทยเติบโต”
3. การท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง ต้องโปรโมต และการเกิดขึ้นของตลาดเกรย์ มาร์เก็ต
“หลายประเทศมีช้อปปิ้งสตรีต วันอาทิตย์ปิดถนนเส้นหนึ่ง และเน้นการท่องเที่ยวเชิงช้อปปิ้ง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยงในแง่ของการช้อปปิ้ง ซึ่งสิ่งที่ค้าปลีกไทยกลัวจริงๆ คือตลาดเกรย์ มาร์เก็ต ( ตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ที่ผู้นำเข้ามักจะไม่ใช่บริษัทแม่ผู้เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์) ที่มันเกิดขึ้นเพราะภาษีที่สูง แล้วตลาดมันใหญ่มาก อยู่นอกระบบทำให้เราจับตัวเลขไม่ได้”
สถานการณ์อีคอมเมิร์ซไทย
ด้านธนาวัฒน์ มาลาบุปผา นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยต่อวันนานถึง 9 ชั่วโมง 11 นาที มากเป็นอันดับสามของโลก และถ้านับเฉพาะสมาร์ตโฟนอย่างเดียวอยู่ที่ 5 ชั่วโมง 13 นาที
ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า 5 กิจกรรมหลักบนอินเทอร์เน็ตที่คนไทยใช้เยอะที่สุด โซเชียลมีเดีย อีเมล กูเกิล ดูหนังฟังเพลง และช้อปปิ้ง
ในแง่ของมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในปี 2018 อยู่ที่ประมาณ 2 แสนล้านบาท ซึ่งโตเฉลี่ย 30% แล้วคาดว่าจะโตแบบนี้ไปอีก 6 ปีข้างหน้า ก็จะไปแตะที่ 1.2 ล้านล้านบาท
“อีคอมเมิร์ซน่าจะยังเป็นสัดส่วนที่ไม่มาก อย่างที่ประเทศจีน แม้อาลีบาบาจะใหญ่ที่สุด แต่ยังคิดเป็น 20% ของค้าปลีกทั้งประเทศ หรืออย่างแอมะซอนก็ยังคิดเป็นแค่ 13% ของทั้งประเทศ ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 2-3% ที่เหลือคนยังใช้จ่ายผ่านช่องทางออฟไลน์กันอยู่”
“เรามีการรวบรวมข้อมูลพบว่าคนไทยนิยมช้อปปิ้งผ่านโซเชียลมีเดียมากถึง 40% รองลงมาเป็นมาร์เก็ตเพลส 35% ส่วนอีก 25% เป็นเว็บไซต์ของแบรนด์”
ธนาวัฒน์ ให้ความเห็นว่าถ้าเอสเอ็มอีไทยจะรุกอีคอมเมิร์ซ ควรเริ่มที่ช่องทางโซเชียลมีเดีย เหตุผลคือคนไทยใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียวันละ 3 ชั่วโมง สองคือเว็บไซต์ของแบรนด์ แม้การทำเว็บต้องอาศัยพลังและความรู้ แต่ข้อดีคือเราเป็นเจ้าของร้านค้า ทุกอย่างอยู๋ในความควบคุมของเรา และเก็บข้อมูลทุกอย่างได้ครบ ส่วนมาร์เก็ตเพลส จะมีโปรโมชั่น แฟลชเซลส์ต่างๆ เพื่อจูงใจคนซื้อ
“จะเห็นว่า 3 ช่องทางเชื่อมกันด้วยดาต้า สุดท้ายรีเทลใหม่สร้างขึ้นมาจากหัวใจคือข้อมูล ข้อดีของการขายออนไลน์ คือมันช่วยเก็บข้อมูลได้ในออเดอร์ ทำให้รู้ว่าลูกค้าคุณคือใคร เป็นคนอย่างไร แล้วนำมาต่อยอดธุรกิจคุณได้”
อนาคตของค้าปลีกไทย
วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยให้มุมมองน่าสนใจว่าอนาคตธุรกิจในโลกเหลืออยู่สองแบบคือคนเดินไปหาของ และของเดินไปหาคน ซึ่งโดยธรรมชาติธุรกิจรีเทลเดิมและออนไลน์ต่างกันโดยสื้นเชิง เขาให้ความเห็นว่าค้าปลีกยุคใหม่ต้องรวมออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ประสานงานกันแบบไร้รอยต่อที่เรียกว่า Omnichannel เชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมดเข้าด้วยกัน แต่ถ้าทำออนไลน์และออฟไลน์ แต่ไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลกัน เรียกว่า Multi Channel
“ค้าปลีกที่เป็น Omnichannel จริงๆ เช่น เหอหม่าของอาลีบาบา เหมือนซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่ข้างบนมีพนักงานจัดออเดอร์สำหรับคนสั่งออนไลน์ แล้ววิ่งทั่วร้านเลย การันตีส่งในระยะ 5 กิโลเมตรจากร้านภายใน 30 นาที และแม้สินค้าจะวางขายอยู่บนเชลฟ์ แต่มีรหัสคิวอาร์โค้ดให้สแกน วิธีการคือเราจะซื้อของต้องดาวน์โหลดแอป แล้วสแกนคิวอาร์โค้ด รายละเอียดทุกอย่างจะขึ้นมาบอก เช่น ซื้อกุ้งล็อบสเตอร์ พอสแกนคิวอาร์โค้ด มันจะบอกเลยว่ากุ้งน้ำหนักเท่าไร ปรุงอาหารอะไรได้บ้าง พร้อมสูตรอาหาร”
“จุดอ่อนของรีเทลคือคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่จะทำให้คนมาซื้อของ สมัยก่อนรีเทลแค่มีโลเคชั่นดีๆ จัดร้านสวยๆ แล้วเราเอาสินค้าไปวางให้คนมาซื้อ ส่วนคอนเทนต์อยู่ที่พนักงานขายหน้าร้าน แต่ตอนนี้คนซื้อออนไลน์ จะซื้อตัวสินค้าว่ามีความน่าสนใจอย่างไร ถ้าไม่มีคอนเทนต์เขาก็อาจไม่ซื้อ”
“อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญคือโลจิสติกส์ ถ้ารีเทลคิดง่ายเข้าว่า เอาสโตร์มาทำโกดังด้วย มันไม่ง่ายและพังแน่นอน เราต้องแยกออกจากกัน มีโอเปอร์เรชันเฉพาะ”
“ค้าปลีกจะเจ๊งไม่เจ๊ง อยู่ที่คุณทำ ถ้าปรับตัว แล้วเอาออนไลน์มาใช้ แม้ไม่มีของขายก็ทำได้ อย่างร้านตัดผม อย่างไรก็ต้องมีหน้าร้านอยู่ดี แต่ต้องรู้จักทำมาร์เก็ตติงออนไลน์ หรือการมาถึงของ้ส์ เดลิเวอรี จากร้านค้าที่ขายไม่ดี เดี๋ยวนี้ขายได้มากกว่าเดิม 5-6 เท่า”
“มันไม่เกี่ยวกับคุณทำธุรกิจอะไร มันเกี่ยวกับว่าคุณทำธุรกิจอย่างไรมากว่า” วรวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย
ส่วนธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ก็ให้มุมมองต่ออนาคตค้าปลีกไทยว่า คนไทยต้องนำจุดแข็งด้านความคิดสร้างสรรค์มาใช้ประโยชน์ สินค้าที่ขายบนออนไลน์อาจเหมือนกัน แต่ถ้ามีการใส่ความคิดสร้างสรรค์ เพิ่มคุณค่าเข้าไป ทำให้คนมาซื้อโดยตรง ไม่ต้องผ่านช่องทางมาร์เก็ตเพลส เพราะถ้าอยากเติบโตต่อไปในอนาคต การพึ่งพาช่องทางใดช่องทางหนึ่งมากเกินไปอาจไม่ดี
“ในทุกวิกฤติมีโอกาส แม้หลายคนบอกว่าค้าปลีกกำลังจะตาย แต่จริงๆ แล้ว ค้าปลีกที่น่าเบื่อนั่นแหละกำลังจะตาย”
Tags: ค้าปลีกไทย, ดิวตี้ฟรี