ดิวตี้ฟรี หรือเขตสินค้าปลอดอากร คือพื้นที่ที่เราสามารถซื้อหาสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษีใดๆ ซึ่งเรามักพบได้ที่สนามบิน หรือการเดินทางไปต่างประเทศในช่องทางอื่น ธุรกิจดิวตี้ฟรีนั้นมีมูลค่ามหาศาลโดยสภาดิวตี้ฟรีโลก (Duty Free World Council) ได้เผยแพร่รายงานระบุว่า ยอดขายสินค้าในดิวตี้ฟรีทั่วโลกใน พ.ศ. 2560 สูงถึง 6.85 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบได้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (gross domestic product หรือ GDP) ของประเทศย่อมๆ ประเทศหนึ่ง ซึ่งมีพื้นที่ กฎเกณฑ์ และลักษณะพิเศษของตนเอง

แต่ทำไมรัฐบาลไทย และรัฐบาลประเทศอื่นๆ ถึงยินยอมให้ดิวตี้ฟรีเกิดขึ้นได้?

อย่าลืมว่ารัฐบาลทั่วโลกต่างต้องอาศัยเงินภาษีในการหล่อเลี้ยงสินค้าและบริการเพื่อสาธารณชน และแหล่งรายได้สำคัญก็คือภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ซึ่งผนวกรวมอยู่ในแทบทุกสินค้าและบริการที่ซื้อขายอยู่ภายในอาณาเขตประเทศ ยังไม่นับเหล่าภาษีบาป อย่างภาษีเหล้าและภาษีบุหรี่ ซึ่งกอบโกยรายได้เข้ากองคลังเป็นกอบเป็นกำ แน่นอนว่าเหล่านักท่องเที่ยวต่างก็ฉวยโอกาสนั้น ‘หิ้ว’ ของปลอดภาษีมาฝากเพื่อนพ้องน้องพี่ในราคากันเอง

จุดเริ่มต้นของแนวคิดดิวตี้ฟรี กำเนิดขึ้นที่ประเทศเล็กๆ อย่างไอร์แลนด์ โดยนักนวัตกรนามกระเดื่อง ดร.เบรนดัน โอรีแกน (Dr. Brendan O’Regan) ชาวไอริชผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกล ผู้มีจุดเริ่มต้นอาชีพคือบาร์เทนเดอร์ ก่อนจะก้าวสู่การเป็นผู้จัดการบริษัทจัดหาอาหารในสนามบิน และผู้ผลักดันแนวคิดดิวตี้ฟรีในบ้านเกิดของเขาเอง

จุดเริ่มต้นของดิวตี้ฟรี

ผู้เขียนขอพาย้อนกลับไปเมื่อราว 70 ปีก่อน ที่การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นไม่ได้หรูหราฟู่ฟ่าและสะดวกสบายเท่ากับปัจจุบัน ผู้โดยสารที่มีปัญญาจ่ายเพื่อขึ้นเครื่องบินนั้นมักเป็นดาราชื่อก้องโลก บุคคลสำคัญ พระบรมวงศานุวงศ์ หรือนักธุรกิจระดับชาติ และเส้นทางเจ้าปัญหาคือการบินผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก ผืนน้ำกว้างใหญ่ที่กั้นขวางระหว่างทวีปยุโรปและอเมริกา

เครื่องบินที่โดยสารออกจากนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา สู่ปลายทางเช่น ฝรั่งเศส หรือลอนดอน จะเห็นผืนดินผืนแรกคือเมืองแคลร์ ทางตะวันตกของไอร์แลนด์ เมืองเล็กๆ ที่กลายเป็นประตูสู่ทวีปยุโรปเนื่องจากเครื่องบินทุกลำจะต้องหยุดเพื่อเติมน้ำมันก่อนเดินทางต่อ

หมุดแดง-สนามบินแชนนอน ภาพ: Google Map

สนามบินแชนนอน (Shannon Airport) ซึ่งตั้งชื่อตามแม่น้ำที่ไหลผ่านเมืองแคลร์จึงกลายเป็นสนามบินที่มีผู้มีชื่อเสียงในอดีตมาเหยียบเยือนเยอะที่สุดในโลก ตั้งแต่ดาราดังอย่างมาริลิน มอนโร และทอม แฮงก์ส นักการเมืองดังอย่างจอห์น เอฟ เคเนดี้ รวมถึงนักปฏิวัติแห่งคิวบา ฟิเดล คาสโตร

การที่มีผู้มีชื่อเสียงมาเยี่ยมเยือนแทบทุกวัน ทำให้นักธุรกิจในเมืองต้องการยกระดับสินค้าและบริการเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้กับทวีปยุโรปและไอร์แลนด์ เบรนดัน โอเรแกน คือหนึ่งในนั้น เขาโดดเด่นด้วยการนำเสนออาหารไอริชแทนที่จะเป็นอาหารพื้นๆ ที่หาได้ทั่วยุโรป รวมถึงเป็นผู้ผลักดันกาแฟไอริช ค็อกเทลที่มีส่วนผสมของกาแฟร้อน วิสกี้ไอริช น้ำตาล ตบด้วยครีมหอมๆ ให้โด่งดังไปทั่วโลก

ขณะนั้น เบรนดันพบช่องว่างทางกฎหมายขณะที่เขาเดินทางไปสหรัฐอเมริกาโดยเครื่องบิน และกลับประเทศไอร์แลนด์ทางเรือ สิ่งที่เขาค้นพบคือสินค้าที่ซื้อขายบนเรือนั้นปลอดภาษี เนื่องจากอยู่บนน่านน้ำสากลซึ่งไม่มีประเทศใดเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ ลูกเรือยังสามารถพกเหล้าและบุหรี่ในปริมาณที่จำกัดขึ้นเรือโดยไม่เสียภาษีอีกด้วย 

ช่องว่างดังกล่าวนำไปสู่การวิวาทะระหว่างเบรนดันและรัฐบาลไอร์แลนด์ แต่ด้วยการชักแม่น้ำทั้งห้าของเบรนดันที่ว่า รัฐบาลจะไม่สูญเสียรายได้ภาษีสุทธิ เนื่องจากเขตช็อปปิ้งปลอดอากรนี้จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลมายังสนามบินแชนนอน บางคนอาจตัดสินใจมาท่องเที่ยวในไอร์แลนด์ หรืออาจซื้อสินค้าไอริชติดไม้ติดมือไปสร้างชื่อเสียง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างกำไรให้กับไอร์แลนด์ในระยะยาว

รัฐบาลไอร์แลนด์ยอมอนุมัติ และเบรนดันเปิดร้านปลอดภาษีขึ้นเป็นครั้งแรกของโลกในปี ค.ศ. 1951

ร้านปลอดภาษีของเบรนดันเริ่มต้นจากการเป็นร้านเล็กๆ ที่วางขายสินค้าการเกษตรทั้งไข่ไก่ ชีส เนย และครีมจากท้องถิ่น แน่นอนว่าต้องมีเหล้าและบุหรี่เป็นรายได้หลัก ผ่านไปเพียง 6 เดือน ร้านดังกล่าวก็ขยายใหญ่โต เพิ่มสินค้าหรูหราอย่างกล่องแบรนด์ไลก้า หรือนาฬิกาจากสวิตเซอร์แลนด์ และที่ขาดไม่ได้คือช็อคโกแลต

แนวคิดร้านค้าปลอดภาษีฮอตฮิตติดตลาดอย่างมาก และนักธุรกิจในต่างแดนก็เริ่มเลียนแบบ ดิ้วตี้ฟรีแห่งที่สองก็เปิดขึ้นที่อัมสเตอร์ดัมใน ค.ศ. 1957 สหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. 1962 และอย่างที่เราทราบกันดี แนวคิดดังกล่าวได้กลายเป็นมาตรฐานใหม่ และแหล่งรายได้สำคัญของสนามบินทั่วโลก

ดิวตี้ฟรีในปัจจุบัน

ปัจจุบัน ยอดขายสินค้าดิวตี้ฟรีนั้นมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแรงผลักสำคัญคือการเติบโตของดิวตี้ฟรีในทวีปเอเชียแปซิฟิก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 44 ของยอดขายเขตปลอดอากรทั่วโลก ด้วยอัตราการเติบโตเลขสองหลักเมื่อ พ.ศ. 2560 ในขณะที่ภูมิภาคอื่นยังมีการเติบโตแบบลุ่มๆ ดอนๆ

สนามบินที่ชูธงนำการเติบโตดังกล่าวคือสนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งกลายเป็นเขตช็อปปิ้งปลอดอากรที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างดูไบเมื่อไม่นานมานี้ อีกทั้งยังไม่มีทีท่าว่าการเติบโตจะหยุดลง โดยในปีที่ผ่านมามีการเติบโตของยอดขายสูงถึงร้อยละ 18 และยอดขายเฉลี่ยต่อนักท่องเที่ยว 1 คนอยู่ที่ 260 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 8,000 บาท

สนามบินอินชอน ก็เช่นเดียวกันสนามบินในสิงคโปร์ และฮ่องกง คือการให้สัมปทานดิวตี้ฟรีกับหลากหลายบริษัท เช่นในสนามบินอินชอน มีบริษัทที่ได้รับสัมปทานถึง 12 บริษัทด้วยกัน ส่วนในประเทศไทย การออกแบบสัมปทานยังเป็นผู้ประกอบการรายเดียว โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม กลุ่มคิงเพาเวอร์ ผู้ชนะการประมูลสัมปทานทั้งในสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินภูมิภาคที่ภูเก็ต เชียงใหม่ และหาดใหญ่ ได้ลงนามในสัญญา 10 ปี 6 เดือนกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ที่ผ่านมา จำนวนผู้โดยสารที่ผ่านเข้าออกสนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเทียบเคียงได้กับสนามบินอินชอน อย่างไรก็ดี ยอดขายในดิวตี้ฟรีของไทยยังมีการเติบโตไม่ค่อยดีนักหากเทียบเคียงกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวและยอดขายของสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาค โดยยอดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในสนามบินสุวรรณภูมิอยู่ที่ 47 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1,500 บาทเท่านั้น

อินโฟกราฟฟิกเปรียบเทียบสัมปทานเขตปลอดอากรระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ ภาพจาก TDRI

ประเด็นสุดท้ายคือสัดส่วนสัมปทานที่บริษัทต้องจ่ายให้กับสนามบินคือราวร้อยละ 17 เท่านั้น ซึ่งนับว่าต่ำเตี้ยเรี่ยดินหากเทียบกับสนามบินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ค่าสัมปทานสูงถึงราวร้อยละ 40 ประเด็นดังกล่าวทำให้หลายคนตั้งคำถามกับการตัดสินผู้ชนะการประมูลดังกล่าวว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของรัฐบาลและประชาชนจริงๆ หรือไม่

หากย้อนกลับไปมองต้นกำเนิดของดิวตี้ฟรี เราจะเห็นว่าหัวใจสำคัญคือการสร้างผลประโยชน์สุทธิให้กับภาครัฐ แต่หน้าตาของสัมปทานเขตปลอดอากรของไทยในปัจจุบันกลับชวนให้สงสัยว่าหัวใจสำคัญดังกล่าวถูกมองข้ามไปหรือเปล่า?

 

เอกสารประกอบการเขียน

Planet Money – The Land of Duty free

Brendan O’Regan: Irish Visionary, Innovator, Peacemaker

Shannon Airport: A curious history of celebrity visitors

Airport Shopping Takes Off: Non-aviation is big business for airports and retailers

A duty-free approach

สัมปทานดิวตี้ฟรีกับเงินแสนล้าน

Duty-free drama unfolds

Tags: , , , , ,