หลังจากรอคอยมากว่า 3 เดือน รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อรับตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา และถือเป็นการเริ่มต้นรัฐบาลชุดใหม่ แม้จะเป็นคนหน้าเดิมที่ไม่ต้องให้รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส มาร้องเพลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การได้รัฐบาลใหม่ ไม่ได้แปลว่าเส้นทางจากนี้จะราบรื่นเสมอไป เพราะด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มเป็นเมฆฝนตั้งเค้ามาตั้งแต่ต้นปี และเริ่มที่จะสำแดงผลเอาตอนครึ่งปีหลังนี้ ทำให้รัฐบาลนี้อาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และนโยบายเศรษฐกิจที่อาจกระตุ้นการใช้จ่ายไม่ได้มากอย่างที่คิดก็เป็นได้

ชะลอตัว หดตัว และเผาจริง คือคำคุ้นเคยใหม่ในครึ่งหลังของปีนี้

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา หน่วยงานด้านเศรษฐกิจ รวมถึงสถาบันวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจหลากหลายสำนัก ต่างเริ่มทยอยปรับลดประมาณการตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP: Gross Domestic Product) ตัวอย่างเช่น อีไอซีของธนาคารไทยพาณิชย์ ปรับลดตัวเลขประมาณการลงเหลือ 3.1%, ไอเอ็นจี บริษัทด้านการเงินของประเทศเนเธอร์แลนด์ ก็ปรับลดประมาณการลงเหลือ 3.1% เช่นกัน

การปรับลดตัวเลขเหล่านี้ลง เกิดจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของจริงอยู่ในสภาวะที่ลดลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดี สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์: สศช.) ระบุว่าในไตรมาสแรก ประเทศไทยมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยดูตัวเลขจากจีดีพีอยู่ที่เพียง 2.8% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบหลายปี รวมถึงการส่งออกติดลบ 3.6% ด้วยเช่นกัน

สภาพเช่นนี้มาจากปัญหาที่ประเดประดังเข้ามาหลายปัจจัยประกอบกันอย่างน้อย 5 ประการ จนสร้างให้กลายเป็นปัญหาองค์รวม และทำให้เศรษฐกิจไทยที่เริ่มมีเค้าลางว่าเศรษฐกิจอาจจะถดถอย เริ่มถดถอยจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประการแรก ปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง ปัญหาในส่วนแรกนี้เกิดจากปัญหาทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่มีความนิ่งพอ ในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีความไม่เสถียรสูงมากกว่าที่หลายคนคาดไว้ รัฐบาลใหม่กว่าจะจัดตั้งขึ้นมาได้ก็ใช้ระยะเวลาที่นานกว่าปกติไปมาก นอกจากนั้นแล้วสภาพของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากแบบคาบเส้น ก็จะทำให้การดำเนินนโยบายต่างๆ ลำบากมากขึ้น

ประการที่สอง ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจภายในประเทศหดหาย 

ตัวเลขจากธนาคารกรุงเทพ ระบุว่าดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายของผู้บริโภคของไทย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ลดลงทุกตัวจากเดือนเมษายน ยกเว้นการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันเมื่อปี 2561, ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคไทยลดลง, ความเชื่อมั่นทางสังคมลดลง และความเชื่อมั่นนักลงทุนไทย ของเดือนพฤษภาคม 2562 ก็ลดลงอีกเช่นกัน ซึ่งสอดคล้องกับสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศที่สะท้อนผ่านออกมาจากตัวเลขจีดีพีด้วย

ความไม่เชื่อมั่นในเศรษฐกิจของประเทศนี้ สะท้อนออกมาในอีกมุมหนึ่งคือการขยับขยายของกลุ่มทุนไทยที่เริ่มเน้นนโยบายการลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นกว่าเดิม เช่น กลุ่มสิริวัฒนภักดีในนามไทยเบฟและทีซีซี ที่เข้าไปลงทุนซื้อกิจการ Fraser & Neave ของสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นต้น ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 แล้ว จากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยที่พบว่าตัวเลขการลงทุนนอกประเทศของไทย อยู่ที่ 26.56 ล้านล้านบาท

ประการที่สาม ภาวะชะลอตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ต้องยอมรับว่ามาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม (โดยเฉพาะมาตรการ LTV: Loan-To-Value หรือวงเงินที่สามารถปล่อยกู้ได้) ที่เข้มงวด ส่งผลกระทบกับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ในกรณีของคอนโดมิเนียมมียอดขายติดลบถึง 22% ทำให้อุตสาหกรรมทั้งหมดเกิดสภาวะชะลอตัวและชะงักงัน

ประการที่สี่ อัตราค่าเงินบาทแข็งค่ามากเมื่อเทียบกับภูมิภาค เรื่องนี้แม้จะเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นมาไม่นานมากนัก แต่มีผลกระทบอย่างมหาศาลกับเศรษฐกิจของประเทศที่อาศัยและพึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก อิสร์กุล อุณหเกตุ อธิบายอย่างชัดเจนในบทความว่า การแข็งค่าของเงินบาทไทยทำให้การส่งออกหดตัวลด และนำพาไปสู่การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโดยรวม แต่ในมิติอีกด้านหนึ่ง การที่ค่าเงินบาทมีราคาที่แพงมาก ย่อมส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะลดลงด้วย และก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของเศรษฐกิจไทยด้วย

ประการที่ห้า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสภาวะการค้าที่ไม่เอื้ออำนวย ประการสุดท้ายเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากถึงเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเองก็ไม่นิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากภาวะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา กับ สาธารณรัฐประชาชนจีน ล้วนแต่สร้างสภาพสภาวะลำบากทั้งสิ้น ยังไม่นับถึงกรณีการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (BREXIT) ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่สร้างความไม่แน่นอนสำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปด้วย

ปัจจัยเหล่านี้ กลายเป็นด่านปราการสำคัญที่รัฐบาลชุดใหม่ (แต่คนหน้าเดิม) ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จำต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์เหล่านี้กำลังดำเนินไปด้วย

ตอบโจทย์ทุกคนหรือตอบโจทย์ใคร?

หากไปดูนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภา ก็จะพบว่ารัฐบาลชุดนี้เน้นเรื่องการลดการเหลื่อมล้ำเป็นหลัก และรัฐบาลถือว่าเป็นปัญหาใหม่ โดยมีจุดเน้นอยู่ที่การลงทุนของภาครัฐ การกระตุ้นสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงการพัฒนาคนและพื้นที่ในภูมิภาคให้กลายเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจ

แต่นโยบายที่เตรียมแถลงต่อรัฐสภาในครั้งนี้ ก็ไม่ได้ตอบอะไรอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันบ้าง แต่หากยึดนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งก็คือพรรคพลังประชารัฐ จะพบว่านโยบายของรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

  1. ให้ความสำคัญกับการสร้างสวัสดิการ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการมีบัตรสวัสดิการประชารัฐ การสร้างสวัสดิการรายกลุ่ม เน้นการปลดหนี้ นโยบายบ้านล้านหลังเพื่อให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีบ้านได้

  2. พัฒนาเมืองในภูมิภาคให้ทัดเทียมกับกรุงเทพมหานคร ด้วยการสร้างสาธารณูปโภคและบริการ รวมถึงเปิดทางให้เทศบาลสามารถตั้งบริษัทและสามารถเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ ทำให้เพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการมากขึ้น

  3. ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ให้มากขึ้น อันเป็นอีกแนวทางหลักของนโยบายที่ต้องการนำมาใช้ กล่าวโดยง่ายคือนำเอาโมเดลแบบอูเบอร์และแกร็บแท็กซี่ เข้ามาใช้งานเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายของรัฐ

จะสังเกตได้ว่า นโยบายแกนหลักเหล่านี้มีใจความที่สำคัญร่วมกันอย่างหนึ่ง คือการให้ภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ซึ่งคำถามก็คือ ประชาชนมีส่วนร่วมในสมการผลักดันนี้มากน้อยเพียงใด และจะเป็นภาระในทางการคลังมากน้อยเพียงใดด้วยเช่นกัน เพราะในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลก็มีนโยบายในการลดอัตราภาษีบุคคลธรรมดาลง 10% ,ไม่จัดเก็บภาษีซื้อขายสินค้าออนไลน์นาน 2 ปี, ลดภาษีของผู้สำเร็จการศึกษาใหม่นาน 5 ปี ซึ่งต่อมาหนึ่งในนโยบายเหล่านี้ถูกปฏิเสธจากหนึ่งในผู้บริหารของพรรคว่าไม่เคยมีการประกาศหรือสัญญาเอาไว้

มากไปกว่านั้น นโยบายเหล่านี้เมื่อต้องถูกผลักดันจากภาครัฐ และมีวาระที่เน้นไปการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคเป็นหนึ่งในแกนหลัก สิ่งที่เกิดขึ้นคือผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากนโยบายเหล่านี้ยากที่จะเป็นประชาชนหรือธุรกิจขนาดเล็กโดยตรง แต่กลับเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ ในงานของประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาจน์ชูฉัตร ระบุอย่างชัดเจนว่า ในช่วงที่ผ่านมานโยบายและโครงการต่างๆ ของรัฐบาลชุดที่แล้ว ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ มีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับภาคเอกชนและธุรกิจรายใหญ่ กลายเป็นการถ่างสภาพความเหลื่อมล้ำให้มากยิ่งขึ้นไปอีก สอดคล้องกับตัวเลขที่มีการรายงานและจัดอันดับโดยเครดิตสวิส บรรษัทด้านการเงินรายใหญ่ของโลกเมื่อปีที่แล้ว ที่ระบุว่าไทยมีความเหลื่อมล้ำในแง่ความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก

แน่นอนว่าถ้าพูดด้วยความยุติธรรม ก็ต้องบอกว่าด้วยการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ ศักยภาพของธุรกิจขนาดเล็กที่จะตอบโจทย์ทางนโยบาย (อย่างเช่น การรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ) เป็นไปได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากขนาด (สเกล) ของความสามารถในการสร้างและตอบสนองนั้นแตกต่างกัน และทุนใหญ่เองก็สามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจโดยรวมได้ดีกว่า ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี แต่การไม่มีนโยบายในการจัดการ จัดเก็บ และกระจายรายได้ให้ดีพอมาสนับสนุน จะทำให้สิ่งที่ควรเกิดขึ้นกลับไม่เกิด นั่นก็คือการลดความเหลื่อมล้ำลง และกลายเป็นการเอื้อประโยชน์กับคนอยู่ไม่กี่คนในประเทศ

ดังนั้น ถ้าให้วิเคราะห์เส้นทางนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ก็คงต้องกล่าวว่า ในที่สุดแล้วรัฐบาลก็จะหามาตรการเดิมๆ เพื่อพยายามแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ และคนที่ได้รับประโยชน์ก็ยังคงเป็นคนเดิมๆ อีกเช่นกัน

ไม่มีคำว่าง่าย สำหรับเศรษฐกิจในปีนี้

เมื่อทาบปัญหาเศรษฐกิจเข้ากับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเริ่มทำงาน เราคงพอเห็นภาพว่า รัฐบาลชุดใหม่เองก็ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรดี เพราะในแง่หนึ่งปัญหาที่รัฐบาลกำลังเผชิญนั้นมีมากมายเหลือเกิน ทั้งจากปัจจัยที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ยังไม่นับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่น่าจะมีมีเสถียรภาพได้โดยง่าย แม้จะจัดตั้งรัฐบาลได้แล้วก็ตาม

สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ เราต้องภาวนาว่าสภาพโดยรวมของเศรษฐกิจจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงบุคลากรของภาครัฐเอง (ซึ่งกลายมาเป็นความหวังเดียวของการแก้ไขเศรษฐกิจในรอบนี้) จะสามารถหาทางออกที่ดี และตอบสนองกับสภาวะที่กดดันทั้งจากภายในและภายนอกประเทศให้ได้

ส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่จะใช้ได้แค่ไหน ตอนนี้อาจจะเร็วเกินไปที่จะด่วนสรุปว่าดีหรือไม่ คงอาจจะต้องรอเวลาไปอีกสักระยะหนึ่งก่อนเพื่อดูว่า นโยบายเหล่านี้จะสามารถตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปได้รวดเร็วขนาดนี้หรือไม่

เพราะถ้าตอบสนองได้ไม่เร็วพอ และภาครัฐที่เป็นกลไกสุดท้ายเกิดดับ งานนี้ก็คงต้องตัวใครตัวมัน

Tags: , , ,