ตอนวิกฤติต้มยำกุ้ง ผู้เขียนอายุไม่ถึง 10 ขวบดีจึงไม่มีโอกาสเห็นวิกฤติการเงินด้วยตาตัวเอง ผ่านมาราว 10 ปี วิกฤติซับไพรม์ในสหรัฐอเมริกาสั่นสะเทือนเศรษฐกิจทั่วโลกให้เข้าสู่ช่วงขาลง แม้ว่าไทยจะได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ก็คงไม่อาจเทียบกับประเทศต้นทางที่เผชิญภาวะว่างงานสูง หนี้เสียสูง และผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ติดตัวแดง

เรามักคิดถึงวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเหตุการณ์ระยะสั้น คล้ายกับฟองสบู่ที่อยู่ดีๆ ก็ระเบิด แล้วหลังจากนั้นทุกอย่างก็ดิ่งเหวและต้องใช้เวลายาวนานในการเยียวยารักษาตัว แต่มีเรื่องหนึ่งที่เวลาก็อาจไม่สามารถเยียวยาได้ นั่นคือบาดแผลทางใจที่ฝังลึก แม้ว่าเวลาผ่านไปก็ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้ที่ผ่านช่วงวิกฤตการณ์เหล่านั้นมา โดยมีศัพท์ในแวดวงวิชาการเรียกว่า ‘แผลเป็นจากเศรษฐกิจ (Economic Scars)’

การศึกษาในมิติดังกล่าวได้รับความสนใจภายหลังวิกฤติซับไพรม์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของกระแสเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมซึ่งลบล้างสมมติฐานที่ว่ามนุษย์ตัดสินใจทุกอย่างโดยใช้เหตุผลอย่างไร้ข้อจำกัด และข้อค้นพบดังกล่าวก็น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะแม้เวลาจะผ่านไป 10 ปี โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้น แต่แผลเป็นดังกล่าวก็ยังเห็นชัดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

วิกฤติเศรษฐกิจส่งผลต่อจิตใจอย่างไร? 

นักเศรษฐศาสตร์คนแรกๆ ที่พยายามตอบคำถามดังกล่าวคือ อัลริกา มัลเมนเดีย (Ulrike Malmendier) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเงินจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ (University of California, Berkeley) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และเป็นนักเศรษฐศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง

ผลงานที่โดดเด่นของเธอคือศึกษาพฤติกรรมการใช้เงินของผู้คนที่ผ่านประสบการณ์ยุคภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่แม้เวลาจะผ่านไปจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะขาขึ้นแล้ว แต่ผู้คนเหล่านี้ยังรับความเสี่ยงได้น้อยกว่ากลุ่มคนที่ไม่เคยผ่านวิกฤติทางเศรษฐกิจ โดยจะมีสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นน้อยกว่า หากคนเหล่านี้นั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารบริษัท ก็เลือกที่จะกู้เงินมาลงทุนน้อยกว่าโดยเปรียบเทียบ

อาจารย์อัลริกาได้สรุปเป็นกฎจำง่ายจากงานวิจัยของเธอว่า หากใครเคยมีประสบการณ์วิกฤติการลงทุนในตลาดใด เช่น ตลาดหลักทรัพย์หรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ ความทรงจำเหล่านั้นก็จะกลายเป็น ‘แผลเป็น’ ที่ส่งผลต่อความต้องการที่จะรับความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดดังกล่าว

นอกจากนี้ ผลกระทบต่อคนแต่ละวัยก็ไม่เท่ากัน หากเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเริ่มทำงานครั้งแรกแล้วดันมาเจอภาวะเศรษฐกิจถดถอยก็จะกลายเป็นภาพประทับที่ฝังลึกยาวนานเนื่องจากเขาหรือเธอยังเห็นโลกมาน้อย หากเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่วัยกลางคนที่อาจผ่านช่วงเศรษฐกิจเติบโตขั้นสุดแล้วมาเจอกับภาวะถดถอย ซึ่งผู้ใหญ่วัยกลางคนจะได้รับผลกระทบทางใจน้อยกว่าเนื่องจากเคยผ่านร้อนผ่านหนาว เห็นเศรษฐกิจมาแล้วทั้งขาขึ้นและขาลงทำให้ยังพอเฉลี่ยเกลี่ยประสบการณ์ให้มุมมองต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมไม่เลวร้ายเกินไปนัก

หลักฐานเชิงประจักษ์ตลอด 10 ปีหลังวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกา คือการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคจากเดิมที่เคยมองการกู้เงินซื้อบ้านไม่ต่างจากการหยอดกระปุกเพราะเชื่อขนมกินได้ว่าราคาบ้านจะสูงขึ้น แต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจ การกู้เงินจากธนาคารเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ซบเซาลงอย่างมาก นอกจากนี้ นักศึกษารุ่นใหม่ยังเลือกเรียนเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เนื่องจากเชื่อว่าจะ ‘หางานง่าย’ ในขณะที่สาขาอย่างศิลปศาสตร์และมนุษยศาสตร์นั้นถูกมองข้ามและมีอัตราการสมัครลดลงฮวบฮาบ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับบุคคล ก็ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจของนิติบุคคลอย่างบริษัทด้วยเช่นกัน นอกจากการลงทุนในเครื่องจักรและโรงงานใหม่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ในส่วนค่าแรงก็มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอีกด้วย โดยเน้นการปรับเพิ่มโบนัสแทนการปรับฐานเงินเดือน สะท้อนภาวะระมัดระวังค่าใช้จ่ายของบริษัท เนื่องจากการให้โบนัสนั้น ‘ยืดหยุ่น’ มากกว่าการปรับเพิ่มฐานเงินเดือน

อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายอย่างระมัดระวังและรับความเสี่ยงได้ต่ำลงก็เปรียบดั่งเหรียญสองด้าน แม้ว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้าในภาวะเช่นนี้ แต่พฤติกรรมดังกล่าวก็รับรองได้ในระดับหนึ่งว่าวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดจากการ ‘เสี่ยงมากเกินไป’ จะไม่เกิดอีกในเวลาอันใกล้

ภาพใหญ่ของผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในระยะยาว

หากซูมถอยออกมาจากหน่วยย่อยในระดับพฤติกรรมบุคคล ภาพใหญ่ของผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในระยะยาวก็ไม่ใช่น้อย โดยความเชื่อดั้งเดิมที่ว่าสังคมอาจปรับตัวเข้าสู่ภาวะเดิมได้หลังวิกฤติเศรษฐกิจแล้วเดินต่อไปข้างหน้าเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้นนั้น อาจเป็นความเชื่อที่ผิด

ผลกระทบแรกของวิกฤติเศรษฐกิจก็คือการสูญเสียโอกาสทางการงาน ช่วงวิกฤติซับไพรม์ชาวอเมริกัน 1 ใน 6 สูญเสียงานประจำของตัวเองไป การหางานก็ทำได้ยาก โดยเฉพาะบัณฑิตที่จบใหม่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบตลอดเส้นทางอาชีพ โดยจะได้เงินเดือนน้อยกว่าและโอกาสก้าวหน้าในการงานต่ำกว่า

ผลกระทบต่อเนื่องที่อาจทิ้งมรดกไว้ในระยะยาวคือปัญหาด้านทุนมนุษย์ ในระหว่างวิกฤติเศรษฐกิจที่พ่อแม่อาจเผชิญกับความยุ่งยากทางการเงิน เด็กๆ ในครอบครัวอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการได้ นอกจากนี้ ปัญหาทางการเงินอาจทำให้เด็กๆ ต้องหยุดเรียนกลางคัน หรือล้มเลิกแผนที่จะศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

วิกฤติเศรษฐกิจยังส่งผลด้านการลงทุนวิจัยและพัฒนาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ระหว่างช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว ทุกภาคส่วนต่างระแวดระวังในการใช้จ่ายเงินและไม่ต้องการรับความเสี่ยง นอกจากนี้ พฤติกรรมหลีกเลี่ยงความเสี่ยงยังทำให้ธุรกิจเกิดใหม่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยากที่จะหาแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมจากยอดขายที่ลดลงเนื่องจากครัวเรือนก็จำเป็นต้องรัดเข็มขัด หากขาดสภาพคล่องก็จำต้องยื่นขอล้มละลาย แม้แต่ตลาดหลักทรัพย์เองก็เผชิญกับภาวะซบเซา โดยมีบริษัทใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นลดลงร่วมร้อยละ 90 หลังเกิดวิกฤติซับไพรม์ การชะลอตัวดังกล่าวก็ไม่ต่างจากการแช่แข็งพัฒนาการด้านเศรษฐกิจ และหยุดยั้งการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ

กราฟแสดงการเปรียบเทียบการเติบโตของเส้นผลผลิต จากความเชื่อเดิมที่ว่าหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ เส้นผลผลิตจะปรับตัวเข้าสู่ระดับเดิมและเติบโตไปบนเส้นทางเดิม แต่หลังจากมีการศึกษาประเด็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจ พบว่ามีการสูญเสียต่อผลผลิตโดยรวมในระยะยาวที่ไม่อาจฟื้นกลับมาได้ ภาพจาก IMF Blog

ผลกระทบเหล่านี้คือ ‘ราคาที่สังคมต้องจ่าย’ ในระยะยาวจากการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหนึ่งครั้ง ซึ่งไม่ได้เป็นผลกระทบระยะสั้น ใช้เวลาเยียวยาสักพักก็ฟื้นตัวกลับมาดีเหมือนเดิมอย่างที่นักวิชาการในอดีตเคยเข้าใจ การแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจจึงต้องเป็นไปอย่างรอบด้าน แต่หากเป็นไปได้ ทางเลือกในการป้องกันการเกิดวิกฤติดูจะน่าสนใจมากกว่า โดยการเพิ่มกลไกธรรมาภิบาล สร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และออกกฎหมายป้องกันพฤติกรรม ‘รับความเสี่ยง’ มากเกินสมควร

ก็เข้าใจว่าพูดง่ายกว่าทำ (มากๆ) แต่พิจารณาจากราคาที่ต้องจ่ายก็ดูไม่เสียหายที่จะลองพยายามนะครับ

 

 

เอกสารประกอบการเขียน

The Economic Scars of Crises and Recessions

THE INDICATOR – Less Risky Business & The Psychological Effects Of The Financial Crisis, Lingering

Economic scarring – The long-term impacts of the recession

The Recession’s Economic Trauma Has Left Enduring Scars

Understanding the Scarring Effect Of Recessions

Tags: