21 ปีนั้นนับเป็นเวลาไม่น้อยสำหรับช่วงชีวิตการทำงานที่ต้องปักหลักอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง แต่สำหรับนารี บุญสงค์ ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เธอใช้ชีวิตในเมืองสงขลามานานกว่านั้น ด้วยเธอเกิด เติบโต และทำงานในเมืองสงขลามาเกือบทั้งชีวิต ได้เห็นความเป็นไปในหลากมิติของผู้คนและชุมชนที่เธออยู่ เมื่อได้รับโอกาสให้รับผิดชอบโครงการที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของสตรีและเยาวชน รวมถึงศักยภาพของชุมชนในถิ่นเกิดที่ผูกพัน การทำงานในทุกวันของเธอจึงเปี่ยมไปด้วยความหมาย

“เราดึงประสบการณ์ส่วนตัวทั้งในความเป็นแม่ที่มีลูกสาว และการเคยอยู่ในชุมชนแออัด มาใช้ในการทำงานกับสตรีและเยาวชน แต่ละงานมีปัญหาให้เราต้องแก้ไม่เหมือนกันเลยสักครั้ง แต่ยิ่งแก้ปัญหา เราก็ยิ่งมีประสบการณ์” นารีกล่าวกับเราหลังเสร็จภารกิจจากการประชุมร่วมกับภาคีเครือข่ายที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง ภายใต้ภาพลักษณ์ของสตรีผมสั้น ผิวแทน ท่าทางทะมัดทะแมง ส่งสำเนียงใต้นิ่มนวลแบบคนสงขลา ชัดถ้อยชัดคำ ที่แทรกด้วยเสียงหัวเราะอยู่บ่อยครั้ง เราเห็นความเข้มแข็งและจริงจังเจืออยู่ในนั้น

เราติดตามเธอไปยังพื้นที่การทำงานในเมืองสงขลา เพื่อพูดคุยถึงชีวิต แนวทาง และวิธีการทำงานใน 21 ปีที่ผ่านมา ว่าการเข้าไปคลุกคลีและทำงานร่วมกับชุมชนตลอดช่วงชีวิตการทำงานของเธอนั้น ให้ผลลัพธ์กับชุมชนและสังคมอย่างไรบ้าง

ทำไมเด็กในสลัมจะได้ดีบ้างไม่ได้

“ในยี่สิบเอ็ดปีมานี้ ดิฉันมีโอกาสย้ายงานไปที่อื่นสองครั้ง คือไปประจำที่นครศรีธรรมราช กับที่กรุงเทพฯ ช่วงสั้นๆ แต่ระหว่างนั้นเราก็ยังคลุกคลีกับคนเมืองสงขลา เห็นการความเป็นไปของเมืองมาตลอดเพราะบ้านของเราอยู่ที่นี่”

นารีเล่าว่าเธอเกิดและเติบโตมาในชุมชนแออัด แวดล้อมไปด้วยสภาพที่เป็นปัญหา ทั้งยาเสพติด การตั้งครรภ์ก่อนวัย ความรุนแรงในครอบครัว ฯลฯ แต่ความคิดที่ว่า ‘ทำไมเด็กในสลัมจะได้ดีบ้างไม่ได้’ ทำให้ครอบครัวของเธอเห็นความสำคัญของการเรียนหนังสือ  นารีเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยตั้งแต่เรียน ปวส. ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสงขลา โดยทำงานในโครงการมิตรภาพสู่ท้องถิ่น ให้กับยูโนแคลไทยแลนด์ คราวที่ยังไม่ควบรวมกิจการกับเชฟรอนประเทศไทย และได้รับโอกาสให้บรรจุเป็นพนักงานของยูโนแคลไทยแลนด์ ต่อเนื่องมาจนถึงเชฟรอนประเทศไทย ดูแลงานด้านซีเอสอาร์มาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เวลาระหว่างนั้นศึกษาต่อจนจบปริญญาตรีไปด้วย

เชฟรอนประเทศไทย เป็นบริษัทผู้บุกเบิกการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย ด้วยมาตรฐานการทำงานระดับโลก  ซึ่งดำเนินงานในไทยมากว่า 58 ปีแล้ว โดยนารีประจำอยู่ที่ ‘ศูนย์เศรษฐพัฒน์’ ในจังหวัดสงขลา ศูนย์ฝึกอบรมช่างเทคนิคปิโตรเลียมแห่งแรกของประเทศ และกำลังจะครบรอบ 40 ปี ในปีนี้

 “นโยบายในการทำงานของบริษัทคือ เมื่อเรามาทำงานอยู่ในพื้นที่ของชุมชน เราทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชนบ้าง เมื่อเกิดการควบรวมกิจการ เชฟรอนก็สานต่องานของยูโนแคลเลย ตอนนั้นดิฉันอยู่ในตำแหน่งพนักงานบัญชี แต่ก็ทำงานเป็นผู้ประสานงานมาทุกโครงการ พอได้บรรจุ ตำแหน่งแรกในเชฟรอนคือเป็นผู้ประสานงานโครงการ แล้วได้เลื่อนขั้นมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกิจการสัมพันธ์

“ด้วยพื้นเพของเรา จะเห็นว่าเรามาถึงตรงนี้ได้ด้วยงานที่รับผิดชอบ ดิฉันเป็นตัวบ่งชี้เลยว่าที่นี่ไม่มีเรื่องเส้นสาย เราเป็นลูกภารโรง แม่เป็นแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว ตัวเองก็ทำงานมาตั้งแต่เด็กทุกอาชีพที่ทำได้ ตั้งแต่ปอกกุ้ง ทำโรงงานกุ้งแห้ง งานที่ยากที่สุดและเหนื่อยที่สุดคือเป็นคนงานก่อสร้างขณะเรียนปวช. ต้องทำงานเก็บเงินตอนปิดเทอม เพราะพ่อมีให้แค่ค่าเทอมที่เบิกได้ตามสิทธิข้าราชการ ดังนั้นเมื่อมีคนหยิบยื่นโอกาสให้ทำงาน เราก็ไม่ได้คิดอะไรเลยนอกจากเราจะมีเงินเรียนหนังสือ”

โอกาสที่ได้รับในครั้งนั้น ส่งต่อมาถึงวันที่เธอได้กลายเป็นผู้มอบโอกาสไปยังผู้อื่น ผ่านโครงการเพื่อสตรีและเยาวชน รวมถึงอีกหลากหลายโครงการมาอย่างต่อเนื่อง นารีเล่าว่าเธอชอบทำกิจกรรมตั้งแต่ยังเด็ก โปรดปรานการอยู่หน้าชั้นเรียน บุคลิกความเป็นผู้นำที่โดดเด่นตั้งแต่เยาว์วัยทำให้เธอได้รับหน้าที่เป็นประธานนักเรียนตั้งแต่ป.ห้าถึงป.หก และติดตัวเธอมาตั้งแต่วันนั้นจนถึงตอนนี้

“เรื่องนี้ดิฉันให้เครดิตพ่อกับแม่ซึ่งเป็นผู้นำทางความคิดมาโดยตลอด แม่จะสอนให้สู้คน อดทน สอนให้ปากกัดตีนถีบ และต้องไม่แพ้ใคร ส่วนพ่อจะสอนให้ประนีประนอม การไม่แพ้จะต้องไม่เบียดเบียนใคร พ่อจะไม่ชอบเลยถ้าพูดจาไม่ไพเราะ เพราะเราโตมาในสลัม ก็จะเต็มไปด้วยยาเสพติด เด็กเกเร เด็กท้องก่อนวัย เราก็มีความรู้สึกว่าทำไมเด็กสลัมจะได้ดีบ้างไม่ได้เหรอ เด็กสลัมไม่จำเป็นต้องท้องหรือติดยาก็ได้นะ เมื่อได้มาทำงานก็มีพี่ๆ คอยสอน เราได้เรียนรู้จากคนรอบข้างเราด้วย และการเป็นเด็กทะโมนมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เรามีทักษะชีวิต ซึ่งมันเป็นประโยชน์ต่อการทำงานกับชุมชนของเรามาก

จะทำงานพัฒนาที่ไหนก็ตาม ข้างบ้านต้องดีก่อน

“คนมักชมว่าเรามีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่เรามองว่าถ้าเราอยากให้ใครเขาพูดดีกับเรา เราต้องดีกับเขาก่อน เวลาลงพื้นที่ เรามองคนในชุมชนว่าเป็นคนที่จะช่วยให้งานเราสำเร็จ การที่เขาจะรู้สึกดีกับองค์กรก็อยู่ที่เราด้วยว่าเราเสมอต้นเสมอปลายกับเขาหรือเปล่า” เธอเล่าถึงเทคนิคในการเข้าถึงชุมชนที่ต้องอาศัยความจริงใจเป็นหลัก โดยวางเป้าไว้ที่ความปรารถนาดีที่จะทำให้สังคมของชุมชนนั้นดีขึ้น

นอกจากทักษะเฉพาะตัวในการทำงานร่วมกับชุมชนแล้ว นารีเล่าว่าเธอปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสำเร็จเหล่านั้นจะมีความสนับสนุนขององค์กรอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเธอได้สะท้อนถึงสังคมและวัฒนธรรมองค์กรของเชฟรอนให้ฟังว่า

“ที่เชฟรอนเราไม่มีเรื่องเพศ ผู้หญิง ผู้ชาย ไม่ชาย ไม่หญิง เราอยู่กันได้ และอยู่กันอย่างเท่าเทียม เวลาทำงานเรารับฟังกันทั้งหมด อาจจะมีถกเถียงกันในที่ประชุม แต่งานเสร็จเราเป็นพี่เป็นน้อง ให้เกียรติกัน เราเคารพในหน้าที่ เคารพในความเชี่ยวชาญ ความสามารถ และประสบการณ์ของแต่ละคน ดิฉันอยู่ที่นี่มายี่สิบปี ไม่เคยถูกใครกลั่นแกล้ง ไม่เคยถูกใครมาตั้งข้อสงสัยว่านารีขึ้นมาเป็นหัวหน้างานได้ยังไง เด็กกว่าก็กล้าที่จะตำหนิและให้ข้อเสนอแนะเราได้ ทุกคนถูกปลูกฝังมาแบบนี้ หนึ่งคือต้องเคารพซึ่งกันและกัน และสองคือทุกความคิดเห็นมีค่า ห้ามฆ่าทิ้งบนโต๊ะ ระดมกันไป เอาความคิดออกมาก่อนแล้วค่อยมาเลือก เราจึงได้มุมมองที่แตกต่างบ่อยมาก”

ด้วยสายงานที่รับผิดชอบ ทำให้นารีได้คลุกคลีอยู่กับชาวสงขลาในเกือบจะทุกมิติ รู้จักและเข้าใจความต้องการของเมืองอย่างปรุโปร่ง จนนำมาสู่หลายต่อหลายโครงการเพื่อสังคมในจังหวัดสงขลารวมถึงจังหวัดอื่นในภาคใต้

“ดิฉันถนัดเรื่องทำค่ายกับเยาวชน ทั้งกับลูกหลานพนักงานและคนข้างนอก โดยใช้ค่ายเหล่านี้เป็นตัวเชื่อมโยงระหว่างองค์กรกับคนในสงขลา การเปิดให้เด็กได้เข้ามาเยี่ยมชมสถานประกอบการของเชฟรอน เป็นอีกนัยที่เราอยากให้เด็กๆ รู้ว่ามีธุรกิจนี้อยู่ในจังหวัดของตัวเองนะ”

นโยบายของเชฟรอนคือการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาชุมชนและสังคมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อนี้เป็นเป้าหมายหลักในการทำงาน นารีขยายความตรงนี้ให้ฟังว่า “ไม่ว่าเราจะทำงานพัฒนาที่ไหนก็ตาม ข้างบ้านต้องดีก่อน เราไม่สามารถอยู่แค่ในพื้นที่ของเชฟรอนได้ เราต้องดูแลชุมชนรอบข้างด้วย

“ในสงขลาเรามีสถานประกอบการอยู่หกแห่งในอำเภอเมืองและอำเภอสิงหนคร สิ่งที่เราต้องทำคือสำรวจและประเมินศักยภาพของชุมชนที่เรามีสถานประกอบการอยู่ แล้วเราก็ลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชน งานระดับแรกคือชุมชนที่อยู่รอบข้างสถานประกอบการของเรา ถัดมาก็เป็นงานในภาพรวมของจังหวัด โดยเราก็ต้องมีการคัดกรองด้วยว่างานไหนที่สอดคล้องกับนโยบายขององค์กร ซึ่งมีหลักในการปฏิบัติงานอยู่สี่ข้อคือ เรื่องการศึกษา การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ไม่ว่าอาชีพ การศึกษา สุขภาพ และสี่คือการมีส่วนร่วมของพนักงานในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม”

หากเปรียบเทียบการประกอบธุรกิจขององค์กร ที่วัดความสำเร็จของผลประกอบการเป็นรายได้แล้ว งานซีเอสอาร์ซึ่งเป็นสายงานที่ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ขององค์กรในการตอบแทนสังคมและชุมชนแล้ว จะวัดความสำเร็จของงานกันที่ตรงไหน นารีคลายข้อสงสัยนี้ว่า “ถ้าถามดิฉันนะ เมื่อไรก็ตามที่เราสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้ นั่นถือว่าเราได้รับการยอมรับ เราบรรลุเป้าหมายนั้นแล้ว เพราะว่าเราทำงานในธุรกิจนี้ จะมีคำถาม มีความไม่ไว้วางใจ  ดังนั้นการทำซีเอสอาร์เราจะต้องระมัดระวัง งานไหนที่เหมาะ งานไหนไม่เหมาะ เราจะใช้ประสบการณ์ประเมิน เราวัดจากประโยชน์ที่เกิดกับคนในชุมชน”

พัฒนาเยาวชนด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน

“เวลาเห็นเด็กสักคน เราจะรู้เลยว่าเด็กคนนั้นโตมาด้วยสิ่งแวดล้อมแบบไหน เพราะเราไม่ได้โตมาจากสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างเดียว ที่ไม่ดีเราก็เห็น ทุกวันนี้แม้ดิฉันจะสามารถออกไปสร้างบ้านอยู่ที่อื่นได้ แต่เราก็ยังเลือกที่จะสร้างบ้านอยู่ในสลัมที่เราเคยอยู่ เพราะเราอยากให้เด็กในชุมชนได้เห็นว่าเรากำหนดชีวิตตัวเองได้ เราเลือกชีวิตตัวเองได้ถ้าเราตั้งใจ  ตอนนี้ก็มีประจักษ์พยานให้เห็นสองสามคนแล้วจากที่เราบอกเขาว่า เรียนหนังสือนะลูก ตั้งใจเรียนหนังสือนะ เขาเติบโตมาได้ทำงานบรรจุเป็นข้าราชการ”

บทสนทนาที่นารีเล่าให้เราฟังในตอนหนึ่ง ทำให้พอเชื่อมโยงได้ว่าเหตุใดเธอจึงให้ความสนใจงานด้านเยาวชน ประจวบกับที่เชฟรอนในต่างประเทศได้ให้การสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิแพธทูเฮลธ์ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคม ที่ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทางเพศอยู่แล้ว เมื่อมีนโยบายมาถึงเชฟรอนประเทศไทยให้สนับสนุนการทำงานมูลนิธินี้ด้วย จึงเป็นที่มาให้เกิดโครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชนในจังหวัดสงขลาขึ้น

“เมื่อก่อนเราจะจัดงานจิบน้ำชากับชุมชนรอบๆ สถานประกอบการพร้อมกับสวัสดีปีใหม่ การได้พบปะกันทำให้ได้ข้อมูลจากชุมชนเขารูปช้างมา ในรายงานบอกว่าในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเขารูปช้าง มีนักศึกษาที่ตั้งครรภ์อยู่ในหอพักและผลัดกันเลี้ยงลูกจำนวนมาก และมีมากขึ้น ได้ข้อมูลอย่างนี้อยู่สองปีซ้อน พอทางสำนักงานใหญ่มีนโยบายมาว่าให้สนับสนุนการทำงานของแพธทูเฮลธ์ด้วย เราก็มีชุมชนเขารูปช้างเป็นตัวจุดประกาย

“พอเข้าไปดูในพื้นที่ที่เราดูแลอยู่ เราก็ได้พบว่าอำเภอสิงหนครมีตัวเลขเด็กท้องก่อนวัยอันควรสูงที่สุดในจังหวัดสงขลา เช็กไปอีกสองที่ก็เจออีก เลยเข้าไปคุยกับนายกเทศบาลนครสงขลา นายกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง นายกเทศบาลเมืองสิงหนคร นายกเทศบาลตำบลพะวง ที่เรามีสถานประกอบการตั้งอยู่ ว่าเรามีศักยภาพ มีหน่วยงานที่สนใจมาร่วมกันช่วยแก้ปัญหาชุมชน  ท่านสนใจไหม เมื่อท่านบอกสนใจ เราก็ให้แพธฯเข้ามาคุยกับทั้งสี่พื้นที่ แพธฯก็จะมีแนวทางการทำงานมาให้เราดู ซึ่งเราเคยลงพื้นที่นี้แล้วก็จะบอกเขาได้ว่าอันนี้เหมาะ อันนี้ไม่เหมาะ”

การแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัย หากไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นทาง ย่อมเกิดปัญหาปลายทางตามมาอีกนับไม่ถ้วน เพื่อจัดการกับปัญหานี้ เธอจึงมองหาแนวร่วมเพื่อหาทางออกให้กับทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว และป้องกันที่ต้นตอไม่ให้เกิดปัญหาใหม่

“เราทำกิจกรรมหลายอย่างมาก เช่น ถ้ามองว่าจะทำเรื่องเด็กตั้งครรภ์ก่อนวัย เราควรทำงานกับใคร ถามว่าเราจะทำงานกับแค่เด็กอย่างเดียวไหม ก็ไม่ใช่ แต่เด็กเป็นตัวเคลื่อนให้เราได้ไปเจอว่าเราต้องทำงานกับใคร ก็คือผู้ปกครอง ครูในโรงเรียน คนที่ทำงานสาธารณสุขก็ต้องรู้บทบาทตัวเองด้วย ฉะนั้นเราจึงเป็นเหมือนโปรโมเตอร์ที่จับให้หลายคนมาระดมความคิดและทำงานกัน โดยเราเริ่มจากการลงไปคุยกับคนในพื้นที่ หนุนให้แต่ละหน่วยเกิดความร่วมมือกัน ส่วนแพธฯก็สนับสนุนด้านวิชาการ จัดกิจกรรมอบรม”

โครงการส่งเสริมสุขภาวะเยาวชน เน้นการส่งเสริมให้พ่อแม่เกิดความเข้าใจเรื่องเพศวิถี วิถีชีวิตวัยรุ่น และมีทักษะในการสื่อสารทางบวกที่เริ่มตั้งแต่ในบ้าน และมุ่งไปที่การพัฒนาศักยภาพของภาคี เช่น บุคลากรด้านสาธารณสุข ครู เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาครอบครัว ผู้ดูแลเด็ก องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาชนอื่นๆ เพื่อพัฒนาวัยรุ่นในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัยและรับผิดชอบ ลดปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่น และผลกระทบจากการใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่นอื่นๆ เช่น ยาเสพติด ความรุนแรง และมีการพัฒนาทีมสหวิชาชีพเพื่อช่วยเหลือเยาวชนที่เผชิญปัญหาเป็นรายกรณี

โดยในปัจจุบันโครงการนี้ ได้ขยายพื้นที่ดำเนินงานเป็น 8 พื้นที่ คือ 4 เทศบาลเดิม และ 4 พื้นที่ใหม่ในเทศบาลตำบลเกาะแต้ว อบต.ทุ่งหวัง อบต.เกาะยอ และอบต.ชิงโค และกำลังมุ่งขับเคลื่อนภารกิจสู่ระดับภูมิภาคให้พี่น้องใน 14 จังหวัดภาคใต้ได้นำไปใช้เป็นต้นแบบในพื้นที่ตน

ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ดำเนินโครงการมา มีผลลัพธ์แห่งความร่วมมือ อาทิ ภาคีเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการกว่า 629 คน จากกว่า 50 หน่วยงาน มีพ่อแม่ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมเปิดห้องเรียนพ่อแม่ 5,138 คน มีแกนนำเยาวชน 277 คนที่ได้รับการพัฒนาให้จัดกิจกรรมเพศวิถี ซึ่งสามารถนำไปจัดกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ต่อได้อีก 5,735 คน มีวัยรุ่นและครอบครัวที่เผชิญปัญหาได้รับการช่วยเหลือ 215 คน

เสริมศักยภาพทางอาชีพ เพิ่มความเข้มแข็งของกลุ่มสตรีชายแดนใต้

“ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คุณจะไม่รู้หรอกว่ามีกลุ่มคนที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาชีวิตของตัวเองและครอบครัวอีกมากได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสม” นารีบอกกับเราถึงเหตุผลในการที่เชฟรอนเข้าไปสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทย ซึ่งทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมศักยภาพในการประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจ ให้กับกลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโครงการเชฟรอน ทุนเพื่อชีวิต เป็นโครงการที่เกิดขึ้นนอกพื้นที่สถานประกอบการที่เชฟรอนประเทศไทยเข้าไปสนับสนุน ด้วยเห็นศักยภาพการทำงานของมูลนิธิรักษ์ไทย และเกิดประโยชน์กับพี่น้องในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จริงๆ

“เราไม่เคยมีโครงการประเภทนี้มาก่อนเพราะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่อยู่ในพื้นที่เขตปฏิบัติการของบริษัท แต่เมื่อได้รับมอบหมายจากสำนักงานใหญ่ของเชฟรอนให้เราดูแล ดิฉันซึ่งเป็นสะใภ้นราธิวาสอยู่แล้ว จึงยินดีกับงานนี้เป็นอย่างยิ่ง”

ในระยะแรกนั้น เชฟรอนสนับสนุนเงินทุนให้กับมูลนิธิรักษ์ไทย เพื่ออบรมแผนธุรกิจขนาดเล็กและการตลาด การบริหารจัดการธุรกิจ การทำบัญชีการเงิน การทำรายงานประจำเดือน และสร้างช่องทางกระจายสินค้า รวมถึงจัดกิจกรรมศึกษาดูงานกลุ่มอาชีพในจังหวัดนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนรู้ตัวอย่างความสำเร็จ และเชื่อมโยงเครือข่ายด้านอาชีพที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการและการตลาดแก่กันได้ต่อไปในอนาคต หลังจบการอบรมก็ได้สนับสนุนต่อเนื่องในระยะที่สอง ด้วยการมอบอุปกรณ์เพื่อประกอบอาชีพ ให้ชาวบ้านได้นำไปใช้ในหมุนเวียนกันระหว่างกลุ่มหรือฝึกอบรมต่อ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้า และเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มอาชีพสตรีในชุมชน

“ผลกระทบที่มีต่อผู้หญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่มีเฉพาะการสูญเสียคนในครอบครัว แต่มีเรื่องเศรษฐกิจด้วย เพราะพอเมืองถูกปิด คนก็ไม่มา เขาทำอาชีพไม่ได้ ทำของขายก็ไม่รู้จะขายที่ไหน การเข้าไปของมูลนิธิรักษ์ไทย ทำให้เกิดช่องทางกระจายสินค้าของคนในชุมชนออกไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นคือคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น จากที่ต้องตื่นมานวดแป้งทำขนมตอนตีสอง เขาสามารถตื่นตีห้าครึ่งได้เพราะมีเครื่องนวดแป้งมาแทนการนวดมือ หรืออย่างกลุ่มเย็บผ้าเขาพูดขอบคุณผ่านสามีมาถึงดิฉันด้วยภาษามลายูว่า เมื่อก่อนไม่เคยมีคนสนใจเขา เขาขอบคุณมากที่เราเอาจักรหกตัวมาให้ ทำให้กลุ่มสตรีที่มาเรียนศาสนากับเขาได้พากันเย็บผ้าคลุมผมไว้ขาย ได้เป็นรายได้ไว้ใช้ในครัวเรือน แม้งบประมาณสำหรับโครงการนี้อาจจะไม่ได้มากนัก แต่มันได้เข้าไปต่อชีวิตคนที่นั่น”

จับมือกับชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง

นอกจากโครงการพัฒนาที่มุ่งไปที่คุณภาพชีวิตของสตรีและเยาวชนแล้ว การพัฒนาชุมชนก็เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายในการทำงานของเธอด้วย นารีสะท้อนให้เห็นภาพของเมืองสงขลาในปัจจุบันว่า จากที่เคยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการทำประมงเป็นหลัก ตอนนี้การท่องเที่ยวก็กำลังเติบโตขึ้นมาเป็นจุดแข็งของเมืองสงขลา ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้โครงการศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี ได้เกิดขึ้น โดยทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย พร้อมด้วยภาคีคนรักเมืองสงขลา ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อผลักดันเมืองสงขลาเข้าสู่การเป็นมรดกโลก

“เรามองว่าถ้ามีคนเข้ามาท่องเที่ยวย่านเมืองเก่า คุณภาพชีวิตของคนบ้านเราน่าจะดีขึ้นในเรื่องการค้าขาย เมื่อก่อนคนย่านนี้จะปิดบ้านกันหมด จนห้าปีหลังเราเห็นเมืองเปลี่ยนอย่างชัดเจน มีเด็กวัยรุ่นแต่งตัวชิคๆ มาถ่ายรูปกันตรงนั้นตรงนี้ เรามองว่าเมื่อมีคนเข้ามาในเมือง เศรษฐกิจจะเกิดการขับเคลื่อน ร้านอาหารมีรายได้ แล้วก็จะมีกำลังไปซื้อของในตลาด มีกำลังจ้างเด็กเสิร์ฟ จ้างแม่ครัว คนขับรถรับจ้างก็ได้เงิน มันเป็นห่วงโซ่ แต่ถ้าเมืองเงียบ ชาวบ้านจะเอาเงินที่ไหนมาหมุนเวียน”

ด้วยการทำงานร่วมกันกับพันธมิตร ภาพของย่านเมืองเก่าทุกวันนี้จึงเปลี่ยนไปจากสิบปีที่แล้ว ทั้งการมาเยือนของนักท่องเที่ยวที่นิยมเสพวัฒนธรรมที่มีความเป็นอัตลักษณ์ และการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจที่ไม่ซบเซาเช่นในอดีต และนอกจากเสน่ห์ย่านเมืองเก่าจะถูกฟื้นให้คืนกลับมาแล้ว การเข้าเป็นผู้สนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์ที่สำคัญของภาคใต้ ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่นารีให้ความสนใจตั้งแต่หอดูดาวยังไม่แล้วเสร็จ เธอเขียนโครงการเสนอต่อเชฟรอนเพื่อขอสนับสนุนการดำเนินงาน ทั้งนิทรรศการดาราศาสตร์ภายในอาคาร นิทรรศการดาราศาสตร์ภายนอกอาคาร กิจกรรมดาราศาสตร์ กิจกรรมค่ายเยาวชนคนดูดาวเท้าติดทะเล

“มีสองคำที่ทำให้เราอยากมีส่วนร่วมในโครงการนี้คือ หนึ่ง เป็นหอดูดาวซึ่งเป็นพระราชดำริของกรมสมเด็จพระเทพฯ ท่านบอกว่าหากในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านไม่เป็นกษัตริย์ ก็จะเป็นนักดาราศาสตร์ พระองค์ท่านเลยทำสิ่งนี้แทนพ่อ มันกินใจเรา เหตุผลที่สองคือ ที่นี่เป็นหอดูดาวแห่งเดียวในภาคใต้ จะเป็นหน่วยงานวิชาการที่ให้ความรู้เด็กในเรื่องดาราศาสตร์อย่างสนุกสนาน เพื่อที่เด็กจะได้เลือกเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น เพราะการเรียนดาราศาสตร์สามารถต่อยอดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในสาขาอื่นที่หลากหลาย”

ปัจจุบันหอดูดาวฯ เปิดให้บริการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว และทุกๆ วันจะมีเด็กๆ เยาวชน และผู้สนใจใน 14 จังหวัดภาคใต้เดินทางมาเยี่ยมชมไม่ขาดสาย ที่นอกจากจะทำให้การเรียนรู้เรื่องดาราศาสตร์เป็นไปอย่างสนุกนาน ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์อิสลามแห่งแรกของไทย สนับสนุนภารกิจสำนักจุฬาราชมนตรี

ตลอดช่วงเวลาที่ได้เห็นการทำงานของสุภาพสตรีท่านนี้  ไม่ว่าจะบนโต๊ะประชุมที่บ่งบอกถึงความเปิดกว้างทางความคิดและเป็นกันเองกับเครือข่ายสตรีในชุมชน และภาคีที่ร่วมกันพัฒนาเมืองสงขลา หรือท่ามกลางความชุลมุนของเด็กๆ ที่มาเยี่ยมชมหอดูดาวและนิทรรศการดาราศาสตร์ภายในอาคาร นารีจะมีรอยยิ้มชื่นใจบนใบหน้าอยู่เสมอและกระตือรือร้นกับทุกสิ่งตรงหน้าราวกับไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ภาพนี้ตอกย้ำไปถึงตอนหนึ่งที่เธอเล่าให้ฟังถึงการได้มีโอกาสรับผิดชอบงานที่มีส่วนช่วยดูแลสังคมนี้อย่างภาคภูมิใจว่า

“หัวหน้างานเคยบอกกับดิฉันว่า เธอจะหางานไหนที่เราได้ทำงานแล้วได้ประโยชน์กับคนอื่น ไม่มีอีกแล้ว ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ”

Tags: , , , ,