‘The Art and Influence of Myanmar’s Film Heritage’ คือชื่อนิทรรศการศิลปะ ที่ตั้งอยู่ภายในอาคาร House of Secretariat ในนครย่างกุ้ง ประเทศพม่า อาคารที่เลื่องชื่อทางด้านสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียลจากยุคอาณานิคม และประวัติศาสตร์การเมืองพม่า เพราะที่แห่งนี้เป็นทั้งอดีตที่ทำงานของจักรวรรดิอังกฤษในพม่า และเป็นที่ๆ บิดาแห่งเอกราชพม่า นายพลอองซาน ถูกสังหารเมื่อปี 1947 กลายเป็นโศกนาฏกรรมที่ถูกจารึกบนประวัติศาสตร์การเมืองพม่าจนถึงทุกวันนี้
House of Secretariat จึงเป็นเหมือนสมุดบันทึกเรื่องศิลปะ สถาปัตยกรรม รวมถึงประวัติศาสตร์การเมืองของพม่า และการจัดงานนิทรรศการศิลปะในสถานที่แห่งนี้ ก็อาจกำลังเป็นสัญญาณว่า ประเทศเพื่อนบ้านของเราพร้อมที่จะขับเคลื่อนไปข้างหน้า ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือศิลปะร่วมสมัย
จุดมุ่งหมายของนิทรรศการนี้คือ การสร้างแรงบันดาลใจทางด้านศิลปะให้กับศิลปินและชาวพม่ารุ่นใหม่ ขึ้นจัดโดยกลุ่มศิลปินผู้ทำงานศิลปะร่วมสมัยอย่าง ‘Pyinsa Rasa’ องค์กร ‘Save Myanmar Film’ (SMF) รวมถึงองค์กรอีกมากมายที่ร่วมสนับสนุนและรังสรรค์สถานที่แห่งนี้ให้กลายเป็นอาร์ตสเปซเจ๋งๆ ในนครย่างกุ้ง
ภายในนิทรรศการแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นเหมือนห้องฉายภาพยนตร์ขนาดเล็ก โดยเราได้รับชมสารคดีขนาดสั้นสองเรื่อง คือ ‘Love in Cinema’ และ ‘Behind the Screen’ ขณะที่ส่วนที่สอง ซึ่งเป็นส่วนหลักของงานนี้ มีการจัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยหลากหลายแขนง ทั้งภาพยนตร์ เพลง ประติมากรรม และภาพวาด
โดยระหว่างชมงาน เราได้มีโอกาสพบกับ Thaiddhi หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Pyinsa Rasa ที่มาเป็นไกด์อาสาพาเที่ยวงานนิทรรศการ และชวนเราพูดคุยเรื่องแนวคิดของการจัดงาน วงการภาพยนตร์ และศิลปะร่วมสมัยของพม่า ซึ่งทั้งหมดที่เขาบอกเล่านั้นน่าสนใจมากทีเดียว
ชุบชีวิตหนังฟิล์มพม่า
ภายในส่วนที่สองของนิทรรศการ ที่แรกที่เราได้เดินชมคือ ประวัติศาสตร์และเรื่องราวของภาพยนตร์พม่าตั้งแต่ช่วงปี 1950-1980 ซึ่งเป็นยุคที่บางคนขนานนามว่าเป็นยุคทองของวงการภาพยนตร์พม่า โดย Thaiddhi พาเราไปรู้จักกับหนังพม่าคลาสสิก 3 เรื่องด้วยกัน ได้แก่ ‘Yadanarbon’ (1953), ‘Tender are the Feet’ (1971) และ ‘Thingyan Moe’ (1985)
สำหรับ Tender are the Feet หรือ Che Phawa Daw Nu Nu เป็นหนังฟิล์มที่ได้รับการบูรณะกลับมาในปี 2013 และถูกนำไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลิน ครั้งที่ 64 เมื่อปี 2014 และ Thingyan Moe ภาพยนตร์เพลงโดยผู้กำกับจากเมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งได้รับความนิยมและถูกพูดถึงจวบจนปัจจุบัน ส่วนอีกเรื่องหนึ่งนั้น พิเศษหน่อย
Yadanarbon กำกับโดย U Tin Maung ภายใต้สตูดิโอชื่อดังของพม่าอย่าง A1 หนังเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัล Burmese Academy Award ในปี 1953 สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม แต่กว่าที่เราจะได้รับชมหนังเรื่องนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่มีตัวฟิล์มต้นฉบับหลงเหลืออยู่อีกแล้ว แต่ด้วยความพยายาม คณะผู้จัดงานก็สามารถบูรณะฟิล์มหนังเรื่องนี้กลับมาฉายได้อีกครั้งในนิทรรศการนี้
Thaiddhi เล่าว่า เขาเจอดิจิตอลก็อปปี้ของหนังเรื่องนี้ในหอภาพยนตร์สาธารณรัฐเช็ก ระหว่างที่เขาไปเรียนที่นั่น ส่วนเหตุผลที่ดิจิตอลก็อปปี้ไปโผล่ถึงที่โน่น ก็เพราะมันถูกนำไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Karlovy Vary ในปี 1957 แต่ผ่านมาถึงตอนนี้ ไฟล์นั้นก็มีสภาพที่ไม่สมบูรณ์นัก ขณะที่หลังจากนั้น Thaiddhi เองก็เจอดิจิตอลก็อปปี้อีกชิ้นหนึ่งในพม่า ซึ่งอยู่สภาพไม่สมบูรณ์เช่นกัน ทำให้ต้องเอาทั้งสองเวอร์ชันมาประกอบกัน เพื่อชุบชีวิตภาพยนตร์ที่เราไม่น่าจะมีโอกาสได้รับชมในปัจจุบัน กลับมาอีกครั้ง
นอกจากได้ชมหนังพม่าคลาสสิกแล้ว นิทรรศการยังมีการนำอุปกรณ์ถ่ายหนังจากยุคนั้นมาให้เราได้ชมกันด้วย ที่ดูขลังที่สุดก็คือ เครื่องฉายฟิล์ม และอุปกรณ์ที่สตูดิโอ A1 ให้ยืมมาจัดแสดง ภายในตัวงานยังมีการเอาฟิล์มภาพยนตร์มาปรินต์ขยายใหญ่ แขวนห้อยลงมากลางพื้นที่ให้คนได้ชมรายละเอียดของแต่ละเฟรมกันเพลินๆ โดยฟิล์มที่ว่านี้มีที่มาจากฟิล์มหนังจริงๆ เช่นจากเรื่อง ‘Wearing Velvet Slippers under a Golden Umbrella’ ภาพยนตร์เรื่องแรกของ Maung Wunna ผู้กำกับชื่อดังของพม่า ซึ่งฟิล์มนั้นเป็นชิ้นที่ไม่สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน และทีมงานก็ตั้งใจนำมาแปลงเป็นงานศิลปะเพื่อกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการเก็บรักษาผลงานศิลปะและภาพยนตร์ในอดีตเอาไว้
Thaddhi ยังเล่าว่า ด้วยความที่รัฐบาลไม่ได้กระตือรือร้นที่จะเก็บรักษาฟิล์มหนังขาว-ดำ เท่าใดนัก ทำให้ฟิลม์หนังหลายร้อยเรื่องผุพังเสียหายไปเกือบหมด และอาจจะเหลือเพียงประมาณ 12 เรื่องเท่านั้นที่ยังสมบูรณ์
เรายังเห็นการนำเอาหน้าปกแมกกาซีนภาพยนตร์มาออกแบบเป็นวอลล์เปเปอร์ติดกำแพงเป็นลวดลายสวยงาม ในภาพเหล่านั้นเราจึงเห็นว่าคล้ายจะมีอิทธิพลหนังคาวบอยในหนังพม่าอยู่ไม่น้อยทีเดียว
การจำกัดการแสดงออกทางศิลปะพม่าหลังได้รับเอกราช
นิทรรศการส่วนต่อมานำเสนอประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือเรื่องราวของวงการเพลงและศิลปะร่วมสมัยของพม่าในช่วงปี 1970-1980 ควบคู่กับเกร็ดประวัติศาสตร์เรื่องมาตรการควบคุมสื่อและเสรีภาพทางการแสดงออกทางศิลปะของรัฐบาลพม่าตั้งแต่รัฐบาล อู นุ จนถึงรัฐบาลของนายพลเน วิน
โดยในยุคนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดว่าวัฒนธรรมแบบไหนควรได้รับการยอมรับหรือไม่ งานศิลปะที่จะอยู่ได้ต้องตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของรัฐเท่านั้น หากศิลปินจะแสดงผลงานหรือจัดนิทรรศการศิลปะแต่ละครั้งต้องได้รับอนุญาตจากทางการ แม้แต่เนื้อเพลงหรือเนื้อหาภาพยนตร์ ก็ต้องถูกตรวจสอบโดยรัฐก่อนเผยแพร่สู่สาธารณชน หากพบฉากหรือเนื้อร้องที่ไม่เหมาะสม หรือกระทั่งเป็นตะวันตกเกินไป จะต้องถูกตัดออกทั้งสิ้น
ในนิทรรศการจึงมีมุมเล็กๆ ที่ผู้เข้าชมสามารถฟังเพลงพม่าในยุค 70s-80s ที่รับเอาแนวดนตรีตะวันตกเข้ามาประยุกต์ผสมผสานกับแนวคิดแบบวัฒนธรรมพม่าดั้งเดิม ในการแต่งเนื้อร้อง และภาษาที่ใช้ ซึ่งเพลงเหล่านี้ แน่นอนว่าถูกต่อต้านโดยรัฐบาลพม่า โดยมีเรื่องเล่าว่าเจ้าหน้าที่จากทางการเคยยึดกีตาร์จากวัยรุ่นที่กำลังเล่นกีตาร์อยู่ข้างถนน หรือใครที่ไว้ผมยาวสไตล์ร็อกเกอร์ ก็อาจจะถูกจับตัดผม
วัฒนธรรมดนตรีพม่ายุคนั้นเองดำเนินไปแบบใต้ดิน เพราะประเทศพม่ามีสถานีวิทยุแห่งชาติดูแลโดยรัฐบาล ที่ออกอากาศเพียงแห่งเดียวในประเทศ นักดนตรีคนไหนที่อยากแสดงออกอากาศทางวิทยุ ก็ต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐบาลก่อน กลุ่มศิลปินที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว จึงต้องร่วมกันสร้างช่องทางเฉพาะกลุ่มให้กับศิลปินนักดนตรี ได้มีพื้นที่แสดงและสร้างสรรค์ผลงานเพลงใหม่ๆ
และแม้จะตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางเสรีภาพ ศิลปินพม่าก็ยังกระตือรือร้นที่จะผลิตผลงานศิลปะอยู่ตลอด พวกเขาใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางเพื่อสังคม วิจารณ์การปกครองที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนสนับสนุนขบวนการนักศึกษาที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงในพม่าในช่วงปี 1980 ด้วย
ส่งต่อให้ศิลปินรุ่นใหม่ในพม่า
ทางด้านศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงปี 1950-1980 ก็เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของนิทรรศการนี้ โดยไม่ใช่เพียงแค่เอาของเก่ามาวางโชว์ แต่มีการออกแบบการจัดวางให้ดูแปลกใหม่ เชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาชมงาน ซึ่ง Thaiddhi ใช้คำว่า ‘old things with the new eyes’ ซึ่งสิ่งที่พวกเขานำเสนอ ก็ทำให้เราเห็นบทบาท ตัวตน และอัตลักษณ์ของศิลปะพม่าหลังยุคอาณานิคมได้เป็นอย่างดี รวมถึงเชิญชวนให้ผู้คนได้สำรวจและทบทวนถึงบทบาทของศิลปินที่มีต่อต่อสังคม ให้เกียรติและความเคารพต่อศิลปินพม่าผู้พัฒนาวงการศิลปะในช่วงที่ผ่านมาด้วย
Thaiddhi อธิบายเพิ่มเติมว่า เขาอยากให้งานนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินพม่ารุ่นใหม่ หรือ เหมือนเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจจากรุ่นก่อนให้ศิลปินรุ่นใหม่ในทุกวันนี้
และข้อความที่หวังให้เป็นเหมือน ‘แรงบันดาลใจ’ ให้กับศิลปินรุ่นใหม่นั้น อาจเป็นความกล้าหาญ ที่จะไม่หยุดทำงานศิลปะ แม้ต้องเผชิญกับอุปสรรคโดยเฉพาะจากรัฐ สำคัญที่สุดคือ บทบาทของศิลปินที่ยังต้องคำนึงถึงคุณค่าทางสังคมควบคู่ไปด้วย เช่นเดียวกับสิ่งที่ศิลปินรุ่นเก่าทำในยุค Silent Era ของพวกเขา
สำหรับตัว Thaiddhi เอง เขาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์สารคดี โดยเริ่มลงมือกำกับสารคดีครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2005 ในช่วงรัฐบาลทหาร ที่เขาเริ่มทำสารคดีเพราะมันสามารถสื่อสารข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในสมัยรัฐบาลทหาร (สมัยนั้นการทำสารคดีก็ยังเป็นเรื่องต้องห้ามจากทางการ เพราะรัฐบาลไม่อยากให้มีการพูดถึงความเป็นจริง หรือปัญหาในสังคมเท่าใดนัก)
นอกจากงานสารคดีแล้ว Thaiddhi ยังทำเวิร์กช็อปเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ และเทศกาลภาพยนตร์ชื่อว่า ‘Wathann Film Festival’ ซึ่งเขาทำมาตั้งแต่ปี 2011 Thaiddhi มองว่า Wathann Film Festival ก็เป็นเหมือนสถานที่ที่ทำให้ผู้กำกับ ผู้รังสรรค์งานศิลปะ ได้มาพบปะ วิจารณ์ และแบ่งปันความรู้ร่วมกัน สุดท้าย Art Space หรืองานเทศกาลภาพยนตร์เหล่านี้ ก็จะผลักดันและพัฒนาวงการศิลปะให้ก้าวไปข้างหน้าได้ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้คนพม่ารุ่นใหม่หันมาสนใจภาพยนตร์กันมากขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ตอนนี้จะเหมือนกับประโยคที่ว่า ‘ไม่ตาย แต่ก็เหมือนไม่มีชีวิต’ (not dead but not alive yet) ตอนนี้ในพม่ามีกฎหมายเซ็นเซอร์สื่อจากปี 1996 ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่แน่นอนว่าในอนาคต Thaiddhi เชื่อว่ามันจะต้องดีขึ้นแน่ๆ และสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ พลังความมุ่งมั่นของผู้กำกับและศิลปินรุ่นใหม่ ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของนิทรรศการในครั้งนี้
ทั้งนี้ นิทรรศการ The Art and Influence of Myanmar’s Film Heritage เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Pyinsa Rasa Art Space @The Secretariat โดยจะมีการจัดนิทรรศการทางศิลปะระยะเวลา 5 เดือนจนถึงเดือนกรกฎาคม 2018 โดยงาน The Art and Influence of Myanmar’s Film Heritage เป็นนิทรรศการในเดือนแรก สิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 20 เมษายน และจะมีการเปลี่ยนธีมไปเรื่อยๆ ในเดือนต่อๆ ไป
ก่อนจากกัน Thaiddhi ได้ให้นามบัตรของเขาเอาไว้ ซึ่งด้านซ้ายของนามบัตรมีชื่อและโลโก้ขององค์กร Pyinsa Rasa และข้างใต้โลโก้นั้นมีสโลแกนที่ระบุว่า ‘Empowering Creativity’ ข้อความนี้ทำให้ผมยิ้ม และคาดหวังว่าจะได้กลับมาชมงานต่อไปของพวกเขา ซึ่งในตอนนั้นน่าจะมีพลังมากขึ้นกว่าตอนนี้เสียอีก
Tags: art, Music, Films, Exhibition, Myanmar, Colonialism, Yangon