บังเอิญไปเจอป้ายที่มีฟอนต์ตัวเป้งเขียนว่า ‘Murder Is Her Hobby’ บนอาคารเก่าแห่งหนึ่งระหว่างที่เดินเล่นอยู่แถวด้านหลังทำเนียบขาวในวอชิงตัน ดี.ซี. เห็นครั้งแรกเข้าใจว่าเป็นป้ายโฆษณาละครเวทีแนวสืบสวนสอบสวน (ชื่อออกจะอกาธา คริสตี อย่างนั้นนี่คะ) แต่พอมาอ่านฟอนต์ตัวที่เป้งน้อยกว่าและอยู่ต่ำลงมา จึงรู้ว่านี่คือนิทรรศการที่จัดในแกลเลอรีเรนวิก (Renwick Gallery)

ทั้งนี้ ความพิเศษอย่างหนึ่งของเมืองหลวงแห่งนี้คือพิพิธภัณฑ์เกือบทุกแห่งไม่เก็บค่าเข้าชม ทำให้เรากล้าเข้าไปดูนิทรรศการอะไรก็ตามโดยไม่จำเป็นต้องหาข้อมูลล่วงหน้าว่ามันจะตรงกับที่เราสนใจหรือไม่ และการได้เข้าไปชมนิทรรศการครั้งนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าคุ้มเวลา จนต้องเขียนแนะนำให้ไปชมกัน

อาคาร Renwick Gallery ที่มาภาพ https://thespaces.com/2015/11/13/the-smithsonians-revitalised-renwick-gallery-opens/

‘Murder Is Her Hobby: Frances Glessner Lee and The Nutshell Studies of Unexplained Death’ คือชื่อเต็มของนิทรรศการซึ่งจัดแสดงที่ชั้น 1 ของแกลเลอรีเรนวิก หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะของสถาบันสมิธโซเนียน

กระนั้น หากเราพิมพ์ชื่อ ‘ฟรานเซส เกลสเนอร์ ลี’ (Frances Glessner Lee) เจ้าของผลงานในนิทรรศการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ลงในกูเกิล ก็จะพบว่าเธอหาได้เป็นศิลปินไม่ เพราะตัวจริงของคุณป้าคือร้อยตำรวจหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา และเป็นที่รู้จักในฐานะเจ้าแม่แห่งแวดวงนิติวิทยาศาสตร์ เจ้าแม่ที่ไม่ได้เป็นแค่ผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชานิติวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ที่ได้ฉายาเป็น ‘เจ้าแม่’ ก็เพราะป้าลีทำให้นิติวิทยาศาสตร์กลายเป็นงานศิลปะไปพร้อมกัน

ที่มาภาพ Courtesy of the Glessner House Museum, Chicago

ค่ะ, และนิทรรศการ ‘Murder Is Her Hobby’ ก็คือการจัดแสดงผลงานศิลปะของเธอ ซึ่งก็คือบ้านตุ๊กตาจำนวน 19 หลัง ซึ่งเธอทำขึ้นในช่วงทศวรรษ 1940-1950 โดยบ้านตุ๊กตาของเธอก็หาใช่บ้านตุ๊กตาสวยๆ แบบของพวกเศรษฐีดัตช์ในสมัยก่อน แต่เป็นบ้านตุ๊กตาที่จำลองฉากความตายของผู้คนจริงๆ เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนในภาควิชานิติวิทยาศาสตร์ที่เธอก่อตั้งขึ้นนั่นแหละค่ะ ในบ้านตุ๊กตาของเธอจึงมีทั้งชายวัยกลางคนผู้สิ้นหวังที่นำเชือกมาผูกคอตายกลางโรงนา หญิงสาวที่กรีดข้อมือตัวเองในอ่างอาบน้ำ ครอบครัวชาวอเมริกันที่ถูกยิงเลือดสาดยกบ้าน ชายชราที่นอนหลับเพลินจนไม่รู้ตัวว่าไฟจากกองไฟลามไหม้บ้าน ก่อนที่ร่างของเขาจะดำเป็นตอตะโก และฉากความตายอื่นๆ

บ้านตุ๊กตาแต่ละหลังคือสิ่งที่ป้าลีได้เห็นและเก็บรายละเอียดทุกอย่างใน ‘ที่เกิดเหตุ’ มาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นท่าทางของผู้ตาย เสื้อผ้าที่พวกเขาสวมใส่ หยดเลือด วิถีกระสุน เชือกที่ใช้ผูกคอ เฟอร์นิเจอร์ กับดักหนูที่มุมห้อง นาฬิกาบนฝาผนัง อาหารบนโต๊ะกินข้าว ขนมที่ถูกอบค้างไว้ จดหมายลาตาย รวมไปถึงของตบแต่งในที่เกิดเหตุ ฯลฯ ป้าลีย่อส่วนทุกรายละเอียดมาไว้ในบ้านตุ๊กตา เพื่อให้นักเรียนภาควิชาสืบสวนสอบสวนได้ทำการศึกษา

 

ด้วยกระบวนการที่อาจใช้คำว่า ‘virtual reality’ ในยุคนั้น ก็ช่วยยกระดับการสืบสวนในหน่วยงานตำรวจของสหรัฐอเมริกาได้มากทีเดียว (จากแต่เดิมที่พนักงานสอบสวนแทบไม่มีเครื่องมือใดๆ ช่วยเลย นอกจากเครื่องมือทางการแพทย์ที่ช่วยยืนยันสาเหตุการตายเท่านั้น) และแม้จะผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว แต่เทคนิคนี้ก็ยังถูกใช้ในการสอนที่ Harvard Associates in Police Science ในบัลติมอร์อยู่เลย

บ้านตุ๊กตาทั้ง 19 หลังจัดแสดงอยู่ในห้องมืดที่มีเพียงแสงไฟจากในบ้านตุ๊กตาและแผ่นป้ายอธิบายนิทรรศการเท่านั้น ซึ่งบ้านแต่ละหลัง (จัดแสดงในตู้กระจกใส) จะมีไฟฉายแขวนไว้ให้ เราไม่จำเป็นต้องใช้ไฟฉายก็ได้ เพราะแสงไฟก็พออยู่แล้ว แต่ไฟฉายก็ช่วยฉายทุกรายละเอียดในที่เกิดเหตุ รวมทั้งสร้างบรรยากาศเหมือนกับเราร่วมสังเกตการณ์ไปกับเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ยังมีป้ายที่อธิบายลักษณะการตาย เวลา และคำให้การของพยานผู้พบศพ ซึ่งย่อมาจากบันทึกของเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกที

นอกเหนือจากการรับชมความตายในรูปแบบต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นจริงแล้ว (คดีฆ่ายกครัวนี่เขียนบรรยายได้สยดสยองมากๆ) อีกหนึ่งอย่างที่ไม่อยากบอกเลยว่ามัน ‘น่ารัก’ แต่มันก็น่ารักจริงๆ คือรายละเอียดของเฟอร์นิเจอร์และการตบแต่งสไตล์ mid century ในบ้านตุ๊กตา ซึ่งใครที่ชอบงานวินเทจก็คงจะถูกใจ (ยิ่งถ้าคุณเป็นแฟนหนังหวีดหรือหนังสยองขวัญเกรดบีด้วยแล้ว ก็คงจะถูกใจเข้าไปใหญ่)

นิทรรศการนี้ยังฉายไฟไปที่สถานะของป้าลีในยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกายังมีการกีดกันทางเพศ (ครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20) เพราะป้าลีเข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่แต่เดิมเป็นแวดวงที่แทบจะมีแต่ผู้ชาย รวมทั้งการใช้ทักษะด้านการตัดเย็บและงานหัตถศิลป์อันละเอียดอ่อนที่แสนจะผู้ญิ้งผู้หญิงมาเป็นสื่อในการสอนจนกลายเป็นที่ยอมรับ

นอกจากนี้ ป้าลียังไม่เลือกเหยื่อหรือคดีความสำหรับยกมาทำบ้านตุ๊กตา ด้วยเหตุนี้ บ้านตุ๊กตาของป้าลีจึงมีทั้งบ้านของเศรษฐี บ้านของชนชั้นกลาง โรงนาของชาวไร่ บ้านอันแสนซอมซ่อของคนชายขอบ รวมทั้งบนทางเท้าซึ่งเป็นสถานที่ตายของคนไร้บ้าน อันเป็นชีวิตที่มักจะถูกเจ้าหน้าที่มองข้ามหรือไม่ได้ลงรายละเอียดการสอบสวนสักเท่าไหร่

ฟรานเซส เกลสเนอร์ ลี เกิดที่ชิคาโกในปี 1878 พ่อของเธอเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม International Harvester Company ผู้ร่ำรวย และเป็นนักสะสมเฟอร์นิเจอร์ตัวยง ลีเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน ขณะที่พี่ชายของเธอได้เข้าเรียนแพทย์ที่ Harvard Medical School เธอแต่งงานกับทนายความก่อนจะหย่าร้างกัน

นอกจากเป็นแฟนคลับเชอร์ล็อก โฮล์มส์ ลีสนใจงานด้านนิติวิทยาศาสตร์มาตลอด แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นทางการจนกระทั่งพี่ชายเสียชีวิตในปี 1930 ซึ่งก็เป็นตอนที่เธอมีอายุ 52 ปีแล้ว หลังจากนั้น เธอเริ่มศึกษาวิชาการแขนงนี้อย่างจริงจัง ก่อนจะนำเงินที่ได้จากมรดกมาก่อตั้งภาควิชานิติวิทยาศาสตร์ให้กับฮาร์วาร์ดในปี 1931 ซึ่งทำให้ฮาร์วาร์ดเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของสหรัฐอเมริกาที่เปิดสอนวิชานี้

นอกจากนี้ ลียังบริจาคเงินสำหรับก่อตั้ง Harvard Associates in Police Science องค์กรแห่งชาติที่ทำงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองบัลติมอร์ รัฐแมริแลนด์ และยังเป็นผู้จัดงานเสวนา Harvard Homicide Investigation ซึ่งเป็นงานแรกที่เธอได้เผยแพร่กระบวนการสืบสวนสอบสวนเหตุฆาตกรรมผ่านบ้านตุ๊กตาที่เธอสร้างขึ้นเองกับมือ

ป้าลีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 27 มกราคม 1962

 

Fact Box:

นิทรรศการ ‘Murder Is Her Hobby: Frances Glessner Lee and The Nutshell Studies of Unexplained Death’ จัดแสดงถึงวันที่ 28 มกราคม 2018 ที่ชั้น 1 ของแกลเลอรีเรนวิก ด้านหลังทำเนียบขาวค่ะ https://americanart.si.edu/visit/renwick