อะไรคือฟอนต์ (Font)? ออกแบบตัวอักษรแล้วไปไหน? ใช้งานได้จริงอย่างไรในงานออกแบบประเภทต่างๆ?

นิทรรศการแสดงผลงานผู้ชนะการประกวดการออกแบบตัวอักษร ครั้งที่ 63 หรือ TDC63 ช่วยพาเราไปหาคำตอบว่าการออกแบบตัวอักษรนั้น สามารถนำไปปรับใช้และจัดวางร่วมกับงานกราฟิกให้ลงตัวได้อย่างไร

นิทรรศการนี้ริเริ่มโดย Type Directors Club (TDC) องค์กรระดับนานาชาติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการออกแบบตัวอักษร และการนำตัวอักษรไปใช้ในงานออกแบบ โดยเชื่อว่าการออกแบบฟอนต์เป็นการบันทึกช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์ เพราะ ‘เทรนด์’ ของตัวอักษรในแต่ละปีหรือในแต่ละช่วงเวลา ก็สะท้อนสังคมและความทันสมัยของเทคโนโลยีในแต่ละยุค

ภาพจาก TAB

TDC จัดประกวดการออกแบบตัวอักษรและนำตัวอักษรไปใช้ในงานออกแบบเป็นประจำทุกปี ผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารก TDC Typography Annual และจัดแสดงในนิทรรศการสัญจรหมุนเวียนไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้ง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี โปแลนด์ สเปน เกาหลีใต้ เวียดนาม และประเทศไทย

นิทรรศการ TDC ครั้งที่ 63 ในกรุงเทพฯ จัดแสดงที่ Design Center ภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่จัดแสดงบรรจุผลงานหลากหลายรูปแบบให้ผู้เข้าชมได้สัมผัสของจริง ทั้งหนังสือหลายเล่มที่ผู้เข้าชมได้จับ เปิด พิจารณาการออกแบบอย่างเข้าใจถึงสัมผัสกระดาษ

เรามีโอกาสชมนิทรรศการที่นำชมโดยนักออกแบบจาก คัดสรร ดีมาก อย่าง ธนโชติ ทรัพย์เรืองนาม และ ชวณัฐ สุวรรณ ที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราวของผลงานแต่ละชิ้นอย่างเป็นลำดับ

นิทรรศการนี้ มีเนื้อหาสี่ส่วนสำคัญ คือ

ส่วนที่ 1 การออกแบบอักษร (Type Design) ผลงานของผู้ชนะการประกวดทั้ง 15 รายการ

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการแบบตัวอักษร คือ การคำนึงถึงการใช้งานตามจริง เช่น ผลงานตัวอักษร Renault Carname โดยค่ายฟอนต์ Production Type ที่ถูกใช้เป็นรุ่นรถยนต์ เป็นการออกแบบที่คำนึงถึงวิธีการผลิต ด้วยวัสดุที่ใช้อย่างโลหะ ที่มีลักษณะสำคัญของ แสง เงา ความวาว ซึ่งนักออกแบบคำนึงถึงเป็นปัจจัยสำคัญ

ด้านบนของตัวอักษรไม่แบนราบ แต่โค้งเล็กน้อยเพื่อให้อ่านออก การโค้งของเส้นขอบตอบรับกับการสะท้อนแสงในทุกสภาวะ ทำให้มีคุณสมบัติสำคัญเหมาะสมสำหรับรถยนต์โดยเฉพาะ

ภาพจาก https://www.productiontype.com

ส่วนที่ 2 โปสเตอร์ขนาดใหญ่พิเศษซึ่งเป็นไฮไลต์ของนิทรรศการ

ผลงานจากผู้ชนะในปีนี้เป็นสไตล์ที่เคยฮิตในอดีตและกลับมาอยู่ในสปอตไลต์แห่งความสนใจอีกครั้ง ตัวอย่างผลงานที่น่าสนใจ มีทั้งโปสเตอร์ตัวอักษรเรขาคณิตสีสันฉูดฉาด ออกแบบโดย Latitude เอเจนซีที่ออกแบบให้บริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ Latitude Realty ที่หักเงินค่าจัดซื้อ 50 เปอร์เซ็นต์ให้กับองค์กรไม่แสวงหากำไร

ตัวอักษรแต่ละสีถูกจัดวางอยู่บนภาพพื้นหลัง สื่อความหมายถึงสิ่งที่บริษัทนี้ให้ความสำคัญ ทั้งความเสี่ยงในวัยรุ่น การศึกษา อิสรภาพ อาหาร หนี้สิน การปล่อยเงินกู้ ความปลอดภัยในผู้หญิง และน้ำดื่ม

ภาพจาก latitudeelevates.com

อีกหนึ่งผลงานคือ โปสเตอร์งานเสวนา ADCC Design New York ออกแบบโดยสตูดิโอ Underline Studio จุดเด่นคือการออกแบบเป็นซีรีส์ต่อเนื่อง ที่นอกเหนือจากโปสเตอร์งานหลักแล้ว วิทยากรแต่ละคนมีโปสเตอร์บอกถึงสตูดิโอของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Pentagram, Chip Kidd, Paul Sahre และ Karlssonwiker

ที่มาภาพ http://underlinestudio.com/adcc-design-new-york/

ส่วนที่ 3 การออกแบบอัตลักษณ์องค์กร

อัตลักษณ์องค์กร ครอบคลุมตั้งแต่โลโก ป้ายหน้าร้าน นิทรรศการ มีทั้งแบบสองมิติและสามมิติ เปลี่ยนแปลงตามสื่อหรือพื้นที่ที่ต่างกัน ด้วยลักษณะของสื่อที่หลากหลายตามการใช้งาน หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือการทำแบรนด์ดิ้งให้กับ Materia พื้นที่จัดแสดงนิทรรศการงานฝีมือในรัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ออกแบบโดยสตูดิโอ Paprika ที่ออกแบบมาเพื่อใช้กับรูปแบบสื่อได้หลากหลาย ทั้งนามบัตร กระเป๋าผ้า แผ่นพับ จนถึงการตกแต่งพื้นที่


ที่มาภาพ http://paprika.com

ส่วนที่ 4 การออกแบบหนังสือและบรรจุภัณฑ์

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ นิตยสาร The New York Times ออกแบบโดย Frank Augugliario, Ben Grandgenett, Chloe Scheffe และ Matt Willey ภายใต้ธีม 800 Feet Above the City ว่าด้วยเรื่องราวบนความสูง ทั้งตึกสูง อาชีพที่เกี่ยวข้องกับความสูง การใช้ชีวิตบนตึกสูง ซึ่งนิตยสารฉบับนี้ได้ออกแบบฟอนต์พิเศษ แถมยังจัดวางเลย์เอาท์แบบแนวตั้งตลอดทั้งเล่ม (รวมถึงหน้าโฆษณาของแบรนด์ต่างๆ ในเล่มเช่นกัน) เมื่ออ่านต้องตะแคงแนวตั้งเพื่อเข้าถึงเนื้อหาได้

ที่มาภาพ https://www.creativereview.co.uk

นิทรรศการ TDC ครั้งที่ 63 นี้ ไม่ได้ทำให้ผู้ชมเห็นเพียงแค่เทรนด์ของการออกแบบตัวอักษรประจำปีเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของแนวคิดเบื้องหลังการออกแบบ และแนวโน้มของเทคโนโลยีฟอนต์ที่กำลังมา อย่างเช่นการเกิดขึ้นของ Variation Font ที่ตัวแบบอักษรหนึ่งแบบสามารถมีน้ำหนักหนา บาง กว้าง แคบ หรือมีรูปแบบที่หลากหลายกว่าที่เรามีในปัจจุบัน นอกจากนี้ นิทรรศการยังสนใจประเด็นที่ตัวอักษรกลับไปใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมอย่างอักษรวิจิตรหรือตัวเขียนแบบจีน ซึ่งมีผลงานอีกมากมายที่ทำหน้าที่เป็นชุดความรู้ที่เป็นประโยชน์ พร้อมส่งต่อให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งนักเรียน นักศึกษา นักออกแบบ หรือบุคคลทั่วไป ให้ได้เข้ามาสัมผัส เรียนรู้ และปรับใช้ตัวอักษรแบบที่ทั้งเข้าถึงและเข้าใจได้อย่างง่าย

FACT BOX:

TDC63 จัดขึ้นโดยสโมสรอักษรศิลป์และอักขรศิลป์กรุงเทพฯ (TAB) ร่วมมือกับภาควิชาออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันนี้ ถึง 29 ตุลาคม 2560

Tags: , , , ,