เมื่อวันก่อน เราได้มีโอกาสไปฟังคุณ Joanne Hyppolite ภัณฑารักษ์ประจำพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันแห่งชาติ สถาบันสมิธโซเนียน เสวนาในหัวข้อ ‘หนึ่งศตวรรษแห่งการสร้างสรรค์: พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันแห่งชาติ’ พูดถึงสิ่งร่วมอย่างหนึ่ง ในวัฒนธรรมแอฟริกันอเมริกันกับไทยแลนด์ นั่นคือยาสีฟัน ‘ดาร์กี้’ ที่กลายมาเป็น ‘ดาร์ลี่’ ในปัจจุบัน (ซึ่งเป็นการเปลี่ยนเพื่อแก้ไขการพาดพิงคนผิวดำ) นั่นทำให้ตระหนักว่า ในบ้านเราไม่ค่อยมีพิพิธภัณฑ์หรือการจัดแสดงที่พูดถึงประวัติศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนของ ‘การเหยียด’ มากนัก หากถามว่าทำไมต้องมี? ก็จะขอยกตัวอย่างสักหนึ่งพิพิธภัณฑ์ในใจของเรามาเป็นกรณีศึกษากันก่อน

ที่ Jim Crow Museum of Racist Memorabilia ซึ่งตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัย Ferris State University แห่งรัฐมิชิแกน เราจะได้เห็นคอลเลคชั่นสิ่งของที่สะท้อนการเหยียดผิวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศอเมริกา ซึ่งตกทอดมาจากช่วงเวลาเกือบร้อยปี ที่อเมริกามีการแบ่งแยกชนชั้นของ ‘คนขาว’ และ ‘คนดำ’ ด้วยการใช้กฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคมที่รู้จักกันในนามกฎ Jim Crow นั่นเอง

เพื่อให้เห็นภาพบริบทของที่นี่ชัดขึ้น ต้องขอเท้าความเรื่อง Jim Crow laws สักนิด กฎหมายที่ว่านี้ออกบังคับใช้โดยมลรัฐทางตอนใต้ของประเทศในช่วงปี 1877 จนถึงช่วงกลางยุค 1960 โดยใจความสำคัญคือ เพื่อแบ่งแยกที่ทางและรับรองการปฏิบัติที่ต่างกันระหว่างสองผิวสี ตั้งแต่ในโรงเรียน ตามระบบขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร ในชั้นศาล รวมถึงในการประกอบอาชีพด้วย ตัวอย่างเช่น มีโรงเรียนแยกกันสำหรับคนดำและคนขาว ที่นั่งบนรถบัสและรถไฟจะแบ่งแยกโซนที่นั่งของคนดำไว้ช่วงท้ายรถอย่างชัดเจน ห้องน้ำและทางเข้าออกของอาคารแยกกัน แม้กระทั่งที่ฝังศพ คนดำก็ห้ามมาฝังในที่สำหรับคนขาว! เป็นต้น

แน่นอนว่าการละเมิดกฎหมายนี้ เช่น การที่คนผิวสี ไปนั่งในตู้รถโดยสารที่เขียนว่า “Whites only” หรือพยายามที่จะออกเสียงเลือกตั้ง ถือว่ามีความผิดร้ายแรง ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และโดยส่วนมากมักจะถูกตัดสินว่ามีความผิด เนื่องจากไม่มีสิทธิมีเสียงภายในกระบวนการยุติธรรมที่ควบคุมโดยคนขาวนั่นเอง

อันที่จริง การเหยียดว่าคนกลุ่มหนึ่งอยู่ต่ำกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง ย่อมขัดต่อประกาศอิสรภาพของอเมริกาที่ว่า “all men are created equal” และการปฏิบัติที่ Jim Crow รับรองทั้งหมด ยังขัดต่อบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 14 (14th Amendment) ในปี 1868 ที่ให้ความคุ้มครองเท่าเทียมกันตามกฎหมายต่อ ‘ทุกคน’ และฉบับที่ 15 (15th Amendment) ในปี 1870 ที่ให้สิทธิในการออกเสียงต่อคนดำอีกด้วย แต่สิ่งที่ออกมาสนับสนุนความชอบธรรมของ Jim Crow ก็คือหลักการ “separate but equal” หรือ แบ่งแยกแต่เท่าเทียมนั่นเอง ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัติแล้ว สิ่งที่ทำมาเพื่อการใช้งานของคนดำก็จะคุณภาพด้อยกว่า และเสื่อมโทรมมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด หนำซ้ำในบางกรณีก็ไม่มีเอาดื้อๆ เลย เช่น ไม่มีห้องน้ำสำหรับคนดำ ไม่มีชายหาดสาธารณะให้ใช้ ไม่มีที่นั่งทานอาหาร เป็นต้น

คุณ David Pilgrim ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ Jim Crow Museum of Racist Memorabilia และเป็นอาจารย์ทางด้านสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัย Ferris State University เล่าย้อนไปว่า วัตถุ racist ชิ้นแรกที่เขาซื้อ คือกระปุกโรยเกลือรูป Mammy (ซึ่งเป็นภาพ stereotype ของเมดประจำบ้านวัยคุณป้าที่คอยรับใช้และเลี้ยงดูลูกเล็กๆ ของครอบครัวคนผิวขาว โดยเราจะพบเห็นภาพของเธอบนฉลากผลิตภัณฑ์จำพวกแป้งทำแพนเค้ก ผงซักฟอก หรือในรูปแบบของขวดน้ำเชื่อม) เขาเจอมันที่ตลาดขายของเก่าตอนอายุ 12 ขวบ พอยื่นเงินให้กับคนขายปุ๊บ เขาก็เขวี้ยงกระปุกเกลือลงพื้นแตกเป็นเสี่ยงๆ ทันที

ในฐานะเด็กผิวสีที่เกิดในรัฐทางใต้ เขารู้สึกเกลียดชังวัตถุเหล่านี้มาก แต่เมื่อโตขึ้น เขาหันมาสนใจศึกษาสิ่งของเหล่านี้ในทางสังคมวิทยา และเริ่มสะสมมันแทน (ไม่ได้ทุบทำลายอีก) ในที่สุดในปี 1996 คุณ Pilgrim ก็ได้บริจาคของสะสมว่าด้วย racism จำนวน 2,000 ชิ้น ให้กับมหาวิทยาลัย Ferris เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการจัดแสดงคอลเลคชั่นชุดนี้ต่อสาธารณะ โดยมีพื้นที่ 1 ห้องถ้วน และเปิดให้ชมเมื่อมีการนัดหมายเท่านั้น ผ่านไปอีกราว 15 ปี จึงได้รับการสนับสนุนเงินทุนมากพอที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์อย่างเต็มตัว ในวันที่ 26 เมษายน 2012 โดยจำนวนวัตถุในปัจจุบันอยู่ที่ราว 9,000 ชิ้น

เมื่อเข้ามาในพิพิธภัณฑ์นี้ เราจะได้เห็นของที่สะท้อนสภาพสังคมในสมัย Jim Crow ไม่ว่าจะเป็นก๊อกน้ำดื่มที่เขียนไว้ชัดเจนว่า Whites only และ Colored เพื่อแบ่งแยกผู้ใช้งาน (ซึ่งอย่างหลังสกปรกกว่ามาก) หุ่นโมเดล KKK หรือกลุ่มคนที่นิยมคนขาวและเหยียดผิวสีอย่างสุดโต่ง หรือสิ่งของที่สะท้อนภาพลักษณ์ของคนดำที่ถูกบิดเบือน เพื่อตอกย้ำภาพจำบางอย่าง เช่น Mammy หรือ Uncle Tom ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ชายผิวสีที่ดูเหมือนคนรับใช้ ยิ้มแย้มแจ่มใสแบบซื่อๆ มักอยู่กับป้ายขายผลิตภัณฑ์อาหารที่เขียนด้วยไวยากรณ์ผิดๆ (“Dis sho’ am good”)

ในขณะที่ของบางชิ้น ทำหน้าที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) และปลูกฝังชุดความคิดบางอย่างให้กับคนในสังคมอย่างแนบเนียน อาทิ ที่เขี่ยบุหรี่รูปคนดำที่มีปากใหญ่ ซึ่งอาจดูเป็นแค่วัตถุล้อเลียนที่ไร้พิษสง แต่ของเหล่านี้หล่อหลอมทัศนคติ การปฏิบัติตัว และการออกนโยบายต่างๆ เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการยอมรับว่าคนผิวสีเท่าเทียมกับคนขาว ไม่ให้คนเหล่านี้ได้ออกเสียงเลือกตั้ง หรือแต่งงานข้ามเชื้อชาติ ดังนั้น แม้จะเป็นแค่ที่เขี่ยบุหรี่ แต่ก็เป็นเครื่องมือทางสังคมอย่างหนึ่ง การที่ได้มาพบเจอของจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับความคิดเชิง racist เช่นนี้ ทำให้เห็นภาพได้ชัดว่าสังคมในอดีตเคยเป็นอย่างไร และกระตุ้นให้ผู้เข้าชมฉุกคิด ตั้งคำถามและสร้างบทสนทนาต่อยอดความคิดได้อีกมาก

ที่ยิ่งไปกว่านั้น แม้กฎหมาย Jim Crow จะสิ้นสุดไปแล้วในช่วงกลางปี 1960 ผู้มาเยือนพิพิธภัณฑ์ยังจะได้เห็นว่าที่นี่ไม่ได้มีเพียงสิ่งของในอดีต แต่ยังมีของที่สะท้อนความคิดแบบเดียวกันแม้ในยุคปัจจุบันด้วย เช่น ป้ายที่ล้อเลียนอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามาในชุดพ่อครัวกำลังเสิร์ฟซุปร้อนๆ พร้อมคำโปรย “He’s ready to serve you” (พร้อม ‘เสิร์ฟ’ ซุป ไม่ใช่พร้อม ‘รับใช้’ ประชาชน) หรือเสื้อแคมเปญเลือกตั้ง “Any White Guy 2012” ที่เชียร์ให้คนเลือกใครก็ได้ที่เป็นคนขาว มาแทนนายโอบามา เป็นต้น

ผู้มาพิพิธภัณฑ์หลายคนตกใจไม่น้อยที่สังคมกระแสหลักในปัจจุบันยอมรับการเหยียดผิวได้มากกว่าที่เคยเข้าใจนัก และสินค้าที่แฝงความ racist ไว้ยังคงมีอยู่ให้เห็นในสังคมอเมริกันทุกวันนี้ “ในหลายๆมิติแล้ว Jim Crow ยังไม่หมดไป แม้กฎหมายจะยกเลิกไปแล้ว แต่แรงกระเพื่อมยังคงอยู่ ดังนั้น การที่ได้มาเห็นภาพเหล่านี้เรียกร้องให้เกิดคำถามว่า ตอนนี้เรามาไกลจากจุดนั้นแค่ไหน” คุณ Pilgrim กล่าว

หลายคนที่เข้ามาดูของเหล่านี้แล้วรู้สึกโกรธ รู้สึกเศร้าเมื่อได้สะท้อนคิด แต่นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ในการสร้างพิพิธภัณฑ์นี้ คุณ Pilgrim กล่าวว่าคุณค่าที่แท้จริงของพิพิธภัณฑ์นี้ คือเพื่อให้คนได้มาสนทนากัน พิพิธภัณฑ์จึงมีห้องสนทนา (room of dialogue) ไว้ที่จุดสิ้นสุดการเดินชม เพื่อให้คนแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และขบคิดดูว่าวัตถุเหล่านี้สามารถใช้เพื่อการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคมได้หรือไม่ อย่างไร

เมื่อได้เห็นความรุนแรงของการเหยียดในอดีต ผ่านวัตุสิ่งของใน Jim Crow Museum of Racist Memorabilia แล้ว ก็อดย้อนคิดไม่ได้ว่า สังคมบ้านเรายังคงใช้วิธีเดียวกันในการสร้างภาพอคติให้กับมนุษย์ด้วยกันเองมากน้อยแค่ไหน เราก้าวมาไกลจากยุคแห่งความป่าเถื่อนในอดีตแล้วหรือยัง

อ้างอิง:

https://www.theatlantic.com/national/archive/2012/04/new-racism-museum-reveals-the-ugly-truth-behind-aunt-jemima/256185/

https://www.ferris.edu/jimcrow/what.htm

https://www.history.com/topics/black-history/civil-rights-movement

Tags: ,