อย่างที่เราพยายามย้ำอยู่เสมอ ว่าพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่มองว่าสิ่งที่ตนนำเสนอ มีน้ำหนักและส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนอย่างมาก ดังนั้นการสนับสนุนเนื้อหาที่ทำให้คนตระหนักถึงประเด็นทางสังคมบางอย่าง หรืออาจทำให้บางคนถึงกับเปลี่ยนพฤติกรรมไปเลย จึงนับเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างหนึ่งของพิพิธภัณฑ์

เราอยากจะเล่าถึงกรณีน่าสนใจของ คุณ Halima Khanom ซึ่งเป็น Community Collaboration Assistant ของ Museum of London (เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงเรื่องราวของเมืองลอนดอนตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จวบจนปัจจุบัน) ที่อยู่มาวันหนึ่ง เธอไปรู้สึกสะกิดใจกับดิสเพลย์จุดหนึ่งให้ห้อง World City Gallery โดยเธอพบว่าเสื้อผ้าของชาวมุสลิมในลอนดอนที่ถูกจัดแสดงอยู่นั้น ดูเป็นมุสลิมในแบบอนุรักษ์นิยม และไม่ได้สะท้อนถึงความเป็นจริงของแฟชั่นชาวมุสลิมทั่วๆ ไปในปัจจุบันที่มีความหลากหลายมากกว่านั้น อีกทั้งชาวมุสลิมที่เธอรู้จักจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในลอนดอนนั้น มีทั้งที่เป็นนักแสดง ศิลปิน แฟชั่นดีไซน์เนอร์ นักข่าว ฯลฯ ซึ่งไม่ได้สวมใส่ชุดแบบประเพณีดั้งเดิม แต่กลับแต่งกายอย่างมีสไตล์ และมักจะทดลองค้นหาลุคใหม่ๆ ที่สะท้อนอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิม ไปพร้อมๆ กับการเป็นลอนดอนเนอร์ในยุคปัจจุบันด้วย

ว่าแล้วเธอจึงเริ่มโครงการ ‘What Muslims Wear’ เพื่อสร้างความตระหนักในความหลากหลายของการแต่งกายของชาวมุสลิมในลอนดอน โดยร่วมมือกับคนหนุ่มสาวชาวมุสลิมและกลุ่มศิลปิน Fourth Wall Creations เพื่อเก็บตัวอย่างการแต่งกายแบบมุสลิมที่พบเห็นได้จริงๆในมหานครแห่งนี้ ชุดที่ได้มามีทั้งหมด 6 ชุด เช่น ชุดที่สวมไปในวันแรกของการเข้าเรียนที่ London Collage of Fashion ของ Hiba สาวมุสลิมเชื้อสายเอริเทรีย ชุดที่เธอเลือกในวันนั้นคือเดรสยาวสีดำ ใส่กับเสื้อแขนยาวและเสื้อนอกสีเทา มีผ้าคลุมศีรษะ แมทช์กับรองเท้าบู๊ตยาวแบบผูกเชือก ซึ่ง Hiba อธิบายว่านี่คือลุคแบบ ‘urban hijab’ ซึ่งทั้งเก๋ไก๋และคล่องตัว เหมาะกับชีวิตที่รีบเร่งในลอนดอน

หรือชุดเดรสสีกรมท่าของ Zinia ที่เธอออกแบบเองไว้สำหรับใส่ในงานพิเศษ เช่น งานแต่งงานหรือวันอีด (Eid) ซึ่งเธอจับคู่กับผ้าคลุมศีรษะโทนเดียวกัน เสริมด้วยกำไลและกระเป๋าถือสีเงินวิบวับ พร้อมรองเท้าส้นสูงและปิดท้ายด้วยแว่นดำ เซเลบไปอีก!

(ดูภาพดิสเพลย์เดิมของพิพิธภัณฑ์ และชุดมุสลิมที่ได้มาใหม่จากโปรเจคนี้ได้ที่ https://www.museumoflondon.org.uk/discover/what-muslims-wear)

เมื่อได้เห็นความหลากหลายของคนที่นับถือศาสนาอิสลามมากขึ้น ความรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้แปลกแยกจากชาวลอนดอนคนอื่นๆ ก็จางคลายลงไปได้ การลุกขึ้นมาทำลายภาพลักษณ์แบบเหมารวมของพิพิธภัณฑ์ จึงเป็นการสนับสนุนการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันให้กับคนในสังคมไปโดยปริยาย

สำรวจแฟชั่นมุสลิมในปัจจุบัน

เมื่อพูดถึงการช่วยให้ผู้ชมหลุดจากกรอบมุมมองเดิมๆ เกี่ยวกับแฟชั่นมุสลิม ก็ยังมีอีกนิทรรศการที่ควรจะต้องอ้างอิงด้วย นั่นคือ นิทรรศการ Contemporary Muslim Fashions ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะ de Young Museum เมืองซานฟรานซิสโกที่จัดแสดงตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 และเพิ่งปิดนิทรรศการไปเมื่อต้นมกราคม 2019 นี้เอง

Max Hollein อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ที่ริเริ่มโครงการนี้เล่าว่า พอประกาศแนวคิดการจัดนิทรรศการนี้เมื่อ 2 ปีก่อน เขาได้รับเสียงตอบรับที่รุนแรงมาก มาจากหลากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นเสียงที่บอกว่าอเมริกาไม่ควรจะเชิดชูวัฒนธรรมมุสลิมในตอนนี้ หรือสื่อที่หาว่าเขาสนับสนุนการกดขี่สตรีเพศ หรือจากชาวมุสลิมเองที่รู้สึกว่าการหยิบยกประเด็นนี้มาพูดในบริบทของ ‘แฟชั่น’ นั้น ขัดแย้งกับหลักการที่ต้องการเน้นความถ่อมตนในการแต่งกายของศาสนา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม Max Hollein ชี้แจงว่าเขาไม่ได้ต้องการจะยั่วยุให้เกิดเป็นกระแส แต่ “เราต้องการแบ่งปันสิ่งที่เราพบเห็นในแฟชั่นการแต่งกายแบบมุสลิมให้กับผู้คนในโลก ในแบบที่น้อมนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะพิพิธภัณฑ์ เป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แห่งที่สามารถจะถกเถียงเชิงลึกว่าด้วยการมาบรรจบกันของวัฒนธรรมได้ โดยไม่ปะทะโจมตีกัน ในที่อื่นๆ ผู้คนก็จะคุยกันอย่างผิวเผินเท่านั้น หรือไม่ก็ตะโกนใส่กันไปเลย”

80 ชุดที่นำมาจัดแสดงบนดิสเพลย์นั้น ถูกออกแบบมาให้ปกปิดร่างกายตามหลักคำสอนมุสลิม ในขณะที่สไตล์ของชุดครอบคลุมตั้งแต่เสื้อคลุมแบบประเพณีที่เรียกว่าอาบายา จนถึงชุดกีฬาสำหรับวัยรุ่นที่ได้แรงบันดาลใจมาจากฮิปฮอปโดย ดีไซน์เนอร์ Sarah Elenany ไปจนถึงชุดที่ออกแบบลวดลายอย่างละเอียดโดยใช้ผ้าบาติกและ ikat (มัดหมี่) โดยดีไซน์เนอร์ Dian Pelangi (ซึ่งมี follower เกือบ 5 ล้านคนบน instagram) และ Khanaan Luqman Shamlan ในนิทรรศการยังเล่าถึงเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ที่เป็นข่าวว่าด้วยเรื่องการแต่งกายมุสลิม อาทิ การห้ามใส่ชุดว่ายน้ำแบบคลุมทั้งตัว หรือ burkini โดยรัฐบาลฝรั่งเศสในปี 2016 หรือข่าวการประท้วงรัฐบาลอิหร่านด้วยการถอดฮิญาบในปี 2018

นอกจากทีมคิวเรเตอร์ด้านผ้าและเครื่องแต่งกายของทางพิพิธภัณฑ์แล้ว โปรเจกต์นี้ยังมีศาสตราจารย์ด้านวัฒนธรรมศึกษาจาก London College of Fashion มาเป็นที่ปรึกษา ทั้งยังมีการเชิญตัวแทนชาวมุสลิมจำนวนมาก ทั้งจากมหาวิทยาลัยท้องถิ่น ศูนย์อิสลาม และมัสยิดมาร่วมให้คำแนะนำอีกด้วย เป็นที่น่าสนใจว่าแม้ในหมู่สตรีชาวอิสลามด้วยกันเอง มุมมองการแต่งกายก็ไม่เหมือนกัน ผู้หญิงบางคนก็ไม่ได้สวมฮิญาบตลอดเวลา หรือสวมแค่บางโอกาสเท่านั้น นิทรรศการจึงสะท้อนความหลากหลายและความลื่นไหลของการแต่งกายนี้ ซึ่งท้าทายมุมมองเดิมๆ ต่อวัฒนธรรมมุสลิม

ในที่สุดเมื่อจัดแสดง นิทรรศการ Contemporary Muslim Fashions ได้รับคำชื่นชมอย่างล้นหลาม และเป็นนิทรรศการที่สำรวจความผสมผสานกันของศรัทธาและแฟชั่นได้เป็นอย่างดีทีเดียว

อ้างอิง:

https://www.museumoflondon.org.uk/discover/what-muslims-wear

https://gulfnews.com/lifestyle/fashion/a-show-examines-muslim-fashion-1.60040134

 

Tags: , , ,