ไม่ว่าใครถ้าเลือกได้ก็คงอยากรวย… แต่จะรวยแบบไหน คุณเคยคิดเอาไว้หรือยัง?
‘เล่มนี้ดี อ่านแล้วรวย’ คือคำโปรยเพื่อโปรโมตหนังสือ ECO DESIGN THAI THAI ของ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร และ นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา คู่รักอีโคที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงการออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อมมานับสิบปี แต่ความรวยที่หนังสือเล่มนี้กำลังจะมอบให้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เงินทองเท่านั้น เพราะสิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ความมั่งคั่งของคุณกลายเป็นความสุขในระยะยาว
“ผมเชื่อว่าเราทุกคนอยาก ‘รวย’ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรารวยเงินทองไปพร้อมกับความรวยด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม หนังสือเล่มนี้รวบรวมแนวคิดด้านการดำเนินธุรกิจเพื่อสังคม ด้านการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เรานำเสนอตัวอย่างของความสำเร็จ พร้อมตัวอย่างบริษัทในไทยที่คำนึงถึงเรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม คุณจะได้เห็นสินค้าเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่คัดสรรอย่างดีจากทั่วประเทศไทย หนังสือเล่มนี้อาจเป็นบันไดขั้นแรกของความรวยในรูปแบบใหม่ของคุณ”
ข้อความท้ายปกที่เขียนโดย ท็อป พิพัฒน์ ทำให้เราอยากหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่าน ซึ่งเมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบเราก็อยากที่จะพูดคุยกับเขา และเมื่อได้พูดคุย ก็ทำให้เรามองเห็นความเป็นไปได้มากมายที่จะเกิดขึ้น
ผมคิดว่าการสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นความท้าทายระดับประเทศ
เป็นแรงส่งให้คนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเองและการได้รับการยอมรับจากสังคม
ซึ่งถ้าพวกเรามีจำนวนที่มากพอก็จะสามารถพิสูจน์ร่วมกันว่า เราสามารถพาประเทศไทยก้าวหน้าได้จากการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังสือ ECO DESIGN THAI THAI คืออะไร
ท็อป: มันเริ่มมาจากที่ผมทำธุรกิจในแบบที่มีคนเรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม และมีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานานพอสมควร ผมมองว่าอาจคล้ายกับคนที่สะสมของเก่า หรืองานศิลปะ แล้วพอวันหนึ่งที่มีชิ้นงานและประสบการณ์มากพอ ก็อยากที่จะให้คนอื่นได้เห็น ได้รู้สึกดีไปด้วย
Eco แบบ THAI THAI แตกต่างจาก Eco แบบประเทศอื่นอย่างไร
ท็อป: ผมว่าเรื่องที่เห็นได้ชัดคือ การนำเอาสิ่งที่อยู่รอบตัวมาประยุกต์ใช้มากกว่าการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม
นุ่น: นุ่นมองว่าอีโคแบบไทยๆ มันคือเสน่ห์ของคนไทยที่ไม่เหมือนคนอื่น ย้อนกลับไปในสมัยอดีต จริงๆ วิถีชีวิตของคนไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมานานมาก อย่างการใช้ใบตองห่ออาหาร ชะลอมที่ทำจากไม้ไผ่ ซึ่งพอทิ้งไปก็สามารถย่อยสลายได้ง่าย อีกมุมหนึ่งเสน่ห์ของอีโคแบบไทยๆ ที่นุ่นมองเห็นคือเราผสมผสานได้เก่ง ยิ่งนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาจับคู่กับผลิตภัณฑ์ มันก็กลายเป็นเสน่ห์ที่ไม่มีใครเหมือน หรือบางอย่างก็เกิดจากการดัดแปลง หรือประดิษฐ์จนกลายเป็นเอกลักษณ์ ถ้าเราพลิกดูในหนังสือเล่มนี้ก็จะมีหลายๆ อย่างที่เห็นแล้วรู้เลยว่าแบบนี้คนไทยคิดชัวร์ ในหนังสือเล่มนี้เราก็จะดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาให้เห็นได้เด่นชัดมากขึ้น มีทั้งความสวย เก๋ เป็นคาแรกเตอร์ของเราที่รับรองว่าชาติอื่นไม่มี
จากประสบการณ์นับสิบปีที่ทำงานด้านการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมา ความรับรู้ของคนในสังคมเกี่ยวกับเรื่องนี้เปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนจนถึงปัจจุบัน
ท็อป: ตอนนี้เราไม่ต้องอธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจคำว่า ‘eco’ คืออะไร แต่ต้องเพิ่มเรื่อง eco design ให้นักออกแบบรุ่นใหม่และนักศึกษาเข้าใจให้มากขึ้น เพราะ eco design สามารถมองตั้งแต่การหาวัตถุดิบจนถึงการจัดการขยะ เมื่อนักออกแบบคำนึงเรื่องนี้จะทำให้มีสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมามากขึ้น ในส่วนผู้ซื้อคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงมองสินค้าที่ราคา การออกแบบที่ถูกใจเขาไหม และสุดท้ายก็ใช้เรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมปิดท้าย เพื่อให้เขารู้สึกดีเมื่อได้ใช้หรือได้นำไปให้ผู้อื่นต่อ นอกนั้นในปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่หันมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองด้วยการมองถึงการแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นเป้าหมายควบคู่กับการทำกำไรให้บริษัท
สินค้าที่มีจุดตั้งต้นที่ผู้ผลิตเขาอยากมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม
สำหรับเราแค่นี้ก็เป็นจุดตั้งต้นที่ดีมากแล้ว
ดีกว่ากอบโกยกำไรอย่างเดียวโดยไม่ได้แคร์ว่าสินค้าได้ทิ้งอะไรเอาไว้หรือทำลายอะไรไปบ้าง
มีเรื่องอะไรที่ยังเป็นความท้าทาย หรือเป็นข้อจำกัดที่ยังเอาชนะไม่ได้ไหม
นุ่น: นุ่นว่าสิ่งที่ท็อปพูดมาคือการที่สังคมโดยรวมเกิดความรับรู้และเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น แต่แค่นั้นคงไม่พอ ซึ่งการที่อยู่กับเรื่องนี้มานาน เราพบว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคใหญ่คือเรื่องของเศรษฐกิจ ท็อปจะอยู่ในส่วนของการออกแบบ แต่นุ่นจะดูตัวเลข อุปสรรคอย่างหนึ่งพอเศรษฐกิจไม่ดี ทุกคนก็จะระวังกับการใช้เงินมากขึ้น เราต้องยอมรับว่าสินค้าที่เราทำ มันมีฟังก์ชันการใช้งานที่ดี มีแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ถ้ามีสินค้า 2 ชิ้น ราคา 80 บาท กับ 100 บาท คุณภาพเท่ากัน แต่อีกอันเพิ่มคุณค่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาเลยแพงกว่านิดหน่อย คนก็ยังจะจ่ายแค่ 80 บาทอยู่ดี ถึงจะเข้าใจว่ามันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม…ดีจัง เราก็ยังเอาชนะทัศนคติแบบนี้ไม่ได้ แต่ถ้าเราสื่อสารให้คนเห็นคุณค่าของเรื่องนี้ ภาครัฐสนับสนุน หน่วยงานเอกชนพยายามขับเคลื่อนกันต่อไป เราอาจช่วยกันปรับทัศนคติของคนได้
ท็อป: ผมอยากให้เราใช้วิธีคิดแบบ eco design เพื่อลดต้นทุนการผลิต และทำให้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีราคาที่ถูกกว่าสินค้าปกติทั่วไป ตอนนี้ใครๆ ก็ว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมราคาแพง แต่ถ้านักออกแบบพยายามลดวัตถุดิบ ลดบรรจุภัณฑ์ หรือการขนส่ง มันสามารถช่วยให้เราลดต้นทุนได้จริงๆ แต่ผู้ผลิตตามโรงงานต้องเอาด้วย ไม่ใช่รอแต่การผลิตที่มีจำนวนมากเท่านั้นถึงจะยอมผลิตให้อีกเรื่องคือ การออกนโยบายสนับสนุนหรือกฎหมายเกี่ยวกับการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในหนังสือเล่มนี้มีวิธีการทำธุรกิจเพื่อสังคม Social Enterprise และตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จแล้ว ผมคิดว่าการสนับสนุนจากภาครัฐจะเป็นความท้าทายระดับประเทศ เป็นแรงส่งให้คนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจเพื่อความเจริญก้าวหน้าของตัวเองและการได้รับการยอมรับจากสังคม ซึ่งถ้าพวกเรามีจำนวนที่มากพอก็จะสามารถพิสูจน์ร่วมกันว่า เราสามารถพาประเทศไทยก้าวหน้าได้จากการทำธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
มันคงจะดีถ้าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เราได้อยู่คนเดียว แต่มีคนอื่นที่ได้ด้วย
ทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ต่อให้คนที่ติสต์แตกก็ต้องมีเงิน แต่เราจะมีเงินแบบไหนล่ะ
เหมือนตอนนี้ใครๆ ก็พูดได้ว่าสินค้าตัวเองเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แล้วในมุมของคุณสินค้าแบบไหนถึงจะเรียกว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ
ท็อป: ถ้าจะให้ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้วขีดเส้นใต้คำว่า จริงๆ คงต้องมีหน่วยงานมารับรองสินค้านั้น เช่น ฉลาก ตรารับรอง หรือสัญลักษณ์ที่ออกให้โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ
นุ่น: เหรียญมีสองด้าน เมื่อก่อนเราก็เคยเป็นพวกสุดโต่งที่คิดว่า เฮ้ย ไม่ได้นะ คุณต้องมีครบทุกข้อถึงจะเรียกว่าเป็นสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง เรารู้ว่ามันมีข้อจำกัดหลายอย่างที่เราเข้าใจได้ จนเรารู้สึกว่าสินค้าที่มีจุดตั้งต้นที่ผู้ผลิตเขาอยากมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อม สำหรับเราแค่นี้ก็เป็นจุดตั้งต้นที่ดีมากแล้ว ดีกว่ากอบโกยกำไรอย่างเดียวโดยไม่ได้แคร์ว่าสินค้าได้ทิ้งอะไรเอาไว้หรือทำลายอะไรไปบ้าง ตอนนี้มันถึงยุคที่เราต้องอยู่ในโลกความเป็นจริง ต้องยอมรับว่าอย่างน้อยแค่ผู้ผลิตเขาเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้และอยากทำก็ถือว่าดีมากแล้ว ที่เหลือก็อยู่ที่วิจารณญาณของผู้บริโภคแล้วว่าจะเลือกซื้อสินค้าแบบไหน
เพราะเราสองคนเองก็ยังขับรถ เราไม่ได้ปั่นจักรยานไปทุกที่ เพราะมันไม่ได้ตอบโจทย์บางอย่างในชีวิต ดังนั้นทุกอย่างมันต้องมีทางสายกลาง เพียงแต่จุดตั้งต้นของมันคืออะไร เราคิดว่าถ้าใช้วิธีคิดแบบนี้มันน่าจะขับเคลื่อนเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายและไกลกว่าเดิมเยอะมาก
ท็อป: มันอยู่ที่มุมมองของแต่ละคนด้วย บางครั้งตัวสินค้าอาจไม่ได้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ แต่ผู้ใช้งานพยายามใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ใช้ให้นานที่สุดก็อาจเรียกสินค้าชิ้นนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆได้
การทำงานด้านนี้ให้คุณค่าอะไรกับชีวิตคุณบ้าง
ท็อป: ผมเริ่มต้นจากการเลือกทำในสิ่งที่สนใจจนมันกลายเป็นสิ่งที่ชอบ เวลาที่มันไม่ได้ดังใจ ผมก็ท้อเหมือนคนทั่วไป แต่ผมไม่ถอยเพราะผมทำมันมานานจนกลายเป็นสิ่งที่ใช่สำหรับผมไปแล้ว และสิ่งนี้มันยังสามารถเป็นธุรกิจที่ทำให้ผมมีเงินเพื่อใช้ในการบริหารบริษัท ทำให้ผมมีเป้าหมายในการทำงาน ทำให้ผมมีความสุขเมื่อได้ทำให้บางสิ่งรอบตัวดีขึ้น และทำให้ผมมีภรรยาที่มีความชอบที่เหมือนกันอยู่ข้างๆ กันตลอด
ผมอาจไม่สามารถแข่งเงินในบัญชีกับใครได้ แต่ความรวยที่ผมมีอยู่ไม่น่าจะน้อยหน้าใครเท่าไหร่
นุ่น: มันคงจะดีถ้าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เราได้อยู่คนเดียว แต่มีคนอื่นที่ได้ด้วย ทุกคนมีความจำเป็นต้องใช้เงิน ต่อให้คนที่ติสต์แตกก็ต้องมีเงิน แต่เราจะมีเงินแบบไหนล่ะ ในหนังสือเล่มนี้กำลังจะบอกว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำอาชีพอะไร ก็สามารถทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ทั้งนั้น และเนื้อหาในเล่มนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ให้คุณได้ พวกเราทำหนังสือเล่มนี้ด้วยอุดมการณ์แบบนี้จริงๆ ท็อป: หนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นหนังสือตลกแต่ไม่ทำให้คุณเครียด หนังสือเล่มนี้จะเป็นพื้นฐานที่ทำให้คุณได้ทำงานที่ได้ทั้งเงิน ความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง คนรอบข้างที่อยู่รอบตัว ผมดีใจที่หนังสือเสร็จเรียบร้อย แต่มันคงไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าไม่มีคนอ่าน
ถ่ายภาพบทสัมภาษณ์โดย พีรพัฒน์ วิมลรังครัตน์
FACT BOX:
ECO DESIGN THAI THAI: คืออีบุ๊กที่จัดทำโดย ECOSHOP ซึ่งในหนังสือคุณจะพบแนวคิดเกี่ยวกับกิจการเพื่อสังคม การออกแบบเพื่อสิ่งแวดล้อม กรณีตัวอย่างของธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ประสบความสำเร็จทั้งในและต่างประเทศ ขั้นตอนสู่การเป็นผู้ประกอบการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม บทสัมภาษณ์บุคคลในแวดวงอีโค รวมถึง Product Catalog ที่จะจุดประกายให้เกิดแรงบันดาลใจโดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการทำงานเพื่อให้ได้ทั้งรายรับและการยอมรับ ดาวน์โหลดอีบุ๊ก (ฟรี) ตั้งแต่วันนี้ถึง 18 ก.พ. 60 เพียงกรอกรหัส ‘eco’ ผ่านแอปพลิเคชัน Ookbee (จากราคาปกติ 199 บาท) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ pod.ookbee.com/Book/2256 หรือ www.facebook.com/ecoshopcommon.bangkok
Tags: book, design, ECO, Social