ปี 2016 มีเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ในประเทศไทยที่น่าสนใจหลายด้าน ทั้งหนังที่ฉายในโรง, โรงหนัง, โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์, เพจหนัง ฯลฯ

The Momentum ได้รวบรวมเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นมากล่าวถึงโดยสรุป เพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ดังนี้

หนังที่ฉายในโรง

1. Your Name และ Train to Busan ปรากฏการณ์หนังเอเชียม้ามืดแห่งปี

“หนังเอเชียผ่านจุดสูงสุดไปนานแล้ว”

นี่คือคำกล่าวที่ได้ยินกันทั่วไป เนื่องจากหนังจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี แม้จะมีที่ทางในตลาดหนังบ้านเรา แต่ก็ยากที่จะทำเงินถล่มทลายแบบหนังฮอลลีวูด แต่ในปี 2016 กลับมีหนังเอเชียม้ามืดทำเงินในระดับทำลายสถิติถึง 2 เรื่อง

Train to Busan เป็นหนังเกาหลีแนวซอมบี้ ซึ่งเป็นแนวหนังที่มีการสร้างกันจนเกร่อ แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องนี้โดดเด่น คือการใส่เนื้อหาดราม่าเข้มข้นและเร้าอารมณ์สไตล์หนังเกาหลี ในขณะที่งานสร้างและเอฟเฟกต์ก็ไม่น้อยหน้าหนังฮอลลีวูด

ส่วน Your Name เป็นแอนิเมชันญี่ปุ่น ซึ่งถูกมองว่าเฉพาะกลุ่ม (Your Name เป็นแอนิเมชันที่ไม่ได้ดัดแปลงจากหนังสือการ์ตูน เช่นเดียวกับหนังของสตูดิโอจิบลิ ซึ่งทำเงินในไทยไม่เคยเกิน 2 ล้านบาท) แต่สิ่งที่ทำให้หนังดึงดูดผู้ชมเป็นวงกว้างคือ เนื้อหาที่ถูกใจวัยรุ่น การผสมผสานหนังรักวัยรุ่นเข้ากับไซไฟได้อย่างลงตัว ภาพและเพลงประกอบอันงดงาม

ผลก็คือหนังทั้ง 2 เรื่องซึ่งจากเดิมที่จะได้ฉายแบบจำกัดโรง กลับเกิดกระแสปากต่อปากและเสียงเรียกร้องจากผู้ชม จนมีการขยายโรงฉายไปทั่วประเทศ (ยิ่งถือเป็นความพิเศษ เมื่อคิดว่า Your Name ฉายแค่ฉบับเสียงญี่ปุ่น ไม่มีพากย์ไทย) ผลก็คือ Train to Busan ทำเงินไปมากกว่า 60 ล้านบาท กลายเป็นหนังเอเชียทำเงินในไทยสูงสุดอันดับสองรองจาก Kung Fu Hustle (2004) ส่วน Your Name ทำเงินไป 45 ล้านบาท กลายเป็นแอนิเมชันญี่ปุ่นทำเงินสูงสุดในไทยแซงหน้า Stand by Me Doraemon (2014)

2. หลวงพี่แจ๊ส 4G และ ป๊าด 888 แรงทะลุนรก – พจน์ อานนท์ Never Die

พจน์ อานนท์ เป็นผู้กำกับหนังไทยที่ทำงานต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี และมีคนชอบและไม่ชอบผลงานของเขาแบบสุดขั้ว กล่าวคือ หนังของเขาทำเงินน่าพอใจอยู่ใน 10-35 ล้าน และมีกลุ่มผู้ชมติดตามสม่ำเสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็มีผู้ชมหลายคนที่วิจารณ์ถึงคุณภาพหนังว่าต่ำกว่ามาตรฐาน (เห็นได้จากเวลาที่เพจของโรงหนังโพสต์โปรโมตหนังของเขา คอมเมนต์มักจะเดือดเป็นไฟอยู่เสมอ)

ปีนี้พจน์ อานนท์ มีผลงานกำกับหนัง 2 เรื่องภายใต้นามแฝงว่า ‘นโม พุธโธ สังโฆ’ นั่นคือ หลวงพี่แจ๊ส 4Gและ ป๊าด 888 แรงทะลุนรก โดยได้รับทุนสร้างจากเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ เรื่องแรกทำเงินถล่มทลายถึง 300 ล้านบาท (ข้อมูลจาก flickz.com) กลายเป็นหนังไทยทำเงินสูงสุดแห่งปี ส่วนรายได้ 30 ล้านบาทของ ป๊าด 888 แรงทะลุนรก แม้จะไม่มากเท่า (เนื่องจากฉายในช่วงที่ชาวไทยกำลังโศกเศร้า บวกกับหนังได้รับเสียงวิจารณ์แง่ลบอย่างมาก) แต่ข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องแจ้งว่ารายได้ในต่างจังหวัดสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 2 เท่า

พจน์ยังเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างกระแส ทั้งการบอกว่าตัวเองไม่ใช่ผู้กำกับหนังเรื่อง หลวงพี่แจ๊ส 4G แต่มายอมรับในภายหลัง, การประกาศว่าให้ไปดูในโรงเพราะจะไม่ทำดีวีดีออกมา แต่สุดท้ายก็ทำ, การเกิดความขัดแย้งกับนักแสดง บวกกับข้อความในโซเชียลเน็ตเวิร์กของเขาที่ก่อให้เกิดการถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง บวกกับการที่หนังของเขาสามารถทำกำไรได้ทุกเรื่อง ทำให้ไม่น่าแปลกใจหากเราจะยังได้ยินชื่อของเขา และได้เห็นหนังของ พจน์ อานนท์ เข้าฉายแบบนี้เรื่อยๆ ทุกปี

3. Documentary Club สารคดีก็ทำเงินได้

เมื่อก่อนสารคดีถูกมองไม่ต่างจาก ‘ยาขม’ ว่าเป็นของกินยาก เครียด ไม่สนุก เหมาะกับการฉายทางทีวีเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับมีสารคดีเข้าฉายในโรงมากขึ้นทั้งทั่วโลกและในไทย  ซึ่งหลายเรื่องประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ความนิยมดังกล่าวนอกจากจะเป็นไปตามเทรนด์ของโลกแล้ว (สารคดีได้รับความนิยมขึ้น เนื่องจากเทคนิคการถ่ายทำที่ง่ายขึ้น และโลกที่วุ่นวายขึ้น จนผู้ชมหันมาสนใจหนังแนวสมจริง ประเด็นเข้มข้นมากขึ้น) กระแสหนังที่เกิดในประเทศไทยยังเกิดจากการผลักดันที่ดีจากกลุ่ม Documentary Club

กลุ่มนี้ก่อตั้งโดย ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ (อดีต บ.ก. นิตยสาร Bioscope) กลยุทธ์ของกลุ่มไม่ได้อยู่ที่การเน้นฉายในวงกว้าง หรืออัดฉีดโฆษณาแบบหนังฟอร์มใหญ่ แต่เน้นการโปรโมตด้วยการให้ข้อมูลที่น่าสนใจในเฟซบุ๊ก อีกทั้งยังฉายในโรงกับรอบไม่กว้าง แต่เน้นไปที่กลุ่มเป้าหมายจริงๆ

ผลก็คือหนังสารคดีอย่าง Oasis: Supersonic, Where to Invade Next, Tsukiji Wonderland ทำรายได้เกินล้านบาท (เยอะกว่าหนังฉายวงกว้างบางเรื่องเสียอีก) นอกจากฉายหนังในโรง ทางกลุ่มยังส่งเสริมให้มีการจัดฉายหนังหรือเสวนานอกโรงหนังอีกหลายครั้ง ทำให้ Documentary Club เป็นกลุ่มจัดจำหน่ายหนังอิสระที่น่าจับตามองที่สุดในช่วงเวลานี้

4. หนังไทยจากผู้สร้างอิสระ – ทางเลือกใหม่ที่น่าสนใจ

“หนังไทยก็สร้างวนเวียนแต่แบบเดิมๆ หาความแปลกใหม่แทบไม่ได้” คำกล่าวยอดฮิตนี้ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าไม่จริง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีหนังไทยที่มีความแปลกใหม่ทั้งเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอหลายเรื่อง แต่ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร หรือฉายในวงแคบเกินไปจนผู้ชมมองไม่เห็น

ในปีนี้ หนังไทยจาก ‘สตูดิโอใหญ่’ ส่วนมากไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้และเสียงวิจารณ์สักเท่าไหร่ ในขณะที่หนังอิสระซึ่งไม่ได้สังกัดค่ายใหญ่ (มีทั้งที่ได้ทุนจากต่างประเทศ, จากนายทุนไทยอิสระ หรือได้งบสนับสนุนจากภาครัฐหรือเอกชน) ด้านรายได้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเช่นกัน แต่ด้านคุณภาพถือว่าน่าสนใจ เพราะมีทั้งหนังที่มีรูปแบบนำเสนอแปลกใหม่แบบหนังอาร์ตเฮาส์ อย่าง มหาสมุทรและสุสาน, ดาวคะนอง, ธุดงควัตร, โรงแรมต่างดาว รวมถึงหนังที่เล่าเรื่องตามขนบ แต่มีองค์ประกอบน่าสนใจอย่าง ปั๊มน้ำมัน, หนุมานคลุกฝุ่น, From Bangkok to Mandalay ซึ่งถ้าผู้ชมให้โอกาสหนังประเภทนี้ ก็จะทำให้วงการหนังไทยเกิดหนังที่น่าสนใจตามมาอีกหลายเรื่อง

โรงหนัง

5. Bangkok Screening Room โรงหนังทางเลือกแห่งใหม่

โรงหนังในไทยถือว่ามีความหลากหลายน้อยกว่าประเทศอื่น เพราะถูกครอบครองโดย 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ นอกจากนั้นก็มีโรงหนังอิสระเพียงแค่ Apex และ House RCA ซึ่งนั่นทำให้การเปิดตัวของโรงหนังใหม่อย่าง Bangkok Screening Room จึงเป็นเรื่องน่ายินดี

โรงหนังตั้งอยู่ที่สีลมแห่งนี้อาจมีราคาตั๋วที่สูงกว่ามาตรฐาน (300 บาท) อีกทั้งยังมีเพียงโรงเดียวและขนาดเล็ก แต่จุดเด่นอยู่ที่หนังทางเลือกที่นำมาฉาย ซึ่งมีทั้งหนังใหม่และหนังคลาสสิกที่หาชมในโรงได้ยาก อีกทั้งมีระบบฉายที่น่าสนใจอย่างการเปิดฉายหนังสั้นแทนการฉายโฆษณา การแบ่งรายได้กับเจ้าของหนังโดยตรงแบบ 50-50 ทำให้โรงหนังแห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำหรับผู้ชมและผู้สร้างหนังอิสระ ซึ่งเราหวังว่าจะอยู่ด้วยกันไปอีกนานๆ

6. ‘ต่างจังหวัดก็อยากดูหนังเรื่องนี้’ เสียงเรียกร้องจากผู้ชมที่ดังขึ้นเรื่อยๆ

ที่ผ่านมา หนังที่จะได้เข้าฉายในโรงหนังต่างจังหวัดจะถูกคัดเลือกโดยสายหนังของแต่ละภาค ซึ่งเป็นผู้ซื้อขาดจากเจ้าของลิขสิทธิ์มาฉายในภูมิภาคตัวเอง ผลก็คือสายหนังมีสิทธิ์ขาดในการเลือกหนัง ทำให้หนังทางเลือกไม่ได้รับการฉายในต่างจังหวัดสักเท่าไหร่

แต่ปัจจุบันเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากผู้ชมที่ต้องการให้หนังไปฉายในต่างจังหวัดมากขึ้น เห็นได้จากคอมเมนต์ในแฟนเพจของเจ้าของหนัง/โรงหนัง และเพจที่เรียกร้องให้หนังทางเลือกไปฉายที่จังหวัดตัวเอง (เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่) ผลก็คือหนังที่เคยมีแผนจัดฉายแค่ในกรุงเทพฯ กลับได้ฉายในต่างจังหวัดเป็นวงกว้าง เช่น  Me Before You, Your Name, Sing Street รวมถึงหนังอย่าง If Cats Disappeared from the World, Finding Calico, Oasis: Supersonic

ทำให้เห็นว่าผู้ชมต่างจังหวัดมีความต้องการที่จะรับชมหนังที่หลากหลายเหมือนคนในเมืองใหญ่ อีกทั้งเสียงของผู้บริโภคนั้นมีความหมาย ส่งผลให้วิธีคิดแบบสายหนังยุคเก่าใช้ไม่ได้อีกต่อไป

โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์

7. Sreaming Video โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์มาแรง ซึ่งกำลังมาแทนทางเลือกเก่า

โฮมเอนเตอร์เทนเมนต์ที่กำลังมาแรงในตอนนี้อย่างสตรีมมิงวิดีโอ ซึ่งจ่ายเงินรายเดือน แล้วดูผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ได้ไม่อั้น เช่น Netflix, iflix, Monomaxxx, PrimeTime, Hollywood HDTV ทั้งหมดนี้มีจุดเด่นอยู่ที่ความสะดวกสบาย, เลือกดูได้หลายแพลตฟอร์ม (โน้ตบุ๊ก, แท็บเล็ต, มือถือ), มีคอนเทนต์หลากหลาย ทั้งหนัง ซีรีส์ สารคดี (Netflix ถึงขั้นมีนโยบายสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ เป็นของตัวเอง), จัดหมวดหมู่เป็นระเบียบ, ส่วนใหญ่มีคำบรรยายภาษาไทย, ค่าบริการไม่แพงจนเกินไป (100–400 บาทต่อเดือน)

นั่นทำให้แพลตฟอร์มเดิมอย่าง ดีวีดี วีซีดี รวมถึงบลูเรย์ (ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นอนาคตของโฮมเอนเตอร์เทนเมนต์) ต้องพบกับขาลง เห็นได้จากร้านขาย/เช่าดีวีดีที่ทยอยปิดกิจการและข่าวที่ดีวีดี หมู่ ของโน้ต อุดม ทำยอดขายลดลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นว่า การดูหนังแบบแอนะล็อก หรือความคิดที่ว่าหนังต้องทำเป็นแผ่นจับต้องได้กำลังจะหายไป และการดูหนังที่ลอยในอากาศกำลังเป็นสิ่งที่คนรุ่นนี้คุ้นเคย

8. ซีรีส์กำลังแย่งความสนใจที่มีต่อหนังฉายในโรงจากผู้ชม

ช่วง 4-5 ปีหลัง ถือเป็นยุคทองของซีรีส์ เห็นได้จากซีรีส์ Game of Thrones, The Walking Dead, Breaking Bad ที่ได้รับการพูดถึงอย่างมากและที่เป็นกระแสในปีนี้คือ Westworld, Black Mirror, Stranger Things และ Mr. Robot

จุดเด่นของซีรีส์ยุคนี้อยู่ที่งานสร้าง ซึ่งเทียบชั้นได้กับภาพยนตร์ แถมยังเหนือกว่าตรงที่เปิดโอกาสให้ผู้สร้างได้ทดลองทำในสิ่งที่แตกต่างและท้าทาย มีเวลาปูเรื่องและภูมิหลังตัวละคร และไม่จำเป็นต้องยึดติดกับพลังผู้กำกับหรือดารา (ทำให้มีผู้กำกับ, ดารา, ทีมงานสร้างหนังหลายคนหันมาทำซีรีส์กันมาก)

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้ชมหลายคนเลิกดูหนังแล้วหันไปดูซีรีส์แทน ไม่เชื่อลองสำรวจคนรอบตัว (หรือแม้แต่ตัวคุณเอง) ที่อาจใช้เวลาช่วงหยุดยาวนอนดูซีรีส์รวดเดียวหลายสิบตอนก็ได้

ผู้ชม

9. เพจหนังและบทวิจารณ์ออนไลน์ – อิทธิพลใหม่ต่อการเลือกซื้อตั๋วของผู้ชม

ในยุคที่ใครก็เป็นนักวิจารณ์หนังหรือเขียนถึงหนังได้ อำนาจของสื่อจึงถูกเปลี่ยนผ่านจากคนไม่กี่กลุ่มไปสู่ประชาชนทั่วไป ซึ่งเมื่อก่อนหากค่ายหนังต้องการโปรโมตหนังก็จำเป็นต้องพึ่งพาสื่อโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ หรือนิตยสารหนัง แต่ปัจจุบันสื่อที่ถูกใช้ในการโปรโมต อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อผู้ชมมาก ได้แก่ โซเชียลเน็ตเวิร์ก อย่างเพจหนังก็มักจะถูกเชิญไปรอบสื่อ พอหนังจบก็พร้อมจะโพสต์บทวิจารณ์ได้ทันที เพื่อให้ค่ายหนังสามารถนำค

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , , , , ,