“จริงหรือที่เรือลำนี้ไม่มีวันจม”
คำตอบของกะลาสีคือ
“ถูกแล้วคุณผู้หญิง แม้แต่พระเจ้าก็มิอาจจมเรือลำนี้”
อาร์เอ็มเอส ไททานิก (RMS Titanic) ถอนสมอออกจากท่าเรือเซาท์แทมป์ตันแห่งสหราชอาณาจักรในตอนเที่ยงวัน บนกราบเรือผู้โดยสารโบกมือให้กับฝูงคนเนืองแน่นที่พากันมาส่ง เรือเดินสมุทรลำใหญ่ที่สุดของโลกบ่ายหัวแล่นลอยห่างออกจากชายฝั่งเรื่อยๆ ตราบจนกระทั่งผืนแผ่นดินจางหาย ปลายทางของพาหนะลำนี้มุ่งหน้าไปขึ้นฝั่งยังมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เป็นครั้งแรกของการเผชิญร่องน้ำและเกลียวคลื่นกลางมหาสมุทรแอตแลนติก เรียกด้วยภาษาเดินเรือว่า Maiden Voyage
นั่นคือบรรยากาศในวันพุธที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 สองพันสองร้อยกว่าชีวิตเดินทางสู่แผ่นดินอีกทวีปโดยปราศจากกังวล ไม่มีใครสังเกตเห็นลางร้ายที่กำลังวนเวียนอยู่รอบลำเรือ ไม่มีใครคาดว่าเที่ยวแรกบนเรือสุดหรูจะกลายเป็นเที่ยวสุดท้ายในอีกไม่กี่วันต่อมา
23.40 น. คืนวันอาทิตย์ที่ 14 เมษายน ค.ศ. 1912 หัวเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกแฉลบเข้ากับภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทรแอตแลนติกห่างจากเซาท์แทมป์ตันไปทางใต้ราว 600 กิโลเมตร เกิดความเสียหายต่อตัวเรือหลายจุดโดยเฉพาะทางด้านกราบขวา ส่งผลให้ประตูกั้นน้ำบางส่วนเปิดออก มวลน้ำทะเลค่อยๆ ทะลักไหลเข้ามาในเรืออย่างไม่หยุดยั้งจวบจนน้ำท่วมเกือบมิดหัวเรือ และแล้วในเวลา 02.20 น. ของวันจันทร์ที่ 15 เมษายน ค.ศ. 1912 เรือเดินสมุทรซึ่งได้รับสมญานามว่า ‘ไม่มีวันจม’ (Unsinkable) ก็อับปางลงสู่ก้นมหาสมุทร
ท่ามกลางความมืดและอากาศยะเยือกหนาว ระคนเสียงกรีดร้องทั้งตกใจทั้งร่ำไห้ต่อการเผชิญชะตากรรมร้ายกาจที่ไม่คาดนึก หลายชีวิตบนเรือสับสนอลหม่าน ผู้โดยสารและลูกเรือบางส่วนได้ลงเรือชูชีพโดยเฉพาะเด็กและผู้หญิง เรือบดหลายต่อหลายลำถูกปล่อยลงมหาสมุทรทั้งๆ ที่ยังบรรทุกคนไม่เต็ม ในที่สุดโศกนาฏกรรมเศร้าสลดก็พลันบังเกิดขึ้น โครงสร้างเรือแตกพัง ปล่องไฟหักโค่น ไททานิกขาดออกเป็นสองท่อน มวลน้ำถาโถมท่วมมิดทั้งลำขณะที่ยังมีผู้โดยสารมากกว่า 1,500 ชีวิตติดอยู่ เสียงกรีดร้องสุดท้ายก้องสนั่น แล้วก็ค่อยๆ เงียบลงไปเรื่อยๆ เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าหลายชีวิตหมดสิ้นเรี่ยวแรง หรือบางทีมัจจุราชก็เกี้ยวพาราสีไปได้สำเร็จ อาจมีหลายคนที่ยังมิทันหมดสิ้นลมหายใจ บางคนรอดชีวิตได้เมื่อเรือช่วยเหลือหวนย้อนกลับมารับ แต่สำหรับบางคน พวกเขาไม่สามารถอดทนลอยคอในมหาสมุทรเย็นยะเยียบเยี่ยงน้ำแข็งต่อไปได้อีก อุบัติภัยดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1,514 ราย และมีผู้รอดชีวิตจากการช่วยเหลือของเรืออาร์เอ็มเอส คาร์พาเธีย (RMS Carpathia) จำนวน 710 ราย ทั้งหมดขึ้นฝั่งที่มหานครนิวยอร์กเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1912 อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในช่วงจากอาทิตย์ถึงจันทร์ย่อมเป็นฝันร้ายที่คอยหลอกหลอนผู้รอดชีวิตทุกคนมิลืมเลือน
แปดสิบห้าปีผ่านมา เรื่องราวของเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิกถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์รักโศกสะเทือนใจ ผลงานกำกับชิ้นโบว์แดงของ เจมส์ คาเมรอน (James Cameron) ออกฉายเมื่อปี ค.ศ. 1997 ทำรายได้มหาศาล พร้อมทั้งกวาดรางวัลสำคัญทางภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก ชนะเลิศรางวัลออสการ์ถึง 11 สาขา Titanic โดดเด่นขึ้นมาในทำเนียบภาพยนตร์อมตะคลาสสิกอันดับต้นๆ กินใจและประทับใจของผู้ชมทั่วโลกเสมอมา
ฉากหนึ่งในภาพยนตร์ที่ แจ็ก ดอว์สัน เล่นพนันโป๊กเกอร์กับคนที่มีตั๋วเรือไททานิก การเป็นผู้ชนะทำให้แจ็กได้ตั๋วเรือชั้นสามมาเป็นของตน บนเรือไททานิกชายหนุ่มบังเอิญได้รู้จักและสนิทสนมกับ โรส เดวิตต์ บูเคเตอร์ นำไปสู่ความสัมพันธ์แบบชู้รัก ด้วยเพราะโรสมีคู่หมั้นอยู่แล้ว ผู้ชมภาพยนตร์ย่อมรู้ดีว่าความรักของทั้งสองลงเอยเช่นไรในตอนท้ายเรื่อง สิ่งหนึ่งที่ชวนให้ครุ่นคิดหากกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจริงๆ ในวันพุธที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 การที่คนแพ้พนันโป๊กเกอร์เสียตั๋วเรือให้กับคนอื่นนั้น ดูเหมือนว่าเขาจะเป็นผู้แพ้ที่ช่างโชคดียิ่ง มิเช่นนั้นแล้ว ก็คงต้องเผชิญหน้ากับชะตากรรมในเที่ยวเรือมรณะด้วยตนเอง
ตามความเป็นจริงของเหตุการณ์ ปรากฏว่ามีผู้ที่จองตั๋วเรือเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว แต่กลับมิได้เดินทางไปกับเรือไททานิก กลุ่มคนเหล่านี้คือพวกที่เกือบจะได้ขึ้นเรือ ทว่าบางทีโชคชะตาก็เล่นตลก หากเชื่อเช่นนั้นก็ควรจะเชื่อต่อไปอีกว่า บางคราวการเล่นตลกของโชคชะตาก็ทำให้บางคนโชคดีได้เหมือนกัน ผู้จองตั๋วเรือไททานิกหลายคนเกิดปัญหาขัดข้องจนจำเป็นต้องยกเลิกตั๋วเรือก่อนออกเดินทางอย่างกะทันหัน กลุ่มคนเหล่านี้ไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าปัญหาขัดข้องที่เกิดขึ้นจะช่วยให้พวกเขาปลอดภัย
แผนการซึ่งเตรียมไว้พร้อมกลับมีอันสะดุดลง
ด้วยช่างประจำร้านที่ Savile Row ไม่สามารถตัดชุดสูทยูนิฟอร์มได้เสร็จทันตามกำหนดเวลา
คนไทยเกือบได้ขึ้นเรือไททานิก
ในความรู้สึกของผู้อ่านหนังสือและผู้ชมภาพยนตร์เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่นึกสงสัยขึ้นมาบ้างว่า บนเรือไททานิกมีคนไทยอยู่ด้วยหรือไม่ หรืออย่างน้อยที่สุดมีคนไทยเกี่ยวข้องกับเรือโดยสารลำนี้อยู่ด้วยหรือเปล่า จากความพากเพียรสืบค้นนานหลายปี พบว่ามีร่องรอยดังกล่าวปรากฏอยู่ในบางบรรทัดเรื่องเล่า เกือบมีคนไทยซึ่งหากเรียกด้วยฝีปากสมัยนั้นคือชาวสยามได้ขึ้นเรือไททานิกจากเซาท์แทมป์ตันเพื่อเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา ทว่ากลับมีเหตุขัดข้องให้มิอาจขึ้นเรือได้ทันตามกำหนด
หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล ซึ่งต่อมาภายหลังได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย นั่นล่ะคือชาวสยามผู้นั้น
ปี พ.ศ. 2454 อันตรงกับปี ค.ศ. 1911 หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ต้องไปรับตำแหน่งอัครราชทูตพิเศษประจำกรุงวอชิงตัน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเรือนวนตุง ท่านชายพร้อมครอบครัวออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เพื่อไปต่อเรือเออร์เนส ไซมอนจากท่าเรือในสิงคโปร์ เที่ยวเรือเดียวกันนี้ยังมีนายทหารสามนายผู้ได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาวิชาการบินในประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย อันได้แก่ นายพันตรีหลวงศักดิ์ศัลยาวุธ (สุณี สุวรรณประทีป) นายร้อยเอกหลวงอาวุธสิขิกร (หลง สินศุข) และนายร้อยโททิพย์ เกตุทัต
คำบอกเล่าของหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้เป็นธิดาทำให้ทราบว่า เมื่อหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์เดินทางถึงกรุงลอนดอน ก็ได้พำนักอยู่ที่นั่นระยะหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนจะออกเดินทางไปรายงานตัวรับตำแหน่งกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคือ นายวิลเลียม ฮาวเวิร์ด แทฟต์ (William Howard Taft) ในระหว่างประทับ ณ กรุงลอนดอนนั้น ท่านชายสั่งตัดชุดสูทยูนิฟอร์มสำหรับสวมใส่ในงานพิธีที่ร้านตัดชุดเลื่องชื่อแห่งยุคสมัยอย่าง Savile Row ย่านหรูหราในเขตเมย์แฟร์ พร้อมทั้งจองตั๋วเรือเดินสมุทรสุดหรูเพื่อโดยสารไปสู่สหรัฐอเมริกาช่วงเดือนเมษายน ค.ศ. 1912
แต่แล้วเมื่อถึงวันจะออกเดินทาง และได้ไปที่ร้านตัดชุดสูทแห่งนั้น แผนการซึ่งเตรียมไว้พร้อมกลับมีอันสะดุดลง ด้วยช่างประจำร้านที่ Savile Row ไม่สามารถตัดชุดสูทยูนิฟอร์มได้เสร็จทันตามกำหนดเวลา เป็นเหตุให้หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์จำเป็นต้องยกเลิกตั๋วเรือโดยสารลำเดิมซึ่งมีกำหนดออกจากท่าเซาท์แทมป์ตันตอนเที่ยงวันพุธที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1912 การตัดสินใจแก้ปัญหากลับกลายเป็นโชคดีของท่านชายจากสยามประเทศ เพราะชื่อของเรือลำที่ได้จองตั๋วไว้คือ อาร์เอ็มเอส ไททานิก
ครอบครัวหนึ่งจากสยาม บนเรือไททานิก
ถึงแม้ชาวสยามอย่างหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล จะมีเหตุขัดข้องจนมิได้ขึ้นเรือไททานิก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีผู้เดินทางจากสยามเกี่ยวข้องกับเรือลำดังกล่าวเสียเลย เพราะปรากฏหลักฐานว่ามีครอบครัวมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียน (American Presbyterian) ครอบครัวหนึ่ง ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครนานสามปี โดยสารเรือเดินข้ามสมุทรลำใหญ่ที่สุดในเวลานั้นเพื่อหวนกลับบ้านเดิมที่ อิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา แน่นอนว่าครอบครัวนี้ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์เรือไททานิกชนภูเขาน้ำแข็งด้วย นั่นคือ ครอบครัวคอลด์เวลล์ (Caldwell Family)
สมาชิกของครอบครัวคอลด์เวลล์ประกอบด้วย นายอัลเบิร์ต ฟรานซิส คอลด์เวลล์ (Albert Francis Caldwell) วัยยี่สิบหกปี พร้อมด้วยภรรยาคือ นางซิลเวีย แม คอลด์เวลล์ (Sylvia Mae Caldwell) ซึ่งแก่กว่าสามีสองปี และแอลเดน เกตส์ คอลด์เวลล์ (Alden Gates Caldwell) บุตรชายอายุเพียงสิบเดือน ซึ่งถือกำเนิดในบางกอกบนแผ่นดินสยาม อัลเบิร์ตและซิลเวียพบรักและแต่งงานกันในสหรัฐอเมริกา ต่อมาจึงได้เดินทางมาเป็นมิชชันนารีสอนหนังสือในโรงเรียนชายล้วน ซึ่งก่อตั้งโดยคณะมิชชันนารีอเมริกันเพรสไบทีเรียนในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันก็คือโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ภายหลังจากเป็นครูประเทศสยามมาแล้วสองปี อัลเบิร์ตตัดสินใจพาครอบครัวกลับไปยังอิลลินอยส์ เนื่องจากสภาพเมืองเขตร้อนอย่างสยามประเทศไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของซิลเวียซึ่งนับวันจะย่ำแย่ลง แม้ว่าหลังจากคลอดบุตรแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น การเดินทางยาวนานจากสยามมาสู่กรุงลอนดอน พร้อมด้วยภรรยาป่วยกระเสาะกระแสะ และบุตรชายที่ยังทารกมากๆ ทำให้หัวหน้าครอบครัวคอลด์เวลล์ตระหนักว่าเรือโดยสารสำหรับเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นเรือขนาดใหญ่ เพื่อให้สะดวกและเป็นผลดีต่อสุขภาพของซิลเวีย ซึ่งมักจะมีอาการเมาคลื่น อัลเบิร์ตสนใจที่จะจองตั๋วเรืออาร์เอ็มเอส ไททานิก เพราะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความยิ่งใหญ่และสะดวกสบาย อีกทั้งจากแผ่นป้ายโฆษณาที่ได้เห็นชวนให้ตื่นเต้นว่าเรือไททานิกกำลังจะออกเดินทางเป็นครั้งแรก
เมื่อมาถึงกรุงลอนดอน อัลเบิร์ตพบว่าตั๋วโดยสารของเรือลำที่เขาสนใจถูกจองไว้เต็มหมดแล้ว หัวหน้าครอบครัวคอลด์เวลล์เทียวไปเทียวมาออฟฟิศไวต์สตาร์ไลน์ (White Star Line) บริษัทการเดินเรือผู้เป็นเจ้าของไททานิกเพื่อคอยเฝ้าดูว่าจะมีผู้มายกเลิกการจองตั๋วหรือไม่ อัลเบิร์ตปรารถนาตั๋วเรือชั้นสอง ทว่าจากการวนเวียนแถวออฟฟิศ ในวันถัดมาเขาเริ่มทำใจแล้วว่าอาจจะต้องยอมจ่ายเงินมากหน่อยเพื่อให้ได้ตั๋วเรือชั้นหนึ่ง หรือไม่ก็ต้องยินดีต่อตั๋วเรือชั้นสาม แต่แล้วก่อนที่วันนั้นจะสิ้นสุดลง อัลเบิร์ตก็ได้ตั๋วเรือชั้นสองตามปรารถนา นั่นคือ ตั๋วเลขที่ 248738 โดยเป็นตั๋วเรือที่มีผู้ยกเลิกการจองด้วยเหตุขัดข้องบางอย่าง
มองย้อนถึงกรณีของหม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์ เทวกุล ก็ชวนให้ลองนึกสนุกว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ตั๋วเรือซึ่งอัลเบิร์ตได้มาอาจจะเป็นตั๋วเรือที่ท่านชายจากสยามประเทศยกเลิกการจอง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้รายละเอียดตั๋วเรือที่หม่อมเจ้าไตรทศประพันธ์จองไว้ แต่หากลองพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์แล้ว บุคคลระดับที่จะเดินทางไปรับตำแหน่งอัครราชทูต ย่อมจองตั๋วเรือชั้นหนึ่งเป็นแน่
ระหว่างนั่งรถไฟจากลอนดอนมาขึ้นเรือที่เซาท์แทมป์ตัน ครอบครัวคอลด์เวลล์ยังได้ฟังกิตติศัพท์ของเรือไททานิกผ่านปากคำผู้โดยสารคนอื่นอีกว่า เหตุที่เรือเดินสมุทรลำนี้จะไม่มีวันจมก็เพราะกัปตันสามารถกดปุ่มไฟฟ้าปิดประตูกั้นน้ำได้ และเมื่อมาถึงท่าเรือแล้ว ซิลเวียยังเอ่ยถามกะลาสีปากเรือว่า “จริงหรือที่เรือลำนี้ไม่มีวันจม” คำตอบของกะลาสีคือ “ถูกแล้วคุณผู้หญิง แม้แต่พระเจ้าก็มิอาจจมเรือลำนี้”
ในที่สุดครอบครัวคอลด์เวลล์ก็ได้ร่วมเดินทางไปพร้อมกับเรือไททานิก ด้วยความเป็นคนชอบถ่ายรูป ขณะอยู่บนเรืออัลเบิร์ตเตร่ไปตามบริเวณต่างๆ เพื่อบันทึกภาพไว้ในกล้องของเขา คนกลุ่มหนึ่งที่ครูหนุ่มผู้เคยสอนหนังสือในประเทศสยามถ่ายรูปไว้คือ พวกถือพลั่วตักถ่านหินเข้าสู่เตาหลอมใต้ท้องเรือ ขณะเดียวกันมิชชันนารีอเมริกันก็ทำท่าถือพลั่วแล้วให้พวกคนตักถ่านหินช่วยถ่ายภาพของเขาเอาไว้ด้วย อัลเบิร์ตมิได้คาดคิดหรอกว่าการได้รู้จักกับกลุ่มคนเหล่านี้จะส่งผลต่อความปลอดภัยของชีวิตเขาและครอบครัว
ตอนเรือไททานิกชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งแล้วมวลน้ำค่อยๆ ทะลักไหลเข้ามาในตัวเรือ อัลเบิร์ตยังคงเชื่อมั่นว่ากัปตันจะสามารถกดปุ่มไฟฟ้าปิดประตูกั้นน้ำไว้ได้ แต่แล้วเมื่อสถานการณ์บนเรือยิ่งเลวร้าย เต็มไปด้วยความอลหม่านเกินควบคุม อัลเบิร์ตจึงตระหนักดีว่าถึงอย่างไรเรือที่ไม่มีวันจมก็มิอาจหลีกเลี่ยงการอับปางสู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกได้เสียแล้ว ความรู้สึกของมิชชันนารีย่อมเข้าใจถึงภาวะปลงตก อย่างไรก็ตาม ครอบครัวคอลด์เวลล์เป็นหนึ่งในไม่กี่ครอบครัวที่สมาชิกทุกคนรอดชีวิตมาได้ คนถือพลั่วตักถ่านหินซึ่งอัลเบิร์ตเคยถ่ายรูปนั่นแหละที่บอกมิชชันนารีหนุ่มว่าเรือชูชีพลำที่ 13 ยังคงว่างอยู่ และด้วยเรือบดหมายเลขนี้เอง ครอบครัวที่เดินทางมาจากประเทศสยามจึงสามารถไปขึ้นฝั่งอีกครั้ง ณ มหานครนิวยอร์กได้
ส่งท้าย
ระหว่างคลำทางหาข้อมูลเรื่องคนไทยกับเรือไททานิกนานหลายปี ผลพลอยได้คือการพบร่องรอยของเรือโดยสารอีกลำที่อับปางลงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 บนเรือลำนั้นมีคนไทยอยู่ด้วยสามคน สองคนจบสิ้นลมหายใจในท้องทะเล หากอีกคนกลับรอดชีวิตมาได้ ทั้งยังมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ไทยด้วย
โปรดติดตามตอนต่อไปด้วยหทัยระทึก!
อ้างอิง:
- พันธุ์ทิพย์ บริพัตร, หม่อมราชวงศ์. (2512). เรื่องที่ข้าพเจ้าสนใจ (My life and Interests).พระนคร : กรุงสยามการพิมพ์
- พันธุ์ทิพย์ บริพัตร, หม่อมราชวงศ์. (2526). พระประวัติและงานของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไตรทศประพันธ์ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พิมพ์เป็นพระอนุสรณ์ถวายในวาระวันประสูติครบ 100 ปี 11 สิงหาคม 2526. กรุงเทพฯ : บริษัทคราฟแมนเพรส จำกัด
- รัชต์ รัตนวิจารณ์, พ.อ.อ. (2555). “ครบรอบ ๑๐๐ ปี การบินของบุพการีทหารอากาศ” ใน ข่าวทหารอากาศ ปีที่ 72 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม
- Julie Hedgepeth Williams. (2012). A Rare Titanic Family: The Caldwells Story of Survival. Montgomery, Alabama: NewSouth Books