เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายจริงๆ สำหรับการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือร่างแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่กำลังจะผ่านการพิจารณาจาก สนช. ในวาระที่ 3 ก่อนบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในเร็ววันนี้

ก่อนจะถึงเวลานั้น The Momentum อยากชวนคุณมาทบทวนอีกครั้งว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างหากปล่อยให้ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับนี้ผ่านการพิจารณา เพื่อที่คุณจะได้ไตร่ตรองว่าจะร่วมเป็นเสียงหนึ่งในการคัดค้าน หรือควรจะเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. ฉบับนี้กันแน่

1. ต้องระมัดระวังการวิพากษ์วิจารณ์ผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น

สำหรับร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่นี้ ข้อความที่ระบุว่าการเผยแพร่ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ” ในมาตรา 14 (1) ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมามีความคลุมเครือในการบังคับใช้ และมักจะถูกตีความเพื่อจำกัดการตรวจสอบผู้มีอำนาจทั้งในภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เจตนารมณ์แท้จริงของกฎหมายคือการมุ่งแก้ปัญหาการปลอมแปลงตัวตนเพื่อหลอกลวงทางออนไลน์เท่านั้น

แต่ในมาตรา 14 (2) ของร่างที่กำลังมีการแก้ไข ยังกำหนดฐานความผิดให้ยิ่งคลุมเครือมากยิ่งขึ้น เช่น ความผิดฐานโพสต์ข้อมูลเท็จที่กระทบต่อ “ความปลอดภัยสาธารณะ” “ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” หรือ “การบริการสาธารณะ” ซึ่งไม่มีนิยามที่ชัดเจนในกฎหมายว่าหมายถึงอะไรบ้าง อาจทำให้การบังคับใช้มีปัญหา และเกิดการตีความโดยเจ้าหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจในเวลานั้น

ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือ เฝ้าจับตามองการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้อย่างใกล้ชิด และระมัดระวังการแสดงความคิดเห็นที่อาจจะขัดแย้งกับผู้มีอำนาจโดยตรง

2. รีบบล็อก รีบปิด โจทย์ใหม่ของผู้ให้บริการ

สำหรับผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียต่างๆ วิธีการทำงานต่อจากนี้อาจจะต้องเปลี่ยนไป เพราะมีภาระรับผิดชอบใหม่ตามข้อ 5 (2) ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 15 ของร่างใหม่ ที่ระบุว่า ผู้ให้บริการเว็บไซต์ท่าและโซเชียลมีเดียจะต้องระงับหรือลบข้อมูลภายใน 3 วัน หลังได้รับแจ้ง ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษเท่ากับผู้โพสต์ ซึ่งขั้นตอนการแจ้งตามมาตรา 15 ดังกล่าว ไม่มีการตรวจสอบโดยศาล และผู้แจ้งจะเป็นใครก็ได้

หมายความว่าเว็บไซต์ หรือข้อมูลต่างๆ ในโลกออนไลน์อาจหายวับไปอย่างรวดเร็วโดยไม่มีใครรู้ตัว เพราะการปิดเว็บด้วยมาตรา 15 จะทำได้สะดวกกว่าการใช้มาตรา 20 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิมซึ่งต้องใช้คำสั่งศาล

3. อาจไม่มีความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ตอีกต่อไป

ตามมาตรา 20 ของร่างใหม่ ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีออกประกาศเพิ่มเติมเรื่องวิธีการปิดกั้นเว็บไซต์ได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้ปรากฏเอกสารของกระทรวงไอซีทีว่ามีการเตรียมออกประกาศให้สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกเข้ารหัส เพื่อให้สามารถปิดกั้นเว็บไซต์ที่เข้ารหัส HTTPS ได้

นอกจากนี้ในข้อ 8 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ยังได้เขียนให้อำนาจผู้ให้บริการ (เช่น ผู้ให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์) “ดำเนินการด้วยมาตรการทางเทคนิคใดๆ (Technical Measures) ที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้บังเกิดผลตามคำสั่งศาล” ภายใน 15 วัน

นั่นหมายความว่าการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการรบกวนระบบรักษาความปลอดภัยของอินเทอร์เน็ต และทำให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดตกอยู่ในความไม่ปลอดภัย แม้จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเลยก็ตาม

4. เว็บถูกบล็อกได้เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว

จากเดิมที่ต้องขอคำสั่งศาลเพื่อปิดเว็บไซต์ตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับเดิม แต่ร่างใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกลับขยายอำนาจในมาตรา 20 ให้สามารถปิดเว็บไซต์ที่อาจจะผิดกฎหมายอาญาอื่น รวมถึงเนื้อหาที่ถูกกล่าวหาว่า “ละเมิดลิขสิทธิ์” โดยในข้อ 4 ของร่างประกาศกระทรวงดิจิทัลตามอำนาจมาตรา 20 ได้ระบุให้มีการจัดตั้งศูนย์กลาง “เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั่นเอง โดยอาจเชื่อมโยงระบบดังกล่าวเข้ากับระบบการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการในแต่ละรายโดยความยินยอมของผู้ให้บริการก็ได้”

แสดงว่าต่อจากนี้ระบบดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมการระงับและลบข้อมูลของฝั่งผู้ให้บริการได้ทันที และทำให้การตรวจสอบโดยศาลก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้อำนาจอาจถูกข้ามไปก่อนได้ในทางปฏิบัติ

5. แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่ ‘ผิดศีลธรรม’ ก็ถูกบล็อกได้

อีกมาตราหนึ่งที่ถือเป็นปัญหาสำหรับร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่คือมาตรา 20/1 เรื่องการปิดกั้นเว็บไซต์ระบุว่า หากคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์เห็นว่าเนื้อหาเหล่านั้น “ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี” ก็อาจทำให้เว็บไซต์ถูกบล็อกได้เช่นกัน แม้ว่าเนื้อหาบนเว็บไซต์จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลยก็ตาม

ทั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองฯ อาจมีได้หลายคณะ แต่ละคณะจะมีกรรมการ 5 คน มาจากการแต่งตั้งของรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัล และร่างกฎหมายยังไม่ได้กำหนดคุณสมบัติที่ชัดเจนของกรรมการอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลอีกมากมายในประเด็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติตามมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 16/2 (ภาระในการรู้ว่ามีข้อมูลที่มีความผิดอยู่ในระบบของตัวเองหรือไม่) มาตรา 18 (2) และ 18 (3) (โดยไม่ต้องขอคำสั่งศาล) และมาตรา 26 (เพิ่มระยะเวลาเก็บข้อมูลการจราจร โดยไม่ได้ระบุถึงสิทธิในการอุทธรณ์ของผู้ได้รับผลกระทบ)

จะผ่านไม่ผ่านก็ควรค้านไว้ก่อน

มีแนวโน้มว่าวันที่ 16 ธันวาคมนี้ สนช. อาจมีการพิจารณาผ่านร่าง พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่ในวาระ 3 ก่อนมีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว แต่จนถึงนาทีนี้ผู้ใช้เน็ตชาวไทยก็ยังสามารถส่งเสียงคัดค้านได้หากไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

แม้จะไม่เกิดผลในทางปฏิบัติ แต่จำนวนเสียงคัดค้านจำนวนมากอาจมีผลในทางอื่นๆ ซึ่ง อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ให้ความเห็นกับ The Momentum ว่า

“จนถึงนาทีนี้ เสียงคัดค้านคงไม่เปลี่ยนใจอะไรเขาได้หรอก แต่มันก็สำคัญเพราะมันทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แม้กระทั่งในภาวะแบบนี้ที่คนค่อนข้างกลัวว่าถ้าแสดงออกอะไรต่างๆ แล้วจะส่งผลกระทบอะไรกับตัวเขาไหม แต่ก็ยังมีคนเป็นแสนออกมาบอกว่าไม่เห็นด้วย ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่ามันเป็นการสะท้อนกระบวนการทำงานของ สนช. ได้เป็นอย่างดี

“คือที่ผ่านมากระบวนการพูดคุยเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ค่อนข้างจำกัดมาก ถ้าสนช. ยังยืนยันจะออกกฎหมายนี้มา ประชาชนก็มีสิทธิจะตั้งคำถามเรื่องการมีส่วนร่วม และสะท้อนให้เห็นว่า สนช. ไม่ได้ฟังเสียงของประชาชนทั่วไปเลย แม้จะมีคนพยายามส่งเสียงเป็นแสนคน แต่คุณก็ยังไม่ฟัง แล้วกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ไม่ได้รับความสนใจเท่า พ.ร.บ. คอมฯ ก็อาจจะถูกตั้งคำถามต่อไปได้เหมือนกันว่า มันโอเคหรือเปล่า หรือมันโอเคกับใครกันแน่

“แน่นอนว่าในอนาคตจะมีการเลือกตั้ง แล้วเราก็มีโอกาสที่จะแก้กฎหมายนี้ได้ แต่มันก็ไม่ได้เป็นเหตุผลที่ทำไมเราจะไม่ออกมาค้านตั้งแต่ตอนนี้ เพราะการคัดค้านนี้จะกลายเป็นตัวเลข เป็นเสียงสะท้อนที่จะทำให้รัฐบาลใหม่ได้เห็นว่า นี่แหละคือสิ่งที่ถ้าคุณแก้ให้มันดีขึ้น ก็จะมีคนจำนวนนี้สนับสนุนคุณอยู่”

ร่วมคัดค้าน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ได้ทาง หยุด Single Gateway หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

หรือร่วมส่งเสียงไปยัง สนช. โดยตรง ด้วยวิธีการตามในลิงค์นี้ รณรงค์: ขอเสียงประชาชนหยุด! ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่

อ่านรายละเอียดของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ย้อนหลังได้ที่:

– หรือซิงเกิลเกตเวย์กำลังจะกลับมา? รวมเรื่องต้องรู้ พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ที่ต้องจับตามอง

– ประโยชน์รัฐหรือประโยชน์ใคร? อีกด้านของความจริง พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ จากเวทีเสวนาที่รัฐสภา

– หลากมุมมองสะท้อนปัญหา พ.ร.บ. คอมฯ ฉบับใหม่จากเวทีภาคประชาชน

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx
ที่มา: https://www.change.org/p/สนช-หยุด-single-gateway-หยุดกฎหมายล้วงข้อมูลส่วนบุคคล

Tags: