หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ประกาศจัดงานสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ที่อาคารรัฐสภา 2 เวลา 09.00-14.00 น. ก็อาจจะตีความได้แบบง่ายๆ ว่า ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่มีการปรับแก้และร่างใหม่มาเป็นแรมปีกำลังจะเสร็จสิ้น และประกาศบังคับใช้ในเวลาไม่นานต่อจากนี้

ท่ามกลางข้อถกเถียงจากหลายภาคส่วน เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายพลเมืองเน็ต โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวมถึงสมาคมเครือข่ายผู้สื่อข่าวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ SEAPA ซึ่งต่างฝ่ายต่างพยายามตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้อาจลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการใช้อินเทอร์เน็ตของคนไทยด้วยเนื้อหาที่ต้องใช้การตีความจากผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลายมาตราไม่มีความชัดเจน

ทาง iLaw จึงร่วมมือกับเครือข่ายพลเมืองเน็ต และ SEAPA เปิดเวทีคู่ขนาน เกาะขอบสนาม สนช. วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ในวันและเวลาเดียวกัน แต่ใช้สถานที่ต่างกัน เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไป คลายข้อสงสัยในหลากหลายประเด็น และร่วมกันถกเถียงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นหาก พ.ร.บ. ฉบับนี้บังคับใช้จริง

ซึ่งก่อนจะไปฟังความคิดเห็นจากทั้ง 2 เวทีในวันพรุ่งนี้ The Momentum จึงอยากชวนคุณมาทำความรู้จักกับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ทำไมเราต้องให้ความสนใจกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ กฎหมายที่ว่านี้จะส่งผลกระทบต่อผู้ใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไร สิทธิเสรีภาพของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกำลังจะลดลงหรือไม่ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง โดยพูดคุยกับ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ซึ่งเขาย้ำกับเราว่า

“เรื่องนี้ใกล้ตัวทุกคนกว่าที่คิด”

Photo: Thai Netizen Network

ทำไมต้องสนใจ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่

อย่างที่รู้กันว่าชีวิตประจำวันของเราทุกวันนี้ล้วนต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในหลากหลายด้าน ทั้งชีวิตส่วนตัว การทำงาน การศึกษา รวมถึงธุรกรรมต่างๆ ที่ต้องใช้โลกออนไลน์เป็นสื่อกลาง ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีผลบังคับใช้จริง ทุกคนก็อาจจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้มากน้อยแตกต่างกันไป

“ที่ต้องให้ความสนใจ เพราะผมคิดว่าจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาคนใช้อินเทอร์เน็ตโพสต์เฟซบุ๊ก หรือคุยอะไรกันผ่านช่องทางออนไลน์ หลายคนโดนตั้งข้อหา หรือถูกดำเนินคดีจาก พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ กันค่อนข้างเยอะ ขณะที่เนื้อหาในโลกออนไลน์บางอย่างกลับหาไม่ได้ หรือเราไม่เคยรู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันถูกเอาออกไป ถูกบล็อก หรือถูกปิดไปเพราะอะไร นอกจากนี้เรายังไม่มีทางรู้เลยว่ารัฐจะสามารถเข้ามาค้นข้อมูลส่วนบุคคลของเราได้ตอนไหน เมื่อไหร่ที่เขาจะรู้ได้ว่าเราใช้อินเทอร์เน็ตอะไร จากที่ไหน โพสต์ข้อความอะไร โพสต์เมื่อไหร่ ซึ่งเรื่องเหล่านี้คือเรื่องที่อยู่ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทั้งนั้น

“ที่สำคัญคือก่อนหน้านี้ทาง สนช. มีการร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มาเป็นปีแล้ว แต่ไม่เคยมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น และไม่เคยมีการเปิดข้อมูลต่อสาธารณะเลยว่าเขากำลังแก้อะไร เพราะอะไร จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องให้ความสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ให้มากที่สุดก่อนที่จะมีการบังคับใช้จริงในอีกไม่นาน”

ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีการปรับแก้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ มีที่มาจากหลายส่วน ทั้งจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ที่มองว่ากฎหมายเดิมยังมีปัญหาในเรื่องการจับกุมผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกง หรือหลอกลวงทางออนไลน์ ซึ่งส่งผลให้การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไม่เติบโต

ทางด้านหน่วยงานความมั่นคงที่อยากจะระงับยับยั้งการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศได้ง่ายขึ้น

หรือทางภาคประชาชนเองที่สนใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และอยากให้มีการแก้กฎหมายให้ระบุฐานความผิดชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการใช้อินเทอร์เน็ตของประชาชนทั่วไป โดยยิ่งชีพมองว่า

“คือต่างคนต่างก็มีเป้าหมายในการแก้กฎหมายฉบับนี้ไม่เหมือนกัน แต่ถ้าถาม iLaw เราก็คิดว่า พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ต้องแก้หลายมาตรา แต่เนื้อหาที่กำลังจะแก้ตอนนี้ก็ไม่ได้เป็นไปตามที่เราเห็นด้วยเท่าไหร่ แต่เป็นไปตามความต้องการของหน่วยงานความมั่นคงมากกว่า”

Photo: change.org

มาตราไหนใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ที่น่าจับตามอง

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ยิ่งชีพมองว่าหลายมาตรามีความคลุมเครือ และถ้าถูกนำมาบังคับใช้จริงก็อาจเกิดปัญหาในการตีความทางกฎหมายได้ โดยหลักๆ แล้วมี 3 มาตราที่น่าจับตามอง เช่น

มาตรา 8 (2) ที่มีการแก้ไขข้อความในมาตรา 14 จาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 โดยระบุว่า

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน

โดยยิ่งชีพได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “ความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฐานข้อมูลเท็จระบุว่า จะต้องเป็นข้อมูลเท็จที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก ซึ่งมันก็เป็นความผิดที่ค่อนข้างกว้างว่า แบบไหนคือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือการก่อให้เกิดความตื่นตระหนกนั้นหมายถึงใคร ต้องตื่นตระหนกกี่คนถึงจะเป็นความผิด ซึ่งก็ตีความยากอยู่แล้ว

“แต่ตอนนี้เขาเพิ่มมาเป็นว่าข้อมูลเท็จที่กระทบต่อความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ บริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ ซึ่งคำที่น่ากังวลมากที่สุดคือคำว่าการบริการสาธารณะ เพราะหน้าที่ของรัฐทั้งหมดก็คือการบริการสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น หน้าที่ของตำรวจ การเก็บภาษี การสร้างถนนหนทาง ถ้าเกิดหลังจากนี้เราวิจารณ์การทำงานของหน่วยงานรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐก็อาจจะกระทบต่อการบริการสาธารณะได้ ซึ่งอาจจะเป็นการกำจัดการวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐพอสมควร”

หรือมาตรา 16/2 ที่ระบุว่า ผู้ใดรู้ว่าข้อมูลคอมพิวเตอร์ในความครอบครองของตนเป็นข้อมูลที่ศาลสั่งให้ทำลายตามมาตรา 16/1 ผู้นั้นต้องทำลายข้อมูลดังกล่าว หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่บัญญัติไว้ในมาตรา 14 หรือมาตรา 16 แล้วแต่กรณี

โดยยิ่งชีพมองว่า “เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อนในกฎหมายไทย แต่กำลังจะมี คือการครอบครองที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ซึ่งเดิมเราจะผิดก็ต่อเมื่อเผยแพร่ หรือโพสต์เท่านั้น แต่ต่อไปนี้แค่เรามีไฟล์หรือข้อมูลบางอย่างอยู่ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งคนอื่นที่เขามีไฟล์นี้เหมือนกันแต่ถูกศาลพิพากษาว่าไฟล์นี้มีความผิด เราก็ต้องลบออกทันที ถ้าไม่ลบก็จะมีความผิดไปด้วย ซึ่งน่ากังวลตรงที่จะมีใครติดตามคำพิพากษาศาลได้ทุกคดี เราจะรู้ได้อย่างไรว่าไฟล์ไหนที่ศาลเคยพิพากษาแล้ว

“ถ้ามองในแง่ดีก็คือถ้าเขาค้นคอมพิวเตอร์เราแล้วเจอไฟล์ที่ว่านี้เขาก็มาจับเรา แต่ถ้ามองในแง่ร้ายก็คือ สมมติไฟล์นี้อยู่ในอีเมลหรือหน้าเฟซบุ๊กซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าถึงได้ เราก็อาจจะมีความผิดได้เช่นกัน”

อีกมาตราที่น่ากังวล และถูกจับตามองมากที่สุดในร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฉบับนี้ก็คือ มาตรา 20 และ 20/1 ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเป็นการกลับมาของแนวคิด Single Gateway ที่มีความแนบเนียนมากยิ่งขึ้น

โดยเนื้อหาในร่างเป็นการเพิ่มอำนาจของรัฐบาลในการจัดตั้งศูนย์กลางบริหารจัดการ เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถทำการระงับการเผยแพร่ หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้เอง

ซึ่งยิ่งชีพให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อกรณีนี้ว่า “แนวคิดซิงเกิลเกตเวย์เป็นการควบคุมทางกายภาพ หรือทางเทคนิค เพื่อทำให้ข้อมูลไหลเข้าไหลออกทางเดียว แต่ร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ฉบับใหม่ ข้อมูลจะยังไหลเวียนตามปกติ แต่จะควบคุมเนื้อหาบนเว็บไซต์ต่างๆ ได้มากขึ้น โดยมีการเพิ่มเติมในร่างว่า ถ้ามีเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี แม้ว่าจะไม่ผิดกฎหมายใดๆ เลย ก็จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและสั่งให้บล็อกได้ ซึ่งในคณะกรรมการกำหนดให้มีตัวแทนจากภาคเอกชน 2 ใน 5 แต่เราก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่าภาคเอกชนที่ว่านั้นจะเป็นใคร”

Photo: iLaw

Photo: ictlawcenter.etda.or.th

เวทีรัฐสภา VS เวทีคู่ขนาน

ตามกำหนดการจัดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นของ สนช. ระบุว่า งานจะเริ่มต้นในเวลา 09.00-14.00 น. ณ ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 โดยมีการกล่าวเปิดการสัมมนาโดย พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ มีการอภิปรายหลักการสำคัญที่จำเป็นต้องแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ นอกจากนี้ยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากหน่วยงานที่หลากหลาย อาทิ วรรณชัย บุญบำรุง รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา วีรศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่แม้จะได้ชื่อว่าเป็นเวทีรับฟังความคิดเห็นที่จัดโดย สนช. เอง แต่หลังจากเห็นกำหนดการแล้ว ยิ่งชีพตั้งข้อสังเกตว่า เวทีนี้อาจไม่ได้เปิดกว้างและพร้อมรับฟังอย่างที่คิด

“ตอนแรกในฐานะประชาชนเราก็อยากจะไปติดตาม เข้าร่วมรับฟัง และเสนอความคิดเห็นว่าเราคิดยังไง แล้วก็อยากจะเชิญชวนประชาชนเข้าไปร่วมรับฟังด้วยกัน    “แต่พอดูกำหนดการดีๆ จะเห็นว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นของ สนช. ไม่มีช่วงเวลาไหนให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความคิดเห็นเลย มีแต่ช่วงเวลาให้วิทยากรที่เชิญมาจากหน่วยงานต่างๆ เป็นคนพูด แล้วคนที่ไม่ได้รับจดหมายเชิญ อยู่ดีๆ จะเดินเข้าไปก็ไม่ได้ เพราะต้องส่งรายชื่อเข้าไปก่อน เราเลยคิดว่าแบบนี้คงไม่ใช่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่คนทั่วไปจะมีส่วนร่วมได้จริงๆ เลยต้องมาจัดเวทีคู่ขนาน เพื่อให้คนอยากพูดอะไรก็จะได้มาแสดงความคิดเห็นบนเวทีเราได้ จะเป็นความคิดเห็นที่เหมือนหรือแตกต่างจาก สนช. ก็ได้”

โดยเวทีของ iLaw และเครือข่ายจะจัดขึ้นที่ Growth Cafe & Co. สยามสแควร์ซอย 2 ตั้งแต่เวลา 8.00-13.00 น. ซึ่งจะมีการถ่ายทอดสดจากงานสัมมนาที่อาคารรัฐสภา จับประเด็นและวิเคราะห์ต่อจากเวทีของ สนช. โดยมีผู้ร่วมเสวนาอาทิ สฤณี อาชวานันทกุล บล็อกเกอร์ นักเขียน และนักแปล อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ

ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้าร่วมรับฟังได้ฟรีทั้ง 2 งาน โดยติดตามรายละเอียดได้ทาง https://ictlawcenter.etda.or.th/activities/detail/public-hearing-CC-bills และ https://www.facebook.com/events/1807781739492523/?ti=icl

เราจะทำอะไรได้บ้าง

ถึงตอนนี้ถ้าให้ประเมินสถานการณ์แบบตรงไปตรงมา ยิ่งชีพระบุว่าคงคาดเดาได้ยากว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้เมื่อไหร่ แต่ถ้าเร็วที่สุดอาจเป็นเดือนหน้า และคิดว่าถึงอย่างไรกฎหมายฉบับนี้น่าจะผ่านได้อย่างง่ายดาย

คำถามคือประชาชนอย่างเราจะทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง?

“อย่างน้อยก่อนที่มันจะผ่านผมก็อยากให้คนรู้จักกฎหมายฉบับนี้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แล้วเราก็หวังว่าถ้าเกิดผู้ใช้เน็ตทุกคนได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของกฎหมายใหม่แล้วส่งเสียงผ่านช่องทางของตัวเองสู่สาธารณะไปเรื่อยๆ ผมคิดว่ามันอาจจะลอยไปเข้าหูของผู้มีอำนาจได้บ้าง”

แต่ที่สำคัญคือเสียงนั้นต้อง ‘ดังพอ และดังกว่านี้อีกเยอะ’