‘พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ คือการเพิ่มอำนาจของรัฐแบบเบ็ดเสร็จ?’

ประเด็นนี้กลายเป็นที่ถกเถียงกันมากว่า การเข็น พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับใหม่ ที่มีการแก้กฎหมายบางข้อนั้น เป็นการแก้เพื่อให้รัดกุม หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐมากกว่ากัน

ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่อง ‘ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. กับแนวทางการใช้บังคับในอนาคต’ วันนี้ (23 พ.ย. 59) ที่ห้องรับรอง 1-2 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 มีการตอบข้อสงสัยข้างต้นในหลายประเด็น

The Momentum ขอสรุปประเด็นที่น่าสนใจจากเวทีเสวนา ที่เกี่ยวข้องและอาจกระทบกับคุณ–คนทั่วไปที่ใช้อินเทอร์เน็ต ว่าแท้จริงกฎหมายนี้ประโยชน์แท้จริงอยู่ที่ใคร และประเด็นใดที่ไม่ควรมองผ่าน

ปิดปากคำวิจารณ์-การตรวจสอบ?

ในการเสวนา มาตรา 14 (1) และ (2) ถูกหยิบยกมาอภิปรายมากที่สุด ทั้งจากผู้เสวนา หน่วยงาน และประชาชนต่างๆ ที่เข้ามารับฟังความเห็น

เนื่องจากใจความสำคัญของกฎหมายมาตรานี้ มีการเพิ่มฐานความผิดเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นในโลกออนไลน์ให้กว้างกว่าเดิม

ถ้ามีคนโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท

แม้ตามร่างใหม่จะมีการเพิ่มว่า จะต้องเป็นการกระทำที่ทุจริตหรือโดยหลอกลวงก็ตาม แต่ด้วยเนื้อหาที่ขีดเส้นใต้ในข้อกฎหมายที่เปิดกว้างเช่นนี้ ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่ามาตรานี้จะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการฟ้องการแสดงความเห็นของสื่อหรือประชาชนหรือไม่

คำถามก็คือว่า ทางคณะกรรมการฯ จะมั่นใจได้ยังไงว่า ร่าง พ.ร.บ.คอมฯ ฉบับนี้จะเป็นไปตามสัตยาบันที่รัฐบาลไทยให้ไว้ว่าด้วยกติกาสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ นักกฎหมายหนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนาบนเวที ชี้แจง ‘มาตรา 14 (1) นั้นไม่เกี่ยวกับกรณีหมิ่นประมาท’ อย่างที่หลายคนกำลังเข้าใจว่า

“ย้ำอีกครั้งนะครับว่า 14 (1) ไม่ใช่กับความผิดฐานหมิ่นประมาทครับ”

เดิมมาตรา 14 (1) เป็นเรื่องการหลอกลวงปลอมเว็บไซต์อะไรต่างๆ และการปลอมตัวตนบนอินเทอร์เน็ต เช่น การสร้างเพจปลอมเป็นดารา การปลอมเว็บข่าว ซึ่งไม่เกี่ยวกับหมิ่นประมาท

“โดยหลักที่แก้ คือเรื่องการปลอมเว็บไซต์กับการปลอมตัวตนเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือไปว่าในกฎหมายอื่นๆ เลย ชัดเจนนะครับ

“คณะกรรมาธิการฯ มองอย่างนี้ครับ ไม่มีปัญหาเรื่องตีความแน่นอน ไม่ใช่หมิ่นประมาทครับ ขีดเส้นใต้ห้าร้อยเส้นครับ ไม่ใช่หมิ่นประมาท”

ต่อประเด็นว่า ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่?

ไพบูลย์ ตอบว่า “เป็นกฎหมายสากล เป็น model law ไม่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ซึ่ง EU หรือหลายประเทศก็มีมาตรานี้ เป็นการ force การปลอมแปลงข้อมูล

“ปัญหาที่เกิดจาก 14 (1) จริงๆ คือการเอาไปบังคับใช้ เนื่องจากเราไม่เข้าใจมาตรานี้ ถ้าดูจากสถิติจากกระทรวงไอซีที เมื่อปี 50 จะพบว่าคนเข้าใจข้อนี้ไม่ถึง 10% ต่อมามันก็เหมือนเดิม ส่วนตัวผมว่าต่อแต่นี้ไป ถ้ามีการพูดถึงเรื่องนี้ชัดเจน 14 (1) ไม่น่ามีปัญหาครับ”

ด้าน พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ย้ำเช่นเดียวกันว่า

“มาตรา 14 (1) ไม่เข้ากับกฎหมายหมิ่นประมาท”

ขณะที่ สุรางคณา วายุภาพ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา เผยว่า

“กว่ามาตรา 14 (1) จะพัฒนามาจนถึงจุดนี้ ดิฉันอยากพูดคำว่า เลือดตาแทบกระเด็น ไม่ได้ง่ายนะคะ ก็เป็นความยากลำบากที่จะต้องผลักดันให้เข้าใจตรงกันว่า ไม่เอาผิดกับเรื่องหมิ่นประมาท”

สั่งทำลายข้อมูลที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย?

ขณะที่ มาตรา 16/2 ที่มีการพูดถึงกันก่อนหน้าว่า ‘น่าเป็นห่วง’ เพราะระบุว่า ในกรณีที่พบข้อมูลที่เป็นความผิด ศาลอาจสั่งให้ทำลายข้อมูลได้ด้วย ซึ่งผู้ใดที่รู้ว่ามีข้อมูลเหล่านั้นอยู่ในคอมพิวเตอร์จะต้องทำลาย ไม่เช่นนั้นจะต้องรับโทษครึ่งหนึ่งของคนโพสต์

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ชี้แจงว่า มาตรานี้เกี่ยวกับกรณีความผิดที่พิสูจน์แล้วว่าไม่จริง แต่เนื้อหาที่เป็นเท็จซึ่งอยู่บนอินเทอร์เน็ตนั้นไม่ถูกลบออกจะทำอย่างไร

“ในตัวกฎหมาย มันมีหลักอันหนึ่งที่เรียกว่า Right to Be Forgotten คือสมมติผมถูกกล่าวหาว่าไปลวนลามคนบนบีทีเอส ต่อมาศาลก็ตัดสินว่าไม่ได้ลวนลาม เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดเอง แต่เวลาเสิร์ชชื่อของ ‘ไพบูลย์’ บนอินเทอร์เน็ต ก็อาจจะมีข้อมูลอันเป็นเท็จอยู่ว่า คนนี้ลวนลามและลามกมาก ซึ่งไม่จริง

“ฉะนั้นพอมีคำพิพากษาออกไปว่า ข้อมูลนี้ไม่ถูกต้อง คนที่มีข้อมูลนั้นอยู่ควรจะต้องลบออกใช่ไหมครับ

“เรามองตัวจำเลยว่าเป็นพวกโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ที่มีข้อมูลของท่านอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นต้องลบข้อมูลนั้นออกไป

“ในมุมของกฎหมาย ถ้าคุณมอง Right to Be Forgotten ในมุมที่เสีย มันก็เสีย แต่ถ้าวันหนึ่งคุณเป็นคนที่มีข้อมูลอันเป็นเท็จอยู่ในอินเทอร์เน็ตล่ะ คุณจะแฮปปี้กับมันหรือเปล่า

“ฉะนั้นในแง่ของคณะกรรมการฯ มองว่า นี่คือการคุ้มครองท่านครับ”

เพิ่มอำนาจของรัฐในการ ‘บล็อก’ เว็บ?

มาตรา 20 ในร่างฉบับนี้ กำหนดให้มี ‘คณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์’ ทำหน้าที่เกี่ยวกับการบล็อกเว็บไซต์ (คณะกรรมการมี 5 คน โดย 2 คนเป็นผู้แทนจากภาคเอกชน) ทำหน้าที่ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อบล็อกเว็บ

ขณะเดียวกัน ก็มีการจัดทำร่างประกาศฯ การบล็อกเว็บไซต์ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมสร้างระบบคอมพิวเตอร์เป็นศูนย์กลาง ให้เจ้าหน้าที่สามารถบล็อกหรือลบข้อมูลนั้นได้เอง อีกทั้งยังขยายขอบเขตการบล็อกเว็บ ให้บล็อกเว็บที่มีเนื้อหาขัดต่อเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงเนื้อหาที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี แม้จะไม่ผิดกฎหมายใดๆ

พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พูดถึงประเด็นข้อมูลที่ขัดต่อสงบเรียบร้อยว่า เป็นเรื่องยากที่จะนิยามหรือชี้ชัด

“ก็มีการพูดถึงเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยว่าแค่ไหนและอย่างไร ศาลก็มีการให้ข้อมูลว่าเรื่องใดบ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย และมีคำพิพากษาอยู่มาก ซึ่งผมก็มีการบอกว่า น่าจะบัญญัติไว้ซะเลยว่าอะไรบ้างที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย แต่เป็นเรื่องยากจริงๆ ครับ ที่จะบอกว่าแค่นั้นแค่นี้

“ถ้าบัญญัติไว้ไม่ครอบคลุมก็ขาดไป หรือบางเรื่องก็อาจอยู่เกินความหมายที่ให้ไว้ อีกอย่างคำนี้ก็มีการใช้อยู่ในกฎหมายหลายฉบับ แล้วก็ไม่มีนิยาม ถ้ามีเราอาจจะเอามาใช้ก็ได้ แต่ไม่มี”

ทั้งนี้ พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวใช่ว่าจะให้อำนาจเจ้าหน้าที่โดยเบ็ดเสร็จ เพราะต้องผ่านรัฐมนตรีและศาล แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ ที่มีหน้าที่กลั่นกรองว่า ข้อมูลนั้นอยู่ในความหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่

“ไม่ใช่เรื่องของใครที่จะทำได้โดยลำพังเลย หรือนึกอยากจะทำอะไรก็ทำเลย ไม่ใช่ เป็นเรื่องของกระบวนการทั้งนั้น”

ต่อประเด็นถึงจำนวนคณะกรรมการฯ 5 คน ที่ให้มีเอกชน 2 คนในคณะนั้น พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ ให้ความเห็นว่า

“ทำไมไม่ให้เอกชนมากกว่ารัฐ เดี๋ยวเวลาประชุมกันก็มีลงมติหรือลงอะไรทั้งหลายใช่ไหมครับ ยังไงรัฐก็ยังคงเป็นรัฐอยู่นะครับ เพราะมันเป็นเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี”

กล่าวโดยสรุป พลตำรวจเอก ชัชวาลย์ ต้องการชี้ให้เห็นว่า ก่อนจะมีการระบุว่าเนื้อหาใดขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือไม่ จะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองหลายขั้นตอนจากคณะกรรมการฯ ถึงรัฐมนตรี จากรัฐมนตรีสู่พนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนจะยื่นเรื่องถึงศาลเพื่อใช้ดุลพินิจ

“ด้วยกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าว การจะไปลบข้อมูลอะไรไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ หรือจู่ๆ จะมีการบอกว่าข้อมูลนี้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยแล้วทำได้เลย ไม่ใช่”

เครื่องมือของรัฐในการตัดตอนความจริงและสิทธิมนุษยชน?

“การรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยกลายเป็นเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยแล้วหรือ?”

สุนัย ผาสุข จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชื่อ Human Rights Watch ผู้เข้าฟังเสวนา ตั้งข้อสังเกตและแสดงความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 20/1 ว่า หลังการยึดอำนาจครั้งล่าสุด เว็บไซต์ Human Rights Watch ประเทศไทย ถูกปิด พร้อมกับประโยคที่แสดงบนหน้าจอพร้อมโลโก้กระทรวงไอซีทีว่า มีเนื้อหาอันขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งเรื่องนี้ตกเป็นประเด็นที่สื่อและคนทั่วโลกตั้งคำถาม

สุนัย หยุดพูดตรงนี้ ก่อนจะเริ่มตั้งคำถามใหญ่ว่า คณะกรรมการฯ ที่ร่างกฎหมายนี้ จะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เกิดกรณีข้างต้นซ้ำรอยขึ้นอีกครั้ง

“เพราะกรณีอย่างนี้ ขายหน้าไปทั่วโลก ที่เรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี”

จะทำอย่างไร? สุนัยทิ้งคำถามไว้ในห้องเสวนา

จากนั้นสุนัยทิ้งประเด็นใหญ่อีกข้อว่า อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาของนักสิทธิมนุษยชนมาก โดยเฉพาะมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐที่ตอบโต้ต่อองค์กรและนักสิทธิมนุษยชนด้วยการ ‘แกล้งฟ้อง’ ก็คือ การบอกว่าข้อมูลที่นำเสนอเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องให้มีการเอาผิดนั้นเป็นข้อมูลเท็จ

นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับนักสิทธิมนุษยชนที่นำเสนอข้อมูลการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว และถูกฟ้องจนอยู่ในประเทศไทยไม่ได้ และยังมีกรณีที่ญาติของคนที่ถูกซ้อมทรมานนำข้อมูลมาเรียกร้องความยุติธรรมก็ถูกฟ้อง

ดังนั้น คำว่าข้อมูลอันเป็นเท็จตรงนี้จะจัดการอย่างไร?

“เข้าใจว่าต้องเขียนคำว่า ข้อมูลอันเป็นเท็จ แต่จะทำอย่างไรให้มีความรัดกุม”

รัดกุมที่ว่านี้ หมายถึง การไม่ให้ข้อกฎหมายนี้กลายเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ตอบโต้ เอาคืนการรายงานเรื่องสิทธิมนุษยชน

ด้าน ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ตอบประเด็นนี้ว่า “ทางคุณสุนัยสบายใจได้” เนื่องจากทางกรรมมาธิการชุดนี้ มีตัวแทนจากศาลและอัยการ โดยมีการบันทึกการประชุมทุกครั้ง ซึ่งเป็นเอกสารที่ใช้อ้างอิงได้

“มาตรา 20/1 ผมเรียนอย่างนี้ครับ สิ่งหนึ่งที่จะบาลานซ์อำนาจของภาครัฐไม่ให้ใช้ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนได้คือศาล แต่ถ้าใช้ผิดประเภท นั่นเป็นเรื่องของการใช้กฎหมาย”

ดูเหมือน พ.ร.บ.คอมฯ ใหม่ จะกลายเป็นประเด็นที่มีการถกกันมาก เพราะเนื้อหาและการตีความที่ต่างกันระหว่างผู้ร่างฯ ผู้ใช้ ผู้ประกอบการ และภาคประชาสังคม

แต่ทั้งนี้ ถ้ารัฐอยากให้กฎหมายฉบับนี้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลได้จริงเพื่อก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0

โจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องทำคือ การสร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ และ ‘ความไว้วางใจ’ ให้เกิดกับทุกภาคส่วน

ว่าจะนำข้อกฎหมายดังกล่าวไปใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่าประโยชน์และความมั่นคงของรัฐ

นี่คือความจริงใจที่รัฐต้องพิสูจน์

ทำไมไม่ให้เอกชนมากกว่ารัฐ เดี๋ยวเวลาประชุมกันก็มีลงมติหรือลงอะไรทั้งหลายใช่ไหมครับ
ยังไงรัฐก็ยังคงเป็นรัฐอยู่นะครับ เพราะมันเป็นเรื่องขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี