Photo: Damir Sagolj, Reuters/profile

 ‘ประชาธิปไตย’ ถ้าลองโยนคำนี้เข้าไปในวงสนทนา แล้วให้แต่ละคนอธิบาย เชื่อว่าแต่ละคนจะพูดถึงความหมายของมันไม่เหมือนกัน

คุณรู้ไหมว่าทำไม?

การเมืองนอกจากที่เห็นกันชัดๆ ในรัฐสภา การเลือกตั้ง นักการเมือง ฯลฯ ยังเป็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจในการกำหนดหรือสร้างความหมายให้กับสิ่งที่เรียกร้องต่อสู้

เหมือนกับคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ ที่ถูกกำหนดนิยามและความหมายจากผู้มีอำนาจในแต่ละยุคสมัย เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มของตัวเอง

เพราะการให้ความหมายของประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ก็ให้อำนาจกับคนกลุ่มหนึ่ง

เหมือนที่ครั้งหนึ่งชนชั้นนำสยาม (ที่ได้ผลประโยชน์จากระบอบเดิม) ชี้ชวนให้คนไทยเชื่อว่า ประชาธิปไตยคือสิ่งแปลกปลอม เป็นของตะวันตก ไม่เหมาะกับสังคมไทย

แต่หลังจาก พ.ศ. 2475 ประชาธิปไตยก็ถูกให้ความหมายใหม่ โดยคณะราษฎรที่ปฏิวัติยึดอำนาจจากระบอบเดิม
และเมื่อคณะราษฎรแตกสลาย ประชาธิปไตยก็ถูกให้ความหมายใหม่อีกครั้ง เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

จนบางทีเราอาจไม่รู้ว่า ความหมายของประชาธิปไตยที่เรามี ที่เราเชื่อ อาจเป็นสิ่งที่ถูกสร้างและหลงเหลือจากการเมืองไทยยุคใดยุคหนึ่ง แล้วฝังอยู่ในความคิด โดยที่เราไม่รู้ตัว…

The Momentum ได้มองย้อนกลับไปมองความหมาย ‘ประชาธิปไตย’ ในแต่ละยุค ผ่านเอกสารทางวิชาการ บทความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเขียนในหนังสือ การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ / วาทกรรม / อำนาจ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ เพื่อมองหาที่มาและความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ อีกครั้ง

โดยหวังว่า เมื่อรู้ที่มา เราอาจรู้ที่ไป และรู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกับคนที่ให้ความหมายประชาธิปไตยไม่เหมือนเราได้อย่างไร?

ประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 | การสร้างระบอบใหม่ให้สังคม และ ‘ชาติ’ ที่เป็นของปวงชน

ระยะแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองและยึดอำนาจรัฐ คณะราษฎรสร้างความชอบธรรมให้กับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ว่าเพราะเหตุใดจึงต้องโค่นล้มอำนาจของกลุ่มผู้ปกครองกลุ่มเก่า โดยหาความสนับสนุนจากชนชั้นนำทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ และประชาชน เพื่อให้ระบอบการปกครองใหม่ที่ชื่อ ‘ประชาธิปไตย’ ดำเนินไปอย่างราบรื่น

…ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง บรรพบุรุษของราษฎรเป็นผู้ช่วยกันกู้ให้ประเทศมีอิสรภาพพ้นมือจากข้าศึก พวกเจ้ามีแต่ชุบมือเปิบ และกวาดรวบทรัพย์สมบัติเข้าไว้ตั้งหลายร้อยล้าน เงินเหล่านี้เอามาจากไหน? ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีทำนาบนหลังคนนั้นเอง…

เนื้อความตอนหนึ่งจาก ประกาศคณะราษฎร

คำว่า ‘ชาติ’ ถูกให้ความหมายใหม่ จากที่เคยเป็นของพระมหากษัตริย์ และอำนาจอธิปไตยเป็นของพระองค์ไม่ใช่ปวงชน ก็กลายเป็นของปวงชนชาวไทย ศูนย์กลางของชาติได้ย้ายจากพระมหากษัตริย์มาอยู่ที่ประชาชน
มีการยกย่องวันที่ 24 มิถุนายน ที่เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองให้เป็น ‘วันชาติ’
ประชาธิปไตยในช่วงนี้ถูกให้ความหมายในแง่บวกว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน และล้มล้างระบอบเก่าที่ไม่ยุติธรรม

…หมดสมัยที่เจ้าจะทำนาบนหลังราษฎร สิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนาคือความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกเป็นศัพท์ว่า ‘ศรีอาริยะ’ นั้น ก็จะพึงบังเกิดขึ้นแก่ราษฎรถ้วนหน้า

เนื้อความตอนท้ายจาก ประกาศคณะราษฎร

แต่ทว่าความหมายของประชาธิปไตยข้างต้นก็ถึงคราวเปลี่ยนแปลง เมื่อเกิดความแตกแยกระหว่างผู้นำกลุ่มคณะราษฎร


ประชาธิปไตย พ.ศ. 2490 | การชิงดีชิงเด่นของคณะราษฎร และการฟื้นอำนาจของขุนนางเก่า

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เอกภาพทางการเมืองและอุดมการณ์ร่วมของคณะราษฎรได้ล่มสลาย หลังเกิดการแตกแยกระหว่างกลุ่มปรีดี พนมยงค์ กับกลุ่มจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้ทั้งสองกลุ่มจะเลือกเดินกันคนละทาง แต่ต่างก็หันไปประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า ทำให้อุดมการณ์นิยมเจ้ากลับมามีความเข้มแข็งอีกครั้งในทศวรรษ 2490 (บวกกับการเสด็จกลับประเทศอย่างถาวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พร้อมกับสมเด็จพระราชินี ช่วงปลาย พ.ศ. 2494 ก็ทำให้กลุ่มอำนาจเก่ามีความเข้มแข็งมากขึ้น)

การแตกแยกของคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลให้ ‘ประชาธิปไตย’ ที่กลุ่มคณะราษฎรเคยให้ความหมายไว้ ได้ถูกอธิบายใหม่ว่า การปฏิวัติ พ.ศ. 2475 เป็นแค่การแย่งอำนาจการปกครองหรือรัฐประหารธรรมดาๆ ไม่ใช่การถือกำเนิดของระบอบการปกครองใหม่ที่จะนำความก้าวหน้ามาให้ชาติแต่ประการใด
ขณะที่ภาพของคณะราษฎรก็ถูกอธิบายในเชิงลบว่า แท้จริงแล้วเป็นกลุ่มคนที่ต้องการอำนาจ ไม่ได้มีอุดมการณ์สูงส่งอย่างที่กล่าวอ้าง จนกระทั่งต่อมาก็ได้แตกแยกเพราะขัดแย้งชิงดีชิงเด่นในผลประโยชน์กันเท่านั้น

ประชาธิปไตย พ.ศ. 2501-2516 | การสิ้นสุดของวันชาติ การมาของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สมบูรณาญาสิทธิราชย์กลับมาเรืองอำนาจอีกครั้ง

จากความแตกแยกของคณะราษฎร ได้เปิดโอกาสให้อุดมการณ์นิยมเจ้าเข้ามาเบียดขับพื้นที่ ซึ่งส่งผลให้นิยามของ ‘วันชาติ’ 24 มิถุนายน เปลี่ยนไป และค่อยๆ ได้รับความสำคัญน้อยลงเรื่อยๆ

สังเกตได้จากการเพิ่มและลดจำนวนวันหยุด จากเดิมที่มีการหยุด 3 วันเพื่อเฉลิมฉลองวันชาติ เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงครามขึ้นมามีอำนาจอีกครั้ง (ซึ่งได้หันไปประนีประนอมกับกลุ่มอำนาจเก่า) ได้ออกประกาศเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2490 ลดมาเหลือ 1 วัน และเพิ่มวันหยุดเฉลิมพระชนมพรรษาเป็น 3 วัน แม้ว่าต่อมาจะประกาศให้หยุดวันชาติ 3 วัน (พ.ศ. 2494) แต่ก็ได้เพิ่มวันฉัตรมงคลเข้ามาเป็นวันหยุด และใน พ.ศ. 2495 ก็มีการเพิ่มวันหยุดในวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินีอีก 1 วัน

และเมื่อความสัมพันธ์ทางอำนาจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นสู่อำนาจ ความสำคัญของ 24 มิถุนายน ในฐานะวันสำคัญของชาติก็ถึงกาลอวสาน ไปพร้อมๆ กับบทบาทของกลุ่มคณะราษฎรที่ได้อันตรธานหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังจากนั้น

การมาถึงของจอมพลสฤษดิ์ (และจอมพล ถนอม กิตติขจร) ได้รื้อมรดกจาก 2475 ทิ้ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนระบอบการเมืองไทยกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีกครั้ง แต่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของผู้นำกองทัพ (มิใช่โดยพระมหากษัตริย์) แล้วสถาปนาอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียวขึ้นมาด้วยประกาศคณะปฏิวัติ เพื่อบรรลุแก่อำนาจนั้น นอกจากทำลายล้างศัตรูทางการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญ สฤษดิ์ยัง ‘รื้อ’ ประวัติศาสตร์ด้วยการลบความทรงจำของสังคม โดยยกเลิกวันชาติ 24 มิถุนายน แล้วให้ถือวันพระราชสมภพของพระเจ้าอยู่หัวเป็นวันชาติแทน รวมทั้งได้อธิบายความหมาย 24 มิถุนายน ใหม่ว่า นำผลลบมาให้สังคมไทยมากกว่าผลดี และเรียกการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองทำว่าการ ‘ปฏิวัติ’ อย่างสมบูรณ์

มีการสังเกตว่า หลังจอมพลสฤษดิ์เถลิงอำนาจ ในช่วง พ.ศ. 2500 สถานะของพระมหากษัตริย์ก็ถูกยกย่องเชิดชูอย่างมาก ทักษ์ เฉลิมเตียรณ นักวิชาการที่ศึกษาการเมืองในช่วงนั้นได้วิเคราะห์ว่า มีเหตุผลมาจากคณะรัฐประหารของสฤษดิ์มีความไม่ชอบธรรมในการยึดอำนาจ จึงต้องหันไปพึ่งพระบรมโพธิสมภารเพื่อการสนับสนุนและสร้างความชอบธรรม

ด้วยเหตุนี้ สถาบันกษัตริย์จึงกลับมาอยู่ในฐานะอันสูงสุดของชาติ และถ้อยคำ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข’ ได้เริ่มปรากฏอยู่อย่างเป็นทางการในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2511

และในสถานการณ์การเมืองช่วง พ.ศ. 2516-2519 สถาบันกษัตริย์ได้ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ขึ้นต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ หรือ ‘ฝ่ายซ้าย’ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของ ‘ความเป็นไทย’ จากนั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินก็ได้อ้างความมั่นคงของสถาบันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งในการยึดอำนาจอีกครั้งใน พ.ศ. 2519

ซึ่งในปี พ.ศ. 2519 นี้เอง รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้อ้างว่าประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตย อีกทั้งยังมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษ และประโคมคำขวัญ ‘ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์’ และได้มีการจัดงานวันที่ 5 ธันวามหาราชอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีและเน้นถึงความเป็นศูนย์รวมจิตใจ

ประชาธิปไตย พ.ศ. 2549 – ? | ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย ความหมายที่ถูกใช้ และเครื่องมือทางการเมือง

ประชาธิปไตยและสถาบันพระมหากษัตริย์หลังจาก พ.ศ. 2519 ได้กลายเป็นเนื้อเดียวกัน จนยากจะแยกความหมายออกจากกันได้ จนอาจกล่าวได้ว่า เมื่อคนคิดถึงประชาธิปไตย ก็มักจะนึกถึงในความหมายนี้

ในหนังสือ การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ / วาทกรรม / อำนาจ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ เขียนถึงเรื่องนี้ว่า นี่เป็นมรดกที่ 14 ตุลา ทิ้งไว้ให้สังคมไทย ซึ่งผู้เขียนขอเรียกว่า ‘ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย’ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่เพิ่งก่อรูปขึ้นจากขบวนการเคลื่อนไหว 14 ตุลา

ก่อนจะตั้งข้อสังเกตว่า วาทกรรมที่เคยใช้เมื่อครั้ง 14 ตุลา ได้กลับมาถูกใช้อีกครั้งอย่างมากในการเคลื่อนไหวของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ขบวนการนักศึกษาสมัย 14 ตุลา กับขบวนการเสื้อเหลืองที่นำโดยคุณสนธิคือ คำว่า ‘พึ่งพระบารมี’ ซึ่งคำนี้ผลิตซ้ำมาจากตอน 14 ตุลาที่นักศึกษาเคลื่อนไหวโดยหวังพึ่งพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหาร ถนอม-ประภาส คำว่า ‘ถ่ายคืนพระราชอำนาจ’ คำนี้ก็มีความคาบเกี่ยวกันระหว่าง 14 ตุลา กับปี 2548-2549 คือแนวคิดที่มองว่าอำนาจอธิปไตยแต่เดิมนั้นสถิตอยู่กับสถาบันกษัตริย์

ส่วนข้อความหรือวาทกรรมเรื่อง ‘เราจะสู้เพื่อในหลวง’ และ ‘ปกป้องสถาบัน’ เป็นประดิษฐกรรมใหม่ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ / วาทกรรม / อำนาจ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ
(หน้า 256)

หากมองความหมายของประชาธิปไตยในยุคนี้นับเนื่องจนถึงปัจจุบัน จะเห็นว่าไม่ว่าสถานการณ์การเมืองจะเผชิญกับภาวะใด หรือความรุนแรงทางการเมืองแค่ไหน หรือแม้กระทั่งวันนี้ที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.

คำและความหมายของประชาธิปไตยที่ถูกอ้างถึงนี้ ยังคงเป็นไปในความหมายดังกล่าว

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์และความหมายของคำว่าประชาธิปไตย จะเห็นว่าความหมายของคำคำนี้มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ซึ่งเกิดจากการช่วงชิงอำนาจของกลุ่มคนบางคน

และเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือเมื่อใด เมื่อนั้นความหมายของประชาธิปไตยจึงเปลี่ยนแปลง

นี่คือข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์โดยสังเขปที่ประชาชนควรตระหนัก เพื่อที่ว่าอย่างน้อย เราจะได้ลองสำรวจความหมายและที่มาคำว่าประชาธิปไตยของเรา และหากเป็นไปได้ อย่างมากที่สุด เราจะสามารถพูดคุยถึงประชาธิปไตยกับคนที่ให้ความหมายต่างจากเรา และไม่เอาความหมายของประชาธิปไตยที่เรามี ไปทุบตี หรือทำร้ายใคร

*หมายเหตุ: สำหรับผู้สนใจอ่านเรื่องเกี่ยวกับความหมายของ ‘ประชาธิปไตย’ เพิ่มเติมโดยละเอียด แนะนำให้หาอ่านในหนังสือ การเมืองวัฒนธรรมไทย ว่าด้วยความทรงจำ / วาทกรรม / อำนาจ โดย ประจักษ์ ก้องกีรติ, สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

Tags: , ,