สำหรับคนดูหนังเวลานี้คงไม่มีประเด็นไหนร้อนแรงไปกว่า ‘คนทำหนังเตรียมขอให้ใช้กฎหมายกำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์เพื่อกู้วิกฤติหนังไทย’ ซึ่งวิกฤติที่ว่านี้คือหนังไทยนอกกระแสไม่มีอำนาจต่อรองสัดส่วนการฉายในโรงภาพยนตร์ และอาจจะรวมถึงปัญหาเรื่องการออกทุนสร้างหนังไทยที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ โดยในเคสดังกล่าวนี้เราพยายามทำตัวกลางๆ เพื่อทำความเข้าใจทุกฝ่ายก็จะพบว่าแต่ละฝั่งก็มีความเห็นแตกต่างกันไป

เริ่มต้นที่ฝั่งคนดูวงกว้าง ความเห็นส่วนใหญ่ไปในทางเดียวกันคืออยากดูหนังดี (เราขอนิยามว่าเป็นหนังที่ถูกจริตละกัน) ซึ่งในความเห็นของพวกเขามองว่าหนังไทยเวลานี้มีแต่ห่วยๆ ถ้าหนังไทยทำออกมาดียังไงก็มีคนดู ถ้ามีคนดูเยอะก็แปลว่าหนังทำเงิน ดังนั้นคำตอบของวิกฤติสำหรับพวกเขาคือ คุณก็ต้องทำหนังให้ออกมาดีสิ

ฝั่งโรงหนังคงไม่สามารถไปเดาใจอะไรได้ แต่เราขอมองแบบทุนนิยมของธุรกิจที่มุ่งเน้นแสวงหากำไรแล้วกัน จะจัดโรงฉายก็ดูตามความต้องการของลูกค้า มีระบบประเมินการยืนโรงฉายที่เป็นมาตรฐานคือ ดูรายได้ 4 วันแรก และอาทิตย์แรก ถ้ามีคนสนใจเยอะก็เพิ่มรอบให้ ถ้าไม่มีคนดูก็ลดรอบไป แฟร์ๆ เท่าเทียมกันหมด ดังนั้นในเมื่อหนังไทยอยากได้โรงฉายหรือรอบเวลาเพิ่ม จึงต้องดูตามความต้องการของตลาดเป็นหลัก ซึ่งอาจหมายถึงการประชาสัมพันธ์โปรโมตให้ทางโรงหนังเห็นกระแสว่ามีคนอยากดูจริงๆ (หลวงพี่แจ๊ส, หนัง GDH, หนังหม่ำเท่งโหน่ง มีความต้องการจากตลาดคนดูวงกว้าง จึงไม่แปลกที่โรงฉายจะเยอะกว่าหนังไทยนอกกระแส ซึ่งก็เหมือนกับหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์ที่มีโรงฉายมากกว่าหนังเล็กนอกกระแส)

ฝั่งคนทำหนังไทยนอกกระแสก็อาจจะบ่นว่าไม่มีทุนทำหนัง บ่นถึงความยากลำบากว่าไม่สามารถทำเป็นอาชีพหาเลี้ยงชีพได้ พอทำหนังตามงบจำกัดก็ไม่เหลืองบจะประชาสัมพันธ์อะไรแล้ว จึงต้องหวังพึ่งกระแสคนดูบอกปากต่อปาก บางเรื่องทำออกมาดีก็ไม่มีคนสนใจ สุดท้ายก็วนกลับไปลูปเดิมว่าต่อให้ทำหนังดีก็ไม่ทำเงิน ต่อให้มีคนสนใจและโรงเพิ่มรอบให้ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายบางอย่างที่หนักหนาจนสุดท้ายฉายไปก็ไม่ได้มีกำไรอะไรเพิ่มเลย

พอเราเห็นภาพกว้างๆ ประมาณนี้แล้ว เราก็พยายามมองหาแนวทางแก้วิกฤติดังกล่าว ซึ่งเราขออนุญาตยกโมเดลการพลิกโฉมอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้ว่า เขาทำอย่างไรให้วงการหนังที่ใกล้ตายกลับมายิ่งใหญ่ไปทั่วเอเชีย และได้รับความสนใจจากทั่วโลกได้แบบปัจจุบันนี้ภายในเวลาเพียงหนึ่งทศวรรษ

Masquerade (2012) หนังแนวพีเรียด-ดรามาที่ทำเงินระดับท็อปของเกาหลี

1. เรียนรู้จากประวัติศาสตร์วงการหนังเกาหลี

หนังเกาหลีเรื่องแรกเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1919 คือเรื่อง The Righteous Revenge แต่จุดเริ่มต้นจริงๆ ต้องบอกว่าคือช่วง ค.ศ. 1926-1932 ช่วงเวลานั้นเกาหลียังไม่แบ่งเหนือ-ใต้ และยังอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้การสร้างหนังต้องผ่านการตรวจสอบจากคณะปกครองชาวญี่ปุ่น ด้วยข้อจำกัดดังกล่าวจึงทำให้วงการหนังเกาหลีตลอด 11 ปี (ค.ศ. 1934-1945) มีหนังเพียง 157 เรื่องเท่านั้น แถมเกือบทั้งหมดยังเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อเพื่อสนับสนุนจักรวรรดิญี่ปุ่น

ยุคต่อมาคือหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลี ค.ศ. 1953 เป็นช่วงเวลาที่คนทำหนังได้อิสระในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ เพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น โดยใน ค.ศ. 1955 หนังเรื่อง Chunhyang-jon ถูกพิจารณาว่าเป็นหนังบล็อกบัสเตอร์เรื่องแรกของเกาหลี โดยมีคนดูถึง 200,000 คน คิดเป็น 10% ของชาวเมืองโซลเลยทีเดียว และในยุคนั้นยังมีหนังเรื่อง The Housemaid เมื่อ ค.ศ. 1960 ที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนังดีที่สุดของเกาหลีใต้อีกด้วย (หนังเล่าเรื่องของแม่บ้านสาวพยายามยั่วยวนทำลายครอบครัวของเจ้านายที่มีภรรยาอยู่แล้ว)

อย่างไรก็ตามยุครุ่งเรืองของหนังเกาหลีต้องสิ้นสุดลง เมื่อเกิดการยึดอำนาจโดยทหารเมื่อ ค.ศ. 1961 ซึ่งได้ออกกฎหมายควบคุมภาพยนตร์ เริ่มต้นตั้งแต่การจำกัดการนำเข้าหนังต่างประเทศ และจำกัดการผลิตหนังในประเทศ มีการเซ็นเซอร์หนังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะหนังเนื้อหาเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์ เนื้อหาส่อไปในทางอนาจาร รวมถึงหนังใดๆ ก็ตามที่อาจทำลายภาพพจน์ของประเทศจะกลายเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด ซึ่งผลจากการเซ็นเซอร์ทำให้วงการหนังเกาหลีตกต่ำลง ทั้งจากโปรดักชันแย่ๆ และบทหนังที่ไม่มีคุณภาพ ส่งผลให้แทบไม่มีคนสนใจดูหนังในโรงอีกเลย

ผลกระทบดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมหนังเกาหลีย่ำแย่มากๆ รัฐบาลจึงเลือกแก้ปัญหาด้วยการจำกัดวันฉายหนังต่างประเทศให้น้อยลงไปอีก โดยหวังว่าจะช่วยฟื้นฟูวงการหนังเกาหลีใต้ แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่ง ค.ศ. 1984 ได้มีการแก้ไขกฎหมายควบคุมภาพยนตร์ ทำให้ผู้สร้างหนังอิสระสามารถทำหนังได้ ซึ่งถือเป็นช่วงพลิกฟื้นอุตสาหกรรมหนังเกาหลีอย่างแท้จริง แต่พวกเขายังคงต้องต่อสู้กับความนิยมหนังต่างประเทศอยู่เช่นเคย

Peppermint Candy (1999) โดย ลีชางดอง ที่เล่าเรื่องย้อนหลังเหมือนกับ Momento ของคริสโตเฟอร์ โนแลน (2000)

2. บังคับใช้ Screen Quota ให้ฉายหนังเกาหลีขั้นต่ำ 146 วันต่อปี

ผลจากการแก้ไขกฎหมายควบคุมภาพยนตร์เมื่อ ค.ศ. 1984 ทำให้การนำเข้าหนังต่างประเทศไม่ถูกจำกัดอีกต่อไป ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อส่วนแบ่งรายได้ของหนังเกาหลีที่ลดลงไปอย่างเห็นได้ชัด เพราะคนนิยมหนังต่างประเทศมากกว่า  ตัวอย่างเปรียบเทียบที่ชัดเจนคือใน ค.ศ. 1985 ส่วนแบ่งหนังต่างประเทศทำรายได้ 60% หนังเกาหลีใต้ 40% แต่ 8 ปีต่อมาส่วนแบ่งดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงเป็น 84% ต่อ 16% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตกต่ำของวงการหนังเกาหลีอีกครั้ง

ในช่วงแรกนั้นรัฐบาลได้พยายามใช้ประโยชน์จากการเข้ามาของผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศ เช่น UIP, 20th Century Fox, และ Warner Bros. ด้วยการออกกฎว่าถ้าคุณจะนำหนังต่างประเทศเข้ามาฉาย ใน 1 เรื่องจะต้องสนับสนุนเงินสร้างหนังเกาหลีจำนวน 4 เรื่อง ซึ่งมันดูดีในทางทฤษฎี แต่ปรากฏว่าในทางปฏิบัติจริงนั้นพวกเขาก็เจียดเงินเล็กน้อยสร้างหนังเกาหลีห่วยๆ ขึ้นมา 4 เรื่อง สุดท้ายคนดูก็ต้องดูหนังต่างประเทศของพวกเขาที่ดีกว่าอยู่ดี

ทำให้ใน ค.ศ. 1993 รัฐบาลเกาหลีจึงได้บังคับใช้ screen quota อย่างเข้มงวดเป็นครั้งแรก โดยบังคับให้โรงหนังต้องฉายหนังเกาหลีจำนวนขั้นต่ำ 146 วันต่อปี ซึ่งก็ไม่ได้ช่วยให้รายได้หนังเกาหลีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะคนก็ยังคงนิยมหนังต่างประเทศเหมือนเดิม

The Host (2006) ภาพฉากระทึกขวัญที่น่าจดจำ โดย บองจุนโฮ

3. การลงทุนสร้างหนังโดยกลุ่มธุรกิจที่มีอิทธิพล (แชโบล)

แน่นอนว่าคนสร้างหนังต้องหาแหล่งเงินทุน ในช่วง ค.ศ. 1992 กลุ่มแชโบล (เช่น ซัมซุง, แดวู, ฮุนได) ได้ให้ความสนใจลงทุนผลิตหนังและประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่เมื่อเกิดวิกฤติการเงิน ค.ศ. 1997 (ปีเดียวกับวิกฤติต้มยำกุ้ง พ.ศ. 2540) จึงทำให้บริษัทกลุ่มแชโบลได้ถอนตัวจากการลงทุนสร้างหนังเพื่อไปโฟกัสธุรกิจตัวเองเพียงอย่างเดียว และนั่นทำให้กลุ่มนายทุนหน้าใหม่เข้ามาแทนที่ กลุ่มนั้นคือ CJ, Orion, และ Lotte ที่ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้เล่นรายใหญ่ของสนามอุตสาหกรรมหนังเกาหลีโดยถือครองส่วนแบ่งรวมกันถึง 80%

The Thieves (2012) เป็น Ocean’s Eleven ในแบบฉบับของเกาหลี

4. รัฐบาลสนับสนุนคนทำหนังผ่านสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลี (Korean Film Council)

จุดสำคัญที่ทำให้วงการหนังเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดดในขั้นต้นคงต้องให้เครดิตการกำเนิดสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลี ซึ่งถึงแม้จะก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1973 แต่มันกลับไม่เคยมีบทบาทหน้าที่ใดๆ ต่อวงการหนังเลย จนเมื่อ ค.ศ. 1999 พวกเขาได้ประกาศตัวว่าองค์กรได้จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนและประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมหนังเกาหลีทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยองค์กรดังกล่าวจะมีคณะกรรมการจำนวน 9 คน ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (มันคือกระทรวงเดียวนะ) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการผลิตหนัง

สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งเกาหลีไม่ได้เป็นเพียงแค่เสือกระดาษ แต่พวกเขาทำหน้าที่เพื่อภาพรวมของวงการหนังได้อย่างดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็น การพิจารณาสนับสนุนเงินทุนให้คนทำหนัง, สนับสนุนการวิจัย การศึกษา และการฝึกอบรม, พวกเขายังช่วยเหลือโรงฉายหนังนอกกระแส (art house theaters เหมือน House RCA), ช่วยเหลือด้านการตลาดแก่บริษัทหนังเกาหลีในเทศกาลหนังนานาชาติ, อีกทั้งยังเป็นสปอนเซอร์จัดเทศกาลหนัง, ตีพิมพ์นิตยสารหนังเกาหลีเป็นภาษาอังกฤษ และพวกเขายังสนับสนุนไปถึงการจัดฉายหนังเกาหลีในต่างประเทศอีกด้วย เรียกว่าครบวงจรการสนับสนุนวงการอย่างเป็นระบบ

Oldboy (2003) หนังแจ้งเกิดปาร์คชานวุค

5. ลอกเลียนแบบและสร้างสรรค์ผลงาน

ถ้าเป็นแวดวงเทคโนโลยี เราคงต้องยกตัวอย่างสินค้าเกาหลีและจีนหลายๆ อย่างว่ามีจุดเริ่มต้นจากการลอกเลียนแบบสินค้าที่ประสบความสำเร็จในตลาดอยู่แล้ว แต่การลอกเลียนแบบของพวกเขาไม่ได้เป็นผู้ตามเพียงอย่างเดียว พวกเขาเลียนแบบเพื่อก้าวจากศูนย์ข้ามไปที่สองหรือสาม แล้วค่อยพัฒนาต่อยอดจากนั้น

เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหนังเกาหลีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะได้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและมีการศึกษาเรียนรู้มากมาย แต่หนึ่งในวิธีการทำหนังของพวกเขาหลายๆ เรื่องก็ได้รับอิทธิพลจากฮอลลีวูดมาทำเป็นหนังของตัวเองมากมาย ยกตัวอย่างเช่น The Thieves ที่เรียกว่าเป็น Ocean’s Eleven ของเกาหลี หรืออย่าง The Tower ก็มีความคล้ายคลึงกับบล็อกบัสเตอร์ในอดีตของฮอลลีวูดเรื่อง The Towering Inferno

แต่ในขณะเดียวกันหนังหลายๆ เรื่องของเกาหลีก็มีความสร้างสรรค์ที่โดดเด่นมากๆ จนฮอลลีวูดยังต้องติดต่อขอซื้อไปรีเมกใหม่ เช่น ความสำเร็จของ Il Mare ที่ถูกนำไปสร้างใหม่เป็น The Lake House, ความยอดเยี่ยมของA Tale of Two Sisters ที่ถูกสร้างใหม่ในชื่อ The Uninvited, นอกจากนี้ความโด่งดังของ Oldboy และ My Sassy Girl ก็ดึงดูดให้ฮอลลีวูดซื้อสิทธิ์ไปสร้างใหม่เช่นเดียวกัน

อีกประการหนึ่งคือวงการหนังเกาหลีให้ความสำคัญกับงานด้านเทคนิคเป็นอย่างมาก จะเห็นได้ว่างานกำกับภาพในหนังเกาหลียุคหลังๆ โดดเด่นเกินหน้าเกินตาเพราะมันมีความตั้งใจเช่นนั้น ยกตัวอย่างเช่น The Handmaiden, The Age of Shadows หรือกระทั่ง Stoker หนังฮอลลีวูดที่กำกับโดย ปาร์กชานวุก ก็ใช้ผู้กำกับภาพชาวเกาหลีที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

และพวกเขายังฉลาดใช้สื่อภาพยนตร์ในการเผยแพร่วัฒนธรรมไปทั่วเอเชีย ซึ่งความสำเร็จที่จับต้องได้อาจจะต้องยกเครดิตให้ทางฝั่งซีรีส์เกาหลีมากกว่า แต่ที่น่าสนใจคือหนังเกาหลีหลายเรื่องถูกสร้างขึ้นเพื่อส่งเสริมชาตินิยมอย่างแนบเนียน

Snowpiecer (2013) โดยจุนบองโฮ

6. การทำงานร่วมกันระหว่างโรงหนังและดูออนไลน์

โดยปกติแล้วระบบการจัดจำหน่ายหนังนั้นจะมีแบบที่ยึดถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาช้านาน เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของโรงหนัง ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘ถ้าหนังออกแผ่นพร้อมฉายโรง แล้วใครจะไปดูในโรง’ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวทำให้เกิดระบบช่องว่างของการจัดจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ขึ้นมา (window) อธิบายได้ว่าหนังจะถูกฉายครั้งแรกที่โรงหนังต่างๆ ซึ่งเป็นช่องทางทำรายได้หลัก และหลังจากนั้นจะเว้นช่วงประมาณ 4 เดือน เพื่อวางจำหน่ายแผ่น DVD หรือ Blu-ray รวมถึงในการซื้อหนังออนไลน์ในปัจจุบันด้วย

แต่ที่เกาหลีเขาไม่คิดเช่นนั้น ด้วยความที่ประเทศเกาหลีมีการเติบโตด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึง LTE บ้านเขาก็ใช้งานได้จริง จึงทำให้ธุรกิจออนไลน์ต่างๆ เติบโตตามไปด้วย หนึ่งในนั้นก็คือ IPTV (Internet Protocol Television) และ VOD (Video on Demand) ซึ่งเป็นช่องทางหลักสำหรับการจำหน่ายหนังออนไลน์ ตามปกติแล้วพวกเขาควรจะเลือกทำตาม window การฉายปกติ แต่ที่เกาหลีเลือกจะจำหน่ายหนังออนไลน์พร้อมกับฉายโรง หรือช้ากว่าในโรงเพียง 4 ถึง 6 สัปดาห์เท่านั้น

มองดูเผินๆ เหมือนมันจะมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับเกื้อกูลกัน โดยเขายังถือว่าโรงหนังคือช่องทางจำหน่ายหนังที่แข็งแกร่งเหมือนเดิม แต่ขณะเดียวกันช่องทางออนไลน์ต่างๆ คือโอกาสในการเข้าถึงผู้คนวงกว้างที่กำลังเติบโตตามการใช้งาน IPTV และ VOD มากขึ้นทุกปี โดยใน ค.ศ. 2015 มีคนเข้าชมหนังในโรงเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1% (217 ล้านครั้ง) ส่วนช่องทางดูหนังชนโรงทาง VOD นั้นก็มีกำแพงเรื่องราคาขึ้นมาอยู่ที่ประมาณเรื่องละ 12,000 วอน (ประมาณ 350 บาท) โดยราคาจะปรับลงเมื่อครบ 1 ปีหลังฉายโรง ซึ่งมันน่าสนใจที่ว่าอุตสาหกรรมหนังบ้านเขายังคงยึดผลประโยชน์เหมือนเดิม แต่เขากล้าลองเสี่ยงสร้าง window ใหม่ๆ ที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้สร้างหนัง

ตัวอย่างศึกษาคือการฉาย Snowpiercer ทาง VOD ก่อนฉายโรง ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ได้ผล ทอม ควินน์ (Tom Quinn) ผู้บริหารของ Radius-TWC (เป็นบริษัทลูกของ Weinstein Company ทำหน้าที่จัดจำหน่ายหนังเฉพาะกลุ่มทางออนไลน์และโรงหนัง เช่น เรื่อง Only God Forgives หรือ It Follows) ได้พูดถึง Snowpiercer ว่าเหมาะสมกับกลยุทธ์การฉายทาง VOD พร้อมโรงหนัง เขายังคาดหวังว่ามันจะไปได้ดีทั้งการฉายในโรงและ VOD ซึ่งหวังว่ามันจะส่งเสริมกัน

โดยผลลัพธ์ที่ออกมาถือว่าน่าสนใจ เพราะจากการฉายจำกัดโรงในสัปดาห์แรก มันค่อยๆ มีกระแสจนเกิดการเพิ่มโรงขึ้นเป็น 356 โรงในสุดสัปดาห์ ถึงแม้จะทำเงินไปเพียง 4.5 ล้านเหรียญ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนต่อโรงก็ถือว่าน่าพอใจ ซึ่งควินน์เชื่อว่าการฉาย VOD ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงหนังที่ฉายจำกัดโรง และถ้าหากหนังมันดีก็จะเกิดกระแสปากต่อปากที่ช่วยทำให้หนังที่ยังฉายอยู่ในโรงมีคนดูมากขึ้น

ควินน์ยังบอกอีกว่า “ผมเชื่อว่าโรงหนัง และ VOD สามารถอยู่ร่วมกันได้ ร้านอาหารสุดโปรดของผมเริ่มมีบริการส่งถึงบ้าน แต่ผมก็ยังคงเดินทางไปกินที่ร้านเหมือนเดิม เช่นเดียวกับแต่ละเรื่องที่ต้องวางแผนการฉายแตกต่างกันไปตามความเหมาะสม เพราะไม่ใช่ว่าทุกเรื่องจะสามารถทำแบบ Snowpiercer ได้หมด”

 

เมื่อเราดูบทเรียนของอุตสาหกรรมหนังเกาหลีใต้เป็นตัวอย่าง แล้วย้อนมาดูข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์ ก็จะพบว่ามันอาจจะไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมก็เป็นได้

1. ข้อเรียกร้องสำหรับการดำเนินการระยะเร่งด่วน

1.1 กำหนดสัดส่วนการฉายภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ โดยกำหนดให้โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ต้องฉายภาพยนตร์ไม่ว่าจะเรื่องใดด้วยสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนจอที่มีอยู่ โดยบังคับใช้กับภาพยนตร์ทุกเรื่อง

1.2 กำหนดจำนวนรอบและระยะเวลาฉายสำหรับภาพยนตร์ไทย ให้โรงภาพยนตร์มัลติเพล็กซ์ ต้องวางโปรแกรมการฉายให้แก่ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่อง เป็นระยะเวลาอย่างน้อยที่สุด 2 สัปดาห์เต็ม นับตั้งแต่วันที่เริ่มฉายในโปรแกรมปกติ ให้รอบการฉายวันละ 5 รอบเต็ม เพื่อให้ภาพยนตร์ไทยได้มีโอกาสสร้างรายได้ตอบแทนทันเวลา และมีโอกาสได้เพาะบ่มกลุ่มผู้ชมอย่างจริงจังต่อเนื่อง

1.3 ยกเลิกค่าธรรมเนียมการฉายระบบดิจิทัล (VPF) และ/หรือค่าธรรมเนียม/ค่าใช้จ่ายอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับระบบการฉายทั้งหมดสำหรับภาพยนตร์ทุกเรื่อง เนื่องจากเป็นค่าชดเชยการลงทุนเปลี่ยนเครื่องฉายเป็นระบบดิจิทัลที่โรงภาพยนตร์โยนภาระให้แก่ผู้สร้างภาพยนตร์มาเป็นระยะเวลานาน

1.4 จัดการระบบผูกขาดในธุรกิจภาพยนตร์ เนื่องจากโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของสองเครือใหญ่ ทั้งยังมี ‘สายหนัง’ ที่เป็นผู้แทนจำหน่ายภาพยนตร์จากกรุงเทพฯ สู่แต่ละภูมิภาค ทำให้การประเมินรายได้จากการจำหน่ายบัตรของโรงภาพยนตร์ไม่สามารถนับจากจำนวนคนดูทั่วประเทศได้ จึงเรียกร้องให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ผู้มีอำนาจตามพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ได้เข้ามาดูแลและกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันทางธุรกิจภาพยนตร์ทั้งระบบ

2. ข้อเรียกร้องสำหรับการดำเนินการระยะต่อไป

ให้สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีบทบาทอย่างจริงจังในการสร้างกลไกเพื่อการพัฒนาคุณภาพของทั้งผู้สร้างภาพยนตร์ไทย และผู้ชมภาพยนตร์ในประเทศไทย ผ่านวิธีการและการดำเนินงานในลักษณะต่างๆ โดยให้ผู้สร้างภาพยนตร์เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดผลงานภาพยนตร์ไทยที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของตลาด ขณะเดียวกันก็เกิดผู้ชมที่มีรสนิยมอันหลากหลาย มีจิตใจที่เปิดกว้าง สามารถเพาะบ่มวัฒนธรรมการชมภาพยนตร์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างแข็งแรง ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างแท้จริง”
จากข้อเรียกร้องดังกล่าวเทียบกับบทเรียนศึกษาจากเกาหลีใต้แล้ว เราคิดว่าข้อเรียกร้องในระยะสั้นคงจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะมันคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุที่ไม่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้ เราไม่คิดว่าการบังคับกีดกันให้หนังต่างประเทศที่เป็นบล็อกบัสเตอร์ หรือหนังตลาดของไทยฉายเพียง 1 ใน 5 ของจำนวนโรงหนังที่มี จะทำให้คนตัดสินใจไปดูหนังไทยที่เข้าฉายทั้งวันตลอด 2 สัปดาห์แทน

ในขณะเดียวกันแผนระยะยาวเองก็ต้องพึ่งพาการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ซึ่งของเกาหลีเขาทำเป็นนโยบายจริงจังหวังผลด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวแล้วประสบความสำเร็จ เราก็หวังว่าของไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่สนับสนุนคนทำหนังเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเกาหลีใต้เขาเหมือนกัน

เกาหลีเองก็เคยล้ม เคยตกต่ำ แต่สามารถวิวัฒนาการทางนโยบายจนแข็งแกร่งในระดับโลกได้ แล้วทำไมไทยจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็น

แล้วคุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับข้อเรียกร้องดังกล่าวของกลุ่มเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์บ้าง และคิดว่าทางออกไหนดีที่สุดสำหรับเมืองไทยครับ

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai​

อ้างอิง:

  • The Unique Story of the South Korean Film Industry – http://www.inaglobal.fr/…/unique-story-south-korean-film-in…
  • The Success of the South Korean Film Industry: Creating a Synergy Between Cinema and VOD – https://www.filmdoo.com/…/the-success-of-the-south-korean-…/
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Korean_Film_Council
  • ‘Snowpiercer,’ VOD and the future of film distribution – http://www.latimes.com/…/la-et-mn-snowpiercer-vod-and-the-f…
  • ข้อเรียกร้องของกลุ่มเครือข่ายฯ ภาพยนตร์ต่อประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ http://movie.mthai.com/bioscope/205839.html
Tags: , , , , , , , ,