บ่ายวันหนึ่ง ชายหนุ่มเดินลงมาจากแผนกจิตเวช ของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางเมืองเบอร์ลิน เขาเพิ่งไปสมัครเป็นผู้ช่วยจัดเก็บและดูแลเอกสารคนไข้จิตเวช ซึ่งทางโรงพยาบาลพยายามรวบรวมเอาไว้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ เอกสารส่วนหนึ่งกลายเป็นเอกสารสำคัญและจดหมายเหตุทางประวัติศาสตร์การรักษาและพัฒนาการทางการแพทย์ของประเทศเยอรมนี ช่วงเวลานั้น อากาศเริ่มอุ่นขึ้นมาบ้างแล้ว เขาจึงเตร็ดเตร่และเลียบเลาะไปตามตึกรามในเมือง เบอร์ลินไม่ใช่สถานที่อันแปลกหน้าสำหรับเขาอีกต่อไป

ชายหนุ่มตัดสินใจเป็นอาสาสมัครหรือฝึกงานที่นั่น มีสาเหตุหลายประการที่ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย ในเบื้องแรก เขาเคยเข้าไปเยี่ยมชมในส่วนพิพิธภัณฑ์ ซึ่งจัดแสดงอุปกรณ์ทางการแพทย์และจดหมายเหตุอันเกี่ยวเนื่องกับการรักษาผู้ป่วยจิตเวช ครั้งนั้น สิ่งที่ติดตาเขามากที่สุดมิใช่เตียงซึ่งมีอุปกรณ์ล่ามข้อมือและข้อเท้า มิใช่ข้อความซึ่งระบุขั้นตอนการรักษาแบบทารุณ ทว่า มันเป็นภาพวาดของเด็กหญิงชาวเยอรมันซึ่งป่วยทางจิตและถูกพ่อแม่นำส่งเข้าโรงพยาบาล

เด็กหญิงใช้เวลารักษาตัวอยู่นานและเสียชีวิตระหว่างการรักษา ภาพที่เธอวาด ระบุถึงตัวตนของเธอซึ่งนั่งอยู่อย่างหวาดกลัวกลางห้องนอน และมันเป็นตำแหน่งที่สว่างไสวมากที่สุด แม้จะขมุกขมัวก็ตามที

ท่ามกลางห้องที่ทึมเทา แสงสว่างค่อยๆ จางลงจนเหลือแต่เงาเลือนลางพอให้เดาได้ว่าในห้องนั้นมีเครื่องใช้อะไรบ้าง ผ้าห่มย่นยับบนเตียง โคมไฟแตกวางบนพื้นปะปนกับรองเท้า ถุงเท้า และข้าวของอื่นๆ มองขึ้นไปบนเพดาน ปีศาจแขนขายาวสีดำสนิท เกาะอยู่เบื้องบนพร้อมกางเล็บและฉายแววตาแดงฉาน ตำแหน่งของมันตรงกับเด็กหญิงคนนั้น

แสงสว่างอาจมิใช่ตัวแทนของความหวังหรือความดีงามเสมอไป มันยังเป็นเสมือนเป้าหมายที่ถูกคุกคาม เป็นสิ่งที่ถูกมองเห็นได้ง่ายจากความมืด

ชายหนุ่มจ้องมองภาพราวกับถูกสะกด หากเขาเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจ ภาพนี้คงมิพ้นการเป็นประจักษ์พยานชิ้นสำคัญ ภาพยนตร์ผีและแนวสั่นประสาทก็มักใช้ภาพวาดลักษณะนี้เข้ามาประกอบร่วม เพื่อแสดงให้เห็นถึงจินตนาการอันบิดเบี้ยวของเด็กจากความเป็นจริงของผู้ใหญ่

ทว่า เขาย้อนถามตนเองหลายครั้ง…

ในฐานะผู้สนใจแนวคิดจิตวิเคราะห์ ภาพนี้กำลังจะบอกอะไรกับเรา?

ภาพนี้ถูกวาดขึ้นมาในช่วงต้นปี 1950 ช่วงเวลานั้น แนวคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์กำลังเป็นที่นิยมและสร้างความคึกคักให้กับแวดวงวิชาการในฝรั่งเศสและวงการจิตวิเคราะห์ในยุโรป ตัวแปรสำคัญของกระแสนี้คือ ฌาคส์ ลากอง ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดชุดสัมมนาหัวข้อ ‘หวนคืนสู่ฟรอยด์’ (Return to Freud)

การสัมมนาครั้งนั้นนับเป็นการเชื่อมโยงแนวคิดอันกระจัดกระจายของฟรอยด์ให้เกิดรูปและเป็นระบบมากขึ้น ผ่านวิธีการอ่านแบบโครงสร้างนิยม (Structuralism) ไม่ว่าจะเป็นการตีความความฝัน อีโก และจิตไร้สำนึก ฯลฯ

ทว่า ความคึกคักทางวิชาการก็มิได้หมายความว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการรักษาคนไข้ หรือการพิจารณาว่าพวกเขาและเธอมีคุณค่าในชีวิตเท่าเทียมกันกับคนที่ถูกเรียกว่า ‘ปกติ’

คนไข้จำนวนไม่น้อยยังคงถูกรักษาด้วยวิธีการแบบป่าเถื่อนเพื่อกลับคืนสู่ความเป็นมนุษย์

เด็กหญิงผู้วาดภาพนี้ก็เช่นกัน เธอเสียชีวิตไปเพื่อแลกกับความเป็นปกติในสายตาทางการแพทย์

การมองภาพวาดดังกล่าวในสายตาของจิตเวชนี่เอง ทำให้ชายหนุ่มย้อนกลับมาที่โรงพยาบาล พร้อมกับอาสามาเป็นผู้ช่วยจัดเก็บเอกสาร เพื่อที่เขาจะได้ใกล้ชิดและมีโอกาสเห็นภาพวาดหรือข้อเขียนอื่นๆ อีกมากมาย

ระยะกระจกเงา

ตึกที่เขาเดินลัดเลาะไปนั้น ประกอบไปด้วยกระจกจำนวนมาก ส่วนมากเป็นกระจกโปร่งใส ทว่าในบางแง่มุมก็สะท้อนสรรพสิ่งเบื้องหน้าเอาไว้ ราวกับภายในกระจกแต่ละบานบรรจุโลกเอาไว้อย่างสัมพัทธ์กับโลกที่เราดำรงอยู่

ในความเชื่อแบบดั้งเดิม กระจกอาจเป็นสิ่งที่สะท้อนโลกอันเหนือจริง อาจช่วยทำให้มองเห็นภูติผีปีศาจ หรือกระทั่งเป็นประตูที่ช่วยให้เราสามารถเดินทางเข้าไปสู่โลกอีกใบหนึ่งได้

ในเชิงจิตวิเคราะห์ก็มีแง่มุมที่ไม่ต่างกันนัก กระจกไม่ใช่สิ่งที่ส่องสะท้อนความจริง แต่มันคืออุปลักษณ์สำคัญในการส่องสะท้อนโลกที่พึงเห็นแต่ไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า

แนวคิดว่าด้วย ‘ระยะกระจกเงา’ (Mirror Phase) ของลากอง เป็นตัวอย่างหนึ่งที่หยิบยกเอาโลกในกระจกมาอภิปรายได้อย่างลุ่มลึก คนทั่วไปมักเข้าใจว่า แนวความคิดนี้คือการทำความเข้าใจการรับรู้ตัวตนของเด็กทารก ที่เด็กจะเริ่มพฤติกรรมเลียนแบบสิ่งที่ตัวเองเห็นและยึดติดกับภาพลักษณ์หรือจินตภาพที่มีต่อโลกภายนอก จากนั้นเด็กจะค่อยๆ สร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา แต่คำอธิบายพื้นฐานเช่นนี้ อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากมาย โดยเฉพาะการสร้างคำตอบว่าด้วยพฤติกรรมเลียนแบบอันเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในการอภิปรายปัญหาว่าด้วยเด็ก

ความน่าสนใจของแนวคิด ‘ระยะกระจกเงา’ ก็คือ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้จ้องมองกระจกกับเงาที่พวกเขาเห็น ตัวตนในจินตนาการหรืออีโก เป็นเสมือนเงาในกระจก เป็นสิ่งที่ทุกคนทั้งปรารถนาและพยายามที่จะเป็นหรือเลียนแบบ รวมไปถึงรับรู้ตัวเองผ่านตัวตนในจินตนาการ แต่เราต่างรู้อยู่ลึกๆ ว่ามันไม่อาจเป็นได้ เราจึงถูกกักขังอยู่ในภาพลักษณ์เชิงอุดมคติที่มีต่อตนเอง ควบคู่ไปกับความแปลกแยกที่ตนเองไม่อาจสวมทับตัวตนในอุดมคติได้อย่างแนบเนียน ประเด็นนี้คืออัศจรรย์ของจิตวิเคราะห์ที่ทำให้เราตระหนักถึงความแปลกแยกขั้นพื้นฐานในการสร้างความเป็น ‘ซับเจ็กต์’ (Subject) และบ่งบอกว่าเราคือใคร

ซับเจ็กต์ในความหมายของลากองจึงไม่ได้ดำรงอยู่ที่ตัวเราในฐานะผู้จ้องมองกระจก แต่สถิตย์อยู่ในระยะระหว่างตัวเรากับตัวตนในจินตนาการหรืออีโก

ซับเจ็กต์ในคำอภิปรายเช่นนี้สำคัญอย่างยิ่ง เมื่ออภิปรายร่วมกับแนวคิดภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะแง่มุมที่ว่า ภาษามิได้เป็นเพียงตัวแทนหรือตัวกลางของความหมาย แต่เป็นทั้งตัวกลางและตัวกั้นหรือแรงต้าน (Resistance) ที่ทำให้เราไม่อาจเข้าถึงความหมายนั้น

ตัวตนในจินตนาการหรืออีโก เป็นเสมือนเงาในกระจก เป็นสิ่งที่ทุกคนทั้งปรารถนาและพยายามที่จะเป็นหรือเลียนแบบ รวมไปถึงรับรู้ตัวเองผ่านตัวตนในจินตนาการ แต่เราต่างรู้อยู่ลึกๆ ว่ามันไม่อาจเป็นได้

ลากองจึงให้ความสำคัญกับภาษาและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ ของคนไข้ที่เขารักษาเป็นอย่างมาก เนื่องจากนี่คือส่วนหนึ่งของการเข้าไปสู่โลกในจินตนาการของคนไข้ ในทางกลับกัน การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของคนไข้ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามดิ้นรนให้หลุดออกมาจากโลกในจินตนาการ หรือภาพลักษณ์ที่เขาและเธอถูกคุมขังอยู่ภายใน

ผมหวนนึกถึงภาพวาดของเด็กหญิงคนนั้นอีกครั้ง ในห้องของเธอไม่มีกระจกแม้แต่บานเดียว แต่ตำแหน่งของเธอกับปีศาจที่มีแววตาและกรงเล็บแดงฉานนั้นอยู่ตรงข้ามกันพอดี ทั้งสองไม่ได้ประจันหน้ากัน เด็กหญิงนั่งกอดเข่าก้มหน้าด้วยความหวาดกลัว ปีศาจร้ายกางแขนและกรงเล็บพร้อมคุกคาม…

หากเราทดลองเชื่อในแนวคิดของลากอง ตัวตนในจินตนาการหรืออีโกของเรามีอยู่สองลักษณะ ‘อีโกในอุดมคติ’ (Ideal ego) คือสิ่งที่เข้าใจได้ง่ายเพราะมันคือภาพลักษณ์ที่เราอยากเป็น ที่เข้าใจได้ยากคือ ‘อุดมคติของอีโก’ (Ego ideal) เนื่องจากอีโกในความหมายนี้ เปรียบเสมือนการสร้างให้ตัวตนในจินตนาการให้มีชีวิตจริงเทียบเท่าและอาจมากกว่าคุณค่าความหมายของชีวิตที่เรามีอยู่จริงๆ

อุดมคติของอีโก จะกำกับและควบคุมทิศทางชีวิตของเราให้เป็นไปตามสิ่งที่ควรเป็น ชีวิตของมนุษย์จึงมิได้มีคุณค่าและความหมายในตัวของมันเอง แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างและกำหนดทิศทางเอาไว้อย่างล่วงหน้า

ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนมากไม่ได้เจ็บป่วยในแง่ระบบประสาทเพียงอย่างเดียว พวกเขาและเธอยังเจ็บป่วยเนื่องจากการปฏิเสธและต่อต้าน ‘อุดมคติของอีโก’ ที่มักถูกระบุให้กลายเป็นบรรทัดฐานหรือคุณค่าอันดีงามในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความดีหรือการ (กลาย) เป็นคนดีในสายตาของผู้ปกครองและผู้มีอำนาจ

ความเจ็บป่วยประเภทนี้ คือส่วนหนึ่งของการถูกโบยตีจากอุดมคติของอีโก และความทุกข์ทรมานที่ไม่อาจสร้าง Subject ที่ตนปรารถนาขึ้นมาได้

มันคงไม่มีความเจ็บปวดใดที่มากไปกว่าความทรมานจากความแปลกแยกภายในตนเอง และพบว่า กำลังมีปีศาจในฐานะ ‘คนแปลกหน้าอันผูกพัน’ ตามหลอกหลอน ควบคุม และเข้ามาเยี่ยมเยือนแม้เพียงครั้งคราว

ภาพวาดของเด็กหญิงคนนั้นปรากฏขึ้นในใจผมอีกครั้ง…

คนแปลกหน้าอันผูกพัน

ชายหนุ่มเดินเตร่ไปตามถนน และทดลองถ่ายรูประยะกระจกเงาหลายต่อหลายครั้ง สลับกับความคิดที่มีต่อภาพวาดแผ่นนั้น บางครั้งการถูกตามหลอกหลอนด้วยคนแปลกหน้าอันผูกพัน ซึ่งเกิดจากการทำงานของอุดมคติของอีโก แทบไม่ต่างไปจากการสูญเสียอีโกในอุดมคติไปอย่างสิ้นเชิง

ทั้งสองสิ่งเป็นเสมือนตัวแทนยืนยันความเป็นมนุษย์ในตัวเรา และระบุว่าตัวเราคือใคร ทั้งด้วยการถูกครอบงำและการไขว่คว้าหาเจตจำนงอันเสรี เราทุกคนล้วนอาจเจ็บป่วยได้ด้วยการถูกตามหลอกหลอนและการไร้ซึ่งอุดมคติ

สมมติฐานของชายหนุ่มอาจจะผิด แต่คงไม่มีสิ่งใดที่ยึดครองความถูกต้องหรือสัจจะไว้เพียงหนึ่งเดียว

ครั้งหนึ่ง เขาเคยนำความคิดที่มีต่อภาพที่เด็กหญิงวาดขึ้น และความปรารถนาที่จะเข้าไปเป็นผู้ช่วยในโรงพยาบาลจิตเวช เล่าให้เพื่อนชาวเยอรมันที่เรียนด้วยกันฟัง คำตอบที่ได้รับคือคำเตือนให้ถอยออกจากความคิดนี้เสีย เพราะในความเห็นของเพื่อน ชายหนุ่มกำลังเดินเข้าไปในวงกตที่ไร้ทางออก แม้ในอีกด้านหนึ่ง พวกเขาต่างทึ่งในความพยายามที่จะทำความเข้าใจสภาพจิตของคนเยอรมัน ทั้งยังระบุว่ามีเหตุผลที่น่ารับฟังก็ตาม เพื่อนของชายหนุ่มบางคนเล่าให้ฟังถึงประสบการณ์วัยเด็กของผู้เป็นพ่อแม่ ซึ่งไม่ต่างอะไรจากภาพวาดนั้นสักเท่าไหร่นัก พวกเขาและเธอล้วนโตขึ้นมาภายใต้ความคิดแบบอำนาจเผด็จการของผู้เป็นพ่อ สงคราม และความอดอยาก

“เราไม่ได้ขอให้หยุดคิด แต่อย่าลืมว่าคุณต้องมีกุญแจออกจากวงกตแห่งนี้” เพื่อนของชายหนุ่มกล่าวด้วยความเป็นห่วง

อันที่จริง แนวคิด ‘ระยะกระจกเงา’ เปรียบเสมือนการเดินทางสู่การทำความเข้าใจซับเจ็กต์และสภาวะความแปลกในแนวคิดจิตวิเคราะห์เท่านั้น ระยะทางระหว่างตัวเราและจินตภาพ (Imaginary) ล้วนเต็มไปด้วยสภาวะของการขาดแคลนและเข้าไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา การดำรงอยู่ของซับเจ็กต์ในทัศนะของลากองจึงมีสิ่งที่ไม่ปรากฏ (Absence) แนบติดมาด้วยทุกครั้ง สิ่งที่ไม่ปรากฏนี่เองคือพันธนาการของเรา มันอาจเป็นได้ทั้งเทวาที่อำนวยพรและปีศาจที่ตามหลอกหลอน

ระยะทางระหว่างตัวเราและจินตภาพ (Imaginary) ล้วนเต็มไปด้วยสภาวะของการขาดแคลนและเข้าไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา

จูเลีย คริสเตียวา (Julia Kristeva) ปัญญาชนชั้นนำของฝรั่งเศสและนักจิตวิเคราะห์ และเป็นเพื่อนร่วมสนทนากับลากองเมื่อครั้งประชุมสัมมนา ‘หวนคืนสู่ฟรอยด์’ เธอเป็นผู้หนึ่งซึ่งพัฒนาแนวคิดจิตวิเคราะห์ให้ลุ่มลึกและเชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมให้เด่นชัดขึ้น งานเขียนของเธอว่าด้วยเหล่าคนแปลกหน้า (The strangers) ในความหมายถึง ชนต่างชาติ ต่างด้าว คนนอกที่อยู่ในประเทศและสังคมที่ไม่ใช่ของตนเอง การเป็นคนแปลกหน้าในลักษณะนี้ไม่ได้หมายความว่าไร้ซึ่งความหมายและสิ่งยึดโยงผูกพัน ทว่า ในฐานะคนแปลกหน้า กลับทำให้พวกเขาและเธอรับรู้ซึ่งตัวตนและความรู้สึกถึงการดำรงอยู่ (Sense of being) ของคนในสังคมต่างหาก

งานของคริสเตียวาเน้นเป็นพิเศษกับการวิเคราะห์ปัญหาเรื่องความเป็นชาติ ที่ปรากฏการณ์ในโลกเริ่มมีการเคลื่อนย้ายข้ามชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยการหลอมรวมและฉีกขาดในความสัมพันธ์ของผู้คน

เหล่าคนแปลกหน้านี้เองจึงมีลักษณะที่ชายหนุ่มเรียกว่า ‘คนแปลกหน้าอันผูกพัน’

หากชาติได้สร้างความเป็นชาติในฐานะอีโกในอุดมคติ วิถีทางแห่งการสร้างความเป็นชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาติไทย เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือชาติไหนๆ ก็คือ อุดมคติของอีโก ซึ่งคอยตามหลอกหลอนและควบคุมประชากรให้สยบเชื่องเชื่อต่อตัวตนหรือซับเจ็กต์ที่ถูกสร้างขึ้นมา

เหล่าคนแปลกหน้าจึงปรากฏขึ้น มิใช่เพียงในฐานะความเป็นอื่นที่สร้างตัวเราขึ้นมา หากเป็นความเป็นอื่นที่ดำรงอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราและไม่สามารถแยกขาดไปจากเราได้ และนี่คือคนอื่นในตัวเรา ในความหมายของนักจิตวิเคราะห์

ภาพของเด็กหญิงปรากฏขึ้นในใจชายหนุ่มอีกครั้ง ทว่า ครั้งนี้ เขากลับคิดว่า พวกเราทุกคนล้วนเป็นเช่นเธอคนนั้น พวกเราเจ็บป่วยทางจิตด้วยอุดมการณ์แห่งชาติ พร้อมกันกับหวาดกลัวความเป็นอื่นที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ‘คนแปลกหน้าอันผูกพัน’ แท้จริงแล้วพวกเขาก็คือคนผู้มีคุณค่าในชีวิตเท่าเทียมกับเรา ปัญหาคือการก่อร่างสร้างซับเจ็กต์ของพวกเราต่างหาก

คำถามคือ หากไร้ซึ่งคนแปลกหน้าหรือคนอื่นแล้ว พวกเราจะค้นหาวิธีการสร้างความเป็นคนและการดำรงอยู่ของตนเองได้อย่างไร เราจะตอบคำถามว่าเราคือใครได้อย่างไร หากปราศจากความเป็นอื่น?

ชายหนุ่มยังคงเดินต่อไปบนทางเท้าซึ่งขนานไปกับกระจกของตึกใหญ่ เสียงกรุกกรักดังขึ้นในกระเป๋ากางเกง เขาอุ่นใจว่ากุญแจดอกนั้นยังคงอยู่กับตัว ไม่นานนัก เขาก็พบว่า กระเป๋านั้นว่างเปล่า ทว่า เสียงมันยังดังยังชัดเจน

เขาชะงักขาและหันไปมองเงาตัวเองในกระจก ชายอีกคนหนึ่งยืนชูกุญแจดอกสำคัญนั้นไว้ในมือ

อ้างอิง

Kristeva, Julia. Strangers to Ourselves. Translated by Leon S. Roudiez. Columbia University Press. 1991