ในปี 2012 บริษัทชื่อเดียวกันกับ The Momentum (คือบริษัทชื่อ Momentum Machines) ได้สร้าง ‘หุ่นยนต์’ ขึ้นมาตัวหนึ่ง เจ้าหุ่นยนต์ที่ว่านี้ไม่ได้เป็นหุ่นยนต์ที่สลับซับซ้อนอะไร มันมีหน้าที่แค่ ‘ห่อ’ เบอร์เกอร์ แล้วก็เอาเบอร์เกอร์ใส่ถุงเท่านั้นเองครับ แต่มันทำได้เร็วมาก แล้วก็ไม่ได้ห่อเบอร์เกอร์เหมือนๆ กันไปหมดนะครับ มันสามารถห่อได้ตามรูปแบบเบอร์เกอร์ที่ลูกค้าสั่งด้วย คือถ้าเป็นเบอร์เกอร์เนื้อก็ห่อแบบหนึ่ง เป็นเบอร์เกอร์ไก่ก็ห่ออีกแบบหนึ่ง ซึ่งหุ่นยนต์ห่อเบอร์เกอร์แบบเก่าๆ จะทำอะไรแบบนี้ไม่ได้

ที่สำคัญคือ มันสามารถห่อเบอร์เกอร์ได้ถึงชั่วโมงละ 360 ชิ้น ซึ่งไม่มีมนุษย์หน้าไหนทำได้เร็วเท่า!

ผู้ผลิตหุ่นยนต์เจ้านี้ออกมาบอก (อย่างใจร้าย!) ว่า เป้าหมายของเขาไม่ได้อยากจะให้คนมาแข่งขันกับหุ่นยนต์แล้วทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรอกนะครับ แต่เขาต้องการให้หุ่นยนต์มาแทนที่มนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบต่างหากเล่า

อย่างนี้คนก็ตกงานกันน่ะสิครับ!

ใช่แล้ว แล้วไม่ใช่แค่แรงงานง่ายๆ ประเภทห่อเบอร์เกอร์เท่านั้นนะครับที่จะต้องตกงาน เพราะใน ‘คลื่น’ ลูกยักษ์ ที่ World Economic Forum (หรือ WEF) เรียกว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ (คือปฏิวัติด้วยเทคโนโลยี) นี้ กระทั่งคนที่ทำงานที่ต้องใช้ความรู้ระดับสูงก็ยังเสี่ยงที่จะตกงานด้วยเหมือนกัน

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ไอบีเอ็มพัฒนาซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีชื่อว่า ‘วัตสัน’ (Watson) ขึ้นมา ตอนนั้นมันแค่เอาชนะมนุษย์ที่เป็นแชมเปี้ยนในการเล่นเกมโชว์อย่าง Jeopardy ซึ่งแค่นั้นก็เหลือเชื่อแล้ว แต่วัตสันไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น มีการพัฒนาต่อเนื่องมาก ทำให้วัตสัน ‘โต’ ขึ้นไปอีก

ตอนนี้วัตสันเรียนหมอครับ พบว่าวัตสันสามารถวินิจฉัยโรคได้เร็วและแม่นยำกว่าแพทย์ที่เป็นมนุษย์แล้วนะครับ แล้วที่เจ๋งกว่ามนุษย์ก็คือ วัตสันไม่เคยเหนื่อยหรือเบื่อ ไม่ต้องลาพักร้อน (อาจจะลาเมนเทนแนนซ์บ้างเป็นบางคราว) แล้วก็ไม่เคยมั่นใจในตัวเองมากเกินไปหรือมีอคติบางอย่างมาทำให้วินิจฉัยโรคพลาด แถมยังอัพเกรดข้อมูลได้ตลอดเวลา ทำให้รู้ถึงการค้นพบในทางการแพทย์ใหม่ๆ ได้เรื่อยๆ รวมไปถึงวิธีรักษาและยาใหม่ๆ ด้วยนะครับ

นั่นแหละครับ เชื่อกันว่าอีกไม่นานนักวัตสันจะต้องเข้ามาช่วยเหลือหรือแม้กระทั่งแทนที่คนที่อยู่ในอาชีพแพทย์ (อย่างน้อยก็บางส่วน) แน่ๆ

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจจะบอกว่า-ที่เล่ามาไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับเรื่องเพศหรือเพศสภาพเลยนี่นา มันเรื่องเทคโนโลยีมาแย่งงานมนุษย์ล้วนๆ!

ใช่ครับ-เป็นเรื่องเทคโนโลยีที่จะมาแย่งงานมนุษย์ในแทบทุกระดับนี่แหละครับ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศอย่างช่วยไม่ได้

มีการสำรวจของ McKinsey & Company (ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก) บอกว่า ‘กิจกรรม’ ราวๆ 2,000 อย่างที่มนุษย์ทำอยู่และเรียกมันว่า ‘งาน’ นั้น ราวๆ 45% จะสามารถถูกแทนที่ได้ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน

และ WEF ก็ออกมาบอกนะครับว่า (ถ้าเราแบ่งมนุษย์ออกหยาบๆ เป็นสองเพศ) มนุษย์ที่เป็นเพศหญิงจะได้รับผลกระทบมากกว่ามนุษย์เพศชาย!

WEF ให้ข้อมูลว่า ถ้าเกิดผลกระทบอย่างที่ว่ามาข้างต้นจริง ผู้ชายจะเสียงานไป 4 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีงานใหม่เพิ่มขึ้นมา 1.4 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่ผู้หญิงอาจเสียงานน้อยกว่าก็จริง คือเสียราว 3 ล้านตำแหน่ง แต่จะมีงานที่เพิ่มเข้ามาใหม่สำหรับผู้หญิงแค่ 0.55 ล้านตำแหน่งเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้หญิงจึงจะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้มากกว่าผู้ชาย

องค์กรที่ชื่อ Our Watch และ Plan International พบว่า เด็กผู้หญิงอายุ 15-19 ปี
ในปัจจุบันนี้ มีถึงราว 90% ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย
โดยมีแค่ 14% เท่านั้นเองนะครับ ที่คิดว่าตัวเองมีโอกาสในชีวิตเท่ากับเด็กผู้ชาย

คำถามก็คือ แล้วผู้หญิงทำงานอะไรบ้าง?

The Economist เคยบอกว่า ถ้าเทคโนโลยีเข้ามาสู่มนุษย์จริงๆ งานที่จะถูกหุ่นยนต์แย่งไปทำมากที่สุดมี 2 ส่วน คืองานประเภทที่เกี่ยวข้องกับ Transportation เช่นการขับรถ เพราะจะมีระบบขนส่งอัตโนมัติมาแทน (เช่น Driverless Car) ซึ่งเป็นการแย่งงานของผู้ชายไปมากกว่า (แต่ก็จะมีการทดแทนจากงานอื่นๆ) กับงานอีกแบบหนึ่งคืองานประเภท Administration เช่น การเป็นพนักงานต้อนรับ ฯลฯ

เรื่องนี้มีสถิติของสำนักงานสถิติออสเตรเลียมารองรับด้วยนะครับ เขาบอกว่าในออสเตรเลีย งานที่มีผู้หญิงทำในสัดส่วนที่สูงก็คืองานประเภท ‘แอดมิน’ หรืองานธุรการทั้งหลายแหล่ (คือ 76% เป็นผู้หญิง) รองลงมาคืองานบริการส่วนบุคคลและบริการชุมชน เช่นงานแม่บ้าน (เป็นผู้หญิง 68%) รองลงมาอีกคืองานขายคือเป็นเซลส์ (64%) ซึ่งถ้าดูๆ แล้ว ผมว่าในไทยก็น่าจะมีสัดส่วนคล้ายๆ กันนะครับ

เขาอธิบายว่า ที่ผู้หญิงทำงานแบบนี้เยอะกว่าผู้ชาย ส่วนใหญ่เป็นเพราะงานทำนองนี้ ‘สอดคล้อง’ กับความเป็น ‘แม่และเมีย’ มากกว่า มันเริ่มจากสมัยก่อนที่ผู้หญิงต้องดูแลบ้าน พอเงินไม่ค่อยจะพอใช้เลยต้องออกมาช่วยผู้ชายหางานทำ ดังนั้นงานส่วนใหญ่จึงต้องเป็นงานประเภทพาร์ตไทม์ (เช่นงานแม่บ้าน งานเซลส์ที่ไม่ต้องอยู่ออฟฟิศตลอดเวลา หรืองานแอดมินก็มีตารางเวลาที่แน่นอน)

แต่ WEF รายงานว่า นับจากนี้ไปจนถึง 5 ปีข้างหน้า มีการคาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานเหล่านี้ที่มีอยู่ในออสเตรเลียน่าจะหายไปราวๆ 7.1 ล้านตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทรับเช็คอินเช็กเอาต์ (ไม่ว่าจะโรงแรมหรือสนามบิน) งานขายที่ซื้อของได้ออนไลน์ หรือการจองตั๋วต่างๆ นานาที่สามารถใช้ระบบ automation มาทดแทนคนได้

และเป็นงานเหล่านี้แหละครับ-ที่ผู้หญิงยึดครองพื้นที่อยู่!

ในโลกทุกวันนี้ เราอาจจะคิดว่า โอ๊ย! อะไรๆ ก็เปิดกว้างขึ้นมากแล้วใช่ไหมครับ บทบาทหญิงชายก็เท่าเทียมกันแล้วนี่นา เพราะฉะนั้น การเหยียดหรือกดผู้หญิงน่าจะลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ

แต่ในความเป็นจริง มีการสำรวจโดยองค์กรที่ชื่อ Our Watch และ Plan International พบว่า เด็กผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ในปัจจุบันนี้ มีถึงราว 90% ที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเด็กผู้ชาย โดยมีแค่ 14% เท่านั้นเองนะครับ ที่คิดว่าตัวเองมีโอกาสในชีวิตเท่ากับเด็กผู้ชาย

อันที่จริง เทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกเพศคนทำงานมากเท่าโครงสร้างวิธีคิดและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ
ที่ผนึกแน่นอยู่กับสังคมมนุษย์มาหลายพันปี

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจโดยศาสตราจารย์จานีน แบกซ์เตอร์ (Janeen Baxter) แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ในออสเตรเลีย พบว่าความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้น นับตั้งแต่ยุค 90s เป็นต้นมา มีแนวโน้มไปในทาง ‘อนุรักษ์นิยม’ มากขึ้นเรื่อยๆ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือพ่อแม่เปิดกว้างกับลูกน้อยลงนั่นเอง!

นอกจากพ่อแม่แล้ว สังคมโดยรวมที่มีแนวโน้ม ‘หันขวา’ (หรือเป็นอนุรักษ์นิยม) มากขึ้น ก็ทำให้ผู้หญิงอาจกลายเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบที่สุด เมื่อเผชิญหน้ากับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ก็ได้

ศาสตราจารย์อีกคนหนึ่ง ชื่ออเล็กซานดรา คาเลฟ (Alexandra Kalev) แห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟในอิสราเอล รวมกับศาสตราจารย์แฟรงก์ ด็อบบิน (Frank Dobbin) แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ศึกษาพบว่า เมื่อบริษัทต่างๆ จะ downsize ตัวเอง คือลดขนาดบริษัทลง (ไม่ว่าจะเพราะเศรษฐกิจ หรือเพราะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าไปช่วย) คนที่จะถูก ‘ให้ออก’ (หรือเลย์ออฟ) มักจะพิจารณาจากตำแหน่งงานและระยะเวลาการทำงานมากกว่าจะดูจากประสิทธิภาพในการทำงาน โดยมีบริษัทที่พิจารณาแบบนี้มากถึงสองในสาม

งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจาก Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) ที่รวบรวมข้อมูลจากปี 1980-2002 แล้วเอามาวิเคราะห์อีกทีหนึ่ง รวมกับข้อมูลที่รวบรวมจากบริษัทต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาอีก 327 บริษัท พบว่าการที่ใช้ ‘ตำแหน่งงาน’ กับ ‘ระยะเวลาการทำงาน’ มาพิจารณาเพื่อเลย์ออฟคนนั้น ทำให้คนที่ถูกเลย์ออฟจะเป็น ‘ผู้หญิง’ กับ ‘ชนกลุ่มน้อย’ (minorities) ต่างๆ มากกว่าที่จะเป็นผู้ชายผิวขาว ทั้งนี้ก็เพราะบริษัทมักจะรักษาคนที่มีตำแหน่งสูงๆ และทำงานมายาวนานเอาไว้ แต่ลดขนาดบริษัทด้วยการเลย์ออฟคนใหม่ๆ

เมื่อเป็นแบบนี้ บริษัทต่างๆ จึงเผชิญหน้ากับปัญหาที่เรียกว่า managerial diversity คือมีปัญหาเรื่องความหลากหลายของคน (ทั้งเพศ เชื้อชาติ และอื่นๆ) ที่เกิดจากการจัดการ ซึ่งแน่นอน เรื่องนี้ยิ่งไปซ้ำเติมผู้หญิงมากยิ่งขึ้น

คำถามถัดมาก็คือ อ้าว! แล้ว ‘เพศอื่นๆ’ ล่ะ ไม่ถูกรังแครังคัดจากเทคโนโลยีด้วยหรอกหรือ

ผมยังหางานที่ศึกษาเรื่องนี้ตรงๆ ไม่เจอนะครับ (ถ้าใครรู้ช่วยบอกด้วย จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ) แต่มีรายงานหลายชิ้นที่บอกว่าการสำรวจเรื่องนี้ทำได้ยาก เพราะแม้สังคมจะเปิดแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเปิดเผยเพศของตัวเองได้ ที่สำคัญก็คือ ในแต่ละประเทศ (หรือกระทั่งแต่ละรัฐ) ก็ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองพนักงานที่เป็นเพศอื่นๆ (เช่น LGBT) อยู่ การเปิดเผยตัวเองเพื่อการสำรวจจึงอาจส่งผลในแง่ลบได้

อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นจากแนวโน้มของโลกได้พอสมควรนะครับ ว่าให้ความสำคัญกับเพศหลากหลายค่อนข้างมาก อย่างเมื่อไม่นานมานี้ ตอนที่รัฐนอร์ทแคโรไลนาผ่านร่างกฎหมายที่ไม่ได้ส่งเสริมการคุ้มครองคนในกลุ่ม LGBT ปรากฏว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง PayPal ก็ออกมาประกาศว่าจะล้มเลิกการสร้างสำนักปฏิบัติการที่นั่น ทำให้นอร์ทแคโรไลนาต้องเสียงานไป 400 ตำแหน่ง เพราะฉะนั้นจึงอาจเป็นได้นะครับว่าถ้าเป็นคนในกลุ่ม LGBT ไปเลย ก็อาจไม่ได้รับผลกระทบมากเท่ากับกลุ่มที่เป็นผู้หญิง

แต่ต่อให้มีการคาดการณ์กันว่า ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มที่เสียเปรียบที่สุดเมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการทำงาน ก็ยังต้องจับตาดูกันต่อไปครับว่าจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า

อันที่จริง เทคโนโลยีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเลือกเพศคนทำงานมากเท่าโครงสร้างวิธีคิดและวัฒนธรรมแบบเดิมๆ ที่ผนึกแน่นอยู่กับสังคมมนุษย์มาหลายพันปีหรอกนะครับ

เราคงได้แต่ภาวนาว่า จนถึงศตวรรษนี้แล้ว อย่าให้ผู้หญิงต้องถูกโยนกลับไปอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวเดิมๆ ของตัวเองเลยครับ

มันน่าเศร้าเกินไป

ภาพประกอบ : maya

Tags: