ราวสองทศวรรษที่ผ่านมา แวดวงนักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในประเทศไทยให้ความสนใจแนวความคิดโครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส (French structuralism) กันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาวิชาสตรีศึกษา วรรณคดีศึกษา มานุษยวิทยา ตลอดจนสาขารัฐศาสตร์

ท่ามกลางนักคิดซึ่งเป็นที่รู้จักกัน ชื่อของ ‘ฌาคส์ ลากอง’ (Jacques Lacan, 1901 – 1981)  ดูจะเป็นที่รู้จักน้อยที่สุด หรือได้รับความนิยมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับนักคิดคนอื่นๆ

ทำไม?

งานศึกษาทางมานุษยวิทยาอาจมี ‘บิดา’ ทางความคิดอย่าง โคลด เลวี สโทรสส์ (Claude Lévi – Strauss, 1908-2009) ซึ่งได้ทำให้นักมานุษยวิทยาเข้าใจโครงสร้างการทำงานทางความคิดของมนุษย์ในแต่ละวัฒนธรรมผ่านปรัมปรานิยาย และชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าสังคมที่ทันสมัยและสังคมแบบบุพกาล ต่างก็มีคุณค่าในความเป็นคนเสมอกัน นักรัฐศาสตร์อาจมี ‘สรณะ’ ทางความคิดอย่าง มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault, 1926 – 1984) เพื่อทำความเข้าใจระบอบของอำนาจและความรู้ ความจริงและการต่อต้าน ในลักษณะที่แตกต่างออกไปจากรัฐศาสตร์กระแสหลัก ส่วนแวดวงวรรณคดีศึกษาอาจมี ‘ไอดอล’ อย่างโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes, 1915 – 1980) เป็นตัวแทนทางความคิดในการทำความเข้าใจการทำงานของระบบสัญญะ ภายในกระบวนการเล่าเรื่องและการสื่อสารต่างๆ

การจัดจำแนกอย่างหลวมๆ ข้างต้นเป็นสิ่งที่ทำพอให้เห็นภาพเท่านั้น ในความเป็นจริง คุณูปการของแนวความคิดโครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศสก็คือการทำหน้าที่สลายพรมแดนทางวิชาการและการแบ่งประเภทของสาขาวิชาต่างๆ นักคิดที่กล่าวถึงและที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกหลายท่าน ก็นับว่าเป็นพื้นที่ร่วมทางความคิดอันสำคัญ และส่งผลต่อการวิเคราะห์ วิจารณ์ และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ในสังคม

แต่ทำไมชื่อของลากองมักไม่ค่อยได้รับการหยิบยกหรือเอ่ยถึงมากนักในสังคมไทย?

พื้นฐานของลากองคือนักจิตเวช (Psychiatrist) และนักจิตวิเคราะห์ (Psychoanalyst)  งานเขียนของเขา นอกจากจะได้รับอิทธิพลจากซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud, 1856 – 1939) ในการวิเคราะห์จิตใต้สำนึก เขายังเติบโตขึ้นท่ามกลางความสนใจเชิงปรัชญา คณิตศาสตร์ และการค้นหาความรู้เชิงวิทยาศาสตร์

งานเขียนของลากองค่อนข้างเข้าใจยาก หลายช่วงตอนมีความยอกย้อนคล้ายงานวรรณกรรม สลับกับศัพท์แสงทางการแพทย์และจิตเวช ขณะที่การสร้างข้อเสนอเชิงทฤษฎีของเขากลับเสนอผ่านตัวแบบในเชิงคณิตศาสตร์ นี่คือลักษณะพิเศษที่ทำให้ลากองแตกต่างออกไปจากนักคิดร่วมสมัยเดียวกัน

การสร้างข้อเสนอเชิงทฤษฎีของเขากลับเสนอผ่านตัวแบบในเชิงคณิตศาสตร์ คือลักษณะพิเศษที่ทำให้ลากองแตกต่างออกไปจากนักคิดร่วมสมัยเดียวกัน

เท่าที่ผมเข้าใจ ลากองปรากฏตัวขึ้นอย่างสำคัญและเป็นทางการในงานเขียนในไทยสองเล่ม เล่มแรกไม่ได้เขียนถึงลากองโดยตรง แต่ความคิดของเขาถูกวางไว้ในฐานส่วนขยายทางความคิดของฟรอยด์ ในหนังสือเรื่อง ฟรอยด์และพัฒนาการของจิตวิเคราะห์: จากความฝันสู่ทฤษฎีทางสังคม ของ ยศ สันตสมบัติ ในปี พ.ศ. 2532  เล่มที่สอง คืองานเขียนถึงลากองโดยตรงและเป็นระบบมากที่สุดในภาษาไทย คือ ฌ้าคส์ ลาก็อง: 10 มโนทัศน์ในพรมแดนชีวิต โดย ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ในปี พ.ศ. 2555

หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีอายุห่างกันถึง 23 ปี หากเปรียบเป็นอายุของคนก็คงเข้าข่ายเป็นหนุ่ม-สาวซึ่งกำลังโลดโผนกับชีวิต แต่ในความเป็นจริง มันก็เป็น 23 ปีแห่งการผลิตซ้ำทางความคิดและเวียนวนในสายจิตวิเคราะห์เช่นกัน ช่วงเวลานี้มีงานเขียนและงานแปลเรียบเรียงว่าด้วยฟรอยด์จำนวนไม่น้อยกว่า 10 เล่ม แต่แทบไม่มีใครเขียนถึงลากองอย่างจริงจังเลย เราอาจพบเห็นคนสรุปแนวความคิดของลากองไว้บ้างในสื่อออนไลน์ ตลอดจนวิทยานิพนธ์ที่หยิบยืมแนวคิดบางส่วนมาใช้ ในกรณีงานของยศ แม้จะนับว่าเป็นชิ้นเอกที่สุดในบรรดาคนเขียนเรื่องจิตวิเคราะห์ในภาษาไทย ทั้งยังตีพิมพ์ซ้ำไม่ต่ำกว่าห้าครั้ง แต่เงื้อมเงาของฟรอยด์ในฐานะครู ผู้ชาย และบิดาทางความคิดด้านจิตวิเคราะห์ ก็บดบังการต่อยอดและการสร้างบทสนทนาของลากองไปอย่างน่าเสียดาย ขณะที่งานเขียนของชญาน์ทัตเริ่มดึงเอาศักยภาพในงานเขียนของลากองมาบอกเล่าอย่างจริงจัง และอาจถือได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกในภาคภาษาไทย

ทั้งสองเล่มนี้มีแง่มุมคล้ายคลึงกันคือ การพยายามเขียนและอภิปรายความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์และลากองบนฐานซึ่งหลีกเลี่ยงการอภิปรายฐานคิดเชิงจิตเวช ทั้งสองคนเลือกเขียนงานที่นักสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์สามารถอ่านได้แทน  โดยเฉพาะการชูให้เห็นถึงการทำงานของจิตไร้สำนึก ที่เป็นโครงสร้างและมาจากการทำงานของภาษา งานของยศแตกต่างออกไปในจุดที่เขาให้ความสำคัญกับระบบปิตาธิปไตย ขณะที่ชญาน์ทัตเน้นการเชื่อมโยงลากองกับแง่มุมซึ่งเชื่อมโยงกับปรัชญาการเมืองของเฮเกลและมาร์กซ์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราพิจารณาหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทย ชะตากรรมของจิตวิเคราะห์เป็นสิ่งที่น่าครุ่นคิด เราอาจพบว่าสาขาวิชาซึ่งเปิดการเรียนการสอนที่ทั้งคาบเกี่ยวโดยตรงอย่างสาขาจิตวิทยาและสาขาจิตเวช แทบไม่มีการให้ความสำคัญและอภิปรายถึงแนวคิดจิตวิเคราะห์อย่างจริงจัง  ขณะที่สาขาวิชาทางด้านสังคมศาสตร์อย่างสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเองก็ไม่ได้เอ่ยถึงแนวคิดนี้อีกแล้ว สาขาวิชาสตรีศึกษาและวรรณกรรมศึกษากลายเป็นกลุ่มที่นำแนวคิดนี้ไปศึกษามากที่สุด แต่ก็หยิบยกไปเฉพาะการวิพากษ์ลักษณะอำนาจของความเป็นชายและสังคมชายเป็นใหญ่

ชะตากรรมนี้ช่างตรงข้ามกับการเติบโตในโลกวิชาการตะวันตก ซึ่งพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านจิตวิเคราะห์ไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดสัมมนา การจัดทำวารสาร การทำงานศิลปะ และการบำบัดทางจิต

ที่น่าสนใจคือกลุ่มคนที่เข้าร่วมล้วนมาจากหลากหลายสาขาวิชา ทั้งสายวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปะ

สาขาจิตวิทยาและสาขาจิตเวช แทบไม่มีการให้ความสำคัญและอภิปรายถึงแนวคิดจิตวิเคราะห์อย่างจริงจัง  สาขาวิชาสตรีศึกษาและวรรณกรรมศึกษากลายเป็นกลุ่มที่นำแนวคิดนี้ไปศึกษามากที่สุด แต่ก็หยิบยกไปเฉพาะการวิพากษ์ลักษณะอำนาจของความเป็นชายและสังคมชายเป็นใหญ่

ลักษณาการของจิตวิเคราะห์ในไทยชวนให้ตระหนักถึงนัยสำคัญอย่างน้อย 3 เรื่อง

เรื่องแรก ความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ค่อนข้างเป็นนามธรรมสูง และปรากฏขึ้นอย่างกระจัดกระจาย เพราะเป็นงานเขียนที่วางบนพื้นฐานจากการรักษาคนไข้ซึ่งป่วยเป็นโรคจิตเวช งานเขียนของฟรอยด์ยังมีการใช้ถ้อยคำเชิงการแพทย์ ควบคู่ไปกับคำศัพท์ทางปรัชญา ในแง่นี้ ลากองนับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในการเรียบเรียงความคิดเหล่านี้จนเป็นระบบ เขาสนใจทางปรัชญามาแต่เดิม ประกอบกับความรู้ทางจิตเวชที่ศึกษามาอย่างเป็นทางการทำให้เขาสามารถอ่านฟรอยด์ได้อย่างครอบคลุม เข้าใจแนวคิดจิตวิเคราะห์บนพื้นฐานของโครงสร้างทางจิต ขณะเดียวกัน ยังสามารถเชื่อมโยงคำอธิบายดังกล่าวกับปมปัญหาทางสังคมในยุคสมัยของเขา ไม่ว่าจะเป็นมโนทัศน์ว่าด้วยคนอื่น ความคิดในเรื่องความเป็นชาย และระบบปิตาธิปไตย เนื้อหาจากหนังสือของเขา ต่อมากลายเป็นตำราพื้นฐานและสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของลากอง ซึ่งก็คือ The four fundamental concepts of psychoanalysis (แนวคิดพื้นฐานสี่ประการเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์)

เรื่องที่สอง ความคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ ไม่ได้วางบนพื้นฐานของข้อมูลที่สามารถตรวจสอบและนับได้ แต่วางบนพื้นฐานของโครงสร้างทางจิตเป็นสำคัญ ดังนั้น การวิเคราะห์ในแนวนี้มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากผู้สมาทานวิธีการศึกษาแบบประจักษ์นิยม หรือพิจารณาความจริงของโลกแบบวิทยาศาสตร์อย่างงมงาย

ลากองหยิบแก่นการทำงานของจิตไร้สำนึก มาสนทนากับแนวคิดโครงสร้างนิยมแบบฝรั่งเศส โดยเฉพาะภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง เพื่อทำความเข้าใจการก่อตัวตนของมนุษย์ สิ่งที่เขาทำ เกิดขึ้นท่ามกลางบทสนทนาทางปัญญากับนักคิดที่ต่อมากลายเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดอย่างมาก โดยเฉพาะ จูเลีย คริสเตียวา (Julia Kristeva) และ ฟิลิกซ์ กัตตารี (Félix Guattari)

ความคิดฟรอยด์แบบลากองยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อเกิดกลุ่มศิลปะแบบเหนือจริง (Surrealism) กลุ่มศิลปะซึ่งลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ ความไม่เป็นธรรม และแง่มุมอัปลักษณ์ของสงครามที่ส่งผลถึงจิตใจของผู้คน นอกจากนี้ นักคิดซึ่งมีอิทธิพลในปัจจุบันอย่าง สลาวอย ชิเชค (Slavoj Žižek) ก็ยังคงอาศัยพื้นฐานของจิตวิเคราะห์ในการวิพากษ์วิจารณ์ปรากฏการณ์ในสังคมและระบบทุนนิยม

ความคิดฟรอยด์แบบลากองยังเป็นพื้นฐานสำคัญของการก่อเกิดกลุ่มศิลปะแบบเหนือจริง (Surrealism) กลุ่มศิลปะซึ่งลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ ความไม่เป็นธรรม และแง่มุมอัปลักษณ์ของสงครามที่ส่งผลถึงจิตใจของผู้คน

เรื่องสุดท้าย ในสังคมไทย กระบวนการทำความเข้าในจิตวิเคราะห์เกิดขึ้นแบบผิวเผิน และมีแนวโน้มตีความงานวิเคราะห์เรื่องเพศของฟรอยด์และลากองผ่านขนบศีลธรรมและความเหนียมอายแบบปากว่าตาขยิบ

ประสบการณ์ตรงของผมคือ ขณะที่กำลังอภิปรายแนวคิดของจิตวิเคราะห์ให้นักศึกษาในชั้นเรียน โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยองคชาต การร่วมเพศในครอบครัว และการวิเคราะห์ความฝัน ในลักษณะที่เชื่อมโยงกับความตื่นตัวทางเพศ เสียงฮือฮามักเกิดขึ้นทุกครั้งราวกับว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ควรพูดในพื้นที่สาธารณะ แต่เรื่องนี้เองทำให้นักศึกษาขาดเรียนน้อยที่สุด เมื่อหันไปพิจารณารายงานของนักศึกษา ผมก็พบว่า คำตอบประเภท – ความคิดจิตวิเคราะห์ขัดกับหลักศาสนาและความดีงามตามที่แต่ละวัฒนธรรมนั้นยึดถือ – ถือเป็นคำตอบพื้นฐานที่นักศึกษา และอาจรวมไปถึงคนทั่วไปหยิบยกมาวิจารณ์

ทั้งสามข้อนี้คงเป็นเสมือนกระจกส่องสะท้อนเงื่อนไขของการรับเอาแนวคิดจิตวิเคราะห์แบบฟรอยด์ของลากองเข้ามาในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

หนังสือแนะนำลากองฉบับการ์ตูน (Introducing Lacan: A Graphic Guide) เขียนโดย ดาเรียน ลีเดอร์ (Darian Leader) ตีพิมพ์เมื่อปี 2010 (และเป็นความโชคดี ที่สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็กกำลังจะจัดแปลหนังสือเล่มนี้ แปลโดย พงศ์มนัส บุศยประทีป ออกมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2561) มีความสำคัญ เพราะวางอยู่บนพื้นฐานของการทำความเข้าใจลากองและความคิดของเขาอย่างละเอียดลออ

ข้อดีของหนังสือเล่มนี้ คือ ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก แน่นอน คำว่าเข้าใจได้ไม่ยากไม่ได้แปลว่าเข้าใจง่าย โดยเฉพาะการมองลากองบนฐานของนักจิตเวช และขยับแนวคิดของเขาไปในเชิงปรัชญาซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดทางสังคมศาสตร์ ผู้อ่านจะต้องพบกับความตื่นเต้นในยามที่ลากองอภิปรายถึงโรคจิตหวาดระแวงรูปแบบการลงโทษตัวเอง การหลงใหลภาพลักษณ์ของตัวเอง ปมปัญหาของการตอน องคชาตของแม่ รวมไปถึงการอภิปรายอันสลับซับซ้อนว่าด้วยทฤษฎีระยะกระจกเงา บางส่วนตอนของหนังสือเล่มนี้ยังมีโมเดลทางคณิตศาสตร์ประกอบอยู่ด้วย

ท่ามกลางศัพท์แสงและแนวคิดต่างๆ หนังสือเล่มนี้ยังบอกเล่าพื้นฐานทางประวัติศาสตร์สังคมและฉากหลังซึ่งลากองเติบโตมา ความรัก มวลมิตรสหาย ตลอดจนความพยายามก่อตั้งสมาคมเพื่อประกาศจุดยืนทางความคิด สิ่งเหล่านี้น่าจะมีส่วนสำคัญยิ่งที่ช่วยให้เข้าใจลากองจากจุดที่เขาเป็นมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือไปจากนี้ การเล่าเรื่องในหนังสือ ใช้ภาพเป็นส่วนหนึ่งเพื่อถ่ายทอดนัยสำคัญของเรื่อง ภาพการ์ตูนที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้จึงไม่ใช่ภาพประกอบ แต่เป็นแกนหลักอีกแกนหนึ่งของเรื่องเล่าและทำให้เรื่องเล่าเกี่ยวกับลากองมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ความเชื่อหรือมายาคติชุดต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเราจึงมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ในความหมายของการหลงลืมศักยภาพในการตั้งคำถาม

สำหรับผม การเล่าเรื่องของหนังสือเล่มนี้สะท้อนถึงความพยายามสลัดพ้นออกไปจากความเชื่อในทางวิทยาศาสตร์อย่างงมงาย และการวิพากษ์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างหลงทิศผิดทาง ลากองคือนักคิดคนหนึ่งที่ไม่ได้แยกศาสตร์ต่างๆ ออกจากกันท่ามกลางการค้นหาปริศนาของความเป็นมนุษย์ ดิ่งลึกลงไปในจิตใต้สำนึก ลากองพบว่า ซับเจ็กต์ (Subject) ของมนุษย์นั้น ไม่ได้ดำรงอยู่อย่างมีอิสระหรือถูกประกอบสร้างขึ้นมาอย่างง่ายๆ แต่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ท่ามกลางระยะห่างและการส่องสะท้อนระหว่างตัวเรากับตัวตนในอุดมคติ ซับเจ็กต์คือสิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะของ ‘การกลายเป็น’ (Becoming) มากกว่า ‘การเป็น’ (Being) สิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแน่นอนตายตัว

ความเป็นมนุษย์ในลักษณะนี้เองที่เปิดพรมแดนให้เราตระหนักถึงกระบวนการครอบงำที่เกิดขึ้นในจิตใต้สำนึกของเรา ความเชื่อหรือมายาคติชุดต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเราจึงมีลักษณะที่เป็นธรรมชาติ ในความหมายของการหลงลืมศักยภาพในการตั้งคำถาม ทว่า ความเป็นมนุษย์ในลักษณะของ ‘การกลายเป็น’ นี่เอง เป็นสิ่งที่เปิดพรมแดนใหม่ของการก่อร่างสร้างตัวตนให้เป็นอิสระจากพันธนาการทางอุดมการณ์ชุดต่างๆ ที่ครอบงำพวกเรา

ยามที่อ่านงานของลากอง ผมตระหนักอยู่เสมอว่ากำลังเดินทางจากงานเชิงจิตเวชสู่แนวคิดทางสังคมของเขา นอกจากลากองกำลังอภิปรายถึงนัยและความสำคัญของการครอบงำในระดับจิตใต้สำนึกแล้ว เขากำลังกระซิบบอกพวกเราถึงความเป็นมนุษย์ที่ตระหนักในเสรีภาพและการเลือกจะมีชีวิตอยู่ด้วยเจตจำนงอันเสรี

ลากองไม่ได้มีฐานะเป็นบิดาทางความคิด ในทางกลับกัน แนวคิดของเขามักถูกหยิบยกขึ้นไปสู่การวิพากษ์ความเป็นพ่อและสังคมชายเป็นใหญ่ ลากองในสมัยรุ่งโรจน์ไม่ได้เป็นไอดอลทางวิชาการ ในทางกลับกัน แนวคิดส่วนมากของเขา เกิดขึ้นบนฐานของการวิพากษ์และทำความเข้าใจ ‘ตัวตน’ ในอุดมคติ ในฐานะสิ่งที่ตามหลอกหลอนและส่งอิทธิผลต่อการสร้างซับเจ็กต์

ที่ผ่านมา การสำรวจของมนุษย์เกิดขึ้นและพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งในเวิ้งฟ้า จักรวาล และลึกลงไปในมหาสมุทรและใต้พื้นโลก มนุษย์เติบโตก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลาทางด้านเทคโนโลยี แต่เรากลับหยุดนิ่งและเพิกเฉยต่อการสำรวจพรมแดนของความเป็นมนุษย์ ลากองเปรียบเสมือนนักเดินทางผู้สำรวจความลี้ลับในจิตใต้สำนึก ในกระเป๋าเป้ของเขาอาจมีเครื่องมือต่างๆ ไว้สำหรับหยิบใช้เพื่อกรุยทางให้กระจ่าง

ทว่า เมื่อเราข้ามพ้นเครื่องมือเหล่านั้นไปได้ เขาก็คือ ผู้บอกเล่าความเป็นมนุษย์

Tags: , ,