เมื่อต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดคิด คำปฏิเสธ เสียงตำหนิ หรือปัญหารายทางที่สะสมไว้จนไม่เจอทางออก
คุณอาจโกรธ เสียใจ เบื่อหน่าย สับสน หรือกังวล จนเกิดความโกลาหลอยู่ภายในใจ
ใจเริ่มเต้นแรงทั้งที่ไม่ได้ขยับร่างกาย ความรู้สึกที่ยากอธิบายเป็นคำพูดรวมตัวเป็นก้อนหนักอึ้ง แล้วค่อยๆ ขยายตัวคล้ายจะระเบิดออก คุณอาจกำหมัดด้วยความเดือดดาล ทิ้งตัวนอนแผ่อย่างหมดเรี่ยวแรง หรือน้ำในตาค่อยๆ เอ่อท้นแล้วไหลแนบแก้มเพราะความเจ็บปวด
ภายในห้องสี่เหลี่ยมที่เงียบสงบ หากตรงนั้นคือมหาสมุทร ความรู้สึกคงคล้ายว่ากำลังจะจมลง คุณเอาชีวิตรอดโดยคว้าสมาร์ตโฟนมาสไลด์นิวส์ฟีด เลื่อนหาอะไรบางอย่างมาจดจ่อ แต่อ่านได้เพียงไม่กี่วรรค สมาธิก็กระเจิดกระเจิง คุณเปลี่ยนมาเปิดคลิปบันเทิงเพื่อประคับประคองชีวิต ก่อนจะพบคลื่นสะอื้นที่แทรกตัวอยู่ทุกขณะ ภาพนักแสดงหน้าตาดี สัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก ไปจนถึงอาหารที่น่ากินมาก ไม่ว่าจะทำอะไร ล้วนเปล่าประโยชน์ในเวลาเช่นนี้
คุณอยากพิมพ์หาใครสักคน แต่กว่าจะอ่านและตอบกลับ ความเจ็บปวดในสถานการณ์ฉุกเฉินคงปฏิเสธการรอคอย คุณเลยอยากโทรหาใครสักคนแทน เพื่อบ่น เพื่อระบาย เพื่อร้องไห้ เพื่อหาคนเข้าใจ โดยหวังว่าจะมีใครพร้อมอยู่เคียงข้าง แต่เมื่อเลื่อนดูรายชื่อจนครบถ้วน ทั้งรุ่นพี่ เพื่อนสนิท หรือแม้แต่คนรัก พวกเขากลับไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยอย่างเคย
บางเรื่องราวอาจไม่สะดวกที่จะเปิดเผยกับคนใกล้ตัว คุณกลัวว่าตัวเองจะเป็นภาระ เป็นคนอ่อนแอ และต้องกลายเป็นคนในแบบที่ไม่อยากเป็น
หากใช้มาตรวัดเป็นเวลา ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นในไม่กี่นาที แต่คุณกลับทุกข์ทรมานอย่างที่สุด
‘ใครก็ได้ช่วยที!’ ถ้าในใจกำลังส่งเสียงเช่นนั้น เราอยากชวนคุณมารู้จักกับบทสนทนาข้างล่างนี้
สายด่วนสุขภาพจิต นักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาอย่างเข้าใจ
หากคุณกดโทรศัพท์ไปที่ปลายสาย – 1323
“สายด่วนสุขภาพจิต ยินดีให้บริการครับ”
“พี่คะ หนูมีความกังวล ช่วงหลังๆ แฟนเปลี่ยนไปเป็นคนละคน เหมือนเขาไม่รักหนูแล้ว”
“ฟังจากน้ำเสียง คุณดูกังวลเรื่องแฟนนะครับ อธิบายเพิ่มเติมได้ไหมว่าเรื่องราวเป็นยังไง”
“หนูโทรไปก็ไม่รับ ไลน์ไปก็ไม่ตอบ พอเจอตัวก็ท่าทีเปลี่ยนไป มันเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุเลย”
“คุณคงรักแฟนมาก ไม่มีใครหรอกที่อยากเสียคนที่ตัวเองรักไป เมื่อโทรไปไม่รับ ไลน์ไปไม่ตอบ แล้วท่าทีเปลี่ยนไปอีก คุณจัดการปัญหานี้ยังไงบ้างครับ”
“หนูเคยถามตรงๆ นะ ‘เป็นอะไรหรือเปล่า’ เขาก็บอกว่า ‘เปล่า’ แต่การกระทำเปลี่ยนไปชัดเจน เขาเป็นอะไรสักอย่างแน่ๆ แต่ถามแล้วไม่ได้คำตอบ หนูสับสนว่าควรทำยังไง”
“คนเป็นแฟนกัน สิ่งสำคัญมากคือการสื่อสาร แต่ปัจจุบันการสื่อสารก็เข้าใจผิดกันเยอะ ถ้าเคยถามตรงๆ แล้วไม่ได้คำตอบ คุณลองสื่อสารความรู้สึกของตัวเองให้เขารู้ไหม ตอนนี้รู้สึกยังไง เกิดอะไรขึ้นในใจบ้าง”
“หนูไม่เคยบอกความรู้สึกของตัวเองเลย”
“คนเรามีแนวโน้มที่จะบอกว่า เธอเป็นอะไร แต่ไม่บอกความรู้สึกของตัวเอง”
“แล้วทำไมต้องบอกความรู้สึกของตัวเองด้วย หนูแค่อยากรู้ว่าเขาเป็นอะไร”
“คุณคงหงุดหงิดใจเหมือนกันที่ถามแล้วไม่ได้คำตอบ ผมเข้าใจความรู้สึกนะ แต่บางครั้งการจัดการปัญหาอาจเกิดจากการสื่อสารความรู้สึกก็ได้ ไหนคุณลองบอกหน่อยว่าตอนนี้รู้สึกยังไง”
“หนูอึดอัด ทำตัวไม่ถูก เกิดอะไรขึ้นก็ไม่รู้ และเขาไม่รักหนูแล้วหรือเปล่า”
“ดีแล้วครับ แต่ปรับนิดนึงไหม หาจังหวะว่างๆ สบายๆ คุยกัน แล้วสื่อสารใหม่ว่า ‘ช่วงหลังๆ โทรไปไม่ค่อยรับ ไลน์ไปไม่ค่อยตอบ เราไม่ค่อยสบายใจ น้อยใจ และเสียใจ’ ลองพูดแบบนี้นะ”
“หนูว่าตัวเองเคยพูดแล้วนะ แต่เขาบอกว่า ‘ไม่มีอะไร เธอคิดมากไปเอง’ ใช่ เขาบอกแบบนี้”
“แล้วคุณเคยบอกไหม ว่าต่อไปอยากให้เป็นยังไง เรามักบอกแค่ว่า แบบนี้ไม่ดี แบบนั้นไม่ดี แต่ไม่เคยบอกเลยว่า อยากให้เป็นยังไง”
…
..
.
เหล่านั้นเป็นบทสนทนาสมมติที่ผมถาม ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาประจำสายด่วนสุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เพื่อจำลองอย่างย่อให้เห็นการทำงานของเบอร์ 1323
ย้อนไป พ.ศ. 2530 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เปิดให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตทางโทรศัพท์เป็นครั้งแรก โดยให้บริการเฉพาะเวลาราชการที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ทั้งกับผู้ป่วย ญาติ และคนทั่วไปที่มีปัญหาสุขภาพจิต ต่อมา พ.ศ. 2536 ได้ขยายบริการให้ครอบคลุมทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จนกระทั่ง พ.ศ. 2546 ได้มอบหมายให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์รับผิดชอบและเปลี่ยนเบอร์เป็นเลข 4 หลัก คือ 1323
ปัจจุบันเบอร์ 1323 ย้ายมาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เป็นการให้บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งหมด 12 คู่สาย โดยมีนักจิตวิทยาประมาณสามสิบคนหมุนเวียนมาทำหน้าที่
นอกจากเรียนด้านจิตวิทยามาโดยตรง ก่อนเริ่มบทบาทนี้ ผู้รับโทรศัพท์ต้องผ่านการฝึกอบรมจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในเรื่องวิธีการรับฟังอย่างไม่ตัดสิน การเลือกใช้คำถามที่เหมาะสม และการทำความเข้าใจบทบาทของผู้ให้คำปรึกษา-ผู้รับคำปรึกษาว่าควรเป็นสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ
“เราต้องฟังเนื้อหา และฟังใจเพื่อสำรวจความรู้สึก คำถามก็ต้องระมัดระวัง เลี่ยงใช้คำว่า ‘ทำไม’ เพราะเหมือนกำลังสอบสวนความผิด ‘ทำไมถึงทำแบบนั้น’ ก็เปลี่ยนเป็น ‘เพราะอะไรถึงทำแบบนั้น’ อีกเรื่องคือการใช้สรรพนามว่า ‘ผม’ และ ‘คุณ’ เพื่อให้การปรึกษาอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มีใครสูงกว่าใคร เป็นสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ และเรื่องที่อาจารย์มักเน้นย้ำ คือเราต้องวางความรู้สึก empathy แต่ไม่ sympathy เป็นการเข้าใจความรู้สึก เห็นอกเห็นใจ แต่ไม่เอาตัวเองไปเป็นด้วย”
“เราต้องฟังเนื้อหา และฟังใจเพื่อสำรวจความรู้สึก คำถามก็ต้องระมัดระวัง เลี่ยงใช้คำว่า ‘ทำไม’ เพราะเหมือนกำลังสอบสวนความผิด”
“ผมจะไม่สั่งสอน ไม่ตัดสินว่าถูกหรือผิด แต่ทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อนให้เห็นว่า ณ ตรงนี้ ตัวเลือกที่มีคืออะไร ข้อดีข้อเสียคืออะไร และศักยภาพของคุณคืออะไร สุดท้ายคนตัดสินใจคือเจ้าตัวเอง” เขาสรุปท่าทีของตัวเองในบทบาทนักจิตวิทยา
วัยรุ่นเครียดเรื่องเรียน ปัญหาในการทำงาน ความขัดแย้งในชีวิตสมรส ความหดหู่จากร่างกายที่ถดถอย ไปจนถึงสารพัดปัญหาที่รุมเร้าจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ ฯลฯ เป็นความหลากหลายของเรื่องราวว่าด้วยอุปสรรคในชีวิตที่ส่งเสียงมาทางโทรศัพท์ ตลอดระยะเวลาเกือบห้าปี ธนกฤษรับฟังความทุกข์ของผู้คนมานับไม่ถ้วน ทั้งคลี่คลายได้อย่างราบรื่น ไปจนถึงพ่ายแพ้ต่อข้อจำกัดในการทำงาน สุดท้ายต้องยอมรับว่าตัวเองทำเต็มที่แล้ว
“ผมเคยรับโทรศัพท์เด็กสุดที่ 10 ขวบ สอบไม่ผ่าน เครียด กลัวถูกพ่อแม่ด่า ส่วนคนที่อายุมากสุดคือ 77 ปี โทรมาเล่าเรื่องทั่วไป คนอายุเยอะๆ มักอยู่บ้านคนเดียว เลยเหงา อยากหาคนรับฟัง ผมก็รับฟังนะ พยายามสำรวจว่าความเหงาเกิดจากอะไร เคสที่ผมประทับใจ เป็นแม่คนนึงโทรมาเล่าปัญหาเรื่องลูก เราก็รับฟัง ตอนท้ายผมพูดไปว่า ‘ปัญหาหนักขนาดนี้ คุณเก่งมากเลย ผมชื่นชมนะ คุณเหนื่อยไหมครับ’ จากเสียงคนเป็นแม่ที่เข้มแข็ง เขาร้องไห้ แล้วพูดว่า ‘ไม่เคยมีใครเข้าใจฉันเลย ฉันเหนื่อยมากที่ต้องจัดการปัญหาต่างๆ คุณเป็นคนแรกที่เข้าใจ ขอบคุณมาก’
“สายด่วน 1323 เป็นการช่วยเหลือและประเมินเบื้องต้น แต่บทบาทนักจิตวิทยาไม่ใช่จิตแพทย์ เราไม่สามารถระบุได้ว่า ‘คุณเป็นโรคซึมเศร้า’ บอกได้แค่ว่า ‘จากทั้งหมดที่เล่ามา คุณมีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้านะ’ แล้วแนะนำไปหาหมอ พยายามเน้นย้ำว่าเขาไม่ได้บ้า ไม่ต้องป่วยหนักก็หาหมอได้ แถมโอกาสที่อาการจะดีขึ้นมากกว่าด้วย ในต่างประเทศแค่เลิกกับแฟนก็ไปหานักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์แล้ว คุณปวดหัวยังไปหาหมอได้ ไม่ต้องรอให้เป็นมะเร็ง คุณเป็นแผลก็ไปทำแผลได้ ไม่ต้องรอให้แผลติดเชื้อ ถ้าเจ็บในใจ ข้างในมีแผล คุณเหนื่อยกับมัน ทำไมถึงไม่ไปหาหมอใจล่ะ
“อย่างที่บอกว่าเรา empathy แต่ไม่ sympathy เข้าใจความรู้สึก แต่ไม่เป็นไปด้วย และเป็นสัมพันธภาพเชิงวิชาชีพ ผมเลยไม่เก็บมาเป็นเรื่องของตัวเอง แต่นักจิตวิทยาจะมีความเฟลเล็กๆ นะ เวลาใครมาบำบัดก็อยากช่วย คาดหวังให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่บางครั้งเป็นปัญหาบุคคลที่สาม หรือด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างเลยทำได้แค่นี้ เช่น เคสนี้จะดีขึ้นถ้าได้ไปหาหมอ แต่เขาไม่ยอมไป เราต้องกลับมาจัดการใจตัวเอง ทำดีที่สุดแล้ว ทุกคนมีทางเลือกของตัวเอง เคารพทางเลือกนั้น แต่เฟลก็ไม่นานหรอก วางเคสนี้ จบเคสนี้ ก็เริ่มต้นกับเคสใหม่ ทำหน้าที่ในปัจจุบัน”
สะมาริตันส์ อาสาสมัครที่รับฟังด้วยหัวใจ
หากคุณกดโทรศัพท์ไปที่ปลายสาย – 02 713 6793
“สวัสดีค่ะ ที่นี่สะมาริตันส์”
“ผมเครียดมาก ไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว”
“ที่บอกว่าเครียดมาก เรื่องราวเป็นยังไงเหรอคะ พอจะเล่าให้ฟังได้ไหม”
“ผมถูกให้ออกจากงาน อาจต้องเลิกกับแฟน แล้วมาทะเลาะกับพ่อในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อีก”
“ฟังดูมีหลายเรื่องเลย เรื่องไหนที่ทำให้ไม่สบายใจที่สุดเหรอคะ”
“ผมกำลังจัดการปัญหาทั้งหมดนะ หางานใหม่ เคลียร์ปัญหากับแฟน แต่พอทะเลาะกับพ่อด้วย เขาบ่นๆๆ ด่าๆๆ ผมเลยไม่อยากทำอะไรแล้ว รำคาญมาก แม่งเอ๊ย!”
“นอกจากเจอหลายเรื่องแล้ว พ่อยังมาพูดต่อว่าด้วย คุณยิ่งรู้สึกแย่ สับสน ไม่รู้จะหาทางออกยังไงใช่ไหมคะ”
“ครับ”
“คุณมองสิ่งที่เกิดขึ้นยังไง อะไรทำให้คุณโทรมาสะมาริตันส์นะคะ”
“เอาตรงๆ เลยคือ ผมอยากตาย ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”
“พอเจอหลายปัญหา คุณเลยรู้สึกว่าไม่อยากอยู่ คิดว่าการตายเป็นทางออก เป็นแบบนั้นหรือเปล่าคะ”
“ใช่ครับ (กระแทกเสียง) คุณหมอคิดว่ายังไง ผมควรตายหรือควรอยู่”
“คุณเองก็ยังสับสนว่าความตายใช่ทางออกหรือเปล่า หรือเราควรอยู่ต่อแล้วค่อยๆ สู้กับมัน แบบนี้ดีไหมคะ เรามาช่วยกันหาทางออก ท่ามกลางเรื่องราวต่างๆ ความตายอาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่มันมีทางออกอื่นอีกไหม ที่เล่ามาก็มีหลายเรื่องนะ ตกลงแล้วเรื่องไหนรุนแรงที่สุด”
“ผมเหนื่อย มันเยอะไปหมด ไม่อยากแก้ไขอะไรแล้ว เอาจริงๆ ผมแค่อยากตาย แต่ไม่อยากรู้สึกผิด”
“อยากตาย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากรู้สึกผิด เป็นแบบนั้นเหรอคะ”
“ผมเครียด แล้วพ่อมาบ่นมาด่าในเรื่องไม่เป็นเรื่อง พูดอะไรก็ไม่ฟัง บอกผมหน่อยสิ ทำยังไงเขาถึงจะฟังบ้าง”
“คุณอยากได้คำแนะนำมากเลย”
“ใช่ครับ”
“ดิฉันเพิ่งฟังจากคุณเล่าแค่ไม่กี่ประโยค ขออนุญาตถามเพิ่มเติมได้ไหม คุณลำบากใจหรือเปล่าคะ”
“เรื่องก็มีแค่นี้แหละครับ ผมอยากให้พ่อหยุดบ่นหยุดด่า”
“ปกติพ่อเป็นคนยังไงนะคะ”
“ชอบด่าครับ อะไรนิดอะไรหน่อยก็ด่า ลื้อ อั๊ว ไอ้เหี้ย ไอ้สัตว์ พูดหยาบๆ ตลอด”
“คุณรู้สึกกดดันที่คุณพ่อพูดเช่นนั้น”
“ครับ ผมว่าตัวเองยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้นะ แต่กลับบ้านแล้วเป็นแบบนี้ ผมกดดัน ไม่อยากเจอคำบ่น คำด่า คำเหน็บแนมในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ผมอยากได้รับกำลังใจจากคนใกล้ตัว”
…
..
.
เหล่านั้นเป็นบทสนทนาสมมุติที่ผมถามอาสาสมัคร และได้พูดคุยกับ ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทย เพื่อจำลองอย่างย่อให้เห็นการทำงานของเบอร์ 02 713 6793
สะมาริตันส์ เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งในประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ.2496 โดยสาธุคุณ Chad Varah สมัยนั้นประเทศอังกฤษมีคนตัดสินใจฆ่าตัวตายเป็นจำนวนมาก บางครั้งเกิดขึ้นจากความไม่รู้ เช่น เด็กหญิงอายุ 12 ปีฆ่าตัวตายเพราะตกใจที่มีประจำเดือนเป็นครั้งแรก การให้คำปรึกษาเริ่มจากความเป็นนักจิตวิทยาของสาธุคุณ Chad Varah เมื่อเวลาผ่านไป หลายคนที่มาช่วยงานสามารถรับฟังเพื่อคลายทุกข์ให้ผู้อื่นได้ทั้งที่ไม่ได้เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เลยเกิดแนวคิดเปิดรับอาสาสมัครและขยายการทำงานเป็นศูนย์สะมาริตันส์ทั่วโลก ปัจจุบันมีศูนย์อยู่ทั่วโลก มากกว่า 400 แห่งใน 39 ประเทศ บนความร่วมแรงร่วมใจของอาสาสมัครกว่า 31,000 คน
ขณะที่สะมาริตันส์ในประเทศไทยก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2521 โดย ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม เป็นการริเริ่มผ่านการรวมตัวของอาสาสมัครชาวไทยและต่างประเทศจำนวน 40 คน และดำเนินงานต่อเนื่องเรื่อยมา โดยปัจจุบันมีอาสาสมัครราวสามสิบคนหมุนเวียนมาให้บริการ ตั้งแต่เวลา 12.00 – 22.00 น.
โดยขั้นตอนแล้ว บทบาทของ ‘สายด่วนสุขภาพจิต’ และ ‘สะมาริตันส์’ แทบไม่ต่างกัน เริ่มต้นจากผู้ต้องการความช่วยเหลือ กดโทรศัพท์ เพื่อไปเจอผู้ให้ความช่วยเหลือ แต่ด้วยแนวคิดเปิดรับอาสาสมัครซึ่งหมายถึงความหลากหลายของคน สะมาริตันส์จึงจำกัดขอบเขตให้ไม่มีคำแนะนำแบบนักวิชาชีพ แต่ดำเนินไปในฐานะ ‘เพื่อน’ ที่เปิดใจรับฟัง โดยหัวใจขององค์กรคือ ป้องกันการฆ่าตัวตาย
“อาสาสมัครของสะมาริตันส์ต้องผ่านการเทรนจากผู้เชี่ยวชาญและดูแลอย่างใกล้ชิดโดยอาสาสมัครรุ่นพี่ แต่ด้วยความหลากหลายทั้งเพศ วัย และอาชีพ เราใช้คำว่า ‘ให้ความเป็นเพื่อน’ ในช่วงที่ผ่านมา จากกรณีของคุณสิงห์ ผู้เป็นที่รักของผู้คนในวงการบันเทิงได้ฆ่าตัวตายสำเร็จ ทำให้คุณสาธิต (จันทร์ทวีวัฒน์) คุณเป็นเอก (รัตนเรือง) ช่วยทำคลิปเล่าถึงงานของสะมาริตันส์ โดยคุณเป้-อารักษ์ แล้วใช้คำว่า ‘ฟังด้วยหัวใจ’ เป็นคำที่น่ารักมากเลย เวลาเรารู้สึกแย่ๆ หากมีใครสักคนฟังด้วยหัวใจ ยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข มันคลายความเครียดให้นิ่งลงได้นะ
“คนที่โทรมามีตั้งแต่อายุสิบกว่าถึงแปดสิบกว่า เหงาๆ ก็โทรมา คุยเล่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ลึกๆ ข้างในคงทุกข์อยู่ วิธีการของสะมาริตันส์คือ การรับฟัง ใช้คำถามปลายเปิดค่อยๆ ชวนคุยให้เขาได้ระบาย ค่อยๆ จับประเด็น ค่อยๆ สะท้อนเนื้อหา ค่อยๆ ให้ผู้โทรประเมินความรู้สึกของตัวเอง เพื่อช่วยกันหาทางออก เราเลี่ยงการแนะนำ เพราะไม่รู้จักคนโทรมากพอ เคยมีคนโทรมาบอกว่า ‘ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ใช่ความจริงหรอก โทรมาลองดูว่าให้คำปรึกษาเป็นยังไงบ้าง เอาแล้วนะ ผมจะเล่าเรื่องจริงให้ฟัง’ อาสาสมัครฟังเป็นชั่วโมงแล้ว ถ้าไม่ได้เทรนมาคงไม่พอใจ แล้วจริงๆ เขาคงมีอะไรบางอย่างถึงทำแบบนั้น
“คนที่โทรมามีตั้งแต่อายุสิบกว่าถึงแปดสิบกว่า เหงาๆ ก็โทรมา คุยเล่นเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ลึกๆ ข้างในคงทุกข์อยู่”
“แม้องค์กรจะเริ่มต้นจากท่านบาทหลวง Chad Varah แต่เราเลี่ยงความเป็นศาสนา เราไม่รู้ว่าคนที่โทรมาเป็นใคร ศาสนาอะไร และบางคนไม่มีศาสนาด้วย ถ้าบางคนแอนตี้คำสอนของศาสนาล่ะ เป็นมุสลิมก็อาจไม่ได้เชื่อในพระไตรปิฎก หรือคนพุทธก็อาจไม่รู้จักพระอัลเลาะห์ ครูบางคนเชื่อว่านั่งสมาธิเป็นสิ่งดี เลยจับเด็กนั่งสมาธิอย่างเดียว กลายเป็นว่าพูดคำนี้แล้วเด็กแอนตี้เลย เรามักใช้คำถามว่า ‘ปกติเวลาไม่สบายใจ คุณหาทางออกยังไงบ้าง’ ถ้าตอบว่า ‘เล่นกับหมา’ เราก็คุยเรื่องการเล่นกับหมาต่อ เพราะมันคือสิ่งที่เวิร์กสำหรับเขา
“ถ้าระหว่างคุยกัน เขาพูดเรื่องการฆ่าตัวตาย เราต้องประเมินความเสี่ยงไปด้วย เช่น ถามว่า ‘เคยคิดฆ่าตัวตายถึงขนาดลงมือทำหรือเปล่า’ ถ้าเขาเคยวางแผนก็มีความเสี่ยง”
“ทำไมต้องป้องกันการฆ่าตัวตายด้วย” ผมสงสัย หากสุดท้ายมนุษย์ต้องตาย ช้าหรือเร็วย่อมไม่ต่างกันสิ
“ถ้าเราไม่มีปัญหารุมเร้าจนชีวิตทุกข์มาก โดยปกติมนุษย์มักรักตัวกลัวตาย ถ้าใครสักคนคิดเรื่องฆ่าตัวตายขึ้นมา แสดงว่าเขามีความทุกข์มาก ใช่ การฆ่าตัวตายเป็นหนึ่งทางออก แต่ถ้าได้พูดจนใจนิ่งลง ชีวิตยังมีทางออกอื่นอีกเยอะมาก จากประสบการณ์ 40 ปีของสะมาริตันส์ หลายเคสโทรมาด้วยประโยคว่า ถ้าวันนั้นไม่มีสะมาริตันส์ เขาคงไม่ได้อยู่เป็นที่รักของครอบครัว คงไม่ได้ทำงานที่เป็นประโยชน์กับชาติบ้านเมืองแล้ว”
“มีคนที่ฆ่าตัวตายอย่างมีความสุขไหม ชีวิตไม่ได้มีปัญหา แค่ไม่มีแพสชั่นแล้ว” ผมอยากรู้มุมมองของคนที่รับรู้ความอยากตายมานับไม่ถ้วน
“แสดงว่าต้องมีอะไรบางอย่างในโลก เขาถึงมีแพสชั่นในเรื่องไม่อยากอยู่ แน่นอน ไม่ว่าจะตัดสินใจยังไง ถือเป็นสิทธิของเจ้าตัวอยู่แล้ว แต่อาสาสมัครของสะมาริตันส์มีแนวคิดในการรับฟังแบบนี้ เราเชื่อว่าทุกคนรักตัวกลัวตาย ทุกคนมีสิ่งดีงาม มีศักยภาพในตัวเอง ถ้าเรารับฟังด้วยใจ เขาได้เล่าเรื่องราวความทุกข์มากมายออกมา พอใจนิ่งลง เราเชื่อว่าน่าจะมีทางออกอื่นมากกว่าแค่ความตาย”
รับฟังด้วยใจ เริ่มได้ที่คนใกล้ตัว
ก่อนเขียนบทความนี้ ผมเคยทดลองโทรไปทั้งสายด่วนสุขภาพจิตและสะมาริตันส์ ปรากฏว่าสายไม่ว่างทั้งสองเบอร์ แน่นอน คงไม่ใช่ความผิดของใคร ท่ามกลางความทุกข์ในใจผู้คนจำนวนมาก คู่สายที่มีอย่างจำกัดย่อมรองรับได้ไม่ทั่วถึง ผมจึงอยากได้คำแนะนำที่ผู้อ่านจะไปใช้รับฟังคนใกล้ตัว
“คำว่า ‘ฟังด้วยหัวใจ’ คือการหยุดแล้วรับฟังแบบไม่ตัดสิน ไม่พูดว่า ‘ทำไมทำแบบนั้น ทำแบบนี้สิ’ แต่ให้เวลาอยู่กับเขา สังเกตอารมณ์ความรู้สึก แล้วค่อยๆ ซัพพอร์ท เข้าใจความรู้สึกที่เกิดขึ้น ‘เสียใจเหรอ เสียใจเรื่องอะไร’ ถามให้เขาได้ระบาย และชวนให้เขายอมรับความรู้สึกนั้น พอใจนิ่งลงก็ค่อยๆ มองทางออกของเรื่องราว
“การรับฟังช่วยลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้นะ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งแวดล้อมของกันและกัน ถ้าเราใส่ใจ หยุดฟังคนรอบข้าง เราเองก็แก้ปัญหาการฆ่าตัวตายได้ รวมถึงสร้างความสุขให้กับคนรอบกายได้ ยิ่งคนในครอบครัวด้วย ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วใส่ใจกัน รับฟังกัน เขาชอบอะไร เราทำ เขาไม่ชอบอะไร เราไม่ทำ เท่านี้ก็ช่วยให้สังคมน่าอยู่มากขึ้น” ผศ.พ.ต.หญิง ดร.พนมพร พุ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสมาคมสะมาริตันส์แห่งประเทศไทยกล่าว
ขณะที่ ธนกฤษ ลิขิตธรากุล นักจิตวิทยาประจำสายด่วนสุขภาพจิต สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ แนะนำไปในทางเดียวกัน ว่าการฟังไม่ใช่แค่ได้ยินเสียง แต่เป็นการให้เวลากับความทุกข์ของคนตรงหน้า ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากในการเยียวยากันและกัน
“คนให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต ไม่มองว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องเล่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ เทียบกับสิบปีก่อน”
“คำว่า ‘ฟัง’ เป็นคำง่ายๆ เลยนะ เวลาใครมาเล่าอะไร เรามักจะ ‘เออๆๆ เศร้าเหรอ’ แต่ไม่ได้ฟังจริงๆ นอกจากฟังว่าเล่าอะไร ผมอยากให้ฟังใจด้วย ตอนนั้นรู้สึกยังไง ลองนึกภาพว่าเพื่อนตั้งใจฟัง หน้าตาแสดงออกว่าอินจริงๆ มันรู้สึกดีนะ จากประสบการณ์ในการทำงาน หลายคนที่โทรมา 1323 เพื่อปรึกษาปัญหาอะไรก็ตาม เขามีวิธีแก้อยู่แล้ว รู้ว่าตัวเองจะจัดการยังไง แค่ตอนนั้นต้องการกำลังใจและคนรับฟัง”
“ทั้งสะมาริตันส์และสายด่วนสุขภาพจิต มีคนโทรมาอยู่ตลอดเวลา เป็นหลักฐานว่าปัจจุบันคนเครียดเยอะขึ้นหรือเปล่า” ผมถามนักจิตวิทยาประจำสายด่วนสุขภาพจิต
“ผมไม่ทราบปริมาณนะ ที่รู้สึกว่าเยอะขึ้นคงเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลและการนำเสนอข่าวด้วย แต่ที่แน่ๆ คนให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิต ไม่มองว่าโรคซึมเศร้าเป็นเรื่องเล่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีนะ เทียบกับสิบปีก่อนที่ไม่ยังมีความรู้ว่า โรคซึมเศร้าคืออะไร ก็เศร้าธรรมดานั่นแหละ แต่ทุกวันนี้เข้าใจแล้วว่าเป็นโรค เกี่ยวกับสารเคมีในสมอง และรักษาได้
“เราต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าในสถานที่ไหนก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิต ครูในโรงเรียนก็ควรมีความรู้เรื่องสุขภาพจิต เพื่อคัดกรอง ให้คำปรึกษา และดูแลเบื้องต้น ในที่ทำงานเองก็ควรมีคนดูแลเรื่องนี้ ไปจนถึงครอบครัว ถ้าพ่อแม่สอนให้ลูกจัดการปัญหาได้ดี สอนมุมมองต่อชีวิต ให้ความรักความอบอุ่น มีที่พึ่งพิง เด็กก็จะสามารถดีลกับปัญหาสุขภาพจิตได้ดีระดับหนึ่ง ไม่ใช่ลูกกลับบ้านมาแล้ว ด่าๆๆ ถ้าแต่ละคนรับผิดชอบในบทบาทตัวเอง ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำงาน ก็สามารถดูแลแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นได้”
Tags: ความเครียด, ฆ่าตัวตาย, สายด่วน, สะมาริตันส์, สายด่วนสุขภาพจิต, จิตวิทยา, สุขภาพจิต