รู้สึกตัวอีกที สิ้นเดือนก็ผ่านมาเยือนอีกหน จำไม่เห็นได้เลยว่าสัปดาห์ที่แล้วทำอะไรไปบ้าง ไม่ทันไร ปีใหม่ก็ผ่านไปสามเดือนเสียแล้ว ทำไมเวลาผ่านไปไวจังนะ หากคุณกำลังรู้สึกเช่นนี้อยู่ คงไม่ใช่เวลาหรอกที่เดินเร็ว แต่อาจเป็นเพราะเวลาที่ผ่านไปนั้นไม่มีอะไรให้จดจำ เราอาจเห็นภาพได้ชัดขึ้นหากเทียบช่วงเวลา 1 ปีกับการไปเที่ยวสัก 2 สัปดาห์

ระหว่างการไปเที่ยว 1 สัปดาห์กับ 2 สัปดาห์ ณ สถานที่เดียวกัน แบบไหนจะดีกว่ากัน คิดตามแล้วคงสรุปได้ไม่ยากว่ายิ่งนานยิ่งดี แต่แดเนียล คานีแมน ศาสตราจารย์เกียรติคุณด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน อธิบายว่าการรับรู้ของมนุษย์ซับซ้อนกว่านั้น

ศาสตราจารย์คานีแมนนำเสนอแนวคิดของเขาว่ามนุษย์มีตัวตนอยู่ 2 มิติ คือ ตัวตนที่รับรู้ประสบการณ์ (experiencing self) ซึ่งก็คือตัวเราที่ประสบเหตุการณ์ต่างๆ และสัมผัสความรู้สึก ณ ขณะนั้น ยิ่งช่วงเวลาแห่งความสุขยาวนานเท่าไรยิ่งดี ยิ่งช่วงเวลาแห่งความทุกข์สั้นเท่าไรยิ่งดี

สำหรับ experiencing self การไปเที่ยว 2 สัปดาห์คงจะดีกว่าการไปเที่ยวสัปดาห์เดียวจริงๆ แต่ experiencing self ก็เป็นตัวตนที่เกิดขึ้นและตายลงอย่างฉับพลัน คงอยู่เพียง 3 วินาที และหายไปตามเวลาที่ผ่านเลย สิ่งที่หลงเหลืออยู่จากประสบการณ์ต่างๆ ที่เราพบเจอก็คืออีกตัวตนหนึ่งของเรา คือ ตัวตนที่จดจำเหตุการณ์ (remembering self) ซึ่งเป็นนักเล่าเรื่องที่คอยนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาประกอบเป็นเรื่องราวเรื่องหนึ่งหรือก็คือความทรงจำของเรานั่นเอง

สำหรับตัวตนที่สอง ระยะเวลาที่เราประสบเรื่องต่างๆ นั้นไม่สำคัญเท่าไรนัก หากการท่องเที่ยว 2 สัปดาห์นั้น เราไปสถานที่เดียวกันและทำกิจกรรมเดิมๆ ไม่ต่างไปจากสัปดาห์แรก การไปเที่ยว 1 หรือ 2 สัปดาห์ก็มีค่าไม่ต่างกันในฐานะความทรงจำ เพราะเราไม่ได้จำเหตุการณ์ทั้งหมดทุกนาทีตลอดสองสัปดาห์ แต่เราจำเรื่องราวสำคัญที่เกิดขึ้นต่างหาก และหากวันสุดท้ายเราพบกับเหตุการณ์ไม่ดีอย่างการถูกปล้น ประสบการณ์ 2 สัปดาห์นั้นก็อาจถูกสรุปว่าเป็นความทรงจำที่เลวร้ายก็ได้ เหมือนหนังสนุกที่จบไม่ดี

ความทรงจำไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เป็นเรื่องที่เราเล่าให้ตัวเองฟังหลังผ่านมันมาแล้วต่างหาก สิ่งสำคัญสำหรับ remembering self ก็คือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เหตุการณ์สำคัญ และตอนจบของมัน เช่นเดียวกับที่เราคาดหวังกับการดูหนังว่าตัวละครจะมีความเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์สำคัญของเรื่องจะสะเทือนใจ และตอนจบก็ควรจะน่าจดจำ ความแตกต่างระหว่างตัวตนทั้งสองมิตินี้เองทำให้มีหนังบางเรื่องที่เราดูแล้วรู้สึกสนุกมาก แต่ออกจากโรงมาดันจำอะไรแทบไม่ได้ และหนังบางเรื่องที่รู้สึกว่าไม่ได้ชวนเพลิดเพลินขนาดนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับนึกถึงมันอยู่เสมอ สำหรับชีวิตเองก็คงไม่ต่างกัน

ในชีวิตประจำวันที่จำเจ เราอาจดำรงชีวิตไปด้วยความสุขพอประมาณ แต่เมื่อย้อนกลับมานึกถึงอดีตกลับรู้สึกไม่ค่อยพอใจนักกับเวลาที่ใช้ไป ก็เพราะ remembering self ขาดความเปลี่ยนแปลงหรือเหตุการณ์สำคัญใหม่ๆ ที่ต่างไปจากชีวิตประจำวันธรรมดา และถ้าหากรู้สึกว่าปีๆ หนึ่งผ่านไปเร็วเหลือเกินแล้วล่ะก็ อาจจะเป็นไปได้ว่าเราใช้ชีวิตแต่ละวันในปีนั้นจำเจจนเกินไป ทว่าการมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ ดื่มด่ำชั่วขณะนี้ไปกับ experiencing self ของเราก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะคงไม่มีชีวิตแบบใดดีไปกว่าอีกแบบหนึ่ง

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่จำเป็นต้องเลือกระหว่างตัวตนใดตัวตนหนึ่ง เราสามารถมีความสุขกับตอนนี้และสร้างความทรงจำใหม่ๆ เพิ่มอีเวนต์น่าสนใจให้ชีวิตไปได้พร้อมๆ กันด้วยกิจกรรมในวันหยุดสัปดาห์ เพื่อให้เรามองย้อนกลับมาในวันสิ้นปีแล้วพบว่าปีนี้เราได้ใช้ชีวิตที่มีเรื่องราว

ภาพประกอบโดย Jaruwat Normrubporn

อ้างอิง:
www.ted.com/talks/daniel_kahneman_the_riddle_of_experience_vs_memory
erikreads.files.wordpress.com/2014/04/thinking-fast-and-slow-book-summary.pdf

Tags: , ,