“กลุ่มคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ประมาณ 6-7 คน ใช้ยานพาหนะสองคัน แต่งกายชุดลายพรางคล้ายทหาร พร้อมอาวุธบุกเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ ทำทีตรวจค้นบ้าน โดยกักตัวคนในบ้านไม่ให้ออกไปไหน กระทั่งนายวรยุทธ ผู้ใหญ่บ้าน กลับถึงบ้าน จึงถูกคุมตัวใส่กุญแจมือและคลุมใบหน้าไว้ จนเวลาประมาณ 00.00 น. กลุ่มคนร้ายจึงได้ใช้อาวุธปืนยิงทุกคนที่อยู่ในบ้าน ก่อนเก็บหลักฐานทุกอย่าง โดยเฉพาะปลอกกระสุนที่ยิงใส่ทุกราย แล้วจึงหลบหนีไป…”
พฤติการณ์คดีสะเทือนขวัญ ฆ่ายกครัวที่จังหวัดกระบี่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตแปดศพ และผู้บาดเจ็บสามราย เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว นำไปสู่การดำเนินคดีต่อจำเลยแปดคน ที่ก่อเหตุเนื่องจากความขัดแย้งส่วนตัว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2561 ศาลชั้นต้นพิพากษาประหารชีวิตจำเลยหกคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และจำคุกอีกสองคนที่คาดว่ามีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการฆาตกรรม
จำเลยทั้งหมดไม่มีใครเป็นทหาร เพียงแต่แต่งกายคล้ายทหารพร้อมอาวุธบุกเข้าไปในบ้านที่เกิดเหตุ
แม้คล้ายว่าทุกอย่างจะคลี่คลาย ตำรวจจับคนร้ายในชุดลายพรางได้ และศาลพิพากษาลงโทษ แต่สังคมปลอดภัยจากอาชญากรรมทำนองนี้แล้วหรือไม่?
ตั้งแต่เริ่มยุค คสช. มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศอยู่นานถึง 10 เดือน ในวันที่ยกเลิกกฎอัยการศึก คสช. ก็ประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ต่อทันที คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากนั้นปีถัดมา ก็ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2559 ออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
จุดร่วมของกฎอัยการศึก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 คือเป็นกฎหมายหรือประกาศที่อ้างว่ามีขึ้นเพื่อความสงบเรียบร้อยและคุ้มครองประชาชน ขณะเดียวกันก็มีเนื้อหาให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถออกคำสั่งเรียกรายงานตัว บุกตรวจค้นหรือยึดทรัพย์สินได้โดยไม่ต้องอาศัยหมายศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งเป็นกฎหมายปกติ และสามารถควบคุมตัวประชาชนที่ทหารสงสัยได้ไม่เกินเจ็ดวัน
กล่าวได้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับ คือการถอดรูปอำนาจของเจ้าหน้าที่ทหารจากกฎอัยการศึกแปลงร่างเป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. และเป็นคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ทหารมักอ้างว่า “ใช้อำนาจตามมาตรา 44” เพื่อกระทำการใดๆ ที่เกินไปกว่าที่กฎหมายปกติจะอนุญาตไว้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งสองฉบับ เป็นคำสั่งที่เจ้าหน้าที่ทหารมักอ้างว่า “ใช้อำนาจตามมาตรา 44” เพื่อกระทำการใดๆ ที่เกินไปกว่าที่กฎหมายปกติจะอนุญาตไว้
คำกล่าวอ้างเช่นนี้ ผนวกกับพฤติกรรมที่ทหารเรียกรายงานตัว ไปพบ หรือควบคุมตัวประชาชนในนามของ ‘การปรับทัศนคติ’ และการเข้าไปตรวจค้นสถานที่ต่างๆ โดยไม่มีหมายศาล เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ทั้งที่ถูกนำเสนอผ่านทางสื่อมวลชน ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และที่ไม่เผยแพร่อีกจำนวนหนึ่ง กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้ประชาชนจำนวนมากอาจเข้าใจไปว่า ทหารจะเข้าบ้านใคร หรือจับตัวใครไปปรับทัศนคติเมื่อไหร่ก็ได้
แต่ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดเสียแล้วก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
ไม่ได้ทำผิด ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว
“ขออนุญาตปรึกษาท่านทนายค่ะ…เมื่อเช้าตรู่วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2560 มีกลุ่มทหารจำนวนสองคันรถ บุกเข้าค้นตรวจสอบบ้านของมารดาของดิฉัน ซึ่งภายในบ้าน มีคุณยาย สามี ลูกสาว และน้องสาวของดิฉันอาศัยอยู่ในบ้าน ทหารเดินลุยเข้าภายในบ้านถึงห้องนอน ทหารพูดกับสามีของดิฉันว่า ยามึงอยู่ไหน มึงเก็บไว้ตรงไหนบอกมา สามีตอบว่า ‘ผมไม่มี ผมไม่ได้ยุ่งเรื่องพวกนี้’ ทหารพูดว่า ‘มึงมี มึงขนยาจำนวนมาก’ และรื้อค้นทุกซอกมุมและแกะขนมของลูกสาวทาน ซึ่งในห้องนอนมีตู้เย็นแช่นมน้ำขนมสำหรับลูกสาว
“เมื่อตรวจค้นเสร็จสิ้นไม่พบเจอ ก็ให้สามีลงชื่อรับทราบการตรวจค้นบ้านครั้งนี้ …เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเป็นครั้งที่สอง ครั้งแรกเมื่อหลายปีที่ผ่านมา และตอนนี้ ตัวดิฉันเดินทางมาทำงานต่างประเทศ อยากจะทราบว่า เรามีกฎหมายข้อไหนสามารถป้องกันตัวเองได้บ้างไหมคะ
“ดิฉันปรึกษาคนรู้จักหนึ่งท่าน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ท่านบอกว่า ให้ระมัดระวังจะมีการตรวจค้นครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะสามารถยัดเยียดสิ่งของและมอบข้อกล่าวหาแก่ตัวสามีของดิฉันได้ ในส่วนนี้ ดิฉันเคยได้ยินมาจากหลายคนที่ต้องตกเป็นแพะรับบาป นักโทษหลายๆ คนในเรือนจำก็มีจำนวนมากที่กลายเป็นแพะ ดิฉันอยู่ไกลบ้านรู้สึกกังวลเป็นอย่างมาก ไม่มีกะจิตกะใจจะทำงาน ขอชี้แจงว่า สามีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวคล้ำ มีรอยสักทั่วร่างกาย เพราะเขาชอบลวดลายบนเรือนร่าง เดินทางผ่านด่านตรวจค้นที่แห่งใดก็โดนเรียกตรวจปัสสาวะจนชิน”
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเรื่องราวที่ปรึกษาไปยังศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโดยไม่ประสงค์ออกนาม บอกเล่าถึงพฤติการณ์การตรวจค้นของเจ้าหน้าที่ทหาร คำแนะนำก็ทำได้เพียงให้ระมัดระวังระหว่างการตรวจค้นแต่ละครั้ง โดยมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวตามที่เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
หลังการตรวจค้นไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย สมาชิกครอบครัวของผู้หญิงคนนี้จึงไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ ฟังดูเหมือนคำกล่าวที่ว่า ถ้าไม่ได้ทำผิดจะกลัวอะไร
แต่…ต่อให้ไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย ประชาชนต่างก็ยังอยู่ดีมีสุขจริงหรือไม่?
ทหารเดินสายเยี่ยมบ้าน
ปลายเดือนมีนาคม มีภาพเคลื่อนไหวเหตุการณ์ที่ทหารสามนาย มาพบผู้ประกอบการโรงแรมใน จังหวัดภูเก็ต และพยายามควบคุมตัวผู้ประกอบการไว้ ให้รอ ‘นาย’ โดยอ้าง ‘มาตรา 13’ และ ‘มาตรา 44’
เหตุการณ์ในคลิปนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 เมื่อปรากฏเป็นข่าวผ่านสื่อมวลชน ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารออกมาชี้แจงว่า เหตุการณ์ในคลิปเป็น ‘กระบวนการซักถามข้อเท็จจริง’ เนื่องจากมีพนักงานโรงแรมคนหนึ่งร้องเรียนว่าถูกผู้ประกอบการข่มขู่ พร้อมทั้งประกาศจะดำเนินคดีต่อผู้เผยแพร่คลิปที่บิดเบือน ทำให้ทหารเสียหาย ด้านผู้ประกอบการก็แจ้งความกลับทหาร ฐานกักขังหน่วงเหนี่ยวและแจ้งความเท็จ
ตามมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมปกติ หากไม่ใช่การกระทำผิดซึ่งหน้า เมื่อมีการแจ้งความคดีลักษณะนี้ ตำรวจหรือพนักงานสอบสวนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานก่อนระดับหนึ่ง จึงจะออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหา หากต้องขอหมายค้นหรือออกหมายจับ ศาลก็จะตรวจสอบว่ามีความจำเป็นและเหมาะสมเพียงใด จากนั้นตำรวจจะรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้อัยการ เพื่อมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดี
ที่ต้องมีขั้นตอน ก็เพื่อป้องกันไม่ให้กลั่นแกล้งกัน กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช่ขั้นตอนที่ใครสงสัยใครแล้วจะไปกล่าวหาลอยๆ จนทำให้อีกคนถูกค้นหรือจับกุมได้ในทันที แต่กระบวนการยุติธรรมถูกออกแบบมาให้ต้องมีการกลั่นกรองก่อนเสมอ
ดังนั้น ในการตรวจค้นและจับกุมจึงต้องมีหมายค้นหรือหมายจับจากศาลที่ระบุว่าถูกจับหรือถูกค้นด้วยเรื่องอะไร รวมถึงระบุขอบเขตชัดเจนว่าอนุญาตให้เจ้าหน้าที่ทำอะไรได้บ้าง และเมื่อจะถูกควบคุมตัวก็สามารถแจ้งญาติหรือผู้ไว้วางใจได้ว่าถูกจับไปที่ไหนอย่างไร และแม้ถูกควบคุมตัวแล้ว ญาติหรือผู้ไว้วางใจก็ยังสามารถติดต่อขอเข้าเยี่ยมได้ ทั้งยังมีโอกาสได้ปรึกษาคดีกับทนายความที่ตนไว้วางใจ
เพื่อป้องกันไม่ให้กลั่นแกล้งกัน กระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช่ขั้นตอนที่ใครสงสัยใครแล้วจะไปกล่าวหาลอยๆ จนทำให้อีกคนถูกค้นหรือจับกุมได้ในทันที
หรืออย่างน้อยที่สุด หากกระบวนการไม่เป็นตามอุดมคติ ประชาชนก็ยังพอจะมั่นใจได้ว่า คนที่มาตรวจค้นจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ และเขากำลังถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมาย อันนำไปสู่หนทางต่อสู้คดีหรือพิสูจน์ความถูกผิดภายใต้กฎหมายด้วยเช่นกัน
แต่ในทางปฏิบัติ ภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. กระบวนการยุติธรรมปกติถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง และใช้อำนาจทหารนำหน้า
กระนั้นก็ดี เจ้าหน้าที่ทหารในระดับปฏิบัติการผู้ใช้อำนาจเอง ก็อาจไม่รู้เนื้อหาหรือไม่เข้าใจขอบเขตอำนาจของตนเพียงพอด้วยซ้ำ จึงยังคงอ้างได้เพียงแค่ “มาตรา 44” และเข้าใจไปว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 คือ “มาตรา 13” โดยไม่สามารถอธิบายให้ผู้ที่เข้าไปสอบถาม เข้าใจได้เลยว่าทหารมีอำนาจอย่างไร
มาตรา 44 นิรโทษกรรมไว้ล่วงหน้า
นอกจากตัวอย่างสองเหตุการณ์ข้างต้น ยังมีคดีของรินดา หรือ หลิน แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประกอบอาชีพขายผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทางออนไลน์ ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบร่วมกับทหารในเครื่องแบบ จับกุมตัวไปตอนบ่ายของวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ในสภาพบ้านถูกรื้อค้น คอมพิวเตอร์ กระเป๋าสตางค์ และทองหายไป ก่อนที่รินดาจะมีโอกาสติดต่อกลับมายังสมาชิกครอบครัวว่า ถูกทหารจับกุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร
จากการจับกุมครั้งนั้น เธอถูกแจ้งข้อกล่าวหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์เฟซบุ๊กข่าวลือตามที่ส่งต่อกันในไลน์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาโอนเงินหมื่นล้านไปยังธนาคารในต่างประเทศ
คดีนี้ถูกฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ ก่อนจะถูกโอนย้ายไปยังศาลอาญา เนื่องจากทั้งศาลทหารกรุงเทพและศาลอาญาเห็นตรงกันว่า คดีนี้ไม่เป็นความผิดฐานยุยงปลุกปั่น เมื่อไม่ผิดข้อหามาตรา 116 ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้
สภาพบ้านถูกรื้อค้น คอมพิวเตอร์ กระเป๋าสตางค์ และทองหายไป ก่อนที่รินดาจะมีโอกาสติดต่อกลับมายังสมาชิกครอบครัวว่า ถูกทหารจับกุมตัวไปไว้ในค่ายทหาร
ผ่านไปราวสองปีครึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่าข้อความอาจสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และในส่วนของผู้ถูกพาดพิงก็ไม่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษหรือฟ้องร้องดำเนินคดีหมิ่นประมาทในกรณีนี้
นี่เป็นตัวอย่างของคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง แต่ผู้ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 หลายคนไม่แม้แต่จะมีคดีความตามมา เพียงแต่ถูกทหารจับไปเพื่อทำให้พวกเขาเงียบลง เช่น กรณีแกนนำคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ผู้ที่ร้องเรียนให้ชะลอการไล่รื้อเรื่องที่ดินทำกินใน จังหวัดระยอง อย่างอนันต์ ทองมณี นักวาดการ์ตูนล้อการเมืองอย่าง ‘เซีย ไทยรัฐ’ ผู้สื่อขาวอาวุโสอย่างประวิตร โรจนพฤกษ์ นักการเมืองที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของ คสช. อย่างเผ็ดร้อนอย่างวัฒนา เมืองสุข และพิชัย นริพทะพันธุ์ รวมถึงแอดมินเพจที่ตั้งคำถามต่อ คสช. อย่างเพจเปิดประเด็น และมาร์ค พิตบูล
ทว่าภายใต้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ผู้เสียหายไม่อาจเรียกร้องการเยียวยาใดๆได้ เพราะคำสั่งทั้งสองออกภายใต้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ที่ระบุว่า “คำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้ และเป็นที่สุด” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการนิรโทษกรรมให้ทหารไว้ล่วงหน้าแล้วนั่นเอง
ผลลัพธ์
จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2561 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือ iLaw รวบรวมสถิติพบว่า มีคนถูกเรียกไปรายงานตัวหรือเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 คน
นี่เป็นจำนวนเท่าที่ทราบเท่านั้น เนื่องจากหลังประกาศใช้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2559 ทหารยิ่งใช้อำนาจตรวจค้นและควบคุมตัวอย่างกว้างขวางจนยากจะติดตามนับสถิติ จากเดิมที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเฉพาะในคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธที่ใช้ในการสงคราม และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่ง คสช. แต่ในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ให้อำนาจครอบคลุมไปถึงประมวลกฎหมายอาญาอีกหลายมาตรา และ พ.ร.บ. อีก 26 ฉบับ
กว้างขวางเสียจนเราเข้าใจว่าทหารจะเข้าบ้านใครหรือจับใครเมื่อไหร่ก็ได้
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 คือกฎอัยการศึกแปลงร่าง อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติของกฎอัยการศึกมีเพื่อสภาวะที่เกิดสงครามและการจลาจลจนไม่อาจบังคับใช้กฎหมายปกติได้ ทว่าเมื่อมันแปลงร่างมาอยู่ในรูปคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 ภายใต้สถานการณ์ปกติ ไม่มีศึกสงคราม และไร้การจลาจลมานานมากกว่าสามปี คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 จึงเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารมากเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับสถานการณ์
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดย คสช. อาจไม่ตั้งใจ คือประชาชนไม่อาจแยกแยะหรือมั่นใจได้ ว่าคนในเครื่องแบบทหารซึ่งเดินเข้าบ้านหรือมาจับกุมเขานั้น เป็นทหารที่มาปฏิบัติหน้าที่ หรือโจรที่อำพรางตัวในเครื่องแบบ.
Tags: คำสั่ง คสช., กฎอัยการศึก, มาตรา 44, ทหาร, คสช., กระบวนการยุติธรรม, สิทธิมนุษยชน, กฎหมาย