หากเอ่ยถึง Marimekko หลายคนคงนึกถึงภาพของดอกอูนิกโกะ (Unikko) หรือดอกป๊อบปี้สีสันสดใส แต่คุณรู้หรือไม่ว่าดอกไม้เล็กๆ ดอกนี้ ยังมีเรื่องราวของความกล้า ความหวัง ความสร้างสรรค์ และความปรารถนาดีที่จะสร้างความสุขกับผู้คนซ่อนอยู่ด้วย
The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณแพรวไพลิน เอมอักษร Strategic Brand Manager แบรนด์ Marimekko ภายใต้การบริหารของบริษัท TANACHIRA ผู้นำเข้าแบรนด์มารีเมกโกะอย่างเป็นทางการในประเทศไทย เพื่อทำความรู้จักกับแบรนด์ให้มากขึ้น ทั้งวิธีคิด ปณิธาน ความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนกับธรรมชาติ รวมถึงความใส่ใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่แทรกอยู่ในทุกอณูของการใช้ชีวิตชาวฟินแลนด์ ที่สื่อสารผ่านลายพิมพ์สีสันสดใสกับผู้คนทั่วโลก
แพรวไพลิน เอมอักษร Strategic Brand Manager แบรนด์ Marimekko
เชื่อเถอะว่า เมื่อคุณอ่านบทความนี้จบ นอกจากจะรู้สึกว่ามีดอกอูนิกโกะดอกใหญ่เบ่งบานอยู่ในใจแล้ว คุณจะรักมารีเมกโกะมากขึ้นกว่าเดิม!
อาร์มี ราเทีย (Armi Ratia)
จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของความกล้า นำมาซึ่งความสุขที่ยิ่งใหญ่
เรื่องราวของมารีเมกโกะเริ่มต้นขึ้น ในปี 1949 ที่โรงงานพิมพ์ผ้าเล็กๆ ชื่อว่า Printex เมืองเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ประเทศเล็กๆ ในทวีปยุโรป ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองขึ้นของสวีเดนและรัสเซีย ชีวิตของผู้คนมีแต่ความแร้นแค้นและหดหู่ ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นตลอดทั้งปี แต่นักโฆษณาหัวก้าวหน้าอย่าง อาร์มี ราเทีย (Armi Ratia) ภรรยาเจ้าของโรงงาน Printex ซึ่งเป็นเป็นผู้ก่อตั้งแบรนด์ มารีเมกโกะ และครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ กลับมีความคิดที่ว่า “อยากจะทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้คนฟินแลนด์ได้มีรอยยิ้มในแต่ละวันได้บ้าง โดยจะต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และใช้ได้อย่างคุ้มค่า เพราะประเทศยังอยู่ในภาวะแร้นแค้น” อาร์มี จึงคิดจะผลิตผ้าพิมพ์ลายเพื่อใช้สอยในบ้าน เช่น ผ้าห่ม ผ้าม่าน โดยมีแนวทางในการออกแบบ คือ Living not pretending – การใช้ชีวิตแบบไม่เสแสร้ง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ ในบ้านให้มีความสดใสขึ้น
ไมยา อีโซลา (Maija Isola)
กฎเหล็กของการออกแบบลวดลายที่อาร์มีตั้งไว้ คือ ห้ามนำดอกไม้มาวาดเป็นลายพิมพ์ เพราะเธอเชื่อว่าความสวยงามของดอกไม้ที่อยู่ตามธรรมชาติ ไม่ควรถูกลดทอนออกมาอยู่บนสินค้า แต่ ไมยา อีโซลา (Maija Isola) ดีไซเนอร์หัวก้าวหน้า ‘กล้า’ ที่จะฝ่าฝืนกฎด้วยการเสนอลายดอกป๊อบปี้สีสันสดใส ที่เธอได้แรงบันดาลใจจากสวนหลังบ้าน เมื่ออาร์มีเห็นลายเส้นแบบกราฟิกที่สวยงาม ดูคลาสสิก ก็กลับเปลี่ยนใจ และเริ่มผลิตลายนี้ทันที ทำให้ลายดอกป๊อบปี้ หรืออูนิกโกะ ที่มีฉายาว่า ‘ดอกไม้ต้องห้าม’ ในตอนแรกของการออกแบบ เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างรอยยิ้มและความสดใสให้เกิดขึ้นในบ้านของคนฟินแลนด์อีกครั้ง จนกลายมาเป็นลายไอคอนิกของแบรนด์ที่เบ่งบานอยู่ในใจของคนทั่วโลกมากว่า 50 ปี
มารีเมกโกะไม่ใช่สินค้าแฟชั่น แต่คือวิถีชีวิต
แนวคิดและแนวทางที่ อาร์มี ราเทีย เคยพูดไว้เพื่อสื่อสารให้ดีไซเนอร์ได้เข้าใจถึงแก่นของแบรนด์ คือ “เราไม่ได้ขายเสื้อผ้า เรานำเสนอวิถีการใช้ชีวิต นี่คืองานดีไซน์ไม่ใช่แฟชั่น …เราขายแนวความคิดมากกว่าแฟชั่น” และใช้เป็นแนวทางในการทำงานของมารีเมกโกะมาตั้งแต่ก่อตั้ง อาร์มีไม่ได้ตั้งใจจะสร้างแบรนด์แฟชั่น แต่ตั้งใจจะสร้างสรรค์ของที่สามารถใช้สอยในบ้านที่ใช้ได้จริง มีคุณภาพ ไม่ตามเทรนด์ และสร้างความรื่นรมย์หรือรอยยิ้มได้ด้วย เพราะสุดท้ายแล้วความสวยงามก็ต้องตอบโจทย์ชีวิตประจำวันได้ด้วย
คำว่า Marimekko แปลว่า ชุดของเด็กผู้หญิง มารีเมกโกะไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาสินค้าตามความตั้งใจของแบรนด์ที่ไม่ว่าจะอยู่ในมุมไหนของบ้านหรือทำกิจกรรมอะไร ก็จะสามารถนำสินค้าของแบรนด์ไปใช้ได้ตลอดโดยไม่มีเงื่อนไขของคำว่า ‘ซีซั่นหรือเทรนด์’ มาเกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับผู้คน ทำให้เสื้อผ้า ของใช้ในบ้าน กระเป๋า ลวดลายต่างๆ ถูกสร้างสรรค์ออกมาเรื่อยๆ รวมถึง ‘ผ้าพิมพ์ลาย’ ที่ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าผ้าจะต้องนำไปตัดเสื้อเท่านั้น แต่ยังคงสร้างความสนุกในการสร้างสรรค์ผ้าหนึ่งผืน ให้กลายเป็นของใช้ในบ้านและเครื่องแต่งกาย อย่างกรอบรูปหรือผ้าคาดผม จนกลายเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของผู้คนอย่างแยกไม่ออก และก็ยังคงใช้ชื่อ Marimekko ที่ใช้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทในปี 1951 รวมถึงยึดถือแนวทางในการออกแบบเดิมคือ Living not pretending ซึ่งแบรนด์สนับสนุนให้ทุกคนใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการโดยไม่ต้องเสแสร้งเพื่อคนอื่น
ความเคารพในธรรมชาติ คือ DNA ของมารีเมกโกะ
สิ่งแวดล้อมเปรียบเสมือน DNA ของชาวฟินแลนด์ ซึ่งถูกปลูกฝังให้เคารพธรรมชาติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ
ผู้คนมีความเคารพต่อธรรมชาติมาก พวกเขาเลือกที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า แม้ประเทศฟินแลนด์จะมีขนาดเท่าประเทศไทย แต่มีประชากรเพียง 5 ล้านคน ดังนั้นการใช้ทรัพยากรจึงไม่ขาดแคลนเลย เช่นเดียวกับที่มารีเมกโกะ มีหนึ่งในหลักปรัชญาของการทำงาน คือ Fairness to everyone and everything (เท่าเทียมต่อทุกสิ่งและทุกคน) นั่นหมายรวมถึงเรื่องของธรรมชาติด้วย ทางสำนักงานใหญ่ของมารีเมกโกะ ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มาตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ รวมถึงปลูกฝังให้พนักงานทุกคน รวมถึงในประเทศไทย ให้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นสำคัญ นอกจากเรื่องพื้นฐาน อย่างการแยกขยะ การใช้ซ้ำ ลดการใช้ และการรีไซเคิล ในโรงงาน
ก่อนเริ่มกระบวนการผลิต โดยเฉพาะที่ฟินแลนด์ซึ่งเป็นโรงงานพิมพ์ผ้า ก็จะทำการวิจัยสารเคมีที่ใช้ว่าจะส่งผลกับน้ำหลังการพิมพ์ผ้าอย่างไรบ้าง โดยจะทำการวิจัยก่อนการผลิต และทำการผลิตโดยลดการใช้ทรัพยากรที่จะส่งผลเสียถึงชุมชนในอนาคต รวมถึงความเข้มงวดต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมของยุโรป การหาวัตถุดิบทดแทนสิ่งที่ย่อยสลายยาก เช่น ผ้าปูโต๊ะ ที่เดิมเคยเคลือบพีวีซี (PVC) เพื่อให้ผ้ามีความคงทนในการใช้งาน มารีเมกโกะก็พัฒนาจนได้ น้ำมัน (oil cloth) มาใช้เคลือบแทนโดยผ้า ที่ยังคงมีคุณภาพใกล้เคียงหรือเทียบเท่าของเดิมแบบไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงพยายามสื่อสารกับลูกค้าในเรื่องของการเลิกใช้ถุงพลาสติกมาหลายปีแล้ว
เช่นเดียวกันกับ แคมเปญ Logo Tote Bag เป็นของสมนาคุณให้ลูกค้าที่แบรนด์ทำมายาวนาน เพื่อขอให้ลูกค้าลดการใช้ถุงและได้นำกระเป๋าผ้านี้ไปใช้ในชีวิตประจำวันต่อไป โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความคงทน แม้จะเป็นของสมนาคุณแต่คุณภาพนั้นเทียบเท่าสินค้าอื่นๆ กระเป๋า Logo Tote Bag นี้ผลิตด้วยคอตตอนออร์แกนิก 100% ที่ไม่ผ่านการฟอกสี และรับซื้อคอตตอนจากโรงงานที่อยู่ในโครงการ Better Cotton Initiative (BCI) หรือ โครงการที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมและชาวไร่ที่ปลูกฝ้ายของโลก ซึ่งกระเป๋าผ้าก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมของคนฟินแลนด์ที่นิยมใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อลดการใช้พลาสติก ซึ่งมารีเมกโกะต้องการให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน
ความสมบูรณ์แบบในความไม่สมบูรณ์แบบ
กระเป๋าผ้า รุ่น Silver Medal หรือที่เรียกกันว่า กระเป๋าป้ายดำ เป็นความตั้งใจของแบรนด์ในเรื่องของความยั่งยืน ซึ่งมีที่มาจากตอนที่โรงงานพิมพ์ผ้าเมตร ที่มีความยาวผืนละ 15 เมตร จะมีต้องมีพนักงานคอยดูแลคุณภาพการพิมพ์ (Quality Control) เพื่อให้ผ้าออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด แต่หากมีจุดที่พิมพ์ผ้าบกพร่อง ตรงจุดนั้นจะถูกตัดแล้วนำไปผลิตเป็นกระเป๋าผ้า เพื่อไม่ให้เกิดเป็นขยะและยังเป็นการนำไปใช้งานให้ได้มากที่สุด และเพื่อเป็นการแสดงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ทางโรงงานจึงติดป้ายสีดำ เพื่อให้ลูกค้าทราบว่ากระเป๋าผ้าใบนี้ ผลิตจากผ้าที่ไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดระหว่างขั้นตอนการผลิต ซึ่งคุณจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม เแต่กระเป๋าป้ายดำกลับกลายเป็นที่นิยมและเป็นสิ่งที่ลูกค้าถามถึงอยู่เสมอ
แม้แต่ธีมในการออกแบบเสื้อผ้าในปี 2020 นี้ มารีเมกโกะก็ยังคงคอนเซ็ปต์เรื่องของแรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่มีความสง่างามในตัวเอง คือ Flowers power and the charm of imperfection–for good life หรือ พลังจากดอกไม้และเสน่ห์ของความไม่สมบูรณ์แบบ เช่น ชุดอัดพลีต เพื่อสื่อถึงเท็กซ์เจอร์ของกลีบดอกไม้ ที่ทำให้ดอกไม้มีความพลิ้วไหวและมีเสน่ห์ในตัวเอง
Concept Store แห่งใหม่
สำหรับร้าน Marimekko สาขา Central Festival Eastville เป็น Concept Store ล่าสุด ที่มีแนวคิดในการออกแบบเหมือนแฟลกชิฟสโตร์ในเฮลซิงกิ มีคีย์คอนเซ็ปต์ว่า “เรียบง่าย สงบนิ่ง ผ่านบทสนทนาของลวดลายอันมีสีสัน” เพื่อให้สัมผัสถึงกลิ่นอายของสแกนดิเนเวียได้ตั้งแต่อยู่หน้าประตู สะท้อนถึงรากเหง้าและดีเอ็นเอของแบรนด์ผ่านศิลปะแห่งการดีไซน์ในแบบฉบับสแกนดิเนเวีย ที่ต้องการจะสื่อสารบทสนทนานี้ผ่านไปสู่ลูกค้า สร้างแรงบันดาลใจและมอบประสบการณ์ทุกครั้งที่เดินเข้ามา
ร้านแห่งนี้ ออกแบบโดย Pentagram Design บริษัทออกแบบชื่อดัง ที่ออกแบบให้กับแบรนด์ดัง อย่าง Margaret Howell, COS, Christian Louboutin, Alexander McQueen ภายในร้านจำลองให้เหมือนกับบรรยากาศในบ้านของคนฟินแลนด์ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว ใช้โทนสีและแสงแบบขาวนวลอบอุ่น ผสานเฟอร์นิเจอร์ไม้สนแท้ในการตกแต่งเกือบทั้งหมด ฟาซาด (Façade) เป็นกระจกใสดูโปร่งตา สะอาด ซึ่งคนฟินแลนด์มักจะใช้ฟาซาดแบบนี้ เพื่อรับแสงธรรมชาติ
เมื่อเดินเข้ามากลางร้านจะพบกับ Living Room ที่รอต้อนรับด้วย Table Book ที่มีหนังสือและชุดกาแฟวางอยู่ พร้อมเฟอร์นิเจอร์ในแบบสแกนดิเนเวีย มีมุมสินค้าของใช้ในบ้าน ที่ต้องการสื่อให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวฟินแลนด์ที่ดูเป็นไลฟ์สไตล์ โดยมีลายพิมพ์ต่างๆ เป็นเสมือนบทสนทนาของมารีเมกโกะ ผู้ที่แวะเข้ามาจะได้แรงบันดาลใจและความรื่นรมย์เล็ก ๆ น้อย ๆ กลับไปแม้เพียงแค่แวะเข้ามาชม เปรียบเสมือนพันธกิจของแบรนด์ที่บอกว่า Bring joy to everyday life.
Tags: อูนิกโกะ, Unikko, แพรวไพลิน เอมอักษร, design, Central Festival Eastville, มารีเมกโกะ, TANACHIRA, Marimekko, ธนจิรา, Armi Ratia, finland, Living