ครั้งก่อนนี้ผมได้เล่าถึงจุดกำเนิดของมังหงะไปและแอบแทรกความเป็นการเมือง รวมถึงดราม่าเกี่ยวกับจุดกำเนิดลงไปบ้าง วันนี้ ก่อนจะไปสู่การรีวิวมังหงะเป็นเรื่องๆ ไปจริงๆ (สัญญาว่านี่จะเป็นชิ้นสุดท้ายละที่พูดเรื่องน่าเบื่อหรือภาพกว้างๆ อะไรแบบนี้) ผมอยากพามาสำรวจดูลักษณะเชิงโครงสร้างของมังหงะในฐานะสื่อก่อน ทั้งจากตัวโครงสร้างของมังหงะเอง และจากตัวเราในฐานะผู้อ่านมังหงะด้วย ว่ามันมีลักษณะพิเศษแบบใด หรือลักษณะร่วมกับสื่อแบบอื่นๆ ยังไงบ้าง
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงมังหงะในฐานะสื่อ สิ่งที่สื่อส่งผ่านมาให้กับผู้เสพก็อย่างที่รู้ๆ กันนั่นแหละครับ คือ ‘สาร’ แต่จะมาบอกว่าความเหมือนหรือลักษณะทั่วไปของมังหงะกับสื่ออื่นๆ คือ โครงสร้างแบบ “ผู้ส่งสาร → สาร → ผู้รับสาร” อะไรนั้นก็ออกจะทุเรศไปหน่อย เพราะพูดไปก็เหมือนไม่ได้พูดอะไร อย่างไรก็ดี ในไอ้โครงสร้างพื้นฐานมากๆ พวกนี้ มันมีอะไรให้พูดต่อไปได้เล็กน้อยครับ
-
การอ่านและการรีวิว
คือตัว ‘สาร’ หรือ text นั้น มีวิธีการอ่านหลักๆ 2 แบบครับ คือ text as the mirror of the world กับ text as text แบบแรก หรือ text as the mirror of the world นั้น บางครั้งจะถูกเรียกว่าเป็นการอ่านหรือตีความสารแบบ Hermeneutics ซึ่งมีชื่อไทยด้วยนะครับ (แต่ยิ่งอ่านก็ยิ่งงง) ว่า “อรรถปริวรรตศาสตร์” ศาสตร์นี้ถ้าว่าไปแล้วก็เก่าแก่มากทีเดียว เพราะถือกันว่าเริ่มตั้งต้นกันมาตั้งแต่สมัยของอริสโตเติล โดยงานของปู่แกที่ชื่อ Peri Hermeneias หรือที่แปลเป็นเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษว่า On Interpretation … ใช่ครับ ศาสตร์นี้หากพูดกันอย่างรวบรัดที่สุดแล้ว ก็เหมือนกับชื่อคำแปลหนังสืออริสโตเติลในภาษาอังกฤษ มันคือ “ศาสตร์ว่าด้วยการตีความ”
text as the mirror of the world
การตีความหรือการอ่านแบบเฮอร์เมนนิวติกส์นี้ เอาเข้าจริงแล้วมันก็มีหลายสาขามากๆ และเป็นแขนงหนึ่งในการศึกษาปรัชญา ตรรกศาสตร์และเทววิทยาที่ซับซ้อนมากด้วย ฉะนั้นก็จะขอลดทอนลงอย่างมากแค่พอให้เห็นภาพได้โดยสังเขป
การอ่านแบบนี้คือการพยายามทำความเข้าใจตัวสารร่วมกับบริบทของตัวสารนั้นด้วยครับ ซึ่งวิธีการอ่านแบบเฮอร์เมนนิวติกส์สมัยใหม่นี้ มีหลายแขนงมาก เช่น Methodological Hermeneutics, Epistemological Hermeneutics, Ontological Hermeneutics, ฯลฯ แต่ในความหลากหลายในยุคสมัยใหม่นี้ก็พอจะนับได้ว่ามีรากร่วมกันอยู่ในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) ที่พยายามตีความพระคัมภีร์ไบเบิ้ล (Scripture) โดยนักคิดกลุ่มนี้ มองไบเบิ้ลในฐานะงานเขียนของโลกฆราวาส (Scripture as secular text) ในเซ้นส์ที่ว่า มันไม่ใช่ของศักดิ์สิทธิ์ที่ประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า แต่มองมันในฐานะงานเขียนซึ่งเป็นบทสะท้อนหรือบทตอบโต้กับพลังทางประวัติศาสตร์หรือสังคมในสมัยนั้นๆ
ฉะนั้นเมื่อศึกษาตัวบทโดยอิงกับบริบทที่ผลักดันให้เกิดตัวบทขึ้นแล้ว หรือถ้าพูดแบบบ้านๆ หน่อยๆ ก็คือถ้ากระเทาะเอา “ความหมายหลัก” ของตัวบทออกมาได้ ก็จะสามารถนำเอาแก่นของสารนั้นมาปรับใช้หรือตีความให้กับบริบทของยุคสมัยอื่นๆ ได้ด้วย ไม่จำเป็นต้องมีความหมายแช่นิ่งตายตัวอยู่กับที่ แขวนผึ่งอยู่กับเงื่อนไขตามตัวอักษรทุกกระเบียด ไม่มีการปรับหรือผ่อนปรนใดๆ
อย่างไรก็ตามการอ่านในวิธีการแบบนี้ก็ยังอิงกับการมองว่าผู้เขียนมีเนื้อสารหลักบางอย่างที่ต้องการจะสื่อออกมา เขามีแก่นของเรื่องบางอย่างที่ต้องการจะเล่า และแก่นของเนื้อหาที่ว่านั้นมันก็เป็นภาพสะท้อนของโลก (บริบท) ของตัวเขาเองด้วย ดังนั้นเราจึงต้องทำความเข้าใจกับบริบทและเงื่อนไขภายนอกที่รายรอบตัวผู้เขียนอยู่ให้ชัดเจนที่สุด จึงจะเข้าใจได้ว่าอะไรที่เป็นผลให้เขาเขียนแบบนั้น ตีความโลกออกมาในแบบนั้น และนั่นเองที่ทำให้การอ่านแบบนี้บางครั้งถูกเรียกว่า text as the mirror of the world ครับ เพราะมันสะท้อนตัวตนของโลกที่สร้างตัวบทหรือเนื้อหานั้นๆ ขึ้นมาภายใต้มุมมองหรือการตีความของผู้เขียนเรื่องนั้นๆ
การอ่านสื่อต่างๆ รวมถึงมังหงะในเชิงวิเคราะห์และพยายามถอดรหัสออกมานั้น ก็สามารถทำได้จากการอ่านแบบแนวทางนี้เป็นแบบหนึ่ง ซึ่งตัวผมเองก็คงมีใช้สอดแทรกบ้าง แต่คงจะไม่ถึงกับเยอะมากนัก เพราะขี้เกียจไปทำความเข้าใจสภาพบริบทและเงื่อนไขชีวิตที่มันรายล้อมตัวผู้เขียนมังหงะแต่ละเรื่องปานนั้น คงจะมีใช้บ้างในกรณีที่คิดจะใช้มันในการสะท้อนความเป็นไปของโลกในบางครั้งเท่านั้น แต่ผมอยากอธิบายให้เห็น เพราะกระบวนการอ่านและพิจารณาแบบที่ว่านี้จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดเฉพาะกับนักคิดหรือนักปรัชญาอะไรครับ แต่เกิดกับเราทุกคนนี่แหละ
ทุกครั้งที่มีการต้องตีความ เราต้องมองหาแก่น หรือแม้แต่ทิศทางที่ควรเป็นไปของสิ่งหนึ่งๆ เราคิดผ่านฐานคิดแบบนี้แทบจะเสมอ เพียงแต่อาจจะไม่ค่อยได้คิดต่อถึง “กระบวนการคิดอันนำมาสู่การคิดของเรา” น่ะครับ เรื่องนี้เลยโผล่มาตั้งแต่ในดราม่าที่ว่า ผัดกะเพราควรใส่ผักชนิดอื่นได้ไหม? เอสเปรสโซ่เย็น (ใส่น้ำแข็ง) มันโอเคไหม? ไปยันเรื่อง เราควรจะพัฒนาสถาบันทางการเมืองหรือศาสนาให้เป็นสมัยใหม่อย่างไร? เรื่องราวหรือสื่อเหล่านี้ที่เราเห็นและคิดไปกับมัน โดยรวมๆ แล้วก็มักจะอยู่บนฐานนี้เป็นหลักเสมอ ว่าต้นตอของการกระทำเหล่านั้นมันมาจากไหน เราจะเข้าใจมันได้อย่างไร
text as text
อีกวิธีการอ่านหนึ่งก็คือ การอ่านแบบ text as text หรือมองตัวบทในฐานะตัวตนที่เป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบในตัวมันเอง หรือก็คือ ตัวสารนั้นแยกขาดจากตัวบริบทของผู้เขียน ไม่ว่าเขาจะเกิดที่ไหน โตมาอย่างไร ผ่านอะไรมาบ้าง ฯลฯ โลกของผู้สร้างสารนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะสนใจอีกต่อไป วิธีการนี้ใช้กันเยอะในหมู่นักคิดสายโครงสร้างนิยม (Structuralism) และหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism) เพราะสำนักนี้มองว่าตัวผู้แต่งนั้นไม่มีอีกแล้ว แต่มนุษย์เราเป็นเพียงหุ่นกระบอกของโครงสร้างที่กำกับเราอยู่ เราเป็นเพียงร่างทรงของภาษา เพราะภาษานั้นกำหนดวิธีคิดและความเข้าใจโลกของเรา
ตัวอย่างหนึ่งที่อาจจะเห็นได้ว่าเราเป็นเพียงหุ่นกระบอกของโครงสร้างที่ครอบเราอยู่ ก็เช่นพฤติกรรมต่างๆ ในการแสดงออกซึ่งความรักหรือในกิจกรรมเกี้ยวพาราสี (ภาษาโบราณสัส) เป็นต้น เราอาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดามากๆ ที่หากจะเกิดปิ๊งใครสักคนหนึ่งขึ้นมา จะเริ่มจากรู้สึกขวยเขิน อยากใกล้ชิดคนๆ นั้น ชวนไปกินข้าว ดูหนัง แชทหรือคุยโทรศัพท์จนหลับคาเครื่อง ไปยันจูงมือกันขึ้นห้อง ร้อนเร่าตุนาหงันกันไป และสิ่งที่เราคิดว่ามันธรรมชาติมากๆ นี้เอง กลับมีคนอีกหลายพันล้านคนที่ทำเหมือนกับเราเป๊ะเลย คิดเป็นแพทเทิร์นแบบเดียวกันกับเรา
ฉะนั้น นี่คงจะพูดไม่ได้กระมัง ว่าเป็นการกระทำอันมาจากความคิดอันจำเพาะ หรือความรู้สึกอันเป็นปัจเจกของเรา แต่เนื่องจากเราไม่ได้รู้สึกถูกฝืนให้กระทำ เราเข้าใจเสียด้วยซ้ำว่ามันเป็นส่วนหนึ่งในธรรมชาติของเรา มันจึงยิ่งน่ากลัว เพราะโครงสร้างที่ชักใยอยู่นั้นทำงานในระดับที่ลึกเสียยิ่งกว่าจิตสำนึกเราจะรู้เท่าทัน การชักใยในระดับจิตไร้สำนึกของโครงสร้างนี้เองที่เป็นแกนกลางหลักของคำอธิบายของสายโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมครับ เพราะมันเป็นครั้งแรกที่แนวคิดแบบมนุษยนิยมหรือมนุษย์เป็นเจ้าของความคิดของตน อย่างที่เรอเน่ เดการ์ดบอกไว้ว่า “I think, therefore I am.” นั้นถูกท้าทายอย่างถึงราก และฐานคิดแบบนี้เองที่นำมาสู่ข้อสรุปอันลือเลื่องว่า The author is death. หรือมรณกรรมของประพันธกรนั่นเอง ไม่เหลือผู้แต่งหรือผู้สร้างสรรค์อีกต่อไป สารหรือสื่อที่ถูกผลิตออกมาจากผู้ที่ได้ชื่อว่าประพันธกรนั้น จึงเป็นเพียงผลผลิตของภาษาที่ผลิตผ่านตัวบุคคลที่ถูกมองว่าเป็นผู้ประพันธ์เท่านั้น
ภายใต้วิธีคิดสายนี้เอง ที่ทำให้เกิดการอ่านแบบ Text as text ขึ้น คือ สนใจแต่ตัวเนื้อหาของตัวบทแต่เพียงอย่างเดียว ตีความและโฟกัสเฉพาะตัวบทเท่านั้น โดยไม่ได้สนใจไยดีต่อบริบทหรือความตั้งใจตามจิตสำนึกของผู้ประพันธ์อะไรอีก เพราะเราเป็นเพียงร่างทรงของภาษา ฉะนั้นสิ่งที่มันสะท้อนอยู่ในตัวบท อาจจะเป็นสิ่งที่ตัวผู้แต่งไม่ได้คิด ไม่ได้ตั้งใจมาก่อนในระดับจิตสำนึกเลยก็ได้ ก็ไม่สนก็ไม่แคร์ แต่จะดูตามเนื้อหาตัวบทเท่านั้น และนี่จะเป็นวิธีการอ่านหลักๆ ของการรีวิวที่เราจะมีขึ้นต่อไปครับ
ผมเขียนมาเสียยืดยาวจนถึงตรงนี้ ผมยอมรับครับว่าเกี่ยวกับมังหงะในระดับจำเพาะเจาะจงน้อยมาก นั่นเพราะมังหงะมันเป็นสาร/สื่อแบบหนึ่ง ฉะนั้นในแง่ของจุดร่วมนี้ ก็คงต้องอธิบายมันในฐานะของส่วนหนึ่งของสื่อโดยรวมไป ยังไงอึดทนไปอีกสักนิดนะครับ เข้าใจว่าคงจะเบื่อไม่น้อยแล้ว
ความอินของเรา ในฐานะผู้รับสารเยี่ยงพระเจ้า
อีกจุดร่วมหนึ่งของมังหงะกับสื่ออื่นๆ ก็คือ ตัวเราเองอยู่ในฐานะ “ผู้อ่าน” หรือ “ผู้รับสาร” ครับ เวลาที่เราอ่านมังหงะ หรือวรรณกรรมต่างๆ ยันไปถึงดูหนังดูซีรี่ส์นั้น มันเป็นธรรมดาที่เราจะอิน รู้สึกผูกพันกับตัวละคร จะมีอารมณ์ มีความคาดหวังบ้างกับสื่อที่กำลังดู บางครั้งอาจจะถึงขั้นมโนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในเนื้อเรื่องก็ไม่แปลก และนั่นแน่นอนว่ามันนำมาซึ่งการมีความคิดเห็นในเชิงตัดสิน (Judgmental opinion) ต่อสิ่งที่เรากำลังเสพ โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการรีวิวสื่อต่างๆ เหล่านั้น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะพลั้งเผลอลืมตัวไป เวลามีความเห็นในเชิงตัดสินอะไรกับสื่อหรือวรรณกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเวลาที่เราอินจัดๆ ก็คือ “ตำแหน่งแห่งที่ในการเห็น/ในการมอง” ของเราอยู่ตรงไหนนั่นเอง
เราต้องเข้าใจก่อนว่า หากเรามองบทหนัง บทละคร หรือเส้นเรื่องของวรรณกรรม มังหงะต่างๆ ในฐานะจักรวาลหนึ่ง ที่แยกออกไปจากจักรวาลของความเป็นจริงที่เรามีชีวิตอยู่นั้น ต่อให้เรารู้สึกอินกับเนื้อเรื่องของสื่อนั้นๆ เพียงใด เราก็เป็นได้มากที่สุดเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์จากภายนอก ที่มองลงมาดูความเป็นไปที่เกิดขึ้นในจักรวาลตามเนื้อเรื่องนั้น หากเรานับว่าพระผู้เป็นเจ้าของจักรวาลนั้นๆ ซึ่งในที่นี้จะเป็นตัวผู้ประพันธ์หรือจะเป็นโครงสร้างที่ชักใยผู้ประพันธ์อยู่เบื้องหลังอีกทีก็แล้วแต่ มีสายตาแบบที่เรียกกันว่า Omnipresence หรือก็คือการมีสายตา/สถานะพระเจ้าที่เห็นทุกสิ่ง อยู่ในทุกหนแห่ง ในทุกที่ ทุกเวลาแล้ว เราในฐานะผู้เสพสื่อที่ได้เห็น ได้คอยสังเกตการณ์ความเป็นไป “เท่าที่พระผู้เป็นเจ้า (ผู้แต่ง/โครงสร้าง) อนุญาตให้เราได้เห็น” นั้น ก็อาจจะเรียกได้ว่าเรามีสายตาแบบกึ่งพระผู้เป็นเจ้า หรืออาจจะพอพูดได้ว่า Semi-omnipresence นั่นแหละครับ
ฉะนั้นต่อให้เราไม่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในจักรวาลของเรื่องนั้นๆ ทะลุปรุโปร่งในระดับพระเจ้า แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ต้องเข้าใจเสมอว่าเรากำลังดู (สังเกตการณ์) จักรวาลเหล่านั้นอยู่ด้วยสายตาที่มีหรือได้เห็นข้อมูลมากกว่าที่ตัวละครในเนื้อเรื่องเองจะได้เห็นเยอะมากแล้ว ฉะนั้นในการรีวิวหรือมีความเห็นในเชิงตัดสินนั้น ก็ต้องรู้ด้วยว่าเรากำลังมองอยู่ในฐานะแบบนี้
เช่นว่า เราอาจจะรู้สึกว่าชาวบ้านที่พิพากษา “ไอ้ฟัก” ในเรื่องคำพิพากษาของชาติ กอบจิตติว่าชาวบ้านเหล่านี้ช่างเลว ช่างแย่จริงๆ ซึ่งนั่นก็คงจะจริง หรือเวลาดู Game of Thrones เราอาจจะรู้สึกว่าบักจอนมันช่างโง่เสียจริงๆ แต่เราต้องไม่ลืมว่าทั้งกรณีของชาวบ้านในคำพิพากษาและบักจอนนั้น เรารู้สึกกับพวกเขาเช่นนั้น ส่วนหนึ่งก็เพราะตำแหน่งแห่งที่ที่เราสังเกตการณ์อยู่ มันอนุญาตให้เราเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากมหาศาลที่ตัวละครเหล่านั้นไม่เคยได้รับรู้เลยอยู่ด้วย
ฉะนั้นแล้ว เวลาที่เราอ่านวันพีซ เราอาจจะรู้สึกว่ากองทัพเรือและเผ่ามังกรฟ้ามันช่างเหี้ยจริงๆ และโจรสลัดอย่างลูฟี่ดูจะดีกว่าเป็นไหนๆ ทำไมสังคมต่างๆ ในเรื่องยังจะสนับสนุนหรือทนอยู่กับระบบแบบนั้นกันได้อีกวะเนี่ย? นั่นส่วนหนึ่งก็เพราะเราได้รับอภิสิทธิ์ทางข้อมูลที่เหนือกว่ามากในการนำเราไปสู่การตัดสินใจแบบนั้น แต่คนในจักรวาลของวันพีซเองส่วนใหญ่ไม่ได้รับรู้ในสิ่งเดียวกันกับที่เรารับรู้เลย ฉะนั้นด้วยเงื่อนไขความต่างของข้อมูลและการมองเห็นนี้เอง ที่พึงเป็นกรอบที่ต้องระวังเสมอเวลาที่เราจะไปตัดสินอะไรแทนตัวละครในเนื้อเรื่องด้วยครับ
-
ลักษณะจำเพาะของมังหงะ
ท่านที่อ่านมังหงะย่อมทราบกันดีว่ามีการเล่าเรื่องผ่าน ‘ภาพ’ เป็นหลัก และโดยมากมักจะมีคำพูด/คำบรรยายประกอบด้วย (แต่ไม่จำเป็นเสมอไป มังหงะบางเรื่อง เช่น Gon นั้นก็ไม่มีตัวหนังสือเลย ใช้ภาพเล่าเรื่องอย่างเดียว เป็นต้น) แต่อะไรเล่าที่ทำให้มังหงะมันต่างจากนิยาย หรืออนิเมะ?
ในขณะที่นิยายนั้นดูจะเน้นการเล่าเรื่องไปที่การพรรณนาในรูปแบบต่างๆ และอนิเมะที่เล่าเรื่องผ่านภาพเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ตามเหตุการณ์จริงในตัวเรื่อง รูปแบบการเล่าเรื่องของมังหงะนั้นต่างออกไป เพราะมันคือ การบีบอัดเอาเวลาแต่ละช่วงให้ถูกแสดงออกผ่านจุดหนึ่งของเวลาครับ ไม่เพียงเท่านั้น ในบางกรณีมันยังทำงานโดยทำการแบ่งจุดหนึ่งของเวลาให้แยกส่วนจากกันเพื่อมาวางเปรียบเทียบกันด้วย ถ้าหากพูดแบบวิชาการมากๆ แล้วอาจจะพูดได้ว่ามังหงะคือการสร้างซิงกูลาริตี้ของแต่ละช่วงจังหวะเวลา (Singularity of each moment of time) ในขณะที่บางครั้งมันก็ทำการแยกและเทียบส่วนเวลา (Excruciation and Juxtaposition of Time)
หมายความว่าอย่างไร?
หมายความว่าภาพจาก ‘กรอบที่ 1’ ไปสู่ ‘กรอบที่ 2’ ของมังหงะนั้น โดยทั่วๆ ไปแล้ว มันไม่ได้เป็นจุดหนึ่งของเวลาครับ แต่มันเป็นช่วงเวลานั่นแหละ มันมีความเคลื่อนไหว มันเป็นความต่อเนื่อง (อย่างที่เราจะเห็นมันขยับติดต่อกันเป็นทอดไป อย่างในอนิเมะ) แต่เนื่องจากมังหงะมันไม่สามารถทำให้ทุกอย่างเคลื่อนไหวได้แบบอนิเมะบนตัวหน้ากระดาษ ฉะนั้นมังหงะจึงต้องทำการ ‘ลดทอน’ ภาพทั้งหมดและความเป็นไปทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวละครที่กำลังเล่าถึงในช่วงเวลาหนึ่งๆ ให้เหลือเพียงภาพนิ่งภาพเดียวที่จะสะท้อนความเป็นไปทั้งหมดของเหตุการณ์ทั้งช่วงขณะนั้นๆ ได้
จากภาพจะเห็นได้ภาพในกรอบแรก (ขวาสุด) มาสู่กรอบที่สอง (ตรงกลาง) ไปจนถึงกรอบที่สาม (ซ้ายสุด) นั้นจริงๆ แล้วคือ “ช่วงของเวลา” ที่ต่อเนื่องกัน หากเป็นฉากในอะนิเมะก็จะเป็นฉากการเอาเหรียญออกมาและดีดเหรียญให้หมุนขึ้นสูงเหนือหัว จนตกลงมาในฝ่ามือของเขาเป็น “ห้วงที่ต่อเนื่องกันหมด ไหลจากต้นไปจนจบ” แต่มังหงะได้ทำการหั่นห้วงเวลาทั้งห้วงนั้นออกเป็น 3 ช่วงย่อยๆ แล้วในแต่ละช่วงย่อยนั้นก็ถูกแทนที่ช่วงเวลาของช่วงย่อยทั้งช่วงนั้นด้วยภาพเพียงภาพเดียวในแต่ละกรอบ
ซึ่งภาพเพียงภาพเดียวนี้เองก็คือ “จุดหนึ่งของเวลาในช่วงเวลาย่อย” (ที่อยู่ในห้วงเวลาของเหตุการณ์นี้อีกทอดหนึ่ง) มันจึงกลายเป็นจุดย่อยที่กลายที่มาจากการบีบอัดเหตุการณ์ทั้งหมดในช่วงเวลาย่อยนั้นลงมาน่ะครับ ซึ่งการบีบอัดจนกลายเป็นซิงกูลาริตี้นี้ มันจึงกลายเป็นลักษณะที่เป็นสเน่ห์เฉพาะของมังหงะเลยก็ว่าได้ (ซิงกูลาริตี้ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงสภาวะเอกฐานที่อยู่ในวิชาควอนตั้มฟิสิกส์นะครับ แต่เป็นคำในทางสังคมศาสตร์ที่ยืมคอนเซปต์ของควอนตั้มฟิสิกส์มาอีกทอดหนึ่ง)
ความน่าสนใจคือ เมื่อภาพมันเป็นซิงกูลาริตี้ของแต่ละช่วงเวลาแล้ว มันเปิดโอกาสให้เราในฐานะคนอ่านตีความได้จากมุมมองของเราเองด้วย มีพื้นที่ให้จินตนาการของเราได้ขยับตัวบ้าง อย่างภาพในกรอบแรก นาย A ดูก็อาจจะมองว่าจุดของเวลาที่ยกมาแทนช่วงเวลาย่อยนั้นน่าจะเป็น “ส่วนต้น” ของช่วงเวลาย่อยที่กำลังนำเสนอเลย คือ ตัดฉากเหตุการณ์นี้มาก็คือเริ่มที่จุดของเวลาในรูปเลย ในขณะที่นาย B ดู อาจจะบอกว่า จุดของเวลาในกรอบแรกนั้น อยู่ “กลางๆ” ของช่วงเวลาย่อยที่มันกำลังนำเสนอภาพอยู่ คือ ก่อนหน้าที่จะเป็นจุดของเวลาที่ชูเหรียญขึ้นมาให้ดูนั้น มันน่าจะต้องมีการค่อยๆ เอามือเอื้อมไปในกระเป๋าแล้วจับเอาเหรียญขึ้นมาก่อนสิ แล้วค่อยมาถึงจุดที่ภาพนำเสนอ เป็นต้น
ในมังหงะหนึ่งเรื่อง หรือแม้แต่หนึ่งตอน มันประกอบด้วยซิงกูลาริตี้ของแต่ละช่วงเวลาย่อยเหล่านี้มากมาย (อย่างน้อยที่สุดก็ตามจำนวนกรอบในแต่ละตอนนั่นแหละครับ) ซึ่งมันเปิดโอกาสให้คนอ่านได้จินตนาการ ได้ตีความในแต่ละช่วงเวลาย่อยที่ถูกแทนที่ด้วยซิงกูลาริตีเหล่านี้ได้เองตามใจชอบทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว และนี่เองครับที่ทำให้การอ่านมังหงะเรื่องหนึ่งหรือตอนหนึ่งของแต่ละคน แม้จะรับรู้ถึงเส้นเรื่องหลักเหมือนๆ กัน แต่การตีความในส่วนย่อยต่างๆ นี้เองที่ทำให้มังหงะแต่ละเรื่องกลายเป็นตัวตนหนึ่งเดียวเฉพาะของแต่ละคนไป
ในอีกกรณีนึงที่อาจจะเห็นได้น้อยกว่า ก็คือ การแบ่งจุดของเวลาแล้วมาวางเทียบคู่กันครับ ด้วยความที่มันเป็นสื่อที่ทำงานด้วยภาพและมีลักษณะ “กึ่งนิ่งกึ่งเคลื่อนไหว” มันเลยทำในสิ่งที่สื่อแบบอื่นทำได้ยาก อย่างการแยกจุดของเวลา คือ เวลาที่เกิด ณ จุดเดียวกันเลย แต่มังหงะทำการแยกภาพของจุดเวลานั้นออกเป็นสองส่วนได้ เผื่อขับเน้นให้ผู้เสพได้เห็นภาพ และเก็บรายละเอียดของเหตุการณ์อย่างเด่นชัด แม้ทุกวันนี้ด้วยเทคโนโลยีการแยกภาพจะทำให้สื่อโทรทัศน์หรือภาพยนตร์ทำภาพแยกในลักษณะเดียวกันนี้ได้หมดแล้ว (คือ ฉายเหตุการณ์ที่เกิดในเวลาเดียวกันเป็น 2 ฝั่งในจอเดียว) แต่การขับเน้นความเป็น “จุดของเวลา” (แบบที่มักจะเห็นในมังหงะ) กับการนำเสนอ “ห้วงเวลาที่เคลื่อนที่ในเวลาเดียวกัน เทียบเคียงกันไป” (มักจะเห็นได้ในสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์) นั้นผมก็คิดว่ามีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ดี ตามที่อธิบายไว้ในเรื่องซิงกูลาริตี้ครับ
การแบ่งจุดของเวลาเป็นสองส่วน (หรือมากกว่านั้น) ผมเข้าใจว่าสื่อประเภทอื่น นอกจากภาพยนตร์และโทรทัศน์ก็ค่อนข้างจะใช้งานกลไกนี้ได้ยากแล้ว อย่างงานวรรณกรรมที่อาศัยพลังของการพรรณนา การบรรยายในรูปแบบต่างๆ นั้น มันก็ทำให้หนีไม่พ้นการต้องอ่านไล่เรียงบรรทัดลงมา การจะเห็นหรือเข้าใจแบบแรกเห็นทันทีก็ดูจะยากกว่ามากเมื่อเทียบกับมังหงะครับ ถึงแม้มังหงะจะมีการเรียงอยู่บางๆ ด้วยวิธีการอ่านเรียงกรอบ แต่ผู้อ่านก็สามารถใช้เวลาเพียงเสี้ยววินาทีเห็นภาพหลากมุมของ ณ เวลานั้นๆ ได้อย่างเกือบครบถ้วน และนี่คือฉากแบบที่ผมบอกครับ
ภาพที่เห็นทั้งหมดนั้นคือ “จุดเวลาเดียวกัน” แต่ถูกแยกออกเป็น 3 กรอบ เพื่อขยายเหตุการณ์ ณ จุดหนึ่งของเวลาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น การขยายจุดของเวลานี้แม้จะไม่ใช่ลักษณะภาพหลักของมังหงะ แต่ก็เห็นได้บ่อยๆ ครับ และภาพที่ขยายใหญ่จุดของเวลานี้เองที่ขับเน้นสถานการณ์เห็นของเราในฐานะผู้สังเกตการณ์ภายนอกให้เห็นด้วยสายตาใกล้เคียงกับสายตาของพระผู้เป็นเจ้าหรือ Omnipresence มากยิ่งขึ้น เฉพาะจุดเวลานั้นๆ เพราะเราแทบจะมองเห็นทุกรายละเอียดของจุดเวลานี้อย่างทั่วถ้วนเลย
แต่แน่นอน ในเมื่อเราไม่ใช่พระผู้เป็นเจ้าของจักรวาลนี้ การเห็นแบบ (เกือบจะ) Omnipresence นั้นจึงเป็นการอนุญาตให้พอได้สัมผัสแต่เพียงชั่วคราวไป ตามแต่พระผู้เป็นเจ้า (ผู้แต่ง/โครงสร้าง) จะเมตตากับเรานั่นเองครับ จบเรื่องน่าเบื่อแล้วครับ รอบหน้าสัญญา จะเข้าเรื่องมังหงะจริงจังๆ แล้ว
ขอให้สนุกกับมังหงะครับ
อ้างอิงเรื่องการอ่าน text as the mirror of the world
Wilhelm Dilthey (1910). The Understanding of Other Persons and Their Manifestations of Life.
Tags: manga, Structuralism, Poststructuralism, โครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม, Singularity, Hermeneutics